จั่นน้ำเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๑.๕ ม. ยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดงประปราย กิ่งแก่มีขนน้อยกว่าหรือค่อนข้างเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปไข่กลับ กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๒-๕.๕ ซม. ปลายแหลมหรือมนและมีติ่งแหลม โคนแหลมหรือสอบคล้ายรูปลิ่มขอบเรียบหรืออาจเป็นคลื่น และมีหนามเล็กโค้งลู่ไปหาปลายใบ ด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยง ด้านล่างสีจางกว่ามีขนประปรายตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๒-๔ มม. ด้านบนสีเขียวแกมแดง ขอบก้านมีหนามเล็กโค้งลู่ไปหาปลายก้าน
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอดหรือตามปลายกิ่ง ช่อกว้างประมาณ ๒ ซม. ยาว ๔-๗ ซม. ก้านช่อยาว ๑-๑.๕ ซม. แกนช่อยาว ๑-๒ ซม. แขนงช่อมักแยกเป็นคู่ ก้านและแกนช่อมีขนสีน้ำตาลแดงประปรายแต่ละช่อย่อยที่ปลายมักมีเพียง ๒ ดอก ก้านดอกยาว๑-๓ มม. ดอกสีม่วงอ่อน กลีบเลี้ยงติดทน โคนเชื่อมติดกันคล้ายถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกเล็ก ๕ แฉก เรียวแคบ กว้างประมาณ ๐.๗ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลแดงประปราย โคนกลีบดอกสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปขอบขนาน กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๓-๔ มม. ปลายแฉกมน ขณะดอกตูมแฉกสีม่วงเข้ม เมื่อดอกบานแฉกสีจางลงค่อนข้างขาวหรือสีขาวอมสีม่วงอ่อน เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดใกล้ปากหลอดกลีบดอกก้านชูอับเรณูเรียว ยาวประมาณ ๓ มม. โผล่พ้นหลอดกลีบดอก เกลี้ยง ปลายก้านติดที่ด้านหลังอับเรณู ในดอกตูมอับเรณูสีขาว เมื่อบานอับเรณูสีม่วงเข้ม รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ เกลี้ยง มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๔.๕ มม. ปลายก้านสีม่วง ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกเล็ก ๒ แฉก
ผลคล้ายผลเปลือกแข็ง รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. สุกสีแดง มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดทนที่โคนผล เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๔ เมล็ด แต่ละเมล็ดเล็กและมีเกราะแข็งหุ้มทั้ง ๔ เมล็ด แนบชิดแน่นคล้ายเป็นเมล็ดเดียว
จั่นน้ำเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลาง พบตามป่าละเมาะ ป่าโปร่งใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๒๐-๕๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ปลูกเป็นไม้ประดับ
W. G. Craib ตั้งชื่อ Ehretia winitii ให้เป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร (โต โกเมศ) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ (ค.ศ. ๑๙๒๒).