Wrangel, Pyotr Nikolayevich, Baron (1879–1928)

บารอนปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล (พ.ศ. ๒๔๒๑–๒๔๗๑)

 บารอนปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกลเป็นนายทหารชาตินิยมและนายพลผู้บัญชาการกองทัพอาสาสมัครคอเคซัส (Caucasus Volunteer Army) ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* เขามีความคิดเห็นขัดแย้งกับนายพลอันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* ในแผนยุทธศาสตร์การรบในการบุกกรุงมอสโก เพราะเดนีกินซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังทัพรัสเซียใต้ (Armed Forces of South Russia–AFSR) ต้องการให้กองกำลังของฝ่ายรัสเซียขาวทั้งหมดเคลื่อนกำลังทุกแนวรบบุกโจมตีกรุงมอสโกและประสานการรบกับกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร แต่รันเกลต้องการบุกโจมตีเมืองซาริตซิน [Tsaritsyn ซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๑๙ เปลี่ยนชื่อเป็นสตาลินกราด(Stalingrad) และปัจจุบันคือเมืองโวลโกกราด (Volgograd)] ก่อนแล้วจึงเคลื่อนกำลังไปสมทบกับกองทัพของนายพลอะเล็กซานเดอร์ วาซีลีเยวิช คอลชาค (Alexander Vasiliyevich Kolchak)* ที่เคลื่อนกำลังจากไซบีเรียมุ่งตรงไปยังพื้นที่รัสเซียตอนกลางแถบลุ่มน้ำวอลกา (Volga) แต่สถานการณ์รบที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนไม่อาจคาดการณ์ได้ ทำให้รันเกลล้มเหลวที่จะสนธิกำลังกับกองทัพของคอลชาค และต้องนำทัพขึ้นเหนือแทนการรุกเข้าสู่กรุงมอสโก ในเวลาต่อมาเดนีกินจึงปลดเขาออกจากกองทัพ ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๐ รันเกลจึงลี้ภัยไปอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ประเทศตุรกี

 รันเกลเกิดในตระกูลขุนนางเชื้อสายเยอรมันในเขตบอลติก ที่เมืองมูคูเลียอี (Mukuliai) เขตปกครองคอฟโน (Kovno) ในจักรวรรดิรัสเซีย เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ เขาเป็นบุตรคนโตของบารอนนิโคลัส อีโกเรวิช (Nicholas Igorevich) และมีน้องอีก ๒ คน หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทคนิครอสตอฟ (Rostov Technical High School) ใน ค.ศ. ๑๘๙๖ เขาเข้าศึกษาต่อที่สถาบันวิศวกรรมเหมืองแร่ (Institute of Mining Engineering) ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๙๐๑ ด้วยเกียรตินิยมจากนั้นเขาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนทหารม้านีโคลาเยฟ (Nikolaev Cavalry School) อีก ๑ ปี และปฏิเสธที่จะรับราชการ ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ รันเกลเดินทางไปทำงานเป็นวิศวกรเหมืองแร่ที่เมืองอีร์คุตสค์ (Irkutsk) ไซบีเรียจนถึงช่วงเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔–๑๙๐๕)* สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นที่เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายอิทธิพลของรัสเซียในเอเชียตะวันออกเปิดโอกาสให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงใช้สงครามกระตุ้นความรักชาติและหันเหประชาชนจากปัญหาทางการเมืองและสังคมในประเทศ รันเกลซึ่งเป็นนักชาตินิยมจึงลาออกจากงานและสมัครเข้าประจำการในกองทัพโดยสังกัดกรมทหารที่ ๒ แห่งกองทัพน้อยคอสแซคทรานส์ไบคาล (2ᶰᵈ Regiment of Transbaikal Cossack Corps) หลังสงครามสิ้นสุดลง เขาได้ติดยศร้อยโทและย้ายไปสังกัดกรมทหารม้าฟินแลนด์ที่ ๕๕ (55ᵗʰ Finnish Dragoon Regiment) ซึ่งปฏิบัติการในแถบภูมิภาคบอลติก ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๙–๑๙๑๑ เขาไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารมีโคลาเยฟ (Mykolayev Imperial General Staff Academy) และโรงเรียนนายทหารม้า (Cavalry Officer’s School)

 เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาทรงถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงเซราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ซึ่งเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* รัสเซียสนับสนุนเซอร์เบีย เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของออสเตรีย-ฮังการีจึงประกาศสงครามกับรัสเซีย ในสงครามที่เกิดขึ้น รันเกลเป็นผู้บัญชาการกองพันทหารม้าปฏิบัติการรบในแนวรบด้านตะวันออกแถบกาลิเซีย (Galicia)* เขาทำการรบอย่างกล้าหาญและได้รับเหรียญกล้าหาญเซนต์จอร์จ (St. George Cross) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกโอนไปเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารคอสแซค (Cossack)* ซึ่งเป็นกองทหารรักษาพระองค์ในครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๑๕ รัสเซียเริ่มพ่ายแพ้ในการรบอย่างต่อเนื่องและการล่าถอยของกองทัพรัสเซียมีผลกระทบอย่างมากต่อปัญหาภายในประเทศ กระแสความไม่พอใจรัฐบาลและต่อต้านสงครามขยายตัวอย่างรวดเร็วรันเกลตระหนักว่าการดำเนินนโยบายสงครามต่อไปไม่เป็นผลดีต่อรัสเซีย เขาสนับสนุนข้อเรียกร้องของสภาดูมา (Duma)* ที่จะให้ปฏิรูปการปกครองและพิจารณาทบทวนนโยบายสงคราม แต่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิเสธและเสด็จไปบัญชาการรบด้วยตนเองในกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ทั้งยังโปรดฯ ให้ซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* บริหารราชการแผ่นดินแทนพระองค์โดยมีนักบวชเกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูติน (Gregory Efimovich Rasputin)* เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิด

 เมื่อรัสเซียเปิดการรุกครั้งใหญ่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ด้วยการจู่โจมไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวอย่างเต็มที่แนวรบด้านตะวันออกโดยมีแผนบุกกรุงเวียนนา ในการรุกครั้งนี้มีการนำเทคโนโลยีทางทหารล่าสุดมาใช้คือภาพถ่ายทางอากาศ การสร้างระบบสนามเพลาะในเชิงรุก การซ่อนพรางกำลังหนุน และการประสานปฏิบัติการระหว่างทหารปืนใหญ่กับทหารราบ กองทัพออสเตรียและเยอรมันซึ่งไม่ทันรู้ตัวต้องพ่ายแพ้และล่าถอยรันเกลได้ร่วมรบสนับสนุนการรุกของนายพลอะเล็กเซย์ บรูซีลอฟ (Alexei Brusilov)* และทำให้เขาได้เลื่อนยศเป็นพันตรีในต้น ค.ศ. ๑๙๑๗ ทั้งได้เป็นผู้บัญชาการกองพลน้อยที่ ๒ แห่งกองพลทหารม้าอัสซูรี (2ᶰᵈ Brigade of the Ussuri Calvary Division) อย่างไรก็ตามในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ รัสเซียเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในสงครามอีกครั้งกอปรกับปัญหาการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิง และภาวะเงินเฟ้อสูงได้ทำให้กระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลและความต้องการยุติสงครามทวีความรุนแรงมากขึ้นจนนำไปสู่การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ล่มสลาย

 หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสงครามได้สืบทอดอำนาจจากเจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Gregory Yevgenyevich Lvov)* เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาล เคเรนสกีแต่งตั้งนายพลลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov)* เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียแทนนายพลบรูซีลอฟเพื่อสกัดการบุกของเยอรมนีในแนวรบด้านตะวันออก แต่เคเรนสกีกับคอร์นีลอฟก็ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแผนยุทธศาสตร์การรบทั้งคอร์นีลอฟเป็นที่นิยมชื่นชอบของนักการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งเห็นว่าเขาคือผู้กอบกู้รัสเซีย เคเรนสกีจึงหาทางกำจัดคอร์นีลอฟและนำไปสู่กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov’s Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ รันเกลสนับสนุนคอร์นีลอฟในการก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจและจัดตั้งระบบเผด็จการทหารปกครองประเทศ เคเรนสกีจึงขอความร่วมมือจากสภาโซเวียตเพื่อปราบกบฏคอร์นีลอฟซึ่งเปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* กลับมามีอำนาจทางการเมืองและนำไปสู่การยึดอำนาจในการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (October Revolution 1917)* ในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นรันเกลไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

 เมื่อรัสเซียเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสังคมนิยมและเรียกชื่อประเทศว่าสหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย (Russian Socialist Federative Soviet Republic)* รัฐบาลโซเวียตเปิดการเจรจากับเยอรมนีเพื่อถอนตัวออกจากสงครามและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในช่วงที่มีการเจรจาสันติภาพ รันเกลตัดสินใจลาออกจากกองทัพและกลับไปอยู่ที่เมืองยัลตา (Yalta) และต่อมาเขาถูกจับกุมอย่างไรก็ตาม เขาถูกคุมขังเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ และสามารถหลบหนีไปยังยูเครน (Ukraine) ได้ ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาเข้าร่วมกับกองทัพอาสาสมัครของนายพลมีฮาอิล วาซีเลียวิช อะเล็คเซเยฟ (Mikhail Vasilyevich Alekseyev)* และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้าที่ ๑ ที่มีฐานปฏิบัติการที่เมืองเยคาเตริโนดาร์ (Yekaterinodar) รันเกลทำการรบแถบทุ่งสเตปป์คูบันตอนใต้และสามารถกวาดล้างกองกำลังฝ่ายปฏิวัติได้อย่างราบคาบ ทั้งโน้มน้าวให้เกณฑ์ชาวคูบันคอสแซคเข้าร่วมในกองทัพได้มากขึ้น จากนั้นรันเกลก็เคลื่อนกำลังพลไปทางคอเคซัสเหนือและกองกำลังของเขามีชื่อเรียกว่ากองทัพอาสาสมัครคอเคซัส

 ในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๙ นายพลเดนีกินผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียใต้ซึ่งเป็นกองทัพผสมที่ใหญ่ที่สุดและเข้มแข็งที่สุดของฝ่ายรัสเซียขาวกำหนดแผนการรุกใหญ่ด้วยการบุกโจมตีกรุงมอสโก เดนีกินสั่งให้กองทัพของรันเกลซึ่งขณะนั้นตั้งมั่นอยู่แถบลุ่มแม่น้ำวอลกาเคลื่อนกำลังมาสมทบและสนธิกำลังกับกองทัพของนายพลคอลชาค ขณะเดียวกันเดนีกินสั่งให้กองทัพเหนือและกองทัพตะวันตกซึ่งมีนายพลนีโคไล ยูเดนิช (Nikolai Yudenich) บัญชาการเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ด้วยการบุกโจมตีกรุงเปโตรกราดเพื่อให้รัฐบาลโซเวียตต้องแบ่งกำลังกองทัพแดง (Red Army)* มาปกป้องกรุงเปโตรกราดอย่างไรก็ตาม รันเกลต้องการเข้ายึดเมืองซาริตซินก่อนแล้วจึงจะเคลื่อนกำลังมาสมทบกับกองทัพของคอลชาคซึ่งทำให้เขาเสียเวลาและไม่สามารถมาทันตามกำหนดเวลา หลังจากยึดเมืองซาริตซินได้ รันเกลเคลื่อนกำลังมุ่งขึ้นเหนือแทนการมากรุงมอสโก ความไม่เป็นเอกภาพของการประสานกำลังรบระหว่างกองทัพรัสเซียขาวต่าง ๆ และปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในหมู่ผู้นำกองทัพเกี่ยวกับแผนการรบ รวมทั้งการถูกกลุ่มชาวนาซึ่งมีเนสเตอร์ อีวาโนวิช มัคโน (Nestor Ivanovich Makhno)* คอยซุ่มโจมตีและดักปล้นกองลำเลียงเสบียงและอื่น ๆ ทำให้ฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีชัยชนะในระยะแรก ๆ เริ่มเพลี่ยงพล้ำ นอกจากนี้ เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษก็ประกาศถอนตัวจากการสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาวในสงครามในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ด้วยเหตุผลว่า การต่อสู้ทำสงครามทั้งของคอลชาคและเดนีกินเพื่อ “รัสเซียที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” ไม่ใช่เป้าหมายของอังกฤษ การถอนตัวของอังกฤษส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของทหารรัสเซียขาวในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๙ เดนีกินซึ่งไม่พอใจรันเกลจึงสั่งปลดเขาออกจากกองทัพด้วย รันเกลลี้ภัยไปกรุงคอนสแตนติโนเปิลในต้น ค.ศ. ๑๙๒๐

 ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพของเดนีกินถอยหนีมาถึงคาบสมุทรไครเมีย คณะกรรมาธิการทหารซึ่งมีนายพลอับรัม ดราโกมีรอฟ (Abram Dragomirov) เป็นผู้นำบีบบังคับเดนีกินให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและติดต่อรันเกลที่พักอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลให้มาดำรงตำแหน่งสืบแทนการสับเปลี่ยนอำนาจการควบคุมกองทัพดังกล่าวเป็นสัญญาณชี้ว่าสงครามกลางเมืองรัสเซียอันยืดเยื้อใกล้จะสิ้นสุดลง รันเกลติดต่อกับอังกฤษเพื่อให้ช่วยคุ้มครองเหล่าทหารและพลเรือนที่เขาจะกลับไปดูแลและให้เจรจากับฝ่ายรัสเซียด้วยทั้งเขาจะสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร อังกฤษยอมรับข้อเรียกร้องดังกล่าวเขาจึงเดินทางมาไครเมียด้วยเรือของอังกฤษและเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๔ เมษายน เขานำข้อเสนอของรัฐบาลอังกฤษที่เรียกร้องให้ทหารฝ่ายรัสเซียขาวยุติการสู้รบทันที โดยอังกฤษสัญญาจะให้นายทหารระดับสูงลี้ภัยในอังกฤษและจะติดต่อกับรัฐบาลโซเวียตเพื่อให้นิรโทษกรรมเหล่าทหารที่ยังคงอยู่ในรัสเซีย รันเกลคาดหวังว่าเหล่าทหารฝ่ายรัสเซียขาวจะยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่เมื่อเดินทางมาถึงไครเมียเขาตระหนักว่าไม่อาจตัดใจละทิ้งทหารและพลเรือนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์กว่า ๒๐,๐๐๐ คน ที่ลี้ภัยในไครเมียไว้ตามลำพังได้ รันเกลจึงรวบรวมกำลังคนจัดตั้งเป็นกองทัพขึ้นเพื่อทำสงครามกับฝ่ายรัสเซียแดงอีกครั้งหนึ่งและจัดตั้งสภาบริหารเฉพาะกาลขึ้นเพื่อสานงานต่อจากการปกครองของเดนีกิน และผลักดันการปฏิรูปซึ่งรวมทั้งการปฏิรูปที่ดินเพื่อผูกใจชาวนาให้หันมาสนับสนุนฝ่ายรัสเซียขาว เขายังใช้โอกาสในขณะที่รัสเซียกำลังติดพันในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๒๐–๑๙๒๑)* ขอความร่วมมือกับยูเซฟ ปีลซุดสกี (Jozef Pilsudski)* ผู้นำโปแลนด์และมัคโนผู้นำชาวนาในยูเครนให้สนับสนุนเขา ตลอดจนประกาศยอมรับสถานภาพของสาธารณรัฐยูเครนและสาธารณรัฐจอร์เจียที่แยกตัวออกจากรัสเซีย และสถาปนาความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐใหม่ทั้ง ๒ ประเทศ

 หลังรันเกลจัดตั้งกองกำลังทัพขึ้นได้สำเร็จ เขาได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และการเงินจากฝรั่งเศส ในต้นเดือนมิถุนายน กองทัพของรันเกลโหมบุกโจมตีฝ่ายโซเวียตจนมีชัยชนะและขยายพื้นที่ครอบครองได้กว่า ๒๕๐ กิโลเมตร ครอบคลุมเขตทะเลอาซอฟ (Azov) เมืองต็อกมาก (Tokmak) ที่เป็นชุมทางรถไฟระหว่างเซวัสโตโปล (Sevastopol) กับคาร์คอฟ (Kharkov) จนถึงเมืองอัลโยชกี (Alioshki) บนฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) ทั้งชาวนาซึ่งพอใจเรื่องนโยบายปฏิรูปที่ดินก็หันมาสนับสนุนเขา แต่การที่ทหารมักดักปล้นและทำร้ายชาวนาในพื้นที่ที่ยึดครองก็ทำให้ชาวนากลับมาต่อต้านกองทัพรันเกล จนเขาไม่สามารถควบคุมพื้นที่การยึดครองได้เด็ดขาด รันเกลจึงย้ายฐานกำลังไปยังพื้นที่แถบคอสแซคคูบันที่อุดมสมบูรณ์ด้วยเสบียงอาหารและคาดหวังว่าพวกคอสแชคจะสนับสนุนเขาในการทำสงคราม ในปลายเดือนสิงหาคมรันเกลเปิดฉากการรุกใหญ่อีกครั้งและพ่ายแพ้เพราะพวกคอสแซคปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วย กองทัพแดงจึงตีทัพรันเกลให้ล่าถอยกลับไปยังไครเมียในต้นเดือนกันยายนได้อีกครั้งหนึ่ง

 ในช่วงเวลาที่รันเกลถอยทัพกลับมาไครเมียรัฐบาลโซเวียตซึ่งต้องการเผด็จศึกฝ่ายรันเกลโดยเร็วได้เปิดการเจรจากับปีลซุดสกีผู้นำโปแลนด์เพื่อยุติการรบ และนำไปสู่การลงนามยุติการรบในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga ค.ศ. ๑๙๒๐)* ในช่วงการเจรจาสงบศึก รัฐบาลโซเวียตก็กำหนดแผนยุทธศาสตร์ขั้นแตกหักเพื่อทำลายกองทัพรันเกลในไครเมียโดยระดมกำลังทั้งหมดจากแนวรบโปแลนด์เข้าต่อสู้กับกองทัพรันเกล จำนวนทหารแดงและทหารฝ่ายรันเกลอยู่ในอัตราส่วน ๔ : ๑ คน และทหารม้า ๓ : ๑ นาย โดยทหารแดงมีจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐ นาย ด้วยกำลังคนที่มากกว่าดังกล่าวมีผลให้กองทัพรันเกลถูกตีแตกในเวลาอันรวดเร็วจนถอยหนีไปถึงปลายคาบสมุทรไครเมีย ณ ป้อมเปเรคอฟ (Perekov) ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างรัสเซียตอนใต้กับไครเมีย ในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๐ กองทัพแดงสามารถยึดครองพื้นที่แนวสนามเพลาะป้อมเปเรคอฟได้ กองทัพรันเกลถูกตีแตกหนีกระจัดกระจาย ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน รันเกลประกาศยุบกองทัพรัสเซียใต้ ในวันรุ่งขึ้นรันเกลพร้อมกับทหารและพลเรือนจำนวน ๑๓๐,๐๐๐ คน สามารถอพยพหนีขึ้นเรืออังกฤษและฝรั่งเศสจำนวนกว่า ๑๒๕ลำซึ่งเรียกชื่อว่า “กองเรือรันเกล” (Wrangel’s Fleets) เดินทางไปยังกรุงคอนสแตนติโนเปิลได้อย่างปลอดภัยแต่ทหารและพลเรือนอีกกว่า ๒๐,๐๐๐ คนซึ่งขึ้นเรือไม่ได้ต้องหนีโดยใช้เส้นทางผ่านโรมาเนียไปยังประเทศยุโรปอื่น ๆ โดยเฉพาะเยอรมนีและฝรั่งเศส ส่วนใหญ่ของผู้อพยพหนีภัยครั้งนี้จะไม่มีโอกาสหวนคืนสู่แผ่นดินบ้านเกิดอีก การแตกพ่ายอย่างยับเยินของฝ่ายรันเกลจึงเป็นการพ่ายแพ้ของฝ่ายรัสเซียขาวและนับเป็นการสิ้นสุดของการแทรกแซงด้วยกำลังอาวุธจากต่างชาติสงครามกลางเมืองในส่วนที่เป็นพื้นที่ยุโรปรัสเซียจึงยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติโซเวียต แต่การรบยังคงดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่งในพื้นที่ส่วนเอเชียกลางและไซบีเรีย

 รันเกลพักอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิลระยะหนึ่งจากนั้นเขาเดินทางไปอยู่ที่ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (Kingdom of the Serbs, Croats and Slovenes)* ในฐานะผู้นำของชาวรัสเซียอพยพ ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เขาพยายามจัดตั้งกองกำลังสหภาพทหารรัสเซียทั้งมวล (Russian All-Military Union Army) ขึ้นเพื่อต่อสู้และผนึกกำลังของกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวทั้งหมดในต่างแดนแต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๗ เขาย้ายไปตั้งรกรากที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และทำงานเป็นวิศวกรเหมืองแร่ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๘ เขาเริ่มเขียนบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองเผยแพร่ในนิตยสาร White Cause ของชาวรัสเซียอพยพในกรุงเบอร์ลิน

 บารอนปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล ล้มป่วยและเสียชีวิตอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๒๘ รวมอายุ ๕๐ ปี ครอบครัวของเขาเชื่อว่าเขาถูกลอบวางยาพิษจากจารชนโซเวียตที่ทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้าน ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ มีการนำเถ้าอัฐิของรันเกลมาบรรจุไว้ที่โบสถ์นิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์ที่กรุงเบลเกรด (Belgrade) ยูโกสลาเวีย ตามที่เขาเคยสั่งเสียไว้ ต่อมามีการสร้างอนุสาวรีย์รูปปั้นครึ่งตัวของรันเกลที่เมืองซเรมสกีคาร์โลฟตซี (Sremski Karlovci) ประเทศเซอร์เบีย ซึ่งเคยเป็นศูนย์บัญชาการกองทัพของเขา.



คำตั้ง
Wrangel, Pyotr Nikolayevich, Baron
คำเทียบ
บารอนปิออตร์ นีโคลาเยวิช รันเกล
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- กาลิเซีย
- คอร์นีลอฟ, ลาฟร์ เกออร์เกียวิช
- คอลชาค, อะเล็กซานเดอร์ วาซีลีเยวิช
- คอสแซค
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- จอร์จ, เดวิด ลอยด์
- จอร์จ, ลอยด์
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- แนวรบด้านที่ ๒
- บรูซีลอฟ, อะเล็กเซย์
- บอลเชวิค
- ปีลซุดสกี, ยูเซฟ
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มัคโน, เนสเตอร์ อีวาโนวิช
- ยูโกสลาเวีย
- ยูเครน
- รันเกล, ปิออตร์ นีโคลาเยวิช
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญารีกา
- สภาดูมา
- สหพันธ์สาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมรัสเซีย
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อะเล็คเซเยฟ, มีฮาอิล วาซีเลียวิช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1879–1928
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๒๑–๒๔๗๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-