ตานหกเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. กิ่งย่อยเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๖.๕ ซม. ยาว ๖-๑๗.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบเป็นร่องตื้นทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น แบนทางด้านบน เป็นสันนูนทางด้านล่าง ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดหรือเห็นไม่ชัดทางด้านล่าง ช่องร่างแหเล็กละเอียด เห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๑.๒-๓ ซม. เกลี้ยง
ดอกแยกเพศต่างต้น สีเหลืองอ่อนหรือสีนวล ช่อดอกแบบช่อซี่ร่ม ออกบนกิ่งย่อยที่ลดรูปคล้ายช่อกระจะสั้น ตามซอกใบหรือตามกิ่ง ยาว ๒-๔ ซม. ช่อดอกอ่อนรูปทรงกลม คล้ายดอกเดี่ยว เมื่อบานมีเส้นผ่านศูนย์กลางช่อ ๕-๖ มม. ก้านช่อดอกยาว ๐.๘-๑.๗ ซม. มีขนประปราย แต่ละช่อดอกมีใบประดับ ๔ ใบ เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปค่อนข้างกลมหรือรูปไข่กว้าง เว้าเข้าด้านใน กว้าง ๔-๔.๕ มม. ยาว ๓-๔.๕ มม. ด้านนอกมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กลีบรวม ๖ กลีบ เรียงเป็น ๒ วง วงละ ๓ กลีบ ติดที่ขอบฐานดอกรูปถ้วย ขนาดเกือบเท่ากัน บางคล้ายเยื่อ มีขนประปราย ช่อดอกเพศผู้มี ๕ ดอก ก้านดอกเพศผู้ยาวประมาณ ๑ มม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น กลีบรวมรูปรี รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๑.๒ มม. ยาว ๒.๕-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๙-๑๒ เกสร เรียงเป็น ๓-๔ วง วงละ ๓ เกสร ยาวไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูยาว ๑-๒ มม. มีขนยาว โคนมีต่อม ๒ ต่อม หรือไร้ต่อม อับเรณูยาว ๐.๘-๑.๒ มม. แตกแบบฝาเปิดทางด้านเดียวกัน มี ๔ ช่อง แยกเป็นด้านบน ๒ ช่อง ด้านล่าง ๒ ช่อง ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมัน ไม่พบช่อดอกเพศเมีย
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกระบอกหรือทรงรูปไข่ เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๓ ซม. ยาว ๑.๘-๒.๔ ซม. สีเขียว มีจุดประสีขาว สุกสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีดำ เกลี้ยง เป็นมัน ฐานดอกรูปถ้วยขยายใหญ่หุ้มผลครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ มม. สูง ๑.๒-๑.๕ ซม. มีตุ่ม ก้านผลหนา ยาว ๐.๖-๑ ซม. มีตุ่ม ก้านช่อผลยาว ๐.๘-๒ ซม. มีขนสั้นนุ่มประปราย มีเมล็ด ๑ เมล็ด
ตานหกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑๕๐ ม. ออกดอกเดือนกรกฎาคม เป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.