กกเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งใบเดี่ยว ลักษณะคล้ายใบหญ้าออกเป็นกระจุกที่โคนต้น ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ช่อแยกแขนง ช่อกระจุกแน่น หรือช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายลำต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ ๓ ใบหรือมากกว่า ลักษณะคล้ายใบ มีดอกย่อยดอกเดี่ยวหรือหลายดอก เป็นดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศเดียวเรียงบนช่อดอกย่อยช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีใบประดับคล้ายใบรองรับ ไม่มีวงกลีบรวม หรือมีแต่เปลี่ยนรูปร่างเป็นเกล็ดหรือขนแข็งเล็ก ๆ เกสรเพศผู้ ๑-๖ อัน ตามปรกติมี ๓ อัน และมีก้านชูอับเรณูแยกเป็นอิสระ ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒-๓ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีช่องเดียว และมีออวุล ๑ เม็ด ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน
รูปร่างลักษณะและนิเวศวิทยาของกกคล้ายหญ้ามาก ลักษณะที่แตกต่างจากหญ้า คือ กกมักมีลำต้นตัน ส่วนมากเป็นสามเหลี่ยม บางชนิดมีผนังกั้นแบ่งเป็นช่อง ๆ มีกาบใบเป็นหลอด ไม่มีลิ้นใบ บางชนิดมีแต่เล็กและสั้นมาก ลักษณะสําคัญอีกประการหนึ่งของกก คือ แต่ละดอกมีใบประดับเพียงใบเดียว มีเหง้าและมีไหล ใบของกกเหมือนกับใบของหญ้าแต่เรียงตัวเป็น ๓ แถวรอบโคนต้น
วงศ์ Cyperaceae นี้ใหญ่เป็นที่ ๓ ในพืชใบเลี้ยงเดี่ยวของโลก ประกอบด้วย ๑๐๒-๑๒๓ สกุล ๕,๐๐๐ ชนิด ในประเทศไทยมี ๒๙ สกุล ๒๔๘ ชนิด เป็นพืชที่กระจายทั่วไปในเขตร้อนประมาณ ๑๙ สกุล ในเขตร้อนซีกโลกเก่า ๖ สกุล และอีก ๔ สกุล มีในเขตเอเชียแปซิฟิก สกุลที่ใหญ่ที่สุดคือ กกกาบฝอย หญ้าหนวดปลาดุก (Fimbristylis) มี ๖๐ ชนิด กกขนาก กกอียิปต์ (Cyperus) มี ๔๗ ชนิด กกเหลี่ยม หญ้าคมบาง (Carex) มี ๔๐ ชนิด และกกขนาน ปรือ (Scirpus) มี ๒๒ ชนิด บางสกุลมีน้อยชนิดแต่มีการใช้สอยซึ่งรู้จักกันดี เช่น กกสามเหลี่ยม (Actinoscirpus) และกกกลม (Schoenoplectus) กระจูด (Lepironia) เป็นต้น
กาสกุล Cyperus เป็นพืชปีเดียวหรือพืชหลายปี ลำต้นเป็นสามเหลี่ยมหรือกลม ใบที่โคนต้นจะเปลี่ยนเป็นเกล็ดหรือแผ่นสีน้ำตาลห่อโคนต้นและเหง้า โคนช่อดอกมีใบประดับรองรับช่อดอกย่อยประกอบด้วยดอกสมบูรณ์เพศดอกเดี่ยวหรือหลายดอกเรียงสลับระนาบเดียวกันบนแกนช่อดอกย่อย เกสรเพศผู้ ๑-๓ อัน ยอดเกสรเพศเมียมี ๒-๓ แฉก กกสกุลนี้ หลายชนิดเป็นวัชพืชในไร่นา เป็นสมุนไพร เป็นอาหาร เป็นไม้ประดับ และใช้ทำภาชนะเครื่องใช้อื่น ๆ
กกที่เป็นวัชพืช เช่น กกขนาก (C. difformis L.) ขึ้นในไร่นา ลักษณะคล้ายกกทั่วไป ข้อแตกต่างที่สังเกตง่ายคือ แขนงช่อดอกเล็กและรวมกันอยู่เป็นกระจุกกลม, กกทราย กกหัวแดง หรือ กกลังกาขาว (C. iria L.) พบในไร่นาเช่นเดียวกับกกขนาก ลักษณะเด่นคือ รากสีแดงปนเหลือง ช่อดอกสีเหลืองกระจายกว้าง ใบประดับใบล่างสุดยาวกว่าช่อดอก, กกนา (C. haspan L.), กกลังกา (C. digitatus Roxb.), กกรังกาป่า (C. cuspidatus Kunth), กกเล็ก (C. pulcherrimus Willd. & Kunth)
นอกจากเป็นวัชพืชแล้วในบางประเทศยังใช้กกบางชนิดในสกุลนี้เป็นสมุนไพร เช่น กกขี้หมา กกสามเหลี่ยม (C malaccensis Lam.) ในฟิลิปปินส์ใช้เหง้าแก้โรคกระเพาะและแก้อาการท้องผูก
กกอีกหลายชนิดใช้เป็นอาหารได้ เช่น แห้วไทย หรือ มะนิ่ว (C. esculentus L.) ชื่อสามัญ Chufa, Earth almond,Tiger nut, Rush nut มีเหง้ากินได้
กกหลายชนิดใช้ประโยชน์อย่างอื่น ๆ ได้ เช่น ชนิด C. articulatus L. และ C. longus L. ชื่อสามัญ Galingale เหง้ามีกลิ่นหอมใช้ในอุตสาหกรรมทำน้ำหอม, กกกลม (C. tegetiformis Roxb.) ชื่อสามัญ Chinese mat grass และ กกสานเสื่อ หรือ กกจันทบุรี (C. corymbosus Rottb.) ใช้ทำเสื่อ
กกลังกา (C. involucratus Rottb.) ชื่อสามัญ Umbrella plant ปลูกเป็นไม้น้ำ และ กกอียิปต์ (C. papyrus L.) ชื่อสามัญ Papyrus, Paper reed นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับในประเทศไทยนานแล้ว ถูกทั้ง ๒ ชนิดชอบขึ้นในที่มีน้ำขัง กกอียิปต์ลำต้นกลมผิวเขียวเป็นมัน ดอกออกเป็นช่อกลมใหญ่ที่ปลายต้น แขนงช่อดอกเป็นเส้นเล็กฝอย ชูช่อยาวออกไปโดยรอบ ชาวอียิปต์โบราณใช้ลำต้นทำกระดาษหรือผูกมัดเป็นเรือ
วัชพืชที่รู้จักกันดีคือ กกสามเหลี่ยม กกตะกรับ กกตาแดง หรือ แห้วกระดาน (Actinoscirpus grossus (L.f.) Goetgh. & D.A.Simpson) ลำต้นใช้สานเสื่อและทำเชือกได้ กกชนิดนี้มีลำต้นขนาดใหญ่ตั้งตรงและเป็นสามเหลี่ยม ผิวลำต้นเรียบเป็นมัน ใบใหญ่แบนยาว ช่อดอกออกที่ปลายต้นแผ่กระจายกว้าง ก้านยอดเกสรเพศเมียแต่ละอันยาวพ้นใบประดับเมล็ดกลมรี สีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมแดงคล้ายสีของใบประดับ
กกอีกชนิดหนึ่งที่รู้จักกันดี คือ กกยูนนาน หรือ กกกลม (Schoenoplectus mucronatus (L.) Palla] ลำต้นตั้งตรงค่อนข้างกลม สูงกว่ากกสามเหลี่ยมเล็กน้อยและเรียวกว่าใช้สานเสื่อและทำเชือก ใบอยู่ที่ส่วนโคนลำต้นและไม่ค่อยพบแผ่นใบ มีเฉพาะกาบใบสีน้ำตาลคล้ายปลอกหุ้มโคนต้น ด้านข้างของปลายลำต้นเป็นที่เกิดของช่อดอก ซึ่งออกเป็นกระจุกจากจุดเดียวกันกระจายออกไปรอบด้านเหมือนรูปดาว ขยายพันธุ์โดยการแยกเหง้าจากต้นเดิม และจะตัดเมื่อมีอายุได้ประมาณ ๓ เดือนในระยะก่อนออกดอก นำไปตากแดดให้แห้งโดยมัดรวมกันเป็นกำที่ปลายด้านหนึ่งแล้ววางแผ่ออกไปบนพื้น ใช้เวลาตาก ๔-๕ วัน ปัจจุบันการทอเสื่อด้วยกกชนิดนี้กลายเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนช่วยเพิ่มพูนรายได้อีกทางหนึ่ง ในต่างประเทศ เช่น ในทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกาใต้ใช้ลำต้นของกกชนิด Scirpus lacustris L. สานเสื่อ ทำกระจาด และใช้ลำต้นของชนิด S. totara (N. & M.) Kunth ทำเรือและแพ ส่วนในจีนและญี่ปุ่นนิยมกินหัวของชนิด S. tuberosus Roxb. กกทั้ง ๓ ชนิดดังกล่าวไม่มีในประเทศไทย