ตับเต่าเหลืองเป็นไม้น้ำล้มลุกหลายปี ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเหนือดินเป็นไหลยาว รูปทรงกระบอกสีเขียวแกมสีน้ำตาล แตกแขนง มีข้อและปล้อง มีรากออกตามข้อ
ใบเดี่ยว เรียงเวียน แผ่นใบลอยบนผิวน้ำรูปหัวใจ กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ใบที่ชูเหนือน้ำมักมีรูปกลมหรือรูปรี กว้างและยาว ๓-๖ ซม. ปลายมนกลมถึงค่อนข้างแหลม โคนรูปเงี่ยงใบหอก ขอบใบเรียบหรือหยักเว้าเล็กน้อย ด้านบนเรียบ สีเขียวเข้มหรือสีเขียวแกมสีน้ำตาลแดง ด้านล่างสีเขียวอ่อนแกมสีน้ำตาลแดง มีเส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัด ก้านใบรูปทรงกระบอกยาว ๖-๑๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามข้อใกล้โคนก้านใบ แต่ละช่อมี ๓-๕ ดอก ก้านดอกยาว ๒-๗ ซม. ชูดอกเหนือน้ำ ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. กลีบเลี้ยง สีเขียวมีประสีแดง โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ปลายแหลม กลีบดอกด้านบนสีเหลืองสด ด้านล่าง สีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอมส้มเป็นมันวาว โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนานแกมรูปใบหอกกว้าง ๐.๘-๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลางแฉกเป็นครีบจากโคนถึงปลาย ขอบเป็นชายครุย โคนแฉกด้านในสีเหลืองอ่อน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดภายในหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูมี ๒ ช่อง แตกตามยาวรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปทรงกลมรี ยาว ๖-๗ มม. เมล็ดขนาดเล็ก มีจำนวนมาก
ตับเต่าเหลืองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามแหล่งน้ำจืด หนองน้ำ คูคลอง และนาข้าว ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบทั่วไปในเขตร้อนของเอเชีย.