Wannsee Conference (1942)

การประชุมที่วันน์เซ (พ.ศ. ๒๔๘๕)

การประชุมที่วันน์เซเป็นการประชุมใหญ่ของเจ้าหน้าที่และแกนนำระดับสูงรวม ๑๕ คน ของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ณ คฤหาสน์ชานกรุงเบอร์ลินบริเวณทะเลสาบโกรสเซอร์วันน์เซ (Grosser Wannsee) เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ เป็นการประชุมที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของนโยบายนาซีที่มีต่อพวกยิว เพราะมีการยกเลิกแผนมาดากัสการ์ (Madagascar Plan) หรือโครงการจัดตั้งถิ่นฐานชาวยิวที่เกาะมาดากัสการ์ในทวีปแอฟริกา ไรน์ฮาร์ด ไฮดริช (Reinhard Heydrich)* หัวหน้าหน่วยเอสดี (SD)* หรือหน่วยงานความมั่นคงเอสเอส (SS Security Service) และผู้อำนวยการสำนักงานกลางความมั่นคงแห่งไรค์ (Central Security Office of the Reich–RSHA) ซึ่งเป็นประธานการประชุมต้องการซักซ้อมความเข้าใจร่วมกันกับหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ตลอดจนกำหนดแนวทางการดำเนินงานและการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐให้เป็นเอกภาพ ซึ่งรวมทั้งกรมทางรถไฟ กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานการตั้งถิ่นฐานใหม่และเชื้อชาติ (Race and Resettlement Office) แม้การประชุมครั้งนี้จะไม่สรุปชัดเจนถึงการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* ทั่วยุโรป แต่หลังการประชุมเพียงไม่กี่เดือน มีการสร้างห้องรมแก๊สห้องแรกขึ้น ณค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่เมืองเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) และเทรบลิงกา (Treblinka)

 การประชุมที่วันน์เซเป็นผลสืบเนื่องจากสถานการณ์สงครามที่เปลี่ยนแปลงในแนวรบด้านตะวันออก ความล้มเหลวของกองทัพเยอรมันในการบุกกรุงมอสโกทำให้เยอรมนีเริ่มถอนกำลังออกจากแนวรบมอสโกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ และปรับแผนรบด้วยการบุกเข้าไปในคอเคซัส (Caucasus) เพื่อการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* และรุกต่อไปยังเมืองสตาลินกราดซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ เยอรมนีตระหนักว่าการรบที่ยืดเยื้อจะส่งผลต่อการขาดแคลนเสบียงอาหารที่ไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูกองทัพและพลเมืองในดินแดนที่ยึดครอง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ยังเห็นว่าโครงการอพยพชาวยิวในยุโรปไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เกาะมาดากัสการ์จะไม่บรรลุผลเพราะมีค่าใช้จ่ายในการอพยพสูง เยอรมนีคิดเรื่องแผนมาดากัสการ์มาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยจะบังคับชาวเยอรมันเชื้อสายยิวให้อพยพออกจากเยอรมนีรวมกับชาวยิวในดินแดนที่เยอรมนียึดครองไปตั้งรกรากที่นั่น หลังเยอรมนีมีชัยชนะต่อฝรั่งเศสในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ค.ศ. ๑๙๔๐ จึงได้นำแผนมาดากัสการ์มาพิจารณาอีกครั้งมาดากัสการ์เป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อนและเป็นเกาะขนาดใหญ่อันดับ ๔ ของโลกซึ่งมีเนื้อที่ ๕๔๗,๐๐๔ ตารางกิโลเมตร เยอรมนีกำหนดใช้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตสงวนสำหรับชาวยิวโดยให้ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* หัวหน้าหน่วยเอสเอส (SS–Shutztaffel)* รับผิดชอบโครงการโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ช่วยประสานงานกับฝรั่งเศสและอิตาลีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเกาะมาดากัสการ์ จนได้ข้อสรุปว่าแม้มาดากัสการ์จะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ามากพอและไม่เหมาะกับการสร้างฐานทัพเรือบนเกาะ แต่ก็เหมาะกับการจัดตั้งอาณานิคม เพราะมีพื้นที่กว้างใหญ่และสามารถทำเกษตรกรรมได้

 อย่างไรก็ตาม ในการอพยพชาวยิวไปยังเกาะมาดากัสการ์นั้น ประมาณกันว่าต้องใช้เรือจำนวน ๑๒๐ ลำ ต่อปีในการบรรทุกชาวยิว ๑ ล้านคนไปที่เกาะและใช้เวลาเกือบ ๕ ปีในการอพยพชาวยิวทั่วยุโรปได้หมดซึ่งไม่คุ้มค่า อังกฤษซึ่งครองอิทธิพลในน่านน้ำก็ยังควบคุมเส้นทางการเดินเรือซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการอพยพ นอกจากนี้ ปัญหาการไม่ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของพรรคนาซีในการอพยพและการกวาดล้าง ตลอดจนการส่งไปเป็นแรงงานและอื่น ๆ ทำให้นโยบายการแก้ปัญหาชาวยิวไม่ชัดเจนในช่วงที่เยอรมนีเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เยอรมนีคิดจะใช้ดินแดนทางตะวันออกเป็นที่เนรเทศพวกยิวแทนเกาะมาดากัสการ์รวมทั้งการกวาดล้างยิวด้วย หน่วยสังหารพิเศษเอสเอส (Special Killing Squads of The SS) ซึ่งติดตามกองทัพเยอรมันเข้าไปในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออกจึงเริ่มเข่นฆ่าชาวยิวจนกลายเป็นเรื่องปรกติฮิตเลอร์เห็นว่าการกำจัดชาวยิวแทนการอพยพน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมเพราะพวกยิวไร้ค่า เป็นพวกอมนุษย์ (sub-human) หรือหนูโสโครกที่ต้องกำจัดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ฮิตเลอร์มีคำสั่งให้ยกเลิกเรื่องการอพยพและเห็นควรให้หาวิธีกำจัดชาวยิวแทนแผนมาดากัสการ์ ฮิมเลอร์และแฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* จอมพลแห่งจักรวรรดิไรค์ได้นำความคิดเห็นของฟือเรอร์ (Führer)* ไปปฏิบัติเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย

 เกอริงได้มีคำสั่งให้ไฮดริชเตรียมการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จำเป็นเพื่อกำหนดมาตรการสุดท้ายในการแก้ปัญหายิวในดินแดนที่เยอรมนียึดครองทั้งหมดและให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งหมดของรัฐที่ต้องการให้ดำเนินการเพื่อนำเสนอ “ร่างความเข้าใจรวบยอด” (comprehensive draft) ของแผนงานในการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย ไฮดริชจึงส่งจดหมายเชิญไปยังสมาชิกพรรคนาซีระดับสูงในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อประชุมกันในวันที่ ๘ ธันวาคม ที่ศูนย์บัญชาการคณะกรรมาธิการตำรวจอาชญากรสากล (International Criminal Police Commission) ณ คฤหาสน์ชานกรุงเบอร์ลินทางตะวันตกซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณทะเลสาบโกรสเซอร์วันน์เซทั้งแนบสำเนาคำสั่งของเกอริงที่ให้อำนาจเขาดำเนินการต่าง ๆ ไปด้วย ผู้จะเข้าร่วมประชุมมีทั้งหมด ๑๕ คน ซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตด้านกฎหมาย ประกอบด้วยแกนนำพรรคนาซีและผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ เช่น คาร์ล อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Karl Adolf Eichmann)* หัวหน้าโครงการกิจการยิวและการอพยพชาวยิว (Jewish Affairs and Evacuation) ของหน่วยงานที่ ๔ บี ๔ (section IV B4) ของเกสตาโป (Gestapo)* ออทโท ฮอฟฟ์มันน์ (Otto Hoffmann) หัวหน้าสำนักงานกลางเชื้อชาติและการตั้งถิ่นฐานเอสเอส (SS Race and Settlement Main Office) ดร.อัลเฟรด เมเยอร์ (Alfred Meyer) รัฐมนตรีแห่งไรค์ของดินแดนตะวันออกที่ยึดครอง (Reich Minister for the Occupied Eastern Territories) และมาร์ติน ลูเทอร์ (Martin Luther) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศเป็นต้น วัตถุประสงค์สำคัญของการประชุมคือ การกำหนดแผนการดำเนินงานและแนวทางการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐให้เป็นเอกภาพรวมทั้งการซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย ตลอดจนเน้นอำนาจการสั่งการและควบคุมนโยบายเรื่องยิวของสำนักงานกลางความมั่นคงแห่งไรค์ต่อหน่วยงานหลักต่าง ๆ ของจักรวรรดิไรค์เพื่อให้สนับสนุน ช่วยเหลือ และร่วมรับผิดชอบในการผลักดันการแก้ปัญหายิวครั้งสุดท้ายให้บรรลุผล

 อย่างไรก็ตาม การประชุมที่กำหนดไว้ในวันที่ ๘ ธันวาคม ถูกเลื่อนออกไปอย่างกะทันหัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในวันที่ ๕ ธันวาคม กองทัพโซเวียตเริ่มตั้งรับการบุกของเยอรมนีในยุทธการที่มอสโก (Battle of Moscow)* ไว้ได้ และอีก ๒ วันต่อมา ญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นและอิตาลีในกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact)* ต้องเตรียมการประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๑๑ ธันวาคม และหลายคนที่จะไปประชุมที่วันน์เซไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมได้ ไฮดริชจึงเลื่อนการประชุมไปเป็นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ฮิตเลอร์เรียกประชุมแกนนำนาซีระดับสูงอย่างไม่เป็นทางการที่บ้านพักในกรุงเบอร์ลินเพื่อหารือสถานการณ์สงครามและปัญหายิว โยเซฟ เกิบเบิลส์ (Joseph Goebbels)* รัฐมนตรีแห่งไรค์ว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณชนและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Reich Ministry for Public Enlightenment and Propaganda) ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วย บันทึกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับปัญหายิวฮิตเลอร์เห็นว่ายิวเป็นต้นเหตุของสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ และการกำจัดยิวไม่เพียงป้องกันสงครามครั้งใหม่เท่านั้นแต่ยังทำให้ชาวเยอรมันกว่า ๑๖๐,๐๐๐ คน ที่เสียชีวิตในแนวรบด้านตะวันออกไม่ตายไปอย่างสูญเปล่า จักรวรรดิไรค์จำเป็นต้องกำจัดยิวภายใน “ฤดูใบไม้ผลิหน้า” และต้องดำเนินการก่อนสงครามจะสิ้นสุดลง ความเห็นของฮิตเลอร์ทำให้การประชุมที่ไฮดริชจะจัดขึ้นมีเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น ในวันที่ ๑๒ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ไฮดริชพบกับเกอริงเป็นการส่วนตัวเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำจัดยิว และหลังการหารือครั้งนี้ เขาออกจดหมายเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีการเปลี่ยนตัวจากผู้แทนชุดเดิมไม่กี่คนให้มาประชุมกันที่วันน์เซ ในช่วงเช้าของวันที่ ๒๐ มกราคมและระบุว่า “มีอาหารกลางวัน” เลี้ยงด้วย

 ในการประชุมครั้งนี้ ไอช์มันน์ได้จัดทำร่างเอกสารประมาณการจำนวนยิวทั้งหมดในยุโรปโดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือกลุ่ม “เอ” เป็นประเทศที่อยู่ใต้การยึดครองของเยอรมนีซึ่งรวมทั้งฝรั่งเศสด้วย กลุ่ม “บี” คือประเทศฝ่ายพันธมิตร ประเทศที่ดำเนินนโยบายเป็นกลางและที่ทำสงครามกับเยอรมนี รวมทั้งบางประเทศที่ถือได้ว่า “ปลอดยิว” คือเอสโตเนีย ไฮดริชได้ใช้ร่างเอกสารดังกล่าวเปิดประเด็นการประชุมโดยบรรยายนำเกือบ ๑ ชั่วโมง เนื้อหาแบ่งเป็น ๓ หัวข้อใหญ่หัวข้อแรกบอกเล่าความเป็นมาของคณะกรรมาธิการที่เกอริงแต่งตั้งเพื่อให้เตรียม “มาตรการสุดท้ายสำหรับปัญหายิวในยุโรป” (Final Solution for the Jewish Question in Europe) โดยเน้นความรับผิดชอบและอำนาจเด็ดขาดของไฮดริชในการดำเนินการ เขาเรียกร้องทุกหน่วยงานให้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มกำลังความสามารถ ทั้งสรุปการดำเนินงานที่ผ่านมานับแต่พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซีได้อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และสามารถบังคับพวกยิวให้อพยพออกจากเยอรมนีและออสเตรียไปทางตะวันออกได้กว่า ๕๓๐,๐๐๐ คน จนถึง ค.ศ. ๑๙๔๑ นโยบายการอพยพชาวยิวจึงได้ยุติลงเพราะมีการยกเลิกแผนมาดากัสการ์และมีปัญหาเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 ในหัวข้อที่ ๒ ไฮดริชกล่าวว่าจำนวนชาวยิวทั่วยุโรปมีประมาณ ๑๑ ล้านคน ซึ่งกว่าครึ่งอาศัยในประเทศที่ถูกเยอรมนียึดครอง การอพยพยิวไปทางตะวันออกถือเป็นมาตรการชั่วคราว ต้องมีการคัดเลือกยิวที่แข็งแรงไปเป็นแรงงานก่อนจนกว่าจะได้แรงงานจากเชลยสงครามมาทดแทนแล้วจึงสังหารแรงงานยิวให้มีการแยกกลุ่มเพศชายและหญิงก่อนจะส่งไป “เกตโตส่งต่อ” (transit ghetto) เพื่อเป็นแรงงานและทรมานให้อดอยากก่อนจะเดินทางครั้งสุดท้ายไปยังค่ายสังหารทางตะวันออก ส่วนชาวยิวที่อายุเกิน ๖๕ ปี และที่เป็นทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ซึ่งเคยบาดเจ็บสาหัสหรือได้รับเหรียญกางเขนเหล็กจะถูกส่งไปสังหารที่ค่ายกักกันเทเรซีนชตัดท์ (Theresienstadt) ทางตอนเหนือของโบฮีเมียซึ่งได้ชื่อว่าเป็นค่ายกักกัน “ตัวอย่าง” ในการสังหารที่มีประสิทธิภาพ ไฮดริชเน้นว่าในการกวาดล้างยิวจะดำเนินการให้เยอรมนี ออสเตรีย โบฮีเมีย และโมเรเวียเป็นดินแดนปลอดยิวก่อนแล้วจึงจะขยายการกวาดล้างไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป ส่วนหัวข้อสุดท้ายเกี่ยวโยงกับกฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremburg Law)* ค.ศ. ๑๙๓๕ ซึ่งกำหนดให้ชาวยิวเป็นพลเมืองชั้นสองและคุณสมบัติความเป็นยิวเพื่อแยกชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากพลเมืองเยอรมันเชื้อสายอารยัน แต่ไม่ได้กล่าวถึงพวกลูกครึ่งไว้ ไฮดริชจึงเสนอให้มีการกำหนดนิยามชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่เป็น “ลูกครึ่ง” (Mischling) ที่ต้องถูกกำจัดโดยกำหนดว่าลูกครึ่งที่ไม่ได้นับถือศาสนายูดาห์และไม่ได้แต่งงานกับชาวยิว แต่หากมีปู่ ย่า ตา หรือยายจำนวน ๒ คนขึ้นไปเป็นยิวถือเป็นลูกครึ่งประเภทแรกที่ต้องถูกกำจัด ส่วนลูกครึ่งประเภทที่๒ที่ได้รับการยกเว้นคือผู้ที่มีปู่ย่า ตา หรือยายเป็นยิวเพียง ๑ คนเท่านั้น และประมาณว่าลูกครึ่งประเภทหลังนี้มีเพียงกว่า ๓๕๐,๐๐๐ คน อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง “ลูกครึ่ง” ก็ไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเพราะมีความคิดเห็นที่หลากหลาย บ้างเห็นว่าควรมีทางเลือกให้ลูกครึ่งประเภทที่ ๒ ตัดสินใจระหว่างการถูกเนรเทศกับการทำหมัน บ้างเห็นว่าควรบังคับให้ทำหมัน และยังมีข้อเสนออื่น ๆ อีก

 หลังการบรรยายเป็นการเปิดกว้างให้มีการซักถามและแสดงความคิดเห็นรวมทั้งมีการเสิร์ฟคอนญักรสเลิศและของว่างซึ่งทำให้บรรยากาศเป็นกันเอง ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นพ้องกันและจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการสังหาร การกำจัดกวาดล้าง และการขุดรากถอนโคนพวกยิวหลังการประชุมสิ้นสุดลง ไม่มีใครออกจากที่ประชุมไปทุกคนยังจับกลุ่มสนทนาและดื่มสังสรรค์กันต่อ ไฮดริชปลื้มกับผลการประชุมมาก เพราะไม่คิดว่าจะลงเอยด้วยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เขาแสดงออกด้วยการร่วมดื่มจนเกือบเมาซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยแสดงให้คนอื่นได้เห็นมาก่อน เขาสั่งให้ไอช์มันน์ทำบันทึกสรุปย่อสาระการประชุมซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า พิธีสารวันน์เซ (Wannsee Protocol) ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรวมทั้งแกนนำนาซีคนสำคัญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นคู่มือการดำเนินงานกำจัดยิว ไฮดริช ตรวจแก้บันทึกรายงานการประชุมให้มีลักษณะกว้าง ๆ ไม่ให้รายละเอียดชัดเจน แต่เป็นที่เข้าใจกันของผู้ที่เข้าร่วมประชุมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นต้นว่า ในการดำเนินการ “กวาดล้าง” และ “การกำจัด” จะใช้ถ้อยคำแทนว่า “วิธีการหลายรูปแบบในการแก้ปัญหา”

 การประชุมที่วันน์เซไม่เพียงเป็นการกำหนดมาตรการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้ายที่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐว่าด้วยปัญหายิวที่ชัดเจนเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ที่ฮิตเลอร์ให้ความเห็นชอบด้วยในช่วงที่มีการประชุมมีการสร้างห้องรมแก๊สขึ้นที่ค่ายกักกันเชล์มโน (Chelmno) ใกล้หมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อเชล์มโนของชาวโปลเป็นแห่งแรกโดยชาวยิวที่ถูกสังหารชุดแรกมาจากเกตโตลอดซ์ (Lodz) ค่ายกักกันเชล์มโนสามารถสังหารชาวยิวโดยเฉลี่ยประมาณวันละ ๑,๒๐๐ คน หลังการประชุมที่วันน์เซ มีการสร้างค่ายกักกันที่มีห้องรมแก๊สมากกว่า ๑ ห้อง ขึ้นอีก ๓ แห่ง ในโปแลนด์ตอนกลาง คือค่ายกักกันเบลเซก (Belzec) โซบิบอร์ (Sobibor) และเทรบลิงกา โดยแต่ละแห่งสามารถสังหารชาวยิวได้วันละ ๑๕,๐๐๐ คน ๒๐,๐๐๐ คน และ ๒๕,๐๐๐ คน ตามลำดับ ไอช์มันน์ซึ่งไฮดริชมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องการดำเนินงานได้เดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานและการประสานงานกับศูนย์กำจัดยิว (extermination center) และค่ายกักกันต่าง ๆ เพื่อให้มาตรการสุดท้ายบรรลุเป้าหมาย ประมาณว่าภายในเวลาปีเศษ ชาวยิวในประเทศยุโรปตะวันออกกว่า ๒ ล้านคน ถูกสังหารด้วยแก๊สในค่ายกักกันทั้ง ๔ แห่ง การกวาดต้อนชาวยิวในดินแดนที่เยอรมนียึดครองก็เกิดขึ้นต่อเนื่องเกือบทุกสัปดาห์และการขนส่งชาวยิวไปยังเกตโตชั่วคราวมีขึ้นทุก ๒ สัปดาห์หรือเดือนละครั้ง รัฐบาลนาซียังสร้างค่ายกักกันขนาดใหญ่ที่มีห้องรมแก๊สมากกว่า ๓ ห้อง ค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดคือค่ายกักกันเอาช์วิทซ์

 ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้ในสงครามแกนนำนาซีและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลนาซีได้ทำลายเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อปกปิดความผิด พิธีสารวันน์เซที่จัดทำประมาณ ๓๐ ชุด ถูกทำลายเกือบหมดอย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ รอเบิร์ต เคมป์เนอร์ (Robert Kempner) อัยการชาวอเมริกันที่ร่วมในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trial)* ในศาลทหารระหว่างประเทศได้เสนอหลักฐานพิธีสารวันน์เซที่เขาได้มาจากการตรวจสอบเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศซึ่งลูเทอร์ ที่ปรึกษาของริบเบนทรอพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเป็นผู้รับผิดชอบ ลูเทอร์เป็นผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศที่เข้าร่วมประชุมที่วันน์เซ เขามีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวหรือกดดันประเทศพันธมิตรเยอรมนีหรือประเทศที่ถูกเยอรมนียึดครองให้ส่งพลเมืองชาวยิวไปสังหารที่ค่ายกักกัน แต่ภายหลังขัดแย้งกับริบเบนทรอพและถูกส่งไปค่ายกักกันซัคเซนเฮาเซิน (Sachsenhausen) ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ กองทัพโซเวียตได้ปลดปล่อยลูเทอร์จากค่ายกักกัน แต่ไม่นานหลังจากนั้น เขาเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจหลังมรณกรรมของเขา ๑ ปี จึงมีการพบพิธีสารวันน์เซซึ่งเป็นเอกสารเพียงชุดเดียวที่หลงเหลืออยู่ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ไอช์มันน์แกนนำนาซีซึ่งหนีไปกบดานที่ประเทศอาร์เจนตินาถูกจับได้และถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีสงครามที่กรุงเยรูซาเลมใน ค.ศ. ๑๙๖๒ ด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและชาวยิวทั้งเป็นอาชญากร ในช่วงการพิจารณาคดี ไอช์มันน์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของพิธีสารวันน์เซ ซึ่งทำให้เรื่องราวของการประชุมที่วันน์เซชัดเจนและเป็นที่รับรู้กันมากขึ้น แม้คำให้การของไอช์มันน์จะเป็นประโยชน์แต่ศาลก็ได้ตัดสินประหารชีวิตไอช์มันน์

 ในกลางทศวรรษ ๑๙๖๐ ปัญญาชนเยอรมันซึ่งมีโยเซฟ วูลฟ์ (Joseph Wulf) นักประวัติศาสตร์เป็นแกนนำพยายามเคลื่อนไหวให้รัฐบาลเยอรมันใช้คฤหาสน์ที่วันน์เซเพื่อเป็นศูนย์เอกสารและสถานที่ระลึกถึงการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust Memorials and Document Center) แต่รัฐสภาปฏิเสธ วูลฟ์ไม่ยอมแพ้และยังคงรณรงค์ต่อไปด้วยการบรรยายให้ความรู้ต่อสาธารณชนนับครั้งไม่ถ้วนและเขียนหนังสือเกี่ยวกับจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* เผยแพร่รวม ๑๖ เล่ม อย่างไรก็ตาม การสูญเสียภรรยาคู่ชีวิตและสุขภาพที่อ่อนแอรวมทั้งความล้มเหลวของการต่อสู้เรียกร้องที่ยาวนาน ทำให้ในท้ายที่สุดวูลฟ์ท้อแท้และหมดกำลังใจ เขาจึงก่ออัตวินิบาตกรรมด้วยการกระโดดจากหน้าต่างอาคารที่พักชั้น ๕ ในกรุงเบอร์ลิน และเสียชีวิตขณะอายุ ๖๑ ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น (Cold War)* และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ เยอรมนีตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออกได้รวมเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลเยอรมันได้ทบทวนข้อเสนอของวูลฟ์และใน ค.ศ. ๑๙๙๒ จึงดำเนินการปรับปรุงคฤหาสน์วันน์เซให้เป็นพิพิธภัณฑ์การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ ชั้น ๒ ของพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีชื่อว่าศูนย์เอกสารโยเซฟ วูลฟ์ (Joseph Wulf Bibliothek Mediathek) เป็นห้องสมุดและศูนย์เอกสารว่าด้วยลัทธินาซี การต่อต้านชาวยิว การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว และอื่น ๆ.



คำตั้ง
Wannsee Conference
คำเทียบ
การประชุมที่วันน์เซ
คำสำคัญ
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- การทำลายล้างเผ่าพันธุ์
- การประชุมที่วันน์เซ
- การปิดล้อมนครเลนินกราด
- การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก
- กำแพงเบอร์ลิน
- เกสตาโป
- เกอริง, แฮร์มันน์
- เกิบเบิลส์, โยเซฟ
- ค่ายกักกัน
- นาซี
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- พิธีสารวันน์เซ
- ฟือเรอร์
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่มอสโก
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ริบเบนทรอพ, โยอาคิม ฟอน
- ลัทธินาซี
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหภาพโซเวียต
- เอสดี
- เอสเอ
- เอสเอส
- ไอช์มันน์, คาร์ล อดอล์ฟ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- ไฮดริช, ไรน์ฮาร์ด
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1942
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๕
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-