Wales (-)

เวลส์ (-)

เวลส์ หรือ “คัมรี” (Cymry) ในภาษาเวลส์ เป็น ๑ ใน ๔ ดินแดนที่ประกอบกันขึ้นเป็นสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland)* ได้แก่ อังกฤษ (England)* เวลส์ สกอตแลนด์ (Scotland)* และไอร์แลนด์เหนือ (Northern Ireland)* เวลส์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะบริเตนใหญ่ (Great Britain) ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ พวกไบรตัน (Briton) เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเวลส์ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑–๕ เวลส์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน หลังจากพวกโรมันถอนตัวออกจากเกาะอังกฤษ เวลส์ได้แยกออกเป็นราชรัฐเล็ก ๆ ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ อังกฤษได้ทำสงครามกับเวลส์หลายครั้งและได้รับชัยชนะในเวลาต่อมา ประวัติศาสตร์ของเวลส์จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์อังกฤษ อย่างไรก็ตาม เวลส์ยังคงรักษาวัฒนธรรมและภาษาเคลติก (Celtic) ของตนเองเช่นเดียวกับในอีก ๕ ดินแดนเคลติก ได้แก่ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ บริททานี (Brittany) คอร์นวอลล์ (Cornwall) และไอล์ออฟแมน (Isle of Man) ภาษาเวลส์เป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาอังกฤษ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๗ ประชาชนลงมติให้เวลส์มีสภานิติบัญญัติของตนเองสภานี้เริ่มทำหน้าที่ใน ค.ศ. ๑๙๙๙

 เวลส์มีพื้นที่รวมทั้งหมด๒๐,๗๗๙ตารางกิโลเมตรส่วนใหญ่เป็นภูเขา โดยเฉพาะทางตอนเหนือและตอนกลางสโนว์ดอน (Snowdon) เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดมีความสูง ๑,๐๘๕ เมตรและตั้งอยู่ในเขตกวีเนดด์ (Gwynedd) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่ตั้งของเวลส์นั้น ทิศตะวันออกติดต่อกับอังกฤษ ทิศใต้จดช่องแคบบริสตอล (Bristol) ส่วนทิศตะวันตกและทิศเหนือจดทะเลไอริช ทิศใต้เป็นที่ตั้งของเมืองอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น สวานซี (Swansea) เมืองใหญ่อันดับที่ ๒ ของเวลส์ คาร์ดีฟฟ์ (Cardiff) เมืองหลวงและเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุด นอกจากนั้น คาร์ดีฟฟ์ยังเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความทันสมัยและสะดวกในการเดินทางมีประชากรอาศัยอยู่ถึง ๑,๑๐๐,๐๐๐ คน ซึ่งนับเป็นประชากรราว ๑ ใน ๓ ของประชากรทั้งหมด ชาวเวลส์จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและตะวันตกยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนด้วยการใช้ภาษาเวลส์คู่กับภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันและในการทำงานในด้านการนับถือศาสนา ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ มีพระราช-บัญญัติศาสนาแห่งเวลส์ (Welsh Church Act) รับรองการก่อตั้งนิกายเวลส์ (Church in Wales) ที่แยกออกจากนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ทำให้ชาวเวลส์ร้อยละ ๕๗ นับถือนิกายนี้ ประมาณร้อยละ ๔๐ นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ส่วนที่เหลือนับถือศาสนาอื่น ๆ รวมถึงส่วนหนึ่งที่ไม่นับถือศาสนา

 ประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานย้อนไปเมื่อพวกไบรตันเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในราว ๘,๐๐๐ ปี ก่อนคริสต์ศักราชวัฒนธรรมและภาษาของพวกไบรตันกระจายตัวอย่างรวดเร็วจนกระทั่งจักรวรรดิโรมันเริ่มรุกรานอังกฤษใน ค.ศ. ๔๓ และรุกต่อมายังเวลส์จากทิศตะวันออกเฉียงเหนือใน ค.ศ. ๔๘ และได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย เมื่อกองทัพโรมันรุกคืบลงมาทางใต้จึงได้พบการขัดขวางจากพวกไบรตันซึ่งมีคาราทาคัส (Caratacus) เป็นผู้นำ กองทัพโรมันปราบปรามอย่างยากลำบาก และใช้เวลาถึง ๓๐ ปี จึงผนวกเวลส์สำเร็จใน ค.ศ. ๗๘ เวลส์เป็นส่วนหนึ่งของมณฑลบริทันเนีย ซูพีเรีย (Britannia Superior) ที่ครอบคลุมพื้นที่ถึงตอนใต้ของอังกฤษในปัจจุบัน มีนครหลวงอยู่ที่ลอนดินิอุม (Londinium) หรือกรุงลอนดอนในปัจจุบัน ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิโรมัน เวลส์มีถนนและป้อมปราการที่แข็งแรง ชาวเวลส์ได้รับสิทธิการเป็นพลเมืองโรมันใน ค.ศ. ๒๑๒ ทั้งได้ยอมรับวัฒนธรรมโรมันมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนติน (Constantine) ทรงประกาศพระราช-กฤษฎีกาแห่งเมืองมิลาน (Edict of Milan) ใน ค.ศ. ๓๑๓ อนุญาตให้ประชาชนนับถือคริสต์ศาสนาได้อย่างเสรี

 ขณะเดียวกัน ในคริสต์ศตวรรษที่ ๔ จักรวรรดิโรมันประสบปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะในการรุกรานของอนารยชนเผ่าต่าง ๆ จึงมีการแบ่งการปกครองจักรวรรดิออกเป็นตะวันตกและตะวันออกอย่างถาวรใน ค.ศ. ๓๙๕ แต่ก็ไร้ผล เมื่อทหารโรมันถอนทัพจากเวลส์และอังกฤษในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๕ อนารยชนเผ่าแองเกิล (Angle) และแซกซัน (Saxon) จากตอนใต้ของดินแดนที่เป็นเดนมาร์กและเยอรมนีในปัจจุบันจึงอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในภาคใต้และตะวันออกของอังกฤษ แต่ไม่สามารถยึดครองเวลส์ได้ เวลส์กลับถูกรุกรานจากชาวไอริชที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานทางตอนเหนือหลังการถอนทัพของทหารโรมัน แต่ต่อมาก็ถูกพวกไบรตันตีขับไล่ออกไป และได้สถาปนาราชอาณาจักรกวีเนดด์ (Kingdom of Gwynedd) ขึ้นแทนในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ราชอาณาจักรโพวิส (Kingdom of Powys) ได้ถูกสถาปนาขึ้นทางทิศตะวันออก การรอดพ้นจากการรุกรานของอนารยชนเผ่าแองเกิลและแซกซันทำให้คริสต์ศาสนาในเวลส์รุ่งเรืองถึงขีดสุดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๕–๗ มีการสร้างโบสถ์และวิหารขึ้นทั่วเวลส์ ทั้งนักบวชก็ออกเผยแผ่ศาสนา

 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๘–๑๑ เวลส์ประกอบด้วย ๓ ราชอาณาจักรใหญ่ ได้แก่ โพวิส กวีเนดด์ และเดฮิวเบิร์ท (Kingdom of Deheubarth) ที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๙๒๐ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เวลส์ยังถูกรุกรานจากพวกไวกิง (Viking) และพวกเดนส์ (Dane) ทางทิศตะวันตก และจากกษัตริย์อังกฤษทางทิศตะวันออก แต่ยังสามารถรักษาดินแดนไว้ได้จนกระทั่ง ค.ศ. ๑๐๖๖ วิลเลียม ดุ๊กแห่งนอร์มังดี (William, Duke of Normandy) ซึ่งปกครองดินแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสยกทัพเข้าพิชิตและครอบครองอังกฤษได้ และปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๐๖๖–๑๐๘๗) แห่งราชวงศ์นอร์มัน (Norman) หรือรู้จักกันในพระนามพระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต (William the Conqueror) ในเวลาเดียวกันราชอาณาจักรโพวิสและราชอาณาจักรกวีเนดด์ก็สั่นคลอนเพราะความขัดแย้งภายใน จึงเปิดโอกาสให้ชาวนอร์มันเข้ายึดดินแดนส่วนใหญ่ใน ค.ศ. ๑๐๗๕ และอาณาจักรเดฮิวเบิร์ทก็ถูกยึดครองในเวลาไล่เลี่ยกันใน ค.ศ. ๑๐๙๔ กริฟฟิดด์แห่งคินัน (Gruffudd ap Cynan) ก่อกบฏครั้งใหญ่ขึ้นในอาณาจักรกวีเนดด์เพื่อขับไล่ผู้รุกราน เขาโจมตีและเผาปราสาทของชาวนอร์มันสำเร็จ จนทำให้การกบฏลุกลามไปทั่วเวลส์ในปีถัดมา และพวกนอร์มันต้องล่าถอยไปทีละน้อย

 อิทธิพลของพวกนอร์มันปรากฏอีกครั้งเมื่ออังกฤษหมดปัญหาความขัดแย้งภายในและการแย่งชิงอำนาจ ใน ค.ศ. ๑๑๕๗ พระเจ้าเฮนรีที่ ๒ (Henry II ค.ศ. ๑๑๕๔–๑๑๘๙) แห่งราชวงศ์แพลนตาเจเนต (Plantagenet)จึงทรงยกทัพบุกกวีเนดด์และยึดได้พื้นที่ส่วนหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้กวีเนดด์ถูกลดฐานะเป็นราชรัฐและประมุขถูกลดพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) พระเจ้าเฮนรีที่ ๒ ทรงโจมตีเดฮิวเบิร์ทและดินแดนที่เหลือในเวลาไล่เลี่ยกัน พร้อมบีบให้พระเจ้าริสแห่งกริฟฟิดด์ (Rhys ap Gruffydd) ส่งบรรณาการถวายใน ค.ศ. ๑๑๗๑ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๓ สงครามระหว่างอังกฤษกับราชรัฐกวีเนดด์เกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ใน ค.ศ. ๑๒๘๒ ดาฟิดด์แห่งกริฟฟิดด์ (Dafydd ap Gruffydd) ประมุของค์สุดท้ายของราชรัฐกวีเนดด์ถูกสังหาร พระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ (Edward I ค.ศ. ๑๒๗๒–๑๓๐๗) จึงถือว่าอังกฤษครอบครองเวลส์โดยสมบูรณ์ พระองค์ทรงประกาศพระราชบัญญัติรุดลัน(Statute of Rhuddlan) ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๒๘๔ เพื่อยืนยันสิทธินี้และนำกฎหมายอังกฤษไปบังคับใช้ในเวลส์ พระองค์ทรงจัดการแบ่งดินแดนในเวลส์ใหม่ ราชอาณาจักรโพวิสและพื้นที่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือถูกจัดตั้งเป็นหัวเมือง (marcher) โดยให้ผู้ปกครองเดิมดูแลและมีอิสระในการปกครองในระดับหนึ่ง ส่วนราชรัฐกวีเนดด์ถูกแบ่งออกเป็น ๔ เขตและตกอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงจากอังกฤษ โดยพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ ทรงให้สร้างปราสาทขึ้นรอบ ๆ ราชรัฐกวีเนดด์เพื่อการปกครองอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ราชรัฐกวีเนดด์ขัดขืน ใน ค.ศ. ๑๓๐๑ พระองค์ทรงแต่งตั้งให้เจ้าชายเอดเวิร์ด (Edward) พระราชโอรส และมกุฎราชกุมาร [ต่อมาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพระนามพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๒ (Edward II ค.ศ. ๑๓๐๗–๑๓๒๗)] ดำรงพระอิสริยยศเจ้าชายแห่งเวลส์ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จึงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการสถาปนาพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารของอังกฤษที่เป็นรัชทายาท (heir apparent) เป็นเจ้าชายแห่งเวลส์ และยังสืบทอดพระอิสริยยศมาจนถึงปัจจุบัน

 อย่างไรก็ตามตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ และ ๑๕ เกิดการกบฏเพื่อล้มล้างอำนาจกษัตริย์อังกฤษหลายครั้งครั้งที่โด่งดังที่สุดคือ การกบฏของโอเวน เกลนโดเวอร์ (Owain Glendower) ระหว่าง ค.ศ. ๑๔๐๐–๑๔๑๕ เนื่องจากเขาสามารถยึดดินแดนส่วนใหญ่ของเวลส์กลับคืนมาได้ อังกฤษต้องใช้ความพยายามอย่างสูงในการปราบปราม มาตรการหนึ่งที่อังกฤษใช้คือการออกพระราชบัญญัติใน ค.ศ. ๑๔๐๒ ห้ามไม่ให้ชาวเวลส์รับราชการ ครอบครองอาวุธ และซื้อที่ดิน แม้กบฏจะถูกปราบลงแล้ว แต่กฎหมายฉบับนี้ก็ยังใช้เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. ๑๖๒๔ กฎหมายสำคัญอีกฉบับ ได้แก่กฎหมายการผนวกเวลส์เข้ากับอังกฤษใน ค.ศ. ๑๕๓๖ และ ๑๕๔๒ ซึ่งประกาศในรัชสมัยพระเจ้าเฮนรีที่ ๘ (Henry VIII ค.ศ. ๑๕๐๙–๑๕๔๗) แห่งราชวงศ์ทิวดอร์ (Tudor) เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักถึงปัญหาการปกครองที่ย่อหย่อนในเขตหัวเมือง สืบเนื่องมาจากผู้ปกครองเสียชีวิตลงเป็นจำนวนมากระหว่างสงครามดอกกุหลาบ (War of the Roses ค.ศ. ๑๔๕๕–๑๔๘๗) ที่ชนชั้นขุนนางในเวลส์เข้าร่วมรบกับทั้งฝ่ายราชสกุลยอร์ก (House of York) และฝ่ายราชสกุลแลงแคสเตอร์ (House of Lancaster) กฎหมายดังกล่าวมีผลให้หัวเมืองทั้งหมดในเวลส์ถูกยุบและจัดตั้งเป็นเขตการปกครองใหม่ทั้งหมด ๑๓ เขต ซึ่งขึ้นตรงต่อกษัตริย์อังกฤษ การปกครองที่ใกล้ชิดยังทำให้เวลส์ยอมรับนิกายแองกลิคันหรือนิกายอังกฤษ (Church of England) ที่พระเจ้าเฮนรีที่ ๘ ทรงสถาปนาขึ้นหลังแยกตัวออกจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกใน ค.ศ. ๑๕๓๔ ทั้งที่มีชาวเวลส์จำนวนหนึ่งยังยึดมั่นในนิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด

 เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๖๒๕–๑๖๔๙) แห่งราชวงศ์สจวต (Stuart) ทรงพยายามเปลี่ยนให้ประชาชนในสกอตแลนด์และไอร์แลนด์นับถือนิกายแองกลิคัน สงครามและความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ กับรัฐสภาจึงเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๖๓๙–๑๖๔๙ ขุนนางส่วนใหญ่ในเวลส์สนับสนุนพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ อย่างเต็มกำลังทั้งทางด้านการเงินและการส่งทหารเข้าร่วมรบกับฝ่ายกษัตริย์ หลังจากสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลง พระเจ้าชาลส์ที่ ๑ ถูกบั่นพระเศียรและโอลิเวอร์ครอมเวลล์ (Oliver Cromwell) ดำรงตำแหน่งผู้พิทักษ์ (Lord Protector) ของอังกฤษและใช้มาตรการรุนแรงในการปกครอง ทำให้เวลส์ประสบกับความวุ่นวายจากความขัดแย้งทางด้านศาสนาและการเมืองต่อไปอีกระยะและเริ่มสงบลงในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเลียมที่ ๓ (William III ค.ศ. ๑๖๘๘–๑๗๐๒) และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ ๒ (Mary II ค.ศ. ๑๖๘๘–๑๖๙๔) ซึ่งทรงครองราชบัลลังก์อังกฤษร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่บาทหลวงชาวอังกฤษซึ่งถูกส่งมาประจำที่เวลส์ไม่สามารถเทศน์และประกอบพิธีทางศาสนาเป็นภาษาท้องถิ่น รวมถึงความเชื่อที่แตกต่างกันในบางประการ ทำให้นักเทววิทยาบางกลุ่มพยายามแยกตัวออกจากนิกายแองกลิคัน กลุ่มที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มนิกายเมทอดิสต์ (Methodism) ที่มีโฮเวลล์แฮร์ริส(Howell Harris)และแดเนียลโรว์แลนด์ (Daniel Rowland) เป็นผู้นำในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘

 หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ในอังกฤษ ภาคใต้ของเวลส์ที่มีแร่เหล็กและถ่านหินเป็นจำนวนมาก จึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ โดยเฉพาะเมืองสวานซีและอาเบอราวอน (Aberavon) อุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กลับก่อให้เกิดปัญหาตามมาทั้งการเพิ่มจำนวนประชากรที่รวดเร็ว ความแออัดในเมืองใหญ่ และแรงงานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ก่อให้เกิดการประท้วงขึ้นหลายครั้งในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษจนทำให้เวลส์โดยเฉพาะในเขตตะวันตกเฉียงใต้ ถูกมองว่าเป็นศูนย์รวมของแรงงานที่สนับสนุนแนวคิดแบบสังคมนิยม การประท้วงครั้งสำคัญเกิดขึ้นพร้อมกับการประท้วงในดินแดนส่วนอื่นของอังกฤษ เมื่อขบวนการชาร์ทิสต์ (Chartism)* ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติของกรรมกรอังกฤษเรียกร้องให้มีผู้แทนชนชั้นแรงงานได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญ ขณะเดียวกัน ใน ค.ศ. ๑๘๓๙ ความยากจนและการเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรมยังทำให้เกิด “การก่อจลาจลรีเบกกา” (Rebecca Riots) ของกลุ่มชาวนาที่ต้องผันตัวเองมาทำงานในเหมืองถ่านหิน ใน ค.ศ. ๑๘๙๓ เคียร์ ฮาร์ดี (Keir Hardie) นักการเมืองชาวสก็อตที่เรียกร้องอย่างสันติวิธีให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก่อตั้งพรรคแรงงานอิสระ (Independent Labour Party) ที่ต่อมานำไปรวมกับพรรคแรงงาน (Labour Party)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ ทำให้เขาได้รับเลือกตั้งในฐานะผู้แทนจากเขตแมร์เทอร์เท็ดฟิล (Merthyr Tydfil) และเขตอาเบอร์แดร์ (Aberdare) ในเวลส์พรรคแรงงานจึงกลายเป็นกระบอกเสียงให้แก่แรงงานในเวลส์นับแต่นั้น

 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ การทำเหมืองถ่านหินรุ่งเรืองที่สุดในเวลส์ แต่ก่อปัญหาด้านมลพิษอย่างมาก ทั้งมาตรการการรักษาความปลอดภัยก็ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุใหญ่หลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุด ได้แก่ อุบัติเหตุที่เซงเฮนนิดด์ (Senghenydd) ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า ๔๔๐ ราย หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ อุตสาหกรรมถ่านหินของเวลส์หยุดชะงักเนื่องจากความต้องการที่ลดลงในช่วงหลังสงครามประกอบกับในเวลาต่อมาได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมถ่านหินกลับกระเตื้องขึ้นอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* แต่หลังสงครามสิ้นสุดลงก็ทรุดลงอีก

 นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว เวลส์ยังต้องเผชิญกับภาวะที่ประชากรพูดภาษาถิ่นน้อยลง เนื่องจากการอพยพเข้ามาหางานทำและการเข้ามาลงทุนของคนต่างถิ่นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ พรรคการเมืองแห่งเวลส์ (Plaid Cymru) จึงจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๕ เพื่อสนับสนุนการใช้ภาษาเวลส์รวมถึงเรียกร้องให้ภาษาเวลส์มีสถานะเท่าเทียมกับภาษาอังกฤษพรรคการเมืองแห่งเวลส์เริ่มเรียกร้องให้เวลส์ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลปกครองตนเองเช่นเดียวกับไอร์แลนด์ซึ่งแยกตัวออกจากอังกฤษเป็นเสรีรัฐไอร์แลนด์ (Irish Free State) ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองแห่งเวลส์ยังไม่ได้รับความนิยมนักในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐–๑๙๖๐ ข้อเรียกร้องทั้งสองจึงยังไม่สำเร็จ ทั้งในเวลาต่อมา ชาวเวลส์ยังได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องในการตั้งรัฐบาลปกครองตนเองในการลงประชามติใน ค.ศ. ๑๙๗๙

 ในทศวรรษ ๑๙๗๐ พรรคการเมืองแห่งเวลส์เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น และเริ่มได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นในรัฐสภาอังกฤษ ข้อเรียกร้องในการใช้ภาษาเวลส์จึงสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เมื่อมีการผ่านกฎหมายให้ภาษาเวลส์มีสถานะทัดเทียมกับภาษาอังกฤษ และสามารถใช้ในศาลได้ ส่วนข้อเรียกร้องในการตั้งรัฐบาลปกครองตนเองประสบความสำเร็จเมื่อพรรคแรงงานภายใต้การนำของโทนี แบลร์ (Tony Blair)* ได้จัดตั้งรัฐบาล ใน ค.ศ. ๑๙๙๗ และสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ การลง



ประชามติจึงเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๙๗ หลังชาวเวลส์ลงมติรับ จึงมีการจัดตั้งรัฐสภาแห่งเวลส์ (National Assembly for Wales) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๙ ประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด ๖๐ คนที่มาจากการเลือกตั้ง และอยู่ในวาระครั้งละ ๕ ปี รัฐสภาแห่งเวลส์มีสิทธิออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมการศึกษา ภาษา และการท่องเที่ยวได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอังกฤษ และมีคาร์วีน โจนส์ (Carwyn Jones) จากพรรคแรงงานเป็นมุขมนตรี (First Minister) นอกจากนั้น ชาวเวลส์ยังมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๔๐ คน เพื่อเข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาอังกฤษ และยังมีรัฐมนตรีต่างประเทศฝ่ายกิจการเวลส์ (Secretary of State for Wales) ในรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งทำหน้าที่นำเสนอความต้องการของเวลส์ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ และดูแลการออกกฎหมายที่บังคับใช้ในเวลส์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 เมื่ออังกฤษจัดให้มีการลงประชามติที่จะยุติการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union)* เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ค.ศ. ๒๐๑๖ ประชาชนในเวลส์ส่วนใหญ่ต่างลงมติเห็นชอบด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐสภาแห่งเวลส์ตระหนักดีว่าการลาออกจากสมาชิกภาพอาจส่งผลกระทบต่อเวลส์ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน เนื่องจากเวลส์ส่งออกสินค้าเป็นจำนวนถึง ๒ ใน ๓ ไปยังประเทศในภาคพื้นทวีป รัฐสภาแห่งเวลส์จึงร่าง “สมุดปกขาว” (WhitePaper) เพื่อนำเสนอความต้องการของเวลส์ต่อดาวิด ดาวิส (David Davis) ผู้นำคณะการเจรจาการยุติสมาชิกภาพระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรป ในสมุดปกขาว รัฐสภาแห่งเวลส์เน้นโอกาสในการเป็นสมาชิกตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market–SEM)* ซึ่งจะทำให้เวลส์ได้รับสิทธิปลอดภาษีนำเข้าจากประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป.



คำตั้ง
Wales
คำเทียบ
เวลส์
คำสำคัญ
- การก่อจลาจลรีเบกกา
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- ขบวนการชาร์ทิสต์
- ตลาดเดียวแห่งยุโรป
- แบลร์, โทนี
- พรรคแรงงาน
- พระราชบัญญัติรุดลัน
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- เวลส์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหภาพยุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
คัททิยากร ศศิธรามาศ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-