สาธารณรัฐไวมาร์เป็นสาธารณรัฐเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๓๓ หลังการล่มสลายของจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ได้มีการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐซึ่งเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* เป็นประธานาธิบดีจากนั้นเขาได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐ โดยมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เมืองไวมาร์ (Weimar) ในแคว้นทูรินเจีย(Thuringia) ประธานาธิบดีเอแบร์ทได้ลงนามในรัฐธรรมนูญซึ่งเรียกชื่อว่า รัฐธรรมนูญไวมาร์เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ สาธารณรัฐเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นนี้จึงมีชื่อเรียกกันทั่วไปว่าสาธารณรัฐไวมาร์ในช่วงปีแรก ๆ สาธารณรัฐไวมาร์เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการเงินในช่วงหลังสงครามและความไร้เสถียรภาพทางการเมืองเนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ มักคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนมากกว่าส่วนรวม ทั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายสุดโต่งและฝ่ายขวาสุดขั้วในสภาไรค์ชตาก (Reichstag)* ก็หาทางทำลายสาธารณรัฐ แม้สาธารณรัฐไวมาร์จะล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง แต่ก็ประสบความสำเร็จในด้านศิลปวัฒนธรรมเพราะวัฒนธรรมไวมาร์ (Weimar Culture) ซึ่งเน้น “ความทันสมัย” เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการของสังคมอุตสาหกรรมใหม่ได้ทำให้เยอรมนีเป็นต้นแบบของศิลปะกลุ่มล้ำยุค (avant-garde) ที่มีความแปลกใหม่ สร้างสรรค์ และล้ำยุคจนช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมไวมาร์
สาธารณรัฐไวมาร์เป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในแนวรบฮินเดนบูร์ก (Hindenburg Line) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งทำให้บัลแกเรียที่ร่วมรบกับเยอรมนีถอนตัวออกจากกลุ่มมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* และเยอรมนีต้องล่าถอยออกจากเบลเยียมและฝรั่งเศส นายพลเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* ซึ่งเกรงว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะเคลื่อนกำลังเข้าสู่เยอรมนีและอาจนำไปสู่การเกิดการจลาจลภายในได้จึงเสนอให้รัฐบาลเปิดการเจรจาสงบศึก และให้ปฏิรูปการเมืองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร มัททีอัสแอร์ซแบร์เกอร์ (Matthias Erzberger)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* จึงเห็นเป็นโอกาสร่วมมือกับพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party–SPD)* และพรรคประชาชนเยอรมัน (German People’s Party)รวบรวมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากเคลื่อนไหวปฏิรูปทางการเมือง เจ้าชายมักซีมีเลียนแห่งบาเดิน (Maximilian of Baden) หรือเจ้าชายมักซ์ซึ่งมีแนวคิดเสรีนิยมและเป็นที่ยอมรับของกองทัพจึงทรงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ พระองค์ทรงเปิดการเจรจายุติสงครามด้วยการเสนอการทำสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตร ขณะเดียวกันทรงปฏิรูปการเมืองให้เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาด้วยการให้กองทัพอยู่ใต้การควบคุมของสภาไรค์ชตาก และนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อรัฐสภาไม่ใช่จักรพรรดิเช่นเดิมทั้งยกเลิกกฎหมายการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๗๑ ที่แบ่งสิทธิผู้เลือกตั้งเป็น ๓ ชั้น อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีวิลสันประวิงเวลาที่จะเจรจาสันติภาพด้วยข้ออ้างว่าจะเจรจาเฉพาะกับผู้แทนรัฐบาลเยอรมันที่ไม่มีไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* เป็นประมุข พรรคเอสพีดีจึงเคลื่อนไหวกดดันสภาไรค์ชตากให้บีบบังคับไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ สละราชย์แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ
ข่าวการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาและการบีบบังคับให้ไกเซอร์สละราชย์ทำให้จอมพลเรือ ฟรันซ์ ริทเทอร์ ฟอน ฮิพเพอร์ (Franz Ritter von Hipper) ไม่พอใจและตอบโต้ด้วยการสั่งให้กองเรือหลวงเตรียมการโจมตีกองเรืออังกฤษในทะเลเหนือโดยไม่กราบทูลไกเซอร์และแจ้งให้เจ้าชายมักซ์ทราบแต่กะลาสีเรือรบ ๒ ลำที่ฐานทัพวิลเฮล์มส์ฮาเวิน (Wilhelmshaven) ซึ่งเบื่อหน่ายสงครามและไม่พอใจเรื่องการปันส่วนอาหารและการขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งและก่อกบฏผู้บัญชาการเรือจึงปราบปรามและจับกุมผู้นำของกะลาสีและพลพรรคประมาณ ๑,๐๐๐ คน ส่งไปฐานทัพเรือที่เมืองคีล (Kiel) เพื่อขึ้นศาลทหาร กะลาสีเรือรบลำอื่น ๆ ที่สนับสนุนฝ่ายกบฏเรียกร้องให้ปล่อยตัวพวกนักโทษแต่ล้มเหลว และนำไปสู่การชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านทั่วไป มีการปะทะกันอย่างดุเดือดข่าวการนองเลือดได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของกรรมกรกะลาสีและมวลชนในพื้นที่ใกล้ฐานทัพเรือคีลและเมืองใกล้เคียง การเคลื่อนไหวต่อต้านขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในเยอรมนีอย่างรวดเร็ว รวมทั้งในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* ด้วย และนำไปสู่การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ระหว่างวันที่ ๖–๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘
ในรัฐบาวาเรีย (Bavaria)* ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ที่สำคัญในจักรวรรดิเยอรมัน คูร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner)* นักการเมืองเชื้อสายยิวซึ่งสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมนี (Independent Social Democratic Party of Germany–USPD) ที่เป็นกลุ่มปีกซ้ายของพรรคเอสพีดีเห็นเป็นโอกาสก่อการเคลื่อนไหวล้มอำนาจของราชวงศ์วิทเทลสบัค (Wittelsbach)* ที่ปกครองบาวาเรียมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๑๘๐ และประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมและประชาธิปไตยบาวาเรีย (Bavarian Democratic and Social Republic) ขึ้น การปฏิวัติในบาวาเรียทำให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในกรุงเบอร์ลินหวาดวิตก เอแบร์ทผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันข้างมาก (Majority Social Democratic Party of Germany–MSPD)* ที่เป็นกลุ่มปีกขวาของพรรคเอสพีดีจึงกดดันเจ้าชายมักซีมีเลียนให้ประกาศการสละราชย์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ โดยอ้างว่ากองทัพสนับสนุนพวกเขาและต้องการรัฐบาลประชาธิปไตยชุดใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญเจ้าชายมักซีมีเลียนซึ่งแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้ไม่ทรงมีทางเลือกอันใดอีกนอกจากลาออกและประกาศการสละบัลลังก์ของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายนโดยไม่รอการตัดสินพระทัยของพระองค์ทั้งยังแต่งตั้งเอแบร์ทเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเวลาต่อมาเอแบร์ทยังประกาศห้ามสมาชิกของราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ยุ่งเกี่ยวกะลาสีเรือก่อกบฏกับการเมืองและให้ดำเนินซีวิตอย่างสงบ
เอแบร์ททำข้อตกลงกับจอมพลวิลเฮล์มเกรอเนอร์ (Wilhelm Gröner) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยขอให้กองทัพสนับสนุนรัฐบาลและให้กองทัพมีอำนาจเด็ดขาดเกรอเนอร์จึงเข้าไปควบคุมสถานการณ์ที่ฐานทัพเรือคีลและสามารถรักษาความสงบเรียบร้อยทางสังคมได้ขณะเดียวกันเอแบร์ทก็จัดตั้งสภาผู้แทนประชาชน (Council of People’s Deputies) ขึ้นซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มาจากกลุ่มปีกขวาและปีกซ้ายของพรรคเอสพีดีเพื่อเจรจาตกลงกับสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือในการร่วมกันกำหนดแนวทางการปกครองประเทศและการประสานการดำเนินงานกับรัฐบาล เป็นที่ตกลงกันว่าจะมีการจัดตั้งสภาแห่งชาติ (National Assembly) ขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ อย่างไรก็ตาม กลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมนีที่มีคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เป็นผู้นำต่อต้านการร่วมมือกับฝ่ายทหารเพราะเห็นว่าพรรคเอสพีดีทรยศต่ออุดมการณ์ลัทธิมากซ์ (Marxism) และขัดขวางการลุกฮือขึ้นสู้ของกรรมกรเพื่อก่อการปฏิวัติตามแบบการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ (Russian Revolution of 1917)* ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองดังกล่าวทำให้ฟิลิป ไชเดอมันน์ (Philip Schiedemann) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันข้างมากรีบประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันขึ้นในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เพราะเกรงว่าพวกปีกซ้ายหัวรุนแรงจะประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเยอรมันขึ้น การประกาศดังกล่าวไม่ได้เตรียมการมาก่อน และแม้เอแบร์ทจะไม่พอใจอย่างมากแต่ก็ต้องปล่อยเลยตามเลย สาธารณรัฐเยอรมันที่จัดตั้งขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากผู้ที่นิยมระบอบสาธารณรัฐแต่อย่างใด ทั้งได้ชื่อว่าเป็น “สาธารณรัฐที่ปราศจากนักสาธารณรัฐนิยม” (republic without republicans) และนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในเวลาต่อมา
หลังการประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันได้ ๒ ชั่วโมง ลีบเนชท์ก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐโซเวียตสังคมนิยมเยอรมันขึ้น เอแบร์ทจึงอาศัยกองทัพเข้าควบคุมสถานการณ์และปราบปรามการชุมนุมก่อการจลาจล ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ซึ่งทรงติดตามสถานการณ์ในประเทศจึงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ในวันต่อมาแอร์ซแบร์เกอร์ผู้แทนรัฐบาลเยอรมันชุดใหม่ก็ลงนามสงบศึกกับจอมพลแฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch)* ผู้แทนของฝ่ายสัมพันธมิตรที่เมืองกงเปียญ (Compiègne) เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งมีผลให้สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงพร้อมกับการสิ้นสลายของจักรวรรดิเยอรมันหรือจักรวรรดิไรค์ที่ ๒ (Second Reich ค.ศ. ๑๘๗๑–๑๙๑๘)*
ในปลายเดือนธันวาคม ลีบเนชท์และลักเซมบูร์กผู้นำกลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงซึ่งจัดตั้งกลุ่มสันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartacus League) ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวปฏิวัติใต้ดินต่อต้านรัฐบาลได้รวมตัวกับกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันจัดการประชุมใหญ่ที่กรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ ๓๐ ธันวาคม–๑ มกราคมผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือมีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party) ขึ้น และเตรียมการลุกฮือด้วยอาวุธตามแบบการปฏิวัติบอลเชวิค (Bolshevik Revolution)* พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันได้จัดการเดินขบวนสำแดงกำลังในกรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ ๕–๖ มกราคม ซึ่งทำให้รัฐบาลหวาดวิตก รัฐบาลจึงให้กองทัพและกองกำลังอิสระ (Free Cops)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธเข้าปราบปรามและกวาดล้างจนเกิดการปะทะกันอย่างนองเลือดระหว่างวันที่ ๑๓–๑๕ มกราคมลีบเนชท์และลักเซมบูร์กถูกจับและถูกสังหารอย่างทารุณ อีก ๓ วันต่อมารัฐบาลเฉพาะกาลจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นซึ่งมีจำนวน ๔๒๓ คน งานเร่งด่วนที่สำคัญของรัฐบาลคือการร่างรัฐธรรมนูญ
สภาร่างรัฐธรรมนูญเลือกเมืองไวมาร์ในแคว้นทูรินเจียเป็นสถานที่จัดประชุมเพื่อหลีกเลี่ยงการชุมนุมวุ่นวายที่กรุงเบอร์ลิน ฮูโก พรอยส์ (Hugo Preuss) ทนายความและนักการเมืองเสรีนิยมซึ่งต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมี ๑๘๑ มาตรา สถาปนาระบอบสาธารณรัฐที่อำนาจทางการเมืองมาจากประชาชนการร่างรัฐธรรมนูญมีขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ และมีการประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมัน” (Constitution of the German Reich) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่ารัฐธรรมนูญไวมาร์ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม รัฐธรรมนูญฉบับนี้วางรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาและกำหนดไว้ในมาตรา ๒๒ ให้ใช้ระบบการมีผู้แทนตามสัดส่วนและสตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ด้วยเป็นครั้งแรก ทั้งให้มีการเลือกประธานาธิบดีโดยตรง แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๗๑ ในสมัยอัครมหาเสนาบดีออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* แต่การกำหนดให้ใช้ระบบการเลือกตั้งตามสัดส่วนอย่างเคร่งครัดทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมากและเปิดทางให้พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาในสภา รัฐบาลผสมที่จัดตั้งขึ้นจึงขาดเสถียรภาพและมีอายุการทำงานเฉลี่ยรัฐบาลละ ๘ เดือนเท่านั้นนอกจากนี้ในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์ความไม่สงบของบ้านเมือง ประธานาธิบดีสามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญออกกฎหมายที่จำเป็นเป็นกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ซึ่งสามารถระงับสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการของพลเมืองได้มาตรา ๔๘ จึงเป็นจุดอ่อนของสาธารณรัฐไวมาร์เพราะเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีใช้เป็นข้ออ้างปกครองด้วยระบอบเผด็จการได้ เอแบร์ทได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐเยอรมัน เขาลงนามประกาศให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๙ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม
ในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ มีการจัดการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ผู้แทนเยอรมันถูกบีบบังคับให้ยอมรับเงื่อนไขอันรุนแรงของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ในชั้นต้นเยอรมนีปฏิเสธโดยอ้างว่าเงื่อนไขของสนธิสัญญาไม่เป็นไปตามข้อตกลงที่เคยกำหนดไว้เพราะไม่ได้ยึดหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวิลสันเป็นแนวทางปฏิบัติ เยอรมนีเรียกร้องให้มีการแก้ไขแต่ล้มเหลวและท้ายที่สุดจำต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ณ ท้องพระโรงห้องกระจก พระราชวังแวร์ซายสถานที่เดียวกันกับครั้งที่บิสมาร์คได้สถาปนาจักรวรรดิเยอรมันขึ้น ไชเดอมันน์นายกรัฐมนตรีต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วยการลาออกและกุสทาฟ เบาเออร์ (Gustav Bauer) เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน เงื่อนไขอันรุนแรงของสนธิสัญญาแวร์ซายทำให้กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาเคลื่อนไหวต่อต้านและวิพากษ์โจมตีรัฐบาลอย่างรุนแรง กองทัพก็เห็นเป็นโอกาสกระพือเรื่อง “การลอบแทงข้างหลัง” (stab-in-the-back) ที่ได้จุดชนวนไว้ในช่วงก่อนการเจรจายุติสงครามโดยเน้นว่านักการเมืองและฝ่ายสังคมนิยมที่กดดันรัฐบาลให้ยอมแพ้เป็นพวกทรยศต่อประเทศชาติ กระแสการต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายจึงขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วเยอรมนีและการเรียกร้องให้แก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซายกลายเป็นประเด็นสำคัญทางการเมืองที่มีส่วนบ่อนทำลายความมั่นคงของสาธารณรัฐไวมาร์ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น
เมื่อรัฐบาลเริ่มดำเนินการลดกำลังอาวุธและควบคุมกำลังทหารให้เหลือทหารประจำการเพียง ๑๐๐,๐๐๐ นาย ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย วอล์ฟกังคัพพ์ (Wolfgang Kapp) สมาชิกสภาไรค์ชตากและเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคปิตุภูมิ (Fatherland Party) จึงร่วมมือกับนายพลวัลเทอร์ ฟอน ลึทท์วิทซ์ (Walter von Lüttwitz) ผู้บัญชาการกองทัพเยอรมันประจำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเอลเบ (Elbe) วางแผนโค่นอำนาจรัฐบาลและนำไปสู่การเกิดกบฏคัพพ์ (Kapp Putsch)* ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ แม้กบฏคัพพ์จะประสบความสำเร็จในการยึดอำนาจแต่ก็บริหารประเทศได้เพียง ๔ วันเท่านั้น เพราะประธานาธิบดีเอแบร์ทและคณะรัฐบาลที่หลบหนีออกจากกรุงเบอร์ลินได้เรียกร้องให้ข้าราชการ ประชาชนและกรรมกรผนึกกำลังต่อต้านฝ่ายกบฏซึ่งส่งผลให้เกิดการนัดหยุดงานทั่วประเทศ และประเทศต่าง ๆก็ปฏิเสธที่จะยอมรับรองสถานภาพของรัฐบาลคัพพ์เมื่อผู้นำฝ่ายกบฏตระหนักว่าพวกเขาไม่มีอำนาจในการปกครองทั้งขาดประสบการณ์ในการบริหาร ทั้งคัพพ์และนายพลลึทท์วิทซ์ก็ถอดใจและพยายามหลบหนีไปสวีเดนแต่ถูกจับได้ กบฏคัพพ์จึงยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายขวา
ในช่วงที่มีการนัดหยุดงานเพื่อต่อต้านฝ่ายกบฏนั้น พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันซึ่งได้รับการสนับสนุนเบื้องหลังจากองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ของสหภาพโซเวียตเห็นเป็นโอกาสก่อการลุกฮือเพื่อยึดอำนาจขึ้นในแคว้นรูร์ (Ruhr) และรวบรวมกำลังคนเกือบ ๕,๐๐๐ คน จัดตั้งเป็นกองทัพแดง (Red Army)* ตามแบบโซเวียตขึ้น ประธานาธิบดีเอแบร์ทจึงขอให้นายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* ผู้บัญชาการกองทัพและกองกำลังอิสระใช้กำลังปราบปราม การลุกฮือในแคว้นรูร์ถูกกวาดล้างภายในเวลาอันรวดเร็ว ส่วนการนัดหยุดงานและลุกฮือในแคว้นแซกโซนีและโดยเฉพาะที่เมืองฮัมบูร์ก (Hamburg) ซึ่งแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* เป็นผู้นำถูกกวาดล้างในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑
ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๙ ถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๒๐ สาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งมีรัฐบาลผสมบริหารประเทศรวม ๓ ชุด ล้มเหลวที่จะควบคุมสถานการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ ทั้งไม่สามารถชำระค่าปฏิกรรมสงครามตามเงื่อนไขที่กำหนดได้รัฐบาลซึ่งดำเนินนโยบายที่เรียกกันว่า “การทำให้บรรลุข้อตกลง” (Fulfillment) โดยการพยายามอย่างเต็มกำลังในการชำระค่าปฏิกรรมสงครามและหากล้มเหลวก็คาดหวังว่าประเทศสัมพันธมิตรจะเข้าใจสถานการณ์และยอมผ่อนปรน จึงหาทางแก้ไขด้วยการพิมพ์ธนบัตรจำนวนมหาศาลซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินมาร์คในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๒๑ คือ ๓๒๐ มาร์คเท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ และในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๒ ลดลงเหลือ ๗,๐๐๐ มาร์คเท่ากับ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน วัลเทอร์ ราเทเนา (Walter Rathenau)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมเยอรมันที่ต้องการฟื้นฟูการค้ากับสหภาพโซเวียตเพื่อช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและนำไปสู่การตกลงร่วมมือกันในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๒๒ แต่ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลโดยเฉพาะกลุ่มการเมืองฝ่ายขวาโจมตีราเทเนาและสนธิสัญญาราปัลโลอย่างหนักเพราะเห็นว่าการทำข้อตกลงกับสหภาพโซเวียตเป็นการทำลายโอกาสที่จะเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการผ่อนชำระหนี้และค่าปฏิกรรมสงคราม หลังการลงนามในสนธิสัญญาราปัลโลได้ ๖ สัปดาห์ ราเทเนาซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำชาวยิวที่ต้องการบ่อนทำลายเยอรมนีและวางแผนร่วมกับชาวยิวนอกประเทศเพื่อยึดครองโลกตามที่กล่าวไว้ในหนังสือพิธีสารของปราชญ์อาวุโสแห่งไซออน (Protocols of the Learned Elders of Zion)* ก็ถูกสมาชิกกลุ่มชาตินิยมขวาจัดลอบสังหารเสียชีวิต ในขณะเดียวกันขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* ก็ก่อตัวและเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในสังคม
ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๒ รัฐบาลเยอรมันซึ่งมีโยเซฟ เวียร์ท (Joseph Wirth) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากพรรคเซนเตอร์เป็นนายกรัฐมนตรี (ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๑–พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒) ขอผ่อนผันเลื่อนเวลาชำระค่าปฏิกรรมสงคราม แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมและข่มขู่จะใช้มาตรการรุนแรงต่อเยอรมนี พรรคเอสพีดีซึ่งไม่พอใจมาก่อนในเรื่องการแก้ปัญหาทางการเมืองของเวียร์ทในรัฐบาวาเรียจึงเห็นเป็นโอกาสถอนตัวออกจากรัฐบาล เวียร์ทจึงลาออกและวิลเฮล์ม คูโน (Wilhelm Cuno) นักการเมืองอิสระและเป็นผู้อำนวยการบริษัทขนส่งทางทะเลได้รับการทาบทามให้จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี (พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๒–สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๒๓) คูโนหาเงินจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามได้เพียง ๒,๐๐๐ ล้านมาร์คเท่านั้นและไม่สามารถส่งถ่านหิน ไม้ และวัสดุอื่น ๆ ให้แก่สัมพันธมิตรได้ตามโควตาที่กำหนด กองทหารฝรั่งเศสและเบลเยียมจึงเคลื่อนกำลังข้ามแม่น้ำไรน์เข้ายึดครองแคว้นรูร์ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ในวันที่ ๑๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ด้วยข้ออ้างว่าเยอรมนีผิดสัญญาและเพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม คูโนประกาศงดชำระค่าปฏิกรรมสงครามและเรียกร้องให้กรรมกรและชาวเยอรมันในแคว้นรูร์เคลื่อนไหวต่อต้านอย่างสงบการยึดครองรูร์ (Rhur Occupation)* ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีเลวร้ายลงมากขึ้น และค่าเงินมาร์คตกต่ำอย่างรวดเร็วจนเกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลแก้ไขปัญหาทางการเงินด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มมากขึ้นแต่กลับทำให้ค่าเงินมาร์คลดลงอย่างรวดเร็ว ๑ ดอลลาร์สหรัฐซึ่งแลกได้ ๑๖๐,๐๐๐ มาร์ค ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ เพิ่มเป็น ๔,๒๐๐ ล้านมาร์คต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นสูงในแต่ละชั่วโมงจนต้องรีบหาซื้อของก่อนที่ราคาจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนต้องขนเงินใส่รถเข็นไปซื้อสินค้าและราคาของรถเข็นก็มีค่ามากกว่าเงินธนบัตรเงินที่ไร้ค่าทำให้ระบบการแลกเปลี่ยนมีความสำคัญขึ้นและการก่อจลาจลเรื่องอาหารเกิดขึ้นทั่วไป
เศรษฐกิจที่ปั่นป่วนดังกล่าวทำให้คูโนไม่สามารถวางแผนการดำเนินงานใด ๆ ได้และการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้คูโนในท้ายที่สุดลาออกกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* ผู้นำพรรคประชาชนเยอรมันซึ่งได้รับการสนับสนุน
ในการบริหารประเทศสมัยที่ ๒ ชเตรเซมันน์ปรับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสและพยายามประนีประนอมกับฝ่ายสัมพันธมิตรในการจะจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เขาควบคุมงบประมาณรายจ่ายและเก็บภาษีเพิ่ม ทั้งแต่งตั้งยัลมาร์ ชัคท์ (Hjalmar Schacht)* นายธนาคารที่มีฝีมือให้แก้ไขปัญหาการเงิน มีการจัดตั้งสถาบันการเงินใหม่ที่เรียกว่าธนาคารเรินเทิน (Rentenbank) และประกาศใช้เงินมาร์คใหม่ที่เรียกว่าเรินเทินมาร์ค โดย ๑ เรินเทินมาร์คมีค่าเท่ากับ ๑ พันล้านมาร์คเก่า เงินมาร์คใหม่ทำให้สามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่งและในระยะยาวเงินมาร์คก็มีเสถียรภาพขึ้น อย่างไรก็ตามนโยบายของชเตรเซมันน์ทำให้กลุ่มการเมืองชาตินิยมไม่พอใจเพราะเห็นว่าเป็นการยอมจำนนต่อฝรั่งเศสกลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายก็เคลื่อนไหวเตรียมการยึดอำนาจในเขตไรน์ลันด์และฝ่ายคอมมิวนิสต์ลุกฮือขึ้นที่แซกโซนีและทูรินเจีย ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers Party; Nazi Party)* ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และมีฐานอำนาจที่เมืองมิวนิกจัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของชเตรเซมันน์และสนธิสัญญาแวร์ซายขึ้นในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากเพราะมวลชนเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมากต่อมาในต้นเดือนกันยายน พรรคนาซีจัดชุมนุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg) ฮิตเลอร์เน้นเรื่อง “การลอบแทงข้างหลัง” และการกล่าวหาของประเทศสัมพันธมิตรว่าด้วย “ความผิดในการก่อสงคราม” (war guilt) ปลุกระดมมวลชนและสมาชิกพรรคหลังการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ครั้งนี้ ฮิตเลอร์วางแผนโค่นอำนาจรัฐบาลที่กรุงเบอร์ลินและนำไปสู่การก่อกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* หรือกบฏเมืองมิวนิก (Munich Putsch)* ระหว่างวันที่ ๘–๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓
แม้กบฏโรงเบียร์จะล้มเหลวเพราะมีการวางแผนงานไม่รัดกุมทั้งไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทั่วไปแต่ชื่อของฮิตเลอร์และพรรคนาซีเริ่มเป็นที่รู้จักและยอมรับกันมากขึ้น ทั้งให้ข้อคิดที่เป็นแนวทางในการยึดอำนาจแก่ฮิตเลอร์ในครั้งต่อไป ฮิตเลอร์ถูกตัดสินจำคุก ๕ ปี พรรคนาซีและหน่วยเอสเอ (SA–Sturmabteilung)* ซึ่งเป็นกองกำลังพรรคนาซีถูกยุบหลังกบฏโรงเบียร์ยุติลงก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลผสมชุดใหม่และวิลเฮล์ม มากซ์ (Wilhelm Marx) จากพรรคเซนเตอร์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนชเตรเซมันน์ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อไป มากซ์ได้เสนอบทกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ต่อสภาไรค์ชตากเพื่อให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการที่จำเป็นในการรักษาความมั่นคงของสาธารณรัฐไวมาร์ ซึ่งสภาไรค์ชตากก็มีมติเห็นชอบมากซ์ยึดแนวทางการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* ของชเตรเซมันน์ในการบริหารประเทศด้วยการยอมรับภาวะความเป็นจริงของปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจและพยายามแก้ไขให้ตรงปัญหาทั้งร่วมมือกับประเทศตะวันตกมากขึ้น ตลอดจนพยายามฟื้นฟูสถานภาพทางการเมืองระหว่างประเทศตามแนวทางที่วางไว้จนทำให้สาธารณรัฐไวมาร์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๙เป็นช่วงที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ชเตรเซมันน์สานต่อนโยบายการทำให้บรรลุข้อตกลงด้วยการเจรจากับฝรั่งเศสและเบลเยียมให้ถอนกำลังจากการยึดครองแคว้นรูร์และการประนอมหนี้ อังกฤษซึ่งมีเจมส์ แรมเซย์ แมกดอนัลด์ (James Ramsay MacDonald)* ผู้นำพรรคแรงงาน (Labour Party)* เป็นนายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนเรื่องการผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเงินกับเยอรมนีเพราะเห็นว่าหากเศรษฐกิจเยอรมนีฟื้นตัวจะมีส่วนทำให้การค้าของอังกฤษและเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมดีขึ้น อังกฤษจึงโน้มน้าวฝรั่งเศสให้ผ่อนปรนการบีบบังคับเรื่องค่าปฏิกรรมสงคราม ซึ่งนำไปสู่การประชุมระหว่างประเทศในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ ทำให้คณะกรรมาธิการดูแลการชำระค่าปฏิกรรมสงครามของฝ่ายสัมพันธมิตร (Inter-Allied Reparation Commission) จัดทำแผนประนอมหนี้ที่เรียกกันว่า แผนดอส์ (Dawes Plan)* ขึ้น โดยลดเงินค่าปฏิกรรมสงครามลงเหลือ ๑๓๒,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำและสหรัฐอเมริกาให้เงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งแก่เยอรมนีเพื่อชำระหนี้แก่อังกฤษและฝรั่งเศส ขณะเดียวกันฝรั่งเศสและเบลเยียมยอมตกลงจะถอนทหารออกจากภูมิภาครูร์ภายใน ค.ศ. ๑๙๒๕
ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ ประธานาธิบดีเอแบร์ทในวัย ๕๔ ปี ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบและปฏิเสธที่จะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลถึงแก่อสัญกรรมลงอสัญกรรมของเอแบร์ททำให้สภาไรค์ชตากต้องกำหนดการเลือกประธานาธิบดีขึ้นในวันที่ ๒๙ มีนาคม ซึ่งมีผู้สมัครแข่งขันรวม ๗ คน ในรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากเป็นเอกฉันท์และในการแข่งขันรอบที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน จอมพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* วีรบุรุษแห่งยุทธการที่ทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg)* ในวัย ๗๘ ปีลงแข่งขันกับมากซ์และเทลมันน์ ฮินเดนบูร์กได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ของสาธารณรัฐไวมาร์ แม้ฮินเดนบูร์กจะสนับสนุนระบอบกษัตริย์และไม่นิยมระบอบสาธารณรัฐแต่เมื่อเขาดำรงตำแหน่งเขาก็ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไวมาร์อย่างเคร่งครัดซึ่งทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมผิดหวังที่เขาไม่ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์กลับคืนหรือปกครองแบบอำนาจนิยมทหาร ฮินเดนบูร์กทำให้ระบอบสาธารณรัฐมั่นคงและเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น เขาแต่งตั้งฮันส์ ลูเทอร์ (Hans Luther) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งเป็นนักการเมืองอิสระเป็นนายกรัฐมนตรี (มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๕–พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๒๖)
หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี ชเตรเซมันน์พยายามผลักดันเรื่องการจัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศส และเพื่อให้เยอรมนีมีสถานภาพเป็นที่ยอมรับในวงการทูตระหว่างประเทศ เซอร์ออสเตน เชมเบอร์เลน (Austen Chamberlain)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษซึ่งสนับสนุนแนวความคิดเรื่องการจัดประชุมจึงโน้มน้าวอารีสตีด บรียอง (Aristide Briand)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสให้เห็นด้วย และนำไปสู่การจัดประชุมที่เมืองโลคาร์โน (Locarno) สวิตเซอร์แลนด์ระหว่างวันที่ ๕–๑๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ ผลสำคัญของการประชุมคือ มีการลงนามข้อตกลงในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* หรือกติกาสัญญาโลคาร์โน (Pact of Locarno) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนระหว่างประเทศตามที่สนธิสัญญาแวร์ซายกำหนดไว้รวม ๗ ฉบับ และเปิดทางให้เยอรมนีได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ทั้งเสริมสร้างสันติภาพในยุโรปและทำให้สัมพันธภาพระหว่างเยอรมนีกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพัฒนาดีขึ้น อีก ๒ ปีต่อมา เยอรมนียังลงนามในกติกาสัญญาเคลล็อกก์-บรียอง (Kellogg-Briand Pact)* ค.ศ. ๑๙๒๘ ซึ่งต่อต้านการใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ในช่วงเวลาที่ปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศเริ่มคลี่คลายลง ฮิตเลอร์ซึ่งพ้นโทษก่อนกำหนดเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ ก็คิดจัดตั้งพรรคนาซีขึ้นใหม่โดยรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ผู้นำและมีกลไกการบริหารที่มีประสิทธิภาพ ในช่วงเตรียมการจัดตั้งพรรคขึ้นนั้น ฮิตเลอร์ใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* เล่ม ๒ ขึ้น โดยเล่มแรกเขาเขียนขึ้นระหว่างที่ถูกจำคุกโดยมีรูดอล์ฟ เฮสส์ (Rudolf Hess)* ปัญญาชนจากมหาวิทยาลัยมิวนิกที่ชื่นชมฮิตเลอร์เป็นผู้เรียบเรียง หนังสือพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๕ ส่วนเล่ม ๒ ซึ่งเขียนเสร็จใน ค.ศ. ๑๙๒๖ พิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกันในกลาง ค.ศ. ๑๙๒๗ พรรคนาซีก็จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ฮิตเลอร์ยังจัดตั้งหน่วยเอสเอขึ้นใหม่และติดต่อแอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* คนสนิทซึ่งไปทำงานเป็นครูฝึกทหารในโบลิเวียให้กลับมาควบคุมหน่วยเอสเอ ขณะเดียวกันเขายังตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยประจำตัวที่เรียกว่าหน่วยเอสเอส (SS–Schutzstaffel)* ขึ้น โดยให้อยู่ใต้การควบคุมของเอสเอและแต่งตั้งไฮน์ริช ฮิมเลอร์ (Heinrich Himmler)* รองหัวหน้าฝ่ายโฆษณาพรรคนาซีเป็นหัวหน้าหน่วยเอสเอส ในการสร้างฐานอำนาจพรรคนาซีให้เข้มแข็ง ฮิตเลอร์ให้โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbles)* บรรณาธิการวารสารและสิ่งพิมพ์พรรคทำหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์พรรคนาซีให้เป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาชน รวมทั้งการเรียกฮิตเลอร์ว่าฟือเรอร์ (Führer)* และการสร้างภาพลักษณ์หลากหลายของฮิตเลอร์ให้ประชาชนได้เห็นและยอมรับว่าเขาคือผู้นำเพียงคนเดียวที่จะช่วยนำพาชาติเยอรมันไปสู่ความยิ่งใหญ่ อย่างไรก็ตาม ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔–๑๙๒๘ พรรคนาซียังมีบทบาทไม่มากนักและสมาชิกพรรคนาซีก็ได้รับเลือกเข้าสู่สภาไรค์ชตากเป็นจำนวนน้อย
ความมีเสถียรภาพของสาธารณรัฐไวมาร์ทำให้ผู้คนจำนวนมากโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับค่านิยมแบบเก่าและศิลปวัฒนธรรมแบบจารีตต่างคิดหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนรูปโฉมของสังคมให้ทันสมัยสอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิทยาการของสังคมอุตสาหกรรมใหม่ศิลปะและสิ่งบันเทิงใหม่ ๆ ที่ไม่ยึดติดกับกรอบประเพณีและไม่เคร่งครัดในเรื่องของคุณค่าและความเหมาะสมจึงเกิดขึ้นและขยายตัวเป็นศิลปะแบบกลุ่มล้ำยุค ช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ จึงได้ชื่อว่าเป็นช่วงการฟื้นฟูของศิลปวัฒนธรรมเยอรมันหรือศิลปวัฒนธรรมไวมาร์ที่เน้นเรื่องความทันสมัย การมองโลกในแง่ดีการแสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างอิสระ และการใช้ชีวิตอย่างสำเริงสำราญและสุดเหวี่ยง วัฒนธรรมแบบอเมริกันไม่ว่าจะเป็นการเต้นรำและดนตรีแจ๊ส การแต่งกายอย่างเสรี และความสัมพันธ์ทางเพศที่เป็นอิสระ รวมถึงภาพยนตร์ฮอลลีวูดและอื่น ๆ ก็มีส่วนทำให้กรุงเบอร์ลินกลายเป็นต้นแบบของการปฏิวัติทางศิลปวัฒนธรรมของยุโรปจนได้ชื่อว่าเป็น “อู่ของความทันสมัย” (cradle of modernity) ผู้หญิงรุ่นใหม่ต่างแต่งหน้าทาปาก ไว้ผมสั้น สูบบุหรี่ และแต่งตัวหรูด้วยสไตล์ใหม่ ๆ ที่ยั่วยวนแต่ก็เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน นอกจากนี้สถาบันเบาเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการออกแบบและการสร้างงานสถาปัตยกรรมที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ความงามที่เรียบง่าย และความทันสมัย ก็เป็นสถาบันศิลปะสมัยใหม่ที่ทำให้สาธารณรัฐไวมาร์มีชื่อเสียงด้านเทคนิคและความคิดใหม่ ๆ ที่ทันสมัย
งานด้านศิลปะที่โดดเด่นอีกด้านหนึ่งของวัฒนธรรมไวมาร์คือการละคร ละครสมัยใหม่จะเล่นกันตามโรงละครข้างถนนที่มีฉากและองค์ประกอบเป็นคาบาเรต์และวงดนตรีแจ๊ส ทั้งเน้นเทคนิคและการแสดงที่ทำให้ผู้ชมได้คิดและตีความเนื้อหาการแสดงจนทำให้โรงละครแบบเก่าที่เป็นการแสดงออกทางกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชนชั้นสูง และเป็นสถานที่ประชันโฉมของสุภาพสตรีชั้นสูงหมดบทบาทและความสำคัญลง นักเขียนบทละครที่มีชื่อเสียง เช่น แบร์ทอลท์ เบรชท์ (Bertolt Brecht) และแอร์วิน พิสคาทอร์ (Erwin Piscator) ได้นำเสนอเทคนิคใหม่ในการแสดงและรูปแบบของละครแนวมหากาพย์ (epic) หรือละครแนวสั่งสอนเพื่อให้ความรู้และชี้นำความคิดแก่ผู้ชม ในส่วนของงานวรรณกรรมก็มีงานประพันธ์หลากหลายแนว และโดยทั่วไปเป็นงานเขียนที่สื่อความคิดของผู้เขียนในการค้นหา “ความหมายของความไร้ความหมาย” งานประพันธ์เรื่องสำคัญในสมัยไวมาร์คือ The Magic Mountain ของโทมัส มันน์ (Thomas Mann) ซึ่งมีเนื้อหาสะท้อนภาพสังคมอันเสื่อมโทรมก่อนเกิดสงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๔ และสาเหตุที่นำไปสู่สงครามรวมทั้งการสอดแทรกอัตชีวประวัติของผู้ประพันธ์ All Quiet on the Western Front ของเอริช มารีอา เรอมาร์ก (Erich Maria Remarque) ซึ่งสะท้อนความไร้สาระของสงครามและการสังหารผลาญชีวิตอย่างไร้ค่า ในเวลาต่อมานวนิยายต่อต้านสงครามเรื่องนี้ถูกฮิตเลอร์สั่งทำลายและให้จับกุมเรอมาร์กมาลงโทษ แต่เขาหลบหนีออกนอกประเทศได้ นอกจากนี้ภาพยนตร์ก็เป็นรูปแบบใหม่ของการบันเทิงที่นิยมกันมาก และการไปชมภาพยนตร์กลายเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรมและส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตและขยายตัวอย่างมากจนสมัยไวมาร์ได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของภาพยนตร์เยอรมัน
วัฒนธรรมไวมาร์เกิดขึ้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการขับเคลื่อนทางศิลปะไปสู่แนวสมัยใหม่ และทำให้ช่วงทศวรรษ ๑๙๒๐ เป็นยุคทองของไวมาร์ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ไม่เป็นที่ยอมรับของพวกอนุรักษนิยมและกลุ่มปฏิกิริยาขวาจัดที่เห็นว่า ความทันสมัยคือการทำลายคุณค่าและขนบแบบแผนที่ดีงามของความเป็นเยอรมัน เยอรมนีกำลังถูกกลืนให้เป็นแบบอเมริกันซึ่งทำให้วัฒนธรรมเยอรมันเดิมเสื่อมสลาย กระแสการต่อต้านวัฒนธรรมไวมาร์จึงก่อตัวขึ้นและพรรคนาซีได้จัดตั้งสันนิบาตการต่อสู้เพื่อวัฒนธรรมเยอรมัน (League of the Fight for German Culture) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เพื่อรณรงค์ให้รักษาและสงวนไว้ซึ่งความเป็นเยอรมัน ฮิตเลอร์กล่าวประณามวัฒนธรรมไวมาร์ว่าเป็นวัฒนธรรมขยะที่ต้องถูกทำลาย
ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๙ เยอรมนีเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและอัตราการว่างงานสูงขึ้น ทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามรายปีเป็นเงินสดตามที่กำหนดไว้ในแผนดอส์ได้ คณะกรรมาธิการค่าปฏิกรรมสงครามซึ่งมีโอเวน ดี. ยัง (Owen D. Young) นักการเงินชาวอเมริกันเป็นประธานจึงจัดการประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและนำไปสู่การจัดทำแผนยัง (Young Plan)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยกำหนดให้เยอรมนีจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเฉลี่ยปีละ ๒ ล้านมาร์คทองคำเป็นเวลา ๕๙ ปี รวมเป็นเงิน ๑๒๑,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำ ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ ต้องจ่ายเพิ่มจาก ๑.๗ ล้านมาร์คเป็น ๒.๔ ล้านมาร์คจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๖ และหลังจากนั้นก็ลดจำนวนการชำระประจำปีลงตามลำดับจนถึง ค.ศ. ๑๙๗๑ แผนยังได้ทำให้เยอรมนีผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเงินได้
เมื่อเกิดความหายนะของตลาดหุ้นที่นครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ เศรษฐกิจโลกก็ปั่นป่วน การล้มของตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาที่เป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้นำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* และมีผลกระทบอย่างมากต่อเยอรมนีซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา การเรียกคืนเงินกู้ของสหรัฐอเมริกาทำให้เยอรมนีเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและไม่สามารถชำระหนี้ได้จนต้องประกาศพักชำระหนี้จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก ๑๓๒,๐๐๐ คนในต้น ค.ศ. ๑๙๒๙ เพิ่มเป็น ๓.๕ ล้านคนในปีเดียวกัน และในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๓๑ เพิ่มเป็น ๔.๘ ล้านคน และ ๘.๕ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๓๒ ชนชั้นกลางและนักธุรกิจอุตสาหกรรมต่างวิพากษ์โจมตีรัฐบาลและสนธิสัญญาแวร์ซายทั้งเริ่มหันมาสนับสนุนพรรคนาซี แฮร์มันน์ มึลเลอร์ (Hermann Müller)* ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งเผชิญปัญหาความแตกแยกในคณะรัฐบาลเนื่องจากพรรคการเมืองที่ร่วมในรัฐบาลผสมมักคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าส่วนรวมและคอยคานอำนาจกันและกัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานได้ มึลเลอร์ซึ่งถูกฝ่ายสังคมนิยมหัวรุนแรงในสภาไรค์ชตากโจมตีนโยบายการตัดทอนงบประมาณและสวัสดิการสังคมจึงลาออก ไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* หัวหน้าพรรคเซนเตอร์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการเงินได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๐ บรือนิงประกาศนโยบายใช้มาตรการรัดเข็มขัดและจัดทำงบประมาณสมดุล ทั้งขอให้ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กประกาศใช้กฤษฎีกาฉุกเฉินเพื่อปกครองประเทศตามอำนาจมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญสภาไรค์ชตากต่อต้านการใช้กฤษฎีกาฉุกเฉินและลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลซึ่งมีชัยชนะอย่างเฉียดฉิว บรือนิงจึงขอให้ประธานาธิบดียุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่
ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคนาซีซึ่งหาเสียงด้วยการโจมตีนโยบายเศรษฐกิจที่ล้มเหลวและการเล่นพรรคเล่นพวกของคณะรัฐบาลชุดต่าง ๆ ทั้งชูนโยบายเน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและโจมตีสนธิสัญญาแวร์ซายได้รับเลือกเข้าสู่สภามากที่สุดโดยได้ ๑๐๗ ที่นั่งเป็นอันดับ ๒ รองจากพรรคเอสพีดี บรือนิงกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และเขาพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยมาตรการควบคุมงบประมาณและราคาสินค้า ลดเงินเดือนข้าราชการและกำหนดค่าแรงงานทุกระดับไว้เท่ากับ ค.ศ. ๑๙๒๗ แม้มาตรการดังกล่าวจะได้ผลพอควรแต่ประชาชนก็ต่อต้านมากและจัดการชุมนุมประท้วงเกือบทุกวันบรือนิงได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่นิยมชมชอบมากที่สุด ในกลางเดือน มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีฮิตเลอร์ซึ่งหายโศกเศร้าจากการเสียชีวิตของหลานสาวที่เขารักมากและเพิ่งได้รับสัญชาติเยอรมันจึงลงสมัครแข่งขันกับอดีตประธานาธิบดีฮินเดนบูร์ก เทลมันน์ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ และทีโอดอร์ ดึสเทอร์แบร์ก (Theodor Düsterberg) ผู้นำพรรคชาติเยอรมัน ไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมากที่สุด และดึสเทอร์แบร์กได้เสียงน้อยที่สุดซึ่งทำให้มีการแข่งขันรอบที่ ๒ ในวันที่ ๑๐ เมษายน ระหว่างฮินเดนบูร์กฮิตเลอร์และเทลมันน์ฮินเดนบูร์กในวัย ๘๔ ปีมีชัยชนะ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่นานนักฮินเดนบูร์กซึ่งมีปัญหาขัดแย้งกับบรือนิงเกี่ยวกับนโยบายปฏิรูปที่ดินก็บีบบังคับให้บรือนิงลาออกและฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* คาทอลิกหัวเก่าได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม พาเพินบริหารประเทศได้เพียง ๓ วันก็ถูกต่อต้านอย่างมากเพราะนโยบายบริหารที่คลุมเครือของเขาไม่เป็นที่ยอมรับของสภาไรค์ชตากเขาจึงยุบสภาและกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ ในการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคนาซีได้เสียงมากที่สุด ๒๓๐ ที่นั่งฮิตเลอร์คาดหวังว่าเขาจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ฮินเดนบูร์กต้องการให้เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลผสมที่พาเพินเป็นนายกรัฐมนตรี ฮิตเลอร์ปฏิเสธและเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล พรรคนาซีได้จัดตั้งหน่วยข่าวกรองขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลทุกด้านของศัตรูทางการเมืองและสมาชิกพรรค หน่วยข่าวกรองดังกล่าวเรียกชื่อว่าหน่วยงานความมั่นคงเอสเอสหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเอสดี (SD–Sicherheitsdienst)* โดยมีไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* คนสนิทของฮิมเลอร์เป็นหัวหน้า นอกจากนี้แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* แกนนำพรรคนาซีซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานสภาไรค์ชตากก็ใช้ตำแหน่งให้เป็นประโยชน์ด้วยการสร้างสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองฝ่ายขวาอื่น ๆ ให้ร่วมมือกับพรรคนาซี รัฐบาลซึ่งไม่สามารถควบคุมสภาได้จึงบริหารประเทศไม่ราบรื่นและในท้ายที่สุดก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจจนต้องยุบสภา
ในการเลือกตั้งครั้งที่ ๒ ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคนาซีได้เสียงน้อยลงโดยได้ที่นั่ง ๑๙๖ ที่นั่ง พรรคคอมมิวนิสต์ได้เสียงมากขึ้นซึ่งทำให้ลำพองใจและเริ่มเคลื่อนไหวปฏิวัติทุกรูปแบบที่จะโค่นรัฐบาล การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์ทำให้พรรคนาซีเห็นเป็นโอกาสปลุกระดมชนชั้นกลางให้ตระหนักว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกนอกจากต้องสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคนาซี ปัญหาทางการเมืองดังกล่าวทำให้คูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเสนอตนเองให้ฮินเดนบูร์กพิจารณาในการจะแก้ไขปัญหาทางการเมือง ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงปลดพาเพิน และแต่งตั้งชไลเชอร์เป็นนายกรัฐมนตรีในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ แม้ชไลเชอร์จะเป็นนักฉวยโอกาสที่มีเล่ห์เหลี่ยม แต่เขาก็มีหลักการและวิสัยทัศน์ เขาพยายามสกัดกั้นฮิตเลอร์และพรรคนาซีด้วยการจัดตั้งรัฐบาลผสมเสียงข้างมาก แต่พรรคเอสพีดีและพรรคชาติเยอรมันก็ปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วย ความล้มเหลวของชไลเชอร์ที่จะตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากจึงเปิดโอกาสให้พาเพินซึ่งต้องการกลับสู่อำนาจอีกครั้งหนึ่งวางแผนยึดอำนาจ พาเพินจึงให้โยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* นักธุรกิจที่เขาสนิทสนมด้วยประสานการติดต่อกับพรรคนาซีซึ่งนำไปสู่การเจรจาตกลงลับหลายครั้งระหว่างพาเพินกับฮิตเลอร์ที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ขณะเดียวกันพาเพินก็ปล่อยข่าวลือว่าชไลเชอร์วางแผนจะจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการทหาร เขาเสนอแผนการทำงานของรัฐบาลพาเพิน-ฮิตเลอร์ให้ฮินเดนบูร์กพิจารณาและให้สัญญากับฮินเดนบูร์กว่าเขาจะควบคุมฮิตเลอร์ให้อยู่ในแนวทางที่วางไว้
ข่าวลือเรื่องรัฐประหารและข้อเสนอของพาเพินทำให้ฮินเดนบูร์กยอมปลดชไลเชอร์และยอมรับการจัดตั้งรัฐบาลพาเพิน-ฮิตเลอร์ในเย็นวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ข่าวการแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีก็แพร่ไปทั่วประเทศ การแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งฝ่ายนาซีเรียกว่า “การยึดอำนาจ” และเป็น “การปฏิวัติชาติ” จึงเป็นการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยเยอรมันและนำไปสู่การสถาปนาอำนาจเผด็จการของพรรคนาซีในเยอรมนี ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงกล่าวในเวลาต่อมาว่าการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์คือการฆ่าตัวตายของสาธารณรัฐไวมาร์ และนำมาซึ่งความหายนะของระบอบประชาธิปไตยเยอรมันทั้งโลกกำลังจะกลายเป็นเรือนจำใหญ่ และเยอรมนีคือคุกที่เลวร้ายที่สุด
หลังฮิตเลอร์ขึ้นสู่อำนาจทางการเมือง เขาปฏิเสธที่จะร่วมมือกับพรรคเซนเตอร์เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากและโน้มน้าวพาเพินและคณะรัฐมนตรีให้ยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์และกำหนดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ ๕ มีนาคม ในช่วงการเตรียมการเลือกตั้งมีการลอบวางเพลิงตึกรัฐสภาระหว่างคืนวันที่ ๒๗–๒๘ กุมภาพันธ์จนพินาศเหตุการณ์การเผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* เปิดโอกาสให้พรรคนาซีดำเนินการกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการลอบวางเพลิงและการวางแผนก่อการลุกฮือ ฮิตเลอร์โน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งหวาดกลัวการปฏิวัติของพวกคอมมิวนิสต์ให้ลงนามในกฤษฎีกาเพื่อพิทักษ์ประชาชนและรัฐ (Decree for the Protection of the People and the State) เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ซึ่งล้มเลิกสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และกลายเป็นเครื่องมือของพรรคนาซีในการกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและการวางฐานอำนาจของตนให้เข้มแข็ง ฮิตเลอร์ยังให้สร้างค่ายกักกัน (Concentration Camp)* แห่งแรกขึ้นที่ดาเคา (Dachau) เพื่อกักขังศัตรูของพรรคนาซี และต่อมาก็จัดตั้งหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* ขึ้นเพื่อคอยควบคุมการเคลื่อนไหวทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งก็สร้างความผิดหวังอย่างมากแก่พรรคนาซีเพราะได้ที่นั่งในสภาไรค์ชตากเพียง ๒๘๘ ที่นั่งจาก ๖๔๗ ที่นั่งซึ่งน้อยกว่าที่คาดหวังไว้ฮิตเลอร์จึงวางแผนที่จะล้มล้างรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้พรรคนาซีมีอำนาจเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว สามวันหลังการเปิดสมัยประชุมสภาไรค์ชตาก ฮิตเลอร์เสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลต้องการมีอำนาจเต็มเป็นเวลา ๔ ปีเพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศและเพื่อบริหารประเทศให้ราบรื่น พรรคนาซีให้หน่วยเอสเอติดอาวุธปิดล้อมห้องประชุมไว้และในห้องประชุมก็มีหน่วยเอสเอสคอยควบคุมการประชุม สมาชิกสภาไรค์ชตากส่วนใหญ่ซึ่งถูกบีบบังคับจึงจำยอมลงมติสนับสนุนร่างกฎหมายที่ให้อำนาจด้วยคะแนน ๔๔๔ ต่อ ๙๔ ซึ่งสมาชิกสภาที่คัดค้านสังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันกฎหมายที่ให้อำนาจจึงทำให้ฮิตเลอร์มีอำนาจเด็ดขาดและไม่ต้องขึ้นต่อประธานาธิบดีและสภาไรค์ชตากทั้งเป็นผู้นำเผด็จการที่ชอบธรรมตามกฎหมายและวิถีประชาธิปไตย ตลอดจนบริหารปกครองประเทศได้อย่างอิสระ
ในปลายเดือนมีนาคมฮิตเลอร์เสนอร่างกฎหมายว่าด้วยไกลช์ชาลทุง (Gleichschaltung)* เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ และเพื่อควบคุมองค์กรทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม ทั้งประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญไวมาร์ดังนั้นแม้สาธารณรัฐไวมาร์และรัฐธรรมนูญไวมาร์โดยนิตินัยจะยังคงดำรงอยู่จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๕ แต่การปกครองของฮิตเลอร์ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ ที่เพิกเฉยรัฐธรรมนูญก็ทำให้ยอมรับกันทั่วไปว่าสาธารณรัฐไวมาร์ได้สิ้นสุดลงโดยพฤตินัยตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๓ และจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ได้ก่อตัวขึ้นในปีเดียวกันนั้น.