สงครามเจ็ดสัปดาห์ หรือสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย (Austro-Prussian War ค.ศ. ๑๘๖๖) เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียในปัญหาแคว้นชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schleswig-Holstein Question) โดยแต่ละฝ่ายมีรัฐเยอรมันต่าง ๆ เข้าร่วมเป็นพันธมิตรด้วย สงครามนี้มีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก ได้แก่ สงครามเยอรมัน (German War) สงครามเยอรมัน-เยอรมัน (German-German War) และสงครามกลางเมืองเยอรมัน (German Civil War) รวมทั้งสงครามรวมชาติ (Unification War) เพราะเป็นกระบวนการหนึ่งของการใช้สงครามไปสู่การรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany) ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ สงครามเจ็ดสัปดาห์เกิดขึ้นเมื่อออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียสร้างข้อพิพาทกับออสเตรียในปัญหาแคว้นชเลสวิก-โฮลชไตน์ที่กองทัพปรัสเซียและกองทัพออสเตรียได้เข้ายึดครองจากเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ โดยปรัสเซียอ้างว่าออสเตรียละเมิดข้อตกลงที่มีต่อกันในการบริหารแคว้นชเลสวิก-โฮลชไตน์ จึงส่งกองทัพบุกเข้าแคว้นโฮลชไตน์ที่อยู่ในการบริหารของออสเตรีย เมื่อสภาสหพันธ์ (Diet) ลงมติสนับสนุนออสเตรียในการทำสงครามกับปรัสเซียในวันที่ ๑๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๖ รัฐบาลปรัสเซียจึงตอบโต้ด้วยการประกาศยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ในทันทีและก่อสงครามอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย การจัดระเบียบใหม่ของกองทัพตลอดจนการเคลื่อนกำลังพลทางรถไฟอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วทำให้กองทัพปรัสเซียเป็นต่อกองทัพออสเตรียชัยชนะอย่างเด็ดขาดของปรัสเซียในยุทธการที่เคอนิจแกร์ท (Battle of Königgärt) หรือยุทธการที่ซาโดวา (Battle of Sadowa) สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ออสเตรียอันนำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ด้วยสนธิสัญญาปราก (Treaty of Prague) มีผลให้สมาพันธรัฐเยอรมันสลายตัวลงและออสเตรียซึ่งเคยมีบทบาทเป็นผู้นำดินแดนเยอรมันมานานนับร้อย ๆ ปีถูกขับออกจากดินแดนเยอรมัน
สงครามเจ็ดสัปดาห์เกิดขึ้นจากกลวิธีของบิสมาร์คที่ต้องการจะสร้างความขัดแย้งและยั่วยุออสเตรียให้เข้าสู่สงครามกับปรัสเซียเพื่อปรัสเซียจะได้บรรลุเป้าหมายทางการเมืองและการต่างประเทศที่ได้วางแผนไว้ ได้แก่ การกำจัดอำนาจผู้นำของออสเตรียจากดินแดนเยอรมันเพื่อปรัสเซียจะได้มีบทบาทและเป็นรัฐผู้นำเยอรมันแต่เพียงรัฐเดียว และนำไปสู่การรวมชาติเยอรมันได้ในที่สุด ชนวนเหตุของสงครามเกิดจากข้อพิพาทระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียในการบริหารแคว้นชเลสวิกที่ประชากรทั้งหมดเป็นชาวเยอรมันและแคว้นโฮลชไตน์ที่ประชากรร้อยละกว่า ๖๕ เป็นชาวเยอรมัน (แต่ทั้ง ๒ แคว้นมีกษัตริย์แห่งเดนมาร์กเป็นประมุข) ซึ่งปรัสเซียและออสเตรียได้อำนาจบริหารหลังได้รับชัยชนะในสงครามกับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ทั้งนี้โดยอนุสัญญากาสไทน์ (Convention of Gastein สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๕) กำหนดให้ปรัสเซียมีอำนาจบริหารแคว้นชเลสวิก ส่วนออสเตรียบริหารแคว้นโฮลชไตน์ แต่การแบ่งอำนาจบริหารดังกล่าวก็มีระยะเวลาเพียงชั่วคราวเท่านั้นและมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ปรัสเซียจึงถือว่าตนมีสิทธิที่จะสอดส่องดูแลแคว้นโฮลชไตน์ได้ด้วย ดังนั้น ข้อตกลงของอนุสัญญาที่มีช่องโหว่ดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้บิสมาร์คสามารถสร้าง “อุบัติเหตุทางการเมือง” ที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกับออสเตรียในแคว้นโฮลชไตน์ได้โดยง่าย และท้ายที่สุดก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสงครามกับออสเตรีย
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ปรัสเซียประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายตามแผนการที่วางไว้ บิสมาร์คจึงได้ดำเนินการทางการทูตและทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างเป็นขั้นตอน โดยเขาได้เดินทางไปเจรจากับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* แห่งฝรั่งเศส ณ เมืองบียาร์รีตซ์ (Biarritz) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ เพื่อขอให้ฝรั่งเศสเป็นกลางหากเกิด “สงครามเยอรมัน” ขึ้น ถ้าปรัสเซียสามารถผนวกดินแดนเพิ่มขึ้นฝรั่งเศสก็จะได้รับดินแดนแถบแม่นํ้าไรน์ (Rhine) เป็นเครื่องตอบแทน ข้อตกลงด้วยวาจาดังกล่าวมีลักษณะกว้าง ๆ ทั้งจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ก็ทรงเข้าใจว่า “สงครามเยอรมัน” น่าจะยืดเยื้อยาวนานและจะเปิดโอกาสให้ฝรั่งเศสเข้าแทรกแซงและเรียกร้องดินแดนได้มากยิ่งขึ้น ส่วนบิสมาร์คซึ่งคาดเดาความคิดของจักรพรรดิโปเลียนที่ ๓ ได้ก็ดำเนินนโยบายทางการทูตที่ชับซ้อนขึ้น โดยการแสวงหาพันธมิตรทางทหารกับอิตาลีในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๖๖ รัฐบาลอิตาลีตกลงที่จะเข้าสู่สงครามเป็นฝ่ายปรัสเซียหากสงครามจะอุบัติขึ้นภายในเวลา ๓ เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ อิตาลีจะได้แคว้นวินีเชีย (Venetia) เป็นตอบแทน ความร่วมมือทางทหารกับอิตาลีดังกล่าวนับเป็นการละเมิดต่อพันธะหน้าที่ของปรัสเซียต่อสมาพันธรัฐเยอรมัน เพราะมีบทบัญญัติห้ามมิให้สมาชิกสมาพันธรัฐทำสัญญาพันธไมตรีกับรัฐต่างชาติเพื่อร่วมมือกันก่อสงครามกับรัฐสมาชิก แต่สำหรับบิสมาร์คแล้วการเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* ที่เขายึดถือเป็นนโยบายในการดำเนินกิจกรรมทางการทูตและการเมืองในดินแดนเยอรมันว่ามีความสำคัญมากกว่าพันธสัญญาเชิงอุดมการณ์ระหว่างรัฐสมาชิกของสมาพันธรัฐที่ต่างก็มีแนวคิดและผลประโยชน์ที่ขัดกันอยู่
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุผลในการยั่วยุให้ออสเตรียขัดแย้งกับปรัสเซียยิ่งขึ้น บิสมาร์คได้เสนอให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติ (National Assembly) โดยเปิดให้ประชาชนในรัฐเยอรมันต่าง ๆ มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั่วไป ข้อเสนอดังกล่าวมีลักษณะเป็นการปฏิวัติระบบการเมืองในสมาพันธรัฐ ทั้งยังเป็นการรื้อฟื้นหลักการของสภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt National Assembly ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙)* ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ที่สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนในรัฐเยอรมันต่าง ๆ แต่ถูกชนชั้นปกครองซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมต่อต้านจนต้องสลายตัวลงในที่สุด การเสนอให้ประชาชนทั่วไปมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งดังกล่าวของบิสมาร์ค (ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่รัฐปรัสเซียสนับสนุน) ย่อมจะถูกออสเตรียขัดขวาง ทั้งก่อให้เกิดการปลุกกระแสเสรีนิยมและชาตินิยมขึ้นในดินแดนเยอรมันเพื่อต่อต้านออสเตรียอีกด้วย ซึ่งปรัสเซียก็จะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสงครามกับออสเตรีย
ขณะเดียวกัน ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๖๖ รัฐบาลออสเตรียก็ประจักษ์ว่าสงครามกับปรัสเซียคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* แห่งออสเตรียถึงกับทรงเปรยว่า “ใครจะหลีกเลี่ยงสงครามได้เมื่ออีกฝ่ายต้องการมัน” นับแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลออสเตรียก็ละความพยายามที่จะหลีกเลี่ยงสงครามกับปรัสเซียอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังทำสัญญากับจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ให้ฝรั่งเศสวางตัวเป็นกลางด้วยเมตตาธรรม (benevolent neutrality) หากออสเตรียต้องเข้าสู่สงครามกับปรัสเซีย โดยฝรั่งเศสจะได้รับวินีเชียเป็นการตอบแทน
ต่อมา ออสเตรียก็เริ่มระดมพลก่อน จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ทรงพยายามแนะนำให้มีการจัดการประชุมระหว่างประเทศมหาอำนาจขึ้นเพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาเยอรมัน แต่ออสเตรียกลับปฏิเสธ จึงทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงจนไม่สามารถจัดการประชุมได้ ในวันที่ ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๖ ออสเตรียได้นำปัญหาแคว้นชเลสวิก-โฮลชไตน์ให้สภาสมาพันธรัฐพิจารณาซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยงต่อหลักการทางกฎหมาย บิสมาร์คจึงเห็นเป็นโอกาสใช้เป็นข้ออ้างว่าออสเตรียได้ละเมิดอนุสัญญากาสไทน์และส่งกองทัพปรัสเซียเช้ายึดครองโฮลชไตน์ โดยกล่าวหาว่าออสเตรียยุยงให้ประชากรในแคว้นโฮลชไตน์ต่อต้านปรัสเซียระหว่างนั้น ทั้งปรัสเซียและออสเตรียต่างพยายามให้พันธมิตรของตนยืนยันในข้อตกลงต่าง ๆ ทั้งในการรักษาความเป็นกลางและการร่วมเป็นพันธมิตรในสงครามในวันที่ ๑๐ มิถุนายน ผู้แทนปรัสเซียในสภาสมาพันธรัฐเยอรมันเสนอให้ที่ประชุมขับออสเตรียออกจากสภา ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรีย ต่อมา ในวันที่ ๑๔ มิถุนายนรัฐบาลออสเตรียได้เสนอญัตติสู่สภาสหพันธ์ให้สมาพันธรัฐใช้กำลังทหารเพื่อลงโทษปรัสเซียในข้อหาละเมิดดินแดนของโฮลชไตน์ รัฐเยอรมันขนาดใหญ่ต่าง ๆ ได้แก่ ราชอาณาจักร บาวาเรีย ราชอาณาจักรแซกโซนี และราชอาณาจักร ฮันโนเวอร์ (Kingdom of Hanover)* ต่างลงมติสนับสนุนออสเตรีย รัฐบาลปรัสเซียจึงถือว่าการกระทำผิดดังกล่าวเป็นการประกาศสงครามระหว่างรัฐเยอรมันอันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของสมาพันธรัฐ จึงประกาศยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมันและสั่งเคลื่อนพลเข้าสู่สมรภูมิ
การตัดสินใจเข้าสู่สงครามอย่างฉับพลันด้วยเหตุผลและการวางแผนที่แยบยลดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความมั่นใจของบิสมาร์คว่า สงครามที่เกิดขึ้นนั้นอังกฤษจะวางตัวเป็นกลางตามนโยบายอยู่อย่างโดดเดี่ยว (Splendid Isolation)* ทั้งอังกฤษยังจะเห็นว่าสงครามครั้งนี้เป็นเรื่องภายในของรัฐเยอรมัน ส่วนรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจสำคัญอีกประเทศหนึ่งก็มีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกับออสเตรียมานานกว่าทศวรรษ เพราะระหว่างสงครามไครเมีย (Crimean War ค.ศ. ๑๘๕๓-๑๘๕๖)* ออสเตรียได้ดำเนินนโยบายทางการทูตเข้าข้างฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งที่รัสเซียเคยส่งกองทัพไปช่วยออสเตรียปราบปรามชาวฮังการีที่ก่อการปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ว่ารัฐบาลรัสเซียจะไม่ยื่นมือเข้าช่วยเหลือออสเตรียที่เคยเป็นพันธมิตรเก่าในครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ปรัสเซียก็ได้พันธมิตรคืออิตาลีซึ่งไม่ใช่รัฐเยอรมันและเป็น “ต่างชาติ” เพียงประเทศเดียวที่เข้าร่วมรบในสงครามเจ็ดสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ เนื่องจากแม้อิตาลีจะสามารถรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy) และ สถาปนา “ราชอาณาจักรอิตาลี” ได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๘๖๑ แต่การรวมดินแดนทั้งหมดของอิตาลีก็ยังไม่สัมฤทธิผลอย่างแท้จริงเพราะวินีเชียยังอยู่ใต้การปกครองของออสเตรียและกรุงโรมก็มีกองทัพฝรั่งเศสสนับสนุน การเข้าร่วมในสงครามนี้ หมายถึง การจะได้รับแคว้นวินีเชียเป็นการตอบแทนดังที่บิสมาร์คเคยตกลงไว้ สำหรับชาวอิตาลีสงครามเจ็ดสัปดาห์นี้ คือ “สงครามอิสรภาพครั้งที่ ๓” (Third War of Independence) อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดศึกได้ไม่นานกองทัพอิตาลีก็ประสบความพ่ายแพ้ในยุทธการที่คุสโตซา (Battle of Custoza) และแทบจะหมดบทบาทในสมรภูมิ
สงครามเจ็ดสัปดาห์ระหว่างออสเตรียกับปรัสเซียได้แบ่งแยกรัฐเยอรมันออกเป็น ๒ ฝ่าย รวมทั้งรัฐเยอรมันบางรัฐที่ดำเนินนโยบายเป็นกลาง สงครามดำเนินติดต่อกันและมีการสู้รบอย่างดุเดือดจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ซึ่งกินระยะเวลาประมาณ ๗ สัปดาห์ ยุทธการที่เคอนิจแกร์ทหรือยุทธการที่ซาโดวาในโบฮีเมียที่สนามรบอยู่บริเวณเนินเขาอันกว้างใหญ่ระหว่างเมืองเคอนิจแกร์ทกับเมืองซาโดวา เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ เป็นการชี้ชะตาของสงคราม ทั้งยังเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ มีทหารของทั้ง ๒ ฝ่ายจำนวน ๔๔๐,๐๐๐-๔๔๖,๐๐๐ คน เข้าร่วมรบในยุทธการครั้งนี้ มีการนำยุทธวิธีแบบใหม่มาใช้อย่างเต็มรูปแบบและต่างสู้รบกันอย่างกล้าหาญ แต่ฝ่ายออสเตรียพลาดพลั้งมากกว่าและมีทหารบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนถึง ๔๔,๓๑๓ นาย ขณะฝ่ายปรัสเซียเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนเพียง ๙,๑๔๓ นายเท่านั้น หลังจากยุทธการครั้งนี้ก็มีการรบต่อไปอีกกว่า ๒ สัปดาห์ก่อนที่สงครามจะยุติลงอย่างเป็นทางการ
ชัยชนะของกองทัพปรัสเซียมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพของจอมพล กราฟอัลเบรชท์ ฟอน รูน (Albrecht Graf von Roon) เสนาบดีว่าการกระทรวงสงครามและจอมพล กราฟเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth Graf von Moltke)* ประธานเสนาธิการทหารโดยกองทัพปรัสเซียได้นำระบบการเกณฑ์ทหารแบบใหม่มาใช้ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๖๒ โดยให้ประชาชนเพศชายทุกคนที่บรรลุนิติภาวะมีหน้าที่ต้องรับใช้กองทัพแทนการเกณฑ์ทหารอย่างเดิมที่กำหนดจำนวนทหารเกณฑ์ในแต่ละปี ทั้งยังเพิ่มเวลาประจำการในกองทัพจาก ๒ ปีเป็น ๓ ปี ทำให้กองทัพมีขนาดใหญ่ขึ้น ส่วนทหารเกณฑ์ก็ได้รับการฝึกฝนอย่างเข้มข้นและให้รู้จักการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ ๆ และอยู่ในระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะทหารราบซึ่งจะได้รับการฝึกอย่างหนัก ทั้งยังจัดตั้งหน่วยทหารหรือโรงทหารในลักษณะที่รายล้อมโดยรอบเรียกว่า “Kreise ” (วงกลม) ที่ทหารสำรองที่ถูกเรียกให้มาปฏิบัติหน้าที่สามารถเดินทางมารายงานตัวได้ทันทีภายในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงจากที่พักขณะที่หน่วยทหารของออสเตรียต้องตั้งห่างไกลจากชุมชนที่พักอาศัยของทหารสำรองเพื่อป้องกันมิให้ทหารสำรองร่วมมือกับหน่วยทหารในการก่อกบฏหรือการปฏิวัติ นอกจากนี้ กองทัพปรัสเซียยังมีการปรับปรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัยมีการติดอาวุธปืนยาวแบบใหม่ให้แก่ทหารราบด้วย เรียกว่า “Dreyse rifle-gun” ซึ่งเป็นปืนยาวที่บรรจุกระสุนปืนจากลำกล้องปืนด้านท้าย (breech-loading rifle) และสามารถบรรจุลูกกระสุนปืนได้ไนเวลาอันรวดเร็วทั้งยังนำสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ใช้กับปืนใหญ่มาใช้ด้วย ในขณะที่กองทัพออสเตรียยังคงใช้ปืนยาวอย่างเก่าที่บรรจุกระสุนปืนที่ปากลำกล้องปืน (muzzle-loading rifle) ที่ใช้เวลาบรรจุกระสุนปืนมากกว่า แต่ที่สำคัญคือการพัฒนาระบบขนส่งรถไฟเพื่อกิจการทหารในยามสงคราม ปรัสเซียมีเส้นทางรถไฟรวม ๕ สายด้วยกันและสามารถลำเลียงกำลังพลจำนวน ๒๘๕,๐๐๐ คนพร้อมยุทธปัจจัยไปยังที่หมายได้ภายในเวลา ๒๕ วัน ขณะที่ออสเตรียมีเส้นทางรถไฟเพียง ๑ สาย และต้องใช้เวลาถึง ๔๕ วันในการลำเลียงกำลังพลจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน ความพร้อมของกองทัพและระบบขนส่งดังกล่าวได้สร้างความมั่นใจให้แก่มอลท์เคอเป็นอย่างมาก จนเขาได้กล่าวก่อนเกิดสงครามเจ็ดสัปดาห์ ว่า “คงไม่มีอะไรที่น่ายินดีสำหรับเราในขณะนี้มากไปกว่าสงครามที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้”
หลังยุทธการที่เคอนิจแกร์ท กองทัพปรัสเซียมองเห็นชัยชนะอยู่เบื้องหน้ารำไร ดังนั้น คณะนายทหารที่บัญชาการรบจึงต้องการจะพิชิตสงครามอย่างแตกหักและผนวกดินแดนที่กว้างใหญ่ของออสเตรีย ตลอดจนยาตราทัพเข้าสู่กรุงเวียนนาอย่างผู้มีชัยชนะ อย่างไรก็ดี แผนการของคณะนายทหารที่บัญชาการรบดังกล่าวก็ถูกบิสมาร์คต่อต้านเพราะบิสมาร์คเห็นว่าควรจะรักษาความเป็นมิตรกับออสเตรียซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าของปรัสเซียไว้ต่อไป หากปล่อยให้สงครามยืดเยื้อเนิ่นนานออกไปอีกก็อาจทำให้ฝรั่งเศสตัดสินใจเข้าข้างออสเตรียได้ อย่างไรก็ดี การขัดขวางของเขากลับทำให้จอมพล มอลท์เคอและคณะเสนาธิการทหารหนุ่มที่มีชื่อเรียกว่า “กลุ่มเดมิกอดส์ ” (The Demigods) ไม่พอใจเพราะถือว่าบิสมาร์คเป็นพลเรือนที่ไม่ควรเข้ามายุ่งกับการวางแผนการรบของฝ่ายทหาร
ขณะเดียวกัน บิสมาร์คก็สามารถทำให้จักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ซึ่งทรงตื่นตระหนกจากชัยชนะอันเด็ดขาดและรวดเร็วของปรัสเซียในสมรภูมิที่โบฮีเมียรีบตัดสินพระทัยยอมตกลงให้ปรัสเซียจัดตั้งรัฐเยอรมันทางตอนเหนือของแม่นํ้าไมน์ (Main) เป็นสมาพันธรัฐภายใต้การนำของปรัสเซียแต่พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๘๘)* แห่งปรัสเซียกลับแสดงพระประสงค์เช่นเดียวกับเหล่านายทหารว่าต้องการเผด็จศึกและให้ลงโทษออสเตรียให้ได้รับความอับอายเฉกเช่นที่ปรัสเซียเคยประสบในการทำสนธิสัญญาออลมึทซ์ (Treaty of Olmütz ค.ศ. ๑๘๕๐) ที่หยามเกียรติและศักดิ์ศรีของปรัสเซียในฐานะผู้นำของดินแดนเยอรมันโดยให้เพิกถอนการจัดตั้งสหพันธรัฐเยอรมันเล็ก (Little German Federation) ที่ปรัสเซียเป็นผู้นำแต่บิสมาร์คกลับคัดค้านและข่มขู่ที่จะลาออกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีหากพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ทรงมุ่งมั่นพระทัย เช่นนั้น ท้ายที่สุด พระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ ก็ต้องทรงโอนอ่อนผ่อนตามบิสมาร์คและยินยอมให้เขาเจรจาสงบศึกกับออสเตรีย
สงครามเจ็ดสัปดาห์สิ้นสุดด้วยการเจรจาสันติภาพเบื้องต้นที่นิคอลส์บูร์ก (Nikolsburg) และการลงนามในสนธิสัญญาปรากเมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ให้ยกเลิกสมาพันธรัฐเยอรมัน และออสเตรียต้องยอมแยกตัวออกจากดินแดนเยอรมัน เป็นการยุติบทบาทและอำนาจของออสเตรียที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า ๕๐๐ ปี นอกจากนี้ ออสเตรียยังต้องยอมรับการจัดตั้งสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation)* ประกอบด้วยรัฐเยอรมัน ๑๙ รัฐกับเสรีนครอีก ๓ แห่ง ตั้งขึ้นในตอนเหนือของแม่นํ้าไมน์ โดยรัฐทางตอนใต้มิได้รวมตัวด้วย (แต่ยินยอมเป็นพันธมิตรกับปรัสเซีย) ส่วนราชอาณาจักรฮันโนเวอร์ ราชรัฐนัสเซา (Duchy of Nassau) ราชรัฐเฮสส์-คัสเซิล (Duchy of Hesse-Cassel) และ เสรีนครแฟรงก์เฟิร์ต (Free City of Frankfurt) รวมทั้งแคว้นชเลสวีก-โฮลชไตน์ถูกยกให้ปรัสเซีย และกลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรปรัสเซีย
ขณะเดียวกัน ฝรั่งเศสซึ่งดำเนินนโยบายเป็นกลางตามข้อตกลงกับออสเตรียนั้น (ขณะเดียวกันก็สัญญาทำนองเดียวกันกับปรัสเซีย) ก็ได้รับวินีเชียเป็นการตอบแทนตามสนธิสัญญาเวียนนา (Treaty of Vienna) ที่ลงนามกับออสเตรียเมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๖ ต่อมาจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ ก็ทรงยกวินีเชียต่อให้อิตาลีตามข้อตกลงลับที่ทำกับปรัสเซีย โดยที่ออสเตรียมิได้ขัดขวางแต่ประการใด การยกวินีเชียให้อิตาลีโดยผ่านฝรั่งเศสก็เนื่องจากออสเตรียปฏิเสธที่จะสูญเสียวินีเชียโดยตรงแก่อิตาลีเพราะในระหว่างสงครามเจ็ดสัปดาห์ออสเตรียเป็นฝ่ายมีชัยชนะเหนือกองทัพอิตาลีและบดขยี้ได้ อย่างไรก็ดีผลของสงครามเจ็ดสัปดาห์ก็ทำให้อิตาลีบรรลุเป้าหมายในการรวมชาติได้ในอีกระดับหนึ่งและเกือบจะสมบูรณ์ทั้งสามารถขับอำนาจต่างชาติ (ออสเตรีย) ออกจากผืนแผ่นดินอิตาลีได้ คงเหลือแต่กรุงโรมเท่านั้นที่อยู่นอกเหนืออำนาจปกครองของรัฐบาลอิตาลีในขณะนั้น
สงครามเจ็ดสัปดาห์ทำให้ปรัสเซียได้รับดินแดนเพิ่มขึ้นถึง ๓,๓๖๐ ตารางกิโลเมตร และประชากรเพิ่มอีกกว่า ๔.๕ ล้านคน ทั้งพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ แห่งปรัสเซียก็ทรงเป็นผู้นำสูงสุดของสมาพันธรัฐใหม่นี้ด้วย สมตามเจตนารมณ์ของบิสมาร์คที่ต้องการจะเชิดชูราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น (Hohenzollern)* ให้มีพระเกียรติยศสูงสุดในดินแดนเยอรมันและทำให้ปรัสเซียกลายเป็นรัฐผู้นำแทนออสเตรียส่วนออสเตรียก็ต้องหันมาปฏิรูปโครงสร้างการปกครองภายในเพื่อป้องกันการแยกตัวของดินแดนในปกครองและการแตกสลายของจักรวรรดิซึ่งประกอบด้วยกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ โดยมีชาวแมกยาร์ (Magyar) หรือฮังการีเป็นกลุ่มเชื้อชาติที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ ๒ รองจากชาวเยอรมันท้ายที่สุดก็ได้จัดทำความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการีหรือเอาส์ไกลช์ (Ausgleich)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๖๗ ออสเตรียที่มีโครงสร้างการปกครองใหม่ที่ให้อำนาจอิสระแก่ฮังการีในการปกครองตนเองในระดับหนึ่งและจักรพรรดิแห่งออสเตรียทรงดำรงพระอิสริยยศกษัตริย์แห่งฮังการีจึงมีชื่อเรียกใหม่ว่าจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire; Austria-Hungary)* และสามารถรักษาสถานภาพจักรวรรดิและความเป็นมหาอำนาจอันดับ ๑ ของยุโรปจนสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างปรัสเซียกับออสเตรียนั้น จากการที่บิสมาร์คไม่ได้ใช้มาตรการลงโทษออสเตรียหลังสงครามเจ็ดสัปดาห์เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนบ้านที่สำคัญและจะเป็นพันธมิตรที่เข้มแข็งกับปรัสเซียเพื่อผนึกกำลังกันทำสงครามกับชาติอื่นได้ ทำให้ออสเตรียมิได้คิดแก้แค้น ท้ายที่สุดก็สามารถชักจูงออสเตรียมาเป็นพันธมิตรได้ในสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund; League of the Three Emperors)* ระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๗๓ และที่สำคัญคือการทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี ค.ศ. ๑๘๗๘ (Dual Alliance 1879)* ที่ผูกมัดเยอรมนีกับออสเตรีย-ฮังการีให้เป็นพันธมิตรกันตลอดสงครามโลกครั้งที่ ๑.