Twentieth Congress of the Communist Party of the Soviet Union (1956)

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐ (พ.ศ. ๒๔๙๙)

การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐ เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนของนโยบายการเมืองภายในและภายนอกของสหภาพโซเวียต และเป็นการเริ่มต้นของนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* เป็นการประชุมที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔–๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ที่กรุงมอสโกและจัดขึ้นเร็วก่อนกำหนดเวลาถึงครึ่งปีในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ นีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสามารถรวบอำนาจเบ็ดเสร็จจากคณะผู้นำร่วม (collective leadership) ได้ประกาศนโยบายการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (peaceful coexistence) กับประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแตกต่างกัน ทั้งยอมรับแนวทางหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยมโดยไม่จำเป็นต้องยึดสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบ นโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่การผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente)* ของสงครามเย็น (Cold War)* และทำให้แนวความคิดตามทฤษฎีการแบ่งโลกเป็น ๒ ค่ายของอันเดรย์ จดานอฟ (Andrei Zhadanov)* สหายสนิทของสตาลินหมดอิทธิพลลง

 การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐ เป็นผลสืบเนื่องจากการที่ครุชชอฟสามารถทอนอำนาจการบริหารของคณะผู้นำร่วมด้วยการกดดันให้เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช มาเลนคอฟ (Georgi Maksimilianovich Malenkov)* นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งและกำจัดลัฟเรนตี เบเรีย (Lavrenty Beria)* หัวหน้าหน่วยตำรวจลับซึ่งคนทั้งสองเป็นคู่แข่งสำคัญทางการเมืองของเขา จากนั้นครุฟชอฟก็แต่งตั้งสหายสนิทและสมาชิกพรรคที่เขาไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในองค์การพรรคซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งจอมพล เกออร์กี จูคอฟ (Georgi Zhukov)* เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแทนนีโคไล บุลกานิน (Nikolai Bulganin)* สหายสนิทซึ่งได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อครุชชอฟมีฐานอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็งมากขึ้น เขาเริ่มวางนโยบายกำจัดกลุ่มสตาลินและการปฏิรูปทางการเมืองในต้น ค.ศ. ๑๙๕๖ ครุชชอฟจึงผลักดันให้เปิดการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒๐ ระหว่างวันที่ ๑๔–๒๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๕๖ ที่กรุงมอสโกซึ่งเป็นการประชุมที่เกิดขึ้นก่อนกำหนดเวลา

 ก่อนการเปิดประชุมใหญ่ไม่กี่วันมีการเผยแพร่ข่าวซึ่งสร้างความสนใจแก่สาธารณชนโดยกล่าวถึงการใส่ร้ายป้ายสีประชาชนและการสร้างแนวความคิดลัทธิการบูชาบุคคล (Cult of Personality)* ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* อดีตผู้นำโซเวียตข่าวดังกล่าวเป็นการหยั่งความคิดเห็นของประชาชนเพื่อวางพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก่อนหน้านั้น ในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๕๕ ครุชชอฟให้หน่วยตำรวจลับพิจารณาทบทวนคดีนักโทษการเมืองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘ และการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งซึ่งมีนีโคไล ปอสเปลอฟ (Nikolai Pospelov) นักประวัติศาสตร์และนักทฤษฎีพรรคเป็นประธานให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาชญากรรมของสตาลินและกิจกรรมทางการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวโดยเฉพาะการใช้อำนาจกวาดล้างปัญญาชนและสมาชิกพรรคในระดับต่าง ๆ ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการตื่นตัวทางสังคมและยิ่งเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคมและให้เสรีภาพทางการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นมากขึ้น การปรับเปลี่ยนบุคลากรในองค์การพรรคและการผ่อนปรนการยึดมั่นในแนวความคิดสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* ในด้านศิลปวัฒนธรรมสาธารณชนทั่วไปก็เริ่มตระหนักว่าบางสิ่งบางอย่างกำลังจะเกิดขึ้น ดังนั้น การเปิดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒๐ที่มีขึ้นก่อนกำหนดจึงเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น

 การประชุมใหญ่ครั้งนี้มีผู้แทนเข้าร่วมประชุมรวม ๑,๓๔๙ คน โดยถือเป็นผู้แทนของสมาชิกพรรคทั้งหมดซึ่งมีจำนวน ๖,๗๙๕,๘๖๙ คน และผู้สมัครที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคอีก ๔๑๙,๖๐๙ คน มีผู้แทนจากพรรคคอมมิวนิสต์ต่างประเทศและพรรคแรงงานต่าง ๆ จาก ๕๕ ประเทศเข้าร่วมประชุมด้วย ในการประชุมครั้งนี้คณะเปรซิเดียมแห่งพรรคคอมมิวนิสต์เห็นชอบให้ครุชชอฟสรุปรายงานของคณะกรรมาธิการที่ปอสเปลอฟเป็นประธานในการตรวจสอบอาชญากรรมของสตาลินเสนอในที่ประชุมใหญ่ในช่วงก่อนปิดการประชุมได้ เมื่อการประชุมเริ่มขึ้น มีการยืนไว้อาลัยรำลึกถึงสหายที่วายชนม์หลังการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๑๙ คือ เคลเมนต์ กอตต์วัลด์ (Klement Gottwald)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์และโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต จากนั้นครุชชอฟก็ดำเนินการประชุมตามวาระที่กำหนด ประเด็นหลักของการประชุมในช่วง ๑๐ กว่าวันแรก คือการนำเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการกลางพรรคว่าด้วยการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองทั่วไปในประเทศและการประเมินสถานภาพและบทบาทของสหภาพโซเวียตในการเมืองระหว่างประเทศ การสรุปผลการดำเนินงานของพรรคนับแต่การประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๙ ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ ซึ่งในการประชุมใหญ่ครั้งนั้นมีการเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (บอลเชวิค) [Communist Party of the Soviet Union (Bolsheviks)–CPSU (B)] เป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (Communist Party of the Soviet Union–CPSU)* การสรุปผลสำเร็จและความล้มเหลวของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Year Plan)* ฉบับที่ ๕ (ค.ศ. ๑๙๕๑–๑๙๕๕)และการกำหนดกรอบนโยบายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับที่ ๖ (ค.ศ. ๑๙๕๖–๑๙๖๐) ซึ่งเน้นการพัฒนาดินแดนที่ยังไม่มีการบุกเบิก (Virgin Lands)ในแถบเอเชียกลางให้เป็นเขตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรวมทั้งสนับสนุนการอพยพประชากรไปตั้งรกรากในไซบีเรีย ตลอดจนการเพิ่มสินค้าอุปโภคบริโภคร้อยละ ๖๐ เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ในช่วงระหว่างการประชุมครุชชอฟได้ปรับแก้รายงานของปอสเปลอฟเพื่อเตรียมเสนอในที่ประชุมใหญ่

 ระหว่างคืนวันที่ ๒๔ ต่อเช้าวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมมีการเลือกสมาชิกใหม่ของคณะกรรมาธิการกลางพรรคและแต่งตั้งครุชชอฟเป็นเลขาธิการที่ ๑ ของคณะกรรมการกลางพรรคตามระเบียบวาระ ในช่วงที่มีการเสนอชื่อประธานคณะกรรมาธิการกลางพรรคและการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้แก่สมาชิกของคณะกรรมาธิการกลางพรรคนั้น เลขาธิการที่ ๑ จะต้องนำเสนอแนวนโยบายและวิสัยทัศน์ให้สมาชิกและคณะกรรมการกลางพรรคชุดใหม่ได้รับทราบก่อนปิดการประชุมใหญ่ในช่วงพักการประชุมก่อนจะมีการนำเสนอนโยบายและวิสัยทัศน์นั้น ครุชชอฟซึ่งเป็นประธานการประชุมจึงเห็นเป็นโอกาสเสนอให้มีการขยายเวลาการประชุมออกไปและให้เป็นการประชุมปิดสำหรับผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตโดยเฉพาะ ทำให้ผู้แทนพรรคจำนวนไม่น้อยที่กลับโรงแรมไปก่อนถูกตามตัวให้กลับมาร่วมประชุมอีกครั้งเมื่อเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ส่วนผู้แทนพรรคจากต่างประเทศและผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์จากประเทศยุโรปตะวันออกรวมทั้งผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

 ครุชชอฟเสนอหลักการของลัทธิเลนิน (Leninism)* เกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและการอยู่ร่วมกันของประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบสังคมแตกต่างกันเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ซึ่งเน้นการอยู่ร่วมกันโดยสันติกับประเทศที่มีระบอบการเมืองการปกครองแตกต่างกันและการยอมรับแนวทางอันหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยมที่ไม่จำเป็นต้องยึดสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบ เขายังกล่าวถึงการจะปรับความสัมพันธ์กับยูโกสลาเวียและการเชิญชวนตีโตหรือยอซีป บรอซ (Tito; Josip Broz)* ผู้นำยูโกสลาเวียให้กลับเข้าร่วมค่ายสังคมนิยมโซเวียตอีกครั้ง ตลอดจนการจะผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมภายในและนอกประเทศ เมื่อถึงเวลาเที่ยงคืน ครุชชอฟเริ่มกล่าวคำปราศรัยที่ร้อนแรง ตรงไปตรงมา และด้วยท่าทางซึ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก เขากล่าวโจมตีสตาลินอดีตผู้นำที่มีสถานภาพเทียบเท่าพระเป็นเจ้าและเป็นที่รักของประชาชนโดยพาดพิงถึงความทารุณโหดเหี้ยมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมโซเวียตและการคุกคามและคุมขังประชาชนที่บริสุทธิ์กว่าล้านคนรวมทั้งการทรมานและการสังหารผู้นำพรรคจำนวนมากที่เป็นผู้บริสุทธิ์และจงรักภักดีต่อพรรค คำปราศรัยของครุชชอฟซึ่งกินเวลาถึง๔ชั่วโมงที่รู้จักกันต่อมาว่า “สุนทรพจน์ลับ” (Secret Speech) ไม่เพียงเป็นการทำลายหลักการของลัทธิสตาลิน (Stalinism)* ที่พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์ประเทศยุโรปอื่น ๆ ยึดมั่นเป็นอุดมการณ์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเริ่มต้นของนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลินของครุชชอฟด้วย

 สาระสำคัญของ “สุนทรพจน์ลับ” คือการประณามระบบทรราชย์ของสตาลินและการสร้างอำนาจเผด็จการเฉพาะตัวขึ้นด้วยแนวความคิดลัทธิบูชาบุคคลเพื่อทำลายหลักการปกครองร่วมกันของพรรค ครุชชอฟอ้างพินัยกรรมของเลนิน (Lenin’s Testament) ใน ค.ศ. ๑๙๒๓ ที่วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคเรียกร้องให้ปลดสตาลินออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค เพราะเห็นว่าเขารวบอำนาจไว้เกินไปทั้งชี้ให้เห็นว่าสตาลินไม่เคยยอมรับการหลักการคณะผู้นำร่วม เพราะต้องการอำนาจทางการเมืองมากจนทำให้เขาต้องกวาดล้างเข่นฆ่าแกนนำพรรคและสมาชิกพรรคที่เขาเห็นว่าเป็นคู่แข่งจำนวนมาก ครุชชอฟเปิดโปงการสร้างภาพเป็นวีรบุรุษในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ของสตาลินและวิพากษ์โจมตีการกำหนดนโยบายสงครามที่ผิดพลาดของสตาลินที่ทำให้สหภาพโซเวียตต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมันหลายครั้ง ทั้งยังแทรกแซงปฏิบัติการของฝ่ายทหารด้วยการออกคำสั่งโดยไม่พิจารณาสถานการณ์รบที่เป็นจริงในแนวหน้าซึ่งทำให้สูญเสียกำลังคนจำนวนมาก ครุชชอฟกล่าวว่าสตาลินใช้ความรุนแรงและความน่าสะพรึงกลัวกดขี่มวลชนทั้ง ๆ ที่การปฏิวัติประสบชัยชนะแล้วและพรรคก็มีความเป็นปึกแผ่น เขาให้รายละเอียดของการเนรเทศประชาชนไปคุมขังที่ค่ายกักกันแรงงาน (Collective Labour Camp)* หรือกูลัก (Gulag) โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม และการสั่งการของสตาลินในการกวาดล้างทรมาน และสังหารสมาชิกพรรคและประชาชนโดยเฉพาะในช่วงหลังเหตุการณ์การลอบสังหารเซียร์เกย์ มีโรโนวิช คีรอฟ (Sergei Mironovich Kirov)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเลนินกราด ที่นำไปสู่การกวาดล้างครั้งใหญ่ (Great Purges ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๘)* นอกจากนี้ ครุชชอฟยังโจมตีสลาลินว่าเป็นผู้สร้างความแตกแยกกับยูโกสลาเวีย

 ในการกล่าวสุนทรพจน์ลับครั้งนี้ ครุชชอฟนำเนื้อหาจากบันทึกและจดหมายจำนวนมากของนักโทษที่เขียนในขณะถูกคุมขังและทรมาน รวมทั้งหลักฐานอื่น ๆ มาสนับสนุนข้อกล่าวหาของเขาโดยไม่ขัดเกลาหรือดัดแปลงใด ๆ ทั้งสิ้น ขอบเขตการกล่าวหาของเขามี ๓ ประเด็น คือ ปัญหาการใช้อำนาจเผด็จการของสตาลินในการปกครองพรรคและประเทศ และใช้วิธีการหฤโหดต่อสมาชิกพรรครุ่นก่อตั้ง (Old Bolsheviks) และสมาชิกพรรคอื่น ๆ ที่เป็นฝ่ายตรงข้ามเขา ในประเด็นนี้ครุชชอฟไม่ได้กล่าวถึงการเข่นฆ่าปราบปรามประชาชนนับล้าน ๆ คนที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองอันเหี้ยมโหด ประเด็นที่ ๒ กล่าวโจมตีนโยบายปราบปรามกวาดล้างที่เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๔ ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ก็ละเว้นไม่กล่าวถึงการกวาดล้างที่เป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายนารวม (collectivization) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๓ ประเด็นสุดท้ายคือการเน้นความรับผิดชอบของสตาลินและกลุ่มของเขาในการสั่งการและดำเนินการโดยไม่กล่าวถึงเรื่องการลงโทษผู้กระทำผิด อย่างไรก็ตาม ครุชชอฟหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวพาดพิงถึงพรรคและข้อบกพร่องขององค์การพรรค เขาเน้นว่าพรรคอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างและเป็นประทีปที่ชี้นำแนวทางให้แก่สมาชิกและประเทศชาติ

 หลังจบสุนทรพจน์ ที่ประชุมเงียบกริบและไม่มีการเปิดอภิปรายทั่วไปหรือการโต้แย้งใด ๆ ทั้งไม่มีการลงมติ สุนทรพจน์ดังกล่าวส่งผลอย่างมากทางด้านจิตวิทยาเพราะผู้เข้าร่วมประชุมที่งงงวยต่างเดินออกจากที่ประชุมอย่างเงียบ ๆ และตรงกลับไปที่พักในวันต่อมา ฝ่ายเลขาธิการคณะกรรมาธิการกลางพรรคมีคำชี้แนะให้มีการอ่านสุนทรพจน์นี้ในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานด้านกิจกรรมพรรคทั่วประเทศ และให้เผยแพร่ในลักษณะ “ปิดลับ” ในการประชุมทั่วไปขององค์การพรรค โรงงาน สถาบัน องค์การธุรกิจ และอื่น ๆ อีกสัปดาห์ต่อมามีคำสั่งให้เผยแพร่นอกองค์การพรรคโดยให้อ่านในที่ประชุมของกรรมกรโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานที่ประชุมของนารวมมหาวิทยาลัย และโรงเรียนมัธยมปลาย ในเวลาอันรวดเร็ว สุนทรพจน์ของครุชชอฟก็เป็นที่รับรู้กันทั่วประเทศ มีการทำสำเนาแจกจ่ายให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ชาติต่าง ๆ ทั้งในประเทศยุโรปตะวันออกและยุโรปตะวันตกจนมีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นภาษายุโรปต่าง ๆ หน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาหรือซีไอเอก็นำสำเนาต้นฉบับไปเผยแพร่ในวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สุนทรพจน์นี้ก็ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการในสหภาพโซเวียตจนถึง ค.ศ. ๑๙๘๙

 หลังการประชุมใหญ่พรรคครั้งที่๒๐มีการประกาศปิดค่ายกักกันแรงงานและยกเลิกการทารุณหฤโหดต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือของพรรค ส่วนเคจีบี (KGB)* หรือหน่วยตำรวจลับก็ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่และถูกโอนมาอยู่ใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกลางพรรคและรัฐบาลโซเวียตซึ่งทำให้ไม่มีอำนาจกว้างขวางในการปฏิบัติการดังเช่นในอดีตอีกต่อไปนอกจากนี้ นักโทษที่ได้รับอิสรภาพกว่า ๘ ล้านคน ซึ่งรวมทั้งสมาชิกพรรคกว่า ๗,๐๐๐ คน ได้รับการกู้เกียรติกลับสู่สถานภาพเดิมทางสังคม บุคคลเหล่านี้ต่างเปิดเผยข้อเท็จจริงในช่วงสมัยสตาลินซึ่งมีส่วนทำให้กระแสการล้มล้างอิทธิพลสตาลินขยายตัวอย่างรวดเร็ว ครุชชอฟยังเห็นเป็นโอกาสโยกย้ายพวกที่จงรักภักดีต่อเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในพรรคเพื่อให้ควบคุมพรรคแทนกลุ่มนิยมสตาลินเก่า ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๖ เขาก็ยุบเลิกองค์การโคมินฟอร์ม (Cominform)* เพราะเห็นว่าเป็นองค์กรที่สตาลินใช้เป็นเครื่องมือครอบงำประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ

 แม้สุนทรพจน์ลับของครุชชอฟจะมีส่วนทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของปัญญาชนและประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อทางการเมืองในสมัยสตาลิน แต่ประชาชนอีกจำนวนมากก็ไม่พอใจโดยเฉพาะที่กรุงทบิลิซี (Tbilisi) เมืองหลวงของสาธารณรัฐสังคมนิยมจอร์เจียซึ่งเป็นบ้านเกิดของสตาลิน มีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านครุชชอฟอย่างรุนแรงที่ใส่ร้ายป้ายสี “บุตรที่ยิ่งใหญ่ของประชาชนจอร์เจีย” (Great Son of the Georgia People) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ โปแลนด์ โรมาเนีย บัลแกเรีย ฮังการี เชโกสโลวะเกีย เยอรมนีตะวันออก แอลเบเนียและสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อต้านสุนทรพจน์ลับของครุชชอฟและเคลื่อนไหวกดดันให้สหภาพโซเวียตเลิกล้มนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน

 แรงกดดันจากผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกและการขยายตัวของแนวความคิดการล้มล้างอิทธิพลสตาลินทำให้คณะเปรซิเดียมแห่งกรรมาธิการกลางพรรค (Presidium of the Central Committee) ซึ่งมีเกออร์กี มาเลนคอฟ ลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich)* คลีเมนต์ โวโรชิลอฟ (Kliment Voroshilov) และเวียเชสลัฟ โมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* เป็นแกนนำและเป็นฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับครุชชอฟในการล้มล้างอิทธิพลสตาลินได้ผลักดันให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ปัญหาลัทธิสตาลินอย่างเป็นกลางโดยปราศจากอคติเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๖ มีการเปิดเผยผลการพิจารณาแก่สาธารณชนเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคมในรายงานว่าด้วยมติเรื่อง Overcoming of the Cult of Personality and Its Consequences ซึ่งมีเนื้อหายกย่องสตาลินที่ทำงานรับใช้พรรคประเทศชาติ และขบวนการปฏิวัติระหว่างประเทศดังนั้น อาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมายของเขาจึงเป็นเพียงความผิดพลาดของการใช้อำนาจซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ความผิดพลาดดังกล่าวมีความสำคัญน้อยมาก หากเปรียบเทียบกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของเขา

 ในหนังสือ Memoirs of Nikita Khrushchevที่เขาเขียนขึ้นหลังหมดอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๖๔ ครุชชอฟกล่าวว่าการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในประวัติศาสตร์โซเวียตเพราะไม่เพียงเป็นความพยายามรื้อฟื้นหลักการของลัทธิเลนินและอุดมการณ์สังคมนิยมที่ถูกสตาลินบิดเบือนไปเท่านั้น แต่ยังเป็นความพยายามที่จะปฏิรูปด้วยแนวทางใหม่ เขาต้องรวบรวมความกล้าและความมั่นใจอย่างมากเพื่อจะทำเช่นนั้น หากเลนินมีชื่อในประวัติศาสตร์ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิวัติและเป็นผู้ก่อตั้งพรรคและรัฐ ส่วนสตาลินซึ่งดำเนินนโยบายผิดพลาดหลายอย่างก็มีบทบาทเป็นผู้ชนะในสงครามอันนองเลือดกับลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และลัทธินาซี (Nazism)* ครุชชอฟจึงเห็นว่าเป็นภารกิจของเขาที่จะมีบทบาทในการสร้างสันติภาพและนำความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้แก่สหภาพโซเวียต และแม้จะมองไม่เห็นแน่ชัดในการบรรลุถึงเป้าหมายนั้น แต่การประชุมใหญ่พรรคครั้งที่ ๒๐ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางที่เขาได้ริเริ่มขึ้น และยังส่งผลต่อทิศทางการเมืองระหว่างประเทศเพราะนำไปสู่บรรยากาศเสรีทางสังคมและการเมือง และยุคแห่งการผ่อนคลายความตึงเครียด (Détente)* ของสงครามเย็น.



คำตั้ง
Twentieth Congress of the Communist Party of the Soviet Union
คำเทียบ
การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐
คำสำคัญ
- กอตต์วัลด์, เคลเมนต์
- การกวาดล้างครั้งใหญ่
- การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียตครั้งที่ ๒๐
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- การล้มล้างอิทธิพลสตาลิน
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- คากาโนวิช, ลาซาร์
- ค่ายกักกัน
- ค่ายกักกันแรงงาน
- คีรอฟ, เซียร์เกย์ มีโรโนวิช
- เคจีบี
- โคมินฟอร์ม
- จดานอฟ, อันเดรย์
- จูคอฟ, เกออร์กี
- จูคอฟ, จอมพล เกออร์กี
- นาซี
- บอลเชวิค
- บุลกานิน, นีโคไล
- เบเรีย, ลัฟเรนตี
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต
- พรรคแรงงาน
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี
- มาเลนคอฟ, เกออร์กี มัคซีมีเลียโนวิช
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ
- ยูโกสลาเวีย
- ลัทธิการบูชาบุคคล
- ลัทธินาซี
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิเลนิน
- ลัทธิสตาลิน
- เลนิน, วลาดีมีร์
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สหภาพโซเวียต
- สัจนิยมแนวสังคมนิยม
- สุนทรพจน์ลับ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1956
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๙๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-