จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เป็นชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของเยอรมนีในช่วงการปกครองของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* ระหว่างวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ถึงวันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ เป็นสมัยการปกครองที่สืบต่อจากสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘–๑๙๓๓)* เมื่อจอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ประธานาธิบดีแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาให้สัญญากับประชาชนเยอรมันว่าจะสร้างประเทศให้เข้มแข็งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม และนำเยอรมนีกลับไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งโดยจะสถาปนาจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ซึ่งจะดำรงอยู่นานถึง
แนวคิดในการก่อตัวของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เป็น ผลสืบเนื่องจากสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ที่เยอรมนีถูกบีบบังคับให้ลงนามกับประเทศสัมพันธมิตรเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ความเกลียดชังของชาวเยอรมันต่อสนธิสัญญาฉบับนี้และข่าวลือเรื่อง “การลอบแทงข้างหลัง” ที่ทำให้เยอรมนีต้องยอมแพ้ได้นำไปสู่การเกิดบรรยากาศทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการวางฐานอำนาจของพรรคนาซีต่อมาในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในยุโรปและทั่วโลก ตามด้วยปัญหาความแตกแยกทาง
การแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ซึ่งฝ่ายนาซีเรียกว่า “การยึดอำนาจ” (Machtergreifung) นับเป็นการสิ้นสุดของระบอบประชาธิปไตยเยอรมันและนำไปสู่การสถาปนาอำนาจเผด็จการของพรรคนาซีตลอดจนการเริ่มต้นของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ในเย็นวันที่ขึ้นสู่อำนาจฮิตเลอร์กล่าวปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงถึงประชาชนเยอรมันโดยสัญญาว่าเขาจะเอาชนะปัญหาการว่างงานและแก้ไขความอดอยากขาดแคลนของประชาชน ทั้งนำประเทศกลับไปสู่ความเข้มแข็งและมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง เขานำแนวความคิดของอาทูร์ เมิลเลอร์ ฟาน เดน บรุค (Arthur Moeller van den Bruck) นักประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึง “เยอรมันไรค์” (Deutsches Reich) ในหนังสือ Das dritle Reich มาใช้บรุคกล่าวถึงความเป็นมาของชาวเยอรมันในการสร้างบ้านแปงเมืองจนเป็นอาณาจักรและคาดหวังว่าอาณาจักรของชาวเยอรมันจะยืนยาวนับพันปี ฮิตเลอร์จึงนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้โดยกล่าวถึง“จักรวรรดิไรค์ที่ ๓” ที่เขามุ่งมั่นจะสร้างขึ้นและให้ดำรงอยู่ยาวนานนับพันปี คำว่า “จักรวรรดิไรค์ที่ ๓” จึงเริ่มเป็นที่รับรู้ของชาวเยอรมัน
เมื่อเกิดเหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นอยู่เบื้องหลังพรรคนาซีได้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างโน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งหวาดกลัวการลุกฮือของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันให้ยอมลงนามในกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการสร้างความเป็นระเบียบและความสงบทางสังคม และออกกฤษฎีกาการวางเพลิงสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire Decree) ยกเลิกสิทธิเสรีภาพเกือบทั้งหมดที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญค.ศ. ๑๙๑๙ ฮิตเลอร์จึงใช้อำนาจจากกฤษฎีฉุกเฉินกำจัดพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและอ้างปัญหาความขัดแย้งในรัฐบาลผสมกำหนดการเลือกตั้งสภาไรค์ชตากขึ้นในวันที่ ๕ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของสภาไรค์ชตากปรากฏว่าพรรคนาซีได้เสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๓๓ ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ เป็นร้อยละ ๔๔ โดยมีที่นั่งในสภา ๒๘๘ ที่นั่งจากจำนวน ๖๔๗ ที่นั่ง และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในปลายเดือนมีนาคมฮิตเลอร์เสนอร่างกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ให้สภาไรค์ชตากพิจารณาโดยอ้างว่ารัฐบาลต้องการมีอำนาจเต็ม ๔ ปี เพื่อสามารถกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อบริหารปกครองได้ราบรื่นและมั่นคงพรรคนาซีสามารถโน้มน้าวและบังคับสมาชิกสภาไรค์ชตากจำนวน ๔๔๑ คน หรือประมาณ ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสภาไรค์ชตากทั้งหมดให้สนับสนุนร่างกฎหมายที่ให้อำนาจได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม แต่มีเพียงสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน ๘๔ คนเท่านั้นที่คัดค้าน กฎหมายที่ให้อำนาจนี้ทำให้ฮิตเลอร์และพรรคนาซีสถาปนาอำนาจเผด็จการขึ้นได้อย่างชอบธรรม เพราะฮิตเลอร์สามารถออกกฎหมายแทนสภาไรค์ชตากและมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขยายอายุการทำงานของรัฐบาลเมื่อครบวาระได้และอื่น ๆ กฎหมายฉบับนี้ได้รับการต่ออายุอีก ๓ ครั้ง คือใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ค.ศ. ๑๙๔๑ และ ค.ศ. ๑๙๔๓ และเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบอบเผด็จการนาซีในเยอรมนี
ในปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ รัฐบาลนาซีเสนอกฎหมายความร่วมมือระหว่างรัฐกับจักรวรรดิไรค์ (Gleichschaltung of the State with the Reich) เพื่อให้รัฐบาลผ่านกฎหมายโดยไม่ต้องหารือกับรัฐบาลรัฐต่าง ๆ และสามารถแต่งตั้งผู้ว่าการรัฐซึ่งรับคำสั่งจากกรุงเบอร์ลินไปปกครองและควบคุมรัฐบาลแห่งรัฐได้ กฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานการสร้างเยอรมนีให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยกระบวนการบริหารที่เรียกว่า ไกลช์ชาลทุง (Gleichschaltung; Coordination)* โดยประสานการดำเนินงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นและภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งพรรคนาซีเข้าควบคุมองค์กรทางสังคม การเมืองเศรษฐกิจ และวัฒนธรรมทั้งหมด ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน มีการจัดตั้งหน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* ขึ้นซึ่งจะดำเนินงานร่วมกับหน่วยเอสเอ (SA–Sturmabteilung)* และหน่วยเอสเอส (SS–Schulzstaffel)* ในการพิทักษ์และเสริมอำนาจของพรรคนาซีตลอดจนกวาดล้างพวกคอมมิวนิสต์และศัตรูทางการเมือง แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* รัฐมนตรีมหาดไทยและคนสนิทของฮิตเลอร์จึงใช้องค์กรทั้ง ๓ แห่ง เป็นเครื่องมือกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรคนาซี ตลอดจนสร้างฐานอำนาจทางการเมืองให้แก่พรรคนาซี อีก ๒ เดือนต่อมา รัฐบาลนาซีซึ่งใช้หน่วยเอสเอเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งและรังควานสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจนจำนวนสมาชิกลดลงอย่างรวดเร็วก็ยุบพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันลง พรรคการเมืองอื่น ๆ จึงทยอยยุบเลิกลงในที่สุด การยุบตัวของพรรคการเมืองต่าง ๆ เปิดทางให้ฮิตเลอร์ออกกฎหมายเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม กำหนดให้พรรคนาซีเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวในเยอรมนีและห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น ๆ นอกจากนี้พรรคนาซียังแก้ปัญหาความขัดแย้งกับศาสนจักรด้วยการลงนามในความตกลงระหว่างสันตะปาปากับรัฐบาล ค.ศ. ๑๙๓๓ (Concordat 1933)* หรือกงกอร์ดาเมื่อวันที่๒๐กรกฎาคมค.ศ. ๑๙๓๓กงกอร์ดานับเป็นชัยชนะทางการทูตของพรรคนาซี เพราะทำให้ชาวเยอรมันและนานาประเทศเห็นว่าสำนักวาติกันยอมรับรัฐบาลนาซีซึ่งมีส่วนสร้างชื่อเสียงให้แก่ฮิตเลอร์อย่างมาก
ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ พรรคนาซีจัดการชุมนุมที่เมืองนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Rally)* ครั้งที่ ๕ ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะทางการเมืองของฮิตเลอร์และพรรคนาซีและความพ่ายแพ้ของระบอบสาธารณรัฐ ฮิตเลอร์กล่าวปราศรัยที่เร้าใจโดยสัญญาจะฟื้นฟูเยอรมนีขึ้นใหม่ และสร้างประชาคมเชื้อชาติ (racialcommunity) ที่บริสุทธิ์ขึ้นความสำเร็จของการชุมนุมประจำปีครั้งนี้ทำให้พรรคนาซีเชื่อมั่นว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่สนับสนุนฮิตเลอร์ พรรคนาซีจึงจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนพฤศจิกายนและขณะเดียวกันก็ให้มีการลงประชามติว่าชาวเยอรมันเห็นชอบกับการที่เยอรมนีลาออกจากองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* หรือไม่พรรคนาซีซึ่งเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมีชัยชนะขาดลอยโดยได้เสียงถึงร้อยละ ๙๒ และเกือบร้อยละ๙๐เห็นชอบกับการที่เยอรมนีถอนตัวจากการประชุมลดอาวุธใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และลาออกจากองค์การสันนิบาตชาติ
ชัยชนะทางการเมืองของพรรคนาซีทำให้มีการประกาศกำหนดสัญลักษณ์ความเป็นเยอรมนีใหม่ด้วยการยกเลิกสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของสาธารณรัฐไวมาร์ซึ่งรวมถึงธงชาติสีดำ แดง ทอง โดยเปลี่ยนเป็นธงสามสีดำ ขาว และแดงของอดีตจักรวรรดิเยอรมัน ควบคู่กับธงสวัสติกะของพรรคนาซีซึ่งหลัง ค.ศ. ๑๙๓๕ กลายเป็นธงชาติถาวร เพลงชาติเดิม “Deutschland über Allies” ก็ให้ร้องเพียงวรรคแรกและตามด้วยเพลงพรรค “Horst Wessel Lied” ทั้งให้ทักทายกันด้วยการตบเท้าและยกมือขวาขึ้นทำมุม ๔๕ องศากับพื้นในระดับเดียวกับศีรษะทั้งเหยียดนิ้วตรงเพื่อให้เห็นอุ้งมือพร้อมเปล่งเสียงว่า “ไฮล์ ฮิตเลอร์” (Heil Hitler) ในการสร้างฐานอำนาจให้มั่นคงมากขึ้น พรรคนาซีได้ออกกฎหมายเพื่อสร้างจักรวรรดิไรค์ (Act to rebuild the Reich) เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ โดยรวมศูนย์อำนาจการปกครองเข้าสู่ส่วนกลาง ยกเลิกรัฐสภาแห่งรัฐ และให้รัฐบาลกลางควบคุมการบริหารปกครองของรัฐต่าง ๆ ทั้งแต่งตั้งข้าหลวงแห่งไรค์ (Reich governors) ไปปกครองข้าราชการท้องถิ่นข้าหลวงแห่งไรค์จะแต่งตั้งผู้ว่าปกครองนครและเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน หากเมืองที่มีประชากรมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นผู้แต่งตั้ง ส่วนกรุงเบอร์ลินและฮัมบูร์ก (Hamburg) และหลัง ค.ศ. ๑๙๓๘ จะรวมกรุงเวียนนาด้วย ฮิตเลอร์จะเป็นผู้แต่งตั้งเอง
ในช่วงที่พรรคนาซีกำลังดำเนินการสร้างความเข้มแข็งทางการเมือง แอนสท์ เริม (Ernst Röhm)* หัวหน้าหน่วยเอสเอก็เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับคณะรัฐบาลและเปลี่ยนสถานภาพของหน่วยเอสเอที่เป็นเพียงกองกำลังของพรรคนาซีเป็นกองทัพแห่งชาติโดยให้กองทัพเยอรมันเข้ารวมกับเอสเอ ผู้นำกองทัพและนายพลแวร์เนอร์ ฟอน บลอมแบร์ก (Werner von Blomberg) ต่อต้านความคิดดังกล่าวและแสดงท่าทีให้เห็นว่ากองทัพจะสนับสนุนฮิตเลอร์ หากเขาลดอำนาจและบทบาทของเอสเอลง ฮิตเลอร์ซึ่งคาดหวังว่ากองทัพจะสนับสนุนเขาให้เป็นผู้นำสืบต่อจากประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งมีสุขภาพอ่อนแอและอาจเสียชีวิตได้ทุกขณะจึงตกลงกับกองทัพจะลดอำนาจหน่วยเอสเอและให้กองทัพเป็นเสาหลักของประเทศ ข้อตกลงดังกล่าวเปิดโอกาสให้ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* และไรน์ฮาร์ด ทรีชตาน ออยเกิน ไฮดริช (Reinhard Tristan Eugen Heydrich)* ซึ่งต่อต้านเริมกุข่าวว่าเขากำลังวางแผนยึดอำนาจ ฮิตเลอร์จึงเห็นชอบกับการกวาดล้างเอสเอและเริม และนำไปสู่เหตุการณ์การกวาดล้างทางการเมืองที่เรียกว่าคืนแห่งมีดยาว (Night of the Long Knives)* ระหว่างวันที่ ๒๙–๓๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เหยื่อของการกวาดล้างไม่ได้จำกัดเพียงเฉพาะหน่วยเอสเอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฝ่ายตรงข้ามกับพรรคนาซีและศัตรูเก่าของฮิตเลอร์ด้วย คืนแห่งมีดยาวหรือที่เรียกกันทั่วไปในเวลาต่อมาว่า การกวาดล้างอันนองเลือด (Blood Purge)* ทำให้ฮิตเลอร์มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากขึ้น และกองทัพก็ประกาศสนับสนุนเขา ทั้งสภาไรค์ชตากก็ผ่านกฎหมายว่าด้วยมาตรการป้องกันตัวของรัฐ(Law Regarding Measures of State Self-Defense) สนับสนุนการกวาดล้างของฮิตเลอร์ด้วย
อสัญกรรมของประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กเมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เปิดโอกาสให้ฮิตเลอร์รวมสำนักงานประธานาธิบดีเข้ากับสำนักงานนายกรัฐมนตรี โดยฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งใหม่เป็นฟือเรอร์และผู้นำเยอรมนี (Führer and Reichskanzler) ตำแหน่งดังกล่าวทำให้ฮิตเลอร์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพด้วย ทหารและกองทัพต้องให้สัตย์ปฏิญาณความจงรักภักดีต่อฟือเรอร์ (Führer)* ฮิตเลอร์ยังใช้อำนาจของฟือเรอร์ตัดสินและกำหนดนโยบายของประเทศได้ รวมทั้งออกกฎหมายเองและควบคุมนโยบายต่างประเทศ ต่อมาในเดือนกันยายนรัฐบาลนาซีจัดให้มีการแสดงประชามติว่าจะสนับสนุนการดำรงตำแหน่งฟือเรอร์ของฮิตเลอร์หรือไม่ ชาวเยอรมันร้อยละ ๙๖.๗ หรือประมาณ ๔.๕ ล้านคน ลงคะแนนเสียงเห็นชอบคิดเป็นร้อยละ ๘๙.๙๓ ผลการลงประชามติครั้งนี้นับเป็นชัยชนะของฮิตเลอร์และพรรคนาซี ฮิตเลอร์ประกาศว่าจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และเขาจะนำเยอรมนีก้าวไปข้างหน้าและไปสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ฮิตเลอร์จึงเริ่มสร้างจักรวรรดิไรค์ที่๓หรือเยอรมนีสมัยนาซี (Nazi Germany) ขึ้นตามความฝันและอุดมการณ์ของเขาซึ่งคาดหวังว่าจะดำรงอยู่ยืนยาวนับพันปีจักรวรรดิไรค์ที่๓มีส่วนทำให้คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ได้ชื่อว่าเป็น “ศตวรรษแห่งความรุนแรง” ด้วย ฮิตเลอร์ตระหนักว่าหากเขาจะทำให้ชาวเยอรมันมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นและยอมรับจักรวรรดิไรค์ จำนวนคนว่างงานต้องลดลงและผลผลิตทางอุตสาหกรรมต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขาจึงแต่งตั้งยัลมาร์ ชัคท์ (Hjalmar Schacht)* นักการเงินที่มีฝีมือเป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเยอรมันเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ชัคท์กำหนดมาตรการที่เรียกว่า “แผนไรน์ฮาร์ท” (Reinhardt Plan) ด้วยการจ้างงานและสร้างงานรวมทั้งปรับปรุงโครงการโยธาสาธารณะต่าง ๆ และอื่น ๆ โครงการที่สำคัญคือ โครงการสร้างทางหลวงหรือ “ออโทบาน” (autobahn) ซึ่งกระตุ้นให้การก่อสร้างและอุตสาหกรรมรถยนต์รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เติบโต ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ ชัคท์ยังกำหนดมาตรการเศรษฐกิจที่เรียกว่า “แผนใหม่” (New Plan) โดยให้รัฐบาลควบคุมเรื่องการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและกำหนดปริมาณสินค้านำเข้าทุกประเภท ทั้งการเพิ่มปริมาณการค้าต่างประเทศด้วยการทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ รวม ๒๕ ประเทศ โดยรัฐบาลให้สินเชื่อแก่ต่างประเทศด้วยการชำระเป็นเงินมาร์คเพื่อซื้อสินค้าเยอรมันและการลงทุนทางการค้า เยอรมนีจะใช้เงินมาร์คดังกล่าวซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ มาตรการของชัคท์ทำให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นและจำนวนคนว่างงานลดลง ทั้งการส่งออกเพิ่มขึ้น กอปรกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่กระเตื้องมากขึ้น เศรษฐกิจเยอรมนีเริ่มฟื้นตัวและจำนวนคนว่างงานลดน้อยลงตามลำดับจาก ๔.๕ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เหลือ ๓.๗ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ๒.๙ ล้านคนใน ค.ศ. ๑๙๓๕ และใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เหลือเพียง ๒.๕ ล้านคน อีก ๒ ปี ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เหลือน้อยกว่า ๑ ล้านคน และใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เหลือเพียง ๐.๓ ล้านคน
อย่างไรก็ตาม การที่ฮิตเลอร์ต้องการติดอาวุธให้เยอรมนีและเน้นเรื่องการให้เยอรมนีพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านวัตถุดิบและการพัฒนาวัสดุสังเคราะห์ รวมทั้งมุ่งกำลังการผลิตทั้งหมดในการผลิตอาวุธและเสริมกำลังรบทำให้มีการจัดทำแผน ๔ ปี (Four-year Plan) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านเศรษฐกิจ ฮิตเลอร์แต่งตั้งเกอริงให้รับผิดชอบแผน ๔ ปีชัคท์ซึ่งขัดแย้งกับเกอริงเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขเศรษฐกิจจึงต่อต้านทั้งเกอริงและแผน ๔ ปี ด้วยการลาออกในปลาย ค.ศ. ๑๙๓๗ ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งวัลเทอร์ ฟุงค์ (Walter Funk)* ซึ่งทำงานกับเกอริงให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจแทน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๔๒ ร้อยละ ๕๐ ของงบประมาณเศรษฐกิจอยู่ที่โครงการต่าง ๆ ของแผน ๔ ปี ซึ่งเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้ในการผลิตอาวุธและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติในประเทศ แม้แผน ๔ ปี จะไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก เพราะเมื่อเยอรมนีเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. ๑๙๓๙ปริมาณการผลิตอาวุธยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในแผนเกือบ ๓ ปี ทั้งยังคงพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่เศรษฐกิจโดยทั่วไปก็เติบโตอย่างมากและกองทัพมีกำลังอาวุธเข้มแข็งมากกว่าประเทศตะวันตกอื่น ๆ
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓–๑๙๓๖ รัฐบาลนาซีมุ่งเน้นการสร้างความเป็นปึกแผ่นในการบริหารปกครองประเทศและสานต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการร่วมมือกับประเทศตะวันตกในด้านต่าง ๆ เพื่อสันติภาพและการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างกัน ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๔ เยอรมนีลงนามร่วมกับโปแลนด์ในกติกาสัญญาไม่รุกรานกัน ค.ศ. ๑๙๓๔ (Nonaggression Pact 1934)* เป็นเวลา ๑๐ ปี กติกาสัญญาฉบับนี้ทำให้นานาประเทศลดความหวาดระแวงเยอรมนีเพราะเห็นว่ามีความจริงใจในการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างประเทศกับโปแลนด์ ในปีต่อมา ประชาชนในแคว้นซาร์ (Saar) ซึ่งอยู่ในการปกครองขององค์การสันนิบาตชาติตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซายออกเสียงลงประชามติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นขอกลับรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีแทนฝรั่งเศส ฮิตเลอร์จึงเห็นเป็นโอกาสประกาศให้มีการเกณฑ์ทหารขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม โดยอ้างว่าฝรั่งเศสได้ขยายเวลาประจำการทหาร เยอรมนีจำเป็นต้องเสริมกำลังเพื่อป้องกันประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลีซึ่งกำลังเผชิญกับปัญหาภายในประเทศเพียงทำหนังสือประท้วงและออกคำประกาศสเตรลซา (Strelsa Declaration) ประณามการเกณฑ์ทหารของเยอรมนี อย่างไรก็ตาม เยอรมนีก็พยายามผูกมิตรกับอังกฤษและฮิตเลอร์แต่งตั้งโยอาคิม ฟอน ริบเบนทรอพ (Joachim von Ribbentrop)* ที่ปรึกษาด้านต่างประเทศไปปรับความสัมพันธ์และเจรจาทำความตกลงเรื่องกำลังทางทะเลซึ่งนำไปสู่ความตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี (Anglo-German Naval Agreement) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๕ ความตกลงฉบับนี้นับเป็นชัยชนะทางการทูตของเยอรมนีเพราะอังกฤษยอมรับการติดอาวุธของเยอรมนีซึ่งเป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซาย ทั้งทำให้หลักการการประกันความมั่นคงร่วมกัน (Collective Security)* ขององค์การสันนิบาตชาติหมดความสำคัญลง
เมื่อเกิดสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (ItaloEthiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕–๑๙๓๖)* ในต้นเดือน ตุลาคม ประเทศตะวันตกประณามการรุกรานของอิตาลีและองค์การสันนิบาตชาติมีมติให้คว่ำบาตรอิตาลีทางเศรษฐกิจ เยอรมนีเป็นประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบายเป็นกลาง แต่ก็สนับสนุนอิตาลีอย่างลับ ๆ ด้านกำลังอาวุธ อิตาลีซึ่งเคยบาดหมางกับเยอรมนีมาก่อนเกี่ยวกับปัญหาออสเตรียจึงหันมากระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนีภายหลังที่ได้ยึดครองเอธิโอเปียสำเร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ต่อมา ทั้ง ๒ ประเทศยังร่วมมือกันสนับสนุนและช่วยเหลือนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ผู้นำกลุ่มชาตินิยมที่ต้องการโค่นล้มอำนาจสาธารณรัฐประชาธิปไตยสเปนในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๙)* สงครามนี้ยังทำให้เยอรมนีและอิตาลีซึ่งต้องการจัดระเบียบใหม่ให้แก่ยุโรปลงนามร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดในกติกาสัญญาแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน (Rome-Berlin Axis)* เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนียอมรับว่าดินแดนรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นเขตอิทธิพลของอิตาลี และอิตาลีก็รับรองว่ายุโรปตะวันออกคือเขตอิทธิพลของเยอรมนีแกนร่วมโรม-เบอร์ลินทำให้นโยบายโดดเดี่ยวเยอรมนีของประเทศตะวันตกล้มเหลว และฮิตเลอร์เริ่มหันมาเสริมสร้างกำลังอาวุธและกองทัพเพื่อเตรียมก่อสงคราม
ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกขึ้นที่กรุงเบอร์ลินและประสบความสำเร็จอย่างมาก สื่อต่างประเทศประโคมข่าวว่าโอลิมปิก ค.ศ. ๑๙๓๖ เป็นการแข่งขันกีฬานานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดโอลิมปิกสมัยใหม่ใน ค.ศ. ๑๘๙๖เยอรมนีได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมากขึ้นในช่วงที่เยอรมนีจัดกีฬาโอลิมปิก ฮิตเลอร์ได้สั่งให้กองทัพเคลื่อนกำลังเข้าสู่ไรน์แลนด์ (Rhineland) ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำไรน์ ฝรั่งเศสซึ่งเพิ่งได้รัฐบาลชุดใหม่และมุ่งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าปัญหาการเมืองนอกประเทศเพิกเฉยต่อการกระทำของเยอรมนี เพราะเห็นว่าการตอบโต้อาจนำไปสู่สงครามทั้งประเมินกำลังทหารของเยอรมนีสูงกว่าความเป็นจริง ตลอดจนเห็นว่าแนวพรมแดนมาจิโน (Maginot Line)* ที่เริ่มก่อสร้าง ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ จะใช้ป้องกันการบุกของเยอรมนีในวันข้างหน้าได้ ส่วนอังกฤษต้องการแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจามากกว่าการใช้กำลังจึงเพียงส่งบันทึกประณามปฏิบัติการทางทหารของเยอรมนีในระดับทูตเท่านั้นการเพิกเฉยของอังกฤษและฝรั่งเศสต่อการรุกทางการเมืองของเยอรมนีครั้งนี้นับเป็นการละเมิดข้อตกลงระหว่างเยอรมนีกับฝรั่งเศสในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ และทำให้ข้อกำหนดในสนธิสัญญาแวร์ซายเป็นโมฆะชาวเยอรมันร้อยละ ๙๙ สนับสนุนการยึดครองไรน์แลนด์
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนเยอรมนีลงนามร่วมกับญี่ปุ่นในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยทั้ง ๒ ประเทศร่วมกันต่อต้านลัทธิบอลเชวิค (Bolshevism)* เพื่อป้องกันการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในปีรุ่งขึ้นอิตาลีได้เข้าร่วมในกติกาสัญญาฉบับนี้ด้วยการเข้าร่วมของอิตาลีทำให้แกนร่วมโรม-เบอร์ลินขยายตัวเป็นแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียว(Rome-Berlin-TokyoAxis)ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ นับเป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างอิตาลีเยอรมนีและญี่ปุ่นซึ่งในเวลาต่อมาได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers)*
ในการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ให้เข้มแข็ง พรรคนาซีต้องการทำลายอิทธิพลของชาวยิวในสังคมเยอรมัน และแบ่งแยกชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากพลเมืองเยอรมันเชื้อสายอารยันเพื่อสร้างความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์ มีการออกกฎหมายการทำหมัน (Sterilization Law) เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ เพื่อสร้างประชากรที่แข็งแรงปราศจากโรคพันธุกรรมต่าง ๆ กฎหมายฉบับนี้เป็นการเริ่มต้นการวางนโยบายคัดเลือกสายพันธุ์ประชากรเพื่อกำจัดมลภาวะทางเชื้อชาติ (racial pollution) ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๓๓ มีการออกกฎหมายอีกกว่า ๔๐ ฉบับ เพื่อตัดสิทธิต่าง ๆ ทางสังคมของพลเมืองเยอรมันเชื้อสายยิว และให้สถาบันการศึกษารับนักศึกษาที่มีเชื้อสายยิวได้เพียงร้อยละ ๑.๕ ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด รวมถึงการถอนสัญชาติเยอรมันของพลเมืองเชื้อสายยิวที่แปลงสัญชาติในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ด้วย ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ รัฐบาลนาซีเริ่มนโยบายต่อต้านชาวยิวอย่างเปิดเผยด้วยการสั่งคว่ำบาตรธุรกิจชาวยิวและห้ามชาวยิวเข้าชมภาพยนตร์ละคร และการใช้สระว่ายน้ำสาธารณะและสถานที่พักผ่อนต่างๆ ต่อมาในกลางเดือนกันยายนมีการออกกฎหมายนูเรมเบิร์ก (Nuremburg Laws)* ๒ ฉบับ ซึ่งกำหนดสถานภาพของชาวยิวและพลเมืองเยอรมันเชื้อสายยิว กฎหมายทั้ง ๒ ฉบับได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายนำร่องในการกำหนดมาตรการกวาดล้างชาวยิวที่ถูกกฎหมาย ในช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้กฎหมายนูเรมเบิร์ก รัฐบาลนาซีเริ่มดำเนินการขับไล่ชาวยิวหรือชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากชุมชน หมู่บ้านและเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยมาหลายชั่วคนเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดชาวยิว การขับไล่ดังกล่าวมีส่วนทำให้ชาวยิวที่มีฐานะเริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศอย่างไรก็ตามมาตรการข่มเหงคุกคามชาวยิวก็ดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพราะรัฐบาลนาซียังต้องการจะรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไว้
ในการเผยแพร่อุดมการณ์และนโยบายของพรรคนาซี โยเซฟ เพาล์ เกิบเบิลส์ (Joseph Paul Goebbels)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภูมิปัญญาสาธารณะและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ (Reich Ministry for Public Enlightenment and Propaganda)และผู้อำนวยการหอวัฒนธรรมแห่งไรค์ (Reich Chamber of Culture) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งพรรคงานศิลปวัฒนธรรมต้องให้การศึกษาและความเข้าใจเรื่องนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคนาซีและฟือเรอร์ เกิบเบิลส์จึงสร้างตำนานเกี่ยวกับฟือเรอร์ในฐานะผู้อุทิศตนเพื่อชาติ ผู้กอบกู้ และผู้นำที่ยิ่งใหญ่เขาชี้นำแนวความคิดหลักของพรรคนาซีคือ การต่อต้านยิว ลัทธิทหารนิยม ลัทธิชาตินิยมและความเหนือกว่าของชนชาติอารยัน ลัทธิบูชาฟือเรอร์และอำนาจเผด็จการเด็ดขาด ตลอดจนการต่อต้านความเป็นสมัยใหม่และคุณค่าประเพณีของคาทอลิกและอื่น ๆ เกิบเบิลส์ควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และใช้วิทยุและภาพยนตร์เป็นสื่อและเครื่องมือหลักในการเผยแพร่อุดมการณ์และนโยบายของพรรคนาซี เขายังสนับสนุนความคิดของฮิตเลอร์เรื่องการเพิ่มประชากรที่เป็นเชื้อชาติเยอรมันบริสุทธิ์ด้วยการรณรงค์ให้ผู้หญิงทำหน้าที่ให้กำเนิดบุตรและมีบทบาทเป็นภรรยาและแม่ ห้ามการคุมกำเนิด และไม่ต้องเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของเกิบเบิลส์มีส่วนหลอมรวมชาวเยอรมันให้เชื่อมั่นในผู้นำและยอมรับแนวทางการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ของพรรคนาซี นอกจากนี้ เกิบเบิลส์ยังสนับสนุนโครงการรณรงค์ “ปฏิบัติการต่อต้านจิตวิญญาณที่ไม่ใช่เยอรมัน” (Action Against the Un-German Spirit) ด้วยการจัดทำบัญชีชื่อหนังสือต้องห้ามที่ “ไม่เป็นเยอรมัน” ซึ่งเป็นภัยต่อความคิดและจิตใจของชาวเยอรมัน และนำหนังสือในบัญชีชื่อดังกล่าวออกจากห้องสมุดและร้านหนังสือต่าง ๆ เพื่อนำมาเผาบริเวณใจกลางเมือง งานเผาหนังสือจึงกลายเป็นกิจกรรมทางสังคมทั่วเยอรมันระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๓–๑๙๓๔
ในการสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ให้แข็งแกร่งฮิตเลอร์เชื่อมั่นว่าการขยายดินแดนทางตะวันออก (Lebensraum)* ด้วยการครอบครองรัสเซียและยุโรปตะวันออกไม่เพียงจะทำให้จักรวรรดิไรค์พึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจโดยใช้ทรัพยากรของดินแดนตะวันออกเลี้ยงดูประชากรของจักรวรรดิไรค์ได้เท่านั้นแต่ยังจะใช้ระบายพลเมืองไปตั้งรกรากในดินแดนนั้นด้วย ฮิตเลอร์เคยวางแผนเรื่องการขยายดินแดนไว้ก่อนแล้วในหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* ที่เขาเขียนขึ้นในช่วงระหว่างถูกจำคุกลันด์สแบร์กอัมเลช (LandsbergamLech)ดังนั้นเมื่อเยอรมนีเริ่มติดอาวุธและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เขาจึงนำโครงการขยายดินแดนมาพิจารณาโดยเรียกประชุมลับกับผู้นำกองทัพและคอนสแตนติน ฟอน นอยรัท (Constantin von Neurath)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแม้การประชุมครั้งนี้จะไม่มีการจดรายงานการประชุมแต่เคานต์ฟรีดิช ฮอสบัค (Friedich Hossbach) นายทหารคนสนิทของฮิตเลอร์ได้บันทึกประเด็นสำคัญของการประชุมไว้ซึ่งต่อมาเรียกชื่อว่า บันทึกช่วยจำฮอสบัค (Hossbach Memorandum)* บันทึกดังกล่าวในเวลาต่อมาเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญที่ใช้กล่าวหาฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำกองทัพว่าร่วมกันวางแผนก่อสงครามรุกรานประเทศอื่นจนเป็นสาเหตุของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ หลังการประชุมครั้งนี้ฮิตเลอร์แต่งตั้งนายพลวิลเฮล์ม ไคเทิล (Wilhelm Keithal)* นายทหารที่เขาไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองบัญชาการทหารสูงสุดเพื่อให้เตรียมการก่อสงคราม
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ อาร์ทูร์ ไซส์ซิงควาร์ท (Arthur Seyss-Inquart)* ผู้นำพรรคนาซีออสเตรียเคลื่อนไหวให้มีการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ฮิตเลอร์จึงกดดันให้นายกรัฐมนตรีคูร์ท ฟอน ชุชนิกก์ (Kurt von Schuschnigg)* แห่งออสเตรียยอมรับข้อเสนอของฝ่ายนาซีออสเตรียและข่มขู่จะใช้กำลังทัพบุกออสเตรีย ชุชนิกก์จึงลาออกและเปิดทางให้ไซส์ซิงควาร์ทได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาได้ขอเข้าร่วมกับเยอรมนี ฮิตเลอร์นำกองทัพเยอรมันเคลื่อนกำลังเข้าสู่กรุงเวียนนาและประชาชนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ในวันที่ ๑๒ มีนาคม เยอรมันประกาศรวมออสเตรียเป็นแคว้นหนึ่งในจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ โดยเรียกชื่อว่า “ออสท์มาร์ค” (Ostmark) นานาประเทศในยุโรปต่างเพิกเฉยต่อเรื่องการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี มีเพียงเม็กซิโกประเทศเดียวเท่านั้นที่คัดค้านและเรียกร้องให้องค์การสันนิบาตชาติพิจารณาเรื่องดังกล่าวด้วยข้ออ้างว่าเป็นการละเมิดข้อตกลงในสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* และเป็นการคุกคามสันติภาพของยุโรป อย่างไรก็ตาม ในการลงประชามติเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ชาวออสเตรียร้อยละ ๙๙.๗๕ เห็นชอบกับการเข้ารวมกับเยอรมนี ออสเตรียจึงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ และเป็นฐานทางการเมืองที่ทำให้เยอรมนีขยายอำนาจเข้าไปในเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* ในเวลาต่อมา
การผนวกออสเตรียทำให้เยอรมนีมีพลเมืองชาวยิวเพิ่มขึ้นกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน หน่วยเกสตาโปจึงส่งคาร์ล อดอล์ฟ ไอช์มันน์ (Karl Adolf Eichmann)* ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยิวไปประจำสำนักงานอพยพชาวยิวที่กรุงเวียนนาเพื่อเตรียมเรื่องการกำจัดชาวยิวและการอพยพชาวยิว ไอช์มันน์จึงเริ่มดำเนินการเนรเทศชาวยิวและยึดทรัพย์สินของพวกยิวส่งไปกรุงเบอร์ลินรวมทั้งจับกุมผู้นำชาวยิวส่งไปค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ในช่วงเวลาเดียวกัน ฮิตเลอร์สั่งให้ขับไล่ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกนอกประเทศและนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่ชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวทั่วทั้งเยอรมนีและออสเตรียระหว่างวันที่ ๘–๑๐ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ที่เรียกว่าคืนกระจกแตก (Kristallnacht; Night of Broken Glass)* ประมาณว่าชายชาวยิวกว่า ๓๐,๐๐๐ คน ถูกจับส่งไปค่ายกักกันโบสถ์ของชาวยิว ๑๐๑ แห่งถูกเผาเป็นจุณและร้านค้าชาวยิวกว่า ๗,๕๐๐ แห่งพังพินาศ ชาวยิวเสียชีวิตกว่า ๒,๕๐๐ คน หลังเหตุการณ์ครั้งนี้ ฮิตเลอร์แต่งตั้งไฮน์ริชฮิมม์เลอร์และไรน์ฮาร์ดไฮดริชแกนนำคนสำคัญของพรรคนาซีให้มีหน้าที่รับผิดชอบนโยบายการกำจัดชาวยิวและการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* เพื่อกำจัดชาวยิวทั่วยุโรป
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เยอรมนีสนับสนุนให้ชาวเยอรมันประมาณ ๓ ล้านคน ในแคว้นซูเดเทน (Sudetenland)ซึ่งเป็นดินแดนทางตอนเหนือของเชโกสโลวะเกียก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อรวมเข้ากับเยอรมนีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษซึ่งยึดมั่นในนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* พยายามแก้ไขความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศด้วยการเจรจากับประธานาธิบดีเอดูวาร์ด เบเนช (Edvard Beneš)* แห่งเชโกสโลวะเกีย แต่ล้มเหลวและฮิตเลอร์ก็ยืนกรานกับเชมเบอร์เลนว่าแคว้นซูเดเทนต้องรวมเข้ากับเยอรมนี มิฉะนั้นเยอรมนีจะก่อสงครามประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์ (Franklin Delano Roosevelt) แห่งสหรัฐอเมริกาและเบนีโตมุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลีซึ่งต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามในยุโรปจึงเสนอแนะให้มีการจัดประชุมระหว่างประเทศขึ้นเพื่อแก้ไขความขัดแย้งเรื่องแคว้นซูเดเทน และนำไปสู่การประชุมที่เมืองมิวนิก (Munich Conference)* เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ผู้แทนประเทศมหาอำนาจร่วมลงนามในความตกลงมิวนิก (Munich Conference)* โดยไม่ปรึกษาเชโกสโลวะเกีย เยอรมนีได้ครอบครองแคว้นซูเดเทนทั้งหมดโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่รุกรานดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกียอย่างไรก็ตาม ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีก็ละเมิดความตกลงมิวนิกด้วยการส่งทหารเข้ายึดครองโบฮีเมีย (Bohemia) และโมเรเวีย (Moravia)ซึ่งเป็นดินแดนส่วนที่เหลือของเชโกสโลวะเกีย โดยกำหนดให้เป็นดินแดนของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เรียกชื่อว่าโบฮีเมีย-โมเรเวียรัฐในอารักขาแห่งไรค์ (Reich Protectorate of Bohemia-Moravia) ส่วนเชโก-สโลวะเกียให้มีสถานภาพเป็นรัฐบริวาร
การยึดครองเชโกสโลวะเกียทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยกเลิกนโยบายเอาใจอักษะประเทศและหันมาต่อต้านเยอรมนีและเริ่มระดมพล อังกฤษยังกระชับความสัมพันธ์กับโปแลนด์ด้วยการลงนามในกติกาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Pact of Mutual Assistance) เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เยอรมนีตอบโต้ด้วยการประกาศล้มเลิกข้อตกลงนาวีระหว่างอังกฤษกับเยอรมนี ค.ศ. ๑๙๓๕ และในปลายเดือนเมษายนก็ล้มเลิกกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ในช่วงเวลาเดียวกันเยอรมนีเริ่มประโคมข่าวปลุกระดมประชาชนด้วยการสร้างเรื่องว่าชาวเยอรมันในโปแลนด์ถูกข่มเหงรังแก บรรยากาศทางสังคมในเยอรมนีนับแต่ฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๓๙ จึงเต็มไปด้วยข่าวลือและการโฆษณาชวนเชื่อว่าชาวโปลที่ป่าเถื่อนกำลังทำร้ายข่มเหงชาวเยอรมัน ภาวการณ์ทางการเมืองดังกล่าวทำให้สหภาพโซเวียตเชื่อว่าเยอรมนีมีแผนก่อสงครามโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียต จึงให้เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่สืบต่อจากมัคซิม มัคซีโมวิช ลิวีนอฟ (Maksim Maksimovich Litvinov)* เปิดการเจรจากับเยอรมนี และนำไปสู่การตกลงในสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างกันเป็นเวลา ๗ ปีเมื่อวันที่๑๙สิงหาคมค.ศ. ๑๙๓๙ตลอดจนความตกลงทางทหารในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม
หลังการลงนามกติกาสัญญานาซี-โซเวียต หรือบางครั้งเรียกกติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน (HitlerStalin Pact)* ได้ ๑ สัปดาห์ เยอรมนีก็เคลื่อนกำลังบุกโจมตีโปแลนด์โดยใช้ยุทธวิธีทำสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ซึ่งเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๐ เยอรมนียึดครองดินแดนส่วนใหญ่ของยุโรปได้เกือบหมดและมีชัยชนะต่อฝรั่งเศสในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ จากนั้นเยอรมนีหันไปโจมตีอังกฤษ แต่ล้มเหลวที่จะยึดครองอังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain)* เยอรมนีจึงเปิดแนวรบด้านตะวันออกด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตด้วยแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เมื่อวันที่ ๒๒ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ เพื่อหวังกอบกู้ชื่อเสียงของเยอรมนีจากความพ่ายแพ้ การบุกของเยอรมนีทำให้กติกาสัญญานาซี-โซเวียตล้มเลิกไปโดยปริยายแม้เยอรมนีจะมีชัยชนะในระยะแรกของการบุกสหภาพโซเวียต แต่เมื่อฤดูหนาวมาถึง การรุกของกองทัพเยอรมันเริ่มชะงักลงและต้องปรับแนวรุกให้เป็นแนวตั้งรับในเกือบทุกด้านทั้งเริ่มเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เมื่อสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นและเปิดแนวรบด้านแปซิฟิกในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีซึ่งเป็นพันธมิตรญี่ปุ่นจึงประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม สหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมสงครามในยุโรปและนำไปสู่ช่วงสมัยการเป็นพันธมิตรอันยิ่งใหญ่ (Grand Alliances ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๕)* ของอังกฤษสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตการประกาศสงครามของเยอรมนีนับเป็นความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายสงครามของฮิตเลอร์เพราะทำให้สหรัฐอเมริกาทุ่มกำลังส่วนใหญ่ต่อต้านเยอรมนีและร่วมกับอังกฤษและสหภาพโซเวียตต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อชัยชนะ
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๒ แกนนำพรรคนาซีระดับสูงรวม ๑๕ คน จัดการประชุมที่วันน์เซ (Wannsee Conference)* ชานกรุงเบอร์ลิน เพื่อกำหนดมาตรการการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust)* ที่ฮิตเลอร์ให้ความเห็นชอบ ในการประชุมครั้งนี้เป็นการซักซ้อมทำความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างองค์การพรรคต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการกวาดล้างและเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของการดำเนินงานทั้งมีการประมาณการจำนวนชาวยิวในแต่ละประเทศที่เยอรมนียึดครองว่าจะต้องถูกกำจัดเป็นจำนวนเท่าใดหลังการประชุมครั้งนี้ เยอรมนีเริ่มสร้างค่ายกักกันที่มีห้องรมแก๊สขนาดใหญ่ขึ้นหลายแห่งในโปแลนด์ตะวันออกและค่ายกักกันใหญ่ที่มีชื่อเสียงคือค่ายกักกันที่เอาช์วิทซ์ (Auschwitz)* และบิร์เคเนา (Birkenau) หรือเอาช์วิทซ์แห่งที่ ๒ (Auschwitz II) การสังหารหมู่ชาวยิวอย่างเป็นระบบจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวยิวในค่ายกักกันซึ่งตระหนักว่าพวกตนจะต้องถูกกวาดล้างจึงก่อการลุกฮือต่อสู้ไม่ขาดระยะแต่ประสบความล้มเหลวการลุกฮือของชาวยิวที่โดดเด่น คือการลุกฮือในเขตวอร์ซอเกตโต (Warsaw Ghetto Uprising)* ระหว่างวันที่ ๑๙ เมษายน – ๑๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ ซึ่งชาวยิวกว่า ๔๐,๐๐๐ คน ถูกสังหารและบาดเจ็บจำนวนมาก ในช่วงที่มีการกวาดล้างยิวชาวยุโรปจำนวนไม่น้อยในประเทศต่าง ๆ ได้พยายามช่วยเหลือชาวยิวให้รอดชีวิตด้วยวิธีการต่าง ๆ ด้วย
ความล้มเหลวของกองทัพเยอรมันในการปิดล้อมนครเลนินกราด (Siege of Leningrad)* ค.ศ. ๑๙๔๓ ทำให้เยอรมนีเริ่มถอนกำลังออกจากแนวรบด้านตะวันออกในต้นค.ศ. ๑๙๔๔นโยบายสงครามที่ผิดพลาดของฮิตเลอร์ทำให้นายทหารระดับสูงหลายคนไม่พอใจและหันมาเข้าร่วมกับเคลาส์ เชงค์ กราฟ ฟอน ชเตาฟ์เฟนแบร์ก (Claus Schenk Graf von Stauffenberg)* เสนาธิการคนสำคัญในการเคลื่อนไหวต่อต้านฮิตเลอร์ หลังฝ่ายพันธมิตรยกพลขึ้นบกใน วันดี-เดย์ (D-Day)* เพื่อปลดปล่อยยุโรป เยอรมนีเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับ ชเตาฟ์เฟนแบร์กจึงเห็นเป็นโอกาสวางแผนสังหารฮิตเลอร์และยึดอำนาจที่กรุงเบอร์ลินในแผนปฏิบัติการที่เรียกว่าแผนวางระเบิดเดือนกรกฎาคม (July Bomb Plot)* ค.ศ. ๑๙๔๔ แต่แผนสังหารและการยึดอำนาจดังกล่าวล้มเหลวเพราะกลุ่มก่อการวางแผนไม่รอบคอบพอและแกนนำกลุ่มไม่ฉับไวในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง หลังการพยายามลอบสังหารครั้งนี้ ฮิตเลอร์หวาดระแวงกองทัพอย่างมากและปรับสถานภาพของกองทัพเอสเอสเป็นกองกำลังหลักของชาติแทนกองทัพบกขณะเดียวกัน เขาเริ่มเก็บตัวและไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณชนในต้น ค.ศ. ๑๙๔๕ ฮิตเลอร์กลับมาพักอยู่ที่กรุงเบอร์ลินในบังเกอร์ใต้ดินซึ่งขุดลึกใต้ทำเนียบแห่งไรค์
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓–๑๙๔๕ มหาอำนาจพันธมิตรซึ่งประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตจัดประชุมกันหลายครั้งเพื่อหารือนโยบายสงครามในการเอาชนะเยอรมนีและตกลงเกี่ยวกับความมั่นคงทั่วไปของยุโรปภายหลังสงครามสิ้นสุดลงในการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference)* หรือการประชุมที่ไครเมีย (Crimean Conference)* ระหว่างวันที่ ๔–๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายระหว่างสงครามและเป็นการประชุมสุดยอดครั้งสำคัญครั้งแรก ที่ประชุมตกลงในเรื่องการสถาปนาองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ปัญหาสถานภาพของเยอรมนีหลังสงครามและการยอมให้สหภาพโซเวียตทำหน้าที่ปลดปล่อยประเทศยุโรปตะวันออก หลังการประชุมครั้งนี้ฝ่ายพันธมิตรเริ่มการรุกใหญ่ครั้งสุดท้ายและนำไปสู่ยุทธการที่เบอร์ลิน (Battle of Berlin ๑๖ เมษายน–๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕)* ฮิตเลอร์ประกาศจะปกป้องกรุงเบอร์ลินจนถึงที่สุดและจะไม่หนีไปจากกรุงเบอร์ลินเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์รบเลวร้ายลงและเยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้ ฮิตเลอร์สั่งให้อัลแบร์ท ชเปร์ (Albert Speer)* รัฐมนตรีสรรพาวุธแห่งไรค์ทำลายล้างเยอรมนีและดินแดนที่เยอรมนียึดครองให้พินาศเพื่อให้จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ สิ้นสลายโดยไม่ให้ใครได้ครอบครอง แต่ชเปร์เพิกเฉยคำสั่งดังกล่าวต่อมา เมื่อกองทัพแดง (Red Army)* ปิดล้อมกรุงเบอร์ลินได้ทุกทางและรุกใกล้เข้ามาถึงใจกลางเบอร์ลิน ฮิตเลอร์และอีวา เบราน์ (Eva Braun)* ผู้หญิงที่จงรักภักดีต่อเขา ซึ่งเพิ่งแต่งงานกันในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ ๓๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ต่างก่ออัตวินิบาตกรรมเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. อีก ๒ วัน ต่อมาในวันที่ ๒ พฤษภาคม กรุงเบอร์ลินก็ถูกกองทัพโซเวียตยึดครองและชักธงชัยขึ้นเหนือตึกรัฐสภา อีก ๕ วันต่อมา จอมพลเรือ คาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Doenitz)* ผู้นำเยอรมนีที่สืบทอดอำนาจจากฮิตเลอร์ประกาศยอมแพ้โดยปราศจากเงื่อนไขเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคมข่าวการยอมแพ้และการสิ้นสุดสงครามที่ยังไม่เป็นทางการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรปและการเฉลิมฉลองก็เริ่มขึ้นในคืนวันนั้น
การยอมแพ้ของเยอรมนีเป็นทางการรับรู้กันใน วันที่ ๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ และชั่วโมงที่เยอรมนียอมจำนนได้ชื่อเป็น “ชั่วโมงเลขศูนย์” (Zero hour) ทั่วทั้งยุโรปต่างเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในยุโรป (Victory in Europe–VE) อย่างยิ่งใหญ่ ส่วนสหภาพโซเวียตเฉลิมฉลองวันแห่งชัยชนะในวันที่ ๙ พฤษภาคม สงครามในยุโรปจึงสิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ซึ่งอันตรธานไปในเวลาเพียงชั่วข้ามคืนและสมาชิกพรรคนาซีกว่า ๘ ล้านคนก็หายสาบสูญไปทันทีเพราะเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ถูกทำลายหมด ผู้นำพรรคนาซีคนสำคัญรวม ๒๔ คน ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อสันติภาพและต่อมนุษยชาติ ทั้งถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ขณะเดียวกัน องค์การและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลนาซีซึ่งรวมทั้งหน่วยเอสเอเอสเอส เกสตาโปและเอสดี (SD–Sicherheitsdienst)* ก็สลายตัว หน่วยงานทั้งหมดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถูกขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิดด้วย
การล่มสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ทำให้สถานะของเยอรมนีต้องเริ่มใหม่จากชั่วโมงเลขศูนย์ ปัญหาเยอรมนี (German Question)* กลายเป็นปัญหาสำคัญของยุโรปหลังสงครามและนำไปสู่การแบ่งแยกประเทศที่เรียกว่าปัญหา “เยอรมนีสองรัฐและประชาชาติเยอรมันเดียว” (Two German States and One German Nation) ในช่วงสงครามเย็น (Cold War)* แม้จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ จะล่มสลายแต่เงาของจักรวรรดิไรค์ยังคงทาบทับชาวเยอรมันที่ต้องต่อสู้เพื่อเอาชนะอดีตของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐนาซีได้ก่อขึ้น คำว่า “ฮิตเลอร์” “นาซี” และ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” กลายเป็นศัพท์ใหม่ทางการเมืองในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่มีความหมายว่า “ความชั่วร้าย” (evil) ในช่วงหลังสงครามชาวเยอรมันซึ่งถูกต่อต้านทั่วไปต่างยอมรับความเลวร้ายของลัทธินาซี (Nazism)* และเรียนรู้ความผิดพลาดของตนในอดีตพวกเขาพยายามแก้ไขและตระหนักถึงพันธกิจและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตยทั้งการจะไม่สร้างประวัติศาสตร์ซ้ำรอยขึ้นอีก ต่อมาในทศวรรษ ๑๙๗๐ เรื่องราวเกี่ยวกับเยอรมนีสมัยนาซีกลายเป็นรายวิชาที่เริ่มสอนกันในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับฮิตเลอร์และเยอรมนีสมัยนาซีในแง่มุมต่าง ๆ ก็ขยายตัวและเป็นที่สนใจกันมากขึ้น.