Suez Canal Crisis (1956)

วิกฤตการณ์คลองสุเอซ (พ.ศ. ๒๔๙๙)

วิกฤตการณ์คลองสุเอซเป็นเหตุการณ์การเผชิญหน้าทางการทหารระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลกับอียิปต์หลังจากที่รัฐบาลอียิปต์ประกาศให้คลองสุเอซเป็นคลองแห่งชาติโดยยกเลิกสัมปทานของบริษัทคลองสุเอซ (Suez Canal Company) และยึดบริษัทดังกล่าวซึ่งอังกฤษถือหุ้นใหญ่เป็นของรัฐในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ ต่อมาในเดือนตุลาคมหลังความล้มเหลวในการเจรจาทางการทูตระหว่างอังกฤษกับอียิปต์ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอลซึ่งต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในตะวันออกกลางจึงตัดสินใจปฏิบัติการทางทหารชั้นเด็ดขาดด้วยการโจมตีและเข้ายึดครองคลองสุเอซและพื้นที่โดยรอบพร้อมทั้งปิดกั้นการเดินเรือทุกชนิดผ่านคลองนั้นโดยไม่ฟังคำคัดค้านจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต วิกฤตการณ์คลองสุเอซสิ้นสุดลงด้วยแรงกดดันอย่างหนักจากอภิมหาอำนาจทั้งสองและองค์การสหประชาชาติในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๗ อังกฤษและฝรั่งเศสจึงจำต้องถอนกำลังและเปิดทางให้กองกำลังสหประชาชาติเข้าดูแลเขตยึดครองพร้อมทั้งเปิดคลองสุเอซให้เรือนานาชาติผ่านเข้าออกได้อีกครั้งหนึ่ง และในเดือนธันวาคมสหประชาชาติได้ส่งมอบดินแดนในความดูแลให้กับรัฐบาลอียิปต์อย่างเป็นทางการ

 ในยุคของการสร้างจักรวรรดิโพ้นทะเล การติดต่อสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับเอเชียกระทำได้ทั้งทางบกและทางทะเล ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสใช้เส้นทางทางบกไปอินเดียและตะวันออกไกลโดยผ่านอียิปต์และทะเลแดง ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งผ่านตะวันออกกลางสู่อ่าวเปอร์เซีย ขณะที่เส้นทางทางทะเลใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปตอนปลายสุดของทวีปแอฟริกา แม้การเดินทางทางบกจะมีระยะทางใกล้กว่าแต่ก็มีความยุ่งยากกว่า เพราะต้องขนถ่ายสินค้าหลายครั้งด้วยพาหนะต่างกันทำให้เกิดความยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูงส่วนเส้นทางทางทะเลก็มีระยะทางไกลและใช้เวลานานกว่าทางบกมาก ตัวอย่างการเดินทางจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษไปยังเมืองบอมเบย์ [Bombay - ปัจจุบันคือ มุมใบ (Mumbai)] ทางฝั่งตะวันตกของอินเดียอ้อมแหลมกู๊ดโฮปมีระยะทาง ๑๐,๖๖๗ ไมล์ทะเล แต่โดยทางบกผ่านอียิปต์และทะเลแดงมีระยะทางเพียง ๖,๒๗๔ ไมล์ทะเล ซึ่งแม้จะต้องใช้เรือเดินสมุทรผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมหาสมุทรอินเดียด้วย แต่ก็ร่นระยะทางได้เกือบครึ่ง การที่เส้นทางผ่านทะเลแดงไม่ยุ่งยากและเสียเวลาเท่าเส้นทางผ่านอ่าวเปอร์เซียจึงมีผู้คิดหาวิธีที่จะใช้เส้นทางผ่านทะเลแดงให้สะดวกรวดเร็วและประหยัดที่สุดด้วยการขุดคลองเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดงโดยไม่ต้องใช้เส้นทางบกผ่านอียิปต์

 ฝรั่งเศสเป็นชาติแรกที่ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการขุดคลอง ความสนใจนี้มีมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)* ทำสงครามในอียิปต์และเห็นความเป็นไปได้ที่จะนำกองทัพเรือฝรั่งเศสเดินทางผ่านคลองที่เชื่อมไปยังทะเลแดงและมหาสมุทรอินเดียเพื่อท้าทายอำนาจของอังกฤษในภูมิภาคนั้นอย่างไรก็ดี ความสนใจในการขุดคลองก็ไม่เป็นรูปธรรมจนถึง ค.ศ. ๑๘๕๔ เมื่อมุฮัมมัด ซาอีด (Muhammad Said) ผู้ปกครองคนใหม่ของอียิปต์ตกลงให้สัมปทานการขุดคลองแก่แฟร์ดีนอง เดอ เลเซป (Ferdinand de Lesseps)* วิศวกรและกงสุลฝรั่งเศสประจำอียิปต์ เดอ เลเซปพยายามอย่างหนักที่จะดึงความสนใจของรัฐบาลอังกฤษ บริษัทเดินเรืออังกฤษรวมทั้งบริษัทที่ค้าขายกับอินเดียให้ร่วมลงทุนกับเขาแต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะรัฐบาลอังกฤษขณะนั้นนอกจากจะไม่สนใจแล้วยังขัดขวางการขุดคลองอย่างชัดแจ้งอีกด้วย ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลอังกฤษเกรงว่าฝรั่งเศสจะคุกคามเส้นทางค้าขายกับอินเดียซึ่งอังกฤษถือว่าเป็น “เส้นขีวิต” ที่ต้องปกป้องในทุกกรณี

 ใน ค.ศ. ๑๘๕๘ เดอ เลเซปจดทะเบียนก่อตั้งบริษัท Companies Universelle de Canal Maritime de Suez หรือรู้จักกันในนาม “บริษัทคลองสุเอซ” (Suez Canal Company) โดยผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส และเดอ เลเซปก็ได้กันร้อยละ ๔๐ ของจำนวนหุ้นให้เป็นของมุฮัมมัด ซาอีดในฐานะเป็นผู้ให้สัมปทานและผู้อำนวยความสะดวกให้กับบริษัทฯ ซึ่งเริ่มดำเนินการขุดคลองสุเอซใน ค.ศ. ๑๘๕๙ จนแล้วเสร็จใน ค.ศ. ๑๘๖๙ คลองนี้มีความยาวกว่า ๑๖๐ กิโลเมตร จักรพรรดินิเออเชนี (Eugénie) ในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* ทรงเป็นประธานในพิธีเปิด ภายในเวลาเพียง ๑ ปี มีเรือสินค้าผ่านเข้า-ออกคลองสุเอซถึง ๔๘๒ ลำมีระวางหนัก ๔๓๖,๖๐๙ ตัน โดยเรือส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ ๖๖.๒๕ เป็นเรือสัญชาติอังกฤษ และใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เรือที่ผ่านเข้า-ออกคลองสุเอซก็ได้เพิ่มระวางหนักเป็น ๑๖,๕๘๑,๘๙๘ ตัน โดยเป็นเรือสัญชาติอังกฤษร้อยละ ๖๒.๘๖ นับแต่เริ่มเปิดดำเนินการจึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าคลองสุเอซเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญสำหรับพ่อค้าและผู้เดินทางชาวอังกฤษมากกว่าชาติอื่น ๆ

 รัฐบาลอังกฤษเริ่มเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับคลองสุเอซในสมัยของเบนจามิน ดิสเรลี (Benjamin Disraeli)* นายกรัฐมนตรีพรรคอนุรักษนิยม ๒ สมัย ใน ค.ศ. ๑๘๖๘ และ ค.ศ. ๑๘๗๔-๑๘๘๐ ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายจักรวรรดินิยมอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ดินแดนแห่งแรกที่ดิสเรลีสนใจในการขยายอำนาจและอิทธิพลของอังกฤษ ได้แก่ ตะวันออกกลาง ด้วยการถือโอกาสขณะที่มุฮัมมัด ซาอีดกำลังอยู่ในภาวะล้มละลาย ผลักดันให้รัฐบาลอังกฤษ ใน ค.ศ. ๑๘๗๕ ซื้อหุ้นบริษัทคลองสุเอซของผู้ปกครองอียิปต์เต็มจำนวนทั้งร้อยละ ๔๐ เป็นเงิน ๓.๙ ล้านปอนด์ รัฐบาลอังกฤษจึงกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทคลองสุเอซและใน ค.ศ. ๑๘๘๒ อังกฤษก็สามารถเข้าควบคุมกิจการภายในของอียิปต์ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้อังกฤษสามารถเข้าควบคุมดินแดนโดยรอบคลองสุเอซด้วย การปกป้องคลองสุเอซจึงกลายเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของอังกฤษในตะวันออกกลางนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 อย่างไรก็ดี แม้กองทัพอังกฤษจะต้องรับผิดชอบในการปกป้องคลองสุเอซ แต่อังกฤษก็ต้องทำให้คลองสุเอซเป็นดินแดนเปิดลำหรับเรือนานาชาติ และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างประเทศ ได้มีการเรียกร้องให้อังกฤษจัดประชุมใหญ่ว่าด้วยเรื่องคลองสุเอซ (Suez Canal Convention) ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๘๘ โดยมีประเทศมหาอำนาจทุกประเทศเข้าร่วมประขุมและลงนามรับรองการทำให้คลองสุเอซเป็นเส้นทางเดินเรือสากลที่เรือทุกสัญชาติสามารถใช้เดินทางผ่านเข้า-ออก ได้โดยเสรีทั้งในยามสงบและยามสงคราม แม้รัฐบาลอังกฤษจะมีสิทธิในการควบคุมและดำเนินกิจการเก็บค่าผ่านทางและบริหารบริษัทคลองสุเอซในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม อย่างไรก็ดี สิทธิการเดินเรืออย่างเสรีก็ถูกปฏิเสธสำหรับเรือบางสัญชาติในบางโอกาส เช่น การห้ามเรือสัญชาติสเปนใช้เส้นทางคลองสุเอซระหว่างสงครามสเปน-อเมริกัน (Spanish-American War) ค.ศ. ๑๘๙๘ การห้ามเรือ “สัญชาติศัตรู” เช้า-ออกคลองสุเอซระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* และสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และภายหลังเมื่อรัฐบาลอียิปต์เข้าควบคุมคลองสุเอซก็มีการห้ามเรือสัญชาติอิสราเอลเข้า-ออกคลองสุเอซระหว่างความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๗๘

 สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้จักรวรรดินิยมตะวันตกเริ่มเสื่อมสลายทั้งในเอเชียและแอฟริกา อันเป็นผลสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลของประเทศที่อยู่ใต้การปกครองของประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีโอกาสส่งทหารไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของประเทศผู้ปกครองจึงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น ประกอบกับกระแสของลัทธิชาตินิยมสมัยใหม่เพิ่มความรุนแรงขึ้นทำให้ช่วงหลังของสงครามโลกต่อเนื่องไปจนถึงต้นทศวรรษ ๑๙๖๐ กลายเป็นยุคของการต่อสู้เพื่อปลดแอกประเทศและสร้างชาติใหม่ สำหรับประเทศอังกฤษก็มีสถานการณ์ส่อเค้าให้เห็นชัดเจนในตะวันออกกลางโดยเริ่มที่การที่ต้องคืนเอกราชให้แก่อิรักตั้งแต่ก่อนสงคราม และเมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสตัดสินใจปลดปล่อยซีเรียและเลบานอนให้เป็นอิสระใน ค.ศ.๑๙๔๕ อังกฤษก็ไม่อาจต้านกระแสการเรียกร้องของนักชาตินิยมอาหรับในภูมิภาคได้ จึงตัดสินใจมอบเอกราชให้แก่ราชอาณาจักรทรานส์จอร์แดน (Transjordan) ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ และภายหลังเมื่อประเทศนั้นสามารถรวมส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์ไว้ได้ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ จึงเปลี่ยนชื่อเป็นจอร์แดน

 กระแสการเรียกร้องเอกราชไม่ได้ยุติเพียงแค่นั้นอังกฤษยังต้องเผชิญกับกระแสชาตินิยมในดินแดนอียิปต์ซึ่งอังกฤษมีบทบาทอยู่มากโดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการทหาร ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ เมื่อพันเอก ยะมาล อับดุล นัสเซอร์ (Gamal Abdel Nasser) ได้ก่อรัฐประหารโค่นระบอบการปกครองของกษัตริย์ฟารุก (Farouk) ได้สำเร็จ นัสเซอร์เริ่มพัฒนาอียิปต์ให้เข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและการทหาร เขาเปิดการเจรจากับอังกฤษ ซึ่งมีเซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* เป็นผู้นำให้ถอนทหารจากเขตยึดครองอังกฤษและยุติบทบาทในการควบคุมอียิปต์ทางอ้อมด้วย ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ อังกฤษยอมลงนามกับอียิปต์ในการจะถอนกำลังทหารจากอียิปต์ภายใน ๒๐ เดือน แต่จะยังคงมีกองกำลังทหารประจำคลองสุเอซ ต่อไปอีก ๗ ปีเพื่อป้องกันคลองสุเอซจากการโจมตีของกลุ่มสันนิบาตอาหรับและตุรกี รวมทั้งป้องกันการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ด้วย ความสำเร็จในการเจรจาตกลงกับอังกฤษได้ทำให้สถานภาพความเป็นผู้นำของนัสเซอร์เข้มแข็งมากขึ้น

 ในการพัฒนาเศรษฐกิจของอียิปต์ นัสเซอร์ต้องการสร้างเขื่อนอัสวาน (Aswan) เพื่อทดนํ้าจากแม่นํ้าไนล์ตอนล่างใช้ผลิตพลังงานไฟฟ้าเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรม อียิปต์ได้ติดต่อคู้เงินจากธนาคารโลก สหรัฐอเมริกา และประเทศต่าง ๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อียิปต์จึงประกาศเวนคืนคลองสุเอซเป็นของรัฐใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ทั้งที่สัมปทานยังไม่หมดจนกว่า ค.ศ. ๑๙๖๘ โดยอ้างว่าจะทำหน้าที่บริหารคลองแทนเพื่อนำเงินรายได้จากคลองสุเอซปีละกว่า ๒๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐไปใช้ในการสร้างเขื่อนอัสวาน การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส กับอียิปต์ เพราะทั้ง ๒ ประเทศมหาอำนาจใช้คลองสุเอซเป็นเส้นทางขนส่งนํ้ามันจากตะวันออกกลางกว่าร้อยละ ๖๐-๗๐ มาพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ และยังมีผลประโยชน์และอิทธิพลในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ เพราะอังกฤษมีฐานทัพใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางตั้งอยู่รายรอบบริเวณคลอง นายกรัฐมนตรีรอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* แห่งอังกฤษ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีเฟลิกซ์ ไกยาร์ด (Felix Gaillard) แห่งฝรั่งเศส จึงเจรจาตกลงลับทางทหารกับอิสราเอลที่จะโจมตีอียิปต์และโค่นอำนาจนัสเซอร์ อิสราเอลซึ่งถูกอียิปต์ปฏิเสธไม่ให้ใช้คลองสุเอซและปิดล้อมช่องแคบติราน (Tiran) ที่เป็นเส้นทางเข้าสู่อิสราเอลก็ยอมรับข้อเสนอของประเทศมหาอำนาจซึ่งจะสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในการทำสงครามกับอียิปต์

 อิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีอียิปต์เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ และเคลื่อนกำลังเข้าสู่คลองสุเอซตามข้อตกลงที่มีไว้กับอังกฤษและฝรั่งเศส อังกฤษและฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ทั้งอิสราเอลและอียิปต์ถอนกำลังทหารออกจากคลองสุเอซ ๘ กิโลเมตรเพื่อกองทหารของ ๒ ประเทศมหาอำนาจจะเข้าพิทักษ์คลองสุเอซ (ตามแผนที่วางไว้) แต่อียิปต์ปฏิเสธที่จะถอนกำลัง ในวันที่ ๓๑ ตุลาคม อังกฤษ และฝรั่งเศสจึงเปิดฉากโจมตีทางอากาศและส่งกองกำลังยึดเมืองพอร์ตซาอิด (Port Said) เมืองท่าสำคัญของอียิปต์ไว้ได้เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ขณะเดียวกันฝรั่งเศสก็ส่งอาวุธ เครื่องบิน และเรือรบให้แก่อิสราเอล สหรัฐอเมริกาซึ่งหวาดวิตกว่าการใช้กำลังทหารของประเทศตะวันตกจะทำให้สหภาพโซเวียตเข้าแทรกแซงและขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง จึงประณามอิสราเอลว่าเป็นผู้รุกรานและงดขายนํ้ามันให้อังกฤษและฝรั่งเศสทั้งเสนอเรื่องให้องค์การสหประชาชาติพิจารณาหาทางยุติปัญหาความขัดแย้ง สหประชาชาติมีมติ ในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ ให้ทุกฝ่ายหยุดยิงและถอนกำลังทหารออกจากอียิปต์ ด้วยแรงกดดันอย่างหนักจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติ อังกฤษและฝรั่งเศสยอมยุติสงครามกับอียิปต์และอิสราเอลก็ปฏิบิติตาม วิกฤตการณ์คลองสุเอซจึงสิ้นสุดลงในวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อสหประชาชาติมีมติให้ทุกฝ่ายหยุดยิง โดยอังกฤษและฝรั่งเศสยินยอมให้สหประชาชาติส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปดูแลคลองสุเอซ ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๗ องค์การสหประชาชาติก็ส่งมอบคลองสุเอซคืนให้อียิปต์อย่างเป็นทางการ

 วิกฤตการณ์คลองสุเอซมีส่วนทำให้สถานะของนัสเซอร์ในตะวันออกกลางเข้มแข็งมากขึ้นและอิทธิพลของอังกฤษในตะวันออกกลางก็ลดน้อยลง ความล้มเหลวของอีเดนเกี่ยวกับนโยบายคลองสุเอซซึ่งทำให้อังกฤษต้องพึ่งพาและยอมรับบทบาทของสหรัฐอเมริกาในการเมืองระหว่างประเทศมีส่วนทำให้เขาต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๕๗ วิกฤตการณ์คลองสุเอซยังทำให้ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกเพิกเฉยต่อเหตุการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising 1956)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ สหภาพโซเวียตจึงส่งกองทัพรถถัง ๒,๕๐๐ คัน บุกล้อมปราบประชาชนฮังการี ฮังการีจึงกลับอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง.



คำตั้ง
Suez Canal Crisis
คำเทียบ
วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
คำสำคัญ
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- ไกยาร์ด, เฟลิกซ์
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- ธนาคารโลก
- นโยบายจักรวรรดินิยม
- นัสเซอร์, พันเอก ยะมาล อับดุล
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- พรรคอนุรักษนิยม
- มุฮัมมัด ซาอีด
- ลัทธิชาตินิยม
- เลเซป, แฟร์ดีนอง เดอ
- วิกฤตการณ์คลองสุเอซ
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สหประชาชาติ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1956
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๙๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-