Yugoslavia (-)

ยูโกสลาเวีย (-)

 ยูโกสลาเวียหรือชื่อที่เป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia) เป็นอดีตประเทศในยุโรปตะวันออกซึ่งก่อน ค.ศ. ๑๙๙๑ ประกอบด้วย ๖ สาธารณรัฐคือ บอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (BosniaHerzegovina)* โครเอเชีย (Croatia)* มาซิโดเนีย (Macedonia)* มอนเตเนโกร (Montenegro) เซอร์เบีย (Serbia)* และสโลวีเนีย (Slovenia)* รวมทั้งจังหวัดปกครองตนเอง (autonomous province) อีก ๒ แห่งคือ คอซอวอ (Kosovo)* และวอยโวดีนา (Vojvodina) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเซอร์เบีย เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ที่ทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียตล่มสลาย ยูโกสลาเวียได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวด้วยประธานาธิบดีสลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milosević)* แห่งสาธารณรัฐเซอร์เบียซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเรียกร้องไม่ให้รัฐต่าง ๆ แยกตัวออกและดำเนินนโยบายการสร้างชาติเซอร์เบียใหญ่ (Greater Serbia) ด้วยการรวมชาวเซิร์บในดินแดนต่าง ๆ ของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเข้าเป็นประเทศเดียวกัน มีการผนวกคอซอวอเข้ากับเซอร์เบียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งนำไปสู่ความตึงเครียดทางการเมืองในสาธารณรัฐต่าง ๆ ที่ร่วมในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๐–๑๙๙๑ สาธารณรัฐต่าง ๆ ซึ่งหวาดวิตกกับการมีอำนาจของเซอร์เบียจึงเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา โครเอเชีย มาซิโดเนีย และสโลวีเนียประสบความสำเร็จในการแยกตัวออกสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียจึงล่มสลายส่วนเซอร์เบียและมอนเตเนโกรรวมเข้าด้วยกันเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (Federal Republic of Yugoslavia) แต่ต่อมาประเทศทั้งสองต่างก็ประกาศเอกราชของตน

 ยูโกสลาเวียเป็นประเทศใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรบอลข่าน ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรปมีเนื้อที่ ๙๘,๗๖๖ ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับออสเตรียและฮังการี ทิศตะวันออกติดต่อกับโรมาเนียและบัลแกเรีย ทิศใต้ติดต่อกับกรีซและแอลเบเนียทิศตะวันตกติดต่อกับอิตาลีและจดทะเลเอเดรียติก (Adriatic) เป็นระยะทางยาว ๒๐ กิโลเมตร ใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาซึ่งทางตอนเหนือขยายตัวยาวไปจนถึงเทือกเขาแอลป์ (Alps) และเนินเขาสูง ๆ ต่ำ ๆ รวมทั้งแอ่งที่ราบเนื้อที่กว่าครึ่งเป็นป่าไม้ซึ่งหนาแน่นทางด้านตะวันตกและตอนใต้ มีแม่น้ำลำธารที่ยาวกว่า ๙ กิโลเมตร ๑,๘๕๐ สายซึ่งร้อยละ ๖๐ ไหลลงสู่ทะเลดำภูมิอากาศมีทั้งเป็นแบบภาคพื้นทวีปซึ่งฤดูร้อนอากาศอบอุ่น ฤดูหนาวอากาศเย็นและมีหิมะ และแบบเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งร้อน แห้ง แดดจัดในฤดูร้อน ฝนตกในฤดูหนาวยูโกสลาเวียมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากและมีแร่ธาตุหลากหลาย ที่มากที่สุดคือ ถ่านหินและนิกเกิล

 ประชากรของยูโกสลาเวียประกอบด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ คือ พวกเซิร์บซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ โครแอตเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่เป็นลำดับที่ ๒ ตามด้วยพวกสโลวีน มาซิโดเนีย แอลเบเนีย แมกยาร์ มอนเตเนโกรเติร์ก และอื่น ๆ พวกเซิร์บและโครแอตมักอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา แต่โครแอตถือว่าพวกตนมีความเป็นอารยะสูงกว่าพวกเซิร์บและไม่พอใจที่พวกเซิร์บพยายามกีดกันชนชาติอื่น ๆ ไม่ให้มีอำนาจและผลประโยชน์ทางการเมืองด้วยการรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐและของเซอร์เบีย


ภาษาราชการคือ ภาษาเซิร์บ-โครแอต (Serbo-Croat) มาซิโดเนียน (Macedonian) และสโลวีน (Slovene) ประชากรร้อยละ ๔๑ นับถือศาสนาคริสต์นิกายเซอร์เบียออร์ทอดอกซ์ ร้อยละ ๓๑ นับถือคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ ๑๒ นับถืออิสลามเมืองใหญ่สำคัญอื่น ๆ คือ ซาเกรบ (Zagreb) ซาราเยโว (Sarajevo) สกอเปีย (Skopje) พอดโกรีตซา (Podgorica) และลุบยานา (Ljubljana)

 ดินแดนยูโกสลาเวียแต่เดิมประกอบด้วยแว่นแคว้นต่าง ๆ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าสลาฟและอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน ต่อมาเมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายใน ค.ศ. ๔๗๖ ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจขึ้นในดินแดนต่าง ๆชนเผ่าเยอรมันจากตอนเหนือและพวกอนารยชนที่ดุร้ายจากบอลติกและอื่น ๆ ได้ผลัดกันเข้าปล้นสะดมและบ้างตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร ส่วนที่เป็นบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาตกอยู่ใต้การปกครองของราชอาณาจักรเซอร์เบียและราชอาณาจักรบอสเนีย และต่อมาใน ค.ศ. ๑๔๘๒ ก็ถูกพวกเติร์กเข้ายึดครองเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* พวกเติร์กยังขยายอำนาจและอิทธิพลเข้ายึดครองดินแดนส่วนที่เป็นมาซิโดเนีย มอนเตเนโกร เซอร์เบียและรัฐอื่น ๆ ในคาบสมุทรบอลข่านในกลางคริสต์


ศตวรรษที่ ๑๕ เมื่อพวกเติร์กพยายามขยายอำนาจเข้ามาในยุโรปตอนกลาง ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* สามารถต้านการรุกรานของพวกเติร์กไว้ได้ ทั้งใน ค.ศ. ๑๖๘๖ ยังสามารถขับไล่พวกเติร์กที่ยึดครองกรุงบูดา (Buda)นครหลวงของฮังการีกว่า ๑๕๐ ปี ได้สำเร็จจักรวรรดิออสเตรีย (Austria Empire) จึงกลายเป็นรัฐที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นในดินแดนเยอรมัน และต่อมาขยายอำนาจยึดครองสโลวีนและบางส่วนของโครเอเชียจากพวกเติร์กไว้ได้

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ปัญญาชนและนักเขียนชาวโครแอตซึ่งต้องการหลุดพ้นจากอำนาจการปกครองของพวกเติร์กได้เริ่มเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมเพื่อปลุกจิตสำนึกทางการเมืองในการจะปลดปล่อยชาวสลาฟให้เป็นอิสระและเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง แม้การเคลื่อนไหวทางความคิดดังกล่าวจะประสบความสำเร็จไม่มากนัก แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่จะสถาปนาประเทศขึ้นเพื่อชาวสลาฟใต้ทั้งมวลและนำไปสู่การพยายามแยกตัวออกจากอำนาจทั้งของออตโตมันและออสเตรีย ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แนวความคิดเสรีนิยมและชาตินิยมที่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* แห่งฝรั่งเศสเผยแพร่ไปทั่วยุโรปมีส่วนทำให้พวกสลาฟตื่นตัวมากขึ้นและนำไปสู่การรวมตัวกันที่เข้มแข็งมากขึ้นจนกลายเป็นขบวนการที่เรียกว่า ขบวนการอิลลิเรียน (Illyrian Movement) อย่างไรก็ตามขบวนการอิลลิเรียนก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ต่อมาเมื่อรัสเซียพยายามแผ่อำนาจเข้ามาในคาบสมุทรบอลข่านซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย และนำไปสู่การเกิดปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* พวกสลาฟคาดหวังว่ารัสเซียจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของชนเผ่าสลาฟในดินแดนของออตโตมันและออสเตรียแนวความคิดของขบวนการอิลลิเรียนหรือลัทธิยูโกสลาฟ (Yugoslavism)* ที่มุ่งจะรวมชาวสลาฟใต้ที่มีภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันเข้าด้วยกันโดยก่อตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีกษัตริย์ปกครองจึงกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งหนึ่ง

 ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พวกสลาฟได้รวมตัวเข้มแข็งมากขึ้นตามอุดมการณ์รวมกลุ่ม สลาฟ (Pan-Slavism)* เพื่อสร้างรัฐชาติในคาบสมุทรบอลข่าน โดยจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐสลาฟใต้ที่รวมเซอร์เบียและมอนเตเนโกรไว้ด้วย ปัญหาตะวันออกจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นจนประเทศมหาอำนาจต้องหาทางแก้ไขด้วยการจัดการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๘ ซึ่งยุติลงด้วยการลงนามในสนธิสัญญาเบอร์ลิน (Treaty of Berlin)เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ สนธิสัญญาฉบับนี้ทำให้จักรวรรดิออตโตมันหมดอำนาจในดินแดนยุโรปเกือบทั้งหมด รัสเซียถูกจำกัดบทบาทในคาบสมุทรบอลข่าน ส่วนเซอร์เบียและมอนเตเนโกรเป็นรัฐเอกราชและบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนาเป็นรัฐในอารักขาของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungary Empire)* ซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ก็ถูกผนวกเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ อิตาลีบุกตริโปลีเตเนีย (Tripolitania) ของจักรวรรดิออตโตมันซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามอิตาลี-ตุรกี (Italo-Turkish War ค.ศ. ๑๙๑๑–๑๙๑๒)* อิตาลีมีชัยชนะและต่อมาได้ครอบครองหมู่เกาะโดเดคะนีส (Dodecanese)* ด้วยชัยชนะของอิตาลีทำให้ประเทศในคาบสมุทรบอลข่านเห็นเป็นโอกาสจะช่วงชิงดินแดนของออตโตมันซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “คนป่วยของยุโรป” ด้วย และนำไปสู่การเกิดสงครามบอลข่าน (Balkan Wars)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒–๑๙๑๓ สงครามนี้ทำให้เซอร์เบียกลายเป็นมหาอำนาจในคาบสมุทรบอลข่านและสร้างความหวาดวิตกให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี ดังนั้นเมื่ออาร์ชดุ๊ก ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารออสเตรีย-ฮังการีและพระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จเยือนกรุงซาราเยโว เมืองหลวงของบอสเนีย ออสเตรียจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะปราบปรามเซอร์เบียโดยกล่าวหาเซอร์เบียว่ามีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ และต่อมาได้ประกาศสงครามกับเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในเวลาอันรวดเร็วสงครามระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเซอร์เบียได้พัฒนาเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)*

 ในการรบระยะแรก ๆ ออสเตรีย-ฮังการีซึ่งมีกองกำลังและอาวุธที่เหนือกว่าสามารถเอาชนะกองทัพเซอร์เบียได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลเซอร์เบียจึงปลุกระดมความรักชาติโดยประกาศว่าสงครามครั้งนี้เป็นการต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยและการรวมชาติของพี่น้องชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนที่ถูกกดขี่ กองทัพเซอร์เบียจึงพยายามต้านการบุกของออสเตรียไว้และบ่อยครั้งมีชัยชนะในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การที่ทั้งเยอรมนีและบัลแกเรียสนับสนุนกองทัพออสเตรีย-ฮังการี ทั้งด้านกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ทำให้เซอร์เบียและพื้นที่ส่วนใหญ่ในคาบสมุทรบอลข่านถูกยึดครองได้อย่างไรก็ตาม กองทัพเซอร์เบียก็ไม่ได้ยอมจำนน ทหารชาวเซิร์บจำนวนหนึ่งได้ลี้ภัยไปตั้งฐานกำลังที่เกาะคอร์ฟู (Corfu) ของกรีซใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และทำการรบต่อไปตลอดช่วงที่สงครามยังคงดำเนินอยู่ ในขณะเดียวกันปัญญาชนชาตินิยมและนักการเมืองชาวเซิร์บ โครแอตและสโลวีนคนสำคัญ ๆ ซึ่งรวมทั้งอันเต ปาเวลิตช์ (Ante Pavelić)* อันเต ทรูมบิตช์ (Ante Trumbić)* อีวาน เมชโตรวิช (Ivan Meštrović) และคนอื่น ๆ ได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไปอิตาลี ฝรั่งเศส และอังกฤษตามลำดับ และจัดตั้งคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟ (Yugoslav Committee)* ขึ้นที่กรุงลอนดอนในปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๕ วัตถุประสงค์หลักของคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟคือการปลดแอกชาวสลาฟใต้ทั้งมวลจากการปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และรวมเข้ากับชนชาติเดียวกันที่อยู่ในราชอาณาจักรเซอร์เบีย และอาณาจักรมอนเตเนโกรเพื่อสถาปนาประเทศยูโกสลาฟ (Yugoslav) ขึ้น มีการระดมเงินทุนโดยเฉพาะจากพวกสลาฟใต้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา

 อย่างไรก็ตาม เมื่อประเทศสัมพันธมิตรทำกติกาสัญญาลอนดอน (London Pact) หรือสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับกับอิตาลีเพื่อให้เข้าร่วมสงครามเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรโดยจะยกอิสเตรีย (Istria) และดัลเมเชีย (Dalmatia) ในคาบสมุทรบอลข่าน รวมทั้งดินแดนอื่น ๆ ในแอฟริกาให้ ในเวลาต่อมาอิตาลีจึงประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีนโยบายของประเทศสัมพันธมิตรทำให้พวกโครแอตในคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟหวาดวิตกว่าดินแดนโครเอเชียซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเซอร์เบียกับอิตาลีอาจถูกแบ่งแยกได้ ทั้งไม่ต้องการให้กองกำลังของโครเอเชียที่จัดตั้งขึ้นต่อสู้ในนามของเซอร์เบียตามที่นีโกลา ปาชิช (Nikola Pašić) นายกรัฐมนตรีเซอร์เบียเรียกร้อง แต่ต้องการจะให้ต่อสู้ในนามของคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟปาชิชหวาดระแวงว่าคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟจะทำให้เซอร์เบียหมดบทบาททางการเมืองและพยายามหน่วงเหนี่ยวเวลา ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำให้คณะกรรมาธิการยูโกสลาฟต้องหาทางแก้ไข เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ในรัสเซียซึ่งทำให้รัสเซียต้องถอนตัวออกจากคาบสมุทรบอลข่าน คณะกรรมาธิการยูโกสลาฟจึงเห็นเป็นโอกาสกดดันเซอร์เบียให้สนับสนุนการต่อสู้ของตนและนำไปสู่การทำข้อตกลงกติกาสัญญาคอร์ฟู (Corfu Pact)* เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่เกาะคอร์ฟูประเทศกรีซตามข้อตกลงกติกาสัญญาคอร์ฟูชาวเซิร์บโครแอต และสโลวีนจะร่วมกันสถาปนาราชอาณาจักรที่รวมชนเชื้อชาติสลาฟใต้เข้าเป็นรัฐชาติเดียวกัน โดยจะเรียกชื่อว่า ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอตและสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes) โดยทั้ง ๓ ชนชาติจะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางภาษา วัฒนธรรม และศาสนา และปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญภายใต้ราชวงศ์คาราจอร์เจวิช (House of Karageorgević) แห่งเซอร์เบีย

 ราชวงศ์คาราจอร์เจวิชแห่งเซอร์เบียสถาปนาขึ้นในต้นทศวรรษ ๑๘๐๐ เมื่อเซอร์เบียซึ่งอยู่ใต้การปกครองของออตโตมันเป็นระยะเวลากว่า ๙ ปีเศษ (ค.ศ. ๑๘๐๔–๑๘๑๓) แยกตัวเป็นอิสระ ในช่วงเป็นเอกราช พระเจ้าคาราจอร์เจ เปโตรวิช (Karadjordje Petrović) ผู้นำเซอร์เบียได้จัดตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองและสร้างเซอร์เบียให้เป็นรัฐสมัยใหม่รวมทั้งตั้งมหาวิทยาลัยเบลเกรดขึ้น แต่ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ ออตโตมันสามารถยึดเซอร์เบียกลับคืนได้และแต่งตั้งมิโลช โอเบรโนวิช (Miloš Obrenović) ขึ้นปกครอง โอเบรโนวิชจึงสถาปนาราชวงศ์โอเบรโนวิชขึ้นส่วนพระเจ้าคาราจอร์เจและพระราชวงศ์ลี้ภัยไปนอกประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อกองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจราชวงศ์โอเบรโนวิชทหารและรัฐสภาเซอร์เบียได้เลือกปีเตอร์ คาราจอร์เจวิชพระราชปนัดดาของพระเจ้าคาราจอร์เจซึ่งลี้ภัยต่างแดนให้กลับมาปกครองเซอร์เบียอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เฉลิมพระนามพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ (Peter I ค.ศ. ๑๙๐๓–๑๙๑๔)


แห่งเซอร์เบีย พระองค์ทรงปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตกและสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียและฝรั่งเศส รวมทั้งสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อรวมชนชาติสลาฟใต้เป็นประเทศเดียวกันรัชสมัยของพระองค์ได้ชื่อว่าเป็น “ยุคทองของเซอร์เบีย” ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ ซึ่งมีพระพลานามัยอ่อนแอโปรดให้เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ (Alexander) พระราชโอรสองค์ที่ ๒ ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินแทน (พระราชโอรสองค์โตสิ้นพระชนม์ในช่วงเกิดรัฐประหาร) เมื่อเซอร์เบียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงคราม พระราชวงศ์เสด็จลี้ภัยไปประทับที่เกาะคอร์ฟูและเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ทรงจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และเคลื่อนไหวต่อสู้ในแนวรบด้านมาซิโดเนียก่อนการลงนามในกติกาสัญญาคอร์ฟู ผู้แทนของคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟได้เข้าเฝ้าเจ้าชายอะเล็กซานเดอร์และกราบทูลเรื่องการสถาปนารัฐประชาชาติของชาวสลาฟใต้ซึ่งพระองค์ก็ทรงเห็นชอบด้วย

 เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ได้เสนอหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* เป็นพื้นฐานของการเจรจาเพื่อสันติภาพและยุติสงคราม หลักการข้อหนึ่งคือการให้อิสระแก่ชนชาติต่าง ๆ ในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะฝรั่งเศสและอิตาลีจึงสนับสนุนให้ชนกลุ่มน้อยในเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีใช้หลักการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง และเพื่อทำให้ฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* อ่อนแอการผลักดันของมหาอำนาจดังกล่าวได้นำไปสู่การประชุมใหญ่ของชนเชื้อชาติที่ถูกกดขี่ (Congress of Oppressed Nationalities) ที่กรุงโรมระหว่างวันที่ ๘–๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ผู้แทนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ ชาวเช็ก สโลวัก โปล และสลาฟใต้ ลงมติแยกตัวออกจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี โดยชนชาติสลาฟใต้จะรวมเข้าด้วยกันเป็นประเทศเดียวภายใต้การปกครองของกษัตริย์แห่งเซอร์เบีย เช็กกับสโลวักจะรวมกันเป็นประเทศเชโกสโลวะเกีย โปแลนด์จะได้เอกราชและเป็นดินแดนกันชนระหว่างยุโรปกับรัสเซียซึ่งถอนตัวออกจากสงครามสืบเนื่องจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution ค.ศ. ๑๙๑๗)* และเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ตามอุดมการณ์ของลัทธิมากซ์ (Marxism)* หลังการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนของกลุ่มชนชาติสลาฟใต้ได้จัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Council) หรือสภาประชาชน (People’s Council) ขึ้นและจัดการประชุมที่กรุงซาเกรบระหว่างวันที่ ๕–๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยประกาศตนเป็นผู้แทนของชาวสโลวีน โครแอต และเซิร์บเพื่อทำหน้าที่จัดการการรวมชาติในนามของชาวยูโกสลาฟทั้งมวล

 เมื่อออสเตรีย-ฮังการียอมพ่ายแพ้ในสงครามซึ่งทำให้ระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* สิ้นสุดลง จักรพรรดิชาลส์ (Charles)* ทรงสละพระราชอำนาจในออสเตรียเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ และในวันเดียวกันออสเตรียก็ลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับฝ่ายสัมพันธมิตรคณะกรรมาธิการยูโกสลาฟจึงประกาศเอกราชจากออสเตรีย และต่อมาสภาแห่งชาติก็ประกาศสถาปนาราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนขึ้นที่กรุงเบลเกรดเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรใหม่นี้ แต่เนื่องจากมีพระพลานามัยอ่อนแอ เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ คารา-จอร์เจวิช พระราชโอรสจึงทรงทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการต่อมาเมื่อพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๑ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เจ้าชายอะเล็กซานเดอร์ทรงสืบทอดราชบัลลังก์เฉลิมพระนามพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ในเดือนมิถุนายนปีต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย (Maria) แห่งโรมาเนีย ทั้ง ๒ พระองค์มีพระราชโอรส ๓ พระองค์

 ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference ค.ศ. ๑๙๑๙)* พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงทำความตกลงเรื่องเส้นเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งประกอบด้วยอิตาลี ออสเตรีย แอลเบเนีย บัลแกเรีย ฮังการี และโรมาเนียได้สำเร็จพระองค์ทรงพยายามปกครองชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ ด้วยนโยบายสมานฉันท์และประนีประนอม ซึ่งนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ แต่การที่พวกเซิร์บซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศพยายามกีดกันชนชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะพวกโครแอตซึ่งเป็นกลุ่มเชื้อชาติใหญ่เป็นอันดับ ๒ ไม่ให้มีอำนาจและบทบาททางการเมือง ทั้งดำเนินนโยบายรวมศูนย์อำนาจการปกครองไว้ที่กรุงเบลเกรด ความแตกแยกระหว่างพวกเซิร์บกับโครแอตจึงขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ เมื่อสตีเวน (สเตปัน) ราดิช [Stephen (Stjepan) Radić]* นักการเมืองและผู้นำพรรคชาวนาของประชาชนโครแอต (Croatian People’s Peasant Party) กับนักการเมืองชาวโครแอตอีก ๒ คน ถูกนักการเมืองหัวรุนแรงชาวเซิร์บยิงในสภาผู้แทนราษฎรที่กรุงเบลเกรดเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๘ นักการเมือง ๒ คนเสียชีวิตทันที ส่วนราดิชบาดเจ็บสาหัส อาการแผลติดเชื้อรวมทั้งโรคแทรกซ้อนทำให้เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม รวมอายุได้ ๕๗ ปีมรณกรรมของราดิชทำให้ชาวโครแอตตระหนักว่าข้อเรียกร้องดั้งเดิมของราดิชที่จะไม่รวมโครเอเชียเข้ากับเซอร์เบียเพราะเกรงว่าเซอร์เบียจะครอบงำและกดขี่เป็นที่ประจักษ์ เพราะชาวเซิร์บได้แสดงออกถึงการใช้อำนาจเหนือชนชาติอื่น ๆ พวกโครแอตจึงรื้อฟื้นข้อเรียกร้องการรวมชาติเดิมของตนคือให้มีการสถาปนาระบอบสหพันธรัฐในเดือนตุลาคมปีเดียวกันพวกโครแอตได้จัดตั้งรัฐสภาของตนขึ้นที่กรุงซาเกรบเมืองหลวงของโครเอเชียและปฏิเสธที่จะร่วมมือทุกกรณีกับรัฐบาลที่กรุงเบลเกรด

 พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสร้างความเป็นเอกภาพระหว่างชาวโครแอตกับชาวเซิร์บทุกวิถีทาง แต่ทรงล้มเหลวและไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก จึงทรงประกาศยุบรัฐสภาและพรรคการเมืองต่าง ๆ และยกเลิกการปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็นอย่างเข้มงวดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๙ ในวันรุ่งขึ้นทรงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญและทรงบริหารประเทศด้วยระบอบเผด็จการ ซึ่งเรียกกันว่า “ระบอบเผด็จการวันที่ ๖ มกราคม” (January 6 Dictatorship) ในการขจัดปัญหาความแตกแยกและความเป็นเอกเทศของแต่ละชนชาติ จึงทรงห้ามใช้ชื่อเฉพาะของแต่ละชนชาติและเปลี่ยนชื่อราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีนเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย (Kingdom of Yugoslavia) ซึ่งหมายถึงประเทศของชาวสลาฟใต้ ขณะเดียวกันทรงปรับการบริหารปกครองภายในโดยยุบรวมเขตปกครอง ๓๓ แห่งให้เหลือเพียง ๙ จังหวัด โดยไม่คำนึงว่าจะสอดคล้องกับภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ธรรมเนียมประเพณี และเขตแดนของชนชาติหรือไม่ ทั้งออกกฤษฎีกายกเลิกการใช้อักษรซิริลลิก (Cyrillic) ของเซอร์เบียและให้ใช้ตัวอักษรละตินทั่วทั้งประเทศ

 ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอำนาจบริหารอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ การเลือกตั้งทั่วไปให้สิทธิแก่พลเมืองชายทุกคน และเป็นการลงคะแนนเสียงเปิดเผย ทั้งข้าราชการและลูกจ้างรัฐต้องลงคะแนนเลือกตั้งพรรคของรัฐบาล กษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาสูงร้อยละ ๕๐ โดยตรง ร่างกฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายบริหารหรือสภาสูงเพียงสภาเดียวจะออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิพากษ์โจมตีอย่างมากและมีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลขยายตัวมากขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เสด็จเยือนฝรั่งเศสเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้ง ๒ ประเทศตามความตกลงอนุภาคี (Little Entente ค.ศ. ๑๙๒๗)* และหารือเรื่องนโยบายต่างประเทศ ขณะที่รถพระที่นั่งแล่นผ่านขบวนแถวรับเสด็จอย่างช้า ๆที่เมืองมาร์แซย์ (Marseille) เมื่อวันอังคารที่ ๙ ตุลาคม วลาโด เชอโมเซมสกี (Vlado Čermozemski) ผู้ก่อการร้ายชาวบัลแกเรียซึ่งเป็นสมาชิกองค์การปฏิวัติบัลแกเรียภายในมาซิโดเนีย (Bulgarian Internal Macedonian Revolutionary Organization–IMRO) ที่มีแนวทางก่อการร้ายและวิธีการรุนแรงต่อต้านรัฐบาลได้ยิงกระสุนใส่พระองค์ ๒ นัดซ้อน รวมทั้งยิงคนขับรถและลุย บาร์ตู (Louis Barthou) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่ตามเสด็จด้วย พระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ สิ้นพระชนม์ทันทีส่วนบาร์ตูบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในเวลาต่อมา เชอโมเซมสกีถูกตำรวจฝรั่งเศสแทงด้วยดาบและฝูงชนรุมทำร้ายเกือบสิ้นชีวิต รัฐบาลยูโกสลาเวียเชื่อว่าในการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้รัฐบาลอิตาลีของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* และรัฐบาลฮังการีซึ่งต้องการแย่งชิงดินแดนของประเทศมีส่วนรู้เห็นอยู่เบื้องหลัง รัฐบาลจึงใช้มาตรการเด็ดขาดปราบปรามการเคลื่อนไหวแยกตัวออกของชนชาติต่างๆโดยเฉพาะพวกโครแอต อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมามีการพยายามเจรจากับพวกโครแอตชาตินิยมเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการแยกตัวออกและนำไปสู่ข้อตกลง “สปอราซัม” (Sporazum)หรือ “ความเข้าใจ” (Understanding) ระหว่างพวกเซิร์บกับโครแอตเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยโครเอเชีย ดัลเมเชีย และบางส่วนของบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนามีอำนาจอธิปไตยมากขึ้น แต่ยังคงรวมอยู่ในราชอาณาจักรยูโกสลาเวียต่อไป รัฐบาลที่เบลเกรดยังคงควบคุมด้านกิจการต่างประเทศ การค้าระหว่างประเทศ ความมั่นคง และการคมนาคมขนส่ง

 หลังการสวรรคตของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ เจ้าชายปีเตอร์พระราชโอรสองค์โตได้ขึ้นครองราชบัลลังก์เฉลิมพระนามพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ (Peter II) แต่เนื่องจากมีพระชนมายุเพียง ๑๑ พรรษา เจ้าชายปอลแห่งยูโกสลาเวีย (Paul of Yugoslavia) พระราชโอรสองค์เดียวของเจ้าชายอาร์เซนแห่งยูโกสลาเวีย (Arsen of Yugoslavia) ลูกพี่ลูกน้องของพระเจ้าอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ จึงทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการเจ้าชายปอลทรงสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและเสกสมรสกับเจ้าหญิงออลกาแห่งกรีซและเดนมาร์ก(Olga of Greece and Denmark) ทั้งเป็นพระกนิษฐาของเจ้าหญิงมาเรียนา ดัชเชสแห่งเคนต์ (Mariana, Duchess of Kent) แห่งอังกฤษ เจ้าชายปอลทรงมีแนวคิดประชาธิปไตยและปกครองประเทศอย่างผ่อนปรนโดยยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางและคลายความเข้มงวดในการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งทรงพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวเซิร์บกับชาวโครแอต ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ทรงยอมให้โครเอเชียมีรัฐสภาของตนเองที่กรุงซาเกรบและมีงบประมาณที่แยกออกจากรัฐบาลกลาง แต่ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของระบอบรัฐสภา การคอร์รัปชันและความขัดแย้งระหว่างพวกเซิร์บกับพวกโครแอตก็ทำให้นโยบายการปกครองของเจ้าชายปอลไม่สัมฤทธิ์ผลโครงการต่าง ๆ ที่ทรงวางไว้ก็ล้มเหลวในทางปฏิบัติ

 เมื่ออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ยูโกสลาเวียประกาศนโยบายความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม เมื่อฝรั่งเศสพ่ายแพ้เยอรมนีในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ และเยอรมนีหันไปโจมตีอังกฤษซึ่งเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังไม่ถูกนาซียึดครอง ซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ขณะเดียวกันอิตาลีก็บุกโจมตีกรีซในปลายเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ อังกฤษเรียกร้องให้ยูโกสลาเวียเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเจ้าชายปอลทรงให้ความร่วมมือทางทหารกับฝ่ายพันธมิตรอย่างลับ ๆ ในการช่วยเหลือกรีซแต่เมื่อเยอรมนียึดครองโรมาเนียและบัลแกเรียได้ใน ต้น ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีจึงกดดันให้ยูโกสลาเวียเข้าร่วมกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact)* เจ้าชายปอลไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และทรงตั้งเงื่อนไขการเข้าร่วมว่ามหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* ต้องยอมรับอำนาจอธิปไตยและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของดินแดนยูโกสลาเวีย และต้องไม่ขอให้ยูโกสลาเวียเคลื่อนกำลังออกไปนอกประเทศ ทรงลงนามร่วมกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑

 หลังการลงนามได้ ๒ วัน กองทัพอากาศยูโกสลาฟที่อังกฤษสนับสนุนอยู่เบื้องหลังก็ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจเจ้าชายปอล และจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นปกครองประเทศซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองทุกพรรคยกเว้นพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย (Communist Party of Yugoslavia)* ที่มีตีโตหรือยอซีป บรอซ (Tito; Josip Broz)* เป็นผู้นำ รัฐบาลกราบทูลให้เจ้าชายปีเตอร์ซึ่งมีพระชันษา ๑๗ ปีทรงทำหน้าที่ประมุขอย่างแท้จริง ตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศประชาชนชุมนุมเดินขบวนสนับสนุนรัฐบาลและพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ โดยถือป้ายชูคำขวัญว่า “ทำสงครามดีกว่าทำกติกาสัญญา เป็นศพยังดีกว่าเป็นทาส” (Better the war than the pact, better the grave than a slave) วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษกล่าวว่า “ยูโกสลาเวียได้ค้นพบจิตวิญญาณของตน” ภายหลังการก่อรัฐประหารเจ้าชายปอลและครอบครัวเสด็จลี้ภัยไปประทับที่กรีซ และต่อมาอังกฤษนำพระองค์ไปกักบริเวณที่ประเทศเคนยา แอฟริกา ดัชเชสแห่งเคนต์และพระสวามีพยายามเดินเรื่องให้พระองค์ได้ลี้ภัยในอังกฤษ แต่เชอร์ชิลล์ปฏิเสธเพราะเห็นว่าเจ้าชายปอลเป็นคนทรยศและอาชญากรสงคราม ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียยังประกาศว่าพระองค์เป็นศัตรูของรัฐและห้ามกลับเข้าประเทศ ทั้งยึดพระราชทรัพย์ทั้งหมดเป็นของรัฐ (ภายหลังเมื่อเจ้าชายปอลสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๖ พระชนมายุ ๘๓ ปี ใน ค.ศ. ๒๐๑๑ รัฐบาลเซอร์เบียได้ถวายพระเกียรติและอนุญาตให้นำพระศพกลับมาบรรจุ ณ สุสานพระราชวงศ์ที่กรุงเบลเกรด)

 รัฐประหารที่เกิดขึ้นในยูโกสลาเวียทำให้ฮิตเลอร์ขุ่นเคืองและสั่งบุกยูโกสลาเวียเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ และให้กองทัพอากาศทิ้งระเบิดถล่มกรุงเบลเกรดและเมืองใหญ่ ๆ อย่างหนักและต่อเนื่องยูโกสลาเวียจึงยอมแพ้และลงนามในสัญญาสงบศึกกับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ส่วนพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ และรัฐบาลลี้ภัยออกนอกประเทศไปกรีซและอียิปต์ แต่ในเดือนมิถุนายนเสด็จไปประทับที่อังกฤษ เยอรมนีใช้นโยบายแบ่งแยกและปกครองโดยแบ่งยูโกสลาเวียเป็น ๑๐ เขตการปกครอง และแบ่งปกครองกับอิตาลี บัลแกเรีย และฮังการี กองทัพเยอรมันยึดครองบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา บางส่วนของเซอร์เบียและสโลวีเนีย และให้โครเอเชียเป็นเอกราชจากเซอร์เบียโดยอยู่ใต้การควบคุมของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม การที่ไม่ได้กำหนดเส้นเขตแดนที่ชัดเจนระหว่างดินแดนที่ยึดครองมีส่วนทำให้เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่างกันในเวลาต่อมา ทั้งทำให้การควบคุมยูโกสลาเวียของเยอรมนีอ่อนแอลง ชาวยูโกสลาฟได้จัดตั้งขบวนการต่อต้านนาซีขึ้นโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเชตนิก (Chetniks)* ที่มีพันเอก ดราชา “ดรากอลยูป” มีไฮโลวิช (Draza “Dragoljub” Mihailovič)* เป็นผู้นำซึ่งอ้างตนเป็นฝ่ายนิยมกษัตริย์ที่สนับสนุนราช-อาณาจักรยูโกสลาเวียเดิม อีกกลุ่มคือกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวีย (Yugoslav Armyof National Liberation) ที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์และสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์โดยมีตีโตเป็นผู้นำ

 กลุ่มเชตนิกได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพันธมิตรและรัฐบาลยูโกสลาฟพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอน กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในระยะแรก ๆ ในการต่อต้านนาซีแต่เมื่อเยอรมนีตอบโต้ด้วยการสังหารพลเรือนชาวเซิร์บ ๑๐๐ คนต่อทหารเยอรมัน ๑ นาย และ ๕๐ คนต่อทหารเยอรมันที่บาดเจ็บ เชตนิกก็ลดบทบาทการโจมตีลงและหันมาร่วมมือกับเยอรมนีและอิตาลีเพื่อต่อต้านพวกโครแอตในกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวีย เนื่องจากมีไฮโลวิชเกลียดชังพวกโครแอตและคอมมิวนิสต์ เป้าหมายของเขาคือการสถาปนารัฐเซอร์เบียที่เป็นเอกราชโดยมีชาวเซิร์บเป็นพลเมืองชั้นหนึ่งและโครแอตและชนชาติอื่น ๆ เป็นพลเมืองชั้นสอง เชตนิกร่วมมือกับกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวียในการต่อต้านเยอรมนีตามเงื่อนไขของสถานการณ์รบ และมักฉวยโอกาสเข่นฆ่าพวกโครแอตในพื้นที่ที่มีชาวเซิร์บและโครแอตอยู่ร่วมกัน ฝ่ายพันธมิตรในเวลาต่อมาจึงไม่ไว้วางใจกลุ่มเชตนิกและหันมาสนับสนุนกลุ่มต่อต้านของตีโตแทนมีไฮโลวิชตีโตจึงมีบทบาทโดดเด่นขึ้นและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปมากขึ้นจนเขาสามารถผลักดันการจัดตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อย (National Committee for Liberation) ขึ้นได้สำเร็จในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อมาในปลายเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ คณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อการปลดปล่อยได้จัดการประชุมขึ้นที่เมืองไยซิ (Jajce) เมืองหลวงเก่าของบอสเนียเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน โดยประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นโดยถือเป็นรัฐบาลผู้แทนของประชาชนยูโกสลาฟทั้งหมดที่ชอบธรรมมากกว่ารัฐบาลพลัดถิ่นที่กรุงลอนดอน รัฐบาลเฉพาะกาลกำหนดรูปแบบการปกครองหลังสงครามสิ้นสุดลงเป็นแบบสมาพันธรัฐ ในเวลาต่อมาวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนจึงถือเป็นวันชาติหรือวันสาธารณรัฐ (Republic Day)

 ในตอนปลายสงคราม กองทัพแดง (Red Army)* ของสหภาพโซเวียตได้เข้ามาช่วยเหลือกองทัพปลดแอกแห่งชาติยูโกสลาเวียในการปลดปล่อยยูโกสลาเวียตอนเหนือและกรุงเบลเกรดจากการยึดครองของเยอรมนีในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ และปลดปล่อยดินแดนที่เหลือส่วนอื่น ๆ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๕ จากนั้นกองทัพแดงก็เคลื่อนกำลังออกไปและปล่อยให้ตีโตดำเนินการปลดปล่อยเอง

 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะยุติลงไม่นานนัก ตีโตได้จัดการประชุมขึ้นที่กรุงเบลเกรดในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และเชิญผู้แทนของรัฐบาลพลัดถิ่นเข้าร่วมด้วยเพื่อหารือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่และการเลือกตั้งทั่วไปหลังสงคราม รัฐบาลชุดใหม่ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๗ มีนาคม สมาชิกส่วนใหญ่เป็นคอมมิวนิสต์และมีนักการเมืองจากรัฐบาลพลัดถิ่นเพียง ๓ คนที่เข้าร่วมในคณะรัฐบาลโดยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรี ตีโตได้เป็นนายกรัฐมนตรีและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนสถานภาพของรัฐบาลเฉพาะกาลให้เป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ให้พรรคคอมมิวนิสต์สูญเสียอำนาจและบทบาทการนำ การที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์คุมตำแหน่งที่มีอำนาจทั้งหมดก็ทำให้ผู้แทนจากรัฐบาลพลัดถิ่น ๓ คนแทบจะไม่มีบทบาทใด ๆ บุคคลทั้งสามจึงประท้วงด้วยการลาออกก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในช่วงก่อนการเลือกตั้งกลุ่มการเมืองและคอมมิวนิสต์สามารถควบคุมขั้นตอนการเลือกตั้งได้เกือบหมด

 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์ได้คะแนนเสียงสนับสนุนถึงร้อยละ ๙๖ ของผู้มีสิทธิออกเสียง ตีโตรัฐบุรุษของประเทศได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีควบกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎรลงมติยกเลิกระบอบกษัตริย์และประกาศจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้ตามแบบสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมาพระเจ้าปีเตอร์ที่ ๒ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของยูโกสลาเวียเสด็จไปประทับที่สหรัฐอเมริกา ณ เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโรลาโด (Colorado) ส่วนยูโกสลาเวียได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งเปลี่ยนชื่อประเทศจากสหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย (Democratic Federal Yugoslavia–DFY) เป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย (Federal People’s Republic of Yugoslavia–FPRY) ประกอบด้วย ๑) สาธารณรัฐสังคมนิยมบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา (Socialist Republic of Bosnia-Herzegovina) มีกรุงซาราเยโวเป็นเมืองหลวง ๒) สาธารณรัฐสังคมนิยมโครเอเชีย (Socialist Republic of Croatia) เมืองหลวงคือกรุงซาเกรบ ๓) สาธารณรัฐสังคมนิยมมาซิโดเนีย (Socialist Republic of Macedonia) เมืองหลวงคือกรุงสกอเปีย ๔) สาธารณรัฐสังคมนิยมมอนเตเนโกร (Socialist Republic of Montenegro) เมืองหลวงคือกรุงตีตอกราด (Titograd) ปัจจุบันคือพอดกอรีตซา ๕) สาธารณรัฐสังคมนิยมเซอร์เบีย (Socialist Republic of Serbia) เมืองหลวงคือกรุงเบลเกรดและประกอบด้วย ๕.๑) เขตอิสระสังคมนิยมแห่งคอซอวอและเมทอฮียา (Socialist autonomous district of Kosovo and Metohija) เมืองหลวงคือกรุงพริชตีนา (Priština) ๕.๒) จังหวัดอิสระสังคมนิยมวอยวอดีนา (Socialist autonomous province of Vojvodina) เมืองหลวงคือกรุงนอวีซาด (Novi Sad) และ ๖) สาธารณรัฐสังคมนิยมสโลวีเนีย (Socialist Republic of Slovenia) เมืองหลวงคือกรุงลูบลิยานา เซอร์เบียซึ่งเป็นรัฐใหญ่และมีประชากรมากที่สุดจะมีอำนาจในการปกครองในรัฐบาลกลางมากกว่ารัฐอื่น ๆ ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขตอิสระคอซอวอ-เมทอฮียาได้ยกสถานภาพเป็นจังหวัด และสาธารณรัฐสังคมนิยมบอสเนีย-เฮอร์เซโกวีนา และมอนเตเนโกรได้รับอำนาจอธิปไตยในการปกครองตนเองมากขึ้น

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕–๑๙๔๘ ยูโกสลาเวียมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียตและยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบในการกำหนดนโยบายการปกครองและเศรษฐกิจ ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ มีการกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ตามแบบโซเวียตโดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหนัก และพัฒนาวัตถุดิบในประเทศเพื่อวางพื้นฐานอุตสาหกรรมมีการจัดตั้งนารวมและยึดที่ดินและทรัพย์สินส่วนบุคคลของประชาชนที่มีมากจนเกินความจำเป็นมาเป็นของรัฐและจัดสรรที่ดินให้แก่ชาวนา ควบคุมการแสดงออกทางความคิดเห็น รัฐบาลคอมมิวนิสต์เน้นอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนินและแนวคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* เป็นหลักการด้านศิลปวัฒนธรรม ยูโกสลาเวียยังสนับสนุนสหภาพโซเวียตให้จัดตั้งองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* หรือสำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์ (Communist Information Bureau) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๗ เพื่อสานต่อการดำเนินงานขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* และเพื่อเป็นองค์การกลางติดต่อแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกขององค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* ขณะเดียวกันยูโกสลาเวียยังสนับสนุนช่วยเหลือพรรคคอมมิวนิสต์กรีซในสงครามกลางเมืองกรีซ (Greek Civil War ค.ศ. ๑๙๔๔–๑๙๔๙)* และช่วยให้พรรคคอมมิวนิสต์แอลเบเนียได้อำนาจทางการเมือง อย่างไรก็ตาม พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียจะปกครองยูโกสลาเวียอย่างอิสระโดยไม่ยอมให้สหภาพโซเวียตเข้ามายุ่งเกี่ยวในกิจการภายในและเสริมสร้างอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ชาตินิยมให้แข็งแกร่ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์และความต้องการของประเทศมากกว่าการจะตอบสนองแนวทางของขบวนการคอมมิวนิสต์สากลภายใต้การนำของโซเวียตนอกจากนี้ ยูโกสลาเวียยังปฏิเสธการกำหนดแผนจากส่วนกลาง (Central Planning) ของสหภาพโซเวียตที่จะให้ยูโกสลาเวียผลิตอาหารและวัตถุดิบแก่สหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกอื่นๆเพราะขัดแย้งกับนโยบายของประเทศที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ยูโกสลาเวียได้ร่วมมือกับบัลแกเรียจัดตั้งสหภาพศุลกากรขึ้นและมีมาตรการร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ อย่างใกล้ชิดทั้งหารือที่จะก่อตั้งสหพันธ์ยุโรปตะวันออก (Eastern European Federation) ขึ้น สหภาพโซเวียตไม่พอใจอย่างมากและต่อต้านเรื่องการก่อตั้งสหพันธ์ยุโรปตะวันออกยูโกสลาเวียจึงล้มเลิกแผนดังกล่าวและหันมาผลักดันการก่อตั้งสหพันธรัฐบอลข่าน (Balkan Federation)* ขึ้นระหว่าง ๓ ประเทศคือ ยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย และแอลเบเนีย สหภาพโซเวียตคัดค้านเพราะเกรงว่าสมาพันธรัฐบอลข่านจะทำให้อำนาจและบทบาทของสหภาพโซเวียตลดลง สหภาพโซเวียตจึงใช้องค์การโคมินเทิร์นประณามยูโกสลาเวียและให้ยูโกสลาเวียยอมรับผิดรวมทั้งให้ปลดตีโต แต่ล้มเหลวเพราะยูโกสลาเวียปฏิเสธที่จะเข้าร่วมประชุมและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียก็สนับสนุนตีโต ความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวจึงนำไปสู่ความแตกแยกตีโต-สตาลิน (Tito-Stalin Split)* องค์การโคมินเทิร์นจึงขับพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียออกจากการเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๘ และโดดเดี่ยวยูโกสลาเวียทางเศรษฐกิจทั้งย้ายสำนักงานใหญ่ของโคมินฟอร์มที่กรุงเบลเกรดไปอยู่ที่กรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) โรมาเนีย

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ ยูโกสลาเวียเริ่มหาแนวทางการสร้างระบบสังคมนิยมด้วยตนเอง และค่อย ๆ ยกเลิกการสร้างสังคมนิยมตามแนวทางสหภาพโซเวียต มีการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการทางเศรษฐกิจที่เป็น “การบริหารจัดการด้วยตนเอง” (Self-Management) ให้เหมาะสมมากขึ้นโดยให้กรรมกรและชาวนาจัดตั้ง “สภาคนงาน” (workers’ council) ขึ้นเพื่อบริหารกิจการเรื่องต่างๆด้วยตนเองโดยรัฐและพรรคจะเข้าไปมีบทบาทน้อยที่สุด ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายพื้นฐาน “Basic Law on the Management of State Economic Enterprises and Higher Economic Associations by the Working Collectives” โดยให้กิจการการผลิตทางอุตสาหกรรมทุกอย่างและการให้บริการประเภทต่าง ๆ ของรัฐเป็นสาธารณสมบัติ โดยคนงานมีอำนาจบริหารและดำเนินการด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม รัฐอาจแต่งตั้งผู้อำนวยการเข้าไปดูแลซึ่งสามารถคัดค้านมติของสภาคนงานได้ แนวทางการบริหารกิจการด้วยตนเองจึงเน้นการสร้างสรรค์สังคมนิยมตามแบบยูโกสลาเวียที่แตกต่างจากสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๒ มีการเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียเป็นสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย(League of Communist of Yugoslavia–LCY) เพื่อแสดงความเป็นคอมมิวนิสต์อิสระ ในปีเดียวกันยูโกสลาเวียได้สร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ด้วยการยอมรับความช่วยเหลือด้านการเงินและด้านอื่น ๆ โดยมีเงื่อนไขว่าความช่วยเหลือดังกล่าวไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ สหรัฐอเมริกาได้ให้ยูโกสลาเวียกู้ยืมเงิน ๖๒๐ ล้านเหรียญสหรัฐมาพัฒนาประเทศทั้งสนับสนุนให้กู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (International Monetary Fund–IMF)* และธนาคารโลกด้วย นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ ยูโกสลาเวียยังจัดทำกติกาสนธิสัญญาบอลข่าน (Balkan Pact) กับกรีซและตุรกีซึ่งเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* เพื่อค้ำประกันความมั่นคงเส้นเขตแดนระหว่างกัน รวมทั้งดำเนินนโยบายเป็นกลางในช่วงแรกของสงครามเย็น (Cold War)* ในทศวรรษ ๑๙๕๐

 หลังอสัญกรรมของสตาลิน ผู้นำโซเวียตในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๓ นีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำคนใหม่ของสหภาพโซเวียตได้ดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ทั้งในสหภาพโซเวียตและในรัฐบริวารโซเวียต สหภาพโซเวียตได้ปรับความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวีย และต้องการให้ยูโกสลาเวียกลับเข้ารวมในค่ายสังคมนิยมที่มีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำแต่ยูโกสลาเวียปฏิเสธและยืนยันการเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระ ทั้งไม่ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization)* อย่างไรก็ตาม ยูโกสลาเวียสนับสนุนสหภาพโซเวียตในการดำเนินนโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente)* ของสงครามเย็นกับประเทศตะวันตกและไม่ต่อต้านการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงปัญหาการเมืองภายในประเทศยุโรปตะวันออกในเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ค.ศ. ๑๙๕๖ การบุกเชโกสโลวะเกีย ค.ศ. ๑๙๖๘ ในเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* และการส่งกำลังทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน ค.ศ. ๑๙๗๘

 ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอิสระที่ไม่อยู่ใต้อิทธิพลของทั้งสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ยูโกสลาเวียได้สร้างความสัมพันธ์กับอดีตประเทศอาณานิคมที่ได้รับเอกราชหลัง ค.ศ. ๑๙๔๕ ด้วยการร่วมผลักดันการก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือนาม (Non-Aligned Movement–NAM) ขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ตีโตผู้นำยูโกสลาเวียผู้นำอินเดียและผู้นำอียิปต์ได้ร่วมกันออกประกาศประณามการแบ่งโลกเป็น ๒ ค่ายตามอุดมการณ์ทางการเมือง อีก๕ปีต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๑ ประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดรวม ๕๑ ประเทศจัดการประชุมใหญ่ครั้งแรกของขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดขึ้นที่กรุงเบลเกรดเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศในการสร้างกลุ่มโลกที่สาม (Third bloc) ขึ้น ที่ประชุมมีมติให้ต่อต้านนโยบายไม่เป็นธรรมของประเทศมหาอำนาจ และประณามลัทธิอาณานิคมการถือผิว (Apartheid) รวมทั้งเรียกร้องให้หยุดปฏิบัติการทางทหารต่อขบวนการปลดปล่อยต่าง ๆ การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจึงเป็นพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของยูโกสลาเวียจนถึงทศวรรษ ๑๙๘๐

 ใน ค.ศ. ๑๙๖๓ยูโกสลาเวียประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งในส่วนของสหพันธ์และสาธารณรัฐและเรียกชื่อประเทศใหม่ว่าสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia–SFRY) รัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นการบริหารกิจการด้วยตนเองให้ครอบคลุมด้านสังคมมากขึ้น โดยให้มีสภาท้องถิ่นในองค์การหรือหน่วยงานต่าง ๆ ด้านการศึกษา วัฒนธรรม สวัสดิการสาธารณสุข และการบริหาร ห้ามบุคลากรของรัฐยกเว้นตีโตดำรงตำแหน่งบริหารในหน่วยงานของพรรคและรัฐ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๗๔ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งโดยกำหนดให้อำนาจบริหารอยู่ที่คณะประธานาธิบดีร่วม (collective presidency) จำนวน ๘ คน ซึ่งเลือกผู้แทนมาจาก ๖ สาธารณรัฐและ ๒ จังหวัดอิสระ คณะประธานาธิบดีร่วมจะมีประธานาธิบดีเป็นผู้นำโดยเลือกจากผู้แทนของสาธารณรัฐซึ่งหมุนเวียนกันดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศ ประธานาธิบดีแต่ละสาธารณรัฐในคณะประธานาธิบดีร่วมจะเป็นรองประธานาธิบดีโดยตำแหน่ง มีวาระ ๑ ปี สาธารณรัฐและจังหวัดอิสระมีอำนาจการปกครองตนเองมากขึ้น โดยรัฐบาลกลางจะควบคุมเพียงนโยบายหลักที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายใน กิจการระหว่างประเทศการเงินและการคลัง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางพื้นฐานของการปกครองที่มีเสถียรภาพให้แก่ยูโกสลาเวียในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการแก่งแย่งชิงดีระหว่างชนชาติต่าง ๆ หลังรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๗๔ รัฐสภายูโกสลาเวียก็แต่งตั้งตีโตให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตลอดชีวิตเพราะเขาสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศด้วยการเปลี่ยนประเทศจากเกษตรกรรมที่ล้าหลังให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและนำพาประเทศให้เป็นเอกราช

 เมื่อตีโตถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๐ ยูโกสลาเวียเริ่มเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเพราะคณะประธานาธิบดีร่วมแย่งชิงอำนาจและแตกแยกทางความคิด ทั้งประเทศยังประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่สืบเนื่องจากการขาดดุลทางการค้า อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น การเก็บเกี่ยวที่ไม่ได้ผลซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง และการหยุดชะงักทางอุตสาหกรรมตลอดจนความขัดแย้งระหว่างชนชาติและอื่น ๆ แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินโครงการรัดเข็มขัดด้านต่าง ๆ รวมทั้งตรึงราคาสินค้าและค่าแรงการปันส่วนพลังงาน ตลอดจนยกเลิกโครงการพัฒนาต่าง ๆ แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก รายได้ประชาชนหดตัวลงและมาตรฐานการครองชีพลดต่ำลงจนนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนมากขึ้น การชุมนุมและการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเริ่มขยายตัวและใน ค.ศ. ๑๙๘๘ ประมาณว่าประชาชนเกือบ ๔ ล้านคนรวมตัวกันตามท้องถนนเพื่อต่อต้านรัฐบาลและผู้นำประเทศที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกจากนี้พรรคการเมืองในสาธารณรัฐต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวออกจากการควบคุมของรัฐบาลกลาง และเรียกร้องการดำเนินนโยบายอิสระเพื่อประโยชน์ของสาธารณรัฐ ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ สโลวีเนียและโครเอเชียเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราชและโจมตียูโกสลาเวียที่ใช้นโยบายรวบอำนาจ เซอร์เบียซึ่งสนับสนุนการมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งไม่เห็นด้วยและต่อต้านอย่างมากทั้งใช้กำลังเข้าปราบปราม แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ขณะเดียวกันพลเมืองเชื้อสายแอลเบเนียซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในคอซอวอก็เคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจเซอร์เบียและขับไล่ชาวเซิร์บที่เป็นชนกลุ่มน้อยออกจากคอซอวอปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าวสันนิบาตคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวียไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และเริ่มหมดบทบาทจนไม่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๗ สลอบอดาน มีโลเซวิช ชาวเซิร์บชาตินิยมได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเซอร์เบียและต่อมาเป็นประธานาธิบดีของสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย มีโลเซวิชดำเนินการขับไล่กลุ่มที่นิยมตีโตออกจากสันนิบาตคอมมิวนิสต์เซอร์เบียและเริ่มปลุกระดมประชาชนให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเซอร์เบียถูกทอนอำนาจและเสียเปรียบในช่วงการปกครองของตีโต และถึงเวลาที่จะก้าวขึ้นมามีอิสระด้วยการยืนยันสิทธิของเซอร์เบียในการควบคุม ๒ จังหวัด อิสระคือคอซอวอและวอยวอดีนา ต่อมาในเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ รัฐสภาเซอร์เบียแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเลิกสถานภาพจังหวัดอิสระของคอซอวอและวอยวอดีนา และในเดือนมิถุนายนก็ประกาศรวม ๒ จังหวัดดังกล่าวเข้ากับเซอร์เบีย นโยบายดังกล่าวทำให้พวกคอซอวอโกรธแค้นและก่อการเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากเซอร์เบีย ซึ่งสร้างบรรยากาศอันตึงเครียดทางการเมืองในประเทศ

 เมื่อเกิดการปฏิวัติค.ศ. ๑๙๘๙ที่โปแลนด์และตามด้วยฮังการี กระแสการปฏิวัติก็ขยายตัวไปยังประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ในเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกล่มสลายทั้งกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* พังทลายลงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้สาธารณรัฐต่าง ๆ ที่ร่วมในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราชด้วย โครเอเชียและสโลวีเนียประกาศเอกราชแยกตัวออกเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ เซอร์เบียได้ส่งกองทัพแห่งชาติ (Serbian Federal Yugoslav Army) เข้าขัดขวางแต่ล้มเหลว ต่อมามาซิโดเนียก็ประกาศแยกตัวออกในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และตามด้วยบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ ชาวเซิร์บในโครเอเชียและในบอสเนียต่อต้านการแยกตัวออกและนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองหรือสงครามบอสเนีย (Bosnian War)* อันยืดเยื้อขึ้นในโครเอเชียตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑ เป็นต้นมา ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๒ สหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)* ประกาศจะรับรองสถานภาพความเป็นประเทศเอกราชของสาธารณรัฐที่แยกตัวออกโดยตั้งเงื่อนไขว่าสาธารณรัฐที่แยกตัวออกต้องยอมรับสิทธิมนุษยชนและเคารพสิทธิของชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในดินแดนต่างรัฐ และยอมรับการเปลี่ยนแปลงเขตแดนระหว่างกันโดยสันติวิธี การยอมรับความตกลงทางทหารระหว่างกันและสนับสนุนความพยายามสร้างสันติภาพของสหประชาชาติและประชาคมยุโรป

 อย่างไรก็ตาม ปัญหาทางการเมืองอันยืดเยื้อที่ส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงภายในรวมทั้งการที่สหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการทูตยูโกสลาเวียตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๒ เป็นต้นมาได้ทำให้เซอร์เบียในท้ายที่สุดต้องยอมรับการแยกตัวออกของสาธารณรัฐต่าง ๆ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียจึงล่มสลายลงใน ค.ศ. ๑๙๙๒ รัฐที่แยกตัวออกก็ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติและสหภาพยุโรป ยกเว้นเซอร์เบียและมอนเตเนโกรที่ตกลงจะยังคงอยู่ร่วมกันต่อไปและได้ร่วมกันสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (Federal Republic of Yugoslavia) เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ สหรัฐอเมริกาได้เข้าแก้ไขปัญหาสงครามบอสเนียด้วยการเสนอให้มีการเจรจาเพื่อสันติภาพที่เมืองเดย์ตัน (Dayton) รัฐโอไฮโอ (Ohio) ระหว่างผู้นำชาวเซิร์บ โครแอต และมุสลิม การเจรจาบรรลุผลสำเร็จและนำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน (Dayton Peace Agreement)* ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติคลี่คลายลงจนทำให้สงครามบอสเนียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตันยังทำให้สหประชาชาติเลิกคว่ำบาตรยูโกสลาเวียในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๖ เซอร์เบียกับรัฐต่างๆ ที่แยกตัวออกไปก็ให้การรับรองต่อกัน ทำให้ความเป็นศัตรูระหว่างเซอร์เบียกับอดีตสาธารณรัฐในยูโกสลาเวียยุติลงในที่สุด ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๐๓ สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวียได้เปลี่ยนชื่อเป็นสหภาพเซอร์เบียและมอนเตเนโกร (State Union of Serbia and Montenegro)* โดยรวมกันในระบบเครือรัฐ (commonwealth)

 อีก ๓ ปีต่อมา ใน ค.ศ. ๒๐๐๖ ชาวมอนเตเนโกรเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยุติการรวมเป็นสหภาพกับเซอร์เบียและมีการแสดงประชามติในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๖ เพื่อสนับสนุนการแยกตัวและการจัดตั้งประเทศใหม่ ประชากรที่มีสิทธิออกเสียงร้อยละ ๕๕.๔ สนับสนุนการแยกตัวออก รัฐสภามอนเตเนโกรจึงประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๐๖ อีก ๔ วันต่อมาเซอร์เบียก็ประกาศจัดตั้งเป็นประเทศเอกราชด้วยเช่นกัน.



คำตั้ง
Yugoslavia
คำเทียบ
ยูโกสลาเวีย
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาคอร์ฟู
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- กติกาสัญญาลอนดอน
- กองทัพแดง
- การบริหารกิจการด้วยตนเอง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- กำแพงเบอร์ลิน
- ขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดหรือนาม
- ขบวนการอิลลิเรียน
- ข้อตกลงสันติภาพเดย์ตัน
- คณะกรรมาธิการยูโกสลาฟ
- คนป่วยของยุโรป
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- ความตกลงอนุภาคี
- ความแตกแยกตีโต-สตาลิน
- คอซอวอ
- โคมินเทิร์น
- โคมินฟอร์ม
- เชตนิก
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- นโปเลียนที่ ๑
- นาซี
- ประชาคมยุโรป
- ปัญหาตะวันออก
- ปาเวลิตช์, อันเต
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- มหาอำนาจกลาง
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยูโกสลาเวีย
- ระบอบราชาธิปไตยคู่
- รัฐประชาชาติ
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ลัทธิมากซ์
- ลัทธิมากซ์-เลนิน
- ลัทธิยูโกสลาฟ
- สงครามกลางเมืองกรีซ
- สงครามบอลข่าน
- สงครามบอสเนีย
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามอิตาลี-ตุรกี
- สนธิสัญญาเบอร์ลิน
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สมาพันธรัฐบอลข่าน
- สลอบอดาน มีโลเซวิช
- สหประชาชาติ
- สหพันธ์ประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย
- สหพันธ์ยุโรปตะวันออก
- สหพันธรัฐบอลข่าน
- สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย
- สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพยุโรป
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- สัญญาสงบศึก
- สากลที่ ๓
- สำนักข่าวสารคอมมิวนิสต์
- หมู่เกาะโดเดคะนีส
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-