คงคาเดือดเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกสีเทาหรือสีเทาอมขาว
ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงสลับ ก้านใบยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. แกนกลางยาว ๓.๕-๕.๕ ซม. ทั้งก้านใบ และแกนกลางมีขนใบย่อย (๒-)๔-๘ใบ เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง ๒-๔ ซม. ยาว ๒-๘.๕ ซม. ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม โคนมน แหลมหรือเบี้ยว ขอบเรียบหรือจักมนห่าง แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ โคนแผ่นใบ และเส้นกลางใบทั้ง ๒ ด้านมีขนประปราย เส้นแขนงใบ ข้างละ ๗-๘ เส้น ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๕ มม. มีขน
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด มีขนหนาแน่น ใบประดับรูปรีหรือรูปไข่ กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๗-๙ มม. มีขนดอกมีกลิ่นหอม สมมาตรด้านข้าง เส้นผ่านศูนย์กลางดอก ๑.๕-๑.๘ ซม. ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ สีเขียวอมแดง มีขนรูปไข่หรือรูปรี กว้าง ๒-๕ มม. ยาว ๕.๕-๙ มม. ในดอกตูมเรียงแบบซ้อนเหลื่อม กลีบดอกสีขาว มี ๒-๕ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนานขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงมาก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๔ มม. เกสรเพศผู้ ๖-๙ เกสร ก้านชูอับเรณูยาว ๖-๙ มม. สีเขียว อับเรณูสีส้ม จานฐานดอกแยกจากวงเกสรเพศผู้รูปคล้ายปาก มีรังไข่ที่ไม่เจริญ รูปกลม ขนาดเล็ก มีขนดอกเพศเมีย กลีบเลี้ยง และกลีบดอกเหมือนของดอกเพศผู้
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงเกือบกลม กว้าง ๓-๔.๓ ซม. ยาว ๓.๒-๕.๕ ซม. เปลือกบาง พอง และมีปีก ปีกผลกว้างประมาณ ๒ ซม. เมล็ดรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ มม. ยาว ๖-๗ มม. มีขนสีนํ้าตาล ไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด
คงคาเดือดมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคกลาง พบตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ โดยเฉพาะตามเขาหินปูน ที่สูงจากระดับนํ้าทะเล ๑๐-๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ เป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่ลาว
ประโยชน์ ใบและเปลือกต้มกินแก้ไข้ ต้นนำมาป่นใช้ฆ่าพยาธิ.