Zionism (-)

ขบวนการไซออนิสต์ (-)

ไซออนิสต์เป็นขบวนการของชาวยิวที่มุ่งก่อตั้งประเทศสำหรับชาวยิวที่กระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลกใน “ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์” (HolyLand) หรือ “ดินแดนแห่งอิสราเอล” (LandofIsrael) ดินแดนดังกล่าวตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และครอบคลุมอิสราเอล ปาเลสไตน์ ทิศตะวันตกของจอร์แดน เลบานอนทางตอนใต้ รวมถึงทิศตะวันตกเฉียงใต้ของซีเรีย กลุ่มไซออนิสต์เริ่มเคลื่อนไหวอย่างจริงจังในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกเพื่อตอบโต้ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Antisemitism)* ที่ปะทุขึ้นมาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออิสราเอลจัดตั้งประเทศขึ้นสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๔๘ จุดมุ่งหมายของขบวนการไซออนิสต์จึงเปลี่ยนเป็นการรักษาผลประโยชน์ของอิสราเอล รวมถึงเฝ้าระวังภัยคุกคามที่อาจเป็นอันตรายต่อความอยู่รอดของอิสราเอลได้

 ใน ๕๘๗ ปีก่อนคริสต์ศักราช กองทัพบาบิโลเนียบุกทำลายนครเยรูซาเลม (Jerusalem) ชาวยิวจึงกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานในจักรวรรดิบาบิโลเนีย (Babylonian Empire) หรืออิรักในปัจจุบัน รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงเช่นอียิปต์ ต่อมาเมื่อจักรวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) รุกรานบาบิโลเนียใน ๕๔๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวยิวจึงได้รับอนุญาตให้กลับไปตั้งถิ่นฐานในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่เมื่อถูกจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) เข้ายึดครองเมื่อ ๖๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาวยิวจึงถูกปกครองอย่างเข้มงวดจนเกิดการกบฏขึ้นบ่อยครั้ง กบฏครั้งสำคัญที่สุด ได้แก่ กบฏบาร์ค็อกบา (Bar Kokhba Revolt) ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๒–๑๓๖ ในครั้งนั้นชาวยิวกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ถูกสังหาร จับขายเป็นทาส ชาวยิวที่รอดชีวิตจึงอพยพออกไปยังส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมัน ซึ่งรวมถึงทวีปยุโรปในปัจจุบันด้วย จักรวรรดิโรมันจึงตอบโต้ด้วยการเรียก “ดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์” เป็น “ซีเรียปาเลสตีนา” (Syria Palaestina) ซึ่งหมายถึงดินแดนของพวกฟิลิสไตน์ (Philistines) ศัตรูของชาวยิวและยังห้ามชาวยิวกลับมาตั้งถิ่นฐานใน “ไซออน” หรือนครเยรูซาเลม แต่ยังอนุญาตให้ชาวยิวเดินทางเข้านครเยรูซาเลมได้ในวันทิชาบัฟ (Tisha B’av) หรือวันถือศีลอดของชาวยิว เพื่อรำลึกถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ยิว การกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ ส่งผลให้ชาวยิวจำนวนมากหวังที่จะได้กลับไปตั้งรกรากใน “ไซออน” อีกครั้ง ความหวังในข้อนี้อยู่ใน “อะมิดาฮ์” (Amidah) หรือบทสวดขอพร ๑๘ ข้อ ของชาวยิว ซึ่งในปัจจุบันเพิ่มเป็น ๑๙ ข้อ

 ความหวังในการกลับไปตั้งรกรากที่ “ไซออน” ประกอบกับมาตรการในการต่อต้านชาวยิวหลายข้อทำให้ชาวยิวจำนวนมากพยายามกลับไปตั้งรกรากในดินแดนดั้งเดิมของตนอีกครั้ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๒๑๐–๑๒๑๑ รับไบ (Rabbi) หรือผู้สอนศาสนาจำนวน ๓๐๐ คน ได้เดินทางออกจากฝรั่งเศสเพื่อไปตั้งรกรากในปาเลสไตน์ และหลังจากที่สเปนและโปรตุเกสประกาศขับไล่ชาวยิวออกจากประเทศใน ค.ศ. ๑๔๙๒ เนื่องจากไม่ประสบความสำเร็จในการบังคับให้ชาวยิวเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา ชาวยิวหลายแสนคนจึงออกเดินทางไปยังปาเลสไตน์ หลังการอพยพครั้งใหญ่นี้ชาวยิวยังคงเดินทางไปปาเลสไตน์อย่างต่อเนื่อง ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ รับไบหลายคนได้เป็นผู้นำในการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ ในคริสต์ศตวรรษต่อมา แนวคิดชาตินิยมที่ก่อตัวขึ้นอย่างจริงจังหลังจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* บุกยึดครองยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๓–๑๘๑๕ และการแบ่งดินแดนที่ไม่คำนึงถึงแนวคิดชาตินิยมของการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๑๔–เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ แนวความคิดชาตินิยมยังทำให้แผนการเรื่องการไปตั้งถิ่นฐานใน “ไซออน” ของชาวยิวในยุโรปได้รับความสนใจมากขึ้น และต่อมาก็แพร่หลายไปถึงชาวยิวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วย ดังเช่น มอเดไช อิมมานูเอล โนอา (Mordechai Immanuel Noah) นักการทูตชาวอเมริกันซื้อดินแดนในรัฐนิวยอร์กเพื่อจัดตั้งเป็นรัฐของชาวยิวใน ค.ศ. ๑๘๒๕ แต่กลับประสบความสำเร็จเพียงเล็กน้อย ในเวลาไล่เลี่ยกันโมเซสมอนเตอฟิโอเร (Moses Montefiore) ชาวยิวเชื้อสายอังกฤษได้เชิญชวนให้ชาวยิวเดินทางไปตะวันออกกลางเพื่อก่อตั้งดินแดนของชาวยิวที่ปาเลสไตน์

 ความต้องการมีรัฐของตนเองและการเผชิญกับแนวคิดต่อต้านชาวยิวที่เข้มข้นขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์กรุงดามัสกัส (Damascus Affair) ใน ค.ศ. ๑๘๔๐ เมื่อชาวยิวในกรุงดามัสกัสภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ถูกกล่าวหาว่าสังหารชาวคริสต์เพื่อนำเลือดมาดำเนินพิธีกรรมทางศาสนา จนเกิดการจลาจลต่อต้านชาวยิวขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วจักรวรรดิออตโตมัน รวมถึงคลื่นการกวาดล้างชาวยิวในรัสเซียระหว่าง ค.ศ. ๑๘๘๑–๑๘๘๔ ดังมีการออกกฎหมายเดือนพฤษภาคม (May Laws) ที่ต่อต้านชาวยิว ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ และเหตุการณ์เรื่องเดรฟุส (Dreyfus Affair)* ในฝรั่งเศสเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๔ ที่ทำให้ชาวฝรั่งเศสประณามว่าชาวยิวเป็นผู้ขายความลับทางการทหารของชาติ ขบวนการไซออนิสต์จึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ใน ค.ศ. ๑๘๖๐ อดอล์ฟ เครมีเยอ (Adolphe Crémieux) นักการเมืองฝรั่งเศสเชื้อสายยิวได้ก่อตั้งองค์กรพันธมิตรอิสราเอลสากล (Alliance Isaraélite Universelle) ขึ้นที่กรุงปารีสเพื่อช่วยเหลือชาวยิวที่มีความเสี่ยงในการถูกทำร้ายจากแนวคิดต่อต้านชาวยิวที่รุนแรงให้สามารถอพยพไปตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์หรือในภูมิภาคอื่น เช่น ละตินอเมริกา ใน ค.ศ. ๑๘๘๑ ขบวนการ “ชิบบัต-ไซออน” (Chibbat Zion)ได้ก่อตั้งขึ้นในยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะในรัสเซีย เพื่อรวบรวมชาวยิวให้อพยพไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ ขบวนการนี้มีสมาชิกที่มีชื่อเสียงหลายคน จึงสามารถรวบรวมชาวยิวได้เป็นจำนวนมาก “ชิบบัตไซออน” จึงถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างจริงจังของขบวนการไซออนิสต์

 สมาชิกคนสำคัญของ “ชิบบัตไซออน” หลายคนมีผลงานโดดเด่น เช่น ซามูเอล โมฮีเลเวอร์ (Samuel Mohilever) ชาวโปลเชื้อสายยิวที่รวบรวมเงินเพื่อให้ชาวนายิวอพยพไปตั้งถิ่นฐานในปาเลสไตน์ ลีออน พินสเคอร์ (Leon Pinsker) แพทย์ชาวยิวจากเมืองโอเดสซา (Odessa) ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๗๙๒ ได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อชักชวนให้ชาวยิวร่วมกันสร้างชาติของตนเองเมื่อเกิดการกวาดล้างชาวยิวครั้งใหญ่ขึ้นในรัสเซียและโอเดสซาใน ค.ศ. ๑๘๘๑ เนื่องจากเขาเห็นว่าสาเหตุหลักที่ชาวยิวถูกเกลียดชังคือการที่ชาวยิวซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลกยังคงยึดมั่นกับวิถีความเป็นยิวและไม่ยอมรับวัฒนธรรมของชาติที่ตนเองอาศัยอยู่เขาจึงเห็นว่าการมีชาติเป็นของตนเองจะช่วยลดความเกลียดชังในข้อนี้ลงได้ พินสเคอร์ได้รับความช่วยเหลือจากเอดมอนด์ รอทสไชลด์ (Edmond Rothschild) นักธุรกิจชาวยิวผู้ใจบุญจากฝรั่งเศส โดยเฉพาะในด้านการซื้อที่ดินในปาเลสไตน์ แต่อุปสรรคหลายด้านก็ยังทำให้ความฝันของพินสเคอร์ไม่ประสบผลสำเร็จ

 ในขณะที่พินสเคอร์ล้มเหลว องค์กร “บิลู” (Bilu) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒ หลังคลื่นการกวาดล้างชาวยิวในรัสเซียโดยนักศึกษาจำนวน ๑๔ คนจากมหาวิทยาลัยในเมืองคาร์คิฟ (Kharkiv) ได้นำชาวรัสเซียเชื้อสายยิวเดินทางถึงปาเลสไตน์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๒ พวกเขาก่อตั้งกลุ่ม “ริชฮอนเลอไซออน” (Rishon LeZion)และได้รับเงินสนับสนุนจากรอทสไชลด์เพื่อซื้อที่ดินและทำการเกษตร หลังซื้อที่ดินในชุมชนอาหรับได้จำนวนหนึ่ง พวกเขาเริ่มเพาะปลูกองุ่นเพื่อผลิตไวน์ใน ค.ศ. ๑๘๘๖ จนทำให้การผลิตไวน์กลายเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของกลุ่ม ในเวลาเดียวกันรอทสไชลด์ยังซื้อที่ดินให้กับกลุ่มของชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรปอีกหลายกลุ่ม เช่น กลุ่ม “รอชพินา” (Rosch Pina; Rosh Pinah) จากโรมาเนียราว ๓๐ ครอบครัวที่เดินทางมาถึงตอนเหนือของปาเลสไตน์ใน ค.ศ. ๑๘๘๒ หรือกลุ่ม “ซิชรอนยากูฟ” (Zichron Ja’akow; Zichron Ya’akov) ที่เดินทางมาตั้งรกรากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปาเลสไตน์ใน ค.ศ. ๑๘๘๒

 อย่างไรก็ตาม คำว่า “ไซออนิสต์” เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการเมื่อนาทาน เบียนบอม (Nathan Birnbaum) นักเขียนชาวออสเตรียเชื้อสายยิวใช้ศัพท์ “ไซออนิสต์” ในบทความที่เขาเขียนลงนิตยสารSelbst-Emancipation ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ และคำศัพท์นี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเมื่อเทโอดอร์ แฮร์เซิล (Theodor Herzl)* นักเขียนชาวฮังการีเชื้อสายยิวได้เขียนหนังสือ The Jewish State และจัดจำหน่ายในเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีใน ค.ศ. ๑๘๙๖ ใน The Jewish State แฮร์เซิลกล่าวถึงประเด็นสำคัญว่าชาวยิวล้มเหลวในการปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมอื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมยุโรป ชาวยิวที่กระจายกันอยู่ทั่วโลกจึงควรจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการอพยพไปอยู่ดินแดนเดียวกัน โดยที่แฮร์เซิลไม่ได้ให้ความสำคัญว่า ดินแดนนั้นจะต้องเป็นปาเลสไตน์เท่านั้น The Jewish State ได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวยิวจากทั่วโลกเดินทางมาประชุมกันที่เมืองบาเซิล (Basel) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๙๗ และจัดตั้ง “องค์การไซออนิสต์โลก” (World Zionist Organization) ขึ้นโดยมีแฮร์เซิลเป็นประธานคนแรก ที่ประชุมยังร่วมกันลงมติว่าจุดมุ่งหมายหลักคือการร่วมกันจัดตั้งดินแดนของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์ โดยให้เกษตรกรและช่างฝีมือเป็นกลุ่มผู้บุกเบิก แฮร์เซิลจึงต้องหันมาสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวยิวตามมติของที่ประชุม และเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในข้อนี้ใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ที่ประชุมองค์การไซออนิสต์โลกจึงลงมติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อชาติยิว (Jewish National Fund) ขึ้น โดยมีโยฮันน์ เครเมเนซกี (Johann Kremenezky) เป็นผู้อำนวยการคนแรก

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๓–๑๙๐๕ ได้เกิดการจลาจลต่อต้านชาวยิวครั้งใหญ่ในรัสเซียระหว่างวันที่ ๑๙–๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่เมืองคิชิเนฟ (Kishinev) หลังจากชาวยิวถูกกล่าวหาว่าสังหารเด็กชายและเด็กหญิง ๒ คน ส่งผลให้ชาวยิวเสียชีวิต ๔๗ คนและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก การจลาจลต่อต้านชาวยิวครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองโอเดสซาทำให้มีชาวยิวถูกสังหารราว ๒,๕๐๐ คน การจลาจลเหล่านี้ทำให้ชาวยิวราว ๔๐,๐๐๐ คนตัดสินใจเดินทางอพยพไปปาเลสไตน์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๑๔ โดยได้รับเงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากกองทุนเพื่อชาติยิว ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ที่ประชุมองค์การไซออนิสต์โลกได้มีมติให้จัดตั้งองค์กรตัวแทนเพื่อปาเลสไตน์ (Agency for Palestine) โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองจัฟฟา [Jaffa–ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เปลี่ยนชื่อเป็น เทลอาวีฟ (Tel Aviv)] และมีอาเธอร์ รัพพิน (Arthur Ruppin) นักมานุษยวิทยาชาวเยอรมันเชื้อสายยิวเป็นผู้ดูแลสำนักงาน มีหน้าที่หลักในการจัดสรรเงินช่วยเหลือให้แก่ชาวยิวที่ต้องการอพยพมายังปาเลสไตน์ รวมถึงอำนวยความสะดวกในการจัดหาหนังสือเดินทางและใบอนุญาตให้เข้าประเทศ นอกจากนั้นยังมีหน้าที่แนะนำผู้อพยพในด้านต่าง ๆ เช่น การดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ ตลอดจนภาษาฮิบรู จนทำให้รัพพินได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของผู้อพยพชาวยิว

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ จักรวรรดิออตโตมัน สมาชิกฝ่ายมหาอำนาจกลางและเป็นผู้ปกครองดินแดนปาเลสไตน์ในขณะนั้น และอังกฤษ ฝ่ายสัมพันธมิตรต่างชักชวนให้องค์การไซออนิสต์โลกสนับสนุนฝ่ายตนในการทำสงคราม อย่างไรก็ตาม องค์การไซออนิสต์โลกเลือกที่จะสนับสนุนอังกฤษ เนื่องจากเห็นว่าอังกฤษจะสนับสนุนให้ก่อตั้งรัฐของชาวยิวในปาเลสไตน์ได้พวกเขาเลือกคาอิม ไวซ์มันน์ (Chaim Weizmann)* นักเคมีที่ช่วยกองทัพอังกฤษคิดค้นดินปืนไร้ควัน ให้เจรจากับรัฐบาลลอยด์ จอร์จ (Lloyd George)* ของอังกฤษและในวันที่ ๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗อาร์เทอร์ เจมส์ บัลฟอร์ (Arthur James Balfour)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้มีหนังสือรับรองถึงไลโอเนล วัลเทอร์รอตส์ไชลด์ (Lionel Walter Rotschild) นายธนาคารและผู้สนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ชื่อดัง ว่าอังกฤษจะสนับสนุนให้ขบวนการไซออนิสต์ได้จัดตั้งรัฐของตนเองขึ้นในปาเลสไตน์ เอกสารนี้ต่อมาเรียกว่า ปฏิญญาบัลฟอร์ (Balfour Declaration)* องค์การไซออนิสต์โลกจึงยึดถือคำประกาศนี้ว่าเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาจากอังกฤษเมื่อสงครามโลกครั้งที่๑สิ้นสุดลงสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ได้มอบสิทธิในการดูแลปาเลสไตน์ให้อังกฤษ โดยที่อังกฤษต้องรับภาระเรื่องการสนับสนุนขบวนการไซออนิสต์ให้จัดตั้งรัฐของชาวยิว

 อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในตะวันออกกลาง รวมถึงความต้องการของชาวอาหรับที่จะจัดตั้งรัฐของชาวอาหรับหลังการสิ้นอำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน ทำให้ความต้องการของขบวนการไซออนิสต์สำเร็จได้ยาก ขณะเดียวกันชาวอาหรับก็เห็นว่าจุดมุ่งหมายของขบวนการไซออนิสต์เป็นอุปสรรคสำหรับพวกตน เมื่อรัฐบาลอังกฤษแต่งตั้งเซอร์เฮอร์เบิร์ตแซมูเอล (Herbert Samuel) ชาวอังกฤษเชื้อสายยิวให้เป็นผู้ตรวจการใหญ่ประจำปาเลสไตน์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ ชาวอาหรับจึงไม่พอใจมากขึ้นและมองว่ารัฐบาลอังกฤษกับชาวยิวร่วมมือกันขัดขวางตน ในเดือนเดียวกันนั้นเอง ชาวอาหรับจึงเริ่มทำร้ายและทำลายร้านค้าของชาวยิวเหตุการณ์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีชาวยิวเสียชีวิตกว่า ๔๐ คน ในเหตุการณ์ชาวอาหรับก่อจลาจลต่อต้านชาวยิวในเมืองเทลอาวีฟในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ความต้องการที่จะจัดตั้งรัฐของชาวอาหรับเริ่มเป็นสิ่งที่สำเร็จได้ยากเมื่อรัฐบาลอังกฤษตัดสินใจแบ่งปาเลสไตน์ออกเป็น ๒ ส่วนใน ค.ศ. ๑๙๒๒ โดยให้ดินแดนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนเรียกว่า ปาเลสไตน์ และถูกกันให้เป็นที่ก่อตั้งรัฐของชาวยิวในอนาคต ส่วนดินแดนทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดนเรียกว่า ทรานส์จอร์แดน (Transjordan–ปัจจุบันคือราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน) มีเอมีร์ อับดุลเลาะห์ อิบน์ อัลฮุสเซน (Abdallah ibn al-Hussain) เป็นประมุข โดยที่ทั้ง ๒ ส่วนยังอยู่ภายใต้การดูแลโดยตรงของรัฐบาลอังกฤษ

 แม้การแบ่งปาเลสไตน์จะทำให้การจัดตั้งรัฐของชาวอาหรับเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น แต่องค์การไซออนิสต์โลกกลับเห็นเป็นโอกาสในการจัดตั้งรัฐยิว แม้จะถูกบีบให้มีพื้นที่อยู่เพียงทิศตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนก็ตาม องค์การไซออนิสต์โลกจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวยิวในยุโรปที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ อพยพมายังปาเลสไตน์ส่งผลให้ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๗ มีชาวยิวราว ๖๗,๐๐๐ คนอพยพมายังปาเลสไตน์ คลื่นการอพยพครั้งใหม่จากยุโรปเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓–๑๙๓๘ เมื่อพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ขึ้นครองอำนาจในเยอรมนีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคซึ่งหวังจะทำลายอิทธิพลของชาวยิวในสังคมเยอรมันและแบ่งแยกชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากพลเมืองชาวเยอรมัน จึงเริ่มใช้นโยบายกวาดล้างชาวยิวหลังขึ้นครองอำนาจไม่นาน ในวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๓ พรรคนาซีเริ่มรณรงค์คว่ำบาตรร้านค้าและธุรกิจของชาวยิว ทำให้มีชาวยิวส่วนหนึ่งต้องการอพยพออกนอกประเทศ โดยส่วนหนึ่งเดินทางไปปาเลสไตน์และอีกส่วนหนึ่งเดินทางไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก สถานการณ์รุนแรงขึ้นเมื่อรัฐบาลนาซีใช้กฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Laws)* เพิกถอนสิทธิการเป็นพลเมืองเยอรมันที่สมบูรณ์ของชาวยิวใน ค.ศ. ๑๙๓๕ ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลนาซีขับไล่ชาวยิวออกจากชุมชนที่เคยอยู่อาศัยมาหลายชั่วคน ต่อมาเมื่อฮิตเลอร์สั่งให้ขับไล่ชาวโปลเชื้อสายยิวออกจากเยอรมนีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ จนเกิดเป็นเหตุการณ์คืนกระจกแตก (Kristallnacht; Night of Broken Glass)* ระหว่างวันที่ ๙–๑๐ พฤศจิกายนร้านค้าและโบสถ์ของชาวยิวหลายแห่งทั่วประเทศถูกทำลายและลอบวางเพลิง และมีการทำร้ายชาวยิวจนชาวยิวเสียชีวิตราว ๒,๕๐๐ คน ทำให้ชาวยิวอพยพออกนอกประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางไปปาเลสไตน์

 การอพยพของชาวยิวจากยุโรปไปยังปาเลสไตน์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๖ เป็นต้นมา ทำให้ชาวอาหรับไม่พอใจ เนื่องจากเห็นชาวยิวเป็นอุปสรรคในการตั้งรัฐของชาวอาหรับจึงลุกขึ้นต่อต้านชาวยิวเมื่อรัฐบาลอังกฤษวางแผนแบ่งปาเลสไตน์อีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และจัดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้แก่ชาวอาหรับและส่วนที่เล็กกว่าให้แก่ชาวยิว ความไม่พอใจของชาวอาหรับก็ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่องค์การไซออนิสต์โลกยอมรับข้อเสนอนี้เพื่อช่วยเหลือชาวยิวจากยุโรปที่อพยพหนีรัฐบาลนาซี ชาวอาหรับกลับโกรธแค้นชาวยิวมากยิ่งขึ้นและเรียกร้องดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด ปัญหาที่ไม่จบสิ้นระหว่างชาวยิวกับชาวอาหรับทำให้รัฐบาลอังกฤษปฏิเสธการก่อตั้งรัฐของชาวยิวในที่สุด ในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีบุกโปแลนด์และยึดดินแดนทางทิศตะวันตกได้จึงทำให้เยอรมนีมีประชากรชาวยิวเพิ่มขึ้นกว่า ๒ ล้านคนรัฐบาลนาซีจึงกำหนดเขตกักบริเวณชาวยิวหรือเกตโต (Ghetto) โดยให้ชาวยิวย้ายออกจากถิ่นอาศัยเดิมและย้ายเข้าไปอาศัยในเกตโต ต่อมาเมื่อเยอรมนีใช้แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* โจมตีสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และสามารถยึดดินแดนสำเร็จในช่วง ๒ ปีแรกจำนวนชาวยิวจึงยิ่งเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลนาซีจึงแก้ปัญหาชาวยิวด้วยการลำเลียงไปยังค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ซึ่งติดตั้งห้องรมแก๊สนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นต้นมา ชาวยิวส่วนใหญ่จึงถูกสังหารด้วยวิธีนี้

 วิธีกำจัดชาวยิวที่เหี้ยมโหดของรัฐบาลนาซีได้กระตุ้นให้เดวิด เบน-กูเรียน (David Ben-Gurion) ชาวโปลเชื้อสายยิวที่อพยพมาปาเลสไตน์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๖ และก่อตั้งพรรคมาไป (Mapai) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ได้เรียกร้องให้องค์การไซออนิสต์โลกจัดประชุมเพื่อแก้ปัญหาการจัดตั้งรัฐของชาวยิว การประชุมจัดขึ้นที่โรงแรมบิลต์มอร์ (Biltmore) ในรัฐนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ ๙–๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ที่ประชุมเรียกร้องอังกฤษให้มอบปาเลสไตน์แก่ชาวยิวเพื่อเป็นบ้านใหม่ของผู้อพยพที่หนีรัฐบาลนาซีมาจากยุโรป ซึ่งอังกฤษปฏิเสธอย่างแข็งกร้าว พร้อมทั้งจับกุมชาวยิวที่ลักลอบเดินทางมายังปาเลสไตน์อย่างผิดกฎหมาย เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในยุโรปยุติลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ชาวยิวที่รอดชีวิตจากค่ายกักกันเพราะได้รับการปลดปล่อยโดยทหารฝ่ายพันธมิตร จึงเกิดปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับชาวยิวเหล่านี้ เนื่องจากมีเพียงฝรั่งเศสและสวีเดนเท่านั้นที่ประกาศว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือผู้รอดชีวิตชาวยิว ปัญหาที่เร่งด่วนนี้ทำให้องค์การไซออนิสต์โลกเรียกร้องให้อังกฤษอนุญาตให้ชาวยิวผู้รอดชีวิตอพยพไปตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ ข้อเรียกร้องนี้ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีแฮร์รี เอส ทรูแมน (Harry S. Truman) แห่งสหรัฐอเมริกาที่เรียกร้องให้อังกฤษยินยอมให้ชาวยิวจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คนไปตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ในทันที แต่อังกฤษปฏิเสธและอนุญาตให้ชาวยิวเพียงบางส่วนเดินทางเข้าปาเลสไตน์ได้

 เมื่อปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข กลุ่มเอียกุน (Irgun) ซึ่งเป็นกลุ่มไซออนิสต์หัวรุนแรงจึงเริ่มก่อการร้ายและทำร้ายทหารอังกฤษในปาเลสไตน์นับตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๔๖ การก่อการร้ายครั้งที่รุนแรงที่สุดได้แก่การลอบวางระเบิดที่โรงแรมคิงเดวิด (King David) ในกรุงเยรูซาเล็มที่อังกฤษใช้เป็นหน่วยบัญชาการเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตราว ๙๐ คน การก่อการร้ายตามจุดต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตลอด ค.ศ. ๑๙๔๗ ทำให้องค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ที่ก่อตั้งขึ้นมาแทนสันนิบาตชาติในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ตัดสินใจเข้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ สหประชาชาติมีมติให้อังกฤษถอนตัวออกจากการปกครองปาเลสไตน์ และให้แบ่งปาเลสไตน์เป็น ๒ ส่วนสำหรับชาวยิวและชาวอาหรับโดยให้กรุงเยรูซาเล็มอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามมติดังกล่าวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้ โดยที่ทั้งชาวยิวและชาวอาหรับต่างเริ่มสะสมกองกำลังเพื่อสนับสนุนการจัดตั้งรัฐของตนจนเกิดเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างชาวยิวกับอาหรับขึ้นในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๗

 ความล้มเหลวของฝ่ายอาหรับในการขับไล่ชาวยิวทำให้เบน-กูเรียนประสบความสำเร็จในการอ่านคำประกาศอิสรภาพของอิสราเอลเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ ทำให้จุดมุ่งหมายของขบวนการไซออนิสต์ในการจัดตั้งรัฐสำหรับชาวยิวประสบความสำเร็จ ซึ่งทำให้สิทธิในการดูแลปาเลสไตน์ของอังกฤษสิ้นสุดลงด้านสหรัฐอเมริกาก็ประกาศรับรองเอกราชของอิสราเอลในวันเดียวกัน สหภาพโซเวียตประกาศรับรองเอกราชของอิสราเอลในอีก ๒ วันต่อมา จึงทำให้กลุ่มรัฐอาหรับ ได้แก่ ทรานส์จอร์แดน อิรัก เลบานอน อียิปต์และซีเรีย ตัดสินใจโจมตีอิสราเอลจนเกิดเป็นสงครามประกาศเอกราชอิสราเอลขึ้น โดยที่อิสราเอลได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธจากสหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และสหภาพโซเวียต สงครามสิ้นสุดลงในต้น ค.ศ. ๑๙๔๙ ด้วยชัยชนะของอิสราเอล ชัยชนะครั้งนี้ทำให้อิสราเอลขับไล่ชาวอาหรับและเข้าครอบครองพื้นที่ราวร้อยละ ๗๐ ของพื้นที่ปาเลสไตน์ที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของอังกฤษหากไม่นับรวมทรานส์จอร์แดนส่วนฉนวนกาซา (Gaza Strip) พื้นที่ชายฝั่งติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่ถูกจัดตั้งขึ้นบริเวณชายแดนระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์ให้อยู่ภายใต้การดูแลของอียิปต์ส่วนเวสต์แบงก์ (West Bank) ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจอร์แดนและตะวันออกของอิสราเอลให้อยู่ในการดูแลของจอร์แดน

 ในปีถัดมา รัฐสภาคเนสเซต (Knesset) ของอิสราเอลได้ออกกฎหมายกลับคืนถิ่นที่มอบสิทธิให้ชาวยิวจากทุกมุมโลกมาตั้งถิ่นฐานรวมถึงเป็นประชากรของอิสราเอลด้วย ชาวยิวจากทั่วยุโรปจำนวนมากจึงได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอิสราเอล ส่วนองค์การไซออนิสต์โลกได้สถาปนาให้นครเยรูซาเล็มเป็นที่ประชุมถาวรตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นต้นมา และในการประชุมประจำ ค.ศ. ๑๙๕๑ องค์การไซออนิสต์โลกได้กำหนดวัตถุประสงค์ขององค์การขึ้นใหม่ ได้แก่ การชักชวนให้ชาวยิวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลรวมถึงการสร้างความแข็งแกร่งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้อิสราเอลอย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์เหล่านี้กลับเป็นจริงได้เพียงบางส่วน เนื่องจากอิสราเอลยังขัดแย้งกับประเทศอาหรับอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็นวิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Crisis)* ระหว่างอียิปต์ที่ต้องการโอนกิจการคลองสุเอซเป็นของรัฐบาล กับอิสราเอลที่ได้รับความช่วยเหลือจากอังกฤษและฝรั่งเศสระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖–เดือนมีนาคม ๑๙๕๗ รวมถึงสงครามหกวัน (Six-Day War) ระหว่างวันที่ ๕–๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๗ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากอียิปต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากจอร์แดนและซีเรีย ปฏิเสธไม่ให้อิสราเอลใช้ช่องแคบทิราน(Tiran)ทางออกสู่ทะเลเพียงทางเดียวของอิสราเอล สงครามจบลงด้วยชัยชนะของอิสราเอล ทำให้อิสราเอลได้ครอบครองคาบสมุทรไซนาย (Sinai) รวมถึงฉนวนกาซา เวสต์แบงก์ และที่ราบสูงโกลัน (Golan) และยังสนับสนุนให้ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์อย่างต่อเนื่อง ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับประเทศชาติอาหรับจึงยังคงมีอยู่เรื่อยมา

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๗๘ ประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) แห่งสหรัฐอเมริกา เป็นผู้นำในการประชุมแก้ปัญหาในตะวันออกกลางที่แคมป์เดวิด (CampDavid) ในรัฐแมรีแลนด์ (Maryland) สหรัฐอเมริกา อิสราเอลและอียิปต์จึงตกลงยุติข้อขัดแย้งกันได้ ทำให้อิสราเอลต้องถอนทหารออกจากคาบสมุทรไซนายและยอมรับในเอกราชของฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์ อย่างไรก็ตาม อิสราเอลได้สนับสนุนให้ประชาชนของตนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในบริเวณฉนวนกาซา โดยเฉพาะในบริเวณกุชคาทีฟ (GuschKatif) อย่างต่อเนื่อง และยังได้ส่งทหารเข้าควบคุมเขตเวสต์แบงก์และผนวกกรุงเยรูซาเล็มในซีกตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๘๐ แม้ประชาคมโลกและองค์การสหประชาชาติจะมองว่าเป็นการรุกรานสิทธิของชาวปาเลสไตน์และไม่ยอมรับการกระทำในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้อิสราเอลยังคงขัดแย้งกับเพื่อนบ้านชาวอาหรับจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะเมื่อกลุ่มฮามาส (Hamas) ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมที่ต้องการกำจัดอิสราเอลและก่อตั้งรัฐอิสลามขึ้นแทน ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในฉนวนกาซาเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๖ เหตุการณ์ในเขตเวสต์แบงก์ก็ไม่ได้ต่างกันมากนักเมื่อผู้อพยพชาวอิสราเอลขัดแย้งกับชาวปาเลสไตน์อยู่เสมอ และเหตุการณ์ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อสหรัฐอเมริกาซึ่งมีประธานาธิบดีดอนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) เป็นผู้นำ ตัดสินใจย้ายสถานทูตจากกรุงเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๘ ซึ่งเท่ากับเป็นการสนับสนุนการยึดครองเยรูซาเล็มตะวันออกของอิสราเอล

 ความขัดแย้งในตะวันออกกลางอันเนื่องมาจากความต้องการขยายพื้นที่ของอิสราเอลนี้ทำให้ชาวอิสราเอลส่วนหนึ่งต่อต้านขบวนการไซออนิสต์และมองว่าเป็นเพียงความต้องการของพรรคการเมืองที่สนับสนุนแนวคิดนี้ เช่น พรรคลิคุด (Likud) หรืออโวดา (Awoda) ในขณะที่องค์การไซออนิสต์โลกเห็นว่า วัตถุประสงค์ของตนในการสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้อิสราเอลยังคงต้องถูกผลักดันต่อไป.



คำตั้ง
Zionism
คำเทียบ
ขบวนการไซออนิสต์
คำสำคัญ
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- กบฏบาร์ค็อกบา
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- ขบวนการไซออนิสต์
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- ค่ายกักกัน
- คืนกระจกแตก
- จอร์จ, ลอยด์
- นโปเลียนที่ ๑
- นาซี
- บัลฟอร์, อาร์เทอร์ เจมส์
- ปฏิญญาบัลฟอร์
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- มหาอำนาจกลาง
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- ไวซ์มันน์, คาอิม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามหกวัน
- สหประชาชาติ
- สหภาพโซเวียต
- สันนิบาตชาติ
- เหตุการณ์เรื่องเดรฟุส
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- แฮร์เซิล, เทโอดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-