แกนร่วมโรม-เบอร์ลินเป็นสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างอิตาลีกับเยอรมนีที่ทำขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ๒ คน คือ เบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ตกลงที่จะสนับสนุนกันและกันในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ และร่วมมือกันในการจัดระเบียบใหม่ (New Order) ให้กับยุโรปในช่วงระยะเวลาที่มหาอำนาจยุโรปตะวันตกอ่อนแอ และลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังขยายตัวในยุโรป ต่อมาเมื่ออิตาลีเข้าร่วมในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์น (Anti-Comintern Pact)* ระหว่างเยอรมนีกับญี่ปุ่นในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ ประเทศทั้งสามจึงได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers) ซึ่งดำเนินนโยบายรุกรานพร้อมไปกับการร่วมมือกันสร้างระเบียบใหม่ให้กับยุโรปและเอเชีย
นับแต่ก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะผู้นำประเทศใน ค.ศ. ๑๙๒๒ มุสโสลีนีก็พยายามทำให้อิตาลีเข้มแข็งและแข่งขันได้กับมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรป ในด้านการต่างประเทศเขาได้ปลุกเร้าความรู้สึกของคนในชาติให้เห็นความสำคัญของการนำอิตาลีกลับคืนสู่ความรุ่งโรจน์ของยุคบรรพบุรุษที่มีทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็น“ทะเลของเรา” รวมทั้งดินแดนโดยรอบด้วยโดยไม่ให้ชาติอื่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ มุสโสลีนีจึงดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวและมุ่งทำสงครามเพื่อเข้ายึดครองดินแดนแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนรวมทั้งตอนเหนือและตะวันออกของแอฟริกาด้วย สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖)* เป็นตัวอย่างชัดเจนของความพยายามดังกล่าว สงครามครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความทารุณโหดร้ายของกองทัพและอาสาสมัครกองกำลังเชิร์ตดำ (Black Shirt) ของอิตาลี เพราะมีการใช้อาวุธเคมีและระเบิดทำลายล้างรวมทั้งการสังหารหมู่ชาวพื้นเมืองและผู้ที่เป็นศัตรูของอิตาลี มหาอำนาจยุโรปตะวันตกได้ประท้วงและประณามการกระทำดังกล่าวอย่างหนักโดยผ่านองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* แต่ก็ไม่เป็นผล เยอรมนีเป็นเพียงประเทศเดียวที่สนับสนุนอิตาลีในการสร้างจักรวรรดิในแอฟริกา และแสดงความยินดีเมื่ออิตาลีประสบชัยชนะในสงครามครั้งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่าง ๒ ประเทศซึ่งทำให้มุสโสลีนีและฮิตเลอร์ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลินในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ โดยมุสโสลีนีเป็นคนตั้งชื่อ ต่อมาเขามักเรียกสนธิสัญญานี่ว่าเป็น “กติกาสัญญาเลือด” (Pact of Blood)
สนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลินเกิดขึ้นจากการที่มุสโสลีนีและฮิตเลอร์บรรลุความเข้าใจร่วมกันในการกอบกู้ศักดิ์ศรีของความเป็นชาติที่เคยยิ่งใหญ่ด้วยการดำเนินนโยบายรุกรานเพื่อยึดครองหรือเรียกคืนดินแดนที่สูญเสียไปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* โดยเฉพาะในกรณีของฮิตเลอร์นโยบายรุกรานเป็นเครื่องมือนำไปสู่การสร้างจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ที่เยอรมนีครอบครองดินแดนอย่างกว้างขวาง ขณะที่ฮิตเลอร์ก็ไม่ขัดข้องที่อิตาลีจะสร้างจักรวรรดิของตนขึ้นในบริเวณโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในชั้นแรกฮิตเลอร์ยังไม่แน่ใจในศักยภาพของอิตาลีที่จะสนับสนุนให้งานของเขาสำเร็จได้ แต่ทั้งเขาและมุสโสลีนีต่างมีอุดมการณ์ฟาสซิสต์ร่วมกันและมีแนวนโยบายร่วมกันหลายอย่างทั้งสองมีจิตสำนึกของความรักชาติอย่างรุนแรงและไม่มีต้นทุนทางสังคมในด้านภูมิหลังของครอบครัว การศึกษาหรืออาชีพที่จะเกื้อหนุนให้เขาเป็นใหญ่ในสังคมได้ แต่ด้วยบุคลิกภาพของความเป็นผู้นำ ความใฝ่ฝัน ทะเยอทะยานและมุ่งมั่น ทั้งสองจึงได้รับการสนับสนุนจากคนระดับล่างอย่างท่วมท้นให้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของประเทศในยุคสมัยเดียวกัน สถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันดังกล่าวทำให้มุสโสลีนีและฮิตเลอร์เป็น “วีรบุรุษ” ของอิตาลีและเยอรมนีในการสร้างชาติ
สนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลินมีเนื้อหาสำคัญคือทั้ง ๒ ประเทศจะต่อต้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ ยอมรับสถานภาพของรัฐบาลพลเอกฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในการขยายดินแดนอาณานิคม รวมทั้งจะร่วมกันต่อต้านระบบพันธมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศสสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญของยุโรปใน ๒ ระดับ โดยระดับแรกเป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มีบุคลิกภาพและอุดมการณ์เหมือนกัน ๒ คนซึ่ง เอ. เจ. พี. เทย์เลอร์ (A. J. P. Taylor) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเรียกว่า “วีรบุรุษหรือซูเปอร์แมน” และเมื่อกาลเวลาผ่านไปที่ทำให้สถานการณ์บานปลายกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* เขาทั้งสองก็ได้กลายเป็น “ผู้บ้าคลั่ง” ในสายตาของเทย์เลอร์ในระดับที่ ๒ แกนร่วมโรม-เบอร์ลินได้ทำให้สันนิบาตชาติซึ่งอ่อนแออยู่แล้วถึงจุดจบ รวมทั้งทำให้ความพยายามใด ๆ ของมหาอำนาจที่จะรักษาสันติภาพของยุโรปตามที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* และสนธิสัญญาฉบับอื่น ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ไร้ผล แกนร่วมโรม-เบอร์ลินไม่เพียงเป็นจุดเริ่มต้นของการทูตเชิงรุกของอิตาลีและเยอรมนีเท่านั้น แต่ยังทำให้อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียตต้องอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับ
สงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙)* เป็นบทพิสูจน์แรกของสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลินที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพและความสัมพันธ์อันดีของมุสโสลีนีและฮิตเลอร์ทั้งสองให้การสนับสนุนและช่วยเหลือพลเอก ฟรันซิสโก ฟรังโก ผู้นำลัทธิชาตินิยมซึ่งล้มสาธารณรัฐประชาธิปไตยสเปนระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน โดยมุสโสลีนีได้ส่งกองกำลังอาสาสมัครและอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้ฝ่ายฟรังโก ขณะที่ฮิตเลอร์ก็ให้ความช่วยเหลือทั้งทางด้านเทคนิคและอาวุธยุทโธปกรณ์จนกองทัพชาตินิยมของนายพลฟรังโกประสบชัยชนะ ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของมุสโสลีนีในการช่วยเหลือกองทัพชาตินิยมทำให้ฮิตเลอร์พอใจบทบาทของอิตาลี และทำให้ความสัมพันธ์ของประเทศแกนร่วมโรม-เบอร์ลินแนบแน่นยิ่งขึ้น
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายเชิงรุกด้วยการรุกรานดินแดนในยุโรปตอนกลางมากขึ้นซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากพันธมิตรร่วมอุดมการณ์อย่างอิตาลี นอกจากนั้น ฮิตเลอร์ยังคาดหวังว่าอิตาลีน่าจะให้การยอมรับนโยบายสำคัญอีกประการหนึ่งของเขา นั่นคือ นโยบายต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังจากการลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพแกนร่วมโรม-เบอร์ลินเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ แล้วฮิตเลอร์ได้ลงนามในกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาจึงเชิญมุสโสลีนีเข้าร่วมด้วย แต่กว่าอิตาลีจะตกลงเข้าร่วมในกติกาสัญญาดังกล่าวก็ล่วงเข้าเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๗ แกนร่วมโรม-เบอร์ลินจึงกลายเป็นแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียวที่ขยายขอบเขตของแนวนโยบายออกไปกว้างขวางกว่าเดิม อิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่นได้รวมกลุ่มกันเป็นมหาอำนาจอักษะซึ่งจะมีบทบาทเป็นแกนนำอำนาจกลุ่มใหม่ที่กำหนดโชคชะตาของยุโรปและของโลกต่อไป
สงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ อันเป็นผลจากนโยบายรุกรานและนโยบายการสร้างศัตรูกับผู้มีอุดมการณ์แตกต่างกันของฮิตเลอร์ สงคราม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจอักษะทั้งสามกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจนได้มีการลงนามกันในกติกาสัญญาไตรภาคี (Tripartite Pact)* เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เพื่อช่วยเหลือกันและกันในยามสงคราม นอกจากนั้น ฝ่ายอักษะยังตกลงที่จะร่วมมือกันในการสร้างระเบียบใหม่ในยุโรปและเอเชีย ในยุโรป เยอรมนีและอิตาลีร่วมกันดำเนินการสร้างระเบียบใหม่ตามแนวทางลัทธิฟาสซิสต์ ซึ่งหากฝ่ายนี่ประสบชัยชนะยุโรปก็จะไม่เหลือพื้นที่ให้กับประเทศที่นิยมแนวทางเสรีประชาธิปไตยและแนวทางคอมมิวนิสต์ ส่วนในเอเชีย ญี่ปุ่นจะเป็นผู้สร้างวงไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) ปรากฏว่าประเทศแกนร่วมโรม-เบอร์ลิน-โตเกียวเกือบจะประสบความสำเร็จ ในการครองโลกและเปลี่ยนแปลงโลกตามที่ตั้งเป้าหมาย ไว้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วแต่ท้ายที่สุดด้วยผลของการตื่นขึ้นมารับรู้การเมืองที่เป็นจริง (Realpolitik)* และการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่ (Grand Alliance) ของประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจเดิมอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย รวมทั้งสหรัฐอเมริกาก็ทำให้มหาอำนาจอักษะต้องประสบความปราชัย และทำให้การสร้างระเบียบใหม่และวงไพบูลย์ร่วมกันในมหาเอเชียบูรพา ต้องเลิกล้มไปด้วย.