Tripartite Pact (1940)

กติกาสัญญาไตรภาคี (พ.ศ. ๒๔๘๓)

กติกาสัญญาไตรภาคี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า กติกาสัญญาเบอร์ลิน (Berlin Pact) เป็นข้อตกลงพันธมิตรระหว่างเยอรมนีกับอิตาลีและญี่ปุ่น ที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* เคานต์กาเลอัซโซ ชาโน (Galeazzo Ciano)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลี และซาบูโระ คูรูโซะ (Saburo Kuruso) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศเยอรมนี ร่วมกันลงนามที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เป็นกติกาสัญญาทางทหารและเศรษฐกิจที่มีอายุ ๑๐ ปี หลังการลงนามในกติกาสัญญาฉบับนี้ไม่นานนัก ประเทศพันธมิตรของเยอรมนีก็เข้าร่วมในกติกาสัญญาไตรภาคีด้วยได้แก่ฮังการี (๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐) โรมาเนีย (๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐) บัลแกเรีย (๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑) สโลวาเกียซึ่งเป็นรัฐในอารักขา (Client State) ของเยอรมนี (๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐) และโครเอเชียซึ่งเป็นรัฐในอารักขาของอิตาลีร่วมกับเยอรมนี (๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑)

 กติกาสัญญาไตรภาคีเป็นผลสืบเนื่องจากการที่เยอรมนีลงนามกับสหภาพโซเวียตในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต (German-Soviet Nonaggression Pact)* ใน ค.ศ .๑๙๓๙ เพื่อให้สหภาพโซเวียตวางตัวเป็นกลางและไม่ก่อสงครามระหว่างกันเป็นเวลา ๑๐ ปี ทั้งร่วมมือกันแบ่งดินแดนโปแลนด์โดยเยอรมนีได้ครอบครองโปแลนด์ตะวันตกและสหภาพโซเวียตได้โปแลนด์ตะวันออก ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีมาก่อนในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* ค.ศ. ๑๙๓๖ จึงไม่พอใจและหวาดระแวงเยอรมนี เพราะเห็นว่าเยอรมนีละเมิดข้อตกลงลับในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นที่ห้ามประเทศภาคีสนธิสัญญาทำข้อตกลงทางการเมืองและการทหารกับสภาพโซเวียตโดยปราศจากความเห็นชอบของภาคีสนธิสัญญาทั้ง ๒ ฝ่าย นอกจากนี้ตลอดช่วงค.ศ. ๑๙๓๙ ญี่ปุ่นพยายามเจรจากับเยอรมนีและอิตาลีเพื่อทำข้อตกลงทางทหารในการต่อต้านสหภาพโซเวียต แต่ทั้งฮิตเลอร์และเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีเพิกเฉยที่จะเจรจาตกลงด้วย

 ต่อมา เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ด้วยยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เยอรมนีมีชัยชนะตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๐ และในกลางเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ก็บุกเกาะอังกฤษซึ่งนำไปสู่ยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* ญี่ปุ่นซึ่งเข้าใจว่าอังกฤษคงพ่ายแพ้ในไม่ช้า ทั้งเห็นเป็นโอกาสที่จะขยายอำนาจในเอเชียจึงต้องการปรับความสัมพันธ์กับเยอรมนีและอิตาลี เพื่อร่วมมือกันสถาปนาระเบียบใหม่ในยุโรป แอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นเสนอความช่วยเหลือและร่วมมือกับอิตาลีและเยอรมนีในการทำสงครามกับอังกฤษเพื่อให้อังกฤษปราชัย แต่จะยังไม่เข้าร่วมสงครามทั้งจะพยายามขัดขวางไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามอย่างไรก็ตามหากสถานการณ์ระหว่างประเทศเอื้ออำนวยโดยสงครามในจีนสงบลง ญี่ปุ่นก็จะเข้าสงคราม

 เยอรมนีซึ่งเห็นว่าอังกฤษคงไม่ยอมแพ้สงครามโดยง่ายเกรงว่าสหรัฐอเมริกาอาจสนับสนุนอังกฤษเยอรมนีจึงตอบรับท่าทีของญี่ปุ่นโดยเสนอว่าเยอรมนีพร้อมที่จะทำสนธิสัญญากับญี่ปุ่นโดยให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการสร้างระเบียบใหม่ในเอเชีย ญี่ปุ่นก็ต้องยอมรับให้เยอรมนีวางระเบียบใหม่ในยุโรปเช่นกัน ญี่ปุ่นยังไม่จำเป็นต้องทำสงครามกับอังกฤษ แต่ต้องทำสนธิสัญญาทางทหารร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงคราม ข้อตกลงดังกล่าวจึงนำไปสู่การทำกติกาสัญญาไตรภาคีระหว่างเยอรมนีกับอิตาลีและญี่ปุ่น ที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ผู้ลงนามได้แก่ ฮิตเลอร์แทนโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเคานต์กาเลอัซโซ บุตรเขยของมุสโสลีนี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิตาลีในนามของอิตาลี และคูรูโซะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเยอรมนีในนามของญี่ปุ่น

 กติกาสัญญาไตรภาคีเป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่มุ่งหวังเตือนสหรัฐอเมริกาโดยตรงเพื่อไม่ให้เข้าสงคราม สาระสำคัญของกติกาสัญญาไตรภาคีมี ๖ มาตรา กล่าวคือ ๑) ญี่ปุ่นยอมรับและเคารพว่าเยอรมนีและอิตาลีเป็นผู้นำในการสถาปนาระเบียบใหม่ในยุโรป ๒) เยอรมนีและอิตาลียอมรับและเคารพว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการสถาปนาระเบียบใหม่ในมหาเอเชียบูรพา (Great East Asia) ๓) ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีตกลงว่าจะร่วมมือกันในแนวทางดังกล่าวข้างต้น ทั้ง ๓ ประเทศยังจะช่วยกันทุกวิถีทางทั้งทางการเมืองเศรษฐกิจ และการทหาร ในกรณีที่ภาคีกติกาสัญญาถูกมหาอำนาจอื่นเข้าแทรกแซงซึ่งในขณะทำสัญญาฉบับนี้มิได้เข้าร่วมสงครามในยุโรปหรือในความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ๔) เพื่อให้เป็นไปตามกติกาสัญญานี้ รัฐบาลของญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีจะตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิค (Technical Commissions) ขึ้นโดยเร็ว ๕) ญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลี ยืนยันว่าข้อตกลงนี้ไม่กระทบต่อสถานภาพทางการเมืองที่ดำรงอยู่ระหว่างประเทศภาคีกติกาสัญญากับโซเวียต-รัสเซีย ๖) กติกาสัญญานี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีหลังการลงนามและมีอายุ ๑๐ ปีนับจากวันลงนาม ก่อนที่กติกาสัญญาสิ้นสุดลง ภาคีกติกาสัญญาประเทศหนึ่งประเทศใดจะขอให้มีการเจรจาต่ออายุกติกาสัญญาได้

 ในช่วงเวลาที่มีการลงนามในกติกาสัญญาไตรภาคีนั้น สหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าสู่สงคราม แต่อังกฤษกำลังทำสงครามกับเยอรมนีอยู่ สหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายเป็นกลางและเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ ทั้งอิตาลีก็ยังมีมิตรไมตรีกับสหภาพโซเวียต ส่วนญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้เข้าสงคราม ทั้งญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีเพียงต้องการเตือนสหรัฐอเมริกาไม่ให้เข้าสู่สงครามช่วยอังกฤษหากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามก็ต้องทำศึกทั้งด้านยุโรปและเอเชีย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติกติกาสัญญาไตรภาคีบรรลุวัตถุประสงค์ไม่มากนัก เพราะญี่ปุ่น เยอรมนี และอิตาลีมีขอบเขตการปฏิบัติการจำกัดในอีกฟากฝั่งของที่ตั้งประเทศ และต่างมียุทธศาสตร์และผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อสหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ แม้การประกาศสงครามของญี่ปุ่นต่อสหรัฐอเมริกาจะนำไปสู่การเปิดแนวรบด้านแปซิฟิกที่ไม่ใช่เป็นการกดดันให้ประเทศภาคีกติกาสัญญาต้องประกาศสงครามด้วย แต่เยอรมนีก็ประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาในวันที่ ๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ การประกาศสงครามของเยอรมนีนับเป็นความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายสงครามของฮิตเลอร์ เพราะทำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามในยุโรปและร่วมมือกับอังกฤษและสหภาพโซเวียตเพื่อเอาชนะฝ่ายมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)*

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ฮังการีซึ่งวางตนเป็นกลางมาโดยตลอดแต่ขณะเดียวกันก็เอนเอียงเข้ากับฝ่ายมหาอำนาจอักษะ เยอรมนีและอิตาลีจึงตอบแทนด้วยการบีบบังคับให้โรมาเนียยกทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ให้แก่ฮังการี ฮังการีจึงเข้าร่วมกับกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในโรมาเนีย โดยนายพลยอน อันตอเนสกู (Jon Antonescu)* ผู้นำกองกำลังเหล็ก (Iron Guard)* ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองชาตินิยมขวาจัดได้ยึดอำนาจการปกครองจากพระเจ้าคารอลที่ ๒ (Carol II) แห่งโรมาเนีย และสถาปนาเจ้าชายมีไฮ พระราชโอรสให้ขึ้นครองบัลลังก์ เฉลิมพระนามพระเจ้ามีไฮที่ ๑ (Mihai I) โดยเป็นพระประมุขหุ่นเชิดของอันตอเนสกูอันตอเนสกูซึ่งสนับสนุนเยอรมนีอย่างมากและหวาดวิตกต่อการขยายอำนาจของสหภาพโซเวียตจึงเข้าร่วมกับกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ในวันรุ่งขึ้น สโลวาเกียก็เข้าร่วมในกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคีด้วย ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ ยูโกสลาเวียเข้าร่วมในกลุ่มกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ แต่หลังการลงนามได้เพียง ๒ วัน กลุ่มทหารซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในระยะแรกยูโกสลาเวียจึงต้องการแยกตัวออกจากกติกาสัญญาไตรภาคี แต่ในเวลาต่อมาก็ประกาศไม่ถอนตัวออก ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน โครเอเชียก็เข้าร่วมในกติกาสัญญาไตรภาคีเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๑

 ในช่วงเวลาก่อนที่เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นจะร่วมกันลงนามในกติกาสัญญาไตรภาคีและกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกันนั้น สหภาพโซเวียตทราบข่าวเรื่องการเจรจาหารือและประสงค์จะเข้าร่วมด้วยในเดือนพฤศจิกายน โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตจึงส่งเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อขอเข้าร่วมในกติกาสัญญาไตรภาคีด้วย โดยถือว่าการเข้าร่วมของสหภาพโซเวียตเป็นการปรับข้อตกลงเดิมระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต ค.ศ. ๑๙๓๙ ให้ทันสมัยและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สหภาพโซเวียตยังเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจำนวนมากแก่เยอรมนีโดยแลกเปลี่ยนกับการที่สหภาพโซเวียตซึ่งกำลังทำสงครามกับฟินแลนด์จะบีบบังคับให้ฟินแลนด์ยอมรับการลงนามสัญญาสงบศึก (Armistice)* โดยเยอรมนีจะไม่ขัดขวาง อย่างไรก็ตาม แม้เยอรมนีจะไม่ยอมตอบรับสหภาพโซเวียตเรื่องเข้าร่วมกติกาสัญญาไตรภาคี และกำลังเตรียมการที่จะบุกโจมตีสหภาพโซเวียต แต่เยอรมนีก็ยอมรับข้อเสนอเรื่องความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียตและมีการลงนามกันในสนธิสัญญาความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจในวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๔๑

 หลังเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นลงนามร่วมกันในกติกาสัญญาไตรภาคี ทั้ง ๓ ประเทศได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิคตามมาตรา ๔ ของกติกาสัญญานี้ขึ้นในเมืองหลวงของแต่ละประเทศเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ โดยเรียกชื่อว่าคณะกรรมาธิการทั่วไป (General Commission) ซึ่งแต่ละชุดจะประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของประเทศเจ้าภาพและเอกอัครราชทูตของอีก ๒ ประเทศ เพื่อพิจารณาความช่วยเหลือกันทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ การประชุมครั้งแรกของคณะกรรมาธิการทั่วไปทั้ง ๓ ประเทศที่เรียกกันว่า “การประชุมกติกาสัญญาไตรภาคี” (Tripartite Pact Conference) มีขึ้นที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ ผลการประชุมคือการจัดตั้ง “สภาถาวรของมหาอำนาจกติกาสัญญาไตรภาคี” (Permanent Council of the Tripartite Pact Powers) ขึ้นอย่างไรก็ตาม สภาถาวรของมหาอำนาจกติกาสัญญาไตรภาคีก็แทบไม่มีบทบาทใด ๆ และมีการประชุมหารือกันเพียงครั้งเดียวที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๒ โดยริบเบนทรอพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีเป็นประธานที่ประชุมตกลงให้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Propaganda Commission) ขึ้นเพื่อโฆษณาเรื่องการดำเนินนโยบายสงครามและความร่วมมือทางทหารระหว่างกัน แต่หลังการประชุมครั้งนี้แล้วก็ไม่มีการประชุมอีกซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้วย

 หลังการลงนามในกติกาสัญญาไตรภาคีได้ไม่นานนัก ญี่ปุ่นซึ่งเตรียมขยายอำนาจตระหนักว่า ในช่วงการขยายอิทธิพลลงมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ญี่ปุ่นอาจถูกสหภาพโซเวียตโจมตีได้ และเห็นความจำเป็นที่ต้องทำสนธิสัญญาความเป็นกลางหรือกติกาสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียต ในต้นเดือนมีนาคมค.ศ. ๑๙๔๑ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาหารือกับฮิตเลอร์และริบเบนทรอพที่กรุงเบอร์ลินเกี่ยวกับการจะผูกมิตรกับสหภาพโซเวียต แต่เยอรมนีแจ้งว่าความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตกำลังมีปัญหาและหากสหภาพโซเวียตแสดงท่าทีต่อต้านเยอรมนีเมื่อใดเยอรมนีพร้อมจะบุกโจมตีสหภาพโซเวียตทันที และไม่แน่ใจว่าสงครามระหว่างเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตจะเกิดขึ้นเมื่อใด เยอรมนีไม่ประสงค์จะให้ญี่ปุ่นทำข้อตกลงใด ๆ ผูกมัดกับสหภาพโซเวียต โดยข้อเท็จจริงแล้วเยอรมนีกำลังเตรียมบุกโจมตีสหภาพโซเวียตในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ ด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation of Barbarossa)* แต่ปกปิดญี่ปุ่นเพราะไม่ต้องการให้ข่าวรั่วไหล ญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาความเป็นกลาง (Neutrality Treaty) ระหว่างสหภาพโซเวียตกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๑ โดยมีสาระสำคัญคือ ทั้ง ๒ ประเทศจะเคารพบูรณภาพแห่งดินแดนของกันและกัน หากภาคีสนธิสัญญาใดทำสงครามกับประเทศที่สาม อีกฝ่ายหนึ่งจะวางตนเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ในตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ สหภาพโซเวียตได้บอกเลิกสนธิสัญญาฉบับนี้และได้ประกาศสงครามกับญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๕.



คำตั้ง
Tripartite Pact
คำเทียบ
กติกาสัญญาไตรภาคี
คำสำคัญ
- กติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น
- กติกาสัญญาไตรภาคี
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต
- กองกำลังเหล็ก
- การประชุมกติกาสัญญาไตรภาคี
- โคมินเทิร์น
- นาซี
- ปฏิบัติการบาร์บารอสซา
- มหาอำนาจอักษะ
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- ยูโกสลาเวีย
- ริบเบนทรอพ, โยอาคิม ฟอน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาความเป็นกลาง
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- อันตอเนสกู, ยอน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1940
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๘๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-