Wittelsbach (1180–)

ราชวงศ์วิทเทลสบัค (พ.ศ. ๑๗๒๓–)

ราชวงศ์วิทเทลสบัคเป็นราชวงศ์เยอรมันที่เก่าแก่ราชวงศ์หนึ่งของยุโรป สมาชิกของราชวงศ์ปกครองดินแดนบาวาเรีย (Bavaria) ทางตอนใต้ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๑๘๐–๑๙๑๘ โดยดำรงตำแหน่งดุ๊กแห่งบาวาเรีย (Duke of Bavaria) อิเล็กเตอร์แห่งบาวาเรีย (Elector of Bavaria) และกษัตริย์แห่งบาวาเรีย (King of Bavaria)


ขณะเดียวกันระหว่าง ค.ศ. ๑๒๑๔–๑๘๐๕ เชื้อสายราชวงศ์อีกสายหนึ่งยังดำรงตำแหน่งเคานต์และอิเล็กเตอร์แห่งพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์ (Palatinate of the Rhine) สมาชิกราชวงศ์วิทเทลสบัค ๒ พระองค์ยังเคยดำรงตำแหน่งประมุขแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่ จักรพรรดิหลุยส์ที่๔ (Louis IV ค.ศ. ๑๓๑๔–๑๓๔๗)และจักรพรรดิชาลส์ที่ ๗ (Charles VII ค.ศ. ๑๗๔๒–๑๗๔๕) ปัจจุบันราชวงศ์วิทเทลสบัคมีฟรันซ์ ดุ๊กแห่งบาวาเรีย (Franz, Duke of Bavaria) เป็นประมุขมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๙๖

 มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรยืนยันว่า ออทโทที่ ๑ เคานต์แห่งไชเอิร์น (Otto I, Count of Scheyern) บรรพบุรุษคนแรกๆของราชวงศ์วิทเทลสบัคได้ปกครองพื้นที่รอบปราสาทไชเอิร์น (Scheyern Castle) ทางตอนบนของแคว้นบาวาเรียระหว่างค.ศ. ๑๐๒๐–๑๐๗๒ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๑๑๙ ออทโทที่ ๔ (Otto IV) ได้ย้ายนิวาสถานไปยังปราสาทวิทเทลสบัค (Wittelsbach Castle) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นบาวาเรียและได้รับแต่งตั้งให้เป็นเคานต์แห่งวิทเทลสบัค ทั้งใช้ชื่อวิทเทลสบัคเป็นชื่อตระกูลนับตั้งแต่นั้นมา ปราสาทวิทเทลสบัคก็กลายเป็นปราสาทประจำตระกูล ต่อมา ออทโทบุตรชายของเคานต์ออทโทที่ ๔ ได้แสดงความสามารถทางด้านการทหารให้ประจักษ์แก่จักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๑ (Frederick I) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์และช่วยพระองค์ให้รอดพ้นจากสถานการณ์คับขันหลายครั้ง จึงได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นดุ๊กแห่งบาวาเรียใน ค.ศ. ๑๑๘๐ และได้รับพระนามว่า ดุ๊กออทโทที่ ๑ แห่งบาวาเรีย ในสมัยของดุ๊กหลุยส์ที่ ๑ (Louis I) พระโอรสอาณาเขตทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ขยายใหญ่ขึ้นทั้งพระองค์ยังทรงมีบทบาทในการสนับสนุนการขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ของจักรพรรดิเฟรเดอริกที่ ๒ (Frederick II) จึงทรงได้รับดินแดนพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์เป็นการตอบแทนใน ค.ศ. ๑๒๑๔อีก๘ปีต่อมาดุ๊กหลุยส์ที่ ๑ ทรงจัดการให้ออทโท พระโอรสเสกสมรสกับแอ็กเนิส (Agnes) แห่งพาลาติเนตดินแดนพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์จึงตกเป็นดินแดนสืบทอดของตระกูลวิทเทลสบัคอย่างสมบูรณ์ มีการนำสิงโตซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์มาเป็นสัญลักษณ์ของบาวาเรียด้วยต่อมาใน ค.ศ. ๑๒๓๑เมื่อออทโทได้ปกครองบาวาเรียต่อจากพระบิดา และเฉลิมพระนามว่า ดุ๊กออทโทที่ ๒ บาวาเรียได้ครอบครองกลุ่มดินแดนทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จนถึงโบเกิน (Bogen) ใน ค.ศ. ๑๒๔๐ ออทโทที่ ๒ ทรงนำสัญลักษณ์รูปเปียกปูนสีขาวฟ้าของโบเกินมาเป็นสัญลักษณ์ประดับธงของบาวาเรียและพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์อีกด้วย

 เมื่อดุ๊กออทโทที่ ๒ สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๒๕๓ พระโอรสทั้ง ๒ พระองค์ได้แบ่งอาณาเขตของตระกูลวิทเทลสบัคออกเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ดินแดนบาวาเรียตอนบน รวมถึงพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์ และบาวาเรียตอนล่าง ต่อมาเมื่อดินแดนบาวาเรียตอนล่างไร้ทายาท จักรพรรดิหลุยส์ที่ ๔ (Louis IV) จึงทรงมอบพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และดินแดนในบาวาเรียทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือส่วนหนึ่งซึ่งถูกเรียกรวมกันว่า พาลาติเนตแห่งบาวาเรียตอนบน (Bavarian Upper Palatinate) ให้แก่ทายาทของดุ๊กรูดอล์ฟที่ ๑ (Rudolf I) แห่งบาวาเรีย ส่วนจักรพรรดิหลุยส์ที่ ๔ ซึ่งทรงสืบเชื้อสายมาจากดุ๊กออทโทที่๒ก็ทรงครอบครอง


อาณาเขตส่วนที่เหลือในบาวาเรีย ทำให้ราชวงศ์วิทเทลสบัคแยกออกเป็น๒ สาขา ได้แก่ สาขาบาวาเรียและสาขาพาลาติเนต

 หลังการสวรรคตของจักรพรรดิหลุยส์ที่ ๔ ในค.ศ. ๑๓๔๗ ทายาทของพระองค์ได้แบ่งบาวาเรียออกเป็นหลายส่วน ทำให้ราชวงศ์วิทเทลสบัคแตกออกเป็นจุลสาขามากมาย ต่อมา เมื่อมีการกำหนดกฎการเลือกตั้งจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ให้ชัดเจนขึ้นใน ค.ศ. ๑๓๕๖ ราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตก็ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง๑ใน๗อิเล็กเตอร์ ต่อมา หลังการสิ้นพระชนม์ของรูเพิร์ทที่ ๑ (Rupert I) แห่งราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตใน ค.ศ. ๑๔๑๐ ทายาทก็แบ่งดินแดนออกเป็นหลายส่วน ทำให้เกิดจุลสาขามากขึ้นอีก

 ใน ค.ศ. ๑๕๑๗ หลังมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ประกาศหลัก ๙๕ ประการ (95 Theses) ในช่วงการปฏิรูปศาสนา (Reformation) ซึ่งนำไปสู่การเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วยุโรปเหนือราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตได้หันมานับถือนิกายโปรเตสแตนต์ด้วย เมื่อเฟรเดอริคที่ ๓ (Frederick III) ผู้นับถือนิกายกัลแวงหรือนิกายแคลวิน (Calvinism) อย่างเคร่งครัดขึ้นดำรงตำแหน่งอิเล็กเตอร์ในพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์ใน ค.ศ. ๑๕๕๙ พาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์จึงได้กลายเป็นศูนย์กลางของนิกายโปรเตสแตนต์ในยุโรปซึ่งสนับสนุนการลุกฮือของกลุ่มผู้นับถือนิกายกัลแวงในเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ส่วนสมาชิกราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาบาวาเรียยังคงนับถือนิกายคาทอลิกอย่างเคร่งครัด บาวาเรียจึงกลายเป็นศูนย์กลางของการปฏิรูปคาทอลิกในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่เริ่มขึ้นอย่างจริงจังหลังการประชุมที่เมืองเทรนท์ (Council of Trent) ใน ค.ศ. ๑๕๔๕ ในปีถัดมา เมื่อจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ (Charles V) นำทัพออกรบกับขุนนางในรัฐต่าง ๆ ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่หันไปนับถือนิกายโปรเตสแตนต์และรวมตัวกันเป็นสันนิบาตชมัลคัลดิค (Schmalkaldic League) ดุ๊กวิลเลียมที่ ๔ (William IV) แห่งบาวาเรียทรงส่งกองทัพไปช่วยจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ ด้วย

 อย่างไรก็ตาม หลังสงครามสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของฝ่ายคาทอลิกและการสลายตัวของสันนิบาตชมัลคัลดิคใน ค.ศ. ๑๕๔๗ ขุนนางบางกลุ่มในบาวาเรียหันไปนิยมนิกายโปรเตสแตนต์ แต่ขณะเดียวกันก็มิได้ขัดขวางประชาชนในเขตการปกครองของตนนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ได้ ส่งผลให้ดุ๊กอัลแบร์ทที่ ๕ (Albert V) ซึ่งขึ้นปกครองบาวาเรียใน ค.ศ. ๑๕๕๐ ได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในสภาขุนนางแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่เมืองเอาส์บูร์ก (Augsburg) ใน ค.ศ. ๑๕๖๖ ซึ่งได้พิจารณาให้นิกายโรมันคาทอลิกเป็นนิกายเดียวของบาวาเรียต่อไป การสนับสนุนคาทอลิกอย่างเข้มแข็งของราชวงศ์วิทเทลสบัคสายบาวาเรียยังทำให้สมาชิกของราชวงศ์หลายคนได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางศาสนา โดยเฉพาะตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเมืองโคโลญ (Archbishop of Cologne) ซึ่งเป็น ๑ ใน ๗ อิเล็กเตอร์ โดยระหว่าง ค.ศ. ๑๕๘๓–๑๗๖๑ตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเมืองโคโลญตกเป็นของสมาชิกราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาบาวาเรียอย่างต่อเนื่อง

 การถูกกดขี่ไม่ให้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ทำให้ขุนนางที่ไม่พอใจหันไปสนับสนุนเฟรเดอริคที่ ๔ (Frederick IV) แห่งพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และก่อตั้งสหภาพโปรเตสแตนต์ (Protestant Union) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๖๐๘ ดุ๊กมักซิมีเลียนที่ ๑ (Maximilian I) แห่งบาวาเรียจึงก่อตั้งสันนิบาตคาทอลิก (Catholic League) เพื่อตอบโต้ขึ้นใน ค.ศ. ๑๖๐๙ ต่อมาเมื่อขุนนางในโบฮีเมีย (Bohemia) ซึ่งส่วนใหญ่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ จับผู้แทน ๓ คนของจักรพรรดิมัททีอัส (Matthias) โยนลงมาจากหน้าต่างของปราสาทแห่งหนึ่งในกรุงปราก (Prague) เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๖๑๘ อันเป็นชนวนเหตุของสงครามสามสิบปี (Thirty Years’War) ระหว่างสหภาพโปรเตสแตนต์กับสันนิบาตคาทอลิก โดยมีสมาชิกจากราชวงศ์วิทเทลสบัคทั้ง ๒ สาขาอยู่กันคนละฝ่าย และการปฏิเสธการปกครองของจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ (Ferdinand II) ที่เสด็จขึ้นครองราชย์หลังจักรพรรดิมัททีอัสสวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๑๙ และได้เชิญอิเล็กเตอร์เฟรเดอริคที่ ๕ (Frederick V) จากพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์พระชามาดาในพระเจ้าเจมส์ที่ ๑ (James I) แห่งอังกฤษขึ้นเป็นกษัตริย์ในโบฮีเมียแทน เหตุการณ์นี้ทำให้จักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ ทรงยกทัพไปโบฮีเมียโดยมีดุ๊กมักซีมีเลียนที่ ๑ ร่วมทัพไปด้วย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สงครามสามสิบปีขยายตัวไปทั่วดินแดนเยอรมันและดึงนานาประเทศเข้าร่วมในสงคราม เมื่อกองทัพของจักรพรรดิเฟอร์ดินานด์ที่ ๒ ได้ชัยชนะเหนือขุนนางโบฮีเมียและเฟรเดอริคที่ ๕ ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๖๒๐พระองค์จึงพระราชทานพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์แก่ดุ๊กมักซีมีเลียนที่ ๑ และยกฐานะให้บาวาเรียเป็นดินแดนอิเล็กเตอร์โดยมีดุ๊กมักซีมีเลียนที่ ๑ ดำรงตำแหน่งอิเล็กเตอร์แห่งบาวาเรียเป็นคนแรกใน ค.ศ. ๑๖๒๓ เมื่อสงครามสามสิบปีจบลงใน ค.ศ. ๑๖๔๘ สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia) ได้รับรองการครอบครองพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และการดำรงตำแหน่งอิเล็กเตอร์ของบาวาเรีย แต่ขณะเดียวกันก็ได้คืนพื้นที่ทางตอนใต้ของพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และตำแหน่งอิเล็กเตอร์ให้กับราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตด้วย

 หลังสงครามสามสิบปี ราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตได้เร่งฟื้นฟูดินแดนที่เสียหายจากสงครามฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเพิ่มจำนวนประชากรด้วยการเชื้อเชิญประชากรจากแหล่งต่าง ๆ ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนใต้ของพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์ ส่วนราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาบาวาเรียได้เร่งพัฒนาบทบาททางด้านการต่างประเทศของตนโดยการเข้าร่วมสงครามครั้งสำคัญของยุโรปหลายครั้ง เช่น การเข้าร่วมกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ต่อต้านการรุกรานยุโรปของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)*ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๘๓–๑๖๙๙ การเข้าร่วมกับฝรั่งเศสในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๑–๑๗๑๔ และโดยเฉพาะสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย (War of the Austrian Succession) ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๔๐–๑๗๔๘ ซึ่งทำให้ชาลส์ อัลแบร์ท (Charles Albert) อิเล็กเตอร์แห่งบาวาเรียในขณะนั้นได้รับเลือกให้เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ใน ค.ศ. ๑๗๔๒ มีพระนามว่าจักรพรรดิชาลส์ที่ ๗ (Charles VII) อย่างไรก็ตาม ราชวงศ์ฮับส์บูร์กเป็นฝ่ายเหนือกว่าในการรบ จึงทำให้บาวาเรียถูกกองทัพออสเตรียบุกเข้าทำลายและยึดครอง ส่วนจักรพรรดิชาลส์ที่ ๗ ทรงประชวรด้วยโรคเกาต์และสวรรคตในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๗๔๕ เปิดโอกาสให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์กกลับเข้ามามีบทบาทในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง หลังสงครามจบ มักซีมีเลียนที่ ๓ โยเซฟ (Maximilian III Joseph)โอรสของพระองค์ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอิเล็กเตอร์แห่งบาวาเรียต่อ และหันมาผูกมิตรกับออสเตรียพร้อมฟื้นฟูบาวาเรียให้ฟื้นสภาพจากสงคราม

 เมื่อมักซีมีเลียนที่ ๓ โยเซฟสิ้นพระชนม์โดยไร้ทายาทใน ค.ศ. ๑๗๗๗ อิเล็กเตอร์ชาลส์ เทโอดอร์ (Charles Theodore) สมาชิกราชวงศ์วิทเทลสบัคสาขาพาลาติเนตได้ขึ้นครองตำแหน่งอิเล็กเตอร์ในบาวาเรียต่อ ทำให้เขาดำรงตำแหน่งอิเล็กเตอร์ทั้งในพาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์และบาวาเรีย อย่างไรก็ตามจักรพรรดิโยเซฟที่ ๒ (Joseph II) ทรงคัดค้านและแสดงพระราชประสงค์ที่จะเข้าครอบครองบาวาเรียเสียเอง จนทำให้เกิดสงครามสืบบัลลังก์บาวาเรีย (War of the Bavarian Succession) ขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๗๘–พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของเทโอดอร์ ทำให้จักรพรรดิโยเซฟที่ ๒ ต้องทรงสละสิทธิในบาวาเรีย ต่อมามักซีมีเลียนที่ ๔ โยเซฟ (Maximilian IV Joseph) ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจากเทโอดอร์ใน ค.ศ. ๑๗๙๙ ได้ทรงย้ายการปกครองมาอยู่ที่บาวาเรียเพียงแห่งเดียว

 เหตุการณ์ในยุโรปสงบลงได้ระยะหนึ่งก็เกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒–๑๘๐๑)* มหาอำนาจยุโรปได้รวมตัวกันและทำสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑ (First Coalition War) และสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒ (Second Coalition War) สงครามจบลงด้วยชัยชนะของฝรั่งเศส จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ (Francis II)* จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จึงต้องทรงยอมลงนามในสนธิสัญญาลูเนวิลล์ (Treaty of Lunéville) ซึ่งกำหนดให้ฝรั่งเศสเข้าครอบครองพื้นที่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ จึงทำให้บาวาเรียต้องเสียดินแดนส่วนใหญ่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ในพาลาติเนตไปด้วย ใน ค.ศ. ๑๘๐๓ จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ ทรงมอบดินแดนรอบ ๆ บาวาเรียให้แก่บาวาเรียเพื่อชดเชยกับดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ที่ต้องเสียไป อย่างไรก็ตาม บาวาเรียต้องสูญเสียดินแดนทางฝั่งขวาของลุ่มแม่น้ำไรน์ในพาลาติเนตให้กับบาเดิน (Baden) เพื่อชดเชยที่บาเดินต้องยกดินแดนทางฝั่งซ้ายของลุ่มแม่น้ำไรน์ให้แก่ฝรั่งเศสตามสัญญาสันติภาพลูเนวิลล์ พาลาติเนตแห่งลุ่มแม่น้ำไรน์จึงสิ้นสภาพของการเป็นรัฐในที่สุด ชัยชนะของฝรั่งเศสยังทำให้นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* แม่ทัพและกงสุลฝรั่งเศสเปลี่ยนสถานะของฝรั่งเศสจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ เป็นจักรวรรดิในเดือนพฤษภาคมค.ศ. ๑๘๐๔ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันก็ขึ้นดำรงตำแหน่งจักรพรรดิ เฉลิมพระนามนโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* แห่งราชวงศ์โบนาปาร์ต

 เมื่อสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓ (Third Coalition War) เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๐๕ มักซีมีเลียนที่ ๔ โยเซฟซึ่งเคยได้รับการศึกษาในฝรั่งเศสในวัยเยาว์ทรงหันมาเป็นพันธมิตรกับจักรพรรดินโปเลียน ต่อมาเมื่อฝ่ายสหพันธมิตรปราชัย จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ จึงต้องทรงยินยอมลงพระนามในสนธิสัญญาสันติภาพเพรสส์บูร์ก (Peace of Pressburg) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๐๕ ออสเตรียต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมหาศาลและทำให้บาวาเรียพันธมิตรของฝรั่งเศสได้รับทิโรล (Tyrol) และโฟราร์ลแบร์ก (Vorarlberg) จากออสเตรีย บาวาเรียยังถูกยกฐานะจากรัฐอิเล็กเตอร์เป็นราชอาณาจักรส่งผลให้มักซีมีเลียนที่๔โยเซฟขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า พระเจ้ามักซีมีเลียนที่ ๑ โยเซฟ นับเป็นพระเกียรติยศของราชวงศ์วิทเทลสบัค ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๖–๑๘๐๗ เกิดสงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔ (Fourth Coalition War) ขึ้น จักรพรรดินโปเลียนซึ่งต้องการหาพันธมิตรเพิ่มจึงทรงจัดตั้งสมาพันธรัฐแม่น้ำไรน์ (Confederation of the Rhine)* ขึ้นในเดือนกรกฎาคมค.ศ. ๑๘๐๖โดยมีราชอาณาจักรบาวาเรียเป็น ๑ ใน ๑๖ สมาชิกก่อตั้งด้วย จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๒ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทรงสถาปนาแกรนด์ดัชชีออสเตรียเป็นจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* ก็ทรงสูญเสียพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไปโดยปริยายและทรงดำรงพระอิสริยยศจักรพรรดิแห่งออสเตรียเพียงตำแหน่งเดียว มีพระนามว่า จักรพรรดิฟรานซิสที่ ๑ (Francis I)*

 เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ทรงนำทัพไปบุกรัสเซียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๒ พระเจ้ามักซีมีเลียนที่ ๑ โยเซฟทรงส่งกองทัพบาวาเรียเข้าร่วมรบด้วยและสูญเสียทหารเป็นจำนวนมหาศาล ดังนั้น เมื่อฝ่ายสหพันธมิตรผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อทำลายอิทธิพลของฝรั่งเศสในยุโรป พระเจ้ามักซีมีเลียนที่ ๑ โยเซฟจึงทรงหันมาสนับสนุนฝ่ายสหพันธมิตร บาวาเรียจึงต้องคืนเพียงแค่ดินแดนบางส่วนให้ออสเตรีย แต่ต่อมาก็ได้ดินแดนบางส่วนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์คืนมาในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna)* ระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๑๔–มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๑๕ นอกจากนี้บาวาเรียยังได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๑๕ หลังสมัยร้อยวัน (Hundred Days)* ยุคนโปเลียนหมดสิ้นลง กษัตริย์จากราชวงศ์วิทเทลสบัคได้ปฏิรูปบาวาเรียให้กลายเป็นราชอาณาจักรที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ใน ค.ศ. ๑๘๑๘ พระเจ้ามักซีมีเลียนที่ ๑ โยเซฟได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ และพระเจ้าลุดวิกที่ ๑ (Ludwig I) พระราชโอรสทรงสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างนครมิวนิกกับเมืองโดยรอบ ทั้งทรงย้ายมหาวิทยาลัยจากลันด์สฮูทเข้ามาตั้งในนครมิวนิกและปรับปรุงนครมิวนิกให้ทันสมัยสวยงาม

 ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ปรัสเซียได้เป็นผู้นำในการรวมชาติเยอรมันซึ่งสำเร็จเมื่อจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ได้รับการสถาปนาเมื่อเดือนมกราคมค.ศ. ๑๘๗๑โดยมีบาวาเรียเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิด้วย ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ พระเจ้าลุดวิกที่ ๓ (Ludwig III)แห่งบาวาเรียทรงให้การสนับสนุนจักรพรรดิวิลเลียมที่ ๒ (William II)* แห่งจักรวรรดิเยอรมันอย่างเต็มที่ เนื่องจากทรงหวังจะขยายพื้นที่ของบาวาเรียหากฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ได้รับชัยชนะ อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามยืดเยื้อและยาวนานมากขึ้น ชาวบาวาเรียก็เริ่มหมดหวังว่าฝ่ายตนจะได้รับชัยชนะและเอาใจออกหากจากพระเจ้าลุดวิกที่ ๓ มากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ในเยอรมนีในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ การปฏิวัติได้ขยายตัวมาที่มิวนิกด้วย คูร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner)* นักการเมืองเชื้อสายยิวซึ่งเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวปฏิวัติจึงเห็นเป็นโอกาสล้มอำนาจของราชวงศ์วิทเทลสบัค ส่งผลให้พระเจ้าลุดวิกที่ ๓ ต้องทรงประกาศสละราชบัลลังก์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งนับเป็นจุดสิ้นสุดของการปกครองที่ยาวนานถึง ๗๓๘ ปีของราชวงศ์วิทเทลสบัคในบาวาเรีย หลังสละราชบัลลังก์พระเจ้าลุดวิกที่ ๓ เสด็จลี้ภัยไปยังออสเตรีย ฮังการี และสวิตเซอร์แลนด์แล้วเสด็จกลับมาประทับที่บาวาเรียอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๒๐

 หลังจากพระเจ้าลุดวิกที่๓สวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เจ้าชายรูเพิร์ท (Rupert) มกุฎราชกุมาร พระราชโอรสได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งราชวงศ์วิทเทลสบัคต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๓พระองค์ทรงจัดตั้ง “กองทุนชดเชยวิทเทลสบัค” (Wittelsbacher Ausgleichfond) หรือข้อตกลงระหว่างรัฐบาลบาวาเรียกับราชวงศ์วิทเทลสบัคโดยมีเนื้อหาสำคัญคือการแบ่งทรัพย์สมบัติของราชวงศ์วิทเทลสบัคออกจากทรัพย์สมบัติของรัฐบาวาเรียอย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ได้กำหนดให้ปราสาทสำคัญของบาวาเรีย ๒ แห่ง คือ ปราสาทนอยชวันชไตน์ (Neuschwanstein) และปราสาทลินเดนฮอฟ (Lindenhof)ตกเป็นสมบัติของรัฐ ต่อมาเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ขึ้นในยุโรป ซึ่งทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๓)* อ่อนแอและเปิดทางให้พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ได้รับความนิยมอย่างมากจากประชาชนอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคจึงได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์พยายามโน้มน้าวให้เจ้าชายรูเพิร์ทเข้าเป็นสมาชิกพรรคด้วยแต่ล้มเหลวดังนั้น เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ พรรคนาซีจึงเข้ายึดปราสาทลอยท์ชเต็ทเทิน (Leutstetten) ซึ่งเป็นที่พำนักของราชวงศ์วิทเทลสบัค ทำให้พระราชวงศ์จำต้องลี้ภัยไปพำนักกับพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III)* แห่งอิตาลี ในขณะที่เจ้าชายรูเพิร์ทยังพำนักอยู่ในอิตาลีส่วนสมาชิกพระองค์อื่น ๆ ทรงอพยพไปฮังการี ต่อมาเมื่อเยอรมนีเข้ายึดครองฮังการีในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ สมาชิกพระองค์อื่น ๆ จึงทรงถูกควบคุมตัวด้วย และพระราชวงศ์ทั้งหมดถูกส่งต่อไปยังค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่ซัคเซนเฮาเซิน (Sachsenhausen) และดาเคา (Dachau) อย่างไรก็ตาม ในปลายสงครามกองทัพสหรัฐอเมริกาได้เข้ามาปลดปล่อยในช่วงปลายเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕

 หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในยุโรปสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็น ๔ ส่วนภายใต้การปกครองของประเทศพันธมิตร บาวาเรียตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา เจ้าชายรูเพิร์ทต้องการจะจัดตั้งระบบกษัตริย์ในบาวาเรียขึ้นมาอีกครั้ง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องการให้บาวาเรียเป็น ๑ ใน ๑๑ รัฐของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี(Federal Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันตก ที่ได้รับการก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ เจ้าชายรูเพิร์ทสิ้นพระชนม์ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๕ เจ้าชายอัลเบรชท์ (Albrecht) พระโอรสซึ่งดำรงตำแหน่งดุ๊กแห่งบาวาเรียจึงขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งราชวงศ์วิทเทลสบัคต่อจนสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ หลังจากนั้นเจ้าชายฟรันซ์ (Franz) โอรสซึ่งผ่านชีวิตในวัยเยาว์ในค่ายกักกันเช่นเดียวกับสมาชิกราชวงศ์วิทเทลสบัคคนอื่น ๆ ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขต่อจนถึงปัจจุบัน.



คำตั้ง
Wittelsbach
คำเทียบ
ราชวงศ์วิทเทลสบัค
คำสำคัญ
- การปฏิรูปศาสนา
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การประชุมใหญ่แห่งเวียนนา
- การรวมชาติเยอรมัน
- ค่ายกักกัน
- นโปเลียนที่ ๑
- นาซี
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจกลาง
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๑
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๒
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๓
- สงครามสหพันธมิตรครั้งที่ ๔
- สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรีย
- สนธิสัญญาลูเนวิลล์
- สมัยร้อยวัน
- สมาพันธรัฐเยอรมัน
- ไอส์เนอร์, คูร์ท
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1180–
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๑๗๒๓–
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-