โรแบร์ ชูมองเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ (Fourth French Republic) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๔๘ และ ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๓ ตามลำดับ เขาเป็น
ชูมองเกิดในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัด เมื่อ วันที่ ๒๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๘๖ ที่ตำบลโกลซอง (Clausen) ชานกรุงลักเซมเบิร์ก (Luxembourg City) ชอง ปีแยร์ ชูมอง (Jean Pierre Schuman) บิดาเป็นชาวฝรั่งเศสเกิดใน ค.ศ. ๑๘๓๗ ที่เมืองเอวรองช์ (Evrange) ในแคว้นลอร์แรน (Lorraine) ซึ่งอยู่ติดชายแดนตรงข้ามกับลักเซมเบิร์ก ฉะนั้น หลังแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine)* ตกเป็นของเยอรมนีหลังสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ แล้ว ชอง ปีแยร์ ชูมอง จึงต้องเปลี่ยนสัญชาติเป็นพลเมืองเยอรมัน ส่วนเออเชนี ดูรอง (Eugénie Duren) มารดาเป็นชาวลักเซมเบิร์ก เกิดที่เมืองเบทเทมบูร์ก (Bettembourg) ในเยอรมนีก็ได้เปลี่ยนสัญชาติเป็นเยอรมันตามชอง ปีแยร์หลังการสมรส ใน ค.ศ. ๑๘๘๔ สำหรับชูมองแม้ว่าเขาจะเกิดที่ลักเซมเบิร์กแต่ก็มีสัญชาติเยอรมันเช่นเดียวกับบิดาตามหลักกฎหมายเชื้อชาติ (jus sanguinis) ของเยอรมนี ชูมองยกเลิกสัญชาติเยอรมันเพื่อเปลี่ยนมาถือสัญชาติฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ขณะมีอายุ ๓๒ ปีเมื่ออัลซาซ-ลอร์แรนกลับมาเป็นของฝรั่งเศสตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)*
ชูมองใช้ชีวิตในวัยเด็กที่ลักเซมเบิร์ก และพูดภาษาลักเซมเบิร์ก (Luxembourgish) ได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนชาวลักเซมเบิร์กทั่วไป ต่อมาเมื่อเข้าโรงเรียน เขาจึงได้เรียนภาษาฝรั่งเศสและภาษาเยอรมันซึ่งเป็นภาษาราชการที่ใช้สอนในโรงเรียนของลักเซมเบิร์ก และเนื่องจากเขาใช้ภาษาฝรั่งเศสเฉพาะที่โรงเรียนเท่านั้น ชูมองจึงพูดภาษาฝรั่งเศสด้วยสำเนียงลักเซมเบิร์ก-ลอร์แรนมา โดยตลอด แต่พูดภาษาเยอรมันโดยไม่มีสำเนียงฝรั่งเศสหลังสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาแล้วเขาก็เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมอาเทเนแห่งลักเซมเบิร์ก (Athénée de Luxembourg Secondary School) ซึ่งเป็นโรงเรียนคาทอลิกในนิกายเยซูอิต (Jésuit) ชูมองต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยในเยอรมนี แต่เนื่องจากประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายของลักเซมเบิร์กไม่ได้รับการรับรองในเยอรมนี เขาจึงต้องเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (Abitur) ที่ไกเซอร์ลิชยิมเนเซียม (Kaiserliche Gymnasium) ที่เมืองเมทช์ (Metz) ในเยอรมนีก่อน หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ปรัชญาการเมืองเทววิทยา และสถิติในมหาวิทยาลัยตามระบบการศึกษาเยอรมันมาโดยตลอด ชูมองได้รับปริญญาทางด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) มหาวิทยาลัยมิวนิก (University of Munich) มหาวิทยาลัยฮุมโบลดท์ (Humboldt University) ในกรุงเบอร์ลิน และมหาวิทยาลัยสตราสบูร์ก (Strasbourg) ในอัลซาซซึ่งขณะนั้นยังเป็นของเยอรมนี
หลังมารดาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุขณะเดินทางโดยรถยนต์โดยสาร ชูมองก็ตัดสินใจที่จะบวชอยู่ในสมณเพศเพื่ออุทิศตนให้แก่คริสต์ศาสนาตลอดไป แต่ต่อมาเขาเปลี่ยนใจหันมาบำเพ็ญตนเป็นฆราวาสที่ทรงศีล ฉะนั้นเขาจึงเป็นโสดและดำเนินชีวิตอย่างเคร่งครัดดังเช่นนักบวชมาตลอดชีวิต เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ชูมองซึ่งขณะนั้นประกอบอาชีพทนายความก็ถูกเรียกตัวเข้าประจำการในกองทัพแต่เนื่องจากผลการตรวจร่างกายทางการแพทย์รายงานว่าเขาไม่เหมาะสมที่จะเป็นทหาร เขาจึงต้องทำงานให้แก่กองทัพในหน้าที่พลเรือนโดยไม่ต้องสวมเครื่องแบบทหารเยอรมัน ในระหว่างสงครามชูมองยังได้เป็นสมาชิกสภาเมืองเมทฃ์และได้เป็นสมาชิกสมาคมคาทอลิกเยอรมันด้วย
หลังแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรนถูกส่งคืนให้แก่ฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๑๙ แล้ว ชูมองก็เข้าสู่ชีวิตทางการเมืองโดยทันทีในขณะที่ยังคงประกอบอาชีพทนายความต่อไปในช่วงแรกเขาเป็นนักการเมืองในกลุ่มอนุรักษนิยมสายกลาง (moderate conservative) และได้รับเลือกตังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อจากภูมิภาคลอร์แรนแต่ต่อมาไม่นานเขาก็ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนจากเขตทียงวิลล์ (Thionville) แคว้นลอร์แรนและได้รับเลือกตั้งจากเขตนี้ติดต่อกันจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๘ ยกเว้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เท่านั้น ผลงานที่โดดเด่นของชูมองในขณะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ คือการเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างกฎหมายที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ “กฎหมายชูมอง” (Lex Schuman) นอกจากนี้ เขายังได้เป็นกรรมการทำหน้าที่ไต่สวนและเปิดเผยความลับการฉ้อราษฎร์บังหลวง ของอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในแคว้นลอร์แรนด้วย
ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ ชูมองก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคขบวนการประชาชนริพับลิกันหรือเอ็มอาร์พี (Popular Republican Movement-MRP) ซึ่งเป็นพรรคคริสเตียนเดโมแครตที่มีความเป็นเสรีนิยมค่อนข้างมาก และเมื่อฝรั่งเศสใกล้จะพ่ายแพ้แก่กองทัพนาซี นายกรัฐมนตรีปอล เรโน (Paul Reynaud)* ก็ได้เชิญเขาให้เข้าร่วมรัฐบาลเพื่อให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่เกี่ยวกับเยอรมนี เนื่องจาก เห็นว่าชูมองเป็นผู้เชี่ยวชาญในกิจการด้านเยอรมันมากกว่าผู้ใด แต่ในปีเดียวกันหลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้และตกเป็นเขตยึดครองของเยอรมนีไม่นานนัก เขาก็ถูกจับกุมในข้อหามีการกระทำที่เป็นการต่อต้านนาซีและไม่สนับสนุนรัฐบาลวิซี (Vichy Government)* ของจอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* ชูมองถูกส่งตัวไปให้พวกเกสตาโป (Gestapo)* ไต่สวนในเยอรมนี แต่ด้วยความสามารถทางภาษาและความเข้าใจในวัฒนธรรมเยอรมันเป็นอย่างดีก็ทำให้เขาเอาตัวรอดมาได้และไม่ถูกส่งไปคุมขังที่ค่ายกักกันเมืองดาเคา (Dachau) ซึ่งเป็นค่ายกักกันยึวและพวกต่อต้านนาซีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเยอรมนี เขาถูกส่งไปเป็นนักโทษที่ทำหน้าที่เป็นคนรับใช้ส่วนตัวของโจเซฟ เบือร์คเคิล (Joseph Bürckel) หัวหน้านาซีที่โหดเหี้ยมคนหนึ่งแทน อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๔๒ ชูมองก็สามารถหลบหนีออกมาได้ และเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านนาซีของขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* โดยทันที ในระหว่างที่เขาทำงานใต้ดินอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในภาคพื้นยุโรป นอกจากการทำงานในด้านสงครามเพื่อช่วยเหลือฝ่ายพันธมิตรแล้วเขายังเริ่มคิดถึงอนาคตของยุโรปหลังสงครามด้วยโดยเฉพาะอนาคตของฝรั่งเศสและเยอรมนี ชูมองมักพูดกับเพื่อนร่วมงานอยู่เสมอว่า หลังสงครามยุติลงจะต้องมีการสมานฉันท์ ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีและจะต้องไม่มีสงครามระหว่างประเทศทั้งสองอีกต่อไป
หลังการยกพลขึ้นบกของฝ่ายพันธมิตรที่นอร์มองดี (Normardy) เพื่อปลดปล่อยฝรั่งเศสในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ แล้ว ชูมองก็กลับคืนสู่ชีวิตทางการเมืองอีกครั้ง โดยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของพรรคเอ็มอาร์พี แต่ในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๔๖ เขาก็ยังไม่ได้เข้าร่วมในรัฐบาลเฉพาะกาลของนายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ชูมองเข้าร่วมรัฐบาลครั้งแรกในสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ โดย ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใน ค.ศ. ๑๙๔๗ และต่อมาก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสมระหว่างวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๗ -๒๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ รวมเวลา ๘ เดือน ในช่วงนี้ฝรั่งเศสยังขาดเสถียรภาพทางการเมืองอยู่มากทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการนัดหยุดงานของแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเหมืองแร่บ่อยครั้ง รวมทั้งมีความพยายามที่จะก่อการจลาจลโดยบุคคลหลายกลุ่มด้วย แต่รัฐบาลชูมองก็สามารถสร้างเสถียรภาพทางรัฐสภาและยุติการจลาจลวุ่นวายต่าง ๆ ลงได้ ในฐานะนายกรัฐมนตรีเขามักทำหน้าที่เป็น “พลังที่สาม” ในรัฐบาลผสมโดยไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งของพวกคอมมิวนิสต์และพวกโกลลิสฅ์ (Gaullist) ต่อมา ในวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ชูมองก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งพร้อมทั้งได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย แต่เขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ เพียง ๖ วันเท่านั้นก็ลาออกมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เขาดำรงอยู่ติดต่อกันมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๓ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งก็ตาม การที่ชูมองได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศติดต่อกันนานถึง ๕ ปีในภาวะที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลผสมชุดต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ก็มีส่วนทำให้ฝรั่งเศสสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศได้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง รวมทั้งสามารถสร้างความเป็นผู้นำของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เป็นอย่างดี
ผลงานที่โดดเด่นของชูมองในช่วง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๙ คือการเสนอให้มีการประชุมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก (The Hague Congress) ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เพื่อพิจารณาหาทางรวมยุโรปตะวันตกเข้าด้วยกันตามแนวทางที่กลุ่มต่อต้านนาซีและนักยุโรปนิยมได้วางแผนไว้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ การประชุมดังกล่าวนำมาสู่การจัดตั้งสภาแห่งยุโรปในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ โดยชูมองมีส่วนในการยกร่างสนธิสัญญาจัดตั้งสภาดังกล่าวด้วย ในขณะเดียวกันชูมองก็สนับสนุนความร่วมมือบน ๒ ฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ยุโรปตะวันตกและตอบโต้การรุกรานของคอมมิวนิสต์ ในช่วงที่สงครามเย็น (Cold War)* กำลังร้อนแรงด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนรัฐบาลฝรั่งเศสไปร่วมประชุมเจรจากับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. และได้ลงนามในสนธิสัญญาวอชิงตัน (Treaty of Washington) ในนามรัฐบาลฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๔๙
นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๗-๑๙๔๘ ชูมองยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* และในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสชูมองได้แถลงต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติถึงเจตนารมณ์ของฝรั่งเศสที่จะให้มีการจัดตั้ง องค์การระหว่างประเทศของยุโรปในลักษณะองค์การเหนือรัฐที่เป็นประชาธิปไตยที่เยอรมนีสมัยหลังนาซีและมีความเป็นประชาธิปไตยแล้วสามารถเข้าร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๐ ชูมองยังได้กล่าวถึงเจตนารมณ์ดังกล่าวอีกหลายครั้งในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงในที่ต่าง ๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยยํ้าว่าองค์การเหนือรัฐนี้จะช่วยสร้างสันติภาพถาวรระหว่างภาคีสมาชิกได้เป็นอย่างดีในต้น ค.ศ. ๑๙๕๐ ชูมองเดินทางไปเยือนกรุงบอนน์ (Bonn) เมืองหลวงของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเพื่อเจรจาปัญหาแคว้นซาร์ (Saar) กับนายกรัฐมนตรีคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* การเปิดเจรจาในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นการแผ้วถางทางสำหรับการเริ่มกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันตกและเป็นการแสดงความจริงใจของฝรั่งเศสที่จะเริ่มแก้ปัญหาระหว่างประเทศทั้งสองที่คั่งค้างมาเป็นเวลานานให้ยุติลง แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จในขณะนั้นโดยทันทีก็ตาม
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของชูมองที่ทำให้ชื่อเสียงของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการเมืองระหว่างประเทศในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การรวมยุโรปก็คือ การประกาศแผนชูมองเพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป การประกาศแผนดังกล่าวเป็นผลมาจากความพยายามแก้ปัญหาเยอรมันซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับฝรั่งเศสในขณะนั้น เนื่องจาก ตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๔๙ หลังการสถาปนาประเทศเยอรมนีตะวันตกเป็นต้นมา มหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรคือสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเริ่มลดการควบคุมเยอรมนีลงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หลังการจัดตั้งนาโตแล้วสหรัฐอเมริกายังแสดงท่าทีให้เห็นเป็นที่เข้าใจกันว่า เยอรมนีอาจได้รับอนุญาตให้มีกองทัพติดอาวุธได้เพื่อทำให้ฝ่ายตะวันตกมีเขี้ยวเล็บสำหรับตอบโต้การรุกรานของคอมมิวนิสต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในขณะนั้นจะยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างเป็นทางการก็ตามในขณะเดียวกันทั้งสหรัฐอเมริกาและอังกฤษก็ไม่สนับสนุนคณะกรรมาธิการนานาชาติเพื่อดูแลแคว้นรูร์หรือไออาร์เอ (International Ruhr Authority-IRA) ที่ชูมองเป็นผู้เสนอให้จัดตั้งขึ้นเท่าที่ควร แม้ว่าจะได้มีการลงนามในความตกลงเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวตั้งแต่เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๙ แล้วก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเยอรมนีตะวันตกกำลังเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ฝรั่งเศสคงไม่มีทางเลือกอื่นใด ที่จะทัดทานความเติบโตนี่ได้ และคงไม่อาจหวังพึ่งพาไออาร์เอเพื่อคอยควบคุมดูแลการผลิตถ่านหินและเหล็กกล้าซึ่งเป็นวัสดุสงครามที่สำคัญได้ตลอดไปเช่นเดียวกัน และหากปล่อยให้เยอรมนีตะวันตกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้คงเป็นอันตรายต่อความมั่นคงปลอดภัยของฝรั่งเศสในอนาคตอย่างแน่นอน ยิ่งกว่านั้นชูมองยังวิตกกังวลว่าหากช้าไปก็จะยิ่งทำให้ฝรั่งเศสอ่อนแอลง เพราะในขณะนั้นฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาสงครามอินโดจีนและการแยกตัวของอดีตอาณานิคมในแอฟริกาเหนือรวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาเศรษฐกิจโดยเร็ว ชูมองจึงเห็นว่าทางเลือกเดียวที่มีอยู่และสามารถทำได้ก็คือการร่วมมือกับเยอรมนีโดยตรงโดยรวมผลประโยชน์ของฝรั่งเศสกับเยอรมนีเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ทั้ง ๒ ประเทศมีสถานะเท่าเทียมกันและเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ทั้งยังจะทำให้การแข่งขันและความเป็นอริระหว่างกันในอดีตยุติลงได้ ยุโรปจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาตนเองมากกว่าการหวังพึ่งพามหาอำนาจจากภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว ดังที่ชูมองได้กล่าวยํ้าไว้ในสุนทรพจน์ที่แสดงต่อมหาชนตอนหนึ่งว่า “เราจะติดต่อกับเยอรมนีโดยตรง และจะเสนอสถานะที่เท่าเทียมกันเพื่อเป็นการตอบแทนสำหรับการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันซึ่งจะไม่ใช่เป็นการกระทำบนแผ่นกระดาษ หากแต่เป็นความร่วมมือกันในกิจการเหมืองแร่และอุตสาหกรรมของแคว้นรูร์และลอร์แรน”
เมื่อชอง มอนเน (Jean Monnet)* เสนอแผนจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรป ให้เขาพิจารณาในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๐ ชูมองจึงสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวโดยทันที เพราะเห็นว่าจะใช้อีซีเอสซีเข้ามาทำหน้าที่แทนไออาร์เอได้เป็นอย่างดี ทั้งยังจะสามารถสร้างผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงหลังสงครามให้แก่ภาคีสมาชิกได้อย่างรวดเร็วด้วยโดยเฉพาะฝรั่งเศสจะได้รับเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบจากแคว้นรูร์เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในประเทศโดยไม่ขาดสาย ข้อเสนอของมอนเนจึงเป็นข้อเสนอที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ ข้อเสนอดังกล่าวยังสอดคล้องกับนโยบายการสร้างมิตรภาพและกระชับความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันตกของเขาเป็นอย่างดี เขาจึงให้มอนเนนำข้อเสนอนี้ไปปรับปรุงและยกร่างใหม่ให้ชัดเจนเพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสำคัญ ๆ ที่ฝรั่งเศสต้องการ ต่อมาในตอนเย็นวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ชูมองก็ประกาศแผนจัดตั้งอีซีเอสซีในนามของรัฐบาลฝรั่งเศสต่อที่ประชุมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศ ณ ห้องนาฬิกากระทรวงการต่างประเทศ การประกาศดังกล่าวก่อให้เกิดความสนใจ การวิพากษ์วิจารณ์ และการตีความในประเทศต่าง ๆ อย่างมากทั้งในด้านบวกและด้านลบ อย่างไรก็ดี การที่ชูมองเลือกประกาศแผนนี้ก่อนหน้าการเดินทางไปกรุงลอนดอนในวันที่ ๑๐ พฤษภาคมเพียงเล็กน้อย เพื่อเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของ ๓ มหาอำนาจ ผู้ยึดครองเยอรมนีตะวันตกในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งเป็นการประชุมที่ฝรั่งเศสจะต้องเสนอนโยบายที่มีต่อเยอรมนีหลังการถอนตัวของมหาอำนาจผู้ทำการยึดครองออกจากเยอรมนีตะวันตกเมื่อประเทศนี่ได้รับอธิปไตยอย่างเต็มที่แล้ว ก็ทำให้การประกาศแผนชูมอง ในวันที่ ๙ พฤษภาคมถูกวิจารณ์ว่าไม่ใช่เป็นเหตุบังเอิญหากเป็นความตั้งใจของชูมองที่จะประกาศนโยบายของฝรั่งเศสที่มีต่อเยอรมนีต่อมหาชนเสียก่อน
ในคำประกาศชูมอง (Schuman Declaration) เขาเสนอให้เยอรมนีตะวันตกร่วมมือกับฝรั่งเศสโดยนำอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้าของทั้ง ๒ ประเทศ เข้ามารวมกันภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมาธิการ (High Authority) ร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการทำงานในกรอบขององค์การระหว่างประเทศที่จะเปิดรับประเทศอื่นๆ ที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วย การรวมอุตสาหกรรมทั้ง ๒ ประเภทนี่เข้าด้วยกันจะเป็นการวางพื้นฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของยุโรป และจะเป็นก้าวแรกในการจัดตั้งสหพันธ์แห่งยุโรปขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้สงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดคิดถึงได้อีกต่อไปเท่านั้นหากแต่ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในทางรูปธรรม แม้ว่าในคำประกาศนี้ชูมองจะไม่ได้กล่าวถึงคำว่า “องค์การเหนือรัฐ” แตกเป็นที่เข้าใจกันได้โดยทั่วไปว่าคณะกรรมาธิการที่จะจัดตั้งขึ้นจะมีลักษณะเป็นองค์การเหนือรัฐอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ดี คำประกาศของเขาได้รับการขานรับโดยทันทีจากอาเดเนาร์แห่งเยอรมนีตะวันตก เพราะบุคคลทั้งสองได้ติดต่อเจรจากันไว้ล่วงหน้าแล้ว การที่อาเดเนาร์รีบขานรับโครงการนี้โดยทันทีนั้น นอกจากเกิดจากการที่เขาเป็นนักยุโรปนิยมที่สนับสนุนการรวมยุโรปในระบบสหพันธ์มาแต่ต้นแล้ว ยังเกิดจากความต้องการที่จะให้อุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้าของเยอรมนีหลุดพันจากการควบคุมดูแลของไออารีเอ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตกอยู่ภายใต้การยืดครองของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรรวมทั้งความต้องการที่จะได้รับแรงสนับสนุนจากฝรั่งเศสในด้านการเมืองอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะการได้รับอธิปไตยอย่างสมบูรณ์ในเวลาอันรวดเร็วและการรวมเยอรมนีครั้งใหม่ (German Re-unification) ในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการดำเนินนโยบายต่างประเทศของอาเดเนาร์แทบทุกเรื่อง นอกจากนี้ อิตาลีและกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ทั้ง ๓ ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กก็ได้ขอเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองร่วมกันกับฝรั่งเศสและเยอรมนีตะวันตก เชื่อกันว่าการที่ชูมองเคยเป็นชาวเยอรมันและอยู่ในลักเซมเบิร์กมาก่อนก็มีส่วนช่วยให้การเจรจาระหว่างเขากับอาเดเนารีและอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi)* นายกรัฐมนตรีอิตาลี ซึ่งเกิดและเติบโตบริเวณพรมแดนอิตาลี-ออสเตรีย และสามารถใช้ภาษาเยอรมันได้อย่างคล่องแคล่วเช่นเดียวกันดำเนินไปอย่างราบรื่น รวมทั้งการเจรจาอย่างเป็นการส่วนตัวกับผู้แทนกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหา แม้ว่าในครั้งแรกเดิร์ก สติกเคอร์ (Dirk stikker) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์จะไม่ใคร่เห็นด้วยกับข้อเสนอของเขานักก็ตาม แต่ต่อมาสติกเคอร์ก็ยอมรับว่าชูมองมีท่าทีที่ซื่อสัตย์และจริงใจ เขาจึงนำเนเธอร์แลนด์เข้าร่วมในแผนชูมองด้วยความเต็มใจ
ข้อเสนอของชูมองกลับไม่ได้รับการขานรับจากรัฐบาลอังกฤษที่มีเคลเมนต์ แอตต์ลี (Clement Attlee)* แห่งพรรคแรงงาน (Labour Party)* เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ประการใด แม้ว่าฝรั่งเศสจะได้พยายามติดต่อเชิญชวนอังกฤษหลายครั้งแล้วก็ตาม นอกจากนี้ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Winston Churchill)* หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้นยังได้แสดงให้เห็นท่าทีของพรรคอย่างชัดเจนว่าจะไม่ยอมให้อังกฤษเข้าร่วมในกระบวนการจัดตั้งอีซีเอสซีอย่างแน่นอนเพราะไม่เห็นด้วยกับระบบเหนือรัฐขององค์การนี้โดยกล่าวว่า “หากข้าพเจ้าถูกถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการมีองค์การเหนือรัฐที่จะเข้ามามีอำนาจสั่งอังกฤษไม่ให้ลดการผลิตถ่านหินหรือไม่ให้เพิ่มการผลิตเหล็กกล้าอีกต่อไปแต่ให้ปลูกมะเขือเทศแทน ข้าพเจ้าคงจะตอบว่าไม่เห็นด้วยอย่างไม่ลังเล” ต่อมา ฮาโรลด์ แมกมิลแลน (Harold Macmillan)* แห่งพรรคอนุรักษนิยมเช่นเดียวกันยังได้กล่าวยํ้าทำทีของเชอร์ชิลล์ในสภาสามัญอีกครั้งหนึ่งว่าประชาชนชาวอังกฤษจะไม่ยอมส่งมอบอำนาจและสิทธิในการปิดหรือเปิดเหมืองแร่และโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กกล้าให้แก่องค์การเหนือรัฐใด ๆ ทั้งสิ้นในขณะเดียวกัน คำประกาศชูมองยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากพรรคคอมมิวนิสต์ในฝรั่งเศสและอิตาลีและจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* ของเยอรมนีตะวันตกซึ่งต่างก็ไม่เห็นด้วยกับการรวมอุตสาหกรรมทั้ง ๒ ประเภทของยุโรปเข้าด้วยกันและไม่ต้องการร่วมมือกับฝรั่งเศสด้วย นอกจากนี้ กลุ่มผู้ค้าเหล็กและเหล็กกล้ารวมทั้งอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในฝรั่งเศสหลายกลุ่มก็ไม่เห็นด้วยกับโครงการจัดตั้งอีซีเอสซี เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสมาคมผู้ผลิตเหล็กกล้า (Steel Association) กลัวว่าจะต้องแข่งขันกับอีซีเอสซีและสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้รับ ชูมองจึงต้องเผชิญกับปัญหารอบด้านทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐ ประเทศทั้งหกได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก ก็ได้เปิดการเจรจาเพื่อจัดตั้งอีซีเอสซีขึ้นอย่างเป็นทางการ ณ กรุงปารีสโดยชูมองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสเป็นผู้แสดงสุนทรพจน์เปิดการประชุม ในระหว่างการเจรจา แม้ว่ามอนเนจะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝรั่งเศสแต่ชูมองก็ทำงานอย่างใกล้ชิดและให้ความร่วมมือกับมอนเนและคณะผู้แทนเป็นอย่างดีโดยเป็นผู้กำหนดนโยบายทางการเมือง กรอบและทิศทางของการเจรจา รวมทั้งเป็นผู้จัดหาเอกสารทางราชการให้แก่คณะผู้แทนตลอดเวลา ตลอดจนเข้าร่วมเจรจาในระดับต่าง ๆ ทั้งในและนอกรอบหลายครั้ง นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การเจรจาอันยากลำบากดำเนินไปได้ด้วยดี โดยเฉพาะเขามีบทบาทสำคัญในการเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเยอรมนีตะวันตกซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่สุดให้ ลุล่วงไปได้ เพราะในขณะนั้นเยอรมนีตะวันตกกำลังมีพลังในการต่อรองสูงกว่าประเทศใด ๆ ที่เข้าร่วมการเจรจาในครั้งนี้ หลายครั้งชูมองได้แสดงความสามารถในการเจรจาผ่อนปรนและประนีประนอมกับผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่ต่างก็ตั้งข้อเรียกร้องเพื่อให้ตอบสนองต่อผลประโยชน์ของชาติตนด้วยอารมณ์อันรุนแรงให้สงบลงได้และหันมาร่วมมือกันเพื่อแสวงหาทางแก้ไขต่อไป ฉะนั้น นอกเหนือจากบทบาทของมอนเนและจอห์น เจ. แมกคลอย (John J. McCloy) ข้าหลวงใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำเยอรมนีตะวันตกแล้วยังถือได้ว่าความพยายามและความสามารถของชูมองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การเจรจาอันยาวนานเกือบ ๑๐ เดือนยุติลงได้ด้วยการลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris)* เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ นับเป็นความสำเร็จที่สำคัญมากของฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ เพราะทำให้ฝรั่งเศสสามารถเริ่มต้นบทบาทของการเป็นผู้นำในกระบวนการบูรณาการยุโรปตะวันตกได้
อย่างไรก็ดี ชูมองก็ยังประสบปัญหาการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาฉบับนี้อย่างหนักหน่วง เนื่องจากในขณะนั้นยังมีกลุ่มผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าหลายกลุ่มรวมทั้งพรรคการเมืองหลายพรรคที่ไม่เห็นด้วยและต่อต้านการจัดตั้งอีซีเอสซีอย่างรุนแรง จึงแสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมให้มีการให้สัตยาบันแก่สนธิสัญญาฉบับนี้ง่าย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตถ่านหินและเหล็กในลอร์แรนซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของชูมอง จนทำให้เขาเกือบสูญเสียที่นั่งในรัฐสภาในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๑ แต่หลังจากนั้นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เป็นอุปสรรคต่อการให้สัตยาบันไม่ใช่มาจากกลุ่มผลประโยชน์ทางธุรกิจซึ่งมักแตกแยกกันเองในหมู่ผู้ผลิตถ่านหินและเหล็กกล้า หากแต่มาจากพรรคการเมืองขวาจัดซึ่งเป็นพวกชาตินิยม เช่น พวกโกลลิสต์ และพวกซ้ายจัดโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์ ชูมองจึงต้องร่วมมือกับเรอเน เปลอวอง (René Pleven)* นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นหาทางทำให้สนธิสัญญาดังกล่าวผ่านการให้สัตยาบันโดยเร็วเขาพยายามหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนและพรรคฝ่ายค้านโดยสร้างความนั่นใจว่าฝรั่งเศสจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองจากการจัดตั้งอีซีเอสซีอย่างแน่นอน และอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กกล้าก็จะไม่ถูกแข่งขันและครอบงำโดยเยอรมนีตะวันตก นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้สัญญาว่าจะเพิ่มเงินกู้ยืมให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการเกษตร และจะลดภาษีให้แก่ผู้มีรายได้ตํ่าด้วยในที่สุดสนธิสัญญาปารีสฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๑ ก็ผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาด้วยคะแนนเสียง ๓๗๗ ต่อ ๒๓๓ เสียง เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ และมีผลบังคับใช้หลังจากชาติสมาชิกอื่นให้สัตยาบันครบแล้ว ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปจึงได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๒
ความสำเร็จในการจัดตั้งประชาคมดังกล่าวทำให้คำประกาศที่ชูมองเสนอต่อที่ประชุมผู้สื่อข่าวระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ที่หลายคนเคยเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้และไม่อาจก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเนื่องจากอีซีเอสซีเป็นประชาคมแรกที่เป็นพื้นฐานและต้นแบบของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Economic Community-EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community-EURATOM)* ที่พัฒนามาเป็นสหภาพยุโรปในเวลาต่อมา ชูมองจึงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกการรวมยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่วมกับมอนเนและคนอื่น ๆ วันที่ ๙ พฤษภาคมของทุกปี ถือเป็นวันเริ่มต้นของสหภาพยุโรปหรือเป็น“วันยุโรป” (European Day) ด้วย
แม้ว่าชูมองจะประสบความสำเร็จในการจัดตั้งอีซีเอสซี แต่ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ สถานภาพทางการเมืองของเขาก็เริ่มสั่นคลอน ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เขาสนับสนุนการจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรป หรือประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community-EDC)* ตามแผนเปลอวอง (Pleven Plan)* ที่เรอเนเปลอวองเป็นผู้เสนอต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ หลังการประกาศแผนชูมองไม่นานนัก เพราะชูมองเห็นว่าแผนเปลอวองมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับแผนชูมอง เนื่องจากแผนดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการติดอาวุธของสหรัฐอเมริกาให้แก่เยอรมนีตะวันตกได้เป็นอย่างดี โดยให้อีดีซีทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการทางทหารของเยอรมนีตะวันตก ในขณะที่อีซีเอสซีทำหน้าที่ควบคุมทางด้านการผลิตวัสดุสงคราม เขาจึงสนับสนุนการจัดตั้งอีดีซีอย่างเต็มที่ โดยมีส่วนในการตั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ที่จะทำให้การเจรจาจัดตั้งอีซีเอสซีประสบความสำเร็จก่อนการเจรจาจัดตั้ง อีดีซีเพื่อป้องกันไม่ให้เยอรมนีตะวันตกเปลี่ยนใจ และทำให้ประชาคมทั้งสองตั้งขึ้นได้ในเวลาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี (European Political Community-EPC) ในช่วงเดียวกันด้วย ชูมองจึงพยายามดำเนินการทุกอย่างที่จะทำให้การเจรจาจัดตั้งประชาคมเหล่านี้ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ดี แผนเปลอวองก็ไม่ได้รับการตอบรับด้วยดีตั้งแต่ต้นดังเช่นแผนชูมอง แม้ว่าภายนอกประเทศชูมองจะเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินงานทางการทูตจนทำให้เกิดการเจรจาและมีการลงนามในสนธิสัญญาจัดตั้งอีดีซีหรือสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ ก็ตาม แต่การต่อต้านภายในประเทศก็ยังคงมีอยู่และกลายเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเปลี่ยนรัฐบาลในช่วงปลาย ค.ศ. ๑๙๕๒ ทั้งยังทำให้ชูมองถูกโจมตีเรื่อยมา โดยเฉพาะหลังการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้เขาถูกโจมตีมากขึ้นจากกองทัพ นักการเมืองในแวดวงรัฐบาล สมาชิกพรรคฝ่ายค้าน พวกชาตินิยม พวกโกลลิสต์ และพวกคอมมิวนิสต์ เนื่องจากหลายคนไม่พอใจ การจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปซึ่งเป็นการบูรณาการทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับปัญหาอธิปไตยของชาติ ส่วนกองทัพและพวกชาตินิยมก็กลัวว่าฝรั่งเศสอาจต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของเยอรมนีตะวันตกซึ่งกำลังมีอำนาจมากขึ้นทุกที ในขณะที่พวกคอมมิวนิสต์ก็เห็นว่าอีดีซีเป็นแผนที่พยายามผูกพันฝรั่งเศสเข้ากับทุนนิยมสหรัฐอเมริกาที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับฝ่ายตน จึงไม่ต้องการให้องค์การดังกล่าวเกิดขึ้น การโจมตีชูมองของคนเหล่านี้ทำให้ผู้ที่พยายามกุมอำนาจในรัฐบาลผสมเริ่มตระหนักว่าน่าจะมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลไว้ประธานาธิบดีแวงซอง ออรีโอล (Vincent Auriol) ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดก็ปรารภเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายครั้งว่า มีนักการทูตหลายคนเห็นว่าชูมองตกอยู่ใต้อิทธิพลของมอนเนและควรมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีได้แล้ว การโจมตีชูมองในช่วงนี้เกี่ยวพันกับการที่เขาสนับสนุนให้มอนเนเป็นประธานคณะกรรมาธิการของอีซีเอสซีที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นด้วย เพราะหลายคนไม่เห็นด้วยและไม่ชอบมอนเนแต่ชูมองก็ยังคงรักษาตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไว้ได้ตลอด ค.ศ. ๑๙๕๒
ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๒ นายกรัฐมนตรีอองตวน ปีเน (Antoine Pinay) พ้นจากตำแหน่งพร้อมรัฐบาลทั้งคณะในขณะที่เชากำลังจะนำร่างสนธิสัญญาอีดีซี เข้าสู่รัฐสภาเพื่อการให้สัตยาบัน อีดีซีจึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญของการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่เรอ เนเมเยร์ (René Mayer) กำลังดำเนินการอยู่ และแม้ว่าเมเยร์จะเป็นนักยุโรปนิยมที่สนับสนุนการจัดตั้งอีดีซีแต่เขาก็ยังต้องการเสียงสนับสนุนจากพวกโกลลิสต์และนักการเมืองในกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่สนับสนุนอีดีซีในการออกเสียงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ฉะนั้น ในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๓ เมเยร์จึงตัดสินใจเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจากชูมองมาเป็นชอร์ช บีโดลต์ (Georges Bidault)*
หลังพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว ชูมองยังคงทำงานทางการเมืองในฐานะผู้แทนราษฎรจากเขตทียงวิลล์ ต่อไป พร้อมทั้งสนับสนุนกระบวนการบูรณาการยุโรปมาโดยตลอด ใน ค.ศ. ๑๙๕๕ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลเอดการ์ โฟร์ (Edgar Faure) อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เมื่อประชาคมเศรษฐกิจยุโรปเริ่มดำเนินงานชูมองก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานคนแรกของรัฐสภายุโรปหรืออีพี (European Parliament-EP) ซึ่งต่อมาได้ยกย่องให้เขาเป็น “บิดาแห่ง (สหภาพ) ยุโรป” (Father of Europe) ในปีเดียวกันชูมองยังได้รับรางวัลคาร์ลไพรส์ (Karlpreis) หรือรางวัลชาร์เลอมาญ (Charlemagne Award) จากนครอาเคิน (Aachen) เยอรมนี ซึ่งเป็นรางวัลที่ให้แก่บุคคลที่ทำคุณงามความดีในด้านการรวมยุโรปและการสร้างสันติภาพให้แก่ยุโรป
ชูมองเป็นผู้ที่มีบุคลิกเคร่งขรึม อ่อนน้อมถ่อมตนไม่โอ้อวด แต่เฉลียวฉลาดและเฉียบคม เขาเป็นผู้ทรงความรู้ในวิชาการหลายสาขาโดยเฉพาะในสาขาเทววิทยา จนได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ทางด้านคัมภีร์ไบเบิล ชูมองศึกษางานเขียนของสันตะปาปาไพอัสที่ ๑๒ (Pius XII) เซนต์ทอมัส อะไควนัส (St. Thomas Aquinas) และชากมารีแตง (Jacques Maritain) อย่างเชี่ยวชาญและได้รับอิทธิพลจากบุคคลเหล่านี้อย่างมาก นอกจากนี้ เขายังได้รับยกย่องอย่างมากจากคริสตจักรโรมันคาทอลิกและได้รับอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินแห่งสันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Knight of the Order of Pope Pius IX)
โรแบร์ ชูมองถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๓ ณ บ้านพักในกรุงปารีส ขณะอายุ ๗๗ ปี รัฐบาลได้ประกอบพิธีไว้อาลัยให้แก่เขาอย่างสมเกียรติและบรรจุศพเขาไว้ ณ โบถส์แซงกองแตง (Saint Quentin) ที่เมืองซี-ชาเซลล์ (Scy-Chazelles) ใกล้เมืองเมตซ์นอกเหนือจากผลงานต่าง ๆ ที่ชูมองทิ้งไว้เป็นมรดกแก่ยุโรปแล้ว ชื่อของเขายังได้รับเกียรติให้เป็นชื่อสถานที่ และสถาบันต่าง ๆ ที่เป็นของหรือเกี่ยวข้องกับประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม และในลักเซมเบิร์กหลายแห่งสถานที่สำคัญได้แก่ เขตชูมอง (Schuman District) ในกรุงบรัสเซลส์ที่หมายถึงอาณาบริเวณที่เป็นที่ตั้งสหภาพยุโรปซึ่งรวมทั้งรถไฟใต้ดินสถานีรถไฟ จัตุรัสเป็นต้นทั้งยังมีอนุสาวรีย์ชูมองตั้งอยู่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และรูปปั้นครึ่งตัวของเขาตั้งอยู่ในสวนสาธารณะแซงกองเตอแนร์ (Cinquantenaire Park) ใกล้ ๆ กันด้วย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสตราสบูร์กที่ชูมองเคยศึกษาก็ได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยชูมอง (Université Schuman) เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ใน ค.ศ. ๒๐๐๒ รัฐบาลเบลเยียมได้สร้างเหรียญทองที่ระลึกรูปใบหน้าของชูมอง ปอล-อองรี สปาก (Paul-Henri Spaak)* และคอนราด อาเดเนาร์ ซึ่งถือเป็นผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรปเพื่อเฉลิมฉลองวาระที่สนธิสัญญาปารีสเพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปมีอายุครบ ๕๐ ปี นับเป็นเกียรติสูงส่งที่โรแบร์ ชูมองได้รับในระดับนานาชาติ.