สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีเป็นสนธิสัญญาลับระหว่างจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒ และได้รับการต่ออายุทุก ๕ ปี จนถึงต้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นข้อตกลงระหว่างภาคีคู่สัญญาทั้ง ๓ ประเทศ ว่าเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีจะให้ความช่วยเหลือแก่อิตาลีในกรณีถูกฝรั่งเศสโจมตี และอิตาลีจะร่วมมือให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกทั้ง ๒ ประเทศในกรณีที่ถูกฝรั่งเศสโจมตีเช่นเดียวกัน แต่หากภาคีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งถูกอีกประเทศมหาอำนาจ ๒ ประเทศหรือมากกว่าโจมตี ภาคีสมาชิกที่เหลือทั้ง ๒ ประเทศจะต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศภาคีนั้นสนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจากการที่ฝรั่งเศสเข้ายึดครองตูนิเซีย (Tunisia) ในแอฟริกาใน ค.ศ. ๑๘๘๑ ซึ่งเท่ากับขัดขวางอิตาลีไม่ให้ขยายอำนาจและอิทธิพลในทวีปแอฟริกาในสมัยจักรวรรดินิยมใหม่ (New Imperialism)* นอกจากนี้ สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคียังสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถเชิงการทูตของเจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรให้ร่วมมือกับเยอรมนีในการป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสทำสงครามเพื่อแก้แค้นเยอรมนีที่ทำให้ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยินในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐–๑๘๗๑)* และใช้จักรวรรดิฝรั่งเศสเป็นสถานที่ประกาศสถาปนาจักรวรรดิเยอรมัน ซึ่งสร้างความอัปยศให้แก่ฝรั่งเศสในฐานะประเทศมหาอำนาจเก่าแก่เป็นอันมาก อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ชาวอิตาลีกลับไม่คิดที่จะให้ความร่วมมือทางการทหารแก่เยอรมนีในการทำสงครามกับกลุ่มมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers)* เพราะไม่เห็นว่ากองทัพฝรั่งเศสเป็นผู้ก่อสงคราม แต่ออสเตรีย-ฮังการีเป็นผู้จุดชนวนสงครามมากกว่า
สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๒ เป็นกระบวนการต่อเนื่องของการสร้างระบบพันธมิตรที่เรียกว่า ระบบบิสมาร์ค (Bismarckian System)* ที่บิสมาร์ค อัครมหา เสนาบดีแห่งจักรวรรดิเยอรมันต้องการสร้างดุลอำนาจของมหาอำนาจยุโรปและสกัดกั้นไม่ให้ฝรั่งเศสที่ได้รับความอัปยศจากการพ่ายแพ้ในสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียมีพันธมิตรเพื่อก่อสงครามแก้แค้นจักรวรรดิเยอรมัน การดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวฝรั่งเศสเริ่มต้นเมื่อเยอรมนีสามารถจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund; League of the Three Emperors)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๓ โดยมีจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิรัสเซีย และจักรวรรดิเยอรมันเป็นภาคีสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อดำรงรักษาสันติภาพ เสถียรภาพ ต่อต้านการปฏิวัติในนานาประเทศและการขยายตัวของระบบสังคมนิยม และที่สำคัญที่สุดสำหรับเยอรมนีคือเป็นหลักประกันให้ฝรั่งเศสต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว
อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไปได้ไม่นานสันนิบาตสามจักรพรรดิมีทีท่าจะล้มเหลว ทั้งนี้เพราะออสเตรีย-ฮังการีกับรัสเซียต่างมีผลประโยชน์ขัดแย้งกันและยังคงมีเรื่องบาดหมางใจกันในสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓–๑๘๕๖)* ที่ออสเตรียปฏิเสธที่จะร่วมเป็นพันธมิตรกับรัสเซียในการทำสงครามกับฝรั่งเศสและอังกฤษ ทั้งที่รัสเซียเคยส่งกองทัพไปช่วยออสเตรียปราบปรามชาวฮังการีซึ่งก่อการปฏิวัติต่อต้านออสเตรียในเหตุการณ์การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ในทางตรงกันข้าม ออสเตรียกลับดำเนินนโยบายทางการทูตเข้าข้างฝ่ายฝรั่งเศสและอังกฤษที่เป็นคู่สงครามของรัสเซีย จนทำให้รัสเซียต้องยอมเจรจาเพื่อยุติสงครามและสร้างบาดแผลอย่างฉกรรจ์ในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับออสเตรีย-ฮังการี นอกจากนี้ ในเวลาต่อมา ออสเตรีย-ฮังการีและเยอรมนีต่างเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาการแยกตัวของชนเชื้อชาติต่าง ๆ ในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkans) ที่ตกอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกี ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ รัสเซียได้ก่อสงครามกับตุรกีและเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ตุรกีต้องยอมทำสนธิสัญญาซานสตีฟาโน (Treaty of San Stefano)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ ที่เปิดโอกาสให้รัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลในคาบสมุทรบอลข่านและการจัดตั้งบัลแกเรีย (Bulgaria) ขึ้นเป็นรัฐอิสระ ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่ออสเตรีย-ฮังการีที่ต้องการเข้าไปมีอำนาจในบริเวณนั้นบิสมาร์คพยายามหาทางยุติข้อบาดหมางระหว่างทั้ง ๒ มหาอำนาจซึ่งต่างก็เป็นพันธมิตรของเยอรมนี โดยจัดให้มีการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๘
ผลของการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลินทำให้สนธิสัญญาซานสตีฟาโนถูกยกเลิก ออสเตรีย-ฮังการีได้อำนาจอารักขาบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา (Bosnia and Herzegovina)* ในขณะที่รัสเซียไม่ได้ผลประโยชน์มากเท่าที่ต้องการ ซาร์อะเล็กซานเดอร์ ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕–๑๘๘๘)* ทรงรู้สึกว่าถูกเยอรมนีหักหลังทั้งที่รัสเซียเคยให้ความร่วมมือใน การรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany)* จนสามารถจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ทั้งทรงเห็นว่าการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลินเป็นการร่วมมือระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเยอรมนีรวมทั้งมหาอำนาจอื่น ๆ เพื่อขัดขวางผลประโยชน์ของรัสเซียในคาบสมุทรบอลข่านโดยมีเยอรมนีเป็นผู้นำดังนั้น ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ จึงทรงตอบโต้ด้วยการถอนตัวออกจากสันนิบาตสามจักรพรรดิโดยทันที
การแยกตัวของรัสเซียดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลอย่างมากแก่บิสมาร์ค เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นโอกาสให้ฝรั่งเศสกับรัสเซียหันมาสร้างความสัมพันธ์กันดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันมิให้รัสเซียผูกไมตรีกับฝรั่งเศสซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อความมั่นคงของเยอรมนีได้ บิสมาร์คจึงดำเนินนโยบายทางการทูตที่แยบยลและสามารถชักจูงให้ออสเตรีย-ฮังการีตกลงทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance)* เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๗๙ มีสาระสำคัญคือประเทศภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาจะร่วมมือกันทำสงครามกับรัสเซียหากถูกรัสเซียโจมตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และจะรักษา “ความเป็นกลางด้วยเมตตาธรรม” (benevolent neutrality) หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกประเทศอื่น (คือฝรั่งเศส) โจมตี นับเป็นความสำเร็จของเยอรมนีในการสร้างระบบสัมพันธไมตรีที่สร้างความมั่นคงให้แก่จักรวรรดิได้ ต่อมาในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๘๒ สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคีได้ขยายตัวเป็นสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี โดยมีอิตาลีได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกด้วย การเข้าเป็นภาคีสมาชิกของอิตาลีเกิดขึ้นจากการที่อิตาลีไม่พอใจฝรั่งเศสที่กีดกันตนไม่ให้ยึดครองตูนิเซียในแอฟริกา ความไม่พอใจดังกล่าวจึงทำให้บิสมาร์คเห็นเป็นโอกาสที่จะดำเนินการสานต่อนโยบายทางการทูตเพื่อรักษาความมั่นคงของจักรวรรดิเยอรมันต่อไป สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการต่ออายุเป็นระยะเวลานานจนกระทั่งหมดอายุใน ค.ศ. ๑๙๑๕ ในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ กำลังดำเนินอยู่ ในวันที่ ๑๘ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๘๓ พระเจ้าคารอลที่ ๑ (Carol I)* แห่งโรมาเนียซึ่งมีเชื้อสายเยอรมันก็ลงนามในสนธิสัญญาเข้าเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีด้วย ทั้งนี้ทรงหวังว่าการเป็นประเทศพันธมิตรกับประเทศมหาอำนาจ เช่น ออสเตรีย-ฮังการี เยอรมนี จะช่วยให้โรมาเนียมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพในคาบสมุทรบอลข่านทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ทั้งจะปลอดภัยจากการขยายอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคดังกล่าวนี้อีกด้วย
ขณะเดียวกันใน ค.ศ. ๑๘๘๑ บิสมาร์คสามารถโน้มน้าวให้รัสเซียกลับมาเป็นสมาชิกและฟื้นฟูสันนิบาตสามจักรพรรดิขึ้นใหม่ได้สำเร็จ ต่อมา เมื่อรัสเซียปฏิเสธที่จะต่ออายุอีกครั้งเพราะความขัดแย้งกับออสเตรีย-ฮังการีในปัญหาตะวันออก บิสมาร์คกลับประสบความสำเร็จในการชักจูงให้รัสเซียทำสนธิสัญญากับเยอรมนีในสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty 1887)* เพื่อเป็นหลักประกัน “ความเป็นกลางด้วยเมตตาธรรม” ของทั้ง ๒ ประเทศหากประเทศที่ ๓ โจมตีประเทศหนึ่งประเทศใดของภาคีสนธิสัญญา
อย่างไรก็ดี ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๘๗ เมื่อสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีหมดอายุและต้องได้รับการต่ออายุอีกครั้ง บิสมาร์คซึ่งต้องการที่จะเอาใจและรักษาไมตรีกับอิตาลีที่ในขณะนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งอาณานิคมในแอฟริกาดังที่เยอรมนีเคยให้คำมั่นสัญญา เยอรมนีจึงกดดันให้ออสเตรีย-ฮังการียอมรับในหลักการในการหารือและร่วมมือกับอิตาลีหากมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตในคาบสมุทรบอลข่านหรือชายฝั่งทะเลเอเจียนและกลุ่มเกาะ แต่กระนั้นก็ไม่อาจประกันความร่วมมือระหว่างอิตาลีกับออสเตรีย-ฮังการีได้ เพราะทั้ง ๒ ประเทศยังคงมีความขัดแย้งกันและต่างแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคดังกล่าวนี้ มีผลให้อิตาลีทำข้อตกลงกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ทำนองเดียวกับที่ทำกับออสเตรีย-ฮังการีเพื่อคงสถานภาพเดิมในคาบสมุทรบอลข่าน ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงต้องหารือกับฝรั่งเศสก่อน
ต่อมา เมื่อสนธิสัญญาประกันพันธไมตรีกับรัสเซียหมดอายุลงใน ค.ศ. ๑๘๙๐ ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘–๑๙๑๘)* จักรพรรดิพระองค์ใหม่ทรงปฏิเสธที่จะต่ออายุสนธิสัญญาขณะเดียวกันบิสมาร์คก็ถูกบีบให้ลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี รัสเซียจึงเห็นว่าเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นฝ่ายตรงข้ามกับตน จึงหันไปผูกไมตรีกับฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ก่อให้เกิด สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๙๔ (Dual Alliance 1894)* หรือความตกลงฝรั่งเศส-รัสเซีย (Franco-Russian Entente)* ซึ่งเท่ากับเป็นการยุติการอยู่อย่างโดดเดี่ยวของฝรั่งเศสที่ดำเนินมากว่า ๒๐ ปี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๓ และ ค.ศ. ๑๙๐๗ อังกฤษก็ยุตินโยบายอยู่โดดเดี่ยวอย่างงามสง่า (Splendid Isolation)* และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศสและรัสเซียตามลำดับ ก่อให้เกิดกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* ขึ้นอันเป็นค่ายมหาอำนาจสำคัญที่คานอำนาจกับกลุ่มประเทศสนธิสัญญาพันธไมตรีที่ประกอบด้วยเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลีที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๒
ความสมานฉันท์อันแน่นแฟ้นระหว่างออสเตรีย-ฮังการีกับเยอรมนีตามสนธิสัญญาพันธไมตรีได้สร้างความฮึกเหิมให้แก่ออสเตรีย-ฮังการี และผลักดันให้เข้ายึดครองบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ต่อมาได้ประกาศสงครามต่อเซอร์เบียเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ โดยออสเตรีย-ฮังการีกล่าวหาว่ารัฐบาลเซอร์เบียอยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีและพระชายา อันเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ และดึงพันธมิตรของสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีและประเทศตามข้อตกลงไตรภาคีเข้าสู่สงครามในระยะแรกของสงครามทั้งอิตาลีและโรมาเนียประกาศตนเป็นกลางโดยอ้างว่าออสเตรีย-ฮังการีเป็นฝ่ายที่ก่อสงครามก่อน อย่างไรก็ดี ในส่วนของอิตาลีก็มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามแล้วเพราะได้ลงนามในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London)* ซึ่งเป็นสนธิสัญญาลับ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรจะตอบแทนอิตาลีด้วยการยกดินแดนต่าง ๆ ให้ เช่น ตรีเอสเต (Trieste) อิสเตรีย (Istria) ดัลเมเชีย (Dalmatia) รวมทั้งดินแดนอื่นๆในแอฟริกาและดินแดนในครอบครองของตุรกี
ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ อิตาลีได้ออกจากการเป็นภาคีสมาชิกของสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี และเข้าร่วมเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรหรือฝ่ายกลุ่มประเทศความตกลงไตรภาคี จึงถือว่าเป็นการสิ้นสุดของสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคีโดยปริยายต่อมาได้ประกาศสงครามกับออสเตรีย-ฮังการีในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม และอีก ๑ ปีต่อมาในวันที่ ๒๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖กับเยอรมนีส่วนโรมาเนียได้ยกเลิกนโยบายเป็นกลางและเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรใน ค.ศ. ๑๙๑๖ หลังจากได้รับคำสัญญาว่าจะได้ครอบครองดินแดนบางส่วนของออสเตรีย-ฮังการีที่มีประชากรชาวโรมาเนียอาศัยอยู่ ขณะเดียวกันเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี คู่พันธมิตรเดิมของสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ก็ยังคงความเป็นพันธมิตรกันอย่างเหนียวแน่นตลอดระยะเวลาสงครามโลกครั้งที่ ๑ จนกระทั่งทั้ง ๒ ประเทศเป็นฝ่ายปราชัยในที่สุดและเป็นจุดจบของระบอบการปกครองแบบจักรวรรดิของทั้ง ๒ ประเทศเมื่อสงครามสิ้นสุดลง.