Ukraine (-)

ยูเครน (-)

ยูเครนเป็นประเทศในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้และเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต (Union of the Soviet Socialist Republics–USSR)* เป็นดินแดนที่มีความแตกแยกทางวัฒนธรรมฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตโดยภาคตะวันออกใกล้ชิดกับรัสเซียและภาคตะวันตกใกล้ชิดกับยุโรป ทั้งยังถูกยึดครองจากมหาอำนาจต่างชาติมาโดยตลอด ยูเครนเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุเชียร์โนบีล (Chernobyl Accident)* จากโรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ในยูเครนทางตอนเหนือใน ค.ศ. ๑๙๘๖ ยูเครนได้เป็นประเทศเอกราชเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ โดยใช้โอกาสจากความผันผวนทางการเมืองในกรุงมอสโกที่สืบเนื่องจากการพยายามโค่นอำนาจประธานาธิบดี มีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* แยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและประเทศเอกราชจึงได้ชื่อว่าเป็น “ชาติที่ก่อตั้งขึ้นโดยไม่คาดคิด” (Unexpected Nation) ใน ค.ศ. ๑๙๙๑

 ยูเครนมีเนื้อที่ ๖๐๓,๕๕๐ ตารางกิโลเมตรตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางตะวันออกของทวีปยุโรปมีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศเบลารุส ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศรัสเซีย ทิศใต้จดทะเลดำและติดต่อกับประเทศโรมาเนีย และทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศโรมาเนีย ฮังการี สโลวาเกีย และโปแลนด์มีเมืองหลวงชื่อ กรุงเคียฟ (Kiev) มีจำนวนประชากร ประมาณ ๔๒,๐๓๐,๘๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๙) ประกอบด้วยชาวยูเครนร้อยละ ๗๗.๘ ชาวรัสเซียร้อยละ ๑๗.๓ และ



อื่น ๆ ร้อยละ ๔.๙ ภาษาราชการคือ ภาษายูเครนประชากรนับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ร้อยละ ๖๕.๔ ศาสนาคริสต์นิกายอื่น ๆ ร้อยละ ๑๖.๕ ศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ ๑.๘ และไม่นับถือศาสนาร้อยละ ๑๖.๓ ใช้เงินตราสกุลฮริฟนา (hryvna) เมืองสำคัญ เช่น คาร์คิฟ (Kharkiv) โอเดสซา (Odessa) โดเนตสค์ (Donetske) ดนีโปรเปตรอฟสค์ (Dnepropetrovsk) ลวอฟ (Lvov)

 หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่ามีผู้คนอาศัยอยู่ในดินแดนยูเครนตั้งแต่ยุคหินใหม่ประมาณ ๕,๐๐๐–๔,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ใน ๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราช ชนเผ่าอินโด-ยูโรเปียนที่เรียกว่าซิมเมอเรียน (Cimmerian) จากทวีปเอเชียได้เข้ารุกรานชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในที่ราบสเตปป์ (steppe) ทางตอนใต้จนถึงบริเวณปากแม่น้ำดานูบ (Danube) พวกซิมเมอเรียนเป็นชนเผ่าแรกในยูเครนที่นำเหล็กมาใช้เป็นอาวุธและตั้งชุมชนหนาแน่นตามชายฝั่งตอนเหนือของทะเลดำแต่ใน ๗๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชก็ถูกพวกซิเทียน (Scythian) จากเอเชียกลางซึ่งเชี่ยวชาญในการรบบนหลังม้าและการใช้ธนูและดาบสั้นเข้ารุกรานและปกครอง ในช่วงเวลาเดียวกัน พวกกรีกก็อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานและสถานีการค้าในคาบสมุทรไครเมียบริเวณชายฝั่งทะเลดำตอนเหนือและทะเลอาซอฟ (Azov) อาณานิคมกรีกนี้ในเวลาต่อมาตกอยู่ใต้การยึดครองของจักรวรรดิโรมัน พวกกรีกได้สร้างความสัมพันธ์ธงชาติยูเครนทางการค้ากับพวกซิเทียนและชนเผ่าอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง

 ใน ๓๐๐ ปีก่อนคริสต์ศักราชพวกเร่ร่อนซาร์เมเทียน (Sarmatian) ซึ่งเป็นเผ่านักรบเชื้อสายอิหร่านจากเอเชียตอนกลางได้เข้ารุกรานและปกครองพวกซิเทียนต่อมาได้รับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของพวกซิเทียนพวกซาร์เมเทียนมีอำนาจปกครองยูเครนเป็นเวลาหลายร้อยปี อย่างไรก็ตาม ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑ อนารยชนเผ่ากอท (Goth) จากแถบภูมิภาคบอลติก (Baltic) ได้อพยพเข้ามาและขับไล่พวกซาร์เมเทียนแต่อาณาจักรเฮอร์มานิก (Hermanic) ของพวกกอทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทะเลดำจนถึงทะเลบอลติกก็ล่มสลายลงใน ค.ศ. ๓๗๕ เมื่อถูกพวกฮั่น (Hun) เข้าโจมตีและยึดครอง ต่อมาระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๕–๖ พวกบัลการ์ (Bulgar) และเอวาร์ (Avar) บุกเข้ารุกรานและจัดตั้งอาณาจักรขึ้นปกครองดินแดนตั้งแต่แม่น้ำวอลกา (Volga) จนถึงแม่น้ำเอลเบ (Elbe) ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๗–๙ ยูเครนก็ถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรกาซาร์ (Khazar kingdom) ของพวกกาซาร์เชื้อสายเติร์ก พวกกาซาร์ยอมรับศาสนายูดาห์ (Judaism) และทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าขายระหว่างจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) กับอาณาจักรของพวกอาหรับ ขณะเดียวกันพวกกาซาร์ก็ขยายอำนาจเข้าปกครองดินแดนแถบแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) ที่พวกสลาฟตะวันออกอาศัยอยู่และบังคับให้พวกสลาฟตะวันออกส่งเครื่องบรรณาการให้แก่ตนอย่างไรก็ตาม ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ พวกแมกยาร์ (Magyar) และพวกเพเชเนก (Pecheneg) ได้รุกรานแย่งชิงดินแดนของพวกกาซาร์ทางลุ่มแม่น้ำวอลกาตอนใต้ การรุกรานดังกล่าวเปิดโอกาสให้พวกสลาฟเป็นอิสระจากพวกกาซาร์

 ในคริสต์ศตวรรษที่๙พวกสลาฟตะวันออกรวมตัวกันขยายดินแดนเข้าไปในภูมิภาคทางตะวันตกและทางตอนใต้ทั้งจัดตั้งเมืองขึ้นหลายแห่งซึ่งต่อมากลายเป็นศูนย์อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น เคียฟนอฟโกรอด (Novgorod) ตามฝั่งขวาของแม่น้ำนีเปอร์รวมทั้งเมืองท่าทางตอนเหนือของทะเลดำ แต่ในเวลาอันสั้นพวกวาแรนเจียน (Varangian) ซึ่งเป็นชนเผ่าไวกิ้ง (Viking) ที่ควบคุมเส้นทางการค้าระหว่างทะเลบอลติกกับจักรวรรดิไบแซนไทน์ก็เข้าแย่งชิงการค้าและยึดครองเมืองต่างๆของพวกสลาฟตะวันออกใน ค.ศ. ๘๖๒ รูริค (Rurik) ผู้นำพวกวาแรนเจียนก็สถาปนาราชวงศ์วาแรนเจียนขึ้นปกครองพวกสลาฟตะวันออก และต่อมาก็สามารถขยายอาณาเขตและอำนาจออกไปอย่างกว้างขวางจนจัดตั้งอาณาจักรเคียฟขึ้นปกครองเผ่าสลาฟและชนเผ่าต่าง ๆ ได้ โดยมีพรมแดนจากทะเลดำจดทะเลบอลติกและจากทะเลแคสเปียน (Caspian) จดเทือกเขาคาร์เพเทียน (Carpathian) ใน ค.ศ. ๙๘๘ ราชวงศ์วาแรนเจียนหันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายกรีกออร์ทอดอกซ์แทนการนับถือเทพเจ้าและภูติผี การนับถือคริสต์ศาสนาดังกล่าวนับเป็นการรับอารยธรรมตะวันตกเข้าในอาณาจักรซึ่งทำให้มีสถานภาพเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจากอาณาจักรเพื่อนบ้านต่าง ๆ ในเวลาต่อมา กรุงเคียฟราชธานีของอาณาจักรเป็นศูนย์กลางของระบอบการปกครองแบบฟิวดัลในยุโรปตะวันออก พระประยูรญาติของเจ้าผู้ครองเคียฟได้อภิเษกสมรสกับสมาชิกในราชวงศ์ของดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป เช่น จักรวรรดิไบแซนไทน์สวีเดนฝรั่งเศสฮังการีนอร์เวย์โปแลนด์ อาณาจักรเคียฟจึงมีความสัมพันธ์กับโลกตะวันตกมากขึ้น

 อาณาจักรเคียฟมีความสำคัญและอิทธิพลสูงสุดในรัชสมัยวลาดีมีร์ที่ ๑ (Vladimir I ค.ศ. ๙๘๐–๑๐๑๕) และโดยเฉพาะในรัชสมัยพระโอรสเจ้าชายยาโรสลาฟ ผู้ชาญฉลาด (Yaroslav the Wise ค.ศ. ๑๐๑๙–๑๐๕๔) ยาโรสลาฟทรงจัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใน ค.ศ. ๑๐๓๖ เพื่อรวบรวมกฎหมายจารีตนิยมต่าง ๆ เป็นหมวดหมู่เหมือนกฎหมายโรมันซึ่งนับเป็นประมวลกฎหมายแรกที่มีขึ้นในอาณาจักรสลาฟ ในปีต่อมาทรงสร้างมหาวิหารเซนต์โซเฟีย (St. Sophia) ซึ่งเป็นอาคารรูปเหลี่ยมหลังคาโค้งรูปโดมขึ้น โดยเลียนแบบมหาวิหารเซนต์โซเฟียที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ของจักรวรรดิไบแซนไทน์เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่เคียฟได้รับการจัดตั้งเป็นเขตอัครมุขมณฑล (metropolitian see) ในปีเดียวกันวิหารเซนต์โซเฟียซึ่งพวกสลาฟได้ประดับประดาใหม่ให้มีสีสันที่งดงามเจิดจ้าจึงกลายเป็นแม่แบบของศิลปะสลาฟในสมัยต่อมาด้วย นอกจากนี้ ยาโรสลาฟยังขยายพระราชอำนาจไปยังดินแดนห่างไกลต่าง ๆ ทั้งมีการจัดตั้งเมืองชายแดนขึ้นในที่ต่าง ๆ ราชอาณาจักรของพระองค์จึงครอบคลุมอาณาบริเวณตั้งแต่ทะเลสาบ ลาโดกา (Ladoga) ทางตอนเหนือจนจดแม่น้ำนีเปอร์ทางตอนใต้ และจากแม่น้ำโอคา (Oka) ทางตะวันออกจดแม่น้ำบัก (Bug) ทางตะวันตก อาณาจักรเคียฟรัส (Kievan Rus) ในทางภูมิศาสตร์นับเป็นอาณาจักรที่กว้างใหญ่ที่สุดในยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑และมีชื่อเรียกที่รู้จักกันทั่วไปอีกชื่อหนึ่งว่ารูทีเนีย (Ruthenia) นอกจากนี้ชื่อยูเครนซึ่งหมายถึง “แผ่นดิน-พรมแดน” (border-land) ก็ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นครั้งแรกในแผนที่ที่จัดทำขึ้นในช่วงเวลานั้นโดยมีความหมายถึงดินแดนในอาณาเขตของรัส ประกอบด้วยราชรัฐเคียฟ ราชรัฐเชียร์นีอิฟ (Chernihiv) และราชรัฐเปเรยาสลาฟ (Pereyaslav) ส่วนความหมาย “รัสที่ยิ่งใหญ่” (Greater Rus) ครอบคลุมถึงดินแดนทั้งหมดที่อยู่ใต้การปกครองของเคียฟซึ่งรวมถึงดินแดนของพวกฟินโน-ยูกริก (Finno-Ugric) ทางตะวันออกเฉียงเหนือด้วย

 ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒ หลังจากที่เจ้าชายยาโรสลาฟสิ้นพระชนม์ เกิดปัญหาการแย่งชิงบัลลังก์และบรรดาเจ้านครต่าง ๆ พยายามแยกตัวเป็นอิสระทั้งพวกเร่ร่อนกลุ่มต่าง ๆ ก็เริ่มเข้ารุกราน อาณาจักรเคียฟที่รุ่งเรืองจึงอ่อนแอ ในทางตะวันออกเฉียงเหนือราชรัฐซูซดัล (Principality of Suzdal) หรือนครมอสโก (Moscow) เริ่มมีอำนาจเข้มแข็งและในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในการสร้างชาติรัสเซียขึ้น ใน ค.ศ. ๑๑๖๙ เจ้าชายอันเดรย์ โบกอลยับสกี (Andrei Bogolyubsky) แห่งรอสตอฟซูซดัล (Rostovsuzdal) เจ้าผู้ครองนครวลาดีมีร์ (Vladimir Principality) ก็สามารถยึดครองกรุงเคียฟได้ แต่ต่อมาใน ค.ศ. ๑๑๙๙ นครโวลิเนีย (Volynia)และนครฮาลิช (Halych) บนฝั่งแม่น้ำดนีสเตอร์ (Dniester) ได้รวมตัวกันเป็นราชรัฐใหญ่ที่เข้มแข็งซึ่งมีดินแดนเคียฟรวมอยู่ด้วย ราชรัฐฮาลิช-โวลิเนีย (Halych-Volynia) หรือยูเครนปัจจุบันจึงเป็นดินแดนที่สืบทอดการปกครองของอาณาจักรเคียฟรัส อย่างไรก็ตาม การรุกรานของพวกตาร์ตาร์ (Tartar) หรือมองโกลในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๓ ก็ทำให้ราชรัฐฮาลิช-โวลิเนียที่เข้มแข็งในท้ายที่สุดพ่ายแพ้ต่อมองโกลในการทำสงครามระหว่าง ค.ศ. ๑๒๓๙–๑๒๔๐ และกรุงเคียฟถูกทำลาย การปกครองที่กดขี่ของพวกมองโกลยังทำให้ชาวยูเครนอพยพหนีไปอยู่ที่โปแลนด์และฮังการี อย่างไรก็ตาม พวกมองโกลก็ไม่ได้ปกครองยูเครนโดยตรงแต่มอบอำนาจให้เจ้าผู้ครองท้องถิ่นที่มองโกลไว้วางใจทำหน้าที่เก็บภาษีและรวบรวมบรรณาการ เจ้าผู้ครองนครมอสโกซึ่งได้รับการยอมรับจากพวกมองโกลจึงมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่ดังกล่าวซึ่งทำให้นครมอสโกในเวลาต่อมาได้ประกาศตนเป็นเอกราชจากมองโกลและรวมนครอื่น ๆ จัดตั้งเป็นอาณาจักรมัสโกวี (Muscovy) ขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔

 ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เกไดมินาส (Gediminas)กษัตริย์แห่งลิทัวเนียทรงอภิเษกสมรสกับราชินีโปแลนด์และได้ขยายอำนาจเข้าไปครอบครองดินแดนยูเครนทางตะวันตกเฉียงเหนือและตอนกลางในขณะเดียวกันราชอาณาจักรโปแลนด์ในรัชสมัยพระเจ้าคาซิเมียร์มหาราช (Casimir the Great ค.ศ. ๑๓๓๓–๑๓๗๐) ก็ยึดครองยูเครนทางตะวันออกซึ่งรวมทั้งราชรัฐกาลิเซีย (Galicia) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๓๘๖ เจ้าชายโยไกดา (Jogaida) แห่งลิทัวเนียได้ครองบัลลังก์โปแลนด์โดยเฉลิมพระนามว่าวลาดิสลาฟ ยายีลโล (Wladislav Jagiello) และพระองค์ทรงให้วีเทาทัส (Vytautas) พระญาติปกครองลิทัวเนีย ใน ค.ศ. ๑๔๑๓ โปแลนด์และลิทัวเนียซึ่งผนึกกำลังต่อต้านพวกมองโกลและเยอรมันทิวทอนิกจนมีชัยชนะได้ร่วมลงนามในสนธิสัญญาแห่งสหภาพ (Treaty of Union) สร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างทั้ง ๒ อาณาจักร สนธิสัญญาแห่งสหภาพไม่เพียงเป็นพื้นฐานของการรวมตัวเข้าเป็นราชอาณาจักรเดียวกันในเวลาต่อมาเท่านั้น แต่ยังทำให้โปแลนด์เริ่มมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมและศาสนาในดินแดนยูเครนมากขึ้นด้วย

 ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ อาณาจักรมัสโควีในรัชสมัยซาร์อีวานที่ ๓ (Ivan III ค.ศ. ๑๔๖๒–๑๕๐๕) หรือซาร์อีวานมหาราช (Ivan the Great) ได้ขยายอำนาจเข้าไปในดินแดนยุโรปตะวันออกและบริเวณคาบสมุทรไครเมีย การขยายอำนาจดังกล่าวมีส่วนคุกคามความมั่นคงของโปแลนด์และลิทัวเนีย ใน ค.ศ. ๑๕๖๙ ทั้ง ๒ ราชอาณาจักรจึงทำความตกลงทางการเมืองในสนธิสัญญาสหภาพแห่งลูบิน (Treaty Union of Lubin) จัดตั้งการปกครองแบบสหพันธรัฐที่เรียกว่าเครือจักรภพสองชาติ (Commonwealth of the Two Nations) หรือเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) ขึ้นยูเครนจึงตกอยู่ใต้การปกครองของโปแลนด์โดยตรงและโปแลนด์สนับสนุนให้ชาวนาโปลเข้าไปตั้งรกรากในยูเครนรวมทั้งส่งเสริมการสร้างเมืองและหมู่บ้านขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันขุนนางยูเครนก็เริ่มถูกกลืนเข้ากับราชสำนักโปแลนด์ อย่างไรก็ตามโปแลนด์ก็ปกครองยูเครนอย่างเข้มงวดและบีบบังคับชาวนายูเครนให้ทำงานเป็นทาสติดที่ดิน (serf) ทั้งให้ใช้ภาษาโปลในการติดต่อสื่อสาร ตลอดจนกดดันและโน้มน้าวชาวยูเครนให้หันมานับถือคริสต์ศาสนานิกายคาทอลิก ปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างชาวยูเครนที่นับถือนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์กับนิกายคาทอลิกจึงก่อตัวขึ้นและมีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ต่อมาชาวยูเครนที่รักอิสระจำนวนไม่น้อยก็หลบหนีการเป็นทาสติดที่ดินไปตั้งรกรากใหม่ตามบริเวณชายแดนตอนใต้โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำดอนและนีเปอร์และมีชื่อเรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่าพวกคอสแซค (Cossack)* รัฐบาลโปแลนด์พยายามกวาดล้างและปราบปรามพวกคอสแซคอย่างเด็ดขาดแต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนพวกคอสแซคและเห็นว่าการต่อสู้ของพวกคอสแซคเป็นสงครามปลดปล่อยจากแอกของโปแลนด์

 ใน ค.ศ. ๑๖๔๘ พวกคอสแซคยูเครนซึ่งมี บ็อกดาน ฮเมลนิตสกี (Bohdan Khmelnytsky) ขุนนางชั้นผู้น้อยที่เคยเป็นนายทหารฝ่ายคอสแซคเป็นผู้นำได้รวบรวมกำลังคนจัดตั้งเป็นกองทัพและก่อการลุกฮือขึ้นต่อต้านโปแลนด์โดยได้รับการสนับสนุนจากพวกตาร์ตาร์ การลุกฮือดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงสมัยที่เรียกกันว่า “การเสื่อมถอย” (Ruin) เพราะทำให้เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียที่เข้มแข็งอ่อนแอลงฮเมลนิตสกีมีชัยชนะในสงครามใหญ่กับโปแลนด์ ๒ ครั้งและสามารถจัดตั้งรัฐอิสระขึ้นได้ในทางตอนใต้ลุ่มน้ำนีเปอร์ โปแลนด์ถูกบีบให้ยอมรับอำนาจอธิปไตยของรัฐคอสแซคในสนธิสัญญาซบอรีฟ (Treaty of Zboriv) ค.ศ. ๑๖๔๙ อย่างไรก็ตาม ฮเมลนิตสกีก็ไม่ไว้วางใจโปแลนด์และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของรัฐใต้การปกครอง เขาทำความตกลงเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในสนธิสัญญาเปเรยาสลาฟ (Treaty of Pereyaslav) ใน ค.ศ. ๑๖๕๔ เพื่อให้รัสเซียคานอำนาจกับโปแลนด์ ในเวลาต่อมารัสเซียจึงอ้างว่ายูเครนได้ยอมรับอำนาจของซาร์แห่งรัสเซียและขอเข้ามาสวามิภักดิ์ด้วยการยอมทำความตกลงใน ค.ศ. ๑๖๕๔ แต่การที่รัสเซียพยายามแทรกแซงกิจการภายในของยูเครนและปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับดินแดนในเบลารุส (Belarus) ทำให้ อีวาน วีฮอฟสกี (Ivan Vyhovsky) ผู้นำยูเครนคนต่อมาตัดความสัมพันธ์กับรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๖๕๘ วีฮอฟสกีได้ลงนามกับโปแลนด์ใหม่ในสนธิสัญญาฮาเดียช (Treaty of Hadiach) โดยยูเครนยอมเข้าเป็นรัฐหนึ่งในเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ขุนนางโปแลนด์ต่อต้านสนธิสัญญาฉบับนี้และปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันทั้งหันไปร่วมมือกับรัสเซียให้ช่วยปราบปรามยูเครนตลอดจนปลุกปั่นชาวนาให้ก่อกบฏ ความวุ่นวายทางการเมืองดังกล่าวมีผลให้วีฮอฟสกีต้องสละอำนาจการปกครองและหนีไปพึ่งกษัตริย์โปแลนด์ ยูเครนจึงเข้าสู่กลียุคที่เป็นช่วงสมัยแห่งการเสื่อมถอย โปแลนด์และรัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสเข้าแย่งชิงดินแดนยูเครนเพื่อครอบครองและนำไปสู่การลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาอันดรูโซโว (Treaty of Andrusovo) ใน ค.ศ. ๑๖๖๗ ซึ่งแบ่งยูเครนออกเป็น๒ ส่วน ระหว่างโปแลนด์กับรัสเซีย

 สนธิสัญญาอันดรูโซโวกำหนดให้ดินแดนยูเครนตะวันตกบนฝั่งขวาของแม่น้ำนีเปอร์ซึ่งประกอบด้วยราชรัฐกาลิเซีย และวอลฮิเนีย (Volhynia) เป็นของโปแลนด์ ส่วนดินแดนยูเครนตะวันออกบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำนีเปอร์เป็นของรัสเซีย โปแลนด์สนับสนุนชาวนาโปลให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนยูเครนที่ครอบครองและบังคับชาวนายูเครนให้เป็นทาสติดที่ดิน รวมทั้งดำเนินการกวาดล้างปราบปรามพวกคอสแซคอย่างเด็ดขาด พวกคอสแซคจึงหันไปร่วมมือกับพวกออตโตมันเพื่อต่อต้านโปแลนด์ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามอย่างต่อเนื่อง ชาวนายูเครนจึงอพยพหนีไปอยู่ในดินแดนฝั่งซ้ายและพื้นที่ใกล้เคียง จำนวนประชากรจึงลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทั้งพวกคอสแซคและออตโตมันก็ล้มเหลวที่จะต่อสู้กับโปแลนด์และใน ค.ศ. ๑๖๘๑ การแทรกแซงทางทหารของออตโตมันก็สิ้นสุดลง โปแลนด์จึงกลับมาปกครองดินแดนยูเครนตะวันตกอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่ง ส่วนดินแดนยูเครนตะวันออกที่รัสเซียปกครอง รัสเซียสนับสนุนให้ชาวยูเครนหลอมรวมกับรัสเซียโดยพยายามชี้นำให้เห็นว่าทั้งรัสเซียและยูเครนสืบสายมาจากพวกสลาฟตะวันออก ทั้งมีรากภาษาและวัฒนธรรมเดียวกันอาณาจักรเคียฟรัสซึ่งเคยปกครองชนเผ่าสลาฟและชนเผ่าต่าง ๆ คือรากฐานของชาติรัสเซีย รัสเซียได้ทำข้อตกลงกับพวกคอสแซคโดยยอมรับอำนาจการปกครองตนเองของพวกคอสแซค และยกเว้นการเก็บภาษีโดยมีเงื่อนไขว่าคอสแซคจะทำหน้าที่เป็นกองทหารประจำชายแดนเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก ในเวลาต่อมาคอสแซคจึงกลายเป็นกองทหารที่จงรักภักดีต่อซาร์และได้ชื่อว่าเป็นพวกคอสแซคที่ขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ รัสเซียยังสนับสนุนอยู่เบื้องหลังให้พวกคอสแซคก่อการเคลื่อนไหวที่จะรวมยูเครนตะวันตกเข้ากับยูเครนตะวันออก อย่างไรก็ตามต่อมาในรัชสมัยของซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒–๑๗๙๖) รัสเซียได้ปกครองพวกคอสแซคอย่างเข้มงวดโดยถือว่ายูเครนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซีย

 ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อโปแลนด์เผชิญปัญหาการเมืองภายในเกี่ยวกับการเลือกกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองบัลลังก์สืบจากพระเจ้าออกัสตัสที่ ๓ (Augustus III) ที่สวรรคตใน ค.ศ. ๑๗๖๓ ซารีนาแคเทอรีนมหาราชแห่งรัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสเข้าแทรกแซงโดยสนับสนุนเจ้าชายสตานีสลาฟ ปอเนียตอฟสกี (Stanislav Poniatowsky) ชู้รักคนหนึ่งของพระนางให้ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ขณะเดียวกันพระนางก็ดำเนินนโยบายตามแนวทางของซาร์ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great ค.ศ. ๑๖๘๒–๑๗๒๕) ด้วยการขยายพรมแดนเข้าไปในโปแลนด์ ซึ่งนำไปสู่การแบ่งดินแดนโปแลนด์ ๓ ครั้ง ในค.ศ. ๑๗๗๒ ค.ศ. ๑๗๙๓ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ ระหว่างรัสเซีย ออสเตรีย และปรัสเซีย ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งแรก ดินแดนยูเครนที่เป็นราชรัฐกาลิเซียตกเป็นของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire) ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๒ ระหว่างปรัสเซียกับรัสเซีย รัสเซียได้ยูเครนตะวันตกบนฝั่งขวาของแม่น้ำนีเปอร์และดินแดนทางตะวันออกของวอลฮิเนีย ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๓ รัสเซียได้ดินแดนส่วนที่เหลือทั้งหมดของวอลฮิเนียยูเครนจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนในจักรวรรดิรัสเซีย และต่อมารัสเซียได้จัดแบ่งรูปการปกครองให้เป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิและแต่งตั้งข้าหลวงจากกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) มาปกครอง

 ในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ทั้ง ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑–๑๘๒๕)* และซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕–๑๘๕๕)* ทรงดำเนินนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย (russification) ในการปกครองยูเครน และบังคับองค์การศาสนจักรของยูเครนให้ยอมรับอำนาจของคริสตจักรรัสเซียออร์ทอดอกซ์ รวมทั้งปราบปรามการเคลื่อนไหวของปัญญาชนที่จะกระตุ้นจิตสำนึกของความรักชาติในหมู่ประชาชน เมื่อพวกโปลก่อกบฏเพื่อแยกตัวออกจากรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๓๐ และในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ปัญญาชนยูเครนจำนวนหนึ่งได้เคลื่อนไหวสนับสนุนพวกโปล และรณรงค์ทางวัฒนธรรมโดยใช้กวีนิพนธ์เป็นสื่อปลุกจิตสำนึกทางการเมืองและความรักชาติ นักเขียนและกวีคนสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจของการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางวัฒนธรรมคือตารัส เชฟเชนโค (Taras Shevchenko)และเลสยา อูไครน์คา (LesyaUkrainka) รัสเซียปราบปรามอย่างเด็ดขาดและปกครองยูเครนอย่างเข้มงวด มีการเขียนประวัติศาสตร์ยูเครนใหม่โดยชี้ว่ายูเครนเป็นชนเผ่าเดียวกับรัสเซียที่เรียกว่า “ชาวรัสเซียน้อย” (LittleRussians) แต่ถูกพวกมองโกลหรือตาร์ตาร์แบ่งแยกออกจากรัสเซียทั้งถูกโปแลนด์เข้าครอบงำ รัสเซียจึงนำยูเครนกลับถิ่นสู่อ้อมอกของมาตุภูมิ และฟื้นฟูให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียทั้งกายและวิญญาณ ใน ค.ศ. ๑๘๖๓ รัสเซียห้ามการใช้ภาษายูเครนในสถาบันการศึกษาทุกระดับและห้ามพิมพ์เผยแพร่หนังสือและผลงานด้านวัฒนธรรมที่ใช้ภาษายูเครน ข้อห้ามดังกล่าวมีส่วนทำให้นักเขียนและปัญญาชนยูเครนหันไปพิมพ์เผยแพร่ผลงานในดินแดนยูเครนกาลิเซียซึ่งอยู่ใต้การปกครองของออสเตรียการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมจึงเริ่มรวมศูนย์ไปอยู่ที่กาลิเซียแทนเนื่องจากออสเตรียปกครองกาลิเซียอย่างผ่อนปรน ทั้งให้สิทธิการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง

 ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีการเคลื่อนไหวจัดตั้งสมาคมหรือชมรมลับตามเมืองต่าง ๆโดยมีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมการเผยแพร่วัฒนธรรมการศึกษา และสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาษายูเครน สมาคมลับที่มีนักศึกษาเป็นสมาชิกหลายสมาคมในเวลาต่อมาได้หันมาสนใจทางการเมืองและเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคมจนนำไปสู่การจัดตั้งพรรคปฏิวัติยูเครน (Revolutionary Ukrainian Party) ขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๐๐ เพื่อเคลื่อนไหวเรียกร้องการสร้างรัฐยูเครนที่เป็นเอกราชและเป็นรัฐเดียวที่แบ่งแยกไม่ได้ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวก็มีอิทธิพลไม่มากนักในทางสังคมและรัสเซียยังสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของปัญญาชนไว้ได้และเพิ่มมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการใช้นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย

 เมื่อเกิดการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕ (Russian Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคมที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ปัญญาชนยูเครนจึงเห็นเป็นโอกาสปลุกระดมกรรมกรและชาวนาก่อการเคลื่อนไหวทางสังคมและเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔–๑๙๑๘)* ทรงพยายามควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองทั้งในรัสเซียและดินแดนใต้การปกครองด้วยการประกาศ “คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม” (October Manifesto) เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและให้จัดตั้งสภาดูมา (Duma) ขึ้นนโยบายดังกล่าวทำให้รัสเซียผ่อนปรนการควบคุมยูเครนและยอมให้มีการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ภาษายูเครนในระดับหนึ่ง รวมทั้งให้มีการเลือกตั้งผู้แทนยูเครนเข้าร่วมในสภาดูมาสมัยที่ ๑ (๑๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๐๖–๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖) และสภาดูมาสมัยที่ ๒ (๕ มีนาคม ๑๙๐๗–๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗) แต่เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงประกาศยุบสภาและเปลี่ยนแปลงกฎหมายการเลือกตั้งใหม่โดยกำหนดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้สมัครให้สูงขึ้น และลดจำนวนการมีผู้แทนของชนกลุ่มน้อยลงและอื่น ๆ ผู้แทนยูเครนในสภาดูมาสมัยที่ ๓ (๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๗–๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๒) และสมัยที่ ๔ (๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒–๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗) ซึ่งมีจำนวนน้อยคนก็แทบจะไม่มีบทบาทใด ๆ ในทางการเมืองปัญญาชนยูเครนจึงหันมาเคลื่อนไหวนอกสภาเพื่อปลุกจิตสำนึกทางการเมืองและเรียกร้องอำนาจการปกครองตนเองแต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวก็แทบจะไม่มีอิทธิพลใด ๆ ต่อประชาชนเพราะส่วนใหญ่ยังคงผูกพันกับรัสเซีย

 สงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ มีผลกระทบอย่างมากต่อยูเครนรัสเซียหันมาปราบปรามชาวยูเครนที่รักชาติและสั่งปิดองค์การที่เผยแพร่แนวคิดชาตินิยมและวัฒนธรรมยูเครน ขณะเดียวกันก็เคลื่อนกำลังเข้ายึดครองยูเครนตะวันออกหรือแคว้นกาลิเซียของออสเตรีย ออสเตรียพ่ายแพ้ในการรบและในช่วงล่าถอยออกจากกาลิเซียได้สังหารชาวยูเครนที่ต้องสงสัยว่าสนับสนุนรัสเซียเป็นจำนวนนับหมื่นคน หลังการยึดครองกาลิเซียได้ รัสเซียใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซียในกาลิเซีย แต่ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๕ ออสเตรียก็แย่งชิงกาลิเซียกลับคืนได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลงกาลิเซียได้ถูกรวมเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของโปแลนด์ซึ่งได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศอีกครั้งตามข้อตกลงสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่โปแลนด์ก็ปกครองกาลิเซียได้เพียง๑๖ปีเท่านั้นเพราะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สหภาพโซเวียตซึ่งอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของกาลิเซียมาโดยตลอดได้เข้ายึดครองกาลิเซียและรวมเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน(Ukrainian Soviet Socialist Republic) ใน ค.ศ. ๑๙๔๑

 หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซียซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* หมดอำนาจและรัสเซียปกครองในระบอบทวิอำนาจ (dual power) ที่มีรัฐบาลเฉพาะกาลและสภาโซเวียต (Soviet) ร่วมกันบริหารปกครองเพื่อเตรียมจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวเปิดโอกาสให้ปัญญาชนและกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ในยูเครนจัดตั้งสภาที่เรียกว่า “เซนทรัลราดา” (Central Rada) ขึ้นที่กรุงเคียฟในเดือนมีนาคม ต่อมาในเดือนเมษายนก็ประกาศให้สภาที่จัดตั้งเป็นองค์การบริหารสูงสุดในยูเครนโดยมีไฮโล รูเชฟสกี (Mykhaylo Hrushevsky) นักประวัติศาสตร์ชาตินิยมเป็นประธานสภาคนแรกสภามีวัตถุประสงค์จะจัดการบริหารปกครองตนเองและร่วมผลักดันการเปลี่ยนรัสเซียให้เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตย รัฐบาลเฉพาะกาลรัสเซียยอมรับสิทธิการปกครองตนเองของยูเครนและรับรองสภาเป็นองค์การที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาเมื่อพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ยึดอำนาจทางการเมืองได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) สภายูเครนปฏิเสธที่จะรับรองอำนาจของรัฐบาลบอลเชวิคและประกาศแยกตัวเป็นสาธารณรัฐแห่งชาติยูเครน (Ukrainian National Republic) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายนค.ศ. ๑๙๑๗ฝ่ายบอลเชวิคตอบโต้ด้วยการจัดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วยูเครน (All-Ukrainian Congress of Soviets) ขึ้นที่เมืองคราคูฟ (Kraków) และประกาศว่ายูเครนเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐโซเวียต และมีการจัดตั้งรัฐบาลยูเครนขึ้นทั้งส่งกำลังทหารบุกกรุงเคียฟ ตลอดจนปลุกระดมกลุ่มปัญญาชนยูเครนที่สนับสนุนโซเวียตให้ก่อการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลยูเครน อย่างไรก็ตาม ยูเครนได้เจรจาแยกทำสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* และต่อมาได้ใช้ประโยชน์จากการที่รัสเซียซึ่งถูกเยอรมนีบีบบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับประเทศมหาอำนาจกลางเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ให้รัสเซียถอนกำลังกองทัพแดง (Red Army)* จากการยึดครองยูเครนและประกาศแยกตัวเป็นเอกราช แต่เมื่อเยอรมนียอมแพ้สงครามด้วยการลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* กับฝ่ายสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ สหภาพโซเวียตก็เคลื่อนกำลังบุกยูเครนและยึดครองกรุงเคียฟอีกครั้งหนึ่ง

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑ ยูเครนสนับสนุนกองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวซึ่งมีนายพลอันตอน อีวาโนวิช เดนีกิน (Anton Ivanovich Denikin)* เป็นผู้บังคับบัญชาทำสงครามต่อต้านสหภาพโซเวียตในสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๒๑)* ขณะเดียวกันซีมอน เปตลูย์รา (Symon Petlyura) ผู้นำชาตินิยมยูเครนก็ทำสนธิสัญญาลับ ค.ศ. ๑๙๒๐ กับยูเซฟ ปีลซุดสกี (Józef Pilsudski)* ผู้นำขบวนการชาตินิยมโปแลนด์เพื่อสนับสนุนโปแลนด์ในสงครามรัสเซีย-โปแลนด์ (Russo-Polish War ค.ศ. ๑๙๒๐)* โดยปีลซุดสกีสัญญาจะสนับสนุนการจัดตั้งประเทศสาธารณรัฐประชาชนยูเครน (Ukraine Peoples’ Republic) และรับรองการประกาศเอกราชของยูเครน กองทัพโปลจึงบุกยูเครนตะวันออกเพื่อขับไล่กองทัพแดงออกจากกรุงเคียฟซึ่งก็ประสบความสำเร็จ สหภาพโซเวียตต้องยอมลงนามในสนธิสัญญารีกา (Treaty of Riga)* เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ สละสิทธิในยูเครนตะวันออก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาโปแลนด์อ้างสิทธิการเป็นเจ้าของยูเครนตะวันออกในอดีตและไม่ยอมให้ยูเครนตะวันออกมีอำนาจปกครองตนเอง ที่ประชุมสภาเอกอัครราชทูต (Council of Ambassadors) แห่งสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ จึงต้องยอมให้โปแลนด์ได้ครอบครองยูเครนตะวันออกหรือกาลิเซียทั้งหมด

 หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง ดินแดนยูเครนถูกแบ่งระหว่าง ๔ ประเทศ กล่าวคือ โรมาเนียได้บูโควีนา (Bukovina) ทรานส์คาร์ปาเทีย (Transcarpathia) ถูกรวมเข้ากับสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ซึ่งเป็นประเทศใหม่ที่จัดตั้งขึ้น โปแลนด์ได้ยูเครนตะวันออกและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนืออีกเล็กน้อย สหภาพโซเวียตได้ดินแดนยูเครนเดิมที่เคยอยู่ใต้การปกครองและจัดตั้งขึ้นเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ต่อมาในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๒๒ รัฐบาลโซเวียตซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เป็นผู้นำได้ปรับโครงสร้างการบริหารปกครองสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ ก่อตั้งเป็นสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต (Union of the Soviet Socialist Republics–USSR) ขึ้น ประกอบด้วยสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ยูเครนเบโลรัสเซีย (Belorussia) จอร์เจีย (Georgia) อาร์เมเนีย (Armenia) และอาเซอร์ไบจาน (Azerbaijan) แต่ละสาธารณรัฐที่ร่วมในสหภาพโซเวียตมีรัฐธรรมนูญและอำนาจการปกครองตนเองภายในทุก ๆ ด้าน ยกเว้นอำนาจที่สงวนไว้ให้รัฐบาลกลาง ทั้งมีสิทธิที่จะแยกตัวออกจากสหภาพด้วย

 หลังการเข้าร่วมกับสหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์ (บอลเชวิค) แห่งยูเครน [Communist Party (Bolshevik) of Ukraine–CP(B) U] ก็ประกาศเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตโดยยอมรับแนวนโยบายและคำสั่งของคณะกรรมาธิการกลางโซเวียต โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งแย่งชิงอำนาจจากเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ได้ จึงส่งลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich) คนสนิทมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครนซึ่งทำให้ยูเครนอยู่ใต้การควบคุมสั่งการจากมอสโก ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ ยูเครนเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five-Year Plan)* ฉบับแรกแทนนโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป (New Economic Policy–NEP)* ที่ถูกยกเลิก แผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ยูเครนเริ่มพัฒนากลายเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่สำคัญของโซเวียตและทำให้ชาวนาถูกบังคับให้เข้าร่วมในโครงการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) เพื่อเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นและใช้กองทหารและตำรวจลับเข้ายึดที่ดินและวัตถุปัจจัยของชาวนาตามความจำเป็น ชาวนาต่อต้านด้วยการฆ่าปศุสัตว์และทำลายเครื่องมืออุปกรณ์การผลิต รัฐบาลใช้มาตรการประหารชีวิตและจับส่งไปค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* ประมาณว่าชาวนากว่าล้านคนถูกประหารและส่งไปค่ายกักกันแรงงานขณะเดียวกันก็มีการดำเนินการกวาดล้างพวก “คูลัค” (kulaks) หรือชาวนารวยและยึดที่ดินเป็นของรัฐนโยบายบีบบังคับดังกล่าวมีส่วนทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลงอย่างมาก ยิ่งรัฐบาลกำหนดโควตาการผลิตร้อยละ ๔๔ และใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่กำหนดไว้ทั้งไม่จ่ายข้าวหรือพืชผลให้สมาชิกนารวมหากผลผลิตการเกษตรต่ำกว่าเป้า ความอดอยากเดือดร้อนจึงก่อตัวขึ้น และนำไปสู่การเกิดทุพภิกขภัยใหญ่ระหว่างค.ศ. ๑๙๓๒–๑๙๓๓ มีประชากรเสียชีวิตรวมประมาณ ๕–๗ ล้านคน รัฐบาลโซเวียตปิดข่าวเกี่ยวกับทุพภิกขภัยครั้งนี้ และต่อมายอมเปิดเผยข้อเท็จจริงบางส่วนในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ โดยอ้างว่าสาเหตุสำคัญคือการก่อวินาศกรรมของพวกคูลัคและอากาศวิปริตยูเครนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “ตะกร้าขนมปังของโซเวียต” จึงพังพินาศอย่างมากและนักประวัติศาสตร์ยูเครนจำนวนไม่น้อยอ้างว่าทุพภิกขภัยที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการสร้างอุตสาหกรรมของสตาลินและเป็นปฏิบัติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ของสตาลินต่อยูเครน หลังทุพภิกขภัยรัฐบาลโซเวียตสนับสนุนให้ชาวรัสเซียเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชนบทยูเครนและนำนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต (Sovietnization) มาใช้รูปแบบจารีตของชีวิตหมู่บ้านในยูเครนและแนวความคิดการเป็นแบบยูเครน (Ukrainization) จึงถูกทำลายลง

 เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตซึ่งลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Non-aggression Pact)* โดยมีข้อตกลงลับในการแบ่งโปแลนด์กับเยอรมนีจึงบุกโปแลนด์ทางภาคตะวันออกในวันที่ ๑๗ กันยายน ยูเครนตะวันออกและพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของยูเครนที่โปแลนด์เคยยึดครองจึงถูกผนวกเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนต่อมา ในเดือนมิถุนายนค.ศ. ๑๙๔๐โซเวียตก็ยึดครองบูโควีนาของโรมาเนียเข้ารวมกับยูเครนด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเยอรมนีบุกสหภาพโซเวียตในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยการใช้แผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* โรมาเนียซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีจึงประกาศสงครามกับสหภาพโซเวียตและบุกยึดเบสซาราเบีย (Bessarabia) กับบูโควีนาตอนเหนือและดินแดนที่เรียกว่าทรานส์นิเตรีย (Transnitria) ที่อยู่ระหว่างแม่น้ำนีสเตอร์กับแม่น้ำปิฟเดนนีบุก (Pivdenny Buh) กลับคืน ในปลายเดือนพฤศจิกายน เยอรมนีก็ยึดครองยูเครนได้ทั้งหมด

 พลเมืองยูเครนจำนวนมากโดยเฉพาะในกาลิเซียเชื่อว่าเยอรมนีซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับโปแลนด์และสหภาพโซเวียตคือผู้ปลดปล่อยตนและเป็นพันธมิตรที่จะช่วยยูเครนให้ได้รับเอกราชแต่ภาพหลอนดังกล่าวก็ถูกทำลายในเวลารวดเร็ว เยอรมนีปกครองยูเครนอย่างเข้มงวดและยังคงรักษาระบบนารวมไว้ตลอดจนดำเนินนโยบายทางเชื้อชาติด้วยการเริ่มกวาดล้างชาวยิวเชื้อสายยูเครนตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๔ รวมทั้งกวาดต้อนพลเมืองยูเครนส่งไปเป็นแรงงานในเยอรมนี ประมาณว่าพลเมืองยูเครนที่เสียชีวิตระหว่างสงครามและในช่วงการยึดครองของเยอรมนีรวมประมาณ ๗ ล้านคน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นยิวกว่า ๑ ล้านคนการสังหารโหดชาวยิวของหน่วยสังหารพิเศษ (Special Killing Squads; Einsatzgruppen) ที่เลื่องชื่อคือการสังหารที่หุบเขาบาบินยาร์ (Babyn Yar)ซึ่งชาวยิวกว่า ๗๐,๐๐๐คนถูกสังหารอย่างทารุณชาวยูเครนที่รักชาติจึงเคลื่อนไหวเป็นขบวนการใต้ดินต่อต้านทั้งนาซีเยอรมันและสหภาพโซเวียตและนำไปสู่การจัดตั้งกองทัพกบฏยูเครน (Ukrainian Insurgent Army–UPA) ขึ้นตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วยูเครนในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ กองทัพกบฏยูเครนใช้ยุทธวิธีสงครามกองโจรและในยูเครนตะวันตก การต่อต้านสหภาพโซเวียตด้วยกำลังยังคงดำเนินอยู่จนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐

 หลังการปราชัยของเยอรมนีในยุทธการที่สตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๓ เยอรมนีเริ่มล่าถอยออกจากดินแดนของสหภาพโซเวียตอย่างค่อยเป็นค่อยไปและถูกกองทัพแดงติดตามไล่ล่า ในเดือนพฤศจิกายนกองทัพโซเวียตก็เตรียมเคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงเคียฟ การต่อสู้เพื่อแย่งชิงกรุงเคียฟซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องเป็น “วีรนคร” (HeroCity) เป็นไปอย่างนองเลือดและดุเดือดและพลเรือนที่เสียชีวิตมีจำนวนมหาศาล โซเวียตสามารถยึดเคียฟคืนได้และในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดงก็เริ่มปลดปล่อยดินแดนส่วนอื่น ๆ ของยูเครนที่เคยยึดครองแก่สหภาพโซเวียตเพื่อแลกเปลี่ยนกับความตกลงเรื่องเส้นพรมแดนใหม่ทางตะวันตกตามแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* และเส้นพรมแดนโปแลนด์-ยูเครน โรมาเนียต้องยอมรับสิทธิของสหภาพโซเวียตเหนือเบสซาราเบียและบูโควีนาตอนเหนือตามข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (ParisPeaceTreaty) ค.ศ. ๑๙๔๗สหภาพโซเวียตจึงผนวกดินแดนทางตอนใต้ของเบสซาราเบีย บูโควีนาตอนเหนือและทรานส์นิเตรียเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครนอีกครั้งหนึ่งและรวมส่วนที่เหลือของเบสซาราเบียเข้ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต มอลเดเวีย (Moldavian Soviet Socialist Republic)

ดังเดิม นอกจากนี้ดินแดนทรานส์คาร์ปาเทียของยูเครนที่ถูกรวมเข้ากับสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกียใน ค.ศ. ๑๙๑๘ และตกเป็นของฮังการีใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลเช็กกับโซเวียตใน ค.ศ. ๑๙๔๕ ในปีเดียวกันยูเครนก็เข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และเป็นประเทศหนึ่งที่ร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศพันธมิตรของเยอรมนีคือ อิตาลี ฟินแลนด์ โรมาเนีย ฮังการี และบัลแกเรียด้วย

 หลังสงครามโลกครั้งที่๒สหภาพโซเวียตปกครองยูเครนอย่างเข้มงวดอีกครั้งหนึ่งและรณรงค์การสร้างความเชื่อมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เพื่อต่อต้านอุดมการณ์ประชาธิปไตย มีการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับที่ ๔ มาใช้เพื่อบูรณะประเทศและฟื้นฟูอุตสาหกรรมหนักและใช้นโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียตเพื่อป้องกันการฟื้นตัวของวัฒนธรรมและแนวคิดชาตินิยมยูเครน อย่างไรก็ตาม เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคนที่ ๑ ของพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครนได้เป็นผู้นำสหภาพโซเวียตครุชชอฟดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ และกวาดล้างกลุ่มนิยมสตาลิน ครุชชอฟผ่อนคลายการควบคุมยูเครนและแต่งตั้งสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ยูเครนที่เคยร่วมงานกับเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในองค์การพรรคเพื่อให้ช่วยผลักดันนโยบายการปฏิรูปของเขา นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๓๐๐ ปีของสนธิสัญญาเปเรยาสลาฟ ค.ศ. ๑๖๕๔ ซึ่งรัสเซียอ้างว่ายูเครนยอมรับอำนาจของรัสเซียครุชชอฟซึ่งสนับสนุนการเฉลิมฉลองวาระดังกล่าวทั่วประเทศได้โอนคาบสมุทรไครเมียของสหพันธรัฐรัสเซียเข้ารวมกับยูเครนเพื่อแสดงถึงความร่วมมือและ “มิตรภาพ” อันใกล้ชิดระหว่างสาธารณรัฐโซเวียตทั้ง ๒ แห่ง ยูเครนในสมัยของครุชชอฟจึงเจริญก้าวหน้าอย่างมากและกลายเป็นศูนย์อุตสาหกรรมหนักของสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะที่ภูมิภาคดนีโปรเปตรอฟสค์ (Dnepropetrovsk) ทั้งเป็นศูนย์อุตสาหกรรมผลิตอาวุธและการค้นคว้าวิจัยขั้นสูงด้านเทคโนโลยี

 อย่างไรก็ตาม ในช่วงสมัยของเลโอนิด อิลยิช เบรจเนฟ (Leonid Ilyich Brezhnev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่สืบทอดอำนาจจากครุชชอฟใน ค.ศ. ๑๙๖๔ บรรยากาศเสรีในยูเครนถูกยกเลิกลงเพราะเบรจเนฟซึ่งต่อต้านนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินและลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ของครุชชอฟหันมาใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมยูเครนอีกครั้งและให้อำนาจคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงแห่งรัฐหรือเคจีบี (Committee for State Security–KGB)* ปราบปรามการเคลื่อนไหวแสดงออกของประชาชน มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหารพรรคในยูเครน และผลักดันยูเครนให้พัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธมากขึ้นเพื่อตอบสนองการขยายอำนาจทางทหารของโซเวียตทั้งลดปริมาณอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าด้านอื่น ๆ เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือย ชาวยูเครนโดยทั่วไปเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ จึงมีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มาก

 ในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ และทศวรรษ ๑๙๗๐ ปัญญาชนยูเครนได้เริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและต่อต้านนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างเป็นแบบโซเวียตโดยใช้ซามิซดัต (Samizdat) สิ่งพิมพ์ใต้ดินเป็นเครื่องมือเผยแพร่ความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนข่าวสาร รัฐบาลโซเวียตจึงเพิ่มมาตรการเข้มงวดทางสังคมและปราบปรามการเคลื่อนไหวของปัญญาชนอย่างเด็ดขาดและต่อเนื่องทั้งหันมาใช้มาตรการลงโทษด้วยการเนรเทศออกนอกประเทศและจับคุมขังในโรงพยาบาลประสาทเพื่อฟื้นฟูความคิด อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามของสหภาพโซเวียตในข้อตกลงเฮลซิงกิ (Helsinki Agreement)* ค.ศ. ๑๙๗๕ ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมเพื่อความมั่นคงและร่วมมือกันในยุโรปหรือซีเอสซีอี (Conference on Security and Cooperation in Europe–CSCE)* ซึ่งทุกประเทศที่ร่วมลงนามยอมรับในหลักสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนปัญญาชนยูเครนพยายามใช้เงื่อนไขดังกล่าวรวมตัวกันเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกว่ากลุ่มเฝ้ามอง เฮลซิงกิ (Helsinki Watch Group) ซึ่งมีมีโคลา รูเดนโค (Mykola Rudenko) กวีที่มีชื่อเสียงเป็นผู้นำ กลุ่มดังกล่าวมีส่วนทำให้ขบวนการประชาธิปไตยในยูเครนก่อตัวขึ้นและรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวได้อย่างเด็ดขาดซึ่งมีผลให้การลิดรอนสิทธิมนุษยชนในโซเวียตเริ่มเป็นที่รับรู้กันมากขึ้นภายนอกสหภาพโซเวียต

 ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อประธานาธิบดีมีฮาอิล เซียร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ (Mikhail Sergeyevich Gorbachev)* เริ่มนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยตามนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika) หรือ “เปิด-ปรับ” ปัญญาชนยูเครนได้ใช้เงื่อนการปฏิรูปทางการเมืองดังกล่าวเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายการเปลี่ยนทุกอย่างเป็นแบบโซเวียต และเรียกร้องให้มีการใช้ภาษายูเครนรวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมและสิ่งพิมพ์ที่เป็นภาษายูเครนมากขึ้น แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังไม่มีพลังและอิทธิพลทางสังคมมากนัก ต่อมาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๘๖ เกิดอุบัติเหตุเชียร์โนบีลที่สืบเนื่องจากการระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์หน่วยที่ ๔ ของโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ที่เชียร์โนบีลซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองปรีเปียต (Pripyat) ออกไปไม่ถึง ๓ กิโลเมตร ซากอาคารถูกไฟไหม้นาน ๑๐ วัน และทำให้พื้นที่กว่า ๑๔๒,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของยูเครนและพื้นที่ระหว่างชายแดนเบลารุสกับยูเครนปนเปื้อนด้วยกัมมันตภาพรังสี นับเป็นอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก อุบัติเหตุเชียร์โนบีลทำให้รัฐบาลโซเวียตต้องเร่งนโยบายกลาสนอสต์อย่างจริงจังด้วยการจะไม่ปิดบังประชาชนด้านข้อมูลข่าวสาร ขณะเดียวกันกระแสการปฏิรูปในยูเครนก็เริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้นจนกลายเป็นขบวนการประชาชนที่เข้มแข็ง ในฤดูในไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๘๙ ภาษายูเครนก็ได้รับการยอมรับให้เป็นภาษาราชการของสาธารณรัฐยูเครน ทั้งมีการตรวจสอบหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อชำระประวัติศาสตร์ใหม่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซียและโดยเฉพาะในสมัยการปกครองของสตาลิน

 ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีการเลือกตั้งผู้แทนรัฐสภายูเครนตามระบอบประชาธิปไตยขึ้นเป็นครั้งแรกและนับเป็นการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยในยูเครนเพราะการผูกขาดอำนาจทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ได้หมดอิทธิพลลงผู้แทนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคได้รับเลือกสู่สภาสูงสุด (Supreme Rada) เป็นจำนวนกว่า ๒๑๐ คนจาก ๔๕๐ คนและเลโอนิดคราฟชุค (Leonid Kravchuk) คอมมิวนิสต์แนวปฏิรูปได้รับเลือกเป็นประธานสภาและต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศด้วย คราฟชุคประกาศนโยบายที่จะสร้างความเป็นอธิปไตยของยูเครนโดยยังคงรักษาความสัมพันธ์กับโซเวียตไว้และดำเนินนโยบายปฏิรูปทางด้านต่าง ๆ ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันกระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตของสามรัฐบอลติก (Baltic States)* ซึ่งประกอบด้วยเอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) และลิทัวเนีย (Lithuania) ก็มีส่วนทำให้ปัญญาชนยูเครนเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านสหภาพโซเวียตและสนับสนุนการแยกตัวของสามรัฐบอลติก นอกจากนี้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ ได้รวมตัวเป็นขบวนการการเมืองที่เรียกว่า “รุค” (Rukh) เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง

 ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟพยายามแก้ไขปัญหาการแยกตัวของสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ ด้วยการเสนอร่างสนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ (New Treaty of Union)ในต้นค.ศ. ๑๙๙๑ ด้วยการยอมให้สาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ มีอำนาจอธิปไตยภายในมากขึ้น แต่นโยบายด้านต่างประเทศความมั่นคงและการเงินยังคงอยู่ในความควบคุมของรัฐบาลกลางแต่ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวก็ได้รับการต่อต้านจากสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ และโดยเฉพาะประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ต่อมาเมื่อกลุ่มผู้นำคอมมิวนิสต์อนุรักษนิยมและกองทัพร่วมมือกันก่อรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีกอร์บาชอฟในเดือนสิงหาคมค.ศ. ๑๙๙๑แต่รัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นเวลาเกือบ ๑ สัปดาห์ ล้มเหลวเพราะเยลต์ซินได้ปลุกระดมและรวมพลังประชาชนต่อต้านจนมีชัยชนะ ความผันผวนทางการเมืองในกรุงมอสโกทำให้รัฐสภายูเครนเห็นเป็นโอกาสเรียกประชุมฉุกเฉินเป็นวาระพิเศษประกาศความเป็นเอกราชของยูเครนเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ และกำหนดให้มีการลงประชามติรับรองความเป็นเอกราชในวันที่ ๑ ธันวาคม ซึ่งมีการแบ่งเขตการปกครองประเทศเป็น ๒๔ จังหวัด และเขตการปกครองอิสระ ๑ สาธารณรัฐ (autonomous republic) ประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล ประชาชนร้อยละ ๘๔ มาลงคะแนนออกเสียงและร้อยละ ๙๐ ได้ให้สัตยาบันความเป็นเอกราชของประเทศ

 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ คราฟชุค อดีตประธานรัฐสภาเป็นคู่แข่งคนสำคัญกับเวียเชสลาฟ ชอร์โนวิล (Vyacheslav Chornovil) ผู้นำปัญญาชนที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์คราฟชุคได้คะแนนเสียงร้อยละ ๖๒ และนับเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศเขาประกาศนโยบายที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกให้มากขึ้นและให้นำธงชาติที่เคยใช้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๔๘ มาเป็นธงประจำชาติซึ่งประกอบด้วย๒สีคือสีน้ำเงินและเหลืองสีน้ำเงินหมายถึงท้องฟ้าและสีเหลืองหมายถึงข้าวสาลีที่เหลืองอร่ามเป็นสีทองในทุ่งสเตปป์ ต่อมา คราฟชุคได้ร่วมลงนามกับผู้นำของสหพันธรัฐรัสเซียและเบลารุสจัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States–CIS)* ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคมทั้ง ๓ ประเทศ เชื้อสายสลาฟยอมรับดินแดนของกันและกันและจะไม่ละเมิดเขตแดนกัน ทั้งจะเคารพอธิปไตยและความเสมอภาคระหว่างกัน ตลอดจนจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการควบคุมดูแลพื้นที่ที่ติดอาวุธนิวเคลียร์ ประเทศทั้งสามได้ประกาศล้มเลิกสหภาพโซเวียตและโน้มน้าวเชิญชวนให้สาธารณรัฐโซเวียตอื่นๆเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชต่อมาในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ สาธารณรัฐโซเวียต อีก ๑๑ แห่งก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือรัฐเอกราชซึ่งมีผลให้สหภาพโซเวียตต้องล่มสลายลงหลังเที่ยงคืนของวันคริสต์มาสที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑

 ประธานาธิบดีคราฟชุคบริหารปกครองประเทศด้วยความยากลำบากเพราะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไขได้เชื่องช้าเนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจเดิมที่รวมศูนย์อำนาจแบบโซเวียตไม่สามารถปฏิรูปได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาการว่างงานและเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและผลผลิตที่ตกต่ำได้สร้างความเดือดร้อนทั่วไปในหมู่ประชาชน พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่เคยสนับสนุนประธานาธิบดีก็มีความคิดเห็นแตกแยกเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเมืองและเศรษฐกิจ นโยบายของประธานาธิบดีที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกมากขึ้นได้ทำให้กลุ่มที่สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัสเซียไม่พอใจและขณะเดียวกันรัสเซียก็พยายามรักษาอิทธิพลของตนไว้ ปัญหาทางการเมืองดังกล่าวจึงมีส่วนทำให้ประธานาธิบดีคราฟชุคต้องจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาก่อนกำหนดในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๔ คราฟชุคพ่ายแพ้ต่อเลโอนิด คุชมา (Leonid Kuchma) อดีตนายกรัฐมนตรีซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากประชาชนในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศที่สนับสนุนการผูกพันกับรัสเซียเพราะต่างคาดหวังว่าคุชมาซึ่งมีความโน้มเอียงไปทางรัสเซียจะรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับรัสเซียอีก แต่คุชมากลับสร้างความผิดหวังแก่ผู้ที่สนับสนุนเขาเพราะคุชมากลับดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกมากกว่ารัสเซียและเครือรัฐเอกราช นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้แผนปฏิรูปการปกครองและเศรษฐกิจรวมทั้งด้านสังคมต่าง ๆ ของเขามักถูกสมาชิกรัฐสภาซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายซ้ายที่นิยมรัสเซียคัดค้าน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภาที่เรื้อรังมีส่วนทำให้การบริหารของประธานาธิบดีไม่ราบรื่น

 ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ยูเครนเริ่มจัดตั้งกองกำลังทัพของตนเองทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยปรับปรุงจากกองกำลังและยุทโธปกรณ์ของรัสเซียที่เคยประจำการในยูเครน ขณะเดียวกัน ยูเครนก็หาทางเจรจาตกลงกับรัสเซียเกี่ยวกับปัญหากรรมสิทธิ์กองเรือในทะเลดำและอาวุธนิวเคลียร์ที่อยู่ในดินแดนตน ยูเครนยอมให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดไปไว้ที่รัสเซียและต่อมาในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๙๔ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และยูเครนลงนามร่วมมือกันที่จะกำจัดคลังอาวุธนิวเคลียร์ในยูเครนและยูเครนเรียกร้องให้รัสเซียกำจัดขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกลให้หมดสิ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๙๙ แต่รัสเซียสามารถดำเนินการได้เสร็จสิ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ก่อนเวลาที่กำหนด ในการกำจัดนิวเคลียร์ดังกล่าวสหรัฐอเมริกาสัญญาจะให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนทางด้านต่าง ๆ ด้วย ต่อมารัสเซียและยูเครนก็หาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหากองเรือในทะเลดำได้โดยทั้ง ๒ ประเทศ ร่วมลงนามในความตกลง ๓ ฉบับเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือรัสเซียได้สิทธิในการเช่าฐานทัพเรือยูเครนที่เมืองเซวัสโตปอล (Sevastopol) เพื่อเป็นที่ตั้งของกองเรือรัสเซียต่อไปอีก ๒๐ ปี ยูเครนซึ่งมีเรืออยู่ประมาณ ๑๑๐ ลำ โดยเป็นเรือรบ ๓๐ ลำ และเรืออื่น ๆ อีก ๘๐ ลำ จะได้กรรมสิทธิ์เรือเพิ่มเติมอีก ๕๒ ลำ

 ในกลางทศวรรษ๑๙๙๐ยูเครนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นแบบตลาดเสรีและแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่ปัญหาการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสและคนวงในรัฐบาลมักได้ผลประโยชน์ในการควบคุมวิสาหกิจต่าง ๆ เป็นต้นว่าบุตรเขยของประธานาธิบดีได้สิทธิควบคุมโรงงานผลิตเหล็กกล้าที่ใหญ่และทำผลกำไรมากที่สุด ปัญหาทุจริตดังกล่าวมีส่วนทำให้รัฐบาลเสื่อมความนิยมลง และประชาชนส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตที่ยากลำบาก ชาวยูเครนจึงเริ่มหลั่งไหลออกไปหางานทำนอกประเทศ และประมาณว่าหลังสหภาพโซเวียตล่มสลายมีชาวยูเครนราว ๗ ล้านคนไปทำมาหากินนอกประเทศ การอพยพดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศด้วย เพราะยูเครนมีอัตราเกิดต่ำที่สุดในยุโรป และอัตราตายสูงกว่าอัตราเกิด ๒ เท่า จึงประมาณกันว่าจำนวนประชากรของยูเครนในระยะยาวจะลดลงถึงร้อยละ ๔๐ ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ รัสเซียเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อยูเครนเนื่องจากการค้าร้อยละ ๔๐ ของประเทศขึ้นอยู่กับรัสเซีย ยูเครนจึงร่วมลงนามกับรัสเซียในแผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๙๙๘–๒๐๐๗) โดยทั้ง ๒ ประเทศจะร่วมมือกันปฏิรูปเศรษฐกิจและหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสังคมและแนวทางการขยายปริมาณการค้าระหว่างกัน รวมทั้งร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ อีกกว่า ๑๐๐ โครงการ ต่อมามีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันการร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยูเครนก็สนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์กับเครือรัฐเอกราชโดยเฉพาะการพัฒนาร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ

 ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๙ วิคตอร์ ยูเชนโค (Viktor Yushenko) ผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติยูเครนซึ่งสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เขาดำเนินการปฏิรูปการปฏิวัติสีส้มเศรษฐกิจและแก้ไขภาวะเงินเฟ้อทั้งพยายามควบคุมและปราบปรามเหล่านักธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีเส้นสายในรัฐบาล นโยบายดังกล่าวทำให้กลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ในรัฐสภารวมตัวกันต่อต้านเขาและสามารถถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ การปลดยูเชนโคทำให้ประชาชนทั่วประเทศชุมนุมต่อต้านรัฐสภาและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีคุชมาลาออก แต่คุชมายังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไว้ได้ และใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเข้มงวดมากขึ้น ยูเชนโคได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้เป็นผู้นำในการต่อต้านประธานาธิบดีคุชมา และระหว่าง ค.ศ. ๒๐๐๑–๒๐๐๔ คะแนนนิยมของยูเชนโคก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในภูมิภาคทางตะวันตกที่เป็นเขตอุตสาหกรรม ในเวลาต่อมายูเชนโคจึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้าของกลุ่มการเมืองผสมที่เรียกชื่อว่านาชา ยูเครยินา (Nasha Ukrayina; Our Ukraine)

 ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ ประธานาธิบดีคุชมาซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งประกาศจะไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ยูเชนโคประกาศตัวลงแข่งขันกับวิคตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) รัฐมนตรีที่ทั้งคุชมาและสหพันธรัฐรัสเซียสนับสนุนอยู่เบื้องหลังเพราะยานูโควิชต้องการให้ยูเครนเป็นมิตรกับรัสเซีย ในช่วงก่อนการเลือกตั้งยูเชนโคล้มป่วยลงเกือบเสียชีวิตและถูกนำตัวไปรักษาในต่างประเทศเป็นการลับๆอย่างฉุกเฉินแพทย์ชาวออสเตรียยืนยันว่ายูเชนโคถูกวางยาด้วยทีซีดีดีไดออกซิน (TCDD dioxin) แต่เขารอดชีวิตพร้อมใบหน้าที่บวมฉุเต็มไปด้วยแผลตะปุ่มตะป่ำทั้งสีผิวที่เปลี่ยนไป หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเพราะก่อนหน้าการล้มเจ็บมีหลักฐานว่ายูเชนโคได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายรัฐบาลซึ่งรวมทั้งหัวหน้าฝ่ายรักษาความมั่นคงยูเครน (Security Service of Ukraine–SBU) ด้วยใบหน้าที่เสียโฉมของยูเชนโคซึ่งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของประเทศที่เต็มไปด้วยบาดแผลจากอดีตและผ่านความทุกข์ยากมานานทำให้ยูเชนโคได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนและได้การสนับสนุนมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ ปรากฏว่า ยูเชนโคได้เสียงสนับสนุนร้อยละ ๓๙.๘๗ และยานูโควิชได้ร้อยละ ๓๙.๓๒ แต่เนื่องจากไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงถึงร้อยละ ๕๐ จึงต้องมีการแข่งขันกันเป็นรอบที่ ๒ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน

 ในการเลือกตั้งรอบที่ ๒ ซึ่งมีผู้มาลงคะแนนเสียงร้อยละ ๗๕ ผลปรากฏว่ายูเชนโคได้คะแนนร้อยละ ๔๖.๕ และยานูโควิชได้คะแนนร้อยละ ๔๙.๕ กลุ่มสังเกตการณ์เลือกตั้งทั้งในและนอกประเทศรายงานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการโกงกันอย่างมโหฬาร บางเขตมีการลงคะแนนเสียง ๒ รอบ และบางเขตบัตรเลือกตั้งที่หนุนยานูโควิชมีจำนวนมากกว่าผู้มาลงคะแนนเสียงยูเชนโคและประชาชนที่สนับสนุนเขาในภาคตะวันตกจึงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และนำไปสู่การชุมนุมต่อต้านทั่วประเทศหลายสัปดาห์ที่มีชื่อเรียกว่า การปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution)* เพราะสีส้มเป็นสีสัญลักษณ์ที่ยูเชนโคใช้ในการเลือกตั้ง ประชาชนซึ่งต่อต้านรัฐบาลอย่างสงบต่างมีเพียงอาวุธที่เป็นแผ่นผ้าสีส้มที่เขียนข้อความประท้วง โบกธง สวมใส่เสื้อ ติดโบผูกผ้าพันคอ ถือลูกโป่งและอื่น ๆ ที่เป็นสีส้มทั้งหมดอย่างไรก็ตาม การเผชิญหน้าอันตึงเครียดในกรุงเคียฟได้คลี่คลายลงเมื่อศาลสูงสุดตัดสินเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะและให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ในการเลือกตั้งรอบที่ ๓ ยูเชนโคได้คะแนนเสียงร้อยละ ๕๒ ส่วนยานูโควิชได้เพียงร้อยละ ๔๔.๒ ยูเชนโคจึงได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ และปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๕

 ในช่วง ๑๐๐ วัน ของการดำรงตำแหน่งระหว่าง วันที่ ๒๓ มกราคมถึง ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ยูเชนโคปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และฝ่ายบริหารทุกระดับ และเริ่มเดินทางไปเยือนประเทศตะวันตกต่าง ๆเพื่อสร้างสานความสัมพันธ์และการจะผลักดันยูเครนให้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)* และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization–NATO)* ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มทำสงครามปราบปรามคอร์รัปชันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศและพยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างประชาชนทางภาคตะวันออกและภาคใต้ที่ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษารัสเซียและนิยมรัสเซียกับประชาชนภาคตะวันตกที่เป็นเขตอุตสาหกรรมซึ่งนิยมตะวันตกและส่วนใหญ่พูดภาษายูเครน อย่างไรก็ตาม หลังบริหารประเทศได้เกือบ ๑๐ เดือน รัฐบาลของยูเชนโคก็เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันจนทำให้ต้องปลดยูเลียตีโมเชโค (Yulia Timosheko) รัฐมนตรีซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนและคณะรัฐมนตรีออกเพราะถูกกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน วิกฤตการณ์ดังกล่าวแม้จะทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มไม่แน่ใจว่าการปฏิวัติสีส้มจะบรรลุผลสำเร็จ แต่คนหนุ่มสาวและประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงคาดหวังว่ายูเชนโคจะฟันฝ่าอุปสรรคที่เผชิญอยู่ได้ และพวกเขายังคงศรัทธาเชื่อมั่นในอิสรภาพและการเปลี่ยนแปลงเหมือนครั้งที่ประชาชนรวมพลังกันที่จัตุรัสไมดัน (Maidan) หรือจัตุรัสอิสรภาพ (Independence Square) ในกลางกรุงเคียฟซึ่งทำให้การปฏิวัติสีส้มเกิดขึ้น และต่างกู่ร้องว่า “ฉันได้ยืนอยู่ที่ไมดัน” ซึ่งหมายถึงการได้อยู่ที่นั่นและยืนหยัดเพื่อเสรีภาพทั้งฝันถึงการเปลี่ยนแปลง.



คำตั้ง
Ukraine
คำเทียบ
ยูเครน
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กองทัพกบฏยูเครน
- กองทัพแดง
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล เซียร์เกเยวิช
- การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติสีส้ม
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- กาลิเซีย
- ข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส
- ข้อตกลงเฮลซิงกิ
- ครุชชอฟ, นีกีตา
- คอสแซค
- คากาโนวิช, ลาซาร์
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- คุชมา, เลโอนิด
- เคจีบี
- เครือจักรภพ
- เครือรัฐเอกราช
- จัตุรัสอิสรภาพ
- ชาติที่ก่อตั้งขึ้นโดยไม่คาดคิด
- เดนีกิน, อันตอน อีวาโนวิช
- ตรอตสกี, เลออน
- นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบโซเวียต
- นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย
- นโยบายเศรษฐกิจใหม่หรือเนป
- นาซี
- แนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ
- บอลเชวิค
- เบรจเนฟ, เลโอนิด อิลยิช
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- ปีลซุดสกี, ยูเซฟ
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคปฏิวัติยูเครน
- มหาอำนาจกลาง
- มอลเดเวีย, สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
- ยุทธการที่สตาลินกราด
- ยูเครน
- เยลต์ซิน, บอริส
- รัฐบอลติก
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามปลดปล่อย
- สงครามรัสเซีย-โปแลนด์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาซบอรีฟ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญาเปเรยาสลาฟ
- สนธิสัญญารีกา
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สนธิสัญญาสหภาพแห่งลูบิน
- สนธิสัญญาใหม่แห่งสหภาพ
- สนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ
- สนธิสัญญาฮาเดียช
- สภาดูมา
- สหประชาชาติ
- สหพันธรัฐรัสเซีย
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพยุโรป
- สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต
- สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตหรือสหภาพโซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- สัญญาอันดรูโซโว
- สันนิบาตชาติ
- อุบัติเหตุเชียร์โนบีล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-