United Nations (-)

สหประชาชาติ (-)

 สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศในระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๕ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เพื่อแทนที่องค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)*ซึ่งยุติบทบาทลงตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๙ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้เป็นองค์การกลางระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างประเทศต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานและหลักการแห่งความเท่าเทียมกันของรัฐอธิปไตยและการกำหนดการปกครองด้วยตนเองรวมทั้งเพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานระหว่างประเทศที่ชาติสมาชิกสามารถร่วมมือกันแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจสังคมการเมืองวัฒนธรรมและอื่นๆ ในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* สหประชาชาติประสบปัญหาการทำงานด้านการรักษาสันติภาพเป็นอย่างมากจนเกือบทำให้เกิดภาวะชะงักงันในบางครั้ง ทั้งนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างมหาอำนาจทั้ง ๒ ค่าย อย่างไรก็ดี องค์การก็สามารถผ่านพ้นปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในทุกเรื่องก็ตาม หลังสงครามเย็นยุติลงในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ การทำงานขององค์การสหประชาชาติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากตามสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ใน ค.ศ. ๒๐๑๙ องค์การสหประชาชาติมีสมาชิก ๑๙๓ ประเทศ

 การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ด้วยการเปิดฉากโจมตีโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* ของเยอรมนีผู้นำฝ่ายมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)* ในตอนเช้ามืดของวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการทำงานในด้านการรักษาสันติภาพของสันนิบาตชาติที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ยุติลงประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี เมื่อสงครามดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรก็ยังคงมีความเชื่อมั่นว่าหลักการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* โดยผ่านองค์การระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นวิธีการช่วยรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ รวมทั้งป้องกันไม่ให้สงครามเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ดีวิธีหนึ่งดังนั้นในการประชุมทุกครั้งเพื่อวางแผนพิชิตสงครามครั้งต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๑ เป็นต้นมา มหาอำนาจจึงได้หารือเรื่องแผนการจัดระเบียบโลกใหม่ภายหลังสงครามและการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นเพื่อทำหน้าที่แทนสันนิบาตชาติด้วย ผลของการประชุมเหล่านั้นจึงถือได้ว่าเป็นที่มาขององค์การสหประชาชาติ

 การประชุมครั้งแรกที่นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากทั้งต่ออนาคตของสงครามและการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ คือการประชุมแอตแลนติก (Atlantic Conference)* ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกากับนายกรัฐมนตรีวินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer Churchill)* แห่งอังกฤษบนเรือรบยูเอสเอสออกัสตา (USS Augusta) ของสหรัฐอเมริกาที่จอดอยู่นอกชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ (New Foundland) ของแคนาดา ในมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างวันที่ ๙–๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ก่อนสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม ๔ เดือน ในครั้งนั้นนอกจากการวางแผนการรบเพื่อให้ฝ่ายพันธมิตรได้ชัยชนะเหนือฝ่ายอักษะประเทศโดยเร็วแล้ว ผู้นำทั้งสองยังได้พูดกันถึงเรื่องการจัดระเบียบโลกภายหลังสงครามโดยให้มีการจัดตั้งองค์การกลางเพื่อรักษาสันติภาพของโลกเป็นส่วนหนึ่งของแผนด้วย ซึ่งในเรื่องนี้เชอร์ชิลล์ต้องการให้ระบุไว้ในเอกสารอย่างชัดเจนแต่โรสเวลต์ยังสงวนท่าทีแม้จะเห็นด้วยกับการจัดตั้งองค์การดังกล่าวก็ตาม เพราะเกรงว่าโครงการนี้อาจถูกขัดขวางจากสภาสูงของสหรัฐอเมริกาดังเช่นกรณีสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี ทั้งโรสเวลต์และเชอร์ชิลล์ต่างก็ได้ร่วมมือกันวางแผนสร้างสันติภาพภายหลังสงครามโดยกำหนดหลักการต่าง ๆ ไว้ในกฎบัตรแอตแลนติก (Atlantic Charter)* ซึ่งเป็นแถลงการณ์ในตอนท้ายของการประชุมดังนี้ ๑) สหรัฐอเมริกาและอังกฤษจะไม่มีการแสวงหาดินแดนเพิ่มเติม๒)การจัดสรรเขตแดนของประเทศต่าง ๆ จะต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชาติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ๓) ประชาชาติต่าง ๆ มีสิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ๔) จะต้องมีการลดหย่อนเครื่องกีดขวางทางการค้าเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เข้าถึงตลาดการค้าโดยเท่าเทียมทัน ๕) ต้องมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านสวัสดิการสังคม ๖) ประชาชาติต่าง ๆ ต้องปลอดจากความขาดแคลนและความกลัว ๗) ประเทศต่าง ๆ ควรมีเสรีภาพทางทะเล และ ๘) จะต้องไม่มีการเพิ่มพูนกำลังอาวุธที่จะนำไปใช้ประหัตประหารกันในอนาคต รวมทั้งต้องมีการลดอาวุธระหว่างประเทศร่วมกันด้วย หลักการทั้ง ๘ ประการนี้ต่อมาได้กลายเป็นพื้นฐานสำคัญขององค์การสหประชาชาติทั้งสิ้น

 หลังจากนั้นได้มีการประชุมเป็นการส่วนตัวระหว่างผู้แทนอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อีกหลายครั้ง แม้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการประชุมเหล่านี้จะเป็นการวางแผนเพื่อพิชิตสงครามก็ตาม แต่ก็ได้มีการวางแผนเพิ่มเติมสำหรับการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะภายหลังที่ญี่ปุ่นบุกโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) ในหมู่เกาะฮาวาย เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ซึ่งนำสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว การดำเนินงานเพื่อวางแผนจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศภายในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ดำเนินไปอย่างเร่งรีบ เพราะประธานาธิบดีโรสเวลต์ต้องการให้องค์การดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ ผู้แทนของประเทศฝ่ายพันธมิตร ๒๖ ประเทศ ได้ไปประชุมที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และร่วมลงนามใน “คำประกาศแห่งสหประชาชาติ” (Declaration by the United Nations) ซึ่งเป็นเอกสารที่ประเทศต่าง ๆ ให้คำมั่นว่าจะปฏิบัติตามจุดมุ่งหมายและหลักการของกฎบัตรแอตแลนติก จะร่วมมือกันทำสงครามต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ และจะไม่แยกกันทำสนธิสัญญาสันติภาพ คำประกาศดังกล่าวจึงนับว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นการย้ำถึงความสำคัญของกฎบัตรแอตแลนติกและเป็นครั้งแรกที่มีการนำคำว่า “สหประชาชาติ” ซึ่งโรสเวลต์เป็นผู้คิดขึ้นมาใช้อย่างเป็นทางการ

 การจัดตั้งองค์การสหประชาชาติก้าวหน้าไปอีกขั้นตอนหนึ่งเมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพโซเวียตและจีนได้จัดให้มีการประชุมที่กรุงมอสโก (Moscow Conference)* ระหว่างวันที่ ๑๙–๓๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ในการประชุมครั้งนี้ผู้แทนของทั้ง ๔ ประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมที่เรียกว่า “คำประกาศร่วม ๔ ชาติ” (Joint-Four-Nations Declaration) หรือ “คำประกาศกรุงมอสโก” (Moscow Declaration)ซึ่งมีข้อความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ประเทศต่าง ๆ จะร่วมมือกันจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และจะร่วมมือปรึกษาหารือซึ่งกันและกันเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ”ข้อความดังกล่าวเป็นการแสดงเจตจำนงของ ๔ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรว่าจะมีการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงเพื่อทำหน้าที่แทนสันนิบาตชาติอย่างแน่นอน

 ต่อมาได้มีการประชุมที่กรุงเตหะราน (Tehran Conference)* ประเทศอิหร่านระหว่างวันที่ ๒๒–๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓ เป็นการประชุมครั้งแรกของผู้นำ ๓ มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรคือโรสเวลต์เชอร์ชิลล์และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องการเปิดแนวรบด้านที่ ๒ ในสมรภูมิยุโรปแล้ว เรื่องการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศภายหลังสงครามยังคงเป็นระเบียบวาระสำคัญรวมอยู่ด้วย ในครั้งนี้ หลังจากที่ประชุมได้ตกลงรับหลักการที่จะจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นตามมติของที่ประชุมกรุงมอสโกแล้ว โรสเวลต์ก็ได้เสนอโครงร่างขององค์การสหประชาชาติต่อเชอร์ชิลล์และสตาลิน พร้อมทั้งเสนอให้มหาอำนาจทั้งสี่ คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษสหภาพโซเวียตและจีนทำหน้าที่เป็น“ตำรวจทั้งสี่” (FourPolicemen) ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจแก้ปัญหาเร่งด่วนอันเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลกร่วมกัน ภายหลังการอภิปรายอย่างกว้างขวางแล้วทั้งเชอร์ชิลล์และสตาลินต่างก็ยอมรับข้อเสนอของโรสเวลต์ ข้อเสนอเรื่องตำรวจทั้งสี่จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) ให้เป็นองค์กรหลักขององค์การสหประชาชาติซึ่งมีมหาอำนาจทั้งสี่เป็นสมาชิกถาวร (permanent members) และมีอำนาจใช้สิทธิยับยั้ง (veto right) ในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ตกลงร่วมกันว่าจะเชิญชวนประเทศต่างๆให้เข้าร่วมในองค์การนี้ด้วยเพื่อให้การทำงานในด้านการรักษาสันติภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๔๔ เมื่อเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าฝ่ายพันธมิตรกำลังมีชัยชนะในสงคราม ผู้แทนของ ๔ ประเทศมหาอำนาจ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สหภาพโซเวียต และจีนได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง ณ คฤหาสน์ดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks) ชานกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ระหว่างวันที่ ๒๑ สิงหาคม–๙ ตุลาคม การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Conference)* นี้เป็นการประชุมเพื่อร่างข้อเสนอดัมบาร์ตันโอกส์ (Dumbarton Oaks Proposals) ซึ่งเป็นโครงสร้างโดยละเอียดขององค์การระหว่างประเทศที่จะจัดตั้งขึ้น ที่ประชุมจึงใช้เวลานานในการอภิปรายถกเถียงปัญหาต่าง ๆ ซึ่งล้วนเป็นปัญหาสำคัญทั้งสิ้น ซึ่งในที่สุดก็ตกลงกันได้เป็นส่วนใหญ่ ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะใช้ชื่อองค์การระหว่างประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ว่า “องค์การสหประชาชาติ”

 ต่อมาในการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference)* ระหว่างวันที่ ๔–๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ ผู้นำมหาอำนาจทั้งสามคือ โรสเวลต์ เชอร์ชิลล์ และสตาลินก็ได้นำปัญหาเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติที่ยังค้างอยู่มาพิจารณาด้วย เรื่องสำคัญที่ยังตกลงกันไม่ได้คือเรื่องจำนวนเสียงของผู้แทนสหภาพโซเวียตในสมัชชา (General Assembly) ซึ่งสหภาพโซเวียตต้องการให้มี ๑๖ เสียง เท่ากับจำนวนรัฐที่ประกอบขึ้นเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Republics–USSR)* และเรื่องการจัดการกับอาณานิคมและดินแดนภายใต้การปกครองของอังกฤษ ซึ่งในที่สุดมหาอำนาจทั้งสามสามารถแสวงหาทางประนีประนอมและตกลงกันได้ โดยให้สหภาพโซเวียตมีเสียงในสมัชชาเพียง ๑ เสียง เท่ากับประเทศสมาชิกอื่น ๆ แต่จะสนับสนุนให้ยูเครน (Ukraine) และไบโลรัสเซีย (Bylorussia) เข้าเป็นสมาชิกแรกเริ่มด้วย ส่วนเรื่องอาณานิคมของอังกฤษและประเทศอื่น ที่ประชุมยอมให้เจ้าอาณานิคมมอบให้อยู่ในความดูแลของสหประชาชาติโดยความสมัครใจนอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เพิ่มจำนวน “สามมหาอำนาจ” (Big Three) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต เป็น “ห้ามหาอำนาจ” (Big Five) โดยเพิ่มจีนและฝรั่งเศสเข้าไปด้วย ซึ่งหมายความทั้งจีนและฝรั่งเศสจะได้ที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงในฐานะสมาชิกถาวรซึ่งมีอำนาจใช้สิทธิยับยั้งเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียต ทั้งยังได้มีมติเกี่ยวกับการออกเสียงในคณะมนตรีความมั่นคงด้วยว่าการออกเสียงใน “เรื่องสำคัญ” จะต้องผ่านมติ ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มาประชุมและออกเสียงและในจำนวนนั้นจะต้องมีเสียงของสมาชิกถาวรทั้ง ๕ ประเทศอย่างเป็นเอกฉันท์ ส่วนสมาชิกที่เป็นคู่กรณีพิพาทไม่มีสิทธิออกเสียง เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่ที่ประชุมที่ยัลตาได้มีมติให้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกที่นครแซนแฟรนซิสโก (San Francisco) สหรัฐอเมริกาในวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เพื่อเจรจายกร่างกฎบัตรสหประชาชาติ (UN Charter) โดยกำหนดให้ประเทศพันธมิตรทุกประเทศที่ได้ร่วมลงนามในคำประกาศแห่งสหประชาชาติในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ รวมทั้งประเทศที่เข้ามาสมทบซึ่งได้ประกาศสงครามต่อฝ่ายอักษะก่อนวันที่ ๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ รวม ๕๐ ประเทศ จะได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

 ในที่สุดการประชุมเพื่อจัดทำกฎบัตรสหประชาชาติซึ่งมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยองค์การระหว่างประเทศ” (United Nations Conference on International Organization) ก็เกิดขึ้นตามกำหนดเวลาในวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ณ โรงละครโอเปราแห่งนครแซนแฟรนซิสโก (San Francisco Opera House) นับเป็นการประชุมทางการทูตที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา โดยประกอบด้วยผู้แทนจำนวน ๒๖๐ คนจาก ๕๐ ประเทศผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์กว่า ๒,๕๐๐ คนรวมทั้งผู้แทนองค์การและหน่วยงานเอกชนอีกเป็นจำนวนมากเข้าร่วมประชุมการประชุมดังกล่าวแบ่งเป็นการประชุมใหญ่และการประชุมย่อยของคณะกรรมการ ๑๒ ชุด และคณะอนุกรรมการอีกหลายชุด ซึ่งใช้เวลาเกือบ ๒ เดือนแม้ว่าจะได้มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี โดยมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเป็นคณะทำงานกว่า ๑,๐๐๐ คนก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากผู้แทนประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงใช้เวลาถกเถียงและต่อรองกันในเรื่องต่าง ๆ อยู่เป็นเวลานานจนกว่าจะได้ข้อสรุปตามที่ตนต้องการ การต่อรองมักเกิดขึ้นระหว่างมหาอำนาจกับมหาอำนาจด้วยกันและระหว่างประเทศเล็กกับประเทศใหญ่ รวมทั้งระหว่างประเทศที่มีอาณานิคมกับประเทศที่ไม่มีอาณานิคม โดยมีประเด็นปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่เรื่องการออกเสียงในองค์กรหลักของสหประชาชาติ สิทธิการดูแลอาณานิคม ตลอดจนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมหลังสงครามอย่างไรก็ดี ในที่สุดประเทศเหล่านั้นก็สามารถตกลงกันได้ และการจัดทำกฎบัตรก็เสร็จสิ้นลงโดยการลงมติรับรองของชาติสมาชิกในวันที่๒๕มิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๕ และมีการลงนามโดยผู้แทนชาติสมาชิก ๕๐ ประเทศอย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น ต่อมาในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ โปแลนด์ซึ่งไม่ได้มาร่วมประชุมเจรจาที่นครแซนแฟรนซิสโกก็ได้ลงนามในกฎบัตรด้วย ทำให้มีสมาชิกผู้ก่อตั้งรวมทั้งหมด ๕๑ ประเทศ

 กฎบัตรสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อการให้สัตยาบันจาก ๕ มหาอำนาจและสมาชิกส่วนใหญ่ของสหประชาชาติครบแล้ว สมัชชาเปิดประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษนับเป็นการเริ่มต้นดำเนินงานครั้งแรกขององค์การสหประชาชาติ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๒ การทำงานขององค์กรหลักของสหประชาชาติรวม ๕ องค์กรก็ได้ย้ายไปประจำอยู่ ณ สำนักงานใหญ่ในนครนิวยอร์กสหรัฐอเมริกา ยกเว้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice–ICJ)* ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเฮกประเทศเนเธอร์แลนด์นอกจากนี้ในเวลาต่อมายังได้มีการจัดตั้งสำนักงานขององค์การและหน่วยงานในสังกัดสหประชาชาติในประเทศต่าง ๆ อีกหลายแห่ง เช่น ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 กฎบัตรสหประชาชาติซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญขององค์การประกอบด้วยมาตราต่าง ๆ รวม ๑๑๑ มาตรา กล่าวถึงจุดมุ่งหมาย หลักการ โครงสร้าง และกระบวนการดำเนินงาน ตลอดจนข้อบังคับที่สำคัญของสหประชาชาติไว้อย่างละเอียดและชัดเจนมากกว่ากติกาสัญญาสันนิบาตชาติ (Covenant of the League of Nations)* นับแต่มีผลบังคับใช้ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ จนถึงปัจจุบันกฎบัตรฉบับนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขครั้งใหญ่อย่างเป็นทางการแต่ประการใด เพียงแต่มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกในองค์กรหลักบางองค์กรเท่านั้น ในด้านโครงสร้าง กฎบัตรได้กำหนดให้สหประชาชาติมีองค์กรหลัก ๖ องค์กร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่แตกต่างกันดังนี้

 สมัชชา เป็นที่ประชุมใหญ่ที่สุดของสหประชาชาติเพราะประกอบด้วยชาติสมาชิกทุกประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถส่งผู้แทนของตนเข้าร่วมประชุมได้ไม่เกิน ๕ คน แต่มีสิทธิออกเสียงได้เพียง ๑ เสียง ทั้งนี้เป็นไปตามหลักแห่งความเท่าเทียมกันของรัฐอธิปไตยโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางด้านอำนาจและขนาดของรัฐแต่ประการใด สมัชชามีอำนาจหน้าที่กว้างขวางมากคือสามารถพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะได้ทุกเรื่องที่อยู่ภายในขอบเขตของกฎบัตรฉบับปัจจุบันซึ่งรวมถึงเรื่องการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย แต่โดยเหตุที่กฎบัตรได้กำหนดให้คณะมนตรีความมั่นคงมีหน้าที่พิจารณาเรื่องดังกล่าวก่อนฉะนั้นปัญหาใด ๆ ที่เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศที่คณะมนตรีกำลังพิจารณาดำเนินการอยู่สมัชชาจะไม่สามารถพิจารณาเรื่องนั้น ๆ ได้ เว้นแต่ในกรณีที่คณะมนตรีไม่สามารถทำงานได้


หรือร้องขอให้สมัชชาดำเนินงานแทนตน สมัชชาจึงจะสามารถนำเรื่องนั้น ๆมาพิจารณาได้ นอกจากนี้ สมัชชายังมีอำนาจหน้าที่ในการรับและถอดถอนสมาชิกขององค์การตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคงด้วยทั้งยังมีอำนาจในการพิจารณาและอนุมัติงบประมาณประจำปีและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ขององค์การ รวมทั้งการจัดทำรายงานประจำปีและพิจารณารายงานประจำปีและรายงานพิเศษขององค์กรอื่นและหน่วยงานต่าง ๆที่เสนอเข้ามา

 ส่วนในเรื่องการลงมติตัดสินใจ กฎบัตรได้กำหนดไว้ว่า “เรื่องสำคัญ” ที่ได้มีการจัดทำรายการไว้แล้วนั้นจะผ่านมติได้ด้วยเสียง ๒ ใน ๓ ของประเทศที่เข้าประชุมและออกเสียง ในขณะที่ “เรื่องอื่น” ที่เป็นงานประจำจะผ่านมติได้ด้วยเสียงข้างมากจากสมาชิกที่เข้าประชุมและออกเสียง นอกจากนี้ประเทศที่ค้างชำระค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้แก่สหประชาชาติติดต่อกันเป็นเวลา ๒ ปีเต็มจะไม่มีสิทธิออกเสียงในสมัชชา

 คณะมนตรีความมั่นคง เป็นที่ประชุมเล็กลงมาจากสมัชชาแต่มีอำนาจมาก เพราะกฎบัตรได้มอบอำนาจหน้าที่เบื้องต้นในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของสหประชาชาติให้แก่องค์กรนี้ เมื่อแรกตั้งคณะมนตรีความมั่นคงมีสมาชิก ๑๑ ประเทศ โดยแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. สมาชิกถาวร ซึ่งประกอบด้วยมหาอำนาจ ๕ ประเทศที่เป็นผู้ก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ๒. สมาชิกไม่ถาวรที่เลือกเข้ามาวาระละ ๒ ปี จำนวน ๖ ประเทศต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ได้มีการเพิ่มจำนวนสมาชิกประเภทไม่ถาวรนี้อีก ๔ ประเทศ รวมเป็น ๑๐ ประเทศ ดังนั้น ในปัจจุบันคณะมนตรีความมั่นคงจึงมีสมาชิกทั้งหมด ๑๕ ประเทศ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนสมาชิกถาวรนอกจากมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย คือ ใน ค.ศ. ๑๙๗๑ เมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีน (People’s Republic of China) ได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้ที่นั่งในคณะมนตรีความมั่นคงแทนที่สาธารณรัฐจีนในฐานะสมาชิกถาวร และใน ค.ศ. ๑๙๙๑ หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ก็ได้ที่นั่งแทนที่อดีตสหภาพโซเวียตส่วนการเลือกตั้งสมาชิกประเภทไม่ถาวรกระทำโดยสมัชชาโดยใช้การกระจายทางภูมิศาสตร์เป็นเกณฑ์ คือ ๓ ประเทศจากแอฟริกา ๒ ประเทศจากเอเชีย ๑ ประเทศจากยุโรปตะวันออก ๒ ประเทศจากลาตินอเมริกา และ ๒ ประเทศจากยุโรปตะวันตกและรัฐอื่น ๆ

 ในการดำเนินงานเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศนั้น เมื่อมีการเสนอเรื่องเข้ามาคณะมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนว่าเรื่องใดเป็นการคุกคาม เป็นการรุกราน หรือเป็นการทำลายสันติภาพ ต่อจากนั้นก็จะดำเนินการแก้ไขปัญหาจากง่ายไปหายาก โดยการดำเนินงานทางสันติวิธีก่อน เช่น การเจรจา การไกล่เกลี่ย การสืบสวนสอบสวนการสังเกตสถานการณ์การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การส่งเรื่องให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณา (หมวดที่ ๖ ของกฎบัตร) และเมื่อการดำเนินการเหล่านี้ไม่ได้ผล การใช้กำลังจะเป็นวิธีการสุดท้ายที่คณะมนตรีความมั่นคงนำมาใช้ซึ่งก็จะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎบัตร (หมวดที่ ๗) เช่นกัน

 ส่วนในเรื่องการออกเสียงเพื่อลงมติ สมาชิกทุกประเทศมีสิทธิออกเสียงได้ ๑ เสียง การลงมติในเรื่องที่เป็นงานประจำทั่วไปจะใช้เสียงข้างมาก ๙ เสียงขึ้นไปมติจึงจะผ่าน แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศต้องใช้เสียงเห็นชอบข้างมาก ๙ เสียงขึ้นไปเช่นกัน แต่ใน ๙ เสียงนั้นต้องมี ๕ เสียงของสมาชิกถาวรอย่างเป็นเอกฉันท์รวมอยู่ด้วย มติจึงจะผ่านได้ “การงดออกเสียง” และ “การยับยั้ง” หรือ “การวีโต” (veto) ของสมาชิกถาวรประเทศใดประเทศหนึ่งในคณะมนตรีจะทำให้มติไม่ผ่านและทำให้คณะมนตรีไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไปได้การงดออกเสียงและการใช้สิทธิยับยั้งของสมาชิกถาวรจึงกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งของการดำเนินงานในด้านการรักษาสันติภาพของสหประชาชาติหลายครั้ง

 คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม (Economic and Social Council–ECOSOC) เป็นองค์กรหลักที่สำคัญอีกองค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมีสมาชิกที่ได้รับการคัดเลือกจากประเทศต่าง ๆเข้ามาดำรงตำแหน่งวาระละ ๓ ปี จำนวน ๑๘ คน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๖๕ เพิ่มเป็น ๒๗ คน และ ค.ศ. ๑๙๗๓ เพิ่มเป็น ๕๔ คนและยังคงจำนวนนี้ต่อมาจนปัจจุบัน ในจำนวนนี้มหาอำนาจทั้ง ๕ ประเทศของสหประชาชาติมักได้รับเลือกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาแทบทุกวาระ เนื่องจากความสามารถทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ส่วนที่เหลือจะได้รับเลือกตามอัตราส่วนและเกณฑ์ทางภูมิศาสตร์ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมมีหน้าที่และขอบเขตในการทำงานกว้างขวางมาก เพราะนอกจากการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศต่าง ๆ แล้ว ยังมีหน้าที่ติดต่อประสานงานร่วมมือ และทำงานร่วมกับองค์การและหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์การสหประชาชาติที่ทำงานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วย และแม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะได้แบ่งแยกการทำงานทางด้านการเมืองออกจากงานทางด้านเศรษฐกิจและสังคมแล้วก็ตาม แต่งานในหลาย ๆ เรื่องก็มีความเกี่ยวพันหรือเกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมืองด้วย เช่น เรื่องการจัดตั้งและดูแลระบบการคุ้มครองทางด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศซึ่งเป็นปัญหาทางการเมืองด้วย ในหลาย ๆ ครั้งคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมจึงไม่อาจหลีกเลี่ยงงานทางด้านการเมืองระหว่างประเทศได้

 คณะมนตรีภาวะทรัสตี (Trusteeship Council) ได้รับการจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ดินแดนที่ยังไม่ได้รับเอกราช หรือดินแดนที่ยังไม่ได้รับสิทธิปกครองตนเองที่เจ้าของมอบให้อยู่ในความดูแลของคณะมนตรี รวมทั้งดินแดนในอาณัติ (Mandate Territories) ที่ตกทอดมาจากสันนิบาตชาติเพื่อให้ได้เอกราชโดยเร็ว สมาชิกของคณะมนตรีนี้ประกอบด้วยสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงทั้ง ๕ ประเทศและประเทศที่ได้รับเลือกเข้ามาตามวาระวาระละ ๓ ปี อีก ๕ ประเทศ คณะมนตรีต้องส่งรายงานประจำปีให้แก่สมัชชา ยกเว้นดินแดนยุทธศาสตร์ในภาวะทรัสตี (Strategic Trust Territories) ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคง การทำงานของคณะมนตรีภาวะทรัสตีได้ผลมากเพราะภายในสิ้นทศวรรษ ๑๙๖๐ ดินแดนกลุ่มใหญ่ได้รับเอกราชอย่างรวดเร็ว และในทศวรรษต่อมาก็ทยอยกันได้รับเอกราชเป็นระยะ ๆ จนใน ค.ศ. ๑๙๙๔ หมู่เกาะปาเลา (Palau) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ดินแดนในความดูแลแห่งสุดท้ายได้รับเอกราช คณะมนตรีภาวะทรัสตีจึงยุติการปฏิบัติงานอย่างเป็นทางการ แต่อาจมีการเรียกประชุมเป็นวาระพิเศษได้ในกรณีที่จำเป็น

 ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เป็นองค์กรหลักทางด้านการศาลขององค์การสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยการพัฒนาสืบต่อมาจากศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ของสันนิบาตชาติศาลดังกล่าวประกอบด้วยผู้พิพากษาอิสระจำนวน ๑๕ คนซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดของสมัชชาและคณะมนตรีความมั่นคง ผู้พิพากษาเหล่านี้มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๙ ปี โดยเลือกตั้งผู้พิพากษาใหม่จำนวน ๕ คนทุก ๆ ๓ ปี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีหน้าที่พิพากษาอรรถคดีระหว่างประเทศ ตีความสนธิสัญญา ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นในด้านกฎหมายระหว่างประเทศ ตลอดจนการพิจารณาการละเมิดพันธกิจระหว่างประเทศ นอกจากการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีต่าง ๆ ที่ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติส่งเข้ามาแล้ว ศาลยังมีหน้าที่ให้คำปรึกษาหรือให้ความเห็นทางกฎหมายแก่องค์กรต่าง ๆ ขององค์การสหประชาชาติด้วย เช่น การให้ความเห็นในกรณีรับสมาชิกใหม่ขององค์การ กรณีสถานภาพทางกฎหมายขององค์การสหประชาชาติในประชาคมโลกหรือกรณีสิทธิของสมัชชาในการประเมินค่าใช้จ่ายในภารกิจการรักษาสันติภาพที่ประเทศสมาชิกจะต้องจ่ายให้แก่องค์การและการตีความว่าเป็นค่าใช้จ่ายขององค์การหรือไม่ คำพิพากษาของศาลถือว่าเป็นคำสั่งที่มีผลบังคับใช้ต่อคู่กรณี แต่ก็มีคู่กรณีบางประเทศที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งศาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ กันอีกทั้งหลายประเทศมักไม่ยินยอมให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณาคดี เพราะเห็นว่าจะเป็นการลดอธิปไตยของชาติตน นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดอื่น ๆ รวมทั้งมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้องจึงมีคดีที่ส่งมาให้ศาลพิจารณาไม่มากนักอย่างไรก็ดี ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ยังคงเป็นองค์กรหลักที่มีความสำคัญอยู่

 สำนักเลขาธิการ (Secretariat) เป็นองค์กรหลักที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นสำนักงานกลางขององค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยเลขาธิการ (Secretary-General) ๑ คน และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ในจำนวนที่องค์การต้องการ ตำแหน่งเลขาธิการซึ่งเป็นหัวหน้าสำนักงานและผู้บริหารสูงสุดขององค์การมีการแข่งขันกันสูงจะได้รับเลือกโดยการแต่งตั้งของสมัชชาตามคำแนะนำของคณะมนตรีความมั่นคง นอกจากการบริหารงานในสำนักเลขาธิการแล้ว เลขาธิการในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์การยังสามารถเข้าร่วมประชุมต่าง ๆ ขององค์กรหลักทั้งสี่ของสหประชาชาติได้ทุกองค์กร ยกเว้นการประชุมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งยังทำหน้าที่ต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรเหล่านี้ด้วยนอกจากนี้เลขาธิการยังเป็นผู้จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์การเพื่อเสนอต่อสมัชชาด้วย ทั้งยังได้รับมอบอำนาจทางการเมืองจากกฎบัตร (มาตรา ๙๙)ให้มีสิทธินำเรื่องใด ๆ ที่ในความเห็นของตนเป็นการคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงเพื่อพิจารณาเป็นการเร่งด่วนได้บทบัญญัติในข้อนี้ทำให้เลขาธิการสหประชาชาติมีอำนาจมากกว่าเลขาธิการสันนิบาตชาติ ทั้งยังทำให้เลขาธิการสหประชาชาติเข้าไปมีบทบาททางการทูตและการเมืองระหว่างประเทศด้วย อย่างไรก็ดี บทบาททางการเมืองของเลขาธิการขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และความสามารถของแต่ละบุคคลซึ่งในบางครั้งได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา จาก ค.ศ. ๑๙๔๖–๒๐๑๙ องค์การสหประชาชาติมีเลขาธิการทั้งหมด ๙ คน ซึ่งแต่ละคนได้บริหารงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่

 สำนักเลขาธิการมีหน้าที่ในการจัดทำเอกสารจัดหาและรวบรวมข้อมูลและสถิติให้แก่องค์กรต่าง ๆรวมทั้งทำหน้าที่ตีความและแปลเอกสารขององค์การออกเป็นภาษาราชการภาษาต่าง ๆ ตลอดจนการจัดเตรียมและทำรายงานประเภทต่าง ๆ ขององค์การด้วยในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ทั้งเลขาธิการและเจ้าหน้าที่ขององค์การจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในมาตรฐานสูงสุด และในฐานะที่เป็น “บุคคลระหว่างประเทศ” บุคคลเหล่านี้จะไม่แสวงหาอิทธิพลหรือรับคำสั่งจากรัฐบาลหรือหน่วยงานใด ๆ ของชาติสมาชิกทั้งยังต้องถอนตัวออกจากการกระทำหรือกรณีใด ๆ อันจะมีผลกระทบต่อฐานะของตนซึ่งต้องซื่อสัตย์ต่อองค์การเท่านั้น ในทางตรงข้ามชาติสมาชิกก็ต้องเคารพต่อฐานะดังกล่าวของบุคคลเหล่านี้ด้วย

 แม้ว่าผู้จัดทำกฎบัตรจะได้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องต่าง ๆ ของสันนิบาตชาติไว้แล้วอย่างรอบด้านก็ตาม แต่สหประชาชาติก็ยังประสบปัญหาในการดำเนินงานในหลายๆด้านตั้งแต่เริ่มแรกปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวพันกับสงครามเย็นที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะปัญหาการรักษาสันติภาพซึ่งถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่สุดเพราะทำให้เกิดวิกฤตการณ์และความขัดแย้งอันยาวนานภายในองค์การสหประชาชาติ ทั้งยังมีผลกระทบต่อปัญหาอื่น ๆ อีกด้วย ปัญหานี้เกิดจากการที่มหาอำนาจซึ่งเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงต่างใช้สิทธิยับยั้งในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพจนทำให้เกิดภาวะชะงักงันขึ้นบ่อยครั้งในปลายค.ศ. ๑๙๕๐หลังการยับยั้งของสหภาพโซเวียตถึง ๒ ครั้งในกรณีสงครามเกาหลี (Korean War) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายนสหรัฐอเมริกาได้แก้ปัญหานี้โดยการผ่าน “มติสหการเพื่อสันติ” (Uniting for Peace Resolution) เพื่อโอนอำนาจในการพิจารณาตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาสันติภาพมาให้สมัชชาเป็นผู้ดำเนินการแทนคณะมนตรีความมั่นคง (มาตรา ๑๒)การลงมติตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการรักษาสันติภาพในเกาหลีจึงผ่านไปได้ ต่อมาได้มีการใช้มติสหการเพื่อสันติอีก ๓ ครั้งคือในกรณีการปราบปรามของสหภาพโซเวียตในการลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising)* ค.ศ. ๑๙๕๖ วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (Suez Canal Crisis)* ค.ศ. ๑๙๕๖ และวิกฤตการณ์คองโก (Congo Crisis) ค.ศ. ๑๙๖๐ แม้ว่าสหประชาชาติจะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ก็ตาม แต่การใช้มติดังกล่าวก็ทำให้สหภาพโซเวียตโจมตีฝ่ายตะวันตกอย่างรุนแรง ทั้งยังไม่ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายของกองกำลังรักษาสันติภาพ (Peace-keeping Force) ครั้งต่าง ๆ ที่เกิดจากมตินี้ด้วย โดยอ้างว่า “ไม่ชอบธรรม” และเป็นการแก้ไขกฎบัตรอย่างไม่ถูกต้องปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันจึงกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของสหประชาชาติเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดียังมีการใช้มติสหภาพเพื่อสันติต่อมาในบางครั้งจนยุติไปในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐

 นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรา ๙๙ ของเลขาธิการในการรักษาสันติภาพ โดยเริ่มจากการที่ทรีกเว ลี (Trygve Lie) ชาวนอร์เวย์ เลขาธิการคนแรกได้ใช้มาตรานี้สนับสนุนการดำเนินงานของคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาในกรณีสงครามเกาหลีอย่างเต็มที่ จนสามารถจัดตั้งกองทัพผสมของสหประชาชาติไปช่วยเกาหลีใต้ต่อต้านการรุกรานของเกาหลีเหนือได้เป็นผลสำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งทำให้เขาถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากสหภาพโซเวียตว่าใช้อำนาจเกินกว่าที่กฎบัตรกำหนด และในที่สุดก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ทรีกเวลีต้องลาออกจากตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ก่อนหมดวาระที่ ๒ ของเขา ต่อมาในช่วง ค.ศ. ๑๙๕๖–๑๙๖๑ ดั๊ก ฮัมมาร์โชลด์ (Dag Hammarskjöld) ชาวสวีเดน เลขาธิการคนที่ ๒ ได้ใช้มาตรา ๙๙ อย่างกว้างขวางทั้งโดยการสนับสนุนคณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเอเชียและแอฟริกาอย่างเต็มที่ และการดำเนิน “การทูตเงียบ” (Quiet Diplomacy) โดยการเดินทางไปยังสถานที่เกิดเหตุด้วยตนเองเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นสงครามใหญ่ รวมทั้งสามารถเป็นผู้นำจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพขึ้นได้หลายครั้ง บทบาทเหล่านี้ทำให้เขาถูกโจมตีและต่อต้านอย่างมากจากสหภาพโซเวียตจนใน ค.ศ. ๑๙๖๐สหภาพโซเวียตได้เสนอให้ใช้ “ระบบทรอยกา” (Troika) หรือระบบเลขาธิการ ๓ คน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน๑คนจากประเทศฝ่ายตะวันตก ๑ คน จากประเทศคอมมิวนิสต์ และอีก ๑ คน จากกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (Nonaligned Countries) แทนระบบเดิมแม้ว่าข้อเสนอนี้จะไม่ผ่านมติการรับรองของสมัชชา แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจและขัดแย้งอันยาวนานตามมาเช่นเดียวกัน

 อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลากว่า ๗๐ ปีนับแต่ก่อตั้งมา สหประชาชาติก็มีผลงานที่ประสบความสำเร็จนานัปการ เช่น การปลดปล่อยอาณานิคมที่ทำได้อย่างรวดเร็ว การให้ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการศึกษา และวัฒนธรรมโดยผ่านทางคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมองค์การชำนัญพิเศษ(Specialized Agencies) ต่าง ๆ และองค์การอื่น ๆ ในระบบสหประชาชาติที่ทำงานเฉพาะเรื่อง ซึ่งทำให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งในเอเชีย แอฟริกา และลาตินอเมริกาสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งยังช่วยยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรทั่วโลกให้ดีขึ้นด้วย ส่วนในเรื่องการรักษาสันติภาพ แม้จะประสบอุปสรรคและปัญหาหลายประการแต่สหประชาชาติก็สามารถจัดการกับกรณีพิพาทและการสู้รบที่เกิดขึ้นในที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้เป็นผลสำเร็จหลายกรณี เป็นการป้องกันไม่ให้สงครามใหญ่ดังเช่นสงครามโลกทั้ง ๒ ครั้งเกิดขึ้นอีกจึงถือได้ว่ายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นยุคที่โลกมีสันติภาพยุคหนึ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินงานและความร่วมมือขององค์การสหประชาชาติ

 ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอีกหลายด้านที่สหประชาชาติไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงได้ เช่น ปัญหาการสู้รบในเอเชียและแอฟริกาที่ยังคงมีอยู่ปัญหาการก่อการร้ายข้ามชาติ ปัญหาสิทธิมนุษยชนปัญหาการอพยพเคลื่อนย้ายของชนกลุ่มน้อยในประเทศต่าง ๆ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุปัจจัยอื่น ๆ ที่ซับซ้อนหลายประการ สหประชาชาติจึงยังคงต้องใช้เวลาและความพยายามอีกมากในการแก้ไขปัญหาให้ผ่อนคลายลงหรือยุติลง

 อย่างไรก็ดีการยุติของสงครามเย็นในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ก็มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากภายในองค์การสหประชาชาติ ทั้งนี้เพราะมหาอำนาจของทั้ง ๒ ค่ายของสงครามได้หันกลับมาคืนดีกัน ทำให้เกิดความสมานฉันท์และความร่วมมือในการทำงานขององค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งยังมีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เรื้อรังมานานให้ลุล่วงไปได้หลายเรื่อง นอกจากนี้ยังมีการขยายขอบเขตของการดำเนินงานในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้ครอบคลุมไปถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องจากหลายฝ่ายให้มีการปรับปรุงองค์การให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีความทันสมัยสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน เช่น รายงานชื่อ “ระเบียบวาระเพื่อสันติภาพ” (Agendafor Peace) ค.ศ. ๑๙๙๒ของบูโทรสบูโทรส-กาลี (Boutros Boutros-Ghali) ชาวอียิปต์ เลขาธิการคนที่ ๖ ที่เสนอให้มีการปรับปรุงในด้านการรักษาสันติภาพ ข้อเสนอของประเทศต่าง ๆ ให้มีการปรับปรุงโครงสร้างและการดำเนินงานขององค์การในด้านต่าง ๆ องค์การสหประชาชาติจึงเริ่มดำเนินการปรับปรุงมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ ในปัจจุบันแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคาดว่าจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ประเทศสมาชิกต่าง ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปองค์การเพื่อให้สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองโลกต่อไป.



คำตั้ง
United Nations
คำเทียบ
สหประชาชาติ
คำสำคัญ
- กฎบัตรแอตแลนติก
- กติกาสัญญาสันนิบาตชาติ
- การประกันความมั่นคงร่วมกัน
- การประชุมที่กรุงเตหะราน
- การประชุมที่กรุงมอสโก
- การประชุมที่ดัมบาร์ตันโอกส์
- การประชุมที่ยัลตา
- การประชุมแอตแลนติก
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- ความมั่นคงร่วมกัน
- คำประกาศร่วม ๔ ชาติ
- คำประกาศแห่งสหประชาชาติ
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์
- ตำรวจทั้งสี่
- แนวรบด้านที่ ๒
- มหาอำนาจอักษะ
- ยูเครน
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหประชาชาติ
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
- สันนิบาตชาติ
- หลักการประกันความมั่นคงร่วมกัน
- เอสเอ
- เอสเอส
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-