กรวยกระ

Casearia graveolens Dalzell

ชื่ออื่น ๆ
ผ่าสาม (เพชรบูรณ์)
ไม้ต้น ผลัดใบ ใบเรียงเวียน รูปรีกว้างถึงรูปขอบขนานแกมรี มีจุดหรือขีดโปร่งแสงกระจาย ช่อดอกแบบช่อกระจุกออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบ ดอกสีเขียว ผลแบบผลแห้งแตกรูปขอบขนานแกมรี

กรวยกระเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๖-๑๐ ม. เปลือกบางสีน้ำตาลอ่อนถึงสีเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็ก กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมกิ่งแก่กลม

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีกว้างถึงรูปขอบขนานแกมรี กว้าง ๔-๖(-๘) ซม. ยาว ๖.๕-๙(-๑๖) ซม. ปลายเรียวแหลมหรือมน โคนเบี้ยว รูปลิ่มกว้างถึงกลม หรือกึ่งรูปหัวใจขอบหยักมนหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา สีเขียวมะกอกมีจุดหรือชุดโปร่งแสงกระจาย เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๐(-๑๒) เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบเรียว ยาว ๑-๑.๒ ซม. หูใบรูปแถบปลายแหลม ยาว ๒-๔ มม. ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อกระจุก มักออกตามกิ่งเหนือรอยแผลใบดอกสีเขียว มีกลิ่นเหม็น เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ มม. ก้านดอกอวบหนา ยาว (๓-)๔(-๖) มม. มีขนหรือเกลี้ยง ใบประดับมีจำนวนมาก รูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ ๒ มม. มีขน กลีบเลี้ยง ๔-๖ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ด้านนอกมีขนหรือเกลี้ยง ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๘ อัน ก้านชูอับเรณูมีขนกระจายห่าง ๆ เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันมีขนหยาบแข็ง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน มีลิ้นหนา ๓ อัน ด้านบนมีขนห่าง ๆ มีออวุลจำนวนมากติดตามแนวตะเข็บ ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปขอบขนานแกมรีหรือกึ่งรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว (๑.๕-)๑.๘(-๒.๕) ซม. เกลี้ยงยกเว้นปลายผล มีช่องเปิด ๓ ช่อง มีตุ่มเล็กด้านนอกเห็นชัดเมื่อผลแห้ง มีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ถึงค่อนข้างกลมสีเหลืองถึงสีน้ำตาล กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีเยื่อหุ้มเป็นลอนสีม่วงแดง

 กรวยกระมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขึ้นตามป่าผลัดใบที่สูงจากระดับน้ำทะเลได้ถึง ๑,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย และภูมิภาคอินโดจีน

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กรวยกระ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Casearia graveolens Dalzell
ชื่อสกุล
Casearia
คำระบุชนิด
graveolens
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dalzell, Nicol (Nicolas) Alexander
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1878)
ชื่ออื่น ๆ
ผ่าสาม (เพชรบูรณ์)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวกัลยา ภัทรหิรัญกนก