กระทุ่มเขาเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงถึง ๑๕ ม. ลำต้นเปลาเปลือกนอกเรียบ สีน้ำตาลอมเทา เปลือกในสีเขียวอ่อน เรือนยอดรูปกรวย กิ่งเกือบตั้งฉากกับลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๔-๑๑ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายสอบแคบหรือหยักคอดเป็นติ่ง โคนสอบแคบหรือมนกว้าง ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นมันทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบและเส้นแขนงใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบ ข้างละ ๖-๑๒ เส้น ปลายโค้งจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบก้านใบยาว ๑-๒.๕ ซม. มีหูใบระหว่างก้านใบ ๑ คู่ ประกบกันรูปไข่หรือรูปลิ้น กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ร่วงง่าย เหลือเฉพาะที่ยอด
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแน่น ออกตามปลายกิ่งเป็นช่อเดี่ยว หรืออาจมีถึง ๓ ช่อ ก้านช่อดอกยาว ๒-๙ ซม. แต่ละช่อประกอบด้วยดอกเล็ก ๆ สีขาวจำนวนมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ ซม. ก่อนจะโรยเปลี่ยนเป็นสีแดงเรื่อ ๆ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นหลอดหรือกรวยเล็ก ๆ ปลายแยก ๕ แฉก เห็นได้ชัด กลีบดอกโคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เกสรเพศผู้ ๕-๖ อัน รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒ ช่อง แต่ละเม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวยื่นพ้นปากหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลแห้ง สีส้ม รวมอัดกันกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๓ ซม. เมล็ดเล็ก มีปีกบาง ๆ
กระทุ่มเขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นริมลำห้วยและป่าเบญจพรรณที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
เนื้อไม้ละเอียด เลื่อยไสกบตกแต่งง่าย มีลายเนื้อไม้สวยนิยมใช้ทำเครื่องแกะสลัก ทำรางและพานท้ายปืน เป็นต้น