กฎหมายยุโรปตลาดเดียวเป็นสนธิสัญญาจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรป (Single European Market-SEM)* ซึ่งได้รับการลงนามโดยชาติสมาชิก ๑๒ ประเทศ ของประชาคมยุโรป (European Community-EC)* ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๗ และมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นสนธิสัญญาหลักของประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรป (European Union-EU)* ที่มีความสำคัญมากฉบับหนึ่ง เพราะได้บรรจุมาตรการเกี่ยวกับการรวมตลาดภายในของชาติสมาชิกให้เป็นตลาดเดียวที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเกิดขึ้นในต้น ค.ศ. ๑๙๙๓ และยังเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาโรม (Treaty of Rome)* ค.ศ. ๑๙๕๗ ในเรื่องที่สำคัญ ๆ เป็นครั้งแรกรวมทั้งมีการนำมิติทางสังคมและการเมืองมาบัญญัติรวมไว้ด้วย นับเป็นก้าวสำคัญของการบูรณาการยุโรปที่นำไปสู่ความสำเร็จในการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (Economic and Monetary Union-EMU)* ของสหภาพยุโรปที่มีเป้าหมายในการใช้เงินสกุลเดียวกันในเวลาต่อมา
ความคิดที่จะจัดตั้งตลาดเดียวของประชาคมยุโรปเริ่มเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เนื่องจากตลาดร่วม (common market) และสหภาพศุลกากร (customs union) ของประชาคมยุโรปที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๖๘ ยังคงมีอุปสรรคทั้งทางด้านภาษี (tariff barriers) และอุปสรรคที่มิใช่ภาษี (non-tariff barriers) ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง ทำให้การดำเนินงานด้านการค้าภายในประชาคมไม่ราบรื่น เพราะสนธิสัญญาโรมไม่ได้กำหนดมาตรฐานและขั้นตอนที่จำเป็นสำหรับกระบวนการบูรณาการทางเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การใช้นโยบายร่วม (common policy) และการประสานนโยบายของประชาคมตลอดจนการกำหนดคุณภาพสินค้าของแต่ละประเทศสมาชิกก็ยังไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในการตีความหลายครั้ง ดังเช่นกรณี “Cassis de Dijon Case” ใน ค.ศ. ๑๙๗๙ ที่เยอรมนีตะวันตกไม่ยอมอนุญาตให้นำเข้าสุรากาสซิส์ซึ่งผลิตที่เมืองดิชอง (Dijon) ของฝรั่งเศส [กาสซิส์เป็นสุราที่ผลิตจากผลแบล็กเคอร์แรนต์ (Blackcurrants) ซึ่งผลิตมากที่สุดที่เมืองดิชอง] กลุ่มผู้ผูกขาดการค้าสุราในเยอรมนีตะวันตกพยายามต่อต้านไม่ให้นำสุราชนิดนี้มาขายในตลาดเยอรมันโดยอ้างว่ามีคุณภาพตํ่ากว่ามาตรฐานตามกฎหมายเยอรมัน จนฝรั่งเศสต้องนำเรื่องนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมยุโรป (European Court of Justice) ศาลตัดสินว่าสุรากาสซิส์ผลิตขึ้นตามมาตรฐานสากลและถูกต้องตามกฎหมายฝรั่งเศส ฉะนั้น เยอรมนีตะวันตกจึงต้องอนุญาตให้นำเข้าสุรากาสซิส์ได้ตามหลัก “การยอมรับซึ่งกันและกัน” (mutual recognition) กรณีดังกล่าวเป็นตัวอย่างสำคัญที่ทำให้มีการบัญญัติหลักการต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในกฎหมายยุโรปตลาดเดียวนอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของทุน สินค้า บริการ และแรงงานภายในประชาคมที่เรียกรวมกันว่า “เสรีภาพทั้งสี่” (Four Freedoms) ตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาโรมก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ เพราะยังมีอุปสรรคหลาย ๆ อย่างทั้งในด้านภาษีและมิใช่ภาษี รวมทั้งอุปสรรคทางด้านกายภาพทำให้ประชาคมยุโรปไม่ได้เป็นตลาดเสรีอย่างแท้จริง
ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ประชาคมยุโรปยังได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ ๙ ประเทศ (ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก อังกฤษ ไอร์แลนด์ และเดนมาร์ก) เป็น ๑๐ ประเทศโดยรับกรีซ ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ และจะเป็น ๑๒ ประเทศอย่างแน่นอนภายในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๖ เพราะในช่วง ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๕ ประชาคมยุโรปอยู่ในระหว่างการเจรจารับสเปนกับโปรตุเกสเข้าเป็นสมาชิก ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกระบวนการทางเศรษฐกิจและการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers) ที่ยังล่าช้าและมักมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นเสมอจากการใช้มติเอกฉันท์ (unanimity) และมติแบบเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไข (qualified majority voting-QMV) ตามที่กำหนดไว้ในการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Compromise)* ค.ศ. ๑๙๖๖ การที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ประชาคมยุโรปจัดตั้งขึ้นในทศวรรษ ๑๙๕๐ เพื่อรองรับสมาชิกไม่กี่ประเทศที่มีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจที่ทัดเทียมกัน แม้เมื่อรับสมาชิกเพิ่มครั้งแรก ใน ค.ศ. ๑๙๗๓ ไอร์แลนด์ก็เป็นเพียงประเทศเดียวที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ด้อยกว่าชาติสมาชิกอื่น ทำให้ไม่เห็นความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจระหว่างชาติสมาชิกเท่าใดนักแต่เมื่อรับสมาชิกใหม่จากยุโรปใต้และริมส่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพิ่มขึ้นอีก ๓ ประเทศดังกล่าวจะทำให้เกิดความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกอย่างชัดเจนเพราะประเทศทั้งสามล้วนมีระดับความเจริญทางเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า ดังนั้น เมื่อรวมกันกับไอร์แลนด์แล้วก็จะทำให้เกิดกลุ่มเสียงข้างน้อย (minority bloc) ขึ้นซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการตัดสินใจและการบูรณาการประชาคมยุโรปในอนาคต ประชาคมยุโรปจึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางภูมิภาคเพื่อสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแก่ชาติสมาชิกใหม่ให้ทัดเทียมกับชาติสมาชิกเดิมและเห็นว่าการรวมตลาดภายในยุโรปให้เป็นตลาดเดียวจะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาและสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นแก่ภูมิภาคต่าง ๆ ได้ดีวิธีหนึ่ง
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่เร่งเร้าให้เกิดการรวมตลาดเกิดจากการที่ในต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ เศรษฐกิจของยุโรปอยู่ในภาวะถดถอยซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์นํ้ามันรอบใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๙ และสินค้าของประชาคมยุโรปไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และแม้แต่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NICs) ของเอเชียในตลาดโลกได้เพราะสินค้าของประเทศเหล่านี้ล้วนมีเทคโนโลยีสูงกว่าก่อให้เกิดความตื่นตัวทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะบรรดากลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมของชาติสมาชิกประชาคมยุโรปได้เรียกร้องให้มีการปรับปรุงศักยภาพของการผลิตและตลาดโดยเร็ว เพื่อทำให้สินค้าของยุโรปสามารถเข้าไปแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ สถาบันต่าง ๆ ของประชาคมยุโรปก็มีส่วนผลักดันให้มีการบูรณาการประชาคมในทางลึกให้มากขึ้น อาทิ รัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้เรียกร้องให้มีการพัฒนาอำนาจหน้าที่ชองตนให้มีอำนาจในทางนิติบัญญัติและในการตัดสินใจร่วมกับคณะมนตรีส่วนศาลยุติธรรมยุโรปก็ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับการยอมรับมาตรฐานสินค้าภายในประชาคมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ขณะเดียวกัน สงครามเย็น (Cold War)* ในรอบใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการบุกโจมตีอัฟกานิสถานของสหภาพโซเวียตในปลาย ค.ศ. ๑๙๗๙ และนโยบายนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกาในสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ ก็ทำให้ประชาคมยุโรปเริ่มคลางแคลงต่อการคํ้าประกันความปลอดภัยของสหรัฐอเมริกาที่จะให้แก่ยุโรปตะวันตก ประชาคมยุโรปจึงต้องการสร้างเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของตนอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการทำสนธิสัญญาจัดตั้งตลาดเดียวขึ้นเพื่อถือโอกาสแก้ไขในสิ่งที่ประชาคมและชาติสมาชิกต้องการ
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๑-๑๙๘๔ ประเด็นการจัดตั้งตลาดเดียวและการปฏิรูปประชาคมจึงเป็นหัวข้อสำคัญในระเบียบวาระการประชุมของที่ประชุมสุดยอดยุโรปครั้งต่าง ๆ ควบคู่กันไปกับการแก้ไขปัญหางบประมาณของอังกฤษ [(British Budgetary Question-BBQ) เป็นปัญหาที่อังกฤษประท้วงไม่ยอมจ่ายเงินสนับสนุนงบประมาณสำหรับนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy-CAP) เพราะอังกฤษอ้างว่าตนต้องจ่ายเงินมากแต่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณด้านนี้น้อยกว่าเงินที่อังกฤษจ่ายให้ประชาคมยุโรป] มาโดยตลอด เช่น ในการประชุมสุดยอดยุโรปที่ลักเซมเบิร์กในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๑ ที่ประชุมก็ได้ยํ้าว่าเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของยุโรป จะต้องมีความพยายามร่วมกันในการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาตลาดเสรีภายในยุโรปขึ้นต่อมา ในการประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงโคเปนเฮเกนในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ ที่ประชุมก็ได้พิจารณาข้อเสนออันเป็นความคิดริเริ่มอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดเดียวเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและการค้า และใน ค.ศ. ๑๙๘๓ อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ได้ร่วมกันเสนอรายงานอัลเบิร์ต-บอลล์ (Albert-Ball Report) ภายใต้ชื่อ Towards European Economic Recovery in the 1980’s ต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรป รายงานฉบับนี้ เรียกร้องให้ประชาคมตระหนักถึงความล้มเหลวของการจัดตั้งตลาดเดียวที่แท้จริงของตลาดร่วมยุโรปที่ดำเนินมาแต่ต้นการขาดโครงการเพื่อการวิจัยและการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่จะทำให้ประชาคมยุโรปสามารถแข่งชันกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา รวมทั้งความล้มเหลวของประชาคมยุโรปที่ไม่สามารถทำให้อุตสาหกรรมและการค้าของชาติสมาชิกทั้งหลายได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันตามตรรกะของสนธิสัญญาก่อตั้งประชาคมยุโรปฉบับต่าง ๆ นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังยํ้าว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ที่ชาติสมาชิกตั้งขึ้นยังเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และทุนภายในประชาคม ซึ่งทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในแต่ละปีรายงานฉบับนี้มีผลทำให้ชาติสมาชิกตระหนักในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นและเริ่มมีความเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองข้อเสนอเหล่านี้มากขึ้น
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๔ อัลตีเอโร สปีเนลลี (Altiero Spinelli)* สมาชิกรัฐสภายุโรปยังได้เสนอร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสหภาพยุโรป (Draft Treaty Establishing the European Union) หรือ “ร่างสปีเนลลี” (Spinelli Draft) ต่อรัฐสภายุโรป ร่างฉบับนี้เป็นโครงการจัดตั้งสหภาพยุโรปที่มีการรวมตลาดภายในลักษณะตลาดเดียวที่มีประสิทธิภาพไว้ด้วย แม้จะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ร่างฉบับนี้ก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้ เนื่องจากถูกต่อต้านจากชาติสมาชิกบางประเทศ อย่างไรก็ดี ร่างสนธิสัญญาดังกล่าวมีส่วนทำให้ชาติสมาชิกและผู้บริหารประชาคมตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปกลไกของประชาคมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ข้อเรียกร้องให้มีการจัดตั้งตลาดเดียวได้รับการขานรับเป็นอย่างดีจากผู้นำชาติสมาชิกส่วนใหญ่ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรฉวยโอกาสบูรณาการเศรษฐกิจพร้อมกับการปฏิรูปทางสถาบันและกลไกการดำเนินงานชองประชาคมยุโรปประธานาธิบดีฟรองซัว มิตแตร์รอง (François Mitterrand)* แห่งฝรั่งเศส ซึ่งได้เป็นประธานประชาคมยุโรปในช่วง ๖ เดือนแรกของ ค.ศ. ๑๙๘๔ ก็สนับสนุนความคิดนี้เป็นอย่างมาก เพราะเขาต้องการให้มีการยกเลิกการประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งล้าสมัยและต้องการใช้การจัดตั้งตลาดเดียวเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของฝรั่งเศสที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนั้น นอกจากนี้ มิตแตร์รองยังต้องการใช้การจัดตั้งตลาดเดียวเป็นเครื่องบีบบังคับอังกฤษให้ยอมรับมาตรการแก้ไขปัญหางบประมาณนโยบายร่วมด้านการเกษตรที่เขาเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่ฟงเตนโบล (Fontainebleau) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๔ ด้วย ที่ประชุมสุดยอดยุโรปครั้งนี้จึงได้มีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการชาติต่าง ๆ ขึ้นชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่พิจารณาการปรับปรุงสถาบันต่าง ๆ ของประชาคมยุโรปโดยให้เจมส์ ดูจ (James Dooge) วุฒิสมาชิกชาวไอริชและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไอร์แลนด์เป็นประธาน
ขณะเดียวกัน มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษแม้จะไม่ใช่นักยุโรปนิยมและไม่เห็นด้วยกับการบูรณาการยุโรปตามแนวทางของระบบสหพันธ์เท่าใดนัก ก็ยังสนับสนุนการจัดตั้งตลาดเดียวเพราะเห็นว่าเข้ากันได้กับนโยบายการค้าเสรีของอังกฤษและเป็นประโยชน์ในด้านการค้าแก่อังกฤษ ทั้งจะทำให้อังกฤษไม่หลุดออกจาก “การเมืองวงใน” ของประชาคมยุโรปในการประชุมสุดยอดยุโรปครั้งต่าง ๆ ต่อมา แทตเชอร์จึงแสดงท่าทีว่าจะไม่ใช้สิทธิยับยั้งต่อข้อเสนอที่เกี่ยวกับการจัดตั้งตลาดเดียว ส่วนนายกรัฐมนตรีเฮลมุท โคล (Helmut Kohl)* แห่งเยอรมนีตะวันตกก็สนับสนุนโครงการจัดตั้งตลาดเดียวส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เขาเห็นว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๗๐ ได้เป็นอย่างดี และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการที่จะสนับสนุนนโยบายของมิตแตร์รองเนื่องจากในช่วงนี้ เยอรมนีตะวันตกกับฝรั่งเศสสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างใกล้ชิด ดังเช่น สมัยวาเลรี ชีสการ์ เดสแตง (Valéry Gisgard d’Estaing)* กับเฮลมุท ชมิดท์ (Helmut Schmidt)*
ความก้าวหน้าในการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในต้น ค.ศ. ๑๙๘๕ เมื่อชาก เดอลอร์ (Jacques Delors)* เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (President of the European Commission) ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๕ เดอลอร์เป็นนักการเมืองสังคมนิยมและเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการคลังฝรั่งเศสในสมัยประธานาธิบดีมิตแตร์รอง เขาเป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์และนักยุโรปนิยมที่มีความเชื่อมั่นในระบบสหพันธนิยม (federalism) อย่างลึกซึ้งเช่นเดียวกับชอง มอนเน (Jean Monnet)* ก่อนหน้าการเข้ารับตำแหน่ง เดอลอร์ได้เดินทางไปเยือนเมืองหลวงของประเทศต่าง ๆ ในประชาคมยุโรป เพื่อศึกษาท่าทีและความต้องการของชาติสมาชิก ในการนี้ เขาได้จัดทำรายการสิ่งที่ต้องดำเนินการแก้ไขเมื่อเขาเข้ารับตำแหน่ง สำหรับเรื่องการจัดตั้งตลาดเดียวนั้นเดอลอร์เห็นว่าประชาคมยุโรปอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมาเป็นเวลานาน ควรเร่งจัดตั้งตลาดเดียวโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เขาจึงผลักดันให้เกิดการจัดตั้งตลาดเดียวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยผ่านการดำเนินงานตามช่องทางต่าง ๆ และในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๕ ในสุนทรพจน์ที่แสดงในวันเข้ารับตำแหน่งเดอลอร์ยังได้กล่าวว่า การจัดตั้งตลาดเดียวควรเสร็จสิ้นภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ การกล่าวในทำนองนี้แสดงให้เห็นว่าเดอลอร์ได้กำหนดให้การจัดตั้งตลาดเดียวเป็นงานสำคัญอันดับแรกของเขาในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยุโรป
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๕ คณะกรรมการดูจเสนอรายงานต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์ รายงานดังกล่าวเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันของประชาคมยุโรปในหลาย ๆ เรื่อง พร้อมทั้งเสนอว่าการรวมเขตเศรษฐกิจภายในประชาคมให้เป็นตลาดเดียวเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ดำเนินการจัดตั้งตลาดเดียวให้เสร็จสิ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๙๒ และให้ถือเป็นระเบียบวาระสำคัญอันเร่งด่วนของประชาคมยุโรป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้จัดทำรายละเอียดของการจัดตั้งตลาดเดียว ซึ่งเดอลอร์ก็ได้แต่งตั้งลอร์ดอาร์เทอร์ ค็อกฟีลด์ (Arthur Cockfield) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลแทตเชอร์ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและกรรมาธิการ (Commissioner) ด้านการค้าของประชาคมเป็นประธานคณะกรรมการจัดทำรายละเอียดดังกล่าว
คณะกรรมการค็อกฟีลด์จัดทำรายงานที่รู้จักกันในชื่อ “สมุดปกขาวค็อกฟีลด์” (Cockfield White Paper) หรือ “สมุดปกขาวว่าด้วยการรวมตลาดภายใน” (White Paper on Completing the Internal Market) เสร็จในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๕ รายงานดังกล่าวได้กำหนดมาตรการทำงนิติบัญญัติไว้ ๓๐๐ มาตรการที่ถือว่ามีความสำคัญสำหรับการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปและเมื่อนำเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่เมืองมิลานในเดือนมิถุนายน ที่ประชุมเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้และมีมติสำคัญ อีก ๒ เรื่อง คือ การกำหนดตารางเวลาสำหรับการขจัดอุปสรรค ๓๐๐ รายการในตลาดภายในยุโรป และกำหนดให้มีการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิก (Intergovernmental Conference-ICC) ขึ้นภายใน ค.ศ. ๑๙๘๕ เพื่อพิจารณาแก้ไขสนธิสัญญาโรม แต่การลงมติในเรื่องที่ ๒ กลับประสบปัญหายุ่งยาก เพราะนายกรัฐมนตรีแทตเชอร์ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขสนธิสัญญาเนื่องจากเกรงว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาบันซึ่งจะทำให้ประชาคมยุโรปมีความเป็นองค์กรในระบบเหนือรัฐ (supranationalism) มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่อังกฤษไม่ต้องการ แทตเชอร์จึงพยายามต่อรองโดยให้เหตุผลว่าโครงสร้างของสถาบันต่าง ๆ ที่มีอยู่ก็เพียงพออยู่แล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไขสนธิสัญญา แต่โคล มิดแตร์รอง ผู้แทนอิตาลี และกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ซึ่งต้องการผูกพันการจัดตั้งตลาดเดียวเข้ากับการปฏิรูปสถาบันตามข้อเสนอในรายงานดูจ (Dooge Report) ยืนกรานให้มีการจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี หลังการอภิปรายอย่างกว้างขวาง นายกรัฐมนตรีเบเนโต กรักซี (Beneto Craxi) แห่งอิตาลีซึ่งเป็นประธานที่ประชุมก็ให้มีการลงมติว่าจะจัดให้มีการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกเพื่อจัดทำสนธิสัญญาฉบับใหม่หรือไม่โดยให้ใช้เสียงข้างมากเป็นครั้งแรก เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้ง ในการลงมติครั้งนี้มีเพียงอังกฤษ เดนมาร์ก และกรีซที่ออกเสียงคัดค้าน มติจึงผ่านไปได้ ทำให้แทตเชอร์ไม่พอใจเป็นอย่างมาก แต่เธอก็ยังหวังว่าในการประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกอังกฤษจะสามารถยับยั้งในสิ่งที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นได้
การประชุมระหว่างรัฐบาลชาติสมาชิกเริ่มขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๘๕ โดยมีสเปนและโปรตุเกส ซึ่งกำหนดจะเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปอย่างสมบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๘๖ เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ การประชุมดังกล่าวประกอบด้วยการประชุมของคณะกรรมการคณะต่าง ๆ หลายคณะ ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในกรุงบรัสเซลส์และกรุงลักเซมเบิร์กซีตี แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ลักเซมเบิร์กเพราะในช่วง ๖ เดือนหลังของ ค.ศ. ๑๙๘๕ ลักเซมเบิร์กเป็นประธานของประชาคมยุโรป ในตอนแรกอังกฤษแสดงท่าทีว่าอาจไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แต่เนื่องจากบรรดากลุ่มธุรกิจ นายธนาคาร และกลุ่มอุตสาหกรรมในอังกฤษพากันเร่งเร้าให้มีการจัดตั้งตลาดเดียวขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้นและเพื่อเรียกการลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาในอังกฤษมากขึ้น อีกทั้งเกรงว่าเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันกับการประชุมที่เมืองเมสซีนา (Messina Conference)* อาจเกิดขึ้นอีก ประกอบกับรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลแทตเชอร์ก็สนับสนุนการรวมยุโรป แทตเชอร์จึงตัดสินใจส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติไว้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากท่าทีประท้วงของอังกฤษในการประชุมสุดยอดยุโรปที่มิลานในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การประชุมในช่วง ๒ เดือนแรกไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการตัดสินใจในคณะมนตรีที่จะให้มีการใช้วิธีการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไข (QMV) เพิ่มขึ้นและการเพิ่มอำนาจให้กับรัฐสภายุโรป เพราะชาติสมาชิกหลักพากันสงวนท่าที แต่ในต้นเดือนพฤศจิกายนชาติสมาชิกต่างพากันแสดงท่าทีของตนออกมาอย่างขัดเจน จึงสามารถตกลงกันได้ในเรื่องการกำหนดลักษณะที่แน่นอนของตลาดเดียวที่จะจัดตั้งขึ้น และเห็นพ้องกันในเรื่องกำหนดเวลาที่แน่นอนของการเกิดตลาดเดียว ส่วนอีก ๒ เรื่องหลังยังคงตกลงกันไม่ได้ คณะกรรมการชุดต่าง ๆ จึงต้องใช้เวลาเจรจาระหว่างกันอย่างรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง จึงสามารถหาข้อยุติได้ภายในเดือนพฤศจิกายนต่อจากนั้นร่างสนธิสัญญาจัดตั้งตลาดเดียวซึ่งชาติสมาชิกตกลงให้ใช้ชื่อ “กฎหมายยุโรปตลาดเดียว” เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งต่าง ๆ ก็ผ่านการอนุมัติของที่ประชุมสุดยอดยุโรปที่ลักเซมเบิร์กในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๕
ในวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๖ ชาติสมาชิก ๙ ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก ไอร์แลนด์ สเปน และโปรตุเกสได้ลงนามร่วมกันในกฎหมายยุโรปตลาดเดียวที่กรุงบรัสเซลส์และในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ อิตาลี กรีซ และเดนมาร์กก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ต่อมา ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ สนธิสัญญาฉบับนี้จึงมีผลบังคับใช้หลังจากได้รับสัตยาบันจากชาติสมาชิกครบทุกประเทศแล้ว
กฎหมายยุโรปตลาดเดียวซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสนธิสัญญาโรม ค.ศ. ๑๙๕๗ เป็นครั้งแรกในเรื่องที่สำคัญ ๆ แม้เป็นสนธิสัญญาที่ค่อนข้างสั้นแต่ประกอบด้วยเรื่องสำคัญหลายเรื่องด้วยกัน คือ เรื่องแรกเป็นมาตรการว่าด้วยการจัดตั้งตลาดเดียวให้เสร็จสมบูรณ์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เรื่องต่อมาเป็นการปรับปรุงโครงสร้างทางสถาบันของประชาคมยุโรป โดยมีการขยายการใช้วิธีการออกเสียงข้างมากอย่างมีเงื่อนไขในคณะมนตรีในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าเดิม โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการออกกฎหมายจัดตั้งตลาดเดียวแทบทุกเรื่อง ยกเว้นในเรื่องที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาซึ่งจะมีผลทำให้การออกเสียงในกระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรีกระทำได้รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังทำให้การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์กลดความสำคัญลงไปมาก นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐสภายุโรปในกระบวนการตัดสินใจร่วม (co-decision procedure) กับคณะมนตรี ทำให้รัฐสภายุโรปมีอำนาจหน้าที่ในทางนิติบัญญัติเพิ่มขึ้น เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือการนำความร่วมมือทางการเมืองยุโรป (European Political Cooperation-EPC) ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๗๐ แต่อยู่นอกกรอบสนธิสัญญาโรมมาบัญญัติรวมไว้ในกฎหมายยุโรปตลาดเดียว ทำให้ประชาคมยุโรปมีเครื่องมือทางด้านการต่างประเทศและความมั่นคงนอกเหนือจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าเพิ่มขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับ นอกจากนี้ กฎหมายยุโรปตลาดเดียวยังได้ขยายมาตรการทางด้านสังคมเพิ่มขึ้นอีกหลายมาตรา โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายและการอยู่อาศัยของแรงงานแรงงานสัมพันธ์ และการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้มีมิติทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเพิ่มขึ้นจากสนธิสัญญาโรม กล่าวได้ว่า กฎหมายยุโรปตลาดเดียวเป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของการบูรณาการยุโรปอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยเฉพาะการบูรณาการทางด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นการปูพื้นให้เกิดการจัดตั้งตลาดเดียวแห่งยุโรปขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในต้น ค.ศ. ๑๙๙๓ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงินและการใช้เงินสกุลเดียวร่วมกันของสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา.