ค่าหด ๒

Engelhardtia spicata Lesch. ex Blume var. colebrookiana (Lindl. ex Wall.) Kuntze

ชื่ออื่น ๆ
ข่าหด, ดูกนาว, พาว (เหนือ); ข้าวหด, แงะ, มือ (เชียงใหม่); เคล่ปอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ไม้ต้นขนาดเล็ก อาจมีพูพอน ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่กึ่งปลายคี่ เรียงเวียน ใบย่อย ๘-๑๑ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อหางกระรอก มีใบประดับย่อยสีเขียวอ่อน รูป ๓ แฉก ติดทน ผลแบบผลเปลือก แข็งเมล็ดเดียว รูปค่อนข้างกลม มีโคนใบประดับหุ้มด้านหนึ่ง เมล็ด ๑ เมล็ด รูปค่อนข้างกลม

ค่าหดชนิดนี้เป็นไม้ด้นสูงประมาณ ๑๐ ม. โคนต้นอาจมีพูพอนเล็ก ๆ

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่กึ่งปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาวประมาณ ๑๐ ซม. แกนกลางใบยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีขนหนาแน่น ใบย่อย ๘-๑๑ ใบ รูปขอบขนานหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๗ ซม. ยาว ๗.๕-๑๖ ซม. ปลายมนหรือแหลมเล็กน้อย โคนมนและเบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ แต่ขอบใบอ่อนอาจหยัก แผ่นใบบางหรือค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงหรือมีขน ด้านล่างมีขนหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น ก้านใบย่อยสั้นมากหรือยาวได้ถึง ๘ มม. ไม่มีหูใบ ใบแห้ง มักมีสีเขียวอมเทา

 ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกเหนือรอยแผลใบตามกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อหางกระรอก ช่อย่อยช่อกลางเป็นดอกเพศเมีย มักยาวกว่าช่อย่อยเพศผู้ซึ่งอยู่บริเวณโคนช่อและออกเป็นกระจุก กระจุกละ ๒-๕ ช่อ แต่ละช่อยาว ๓-๗ ซม. ก้านช่อมักสั้นหรืออาจยาวได้ถึง ๑ ซม. ดอกเพศผู้ขนาดเล็ก ใบประดับย่อยเชื่อมติดกับกลีบรวม สีเขียวอ่อน ยาว ๒-๔ มม. รูป ๓ แฉก แฉกกลางอาจแหลมหรือมน กลีบรวมยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกันปลายแยกเป็น ๔ แฉก หรือกลีบรวมอาจลดรูปและมักไม่สมํ่าเสมอ เกสรเพศผู้ ๖-๘ เกสร เรียงเป็น ๒ แถว ก้านชูอับเรณูสั้นมากหรือไม่มี อับเรณูมีขนปลายแกนอับเรณูยื่นแหลมเล็กน้อย ดอกเพศเมียมีขนาดเล็กและมีใบประดับย่อยสีเขียวอ่อนซึ่งเชื่อมติดกับด้านหนึ่งของรังไข่ ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกกลางใหญ่และยาวกว่าแฉกข้าง ติดทนและขยายใหญ่ขึ้นเป็นปีกเมื่อเป็นผล ปีกกลางมีขนาดใหญ่กว่าปีกข้างประมาณ ๒ เท่า กลีบรวมยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ต ก้านยอด เกสรเพศเมีย ๑ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉกยาว ๒ แฉก

 ผลแบบผลเปลือกแข็งเมล็ดเดียว รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ มม. มีขน มีโคนใบประดับหุ้มด้านหนึ่งของผล แฉกใบประดับเป็นปีก ๓ ปีก ยาว ๓-๖ ซม. ช่อผลยาว ๑๖-๒๖ ซม. ก้านช่อผลยาว ๒.๔-๘ ซม. แกนช่อผลมีขนยาวหนาแน่น มี ๑ เมล็ด รูปค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม.

 ค่าหดชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออก พบขึ้นตามป่าผลัดใบและป่าก่อ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๘๐๐-๑.๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า จีน ลาว เวียดนาม และฟิลิปปินส์.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ค่าหด ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Engelhardtia spicata Lesch. ex Blume var. colebrookiana (Lindl. ex Wall.) Kuntze
ชื่อสกุล
Engelhardtia
คำระบุชนิด
spicata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Leschenault de la Tour, Jean Baptiste Louis (Claude) Théodore
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. colebrookiana
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Lindl. ex Wall.) Kuntze
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Leschenault de la Tour, Jean Baptiste Louis (Claude) Théodore (1773-1826)
- Blume, Carl (Karl) Ludwig von (1796-1862)
ชื่ออื่น ๆ
ข่าหด, ดูกนาว, พาว (เหนือ); ข้าวหด, แงะ, มือ (เชียงใหม่); เคล่ปอ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์