ฆ้องสามย่าน ๑

Kalanchoe craibii Raym.-Hamet

ชื่ออื่น ๆ
ทองสามย่าน (กรุงเทพฯ); โพเพาะ (นครราชสีมา)
ไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นอวบน้ำ ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบหยักเป็น ๓ แฉก รูปแถบ ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ดอกสีเหลือง

ฆ้องสามย่านชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปี ลำต้นตั้งตรง อวบน้ำ ไม่แตกกิ่งก้าน เกลี้ยงหรือตอนปลายของลำต้นมีขนยาวประปราย

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม แผ่นใบหยักเป็น ๓ แฉก รูปแถบ ก้านใบสั้นและเรียว โคนก้านขยายกว้างออก

 ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกที่ยอด ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ก้านดอกสั้นกว่าหลอดกลีบดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ยาวประมาณ ๑.๒ มม. มีขนยาวประปราย ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปใบหอกแกมรูปแถบ กว้างประมาณ ๒.๗ มม. ยาวประมาณ ๘.๖ มม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม กลีบดอกสีเหลืองโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนหลอดพองออก ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปเกือบกลมแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม เกสรเพศผู้ ๘ เกสร เรียงเป็น ๒ ชั้น ติดอยู่เหนือกึ่งกลางของหลอดกลีบดอก อับเรณูโผล่พ้นหลอดกลีบดอก มีต่อม ๔ ต่อม รูปแถบปลายแหลม กว้างประมาณ ๐.๒ มม. ยาวประมาณ ๓.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๔ รังไข่ รูปใบหอกแกมรูปไข่กว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. แนบชิดกันแต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียอยู่ชิดกัน ยาวประมาณ ๒.๓ มม.

 ฆ้องสามย่านชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าละเมาะ ที่สูงจากระดับทะเลประมาณ ๓๐๐ ม. ยังไม่มีข้อมูลการติดผล.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ฆ้องสามย่าน ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Kalanchoe craibii Raym.-Hamet
ชื่อสกุล
Kalanchoe
คำระบุชนิด
craibii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Raymond-Hamet,
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1890-1972)
ชื่ออื่น ๆ
ทองสามย่าน (กรุงเทพฯ); โพเพาะ (นครราชสีมา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา