เข็มใหญ่เป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๓ ม. ทุกส่วนมีขนสาก
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกลับหรือรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๕(๘) ซม. ยาว ๘-๒๐(๓๐) ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบบาง มีขนสากทั้ง ๒ ด้าน และมีขนหนาแน่นมากตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๒ เส้น ปลายเส้นโค้งจรดกันก่อนถึงขอบใบ เส้นใบย่อยพอเห็นได้ทางด้านล่าง ใบแห้งสีค่อนข้างดำ ก้านใบยาว ๑-๒ ซม. มีขนสาก หูใบระหว่างก้านใบบาง รูปสามเหลี่ยม ปลายแหลม มีขนแน่นทางด้านนอก
ช่อดอกแบบช่อกระจุกซ้อน ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อค่อนข้างโปร่ง โคนช่อใหญ่และช่อย่อยมีใบประดับ ๑ คู่ ดอกสีขาวอมเขียวอ่อน รูปดอกเข็ม ยาว ๒.๕-๓ ซม. กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๓ มม. ขอบหยักเป็นติ่งสั้น ๔ ติ่ง มีขนสากหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดเรียว ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนานแคบ ๔ แฉก ส่วนที่เป็นหลอดยาวประมาณ ๒ เท่าของส่วนที่แยกเป็นแฉก เมื่อดอกบานเต็มที่ปลายแฉกพับมาทางโคนหลอด เกสรเพศผู้ ๔ อัน เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก ยาวพ้นหลอดกลีบดอก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๒(๔) ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดกลีบดอก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑ ซม. ปลายผลด้านบนมักมีส่วนของกลีบเลี้ยงติดอยู่ ผลสุกสีดำ มี ๑(๒) เมล็ด เมล็ดกลม ขนาดใกล้เคียงกับผล
เข็มใหญ่เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามชายป่าดิบ.