ยัลมาร์ ฮอเรซ กรีลีย์ ชัคท์เป็นนักเศรษฐศาสตร์นายธนาคาร และนักการเมืองชาวเยอรมัน เขาร่วมก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Party) ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ชัคท์เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเยอรมนี (Reichsbank) และกรรมาธิการกำกับดูแลระบบเงินตราซึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาค่าเงินมาร์คให้กลับมามีเสถียรภาพ
ชัคท์เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ที่ทิงเลฟฟ์ (Tingleff) ในแคว้นชเลสวิก (Schleswig) จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* [ปัจจุบันคือเมืองทิงเลฟ (Tinglev) ราชอาณาจักรเดนมาร์ก] เขาเป็นบุตรคนกลางในบรรดาบุตรชาย ๓ คนของวิลเลียม เลออนฮาร์ด ลุดวิก มักซีมีเลียน ซัคท์ (William Leonhard Ludwig Maximilian Schacht) และบารอนเนสคอนชตันซ์ ยุสทิน โซฟี ฟอน เอกแกร์ส (Constanze Justine Sophie von Eggers) ชาวเดนนิช ครอบครัวเคยอพยพไปอยู่ในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นทศวรรษ ๑๘๗๐ และกลับมาเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๘๗๗ บิดาตั้งชื่อเขาว่า ฮอเรซ กรีลีย์ ชัคท์ ตามชื่อ ฮอเรซ กรีลีย์ (Horace Greeley) นักหนังสือพิมพ์อเมริกันหัวรุนแรง แต่ย่ายืนกรานให้ใช้ชื่อต้นเป็นภาษาเดนนิช ทำให้บิดายอมเปลี่ยนชื่อเป็นยัลมาร์ ฮอเรซ กรีลีย์ ชัคท์ศึกษาหลากหลายสาขาวิชาในสถาบันต่าง ๆ เรียนวิชาการแพทย์ในมหาวิทยาลัยคีล (Kiel) เรียนปรัชญาเยอรมันในมหาวิทยาลัย เบอร์ลิน เรียนรัฐศาสตร์ไนมหาวิทยาลัยมิวนิก เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ชัคท์เข้าทำงานที่ธนาคารเดรสด์เนอร์ (Dresdner) ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ และใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ก็ได้เลอนตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการ เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๐๕ เพื่อติดต่อธุรกิจของธนาคารและมีโอกาสพบกับทีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเจ. พี. มอร์แกน (J. p. Morgan) นายธนาคารอเมริกันผู้ทรงอิทธิพลซึ่งเขาคิดว่าเป็นประสบการณ์ที่น่าประทับใจมาก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ชัคท์เป็นที่ปรึกษาด้านการเงินให้แก่คณะทำงานของนายพล ฟอน ลัมม์ (von Lumm) ซึ่งยึดครองเบลเยียม ต่อมาเมื่อนายพลฟอน ลัมม์พบว่าชัคท์ให้ธนาคารเดรสด์เนอร์ที่เขาเคยทำงานทำหน้าที่แลกเปลี่ยนเงินพันธบัตรของเบลเยียมกว่า ๕๐๐ ล้านฟรังก์เป็นเงินมาร์คในอัตราแลกเปลี่ยนพิเศษซึ่งสร้างผลกำไรมากกว่าปรกติ เขาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะลัมม์เห็นว่าการกระทำเช่นนี้ไม่โปร่งใส แต่ต่อมาชัคท์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งจักรวรรดิเยอรมันทั้ง ๆ ที่อายุเพียง ๓๙ ปี หลังการยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr Occupation)* ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการการเงินในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๒๓ เพื่อแก้ไขภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในขั้นวิกฤติ เลขานุการของเขากล่าวว่า ชัคท์ทำงานหนักมาก แทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน และใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเงินของประเทศเขาประสบความสำเร็จในการลดภาวะเงินเฟ้อและทำให้ค่าเงินมาร์คมีเสถียรภาพ ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ประธานาธิบดี เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* และนายกรัฐมนตรีกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* แต่งตั้งเขาเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเยอรมนีในเดือนธันวาคมปีเดียวกันชัคท์มีชื่อเสียงมากขึ้นในแวดวงการเงินการธนาคารจนได้รับสมญานามว่า “Mr. Fix-it” ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาเป็นผู้แทนเยอรมนีเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อปรับแก้ไข แผนดอส์ (Dawes Plan)* ซึ่งนำไปสู่การร่างแผนยัง (Young Plan)* เพื่อปรับปรุงการจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามของเยอรมนี เขาพอใจผลการเจรจา แต่ในการประชุมที่กรุงเฮกครั้งที่ ๒ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ รัฐบาลของแฮร์มันน์ มึลเลอร์ (Hermann Müller)* ซึ่งชัคท์เข้าใจว่าถูกกดดันจากสหรัฐอเมริกาได้แก้ไขข้อตกลงในแผนยัง เขาจึงประท้วงด้วยการลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติในเดือนมีนาคม เขาเริ่มกังวลเรื่องหนี้สินต่างประเทศที่รัฐบาลของสาธารณรัฐไวมาร์สร้างเพิ่มขึ้น
ใน ค.ศ. ๑๙๒๖ ชัคท์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยเยอรมันและเริ่มเห็นคล้อยกับนโยบายของพรรคนาซีมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* ที่นำนโยบายของพรรคสังคมนิยมมาใช้โดยเฉพาะโครงการ สาธารณะต่าง ๆ ที่จะต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินมาใช้จ่ายซึ่งส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อของประเทศชัคท์ต้องการให้เยอรมนีมีรัฐบาลที่เข้มแข็งเพื่อใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ประเทศมหาอำนาจกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและมุ่งแก้ไขปัญหาภายในจนไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รัฐบาลจะได้ฟื้นฟูเยอรมนีให้กลับมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมมีกองทัพที่เข้มแข็งและเป็นผู้นำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีเกียรติภูมิเท่าเทียมกับมหาอำนาจอื่น ๆ ได้อีกครั้งเมื่อชัคท์ได้อ่านหนังสือไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf)* ของฮิตเลอร์ใน ค.ศ. ๑๙๓๐ เขาเห็นด้วยว่าเยอรมนีจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เกอริงได้แนะนำให้ชัคท์รู้จักกับฮิตเลอร์ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ชัคท์ประทับใจในตัวฮิตเลอร์และยินดีสนับสนุนเขาด้านการเงินเขาใช้ความสัมพันธ์ที่ ใกล้ชิดกับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศรวบรวมเงินเพื่อสนับสนุนฮิตเลอร์และพรรคนาซี นอกจากนี้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๑ ชัคท์เข้าร่วมกับกลุ่มของแนวร่วมฮาร์ซบูร์ก (Harzburg Front) ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักอุตสาหกรรมและกลุ่มแนวคิดชาตินิยมอนุรักษนิยมซึ่งต่อต้านรัฐบาลบรือนิง ในการประชุมที่บัดฮาร์ซบูร์ก (Bad Harzburg) อัลเฟรด ฮูเกนแบร์ก (Alfred Hugenberg) นักธุรกิจผู้ทรงอิทธิพลคนหนึ่งได้กล่าวต่อที่ประชุมว่าพวกบอลเชวิค (Bolsheviks)* รัสเซียกำลังครอบงำเยอรมนี และเยอรมนีจำต้องมีรัฐบาลที่เข้มแข็ง ฮิตเลอร์ซึ่งเข้าร่วมประชุมด้วยได้กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนฮาร์ซนูร์ก อย่างไรก็ตาม พวกเขายังไม่ประสบความสำเร็จในการกดดันให้บรือนิงออกจากตำแหน่ง แต่ก็เป็นครั้งแรกของฮิตเลอร์ที่ได้มีโอกาสพบปะเหล่านักธุรกิจที่มีฐานะมั่งคั่ง
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๒ พรรคนาซีชนะได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นโดยได้ ๒๓๐ ที่นั่งจากจำนวน ๖๐๘ ที่นั่งในสภาไรค์ชตาก ต่อมาในเดือนพฤศจิกายนชัคท์ได้รวบรวมรายชื่อของนักอุตสาหกรรมชั้นนำหลายคนที่สนับสนุนพรรคนาซีเสนอประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กเพื่อเรียกร้องให้เขาแต่งตั้งฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฮินเดนบูร์กปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในและข่าวลือเรื่องรัฐประหารที่ฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* สร้างขึ้นเพื่อโค่นอำนาจคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* นายกรัฐมนตรีได้นำไปสู่ความร่วมมือกันระหว่างฮิตเลอร์กับพาเพิน ฮิตเลอร์จึงได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีโนปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในเดือนกุมภาพันธ์ ซัคท์จัดประชุมสมาคมนักอุตสาหกรรมเพื่อหาเงินบริจาคช่วยฮิตเลอร์และพรรคนาซีและระดมทุนได้ถึง ๓ ล้านมาร์ค ฮิตเลอร์จึงแต่งตั้งซัคท์เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเยอรมนีในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ในช่วงเวลาเดียวกัน ฮิตเลอร์ผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลนาซีบริหารประเทศด้วยกฎหมายที่ให้อำนาจ (Enabling Act)* ได้สำเร็จ ต่อมา ชัคท์เดินทางไปสหรัฐอเมริกาและกล่าวสุนทรพจน์ประมาณ ๔๐ ครั้ง ให้สัมภาษณ์ทางวิทยุและเขียนบทความหลายเรื่องในหนังสือพิมพ์อเมริกันเพื่อยืนยันว่าฮิตเลอร์จะเป็นผู้นำระบบประชาธิปไตยสู่เยอรมนี เขาได้พบประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) แต่รูสเวลต์ไม่ประทับใจในตัวชัคท์และคิดว่าเขาหยิ่งยโสเกินไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าชัคท์จะสนับสนุนฮิตเลอร์และพรรคนาซีอย่างเต็มที่ แต่เขาก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ฮิตเลอร์แต่งตั้งซัคท์เป็นรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ชัคท์ได้รับอิทธิพลความคิดด้านเศรษฐศาสตร์จากจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) รวมถึงแผนนิวดีล (New Deal) ของประธานาธิบดี รูสเวลต์ เขาเสนอแผนแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เรียกว่า “แผนไรน์ฮาร์ด” (Reinhard Plan) เพื่อการสร้างงานและการจ้างงานด้วยการตั้งโครงการสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง การก่อสร้างโรงเรียนและที่พักอาศัย รวมถึงการสร้างเส้นทางหลวงสายใหญ่หรือเอาโตบาน (autobahn) ธนาคารแห่งประเทศเยอรมนีสนับสนุนแผนดังกล่าวโดยให้เงิน ๑๐๐ ล้านมาร์ค ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาเสนอมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เรียกว่าแผนใหม่ (New Plan) เพื่อลดการขาดดุลชำระเงินต่างประเทศและควบคุมปริมาณสินค้าทุกประเภทที่เยอรมนีนำเข้ารวมทั้งการพักชำระหนี้ต่างประเทศ มีการเจรจาทำสนธิสัญญาการค้าทวิภาคีกับ ๒๕ ประเทศในอเมริกาใต้และยุโรปตะวันออกเอียงใต้ในคาบสมุทรบอลข่านโดยเยอรมนีให้สินเชื่อเป็นเงินมาร์คในการชื้อสินค้าเยอรมัน และเยอรมนีใช้สินเชื่อดังกล่าวชื้อวัตถุดิบจากประเทศเหล่านั้น เขายังลดการขาดดุลของรัฐบาลด้วยการขายพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล ความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจทำให้ฮิตเลอร์ แต่งตั้งซัคท์ให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของพรรคนาซีในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๗ และมอบรางวัลสวัสติกะทองคำ (Golden Swastika) แก่เขาด้วย
ชัคท์สนับสนุนการลดบทบาทพวกยึวในระบบเศรษฐกิจเยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาทำข้อตกลงกับองค์การไซออนิสตโลก (World Zionist Organization) โดยยอมให้ชาวยิวอพยพไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ได้แต่จ่ายเงิน ๑๕,๐๐๐ มาร์คให้แก่รัฐบาล ประมาณว่าภายในเวลา ๔ ปี ชาวยิวกว่า ๑๗๐,๐๐๐ คน อพยพไปอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ ชัคท์กล่าวคำปราศรัยว่า พวกยิวควรตระหนักว่า บทบาท อำนาจ และอิทธิพลของพวกเขาในเยอรมนีได้จบสิ้นลงแล้ว แม้เขาจะรังเกียจชาวยิวแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการต่อต้านชาวยิวด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย เขากล่าวว่าชาวยิวได้ช่วยรบในกองทัพเยอรมันอย่างกล้าหาญในสงครามโลกครั้งที่ ๑ พวกเขาจึงสมควรได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม
ชัคท์สนับสนุนการค้าเสรีของรัฐบาล เขาเรียกร้องให้ฮิตเลอร์ลดการใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการสร้างกองทัพยกเลิกการใช้นโยบายปกป้องทางการค้าและการควบคุมเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ใน ค.ศ. ๑๙๓๖ อิทธิพลของเขาในรัฐบาลลดน้อยลงตามลำดับโดยเฉพาะเมื่อเขามีปัญหาขัดแย้งกับเกอริงในแนวนโยบายเศรษฐกิจ เกอริงได้รับแต่งตั้งให้มีอำนาจเต็มกำกับดูแลแผน ๔ ปี (Four Year Plan) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่อให้เยอรมนีพึ่งตนเองได้ทางเศรษฐกิจและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับการเข้าสู่สงคราม ส่วนเกอริงสนับสนุนฮิตเลอร์ให้ใช้นโยบายการติดอาวุธและสร้างกองทัพให้แข็งแกร่ง ความขัดแย้งระหว่างชัคท์กับเกอริงมีส่วนทำให้เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจและตำแหน่งอื่นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ แต่ยังคงดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศเยอรมนี ในต้น ค.ศ. ๑๙๓๙ ซัคท์เข้าพบฮิตเลอร์เพื่อขอให้ฮิตเลอร์ลดการใช้จ่ายเงินจำนวนมากในการติดอาวุธ และในวันที่ ๗ มกราคม ก็เสนอรายงานของหัวหน้าแผนกของธนาคารแห่งชาติเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อฮิตเลอร์ด้วย ทั้งขอให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณสมดุล เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเงินเฟ้อ ฮิตเลอร์จึงปลดชัคท์ออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคมแต่เขาก็ยังคงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวงจนกระทั้งถูกปลดในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๓
ในช่วงที่ซัคท์ยังทำงานกับฮิตเลอร์ เขาได้ติดต่อกับกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์อย่างสมํ่าเสมอ ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เมื่อเยอรมนีดำเนินการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* และเข้ายึดครองดินแดนส่วนที่เหลือของซูเดเทนลันด์ ซัคท์เริ่มตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะเข้าสู่สงคราม เขาหันมาร่วมมือกับกลุ่มต่อต้านฮิตเลอร์มากขึ้นทั้งยังให้บ้านพักตากอากาศเป็นที่ซ่อนตัวของฝ่ายก่อการอย่างไรก็ตาม แม้หลัง ค.ศ. ๑๙๔๑ ชัคท์จะถอนตัวออกจากขบวนการต่อต้านฮิตเลอร์แต่เมื่อแผนลอบสังหารฮิตเลอร์ในเหตุการณ์ที่เรียกว่าแผนคบคิดเดือนกรกฎาคม (July Conspiracy)* ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ล้มเหลวชัคท์ก็ถูกจับกุมด้วยในวันที่ ๒๓ กรกฎาคมและถูกคุมขังที่ค่ายกักกันดาเคา (Dachau) เขาได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพพันธมิตรหลังเยอรมนียอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ในวันที่ ๕ พฤษภาคม กองทัพอเมริกันจับกุมเขาและนำตัวขึ้นพิจารณาโทษในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (Nuremberg Trials)* ด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพโดยเตรียมความพร้อมด้านเศรษฐกิจให้แก่เยอรมนีเพื่อก่อสงครามชัคท์แก้ข้อกล่าวหาโดยชี้แจงว่าเขาช่วยฮิตเลอร์สร้างเศรษฐกิจของเยอรมนีให้แข็งแกร่งเพียงเพื่อให้เยอรมนีเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศและถูกปลดจากตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลนาซีทั้งหมดตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๗ จึงไม่มีส่วนร่วมในการวางแผนก่อสงครามแต่อย่างใด เขาพ้นข้อกล่าวหาและได้รับการปล่อยตัว อย่างไรก็ตาม เขาถูกจับอีกครั้งหนึ่งโดยรัฐบาลเยอรมันตะวันตกและถูกสอบสวนภายใต้กฎหมายต่อต้านนาซีของเยอรมันตะวันตก เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดและถูกจำคุก ๘ ปี แต่เขาอุทธรณ์และได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดเมื่อวันที่ ๒ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๘
ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ชัคท์ก่อตั้งธนาคารชื่อ Deutsche Aufenhandelsbank Schacht & Co ในเมืองดึสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) และเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจและการเงินของผู้นำหลายประเทศ เช่น ยะมาล นัสเชอร์ (Gamal Nasser) แห่งอียิปต์ เขาถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองมิวนิกเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๐ ขณะอายุ ๘๓ ปี ชัคท์เขียนหนังสือทั้งหมด ๒๖ เล่มด้วยกันและมีอย่างน้อย ๔ เล่ม ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น The End of Reparations (ค.ศ. ๑๙๓๑) Account Settled (ค.ศ. ๑๙๔๙) Confessions of the Old Wizard (ค.ศ. ๑๙๔๓) และ The Magic of Money (ค.ศ. ๑๙๖๗).