Romania (-)

โรมาเนีย (-)

 โรมาเนียตั้งอยู่ในคาบสมุทรบอลข่านหรือเหนือสุดของภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยมีแม่นํ้าดานูบเป็นเส้นแบ่งเขตแดนธรรมชาติทางตอนใต้ เป็นประเทศใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนหน้านั้นเป็นดินแดนที่อยู่ใต้อำนาจการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* เป็นเวลาหลายร้อยปี และเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งในภูมิภาคตลอดมา

 โรมาเนียตั้งอยู่บนคาบสมุทรบอลข่าน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปยุโรป มีเนื้อที่ ๒๓๘,๓๙๑ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับประเทศยูเครน ทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศมอลโดวา ประเทศยูเครน และจดทะเลดำทิศใต้ติดต่อกับประเทศบัลแกเรีย และทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศเซอร์เบียและประเทศฮังการี เมืองหลวงคือกรุงบูคาเรสต์ (Bucharest) ใช้ภาษาโรมาเนียเป็นภาษาราชการ มีจำนวนประชากรประมาณ ๒๑,๗๒๙,๙๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

 โรมาเนียเป็นดินแดนที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานมาแต่โบราณเพราะมีความอุดมสมบูรณ์ มีสาขาของแม่นํ้าหลายสาย ซึ่งส่วนใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาคาร์เพเทียนที่ทอดยาวจากเหนือไปใต้และเทือกเขาทรานซิลเวเนียจากตะวันออกไปตะวันตก ลงสู่แม่นํ้าดานูบทางตอนใต้และออกสู่ทะเลดำ หลักฐานทางโบราณคดีชี๋ให้เห็นการตั้งถิ่นฐานของชาวกรีกเผ่าเทรเซียนในบริเวณที่ราบปากแม่นํ้าดานูบราวศตวรรษที่ ๗ ก่อนคริสต์ศักราช ลูกหลานของชนเผ่านี่ต่อมารู้จักกันในนามพวกเกตาเอ (Getae) หลังจากนั้นอีกประมาณ ๒ ศตวรรษก็มีชนเผ่าที่ใกล้ชิดกันคือเผ่าดาเซีย (Dacia) เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตเทือกเขาคาร์เพเทียนและทรานซิลเวเนีย ชนทั้ง ๒ กลุ่มนี่เป็นผู้บุกเบิกและสร้างอารยธรรมยุคแรกให้แก่โรมาเนีย ภายในศตวรรษที่ ๔ ก่อนคริสต์ศักราชปรากฏว่ามีชุมชนที่เข้มแข็งกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก

 โรมาเนียเป็นเป้าหมายของการขยายอำนาจของโรมันในยุโรปตะวันออกมาตั้งแต่ครั้งจูเลียส ชีซาร์ (Julius Caesar) ในปลายสมัยสาธารณรัฐเพียงแต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจังจนถึงสมัยจักรวรรดิในรัชกาลจักรพรรดิทราจัน (Trajan) โดยกองทัพโรมันสามารถยึดครองดินแดนของพวกเกตาเอและดาเซียไว้ได้ทั้งหมด ใน ค.ศ. ๑๐๖ และได้ปกครองดินแดนแถบนี่อยู่ประมาณ ๑๕๐ ปี จนถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๓ แม้จะไม่ยาวนานนักแต่โรมันก็ได้นำภาษาโรแมนซ์มาสู่โรมาเนีย ตลอดจนระบบการปกครองและการทหารที่มีประสิทธิภาพชาวโรมาเนียได้รู้จักการสร้างบ้านแปลงเมืองที่เป็นระบบระเบียบ มีความเจริญ มีการสร้างถนน สะพาน ระบบส่งน้ำกำแพงเมืองพร้อมป้อมปราการเพื่อใช้เป็นแนวป้องกันข้าศึก นอกจากนั้น ชาวเกตาเอ-ดาเซียยังมีโอกาสได้ติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกด้วยการไปร่วมรบกับกองทัพโรมัน และบางครั้งก็ได้ไปร่วมสร้างทาง สร้างแนวป้องกันสร้างระบบส่งนั้าและอื่น ๆ ทั่วทั้งจักรวรรดิ อย่างไรก็ดีเมื่อจักรวรรดิโรมันขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็วเกินไป ก็ทำให้ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองดินแดนบางส่วน


ของจักรวรรดิได้เต็มที่ ใน ค.ศ. ๒๕๖ ตรงกับรัชสมัยของจักรพรรดิกัลลีเอนุส (Gallienus ค.ศ. ๒๕๓-๒๖๘) พวกอนารยชนเผ่ากอท (Goth) สามารถขับไล่กองทัพโรมันออกไปจากโรมาเนียได้เกือบทั้งหมด และหลังจากนั้นไม่นานในรัชสมัยของจักรพรรดิออเรเลียน (Aurelian ค.ศ. ๒๗๐-๒๗๕) ก็ไม่ปรากฏว่ามีกองทัพโรมันหลงเหลืออยู่ในโรมาเนียเลย จึงนับเป็นการสิ้นสุดการปกครองของจักรวรรดิโรมันในโรมาเนีย

 ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๓-๑๓ ประวัติศาสตร์ โรมาเนียมีลักษณะคล้ายกับประวัติศาสตร์สมัยกลางในส่วนอื่น ๆ ของยุโรป กล่าวคือ เป็นยุคที่มีชนเผ่าต่าง ๆ เข้ามารุกราน เริ่มด้วยพวกกอทระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๓-๔ พวกฮั่น (Hun) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๕ พวกเกพิด (Gepicl) พวกเอวาร์ (Avar) และพวกสลาฟ (Slav) ในคริสต์ศตวรรษที่ ๖ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๗-๑๓ ก็มีพวกับลการ์หรือบัลแกเรีย (Bulgar; Bulgarian) แมกยาร์ (Magyar) คูมัน (Cuman) และพวกตาตหรือตาร์ตาร์ (Tartar) การรุกรานของชนเผ่าเหล่านี้ทำให้โรมาเนียต้องหาทางพึ่งพาและป้องกันตนเองด้วยการจัดตั้งรัฐที่มีเจ้านายปกครองกระจายอยู่ทั่วไป ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) จึงถือกำเนิดขึ้นมา โรมาเนียถูกแบ่งแยกเป็นรัฐหรือแว่นแคว้นต่าง ๆ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง บางแว่นแคว้นก็เป็นที่หมายปองของประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๘-๑๐ พวกบัลการ์ซึ่งประสบความสำเร็จในการจัดตั้งจักรวรรดิบัลแกเรียสามารถยึดครองดินแดนลุ่มแม่น้ำดานูบของโรมาเนียรวมทั้งแคว้นโดบรูจา (Dobruja) ไว้ได้และโดยผ่านพวกบัลการ์นี้เองที่ศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์ของจักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine) ได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในโรมาเนียจนเป็นปึกแผ่นมั่นคงและกลายเป็นนิกายอิสระ เป็นออร์ทอดอกซ์สายโรมาเนีย (Romanian Orthodox Church) โดยเฉพาะ ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ พวกแมกยาร์ในฮังการีซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของโรมาเนียก็สามารถยึดครองแคว้นทรานซิลเวเนียไว้ได้ ทำให้มีชาวแมกยาร์เข้ามาตั้งถิ่นฐานและนำเอาศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาสู่ภูมิภาคนั้นด้วย

 ในช่วงปลายสมัยกลางระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔-๑๕ ได้มีการรุกรานระลอกใหม่ในคาบสมุทรบอลข่านโดยพวกเซลจูกเติร์ก (Seljuk Turk) ทำให้เกิดการรวมตัวกันของรัฐเล็ก ๆ ให้กลายเป็นรัฐใหญ่ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น ในโรมาเนียได้เกิดรัฐวัลเลเคีย (Wallachia) ทางตอนใต้ของเทือกเขาคาร์เพเทียนในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ต่อมาก็เกิดรัฐมอลเดเวีย (Moldavia) ขึ้นทางด้านตะวันออกของเทือกเขาคาร์เพเทียน อย่างไรก็ดี หลังจากพวกเติร์กตีกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) และสามารถยึดครองคาบสมุทรบอลข่านและดินแดนบางส่วนของฮังการีได้ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ วัลเลเคีย มอลเดเวีย และทรานซิลเวเนีย ก็พลอยตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันไปด้วย แม้จักรวรรดิออตโตมันจะปกครองดินแดนเหล่านี้ (ยกเว้นทรานซิลเวเนีย) มายาวนานจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่เนื่องจากเป็นรัฐชายขอบของจักรวรรดิจึงมีความเป็นอิสระอย่างมากในกิจการภายในรัฐและการป้องกันตนเอง

 ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* แห่งออสเตรียซึ่งพยายามสถาปนาอำนาจในแถบลุ่มนํ้าดานูบตอนบนรวมทั้งฮังการีประสบชัยชนะในการรบกับพวกเติร์กและสามารถผนวกแคว้นทรานชิลเวเนียไว้ในจักรวรรดิฮับส์บูร์ก (Habsburg Empire) และใน ค.ศ. ๑๗๑๘ ก็สามารถผนวกดินแดนสำคัญของแคว้นวัลเลเคียที่เรียกว่าออลทีเนีย (Oltenia) ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๗๕ ออสเตรียได้เข้ายึดครองดินแดนในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นมอลเดเวียที่เรียกว่า บูโกวีนา (Bukovina) ขณะที่ในเวลาต่อมา (ค.ศ. ๑๘๑๒) จักรวรรดิรัสเซียก็สามารถยึดครองดินแดนภาคตะวันออกของแคว้นมอลเดเวียที่เรียกว่า เบสซาราเบีย (Bessarabia)* บางส่วนไว้ได้เช่นกัน

 หลังสงครามรัสเซีย-ตุรกี (Russo-Turkish War ค.ศ. ๑๘๒๘-๑๘๒๙)* มอลเดเวียและวัลเลเคียซึ่งขณะนั้นเรียกรวมกันว่า ราชรัฐดานูบ (Danubian Principalities) ก็ตกเป็นรัฐในอารักขาของรัสเซีย แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นรัฐบรรณาการของจักรวรรดิออตโตมัน อย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสงครามไครเมีย (Crimean War)* ใน ค.ศ. ๑๘๕๓ ระหว่างจักรวรรดิออตโตมัน อังกฤษ และฝรั่งเศสกับรัสเซีย รัสเซียได้เข้ายึดครองมอลเดเวียและวัลเลเดีย แต่ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๘๕๔ รัสเซียได้ยินยอมถอนกองทัพออกจากดินแดนดังกล่าว เพื่อต้องการการสนับสนุนจากออสเตรียซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่รัสเซียเคยส่งกองทัพไปช่วยปราบปรามการปฏิวัติในฮังการีระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* อย่างไรก็ดี เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายปราชัยในสงครามและต้องลงนามในสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๕๖ มอลเดเวียและวัลเลเคียได้รับสิทธิในการปกครองตนเองภายใต้การดูแลของจักรวรรดิออตโตมันรวมทั้งส่วนที่เหลือของเบสซาราเบียจากรัสเซีย ใน ค.ศ. ๑๘๕๙ ประชาชนในแคว้นมอลเดเวียและวัลเลเคียได้ร่วมใจกันเลือกเจ้าชายอะเล็กซานดรู ยอน คูซา (Alexandru Ion Cuza) เป็นเจ้าผู้ครองแคว้นทั้งสอง ต่อมาในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ มอลเดเวียและวัลเลเคียได้รวมตัวกันเป็นรัฐเดียวเรียกว่า ราชรัฐโรมาเนีย (Principality of Romania) มีกรุงบูคาเรสต์เป็นเมืองหลวง พร้อมกันนั้นยังจัดให้มีการปฏิรูปการเมืองการปกครองที่จะนำไปสู่การรวมประเทศอย่างแท้จริง

 ใน ค.ศ. ๑๘๖๖ เจ้าชายคาร์ล (Karl) แห่งราชวงศ์โฮเฮนซอลเลิร์น-ซิกมาริงเงิน (Hohenzollern-Sigmaringen) ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งโรมาเนีย (ค.ศ. ๑๘๖๖-๑๘๘๑) และประมุขของราชรัฐ ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ โรมาเนียร่วมกับรัสเซียทำสงครามกับตุรกี และในปีต่อมาใน


การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* ซึ่งประกอบด้วยมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ร่วมกันคํ้าประกันเอกราชอย่างสมบูรณ์ของโรมาเนีย แต่โรมาเนียต้องยกเบสซาราเบียให้แก่รัสเซียและได้รับโดบรูจาตอนเหนือเป็นเครื่องตอบแทนโรมาเนียจึงเป็นประเทศแรก ๆ ในยุโรปตะวันออกที่เป็นอิสระจากการปกครองอันยาวนานของจักรวรรดิออตโตมันในวันที่ ๒๖ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๑ เจ้าชายคาร์ลได้เข้าพิธีบรมราชาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ของราชอาณาจักรโรมาเนีย มีพระนามว่าพระเจ้าคารอลที่ ๑ (Carol I ค.ศ. ๑๘๘๑-๑๙๑๔) แต่อาณาจักรใหม่นี่ยังต้องตกอยู่ในวังวนของการแย่งชิงอำนาจของมหาอำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ต่อไป

 ในทศวรรษ ๑๙๑๐ คาบสมุทรบอลข่านเกิดวิกฤตการณ์หลายอย่างที่บานปลายกลายเป็นสงครามบอลข่านครั้งที่ ๑ (ค.ศ. ๑๙๑๒) สงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๑๓) และสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โรมาเนียเข้าไปมีส่วนในสงครามบอลข่านครั้งที่ ๒ โดยทำสงครามกับบัลแกเรียซึ่งกำลังทำสงครามอยู่กับเซอร์เบียและกรีซ และทั้ง ๒ ประเทศก็กำลังทำสงครามอยู่กับจักรวรรดิออตโตมันเมื่อสงครามสิ้นสุดลงโดยการทำสนธิสัญญาบูคาเรสต์ (Treaties of Bucharest)* ครั้งที่ ๓ ในส่วนของโรมาเนียก็ได้รับแคว้นโดบรูจาตอนใต้คืนจากบัลแกเรีย (แต่ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ บัลแกเรียได้แคว้นโดบรูจาตอนใต้คืนไปอีก)

 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้น รัฐบาลโรมาเนียตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ข้างฝ่ายความตกลงไตรภาคี (Triple Entente)* อันประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ด้วยความหวังว่าหากได้ชัยชนะก็จะสามารถเรียกร้องดินแดนทรานซิลเวเนียคืนจากออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* ได้ แต่ภายในเวลาอันรวดเร็วก็ปรากฏว่าโรมาเนียเกือบทั้งประเทศรวมทั้งเมืองหลวงต้องถูกกองกำลังของฝ่ายสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliances)* เข้ายึดครองทั้งยังถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งชาวโรมาเนียถือว่าเป็นฉบับที่ “น่าอับอาย” อย่างไรก็ดี ก่อนสงครามจะยุติลงสถานการณ์ก็พลิกผันทำให้โรมาเนียกลับเข้าสู่สงครามกับฝ่ายความตกลงไตรภาคีได้อีกครั้งหนึ่งเพียงแต่ครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในรัสเซียทำให้รัสเซียต้องถอนตัวไปก่อนสงครามจะสิ้นสุด เบสซาราเบีย จึงถือโอกาสประกาศตนเป็นอิสระจากการยึดครองของรัสเซีย พร้อมทั้งขอให้กองกำลังรัฐบาลโรมาเนียเข้าคุ้มครองด้วยเกรงจะถูกดึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติบอลเชวิค

 สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยฝ่ายอังกฤษ ฝรั่งเศส และพันธมิตรเป็นฝ่ายมีชัย โรมาเนีย ประสบความสำเร็จในการรวมชาติเป็นโรมาเนียใหญ่ (Great Romania) โดยครั้งนี้ราชอาณาจักรโรมาเนียไม่ได้มีเฉพาะแคว้นมอลเดเวีย วัลเลเคีย และโดบรูจาเท่านั้น หากยังรวมแคว้นทรานซิลเวเนีย มารามูเรส (Maramures) คริซานา (Crisana) และบานัต (Banat) ซึ่งได้มีการให้สัตยาบันใน ค.ศ. ๑๙๒๐ ตามสนธิสัญญาตรีอานง (Treaty of Trianon)* และในปีเดียวกัน สนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ก็ให้สัตยาบันแก่บูโกวีนาและเบสซาราเบียในการรวมกับราชอาณาจักรโรมาเนีย การรวมประเทศโรมาเนียในครั้งนี้ทำให้มีชนกลุ่มน้อยเพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นต้นว่ามีพวกแมกยาร์ เยอรมัน ยูเครน บัลแกเรีย ยิปซี และยิว ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ให้หลักประกันในสิทธิเสรีภาพของชนเผ่า รวมทั้งสิทธิในการจัดตั้งพรรคการเมืองและการสมัครเข้ารับเลือกตั้งในรัฐสภาได้ (แต่สหภาพโซเวียตไม่ยอมรับการรวมตัวดังกล่าวและยังคงอ้างสิทธิในการปกครองเบสชาราเบีย)

 ราชอาณาจักรโรมาเนียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๘ มีการปกครองในระบอบกษัตริย์ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะเป็นเสรีนิยม แต่ด้วยปัญหามากมายหลังสงครามซึ่งมีทั้งภาวะเศรษฐกิจตกตํ่า การขยายตัวของลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ในหลายส่วนของยุโรปได้ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านเสรีนิยม ในโรมาเนียเองก็เกิดขบวนการฟาสซิสต์ที่เรียกว่า กองกำลังเหล็ก (Iron Guard)* ซึ่งมีความเป็นชาตินิยมสูงและมีแนวทางต่อต้านนายทุนโดยเฉพาะพวกยิว สถานการณ์ภายในประเทศจึงเลวร้ายลงทุกขณะทำให้การปกครองของโรมาเนียในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๓๐ ถึง ค.ศ. ๑๙๔๔ คือระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เปลี่ยนจากเสรีนิยมเป็นเผด็จการ และผู้ที่เป็นเผด็จการหมายเลขหนึ่งคือพระเจ้าคารอลที่ ๒ (Carol II ค.ศ. ๑๙๓๐-๑๙๔๐) เนื่องจากพระองค์ทรงปกครองประเทศโดยไม่มีรัฐสภาและไม่คำนึงถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีใน ค.ศ. ๑๙๔๐ พระองค์ก็ถูกทหารบังคับให้ทรงสละพระราชอำนาจด้วยข้อกล่าวหาว่าทรงทำให้ประเทศต้องเสียดินแดนจำนวนมาก เพราะสหภาพโซเวียตเข้ายึดครองเบสซาราเบียแล้วรวมเข้ากับดินแดนบริเวณฝั่งตะวันออกของโซเวียตตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตมอลเดเวีย (Moldavian Soviet Socialist Repulbic) นอกจากนั้น โซเวียตยังเข้ายึดครองบูโกวีนาตอนเหนือ บุดจัค (Budjak) และเบสซาราเบียตอนใต้จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (Ukrainian Soviet Socialist Republic) ทางทิศตะวันตกพระเจ้าคารอลที่ ๒ ยังเปิดโอกาสให้เยอรมนีและอิตาลีตกลงร่วมกันยกทรานซิลเวเนียตอนเหนือคืนให้ฮังการี ขณะที่ทางทิศใต้โรมาเนียก็ต้องสูญเสียโดบรูจาตอนใต้คืนให้กับบัลแกเรียด้วย

 ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เจ้าชายไมเคิลหรือมีไฮ (Michael; Mihai ค.ศ. ๑๙๒๗-๑๙๓๐, ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๗) โอรสของพระเจ้าคารอลที่ ๒ ได้รับการทูลเชิญให้ครองราชย์เป็นครั้งที่ ๒ แต่ภายในระยะเวลาอันสั้นพระองค์ก็ถูกแย่งชิงอำนาจโดยเผด็จการทหารซึ่งมีนายพลยอนอันตอเนสกู (Ion Antonescu) เป็นผู้นำ ในระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๐-๑๙๔๔ ที่นายพลอันตอเนสกูปกครองประเทศ เขาเห็นความสำคัญของการรักษาอธิปไตยของชาติ จึงร่วมมือกับกลุ่มประเทศอักษะอันประกอบด้วยเยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี และอิตาลี ด้วยหวังว่าประเทศเหล่านั้นโดยเฉพาะเยอรมนีจะช่วยป้องกันโรมาเนียให้พันจากการถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เยอรมนีส่งกองกำลังจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ คนเข้ามาในโรมาเนียเพื่อเตรียมการร่วมกับกองทัพโรมาเนียในการบุกโซเวียต แต่ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จกองทัพแดง (Red Army)* ของโซเวียตสามารถยึดครองโรมาเนียไว้ได้ทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๙๔๔ พระเจ้ามีไฮซึ่งเพิ่งช่วงขิงอำนาจกลับคืนจากนายพลอันตอเนสกูต้องกลายเป็นรัฐบาลหุ่นให้โซเวียตจนถึงปลาย ค.ศ. ๑๙๔๗ จึงถูกบังคับให้สละราชบัลลังก์อีกครั้งหนึ่ง นับเป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ในโรมาเนีย แต่ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียก็สามารถจัดตั้งระบอบการปกครองตามแบบโซเวียตโดยสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนโรมาเนีย (Romanian People’s Republic) ขึ้นมาแทนที่

 สาธารณรัฐประชาชนโรมาเนียเป็นรัฐบริวารของสหภาพโซเวียตตั้งแต่เริ่มแรก ระบอบคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของสหภาพโซเวียตได้นำการเปลี่ยนแปลง มาสู่ประเทศ โดยเฉพาะการปกครองที่เข้มงวดซึ่งมีทั้งการจับกุมคุมขังศัตรูทางการเมืองจำนวนเป็นหมื่น ๆ คนสถาบันศาสนาถูกทำลาย ธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ถูกรัฐควบคุม มีการนำระบบนารวม (collective farm) และระบบแรงงานภาคบังคับ (forced labor) มาใช้อย่างกว้างขวาง โรมาเนียในยุคที่สงครามโลกเสร็จสิ้นใหม่ ๆ จึงเป็นยุคของการสร้างชาติตามอุดมการณ์ใหม่ที่ไม่คุ้นเคยและไม่คำนึงถึงความเป็นรัฐชาติมากนัก

 ระหว่างทศวรรษ ๑๙๕๐ และ ๑๙๖๐ พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนียได้ผ่านประสบการณ์และได้รับบทเรียนหลากหลายทำให้การบริหารและการดำเนินงานของพรรคเริ่มมิความเป็นตัวของตัวเองและเริ่มเบี่ยงเบนจากระบบโซเวียต ผู้นำพรรคซึ่งก็คือผู้นำประเทศต้องมีความเข้มแข็ง โดยเฉพาะกีออร์เก กีออร์กิว-เด (Gheorghe Gheorghiu-Dej)* ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ชาตินิยมซึ่งเคยต่อต้านโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำโซเวียตมาก่อนแม้เขาจะต้องร่วมมือกับโซเวียตแต่ก็มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้โรมาเนียเป็นอิสระกว่าเดิม โดยเฉพาะในด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศและการวางแผนพัฒนาประเทศโดยกำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี (Five Years Plan) หลายฉบับเพื่อเปลี่ยนเป็นประเทศอุตสาหกรรมเมื่อเกิดวิกฤตการณ์การลุกฮือของชาวฮังการี (Hungarian Uprising ค.ศ. ๑๙๕๖)* โรมาเนียวางตัวเป็นกลางทั้งปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามนโยบายของสหภาพโซเวียตในประเด็นความขัดแย้งกับจีนและตามข้อกำหนดทางเศรษฐกิจของโคเมคอน (Comecon)* แต่หันไปสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศตะวันตกมากขึ้น กีออร์กิว-เดเสียชีวิต ด้วยโรคหัวใจใน ค.ศ. ๑๙๖๕ ที่กรุงบูคาเรสต์ นีคอไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu)* สหายสนิทก็ได้รับเลือกให้สืบทอดอำนาจต่อมา เขาเชสกูได้สืบทอดนโยบายของกีออร์กิว-เดโดยปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยและให้เห็นความเป็นตัวตนของโรมาเนียมากขึ้น เขาได้เปลี่ยนชื่อประเทศ จากสาธารณรัฐประชาชนโรมาเนียมาเป็นสาธารณรัฐ สังคมนิยมโรมาเนีย (Socialist Republic of Romania) เพื่อให้เห็นว่าสังคมนิยมแบบโรมาเนียคือคำตอบในการนำพาประเทศไปสู่ความทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง ในปีแรก ๆ ของการครองอำนาจ เชาเชสกูได้รับความนิยมและชื่นชอบทั้งภายในและภายนอกประเทศ ประชาชนเริ่มรู้สึกมีกินมีใช้ มีงานทำ มีการขยายตัวของผลผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ขณะเดียวกัน เชาเชสกูก็ชอบที่จะแสดงตนให้มีบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. ๑๙๖๘ เขาต่อต้านสหภาพโซเวียตในการบุกปราบปรามขบวนการประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกีย นอกจากนั้น เขาพยายามเจริญส้มพันธไมตรีกับเยอรมนีตะวันตก อิสราเอล จีน แอลเบเนีย เกาหลีเหนือ รวมทั้งกับองค์การระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการเจรจาขอกู้เงินมาพัฒนาประเทศ

 ระหว่างทศวรรษ ๑๙๗๐ เชาเชสกูพยายามพัฒนาประเทศให้ทันสมัยโดยอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศจำนวนมหาศาล เขาลอกเลียนแบบการพัฒนาของเกาหลีเหนือและสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เขาชื่นชอบ โดยวางแผนงานอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอนที่จะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศโดยเฉพาะเมืองหลวงและเมืองใหญ่อื่น ๆ ให้มีอาคารสถานที่ ถนนหนทางกว้างขวางใหญ่โตและโอ่อ่าจนถึงขั้นสั่งให้ทุบทิ้งอาคารที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งแม้จะมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทั้งนี้ เพื่อจะได้สร้างของใหม่ขึ้นมาแทนที่ ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงบูคาเรสต์ เท่ากับเป็นการช่วยให้งานสร้างเมืองใหม่ของเชาเชสกูรุดหน้าอย่างรวดเร็วจากการประเมินโครงการของสหภาพสถาปนิกแห่งโรมาเนีย ใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ระบุว่าเขาเชสกูได้ทุบทิ้งอาคารต่าง ๆ ถึง ๒,๐๐๐ แห่ง ซึ่งในจำนวนนี่มี ๗๗ แห่งที่มีคุณค่าทาง


ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาติ ทั้งบางแห่งยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางสถาปัตยกรรมของชนชาติโรมาเนียด้วย

 ในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าการพัฒนาประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก ความเจริญทางกายภาพ และความใหญ่โตโอ่อ่าของอาคารสถานที่ โดยไม่คำนึงถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตและคุณภาพการผลิตที่จะก่อให้เกิดรายได้อย่างยั่งยืนและก่อให้เกิดความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ทำให้การพัฒนาขาดความสมดุล ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล ทั้งยังไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการชำระคืนหนี้ โครงการพัฒนาอื่น ๆ จึงดำเนินต่อไปได้ยาก ยิ่งเชาเชสกูใช้ระบบเครือญาติเข้ามาบริหารประเทศ ความนิยมต่อรัฐบาลก็ยิ่งเสื่อมลงในท้ายที่สุด รัฐบาลต้องหันมาใช้นโยบายประหยัดและนโยบายแบ่งปันอาหารและพลังงานอย่างจริงจัง ใน ค.ศ. ๑๙๘๕ ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิดเกี่ยวกับพลังงานขึ้น แม้โรมาเนียจะเป็นประเทศผลิตนํ้ามันและมีโรงกลั่นขนาดใหญ่ที่มีขีดความสามารถเพียงพอ แต่ประชาชนกลับต้องเผชิญวิกฤติพลังงานที่ต้องมีตารางแบ่งปันกันใช้ เป็นต้นว่าในวันอาทิตย์รถแท็กซี่และรถโดยสารประจำทางต้องใช้ก๊าซมีเทนแทนนํ้ามัน ไฟฟ้าก็ถูกแบ่งปันให้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมหนักเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ครัวเรือนมีสิทธิใช้โฟฟ้าได้เดือนละไม่เกิน ๒๐ กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อครอบครัว นอกจากนี้ยังต้องมีการดับไฟวันละ ๑-๒ ชั่วโมง มีการสั่งห้ามเปิดไฟถนนและห้ามสถานีโทรทัศน์ออกอากาศเกินวันละ ๒ ชั่วโมง ขณะที่ร้านค้าต้องปิดทำการภายในเวลา ๑๗.๓๐ น. นอกจากนั้น การใช้แก๊สหุงต้มและระบบส่งความร้อนไปยังอาคารสถานที่ต่าง ๆ ก็มีความเข้มงวด ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ มีการออกกฤษฎีกาควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารสาธารณะทุกแห่ง (ยกเว้นโรงเรียนอนุบาลและโรงพยาบาล) ให้ไม่เกิน ๑๖ องศา เซลเซียสในระหว่างฤดูหนาวนโยบายแบ่งปันอาหารและยาก็มีผลต่อสุขภาพในครัวเรือนและมีผลต่อการให้สวัสดิการด้านสุขอนามัยแก่ประชาชนทำให้มาตรฐานด้านนี้ลดลงอย่างมาก เป็นที่น่าสังเกตว่าโรมาเนียมีอัตราการตายในเด็กสูงที่สุด และความคาดหวังที่จะมีอายุยืนยาวในประชากรโรมาเนียมีตํ่าสุดในยุโรป

 สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนซึ่งทำให้รัฐยิ่งต้องเพิ่มมาตรการควบคุมสังคมให้เข้มงวดและได้ผลยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลได้จัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยที่เรียกว่าซิกูริเตต (Securitate) ทำหน้าที่ด้านการข่าวและการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคม มีการนำเอาระบบการดักฟังโทรศัพท์ตามแบบที่ใช้ในเยอรมนีตะวันออกมาใช้กับประชาชนอย่างกว้างขวางมีการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อสาธารณะอื่น ๆ มีการคัดเลือกคนเป็นสายลับหรือผู้หาข่าวให้กับรัฐเป็นจำนวนมากภายใน ค.ศ. ๑๙๘๙ มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีชาวโรมาเนียจำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๓ เป็นสายให้กับรัฐบาลไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้โรมาเนียกลายเป็นดินแดนแห่งความน่าสะพรึงกลัวอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตกตํ่าลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีตัวเลขแสดงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศว่าลดลงถึงร้อยละ ๗๕ ซึ่งมีผลให้รายได้ของประเทศตกตํ่าลงไปด้วย แม้รัฐบาลจะพยายามเร่งรัดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก แต่ก็ไม่ได้ผลตามเป้า เพราะกระบวนการผลิตล้าสมัยเกินไป ทำให้มีต้นทุนสูงและผลที่ได้ก็มีคุณภาพตํ่า สินค้าหลายประเภทจึงขายไม่ออก รายได้ของรัฐจึงยิ่งตกตํ่าลงอย่างน่าใจหาย

 เมื่อการปฏิวัติในยุโรปตะวันออกสิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๘๙ โดยโรมาเนียเป็นประเทศสุดท้ายและเป็นประเทศที่เผชิญกับวิกฤติอย่างรุนแรงและมีการสูญเสียมากที่สุด ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ประชาชนในเมืองตีมีชวารา (Timişoara) ทางภาคตะวันตกของประเทศได้ชุมนุมต่อต้านเมื่อรัฐบาลสั่งย้ายบาทหลวงลาซโล เตอเกซ (Lazslo Tokes) ซึ่งต่อต้านนโยบายของเชาเชสกูโดยเฉพาะการทำลายล้างหมู่บ้านฮังการี ๘,๐๐๐ หมู่บ้าน รัฐบาลได้สั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุมแบบเด็ดขาด เหตุการณ์จึงบานปลายเป็นการก่อการจลาจล มีผู้เสียชีวิตจำนวนถึง ๑๕๐ คน ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ปีเดียวกัน เชาเชสกูซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากอิหร่านได้ออกโทรทัศน์ประณามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและในวันที่ ๒๑ ธันวาคมก็ได้จัดใพ้มีการชุมนุมครั้งใหญ่สนับสนุนรัฐบาลขึ้นในกรุงบูคาเรสต์ แต่ผู้ชุมนุมกลับลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลการประท้วงขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ ๆ อีกหลายแห่งภายในเวลาอันรวดเร็ว การปราบปรามของฝ่ายรัฐนำไปสู่การจลาจลนองเลือด มีผู้เสียชีวิตประมาณ ๑,๐๐๐ คนทั้งยังปรากฏว่าผู้ที่เคยสนับสนุนเขาเชสกู เช่น กองทัพและหน่วยความมั่นคงไม่ให้ความร่วมมืออีกต่อไปในวันที่ ๒๒ ธันวาคม เชาเชสกูพร้อมครอบครัวจึงหนีจากอาคารที่ทำการของรัฐบาลโดย เฮลิคอปเตอร์ จนมีผู้ไปพบเขาที่เมืองติร์โกวีชเต (Iîrgovişte; Târgovişte) เชาเชสกูและภรรยาถูกนำตัวขึ้นศาลประชาชน (kangaroo court) และศาลตัดสินประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙

 ในวันที่เชาเชสกูหนีออกจากเมืองหลวง ยอน อีสีเอสกู (Ion Iliescu) ผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับเชิญให้ขึ้นเป็นผู้นำแทนเชาเชสกูเป็นการชั่วคราว เขาได้จัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้ชื่อแนวร่วมช่วยชาติ (National Salvation Front-FSN) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลอีลีเอสกูได้ประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย ยกเลิกนโยบายและโครงการที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันก็เตรียมการนำประเทศสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐแบบเสรีนิยมโดยให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน


แก่ประชาชน และเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว รัฐบาลก็จัดให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกันในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีพรรคการเมืองเข้าร่วมชิงชัยหลายพรรค แต่อีลีเอสกูชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐใหม่ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึงร้อยละ ๘๕ และพรรคแนวร่วมช่วยชาติของเขาก็กวาดที่นั่งในสภาได้ถึง ๒ ใน ๓ อีลีเอสกูได้แต่งตั้งให้ปีเตอร์ โรมัน (Petre Roman) เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลชุดแรกเช่นเดียวกัน

 เนื่องจากสถานการณ์ภายในประเทศยังไม่มั่นคงมีความขัดแย้งทางความคิดและมีความไม่เข้าใจในภาคประชาชนต่อการปกครองแบบใหม่ ประกอบกับรัฐบาลเองก็ยังไม่มีเวลาพอที่จะแก้ไขขจัดปัดเป่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้เท่าที่ควร จึงเกิดมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนรัฐบาลตัดสินใจนำคนงานจากเหมืองแห่งหนึ่งมาสลายการชุมนุมและบุกโจมตีแกนนำฝ่ายตรงข้ามถึงบ้านพัก เมื่อเสร็จภารกิจพวกคนงานก็เริ่มเรียกร้องให้ตนเองด้วยการขอค่าแรงเพิ่ม รัฐบาลจึงต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและความไม่พอใจของคนกลุ่มต่าง ๆ ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องลาออก ประธานาธิบดีอีลีเอสกูจึงแต่งตั้งทีโอดอร์ สโตโลจัน (Theodor stolojan) เป็นนายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญและเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่

 ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยการแสดงประชามติ แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องและถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักจนมีผู้เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ทำจนถึง ค.ศ. ๒๐๐๓ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๙๑ ก็ใช้เป็นบรรทัดฐานในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๙๒ และในการบริหารประเทศในเวลาต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ พรรคแนวร่วมช่วยชาติแตกออกเป็น ๒ พรรค คือ พรรคแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (Democratic National Front-FDSN) ภายใต้การนำของอีลีเอสกู และพรรคประชาธิปไตย (Democratic Party-PD) มีปีเตอร์ โรมันอดีตนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำนอกจากนั้น ยังมีพรรคการเมืองเล็ก ๆ เกิดขึ้นมาอีกหลายพรรค ในการเลือกตั้งเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๙๒ ปรากฏว่าอีลีเอสกูได้ชัยชนะกลับเข้ามาเป็นประธานาธิบดีดังเดิมและพรรคแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติของเขาก็ได้รับชัยชนะในสภาผู้แทนราษฎรเช่นกัน โดยนีคอไล วาคารอย (Nicolae Vacaroiv) ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

 สาธารณรัฐโรมาเนียมีการเลือกตั้งทั่วไปอีก ๓ ครั้ง ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ ได้เอมิล คอนสแตนติเนสกู (Emil Constan-tinescu) แห่งพรรคสภาประชาธิปไตย (Democratic Convention Party-CDR) เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๒๐๐๐ อีลีเอสกูได้รับเลือกให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่ง และในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๒๐๐๔ ตรายาน บาเชสกู (Traian Băsescu) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ ๓ แม้ในการเลือกประธานาธิบดีจะเห็นชัยชนะอย่างชัดเจน แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจาก ค.ศ. ๑๙๙๖ ยังกํ้ากึ่งไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก จึงต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายฝ่ายทำให้สถานการณ์การเมืองยังคงมีความอ่อนไหว และต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้งพรรคการเมืองก็มีการยุบรวมและเปลื่ยนชื่อตลอดเวลาโรมาเมียตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมา จึงผ่านกระบวนการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ระบบพรรคการเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลภายในระยะเวลาอันสั้น

 แม้การเมืองในโรมาเมียจะยังไม่นิ่ง รัฐบาลก็ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าประเทศได้ในระดับหนึ่ง ได้มีการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อนำประเทศเข้าสู่ระบบการค้าเสรีภายในกรอบของระบบเศรษฐกิจยุโรป มีการปฏิรูปการศึกษา การให้สวัสดิการประชาชน ระบบกฎหมายและระบบความยุติธรรม มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ทั้งนี้ เพื่อให้โรมาเมียก้าวทันโลกและเป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ โรมาเมียได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* และอีก ๓ ปีต่อมาในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๗ ก็เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union)* อย่างไรก็ตาม ในต้นทศวรรษ ๒๐๑๐ โรมาเนียซึ่งพัฒนาประเทศให้เติบโตและก้าวหน้าทางเศรษฐกิจจนได้ชื่อว่าเป็น “เสือแห่งยุโรป” (Tiger of Europe) เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเสื่อมถอยและต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศมาแก้ไขภาวะเศรษฐกิจปัญหาเศรษฐกิจยังส่งผลกระทบต่อสังคมและการเมืองโดยเฉพาะเรื่องการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งรัฐยังไม่สามารถแก้ไขได้ และโรมาเนียได้ชื่อว่าเป็นประเทศอันดับที่ ๙ ในสหภาพยุโรปที่มีการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงมากที่สุดรองจากสโลวีเนีย โครเอเชีย กรีซ สโลวาเกีย สาธารณรัฐเช็ก โปรตุเกส ฮังการี และสเปน.



คำตั้ง
Romania
คำเทียบ
โรมาเนีย
คำสำคัญ
- กองกำลังเหล็ก
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- การลุกฮือของชาวฮังการี
- ขบวนการฟาสซิสต์
- ความตกลงไตรภาคี
- คอนสแตนติเนสกู, เอมิล
- โคเมคอน
- โครเอเชีย
- เชโกสโลวะเกีย
- ซิกูริเตต
- โซเวียตยูเครน
- เตอเกซ, บาทหลวงลาซโล
- ธนาคารโลก
- นิกายออร์ทอดอกซ์
- บอลเชวิค
- บัลแกเรีย
- บาเชสกู, ตรายาน
- บูโกวีนา
- เบสซาราเบีย
- ปัญหาตะวันออก
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคสภาประชาธิปไตย
- มารามูเรส
- ยูเครน
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- ระบบนารวม
- ระบบแรงงานภาคบังคับ
- ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล
- โรมาเนีย
- ลัทธิฟาสซิสต์
- วาคารอย, นีคอไล
- ศาลประชาชน
- สงครามไครเมีย
- สงครามบอลข่าน
- สงครามรัสเซีย-ตุรกี
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สโตโลจัน, ทีโอดอร์
- สนธิสัญญาบูคาเรสต์
- สนธิสัญญาปารีส
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สโลวาเกีย
- สหภาพยุโรป
- เสือแห่งยุโรป
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-