คนางใบหยก

Psychotria lineolata Craib

ไม้พุ่ม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอก หูใบระหว่างก้านใบปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก สีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีม่วง ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาว ผลแบบผลผนังชั้นในแข็งทรงรูปไข่ สีเขียวถึงสีเขียวเข้ม แก่จัดสีเหลือง เมล็ด ๖-๘ เมล็ด

คนางใบหยกเป็นไม้พุ่ม สูง ๑.๕-๓ ม. ทรงพุ่ม แผ่กระจาย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกกว้าง ๒.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๑๐-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมโคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนเป็นมัน เส้นกลางใบเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบ ข้างละ ๑๐-๑๔ เส้น ปลายเส้นแขนงใบเชื่อมติดกันใกล้ขอบใบ เห็นชัดทางด้านล่าง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๒-๔.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบปลายแยกเป็น ๒-๓ แฉก สีเขียวอ่อน เมื่อแก่สีม่วง ร่วงเมื่อแก่

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามปลายกิ่ง ช่อตั้งก้านช่อดอกสั้น ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงเล็กมาก โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปสามเหลี่ยม ผิวเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาว ๐.๗-๑ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกกว้าง ๒-๔ มม. จักลึกประมาณ ๒ มม. เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดบนกลีบดอกตรงง่ามแฉก รังไข่อยู่ใต้วงกลีบมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๓-๔ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑ ซม. ยอดเกสรเพศเมียเป็น ๒ พู

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่ กว้าง ๐.๗-๑.๕ ซม. สีเขียวถึงสีเขียวเข้ม แก่จัดสีเหลือง เมล็ด ๖-๘ เมล็ด

 คนางใบหยกเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบเขาที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑,๐๐๐-๑,๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คนางใบหยก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Psychotria lineolata Craib
ชื่อสกุล
Psychotria
คำระบุชนิด
lineolata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ