งวงสุ่ม

Congea siamensis H. R. Fletcher

ชื่ออื่น ๆ
เครือออนสยาม (ทั่วไป); โพ้ไฮคุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ไม้เลื้อยขนาดใหญ่ กิ่งออกตรงข้าม ใบเดี่ยวเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ช่อย่อยมีใบประดับ ๓ ใบ เห็นเด่นชัด สีชมพูอมม่วง โคนใบประดับเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกรูปปากเปิด สีขาวแกมม่วง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

งวงสุ่มเป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ กิ่งออกตรงข้ามรูปทรงกระบอก มีขน

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๘-๑๗ ซม.ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนมนหรือเว้ารูปหัวใจขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง มีขนเฉพาะตามเส้นใบ ด้านล่างสีจางกว่าและมีขนสั้น เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๖ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นใบนูนเด่นชัดทางด้านล่างและมีขนสั้นหนาแน่น ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขนสั้นนุ่มหนาแน่น

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๒๘ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านและแกนช่อดอกมีขนสั้น ช่อแขนงชั้นแรกออกตรงข้ามมีช่อย่อยจำนวนมากที่มักเรียงตรงข้ามตลอดแกนช่อก้านช่อย่อยยาว ๑-๑.๗ ซม. โคนก้านช่อย่อยมีใบประดับลดรูป ๑ ใบ แต่ละช่อย่อยมี ๓-๗ ดอกหรือมากกว่า มีใบประดับ ๓ ใบ บางช่ออาจพบมี ๔ ใบ เห็นเด่นชัด สีชมพูอมม่วง มักมีขนหนาแน่น รูปไข่กลับหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๐.๗-๑ ซม. ยาว ๒-๓ ซม. ปลายมนหรือแหลม ขอบเรียบ โคนใบประดับของช่อ



ย่อยเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๔ มม. ดอกเล็ก สีขาวแกมม่วง ก้านดอกสั้นมากหรือไม่มี กลีบเลี้ยงยาวประมาณ ๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังยาวประมาณ ๔.๕ มม. ด้านนอกมีขนหนาแน่น ด้านในมีขนเอนราบหนาแน่น ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้างและยาว ๑-๑.๕ มม. มีขน กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกแกมรูประฆัง ยาวประมาณ ๗ มม. หรือมากกว่า ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนเป็นวงบริเวณปากหลอด ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก แบ่งเป็น ๒ ซีก ซีกบนรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายหยักตื้นเป็น ๒ แฉก ซีกล่างมี ๓ แฉก ขนาดเล็กกว่าแฉกซีกบน เกสรเพศผู้มี ๔ เกสร ติดอยู่ที่ปากหลอดกลีบดอก ยาวโผล่พ้นปากหลอดไม่เท่ากัน คู่สั้น ๑ คู่ คู่ยาว ๑ คู่ ก้านชูอับเรณูสีม่วงแดง เรียวคล้ายเส้นด้าย ยาว ๑.๓-๒.๕ มม. อับเรณูสีส้ม รูปค่อนข้างกลมรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๗-๒ มม. เกลี้ยง ปลายมีต่อมกลมขนาดเล็กจำนวนมาก รังไข่มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาวประมาณ ๑.๘ มม. ปลายแยกเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก เห็นไม่ชัด

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับ เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 
งวงสุ่ม
มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคตะวันตกเฉียงใต้พบตามที่โล่ง ไหล่เขา ป่าหญ้า หรือชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งวงสุ่ม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Congea siamensis H. R. Fletcher
ชื่อสกุล
Congea
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Fletcher, Harold Roy
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1907-1978)
ชื่ออื่น ๆ
เครือออนสยาม (ทั่วไป); โพ้ไฮคุย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์