Russell, John Russell, 1ˢᵗ Earl (1792-1878)

จอห์น รัสเซลล์ เอิร์ล รัสเซลล์ที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๓๕-๒๔๒๑)

 จอห์น รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ เป็นนายกรัฐมนตรี อังกฤษจากพรรคริก (Whig) หรือต่อมาคือ พรรคเสรีนิยม (Liberal Party)* โดยอยู่ในวาระ ๒ ครั้ง คือ ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๕๒ และ ค.ศ. ๑๘๖๕-๑๘๖๖ รัสเซลล์เป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงระบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill)* ใน ค.ศ. ๑๘๓๑ ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างขวาง ในปีต่อมารัฐสภาก็ผ่านร่างกฎหมายนี่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งครั้งใหญ่ของอังกฤษนับตั้งแต่สมัยกลาง

 รัสเซลล์เกิดที่กรุงลอนดอนเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ เป็นบุตรชายคนที่ ๓ ของจอห์น รัสเซลล์ ดุ๊กที่ ๖ แห่งเบดฟอร์ด (John Russell, 6ᵗʰ Duke of Bedford) ซึ่งเป็นบุคคลที่สนใจการปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญ (House of Commons) ปัญหาสังคม และเคยเป็นสมาชิกสภาจากเขตแทวิสต็อก (Tavistock) อีกทั้งเป็นสมาชิกสมาคมเพื่อนของประชาชน (Society of Friends of the People) รัสเซลล์เข้าเรียนที่โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) เพียงช่วงสั้น ๆ แต่ต้องลาออกเนื่องจากสุขภาพอ่อนแอ และต้องเรียนกับครูสอนพิเศษส่วนตัวที่บ้านทำให้ต่างกับลูกผู้ดีมีเงินที่มักจะเข้าโรงเรียนเอกชนราคาแพง ต่อมา เขาถูกส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (Edinburgh) แทนที่จะเป็นมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) หรือ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) เนื่องจากดุ๊กที่ ๖ แห่งเบดฟอร์ดไม่ชอบระบบของมหาวิทยาลัยทั้งสองนักแต่ก็ทำให้รัสเซลล์มีโอกาสได้ศึกษางานของนักปรัชญาชาวสกอต มีผู้กล่าวว่าการศึกษาในสถานศึกษาที่แตกต่างจากบุตรผู้มีฐานะทั่วไปนี้อาจช่วยหล่อหลอมความคิดแนวเสรีนิยมให้แก่เขารัสเซลล์เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ๓ ปี แต่ไม่ได้รับปริญญา และหันไปสนใจการเมืองตามการซักจูงของบิดา

 ใน ค.ศ. ๑๘๑๓ รัสเซลล์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาสามัญสังกัดกลุ่มวิก (Whig) จากเขตแทวิสต็อกซึ่งเป็นเขตของตระกูลรัสเซลล์ แต่เขาไม่ได้แสดงบทบาทอะไรนักจนกระทั่ง ๔ ปีต่อมา จึงได้กล่าวอภิปรายในสภาครั้งสำคัญโจมตีรัฐบาลรอเบิร์ต แบงส์ เจงกินสัน เอิร์ลที่ ๒ แห่งลิเวอร์พูล (Roberts Banks Jenkinson, 2ᶰᵈ Earl of Liverpool)* ที่ให้ระงับการใช้กฎหมายว่าด้วยการออกหมายสั่งให้ผู้ถูกคุมขังมาศาล (Habeas Corpus) ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. ๑๘๒๐ รัสเซลล์เปลี่ยนมาเป็นผู้แทนของมณฑลฮันติงดันเชียร์ (Huntingdonshire) และตลอดทศวรรษ ๑๘๒๐ เขาอยู่ในกลุ่มแกนนำปฏิรูปของพวกวิกซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปภายในประเทศหลายประการ ใน ค.ศ. ๑๘๒๘ รัสเซลล์ มีบทบาทนำในการยกเลิกกฎหมายกีดกันผู้ไม่ได้นับถือนิกายแองกลิคัน (Anglicanism) เข้ารับราชการ (Test and Corporation Acts) ซึ่งก็คือพวกคาทอลิกและพวกโปรเตสแตนต์นอนคอนฟอร์มิสต์ (Nonconformist) เป็นส่วนใหญ่ ในปีต่อมาเขายังสนับสนุนการออกพระราชบัญญัติเลิกการกีดกันคริสต์ศาสนิกชนโรมันคาทอลิก (Catholic Emancipation Act)* ซึ่งทำให้ผู้นับถือนิกายโรมันคาทอลิกสามารถเข้านั่งในสภาสามัญได้ เมื่อกลุ่มวิกได้เป็นรัฐบาลใน ค.ศ. ๑๘๓๐ โดยชาลส์ เกรย์ เอิร์ลเกรย์ที่ ๒ (Charles Grey, 2ᶰᵈ Earl Grey)* ผู้นำวิกเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลรัสเซลล์ได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมการเงินของกองทัพ (Paymaster General of the Forces) และไม่นานก็ได้ที่นั่งในคณะรัฐมนตรี เขาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ๔ คน ที่จัดทำร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาสามัญเพราะชนชั้นกลางกำลังทวีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวในสภา เมื่อ วันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๓๑ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการยุบเขตเลือกตั้งเล็ก ๆ หลายเขตและกำหนดเขตใหม่ ๆ ที่เพิ่งได้สิทธิเลือกผู้แทนซึ่งเป็นเขตที่กว้างใหญ่กว่าประเภทแรก อีกทั้งมีการกำหนดให้คุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตต่าง ๆ ให้เท่าเทียมกันชื่อของลอร์ดจอห์น รัสเซลล์กลายเป็นที่รู้จักกันทั่วเมื่อสภาขุนนาง (House of Lords) ยินยอมผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งในที่สุดในวันที่ ๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๓๒ หลังลงมติไม่ยอมรับหลายครั้งจนรัฐบาลต้องกราบบังคมทูลขอให้พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ (William IV)* ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาขุนนางสายวิกเพิ่มเติมอีก ๕๐ คน ถึงแม้ว่าต่อมารัสเซลล์จะยังคงสนับสนุนการปฏิรูปอื่น ๆ อยู่อีก แต่ก็ไม่มีผลงานขึ้นใดที่สร้างชื่อเสียงให้แก่เขาเท่าเรื่องนี้

 ในช่วงรัฐบาลเอิร์ลเกรย์ที่ ๒ นี้ รัสเซลล์ยังสนับสนุนการให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ชาวไอริชคาทอลิก และชาวอังกฤษนอกกระแสหลัก (dissenter) เพราะเห็นว่าทรัพย์สินของนิกายไอร์แลนด์ (Church of Ireland) ซึ่งเป็นนิกายโปรเตสแตนต์ควรจะกระจายสู่คริสต์ศาสนิกชนคาทอลิกซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ ความคิดนี้ถึงกับทำให้ผู้นำวิกบางคนอย่างเช่น เอดเวิร์ด จอร์จ สแตนลีย์ เอิร์ลแห่งดาร์บีที่ ๑๔ (Edward George Stanley, 14ᵗʰ Earl of Derby) ละทิ้งพรรคไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม และใน ค.ศ. ๑๘๓๔ พระเจ้าวิลเลียมที่ ๔ ซึ่งไม่โปรดนโยบายประนีประนอมทางศาสนาของรัสเซลล์ได้ทรงขัดขวางไม่ให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำของฝ่ายรัฐบาลในสภาสามัญแทนที่ลอร์ดอัลทอร์ป (Lord Althorp) ซึ่งไปเป็นสมาชิกสภาขุนนางเพราะได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเอิร์ลสเปนเซอร์ (Earl Spencer) แต่ในปีต่อมา รัสเซลล์ก็ได้ครองตำแหน่งนี้ในรัฐบาลของ วิลเลียม แลมบ์ ไวสเคานต์เมลเบิร์นที่ ๒ (William Lamb, 2ᶰᵈ Viscount Melbourne)* จนถึง ค.ศ. ๑๘๔๑ เมื่อวิกต้องพ้นจากการเป็นรัฐบาล

 ในช่วงรัฐบาลลอร์ดเมลเบิร์นสมัยที่ ๒ ค.ศ. ๑๘๓๖-๑๘๔๑ รัสเซลล์ได้ร่วมรัฐบาลด้วยโดยครั้งแรกดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมและเป็นผู้นำฝ่ายรัฐบาลในสภาสามัญไปพร้อม ๆ กัน รัสเซลล์มีผลงานสำคัญคือใน ค.ศ. ๑๘๓๖ เขาผลักดันการออกกฎหมายจัดรูปแบบการบริหารเมืองใหญ่ (Municipal Corporations Act) (ยกเว้นกรุงลอนดอน) ให้มีลักษณะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยให้ผู้เสียภาษีมีสิทธิเลือกคณะผู้บริหารเมืองแทนการแต่งตั้ง นอกจากนั้น เขายังได้ ลดประเภทของความผิดที่จะต้องได้รับโทษประหารและริเริ่มระบบการตรวจสอบของรัฐและวางแนวทางการจัดการศึกษาโดยรัฐ รวมทั้งดูแลการปฏิรูปด้านอื่น ๆ อีก เช่น การจดทะเบียนราษฎร์สำหรับการเกิด สมรส และมรณะ การยอมรับให้การสมรสถูกต้องตามกฎหมายสำหรับผู้ที่ไม่ได้นับลือนิกายอังกฤษหรือนิกายแองกลิคันซึ่งประกอบพิธีในโบสถ์ของนิกายนั้น ๆ

 เมื่อเซอร์รอเบิร์ต พีล (Robert Peel)* จัดตั้งรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๑-๑๘๔๖ รัสเซลล์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน แม้เขาจะไม่เห็นด้วยกับพีลในหลาย ๆ เรื่อง แต่เขาสนับสนุนพีลอย่างเต็มที่ในการยกเลิกกฎหมายข้าว (Corn Laws)* ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ เพื่อบรรเทาปัญหาทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (Great Famine)* ในไอร์แลนด์ แต่กฎหมายนี้ก็ทำให้เกิดการแตกร้าวในพรรคอนุรักษนิยมอย่างมากจนทำให้พีลต้องพ้นจากตำแหน่งในที่สุดรัสเซลล์จึงได้จัดตั้งรัฐบาลเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๖ และเขาก็ต้องแก้ไขปัญหาความอดอยากในไอร์แลนด์ต่อ แต่ก็ไม่มีประสิทธิภาพนักเพราะเขาปล่อยให้เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายสงเคราะห์คนยากจน (Poor Laws) ซึ่งรัฐบาลพรรควิกเพิ่งนำไปใช้ในไอร์แลนด์เมื่อ ๑๐ ปีก่อนหน้านี้ เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภาวะอดอยาก โรคท้องร่วง และโรคไข้รากสาดรวมประมาณ ๑,๐๐๐,๐๐๐ คน อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาที่เขาประสบความสำเร็จมากกว่าคือ เรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการชาร์ติสต์ (Chartism)* แม้รัสเซลล์จะยังมีความคิดก้าวหน้าเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคมอยู่ แต่เขาก็ไม่สามารถกระทำการได้สำเร็จเท่าที่ควร ผลงานของรัสเซลล์ในช่วงนี้มีเพียงการออกพระราชบัญญัติโรงงาน (Factory Acts)* ที่กำหนดให้แรงงานทำงาน ๑๐ ชั่วโมงต่อวันใน ค.ศ. ๑๘๔๗ และจัดตั้งคณะกรรมาธิการสาธารณสุขแห่งชาติใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ความแตกแยกในหมู่สมาชิกพรรคและความอ่อนแอของเขาทำให้รัสเซลล์ไม่สามารถปฏิรูปเรื่องอื่น ๆ ที่ตั้งใจไว้ได้ เช่น การยุติการกีดกันสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวยิวหรือการจะขยายสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งไปยังผู้ใช้แรงงานในเมือง หรือการให้หลักประกันการลือครองที่ดินแก่ชาวนาไอริช และเมื่อรัสเซลล์ถูกกดดันให้จำต้องบีบบังคับให้เฮนรี จอห์น เทมเปิล ไวสเคานต์พัลเมอร์สตันที่ ๓ (Henry John Temple, 3ʳᵈ Viscount Palmerston)* พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพราะพัลเมอร์สตันประกาศในนามอังกฤษรับรองรัฐบาลของเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน (Louis Napoleon)* ที่จัดตั้งขึ้นจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๕๑ การประกาศกระทำไปโดยพลการโดยไม่คำนึงถึงพระราชวินิจฉัยของกษัตริย์อังกฤษและไม่ได้หารือคณะรัฐมนตรีก่อนแต่อย่างใด ไม่นานหลังจากนั้นพัลเมอร์สตันซึ่งมีนิสัยมุทะลุก็แก้แค้นด้วยการควํ่ารัฐบาลของรัสเซลล์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๒

 หลังจากนั้น จอร์จ แฮมิลตัน-กอร์ดอน เอิร์ลที่ ๔ แห่งอาเบอร์ดีน (George Hamilton-Gordon, 4ᵗʰ Earl of Aberdeen) ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลผสม (ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๕๕) ที่ประกอบด้วยกลุ่มที่สนับสนุนพีล (Peelite) และกลุ่มวิก ในตอนแรกรัสเซลล์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาเป็นรัฐมนตรีไม่ประจำกระทรวง แต่แล้วได้ลาออกจากรัฐบาลเพื่อสอบสวนการดำเนินงานของรัฐบาลในสงครามไครเมีย (Crimean War)* ซึ่งในที่สุดรัฐบาลถูกโจมตีจนต้องลาออก รัสเซลล์เองก็ถูกตำหนิจากบทบาทดังกล่าว พัลเมอร์สตันจึงได้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๕ ทั้ง ๆ ที่ราชสำนักไม่ยินดี รัสเซลล์ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแม้ว่าทั้งเขาและพัลเมอร์สตันไม่ได้ลงรอยกันทั้งแข่งบารมีกันอยู่ด้วยซํ้า เมื่อรัสเซลล์ในฐานะผู้แทนอังกฤษถูกโจมตีจากการมีท่าทีเปลี่ยนไปมาในการประชุมสันติภาพที่กรุงเวียนนาใน ค.ศ. ๑๘๕๕ ที่จัดขึ้นเพื่อยุติสงครามไครเมียเขาก็ลาออกในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๕๙ รัสเซลล์ละทิ้งวงการเมืองชั่วคราวและหันไปสนใจงานด้านวรรณกรรมที่เขารักในบรรดานายกรัฐมนตรีอังกฤษ น้อยคนที่จะทำได้ เช่นเขาที่ผลิตงานทั้งด้านประวัติศาสตร์ กวีนิพนธ์ และชีวประวัติดังเช่นเรื่องของ ชาลส์ เจมส์ ฟอกซ์ (Charles James Fox)* วีรบุรุษทางการเมืองของเขา ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๕๙ หลังจากปรับความเข้าใจกัน รัสเซลล์กลับไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้รัฐบาลพัลเมอร์สตันอีกอย่างไรก็ดี ในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ได้แก่ การต่อสู้เพื่อเป็นเอกราชของอิตาลี สงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) สงครามระหว่างเดนมาร์กกับรัฐเยอรมันเกี่ยวกับ ชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ใน ค.ศ. ๑๘๖๔ ทั้งหมดนี้ทำให้รัสเซลล์ถูกพัลเมอร์สตันซึ่งชอบงานด้านการต่างประเทศมากกว่าการบริหารงานในประเทศแย่งบทบาทไปหมด และเมื่อพัลเมอร์สตันถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๖๕ รัสเซลล์ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน

 อย่างไรก็ดี ความไม่ลงรอยกันในหมู่สมาชิกพรรคยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลรัสเซลล์สมัยที่ ๒ สิ้นสุดลงเมื่อเขาพยายามที่จะผลักดันร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งฉบับที่ ๒ ซึ่งขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้งไปครอบคลุมผู้สามารถเช่าที่พักอาศัยในราคาตั้งแต่ ๗ ปอนด์ต่อปี ซึ่งจะทำให้ช่างฝีมือในเมืองจำนวน ๓๐๐,๐๐๐ คน ได้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง กล่าวคือในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๖ ร่างกฎหมายขยายสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่เขาเสนอร่วมกับวิลเลียม อีวาร์ต แกลดสโตน (William Ewart Gladstone)* ผู้นำในสภาสามัญ ก็ถูกตีตกในสภาอีกในวันที่ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๘๖๖ หลังจากที่เคยเสนอเมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๐ รัสเซลล์จึงลาออกแต่ยังคงเป็นสมาชิกสภาขุนนางจากการที่ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ได้รับพระราชทานยศขุนนางเป็นเอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ (แห่งคิงสตัน รัสเซลล์) [1ˢᵗ Earl Russell (of Kingston Russell)] ในมณฑลดอร์เซตเชียร์ (Dorsetshire) เขามีโอกาสทำหน้าที่ทางการเมืองอีกครั้งคือ การลงมติผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเลือกตั้งฉบับที่ ๒ ที่เสนอโดยรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของเบนจามิน ดิสเรลี เอิร์ลแห่งบีคอนสฟีลด์ (Benjamin Disraeli, Earl of Beaconsfield)* มีผู้กล่าวสรุปว่ารัสเซลล์เป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายของพรรควิก

 ในด้านชีวิตส่วนตัว รัสเซลล์สมรส ๒ ครั้ง ครั้งแรกกับ แอเดอเลด เลดีริบเบิลสเดล (Adelaide, Lady Ribblesdale) ใน ค.ศ. ๑๘๓๕ เธอเสียชีวิต ๓ ปีต่อมาหลังจากมีบุตรสาวด้วยกัน ๒ คน ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๑ เขาสมรสครั้งที่ ๒ กับเลดีฟรานเซส แอนนา-มาเรีย เอลเลียต-เมอร์รีย์-ไคนินเมานด์ (Frances Anna-Maria Elliot-Murray-Kynynmound) บุตรสาวของกิลเบิร์ต เอลเลียต เอิร์ลที่ ๒ แห่งมินโต (Gilbert Elliot, 2ᶰᵈ Earl of Minto) ทั้งคู่มีบุตรธิดารวม ๔ คน บุตรชายคนแรกคือ จอห์น รัสเซลล์ ไวสเคานต์แอมเบอร์ลีย์ (John Russell, Viscount Amberley) ซึ่งถึงแก่กรรมใน ค.ศ. ๑๘๗๖ รัสเซลล์และภรรยาจึงเลี้ยงดูหลานจากครอบครัวของบุตรชายผู้นี้ หลานคนหนึ่ง คือ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๓ (Bertrand Russell, 3ʳᵈ Earl Russell) นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมใน ค.ศ. ๑๙๕๐ และเป็นนักรณรงค์ต่อต้านการใช้อาวุธนิวเคลียร์

 จอห์น รัสเซลล์ เอิร์ลรัสเซลล์ที่ ๑ ถึงแก่อนิจกรรมที่เพมโบรกลอดจ์ (Pembroke Lodge) ริชมอนด์พาร์ก (Richmond Park) มณฑลเซอร์รีย์ (Surrey) เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๗๘ ขณะอายุ ๘๖ ปี.



คำตั้ง
Russell, John Russell, 1ˢᵗ Earl
คำเทียบ
จอห์น รัสเซลล์ เอิร์ล รัสเซลล์ที่ ๑
คำสำคัญ
- กฎหมายข้าว
- กลุ่มวิก
- แกลดสโตน, วิลเลียม อีวาร์ต
- ขบวนการชาร์ติสต์
- ดิสเรลี, เบนจามิน
- ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่
- นิกายอังกฤษ
- นิกายแองกลิคัน
- นิกายไอร์แลนด์
- พรรควิก
- พรรคเสรีนิยม
- พรรคอนุรักษนิยม
- พวกโปรเตสแตนต์นอนคอนฟอร์มิสต์
- พีล, เซอร์รอเบิร์ต
- พีล, รอเบิร์ต
- ฟอกซ์, ชาลส์ เจมส์
- รัสเซลล์, ลอร์ดจอห์น
- รางวัลโนเบล
- สงครามไครเมีย
- สภาขุนนาง
- สภาสามัญ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1792-1878
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๓๕-๒๔๒๑
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ชาคริต ชุ่มวัฒนะ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-