Robespierre, Maximilien François Marie Isidore de (1758-1794)

นายมักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี อีซีดอร์ เดอ โรแบสปีแยร์ (พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๓๗)

 มักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี อีซีดอร์ เดอ โรแบสปีแยร์เป็นนักกฎหมาย นักการเมือง และนักปฏิวัติที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution)* ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๔ เขามีผลงานโดดเด่นในสภาฐานันดร (Estates-General) สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ (National Constituent Assembly) สภากงวองซียงแห่งชาติ (National Convention) และคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของปวงชน (Committee of Public Safety) บทบาทสำคัญที่สุดคือการเป็นผู้นำที่ก่อให้เกิดสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)*

 โรแบสปีแยร์เกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๕๘ ที่เมืองอาราส (Arras) เป็นบุตรของมักซีมีเลียง บาร์เตเลอมี ฟรองซัว (Maximilien Barthélemy François) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เป็นนักกฎหมายมาหลายชั่วอายุคน เขาเกิดก่อนที่บิดาจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานกับชาเกอลีน มาร์เกอริต-การ์โรล (Jacqueline Marguerite-Carrault) ซึ่งมาจากตระกูลที่ตํ่าต้อยกว่าโรแบสปีแยร์จึงเป็นบุตรนอกสมรส เขามีน้องสาว ๒ คน คือ ชาร์ลอต (Charlotte) และอองรีแยต (Henriette) และน้องชาย ๑ คน คือ โอกุสแต็ง (Augustin) โดยมารดาเสียชีวิตในการคลอดน้องชายคนเล็กนี้ใน ค.ศ. ๑๗๖๔ หลังจากนั้นบิดาก็ละทิ้งลูกทั้ง ๔ คน เดินทางท่องเที่ยวไปในยุโรปจนเสียชีวิตลงที่เมืองมิวนิก (Munich) เยอรมนี ใน ค.ศ. ๑๗๗๓ ปล่อยให้ภาระการเลี้ยงดูเด็กทั้ง ๔ คนตกเป็นของตายายและน้าสาวของเด็ก

 โรแบสปีแยร์ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนในเมืองอาราสจนอายุได้ ๑๑ ขวบจึงได้รับทุนการศึกษาจากวัดแซงวาส (Abbey of St. Vaast) ให้เข้าเรียนระดับมัธยมจนจบปริญญาตรีใน ค.ศ. ๑๗๘๐ ที่ลีเซลุย-เลอ-กร็อง (Lycée Louis-le-Grand) ที่มีชื่อเสียงในกรุงปารีส ณ ที่นี้เองที่โรแบสปีแยร์ได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์และวรรณคดีคลาสสิกสมัยกรีก-โรมันและสมัยภูมิธรรม (Age of Enlightenment) โดยเฉพาะแนวคิดของปราชญ์สมัยนั้นใน ค.ศ. ๑๗๘๑ เขาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านนิติศาสตร์ที่วิทยาลัยกฎหมายแห่งปารีส ตลอดระยะเวลาที่ศึกษากฎหมายเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดเกี่ยวกับสังคม การเมือง และกฎหมายเป็นอย่างมากจากชอง-ชาก รูโซ (Jean-Jacques Rousseau) และมงแตสกีเยอ (Montesquieu) ซึ่งจะมีผลต่ออาชีพนักกฎหมายและนักการเมืองของเขาในเวลาต่อมา

 เมื่อสำเร็จการศึกษา ทุนการศึกษาของเขาได้รับการส่งต่อให้โอกุสแต็งน้องชายคนเล็ก ส่วนตัวเขาก็ขึ้นทะเบียนเป็นทนายความและเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา เป็นผู้พิพากษาในศาลศาสนา (Salle Épiscopale) ที่รับผิดชอบอรรถคดีในสังฆมณฑล นอกเหนือจากงานประจำ โรแบสปีแยร์ยังชอบเขียนหนังสือ ความสามารถด้านการคิดการเขียนทำให้งานเขียนทางวิชาการของเขาหลายเรื่องได้รับรางวัล เช่น บทความเรื่อง “Discours sur les peines infamantes” (ค.ศ. ๑๗๘๔) ได้รับรางวัลจากราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์และศิลปะ (Société royale des Sciences et Arts) ที่เมืองเมตซ์ (Metz) นอกจากนั้น เขายังมีงานเขียนที่ปลุกเร้าภาระความรับผิดชอบของชนชั้นกลางต่อปัญหาสังคม เช่น ปัญหาความยากจนและปัญหาการสร้างชาติสร้างสังคมตามแนวคิดสมัยภูมิธรรม ความสนใจชองโรแบสปีแยร์ไม่ได้มีจำกัดเฉพาะงานเขียน เขายังสนใจเรื่องการพูดการเสวนาทางวิชาการจนได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมทางวิชาการในท้องถิ่นและเขายังเป็นสมาชิกของสมาคมภาษาและดนตรีที่ชื่อว่า “Rosati” แห่งเมืองอาราสอีกด้วย

 ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีนับแต่เริ่มทำงาน โรแบสปีแยร์ได้สร้างชื่อเสียงให้ตนเองจนได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม เขาได้รับการยอมรับในความฉลาดปราดเปรื่องมีอุดมการณ์ และมีภาวะความเป็นผู้นำ เหตุนี้เมื่อสังคมในระดับประเทศเริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงของระบอบเก่า (Old Regime) ด้วยการรื้อฟื้นสภาฐานันดรอันเป็นสภาที่มีสมาชิกมาจากฐานันดรที่ ๑ คือ นักบวชฐานันดรที่ ๒ คือ ชนชั้นอภิสิทธิ์และขุนนาง และฐานันดรที่ ๓ คือ สามัญชนซึ่งประกอบด้วยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ ชาวเมืองอาราสจึงพร้อมใจกันเลือกโรแบสปีแยร์เป็นหนึ่งในผู้แทนของพวกเขาเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้แทนของฐานันดรที่ ๓ ประจำเขตเลือกตั้งอาร์ตัว (Artois) และเขาได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ ๕ ของผู้แทนจำนวน ๘ คนที่จะเข้าไปนั่งในสภาฐานันดรซึ่งกำหนดประชุมครั้งแรกในวันที่ ๖ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ นับเป็นการเริ่มต้นอาชีพนักการเมืองของเขาด้วยวัย ๓๑ ปี

 ในเดือนมิถุนายน หลังจากเปิดประชุมสภาฐานันดรได้ไม่นาน ผู้แทนของฐานันดรที่ ๓ ส่วนใหญ่รวมทั้งโรแบสปีแยร์ได้ประกาศตนเป็นสมัชชาแห่งชาติเพื่อตัดสินปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยจัดประชุมครั้งแรกที่สนามเทนนิสของพระราชวังแวร์ซายและได้ร่วมกันกล่าว “คำปฏิญาณสนามเทนนิส” (Tennis Court Oath) ว่าจะประชุมกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าภารกิจจะแล้วเสร็จ เหตุการณ์ครั้งนี้และอีกหลายเหตุการณ์ได้นำไปสู่การทลายคุกบาสตีย์ (Fall of Bastille)* เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ขณะเดียวกันก็นำไปสู่การสถาปนาสภาเทศบาลหรือคอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ขึ้นเพื่อดูแลสถานการณ์ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในวันที่ ๑๗ กรกฎาคมมีการเปลี่ยนชื่อสมัชชาแห่งชาติเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศให้แล้วเสร็จ โรแบสปีแยร์ซึ่งเป็นสมาชิกของสมัชชาแห่งชาติจึงมีฐานะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยและสภานี้ได้ปฏิบัติภารกิจจนแล้วเสร็จ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ และสลายตัวไปในวันที่ ๓๐ กันยายน

 ตลอดระยะเวลาของการทำหน้าที่สมาชิกสภาทั้งสภาฐานันดรและสภาร่างรัฐธรรมนูญ โรแบสปีแยร์ได้พิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เขาเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพ มีผลงานโดดเด่น มีบุคลิกภาพสะดุดตา แม้เขาเป็นคนรูปร่างเล็กสูงเพียง ๑๕๗ เซนติเมตร แต่ก็มีกิริยาท่าทางสง่าผ่าเผยแต่งกายดีเรียบร้อยอยู่เสมอ เขามีลักษณะเป็นตัวแทนของชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาสูง เข้มแข็ง มีความเชื่อมั่นและเคร่งในประเพณีปฏิบัติและกรอบของศีลธรรมอันดีแม้เขาจะพูดเสียงเบา แต่ก็มีลีลาการพูดที่ชวนฟังไม่น่าเบื่อ มีสาระ และมีความสามารถโน้มน้าวคนให้เห็นคล้อยตามได้ไม่ยากเพราะคำพูดของเขาแสดงความจริงใจและมีเหตุผลจากการพูดครั้งแรกในสภาฐานันดรเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๙ จนถึงวันสิ้นสุดวาระการเป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ โรแบสปีแยร์มีโอกาสกล่าวแสดงความคิดเห็นจำนวนทั้งสิ้น ๕๐๐ ครั้ง และทุกครั้งที่ประชุมจะรับฟังความคิดเห็นของเขาด้วยความสนใจและเห็นความจริงใจของเขา แม้แต่สมาชิกอาวุโสของสภาร่างรัฐธรรมนูญอย่างกงต์แห่งมีราโบ (Comte de Mirabeau) ก็กล่าวถึงโรแบสปีแยร์อย่างชื่นชมว่า “ชายหนุ่มคนนั้นเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพูด เขาจะไปได้อีกไกล”

 อย่างไรก็ดี โรแบสปีแยร์ไม่ได้มีแต่คนที่ชื่นชมเขาเท่านั้น เขายังมีศัตรูทางการเมืองไม่น้อย ที่สำคัญคือพวกกษัตริย์นิยม พวกนี้มักโจมตีเขาอย่างรุนแรงโดยผ่านเครือข่ายหนังสือพิมพ์ของพวกตน และในสภาพวกนี้จะคอยกีดกันเขาไม่ให้ได้รับเลือกเป็นประธานสภาหรือเป็นประธานคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ เนื่องจากโรแบสปีแยร์ได้แสดงตนอย่างชัดแจ้งว่าไม่นิยมเจ้าและอภิสิทธิ์ชน เขาวิพากษ์วิจารณ์ราชสำนักและทุกคนที่ทำตนอยู่เหนือผู้อื่นและกดขี่ผู้ด้อยโอกาสกว่าอย่างไม่เป็นธรรม โรแบสปีแยร์เชื่อมั่นในวิถีทางประชาธิปไตยตามแนวทางของรูโซที่เห็นความยิ่งใหญ่ของเจตจำนงทั่วไป (General Will) ของประชาชน เขาเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและสิทธิของพลเมืองเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิโดยเท่าเทียมกัน เขาจึงเป็นบุคคลของสมัยภูมิธรรมโดยแท้ที่เห็นความสำคัญของหลักการสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค แม้กระนั้นคนที่รู้จักโรแบสปีแยร์ดีบางคนยังตั้งข้อสังเกตว่าเขาเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากในระยะเวลา ๒ ปี (ค.ศ. ๑๗๘๙-๑๗๙๑) เมื่อแรกเริ่มอาชีพนักการเมืองเขายังคงเป็นนักกฎหมายบ้านนอกที่มีความคิดเห็นตรงไป ตรงมา แม้จะมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยแต่ก็ยังไม่หนักแน่นรุ่มร้อนในช่วงการเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ เขาได้เปลี่ยนจากนักกฎหมายบ้านนอกมาเป็นสมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ มีกิริยาท่าทีของชนชั้นกลางผู้มั่งคั่ง เป็นพลเมืองชาวปารีสที่ห้าวหาญและหัวรุนแรงมากขึ้น เขาได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำอันดับ ๒ รองจากเชโรม เปตียง เดอ วีลเนิฟว์ (Jérôme Pétion de Villeneuve) ของสมาชิกสภาปีกซ้ายกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ ๓๐ คนที่รู้จักกันในนามกลุ่มสามสิบเสียง (Thirty Voices)

 ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นผลสืบเนื่องจากประสบการณ์หลายด้านที่เขาได้รับภายในระยะเวลาอันสั้นซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของเขาได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในสังคมการเมืองและวิชาการของกรุงปารีส ในต้น ค.ศ. ๑๗๙๐ โรแบสปีแยร์เริ่มสนใจกิจกรรมของสโมสรชาโกแบง (Jacobin Club) ซึ่งมีที่มาจากสมาคมมิตรชองรัฐธรรมนูญ (Society of the Friends of the Constitution) มีสมาชิกเริ่มแรกประกอบด้วยผู้แทนในสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติจากแคว้นบริตตานี (Brittany) ภายหลังได้ขยายจำนวนสมาชิกออกไปนอกสภาครอบคลุมผู้นำชนชั้นกลางในเขตกรุงปารีสรวมถึงศิลปินและผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจปัญหาบ้านเมือง สโมสรชาโกแบงในระยะแรกอยู่ใต้การนำของชนชั้นกลางหัวอนุรักษนิยม แต่เมื่อโรแบสปีแยร์เข้าเป็นสมาชิกได้ไม่นานและเป็นผู้นำสมาชิกกลุ่มหัวรุนแรงในสโมสรผู้นำกลุ่มเก่าจึงค่อย ๆ ถอนตัวไปในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๐ โรแบสปีแยร์ได้รับเลือกเป็นประธานของสโมสร ซึ่งทำให้เขาสามารถแสดงจุดยืนและความคิดเห็นทางการเมืองโดยผ่านสโมสรแห่งนี้อีกช่องทางหนึ่ง และทำให้ชื่อเสียงของเขาเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดแวร์ซาย แต่เขาปฏิเสธตำแหน่งดังกล่าวเพราะต้องการอุทิศเวลาในสภาร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้เวลาส่วนหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องนอกสภาเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาเชื่อมั่นว่าเป็นความชอบธรรม เป็นต้นว่า การเรียกร้องให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งโดยเท่าเทียมกัน มีสิทธิในการร้องเรียน รวมทั้งมีสิทธิในการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการหรือประกอบวิชาชีพต่าง ๆ โดยไม่ถูกกีดกันอย่างไม่เป็นธรรม

 นอกจากนั้น โรแบสปีแยร์ยังต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิให้ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เช่น พวกศิลปิน นักแสดงชาวยิว ทาสผิวสี ผลงานสำคัญอีกประการหนึ่งของเขาคือการต่อต้านพระราชอำนาจในการยับยั้งกฎหมายของกษัตริย์และแม้กระทั่งการต่อต้านไม่ให้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีสิทธิสมัครเข้าเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ (Legislative Assembly) ที่จะมีขึ้นหลังการสลายตัวของสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลทำให้ตัวเขาเองก็ไม่มีสิทธิเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๑ อันเป็นวันสุดท้ายของสภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติ ประชาชนชาวปารีสได้ประกาศยกย่องโรแบสปีแยร์ร่วมกับเปตียงให้เป็นผู้รักชาติชาวฝรั่งเศส “ผู้อยู่เหนืออามิสสินจ้าง” (Incorruptible) ในฐานะที่บุคคลทั้งสองยึดมั่นในหลักการอันบริสุทธิ์ ใช้ชีวิตอย่างสมถะและปฏิเสธการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ เมื่อเขากลับไปเยี่ยมประชาชนในเขตเลือกตั้งที่อาร์ตัวและเยี่ยมบ้านเกิดที่อาราสเขาก็ได้รับการยกย่องเช่นเดียวกัน

 แม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติระหว่าง ค.ศ. ๑๗๙๑-๑๗๙๒ โรแบสปีแยร์ก็ยังคงมีกิจกรรมที่เสริมสร้างชื่อเสียงและเกียรติคุณให้ตนเองอย่างต่อเนื่อง ในระยะแรกเขาทุ่มเทให้กับงานในหน้าที่อัยการประจำศาลอาญาแห่งกรุงปารีสซึ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๑ จนเมื่อเขาตัดสินใจลาออกในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ เนื่องจากมีภารกิจด้านการเมืองรัดตัวมากขึ้นเขาใช้สโมสรชาโกแบงเป็นฐานทางการเมืองทั้งในการแสดงความคิดเห็นและการต่อสู้ในด้านต่าง ๆ ในระยะเวลา ๑ ปี เขาแสดงปาฐกถาและเสวนาในหัวข้อต่าง ๆ กว่า ๑๐๐ ครั้ง เขาเรียกร้องให้มีการพิจารณาโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (Louis XVI ค.ศ. ๑๗๕๔-๑๗๙๓)* สมเด็จพระราชินีมารี อองตัวแนต (Marie Antoinette)* และพระราชวงศ์ซึ่งหมายถึงการสิ้นสุดของสถาบันกษัตริย์ด้วย เขาต่อด้านนโยบายของกลุ่มชีรงแด็ง (Girondin) ในสภานิติบัญญัติที่ต้องการให้ฝรั่งเศสทำสงครามกับออสเตรีย เพราะเห็นว่าฝรั่งเศสยังไม่พร้อมที่จะทำสงคราม เนื่องจากต้องเผชิญกับปัญหาความมั่นคงภายในอันเป็นผลพวงของการปฏิวัติอีกระยะหนึ่ง การต่อต้านของเขาครั้งนี้ทำให้กลุ่มชีรงแด็งเป็นศัตรูกับกลุ่มชาโกแบงและถือโอกาสโจมตีกลุ่มนี้ในโอกาสต่าง ๆ โรแบสปีแยร์เห็นว่าการตอบโต้โดยอาศัยสโมสรชาโกแบงอย่างเดียวไม่น่าจะพอ จึงตัดสินใจทำนิตยสารชื่อ Le Defenseur de la Constitution เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มของเขาอีกทางหนึ่ง

 โรแบสปีแยร์ใช้ช่องทางที่มีมากขึ้นต่อสู้ให้กับคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ผลงานโดดเด่นในช่วงนี้มีหลายอย่าง เป็นต้นว่า การขอความเป็นธรรมให้กับกลุ่มทหาร “ผู้รักชาติ” ที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๐ ด้วยข้อหากบฏที่เมืองนองซี (Nancy) รวมทั้งการกล่าวโจมตีมาร์กี เดอ ลาฟาแยต (Marquis de Lafayette)* ผู้บัญชาการกองทัพฝรั่งเศสซึ่งมีพฤติกรรมส่อไปในทางที่ต้องการสถาปนาระบอบเผด็จการทหารขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ที่ฝรั่งเศสประกาศสงครามกับออสเตรียและพันธมิตรในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๒ ซึ่งเป็นการเริ่มต้นสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* การโจมตีของเขาจุดประกายให้เกิดการจลาจลในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๗๙๒ แม้โรแบสปีแยร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจลาจลครั้งนี้ แต่เมื่อเขาได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคอมมูนแห่งปารีสและเป็นตัวแทนในการยื่นข้อเรียกร้องของคอมมูนต่อสภานิติบัญญัติเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคมให้จัดตั้งศาลปฏิวัติ (Revolutionary Tribunal) และสภากงวองซียงแห่งชาติขึ้นแทนที่สภานิติบัญญัติ บทบาทของเขาที่เกี่ยวข้องกับการจลาจลเดือนสิงหาคมก็ยิ่งเป็นที่สงสัยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 ข้อเรียกร้องของคอมมูนแห่งปารีสได้รับการสนองตอบอย่างดีเกินคาด แม้จะยังไม่มีการตั้งศาลปฏิวัติ แต่ก็มีประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๒ จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ และเปิดสมัยประชุมสภากงวองซียงแห่งชาติในวันที่ ๒๐ ของเดือนเดียวกัน โรแบสปีแยร์ ได้รับเลือกเป็นผู้แทนลำดับที่ ๑ ของเขตเลือกตั้งกรุงปารีส โดยมีพวกชาโกแบงได้รับเลือกเข้าไปจำนวนหนึ่งแต่ไม่ได้เสียงข้างมากพวกชาโกแบงในสภาเรียกว่า พวกมงตาญาร์ (Montagnard) และมีโรแบสปีแยร์เป็นผู้นำกลุ่ม ขณะที่พวกชีรงแด็งได้รับเสียงข้างมากและยังคงถือว่าพวกชาโกแบงหรือมงตาญาร์เป็นศัตรูทางการเมือง นับแต่เริ่มสมัยประชุมพวกนี่ก็กล่าวหาว่าโรแบสปีแยร์กำลังใช้ชื่อเสียงและความนิยมของประชาชนสร้างระบอบเผด็จการขึ้น และยิ่งเมื่อมีการพิจารณาโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และพระราชวงศ์ในเดือนธันวาคม ความขัดแย้ง ระหว่าง ๒ กลุ่มก็ทวีความรุนแรงขึ้น ขณะที่พวกชีรงแด็งไม่มีนโยบายชัดแจ้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ กลุ่มมงตาญาร์ด้วยการสนับสนุนของกลุ่มเล็ก ๆ อีกหลายกลุ่มในสภาเห็นด้วยกับโรแบสปีแยร์ที่จะสำเร็จโทษพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ เพราะพวกเขาเห็นว่าจุดยืนของโรแบสปีแยร์ถูกต้องที่ว่า “ถ้าจะต้องเสียสละชีวิตของคนคนหนึ่งเพื่อรักษาการปฏิวัติไว้ก็ไม่มีทางเลือกอื่นและคนคนนั้นก็คือพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖” พวกเขาเห็นว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ทรงพยายามเสด็จหนีออกนอกประเทศทั้งยังแสดงพระองค์เป็นอันตรายร้ายแรงต่อรัฐด้วยการเข้าข้างออสเตรียซึ่งเป็นศัตรูของรัฐ เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ และคณะถูกสำเร็จโทษด้วยเครื่องกิโยตีนในวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ โรแบสปีแยร์ก็ยิ่งได้รับความนิยมจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

 การต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างกลุ่มชีรงแด็งกับกลุ่มมงตาญาร์ยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้นภายในสภาโรแบสปีแยร์ประสบความสำเร็จในการดึงกลุ่มการเมืองเล็ก ๆ ที่กำลังเบื่อหน่ายความแตกแยกและขัดแย้งจนทำให้รัฐบาลอ่อนแอมาเป็นพวก และนอกสภาเขาก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการรวมประชาชนทั้งในกรุงปารีสและในเขตชนบทเป็น “แนวร่วม” ต่อต้านการคอร์รัปชันของนักการเมืองซึ่งมีพวกชีรงแด็งเป็นเบ้าหมายสำคัญ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๗๙๓ โรแบสปีแยร์กล่าวประณามพวกสมาชิกที่มีพฤติกรรมส่อไปในทางคอร์รัปชันซึ่งถือเป็นศัตรูของประชาชนหลายครั้งในสภา ในเดือนพฤษภาคมก็มีคำร้องเรียนจากประชาชนให้ถอดถอนสมาชิกสภาที่อยู่ในข่ายทุจริตคอร์รัปชันจำนวนหนึ่งซึ่งโรแบสปีแยร์ก็ได้กล่าวสนับสนุนคำร้องเรียนเหล่านั้นอย่างเป็นทางการในการอภิปรายในสภา เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม หลังจากนั้นในวันที่ ๒ มิถุนายนก็มีฝูงชนติดอาวุธจำนวนมากจากคอมมูนแห่งปารีสบุกสภากงวองซียงแห่งชาติและจับกุมสมาชิกสภาจำนวน ๓๒ คน ในจำนวนนั้น ๒๙ คนเป็นผู้นำและสมาชิกกลุ่มชีรงแด็งด้วยข้อหากระทำการต่อต้านอุดมการณ์การปฏิวัติ จึงนับเป็นการทำลายล้างศัตรูทางการเมืองครั้งสำคัญของโรแบสปีแยร์

 เมื่อหมดเสี้ยนหนามทางการเมือง สภากงวองซียงแห่งชาติก็ตกอยู่ภายใต้การนำของโรแบสปีแยร์และทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๓ ผ่านการพิจารณาอย่างง่ายดายภายในวันที่ ๒๔ มิถุนายน แม้สาระสำคัญบางอย่างของรัฐธรรมนูญจะตกไปเพราะก้าวหน้าเกินไปสำหรับสถานการณ์ภายในที่ยังไม่สงบและประชาชนยังอดอยากและเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของปวงชนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายนก็ขาดความเป็นเอกภาพไม่สามารถทำให้เกิดความสงบขึ้นในบ้านเมือง เมื่อโรแบสปีแยร์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ เขาปรับโครงสร้างของคณะกรรมาธิการจาก ๙ เป็น ๑๒ คน แต่การทำงานของคณะกรรมาธิการจะต้องมีเอกภาพ เพราะมี “เจตจำนงเพียงหนึ่งและเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น” (one will and one only) แม้เขาจะไม่สามารถคุมเสียงในคณะกรรมาธิการได้ทั้งหมดในบางเวลา แต่เขาก็สามารถบริหารงานให้เป็นไปตามความต้องการได้ตลอดเวลาที่เขาอยู่ในตำแหน่งระหว่างวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๓ - ๒๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ โดยมีคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงทั่วไป (Committee of General Security) ซึ่งทำหน้าที่เป็นตำรวจรักษาความสงบเรียบร้อยภายในและศาลปฏิวัติเป็นหน่วยงานสนับสนุน นอกจากนั้น โรแบสปีแยร์ยังประสบความสำเร็จในสภากงวองซียงแห่งชาติโดยได้รับเลือกเป็นประธานสภา ๒ ครั้งระหว่างวันที่ ๒๒ สิงหาคม - ๕ กันยายน ค.ศ. ๑๗๙๓ และระหว่างวันที่ ๔-๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๔ อย่างไรก็ดี บทบาทในสภาของเขาก็มีความโดดเด่นและมีอิทธิพลสูงสุดอยู่แล้ว

 ระหว่างมีอำนาจ โรแบสปีแยร์พยายามขับเคลื่อนทุกองคาพยพให้ไปสู่จุดหมายปลายทางในอุดมคติด้วยการสถาปนา “สาธารณรัฐแห่งคุณธรรม” (Republic of Virtue) โดยหวังว่าการปฏิวัติที่ยังคงดำเนินอยู่จะนำไปสู่จุดหมายนั้น และในกระบวนการปฏิวัติให้ได้ผลสูงสุดจะต้องใช้อำนาจอย่างสมบูรณ์และเด็ดขาดอาจถึงขั้นน่าสะพรึงกลัว เพราะ “ความน่าสะพรึงกลัวเป็นเพียงความยุติธรรมที่จักต้องเกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน รุนแรง และไม่ลดราวาศอกความน่าสะพรึงกลัวจึงเป็นคุณสมบัติของคุณธรรม” ความเห็นในลักษณะนี้ของโรแบสปีแยร์ถูกถ่ายทอดไปสู่สาธารณชนในโอกาสต่าง ๆ ทั้งในการพูดและการเขียนและที่ปรากฏสมบูรณ์ที่สุดก็ดือ รายงานประกอบการอภิปรายในสภากงวองซียงแห่งชาติเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๙๔ ซึ่งเข้าถึงจิตใจของประชาชนในยุคของการปฏิวัติเป็นอย่างมากแต่ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้รับบทเรียนราคาแพงจากการยอมรับว่าความโหดร้ายทารุณและความน่าสะพรึงกลัวเป็นความถูกต้องและหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการจะนำไปสู่สังคมในอุดมคติ และยอมให้โรแบสปีแยร์นำพาประเทศเข้าสู่ “สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว”

 โรแบสปีแยร์ใช้คณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของปวงชนวางแผนและปราบปรามบุคคลที่เป็นอุปสรรคขัดขวางหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อการปฏิวัติซึ่งได้ดำเนินการมาโดยตลอดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมาธิการแต่ก็ยังมีขอบเขตจำกัด ต่อมาเมื่อประชาชนสนับสนุนหนทางไปสู่สาธารณรัฐแห่งคุณธรรม โรแบสปีแยร์จึงดำเนินนโยบายอย่างเข้มข้นในการปราบปรามและกำจัดบุคคลอันไม่พึงปรารถนา ในวันที่ ๒๔ มีนาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ กลุ่มของ ชาก เรอเน เอแบร์ (Jacques René Hébert) ที่มีอิทธิพลในคอมมูนแห่งปารีสจำนวน ๑๘ คนรวมทั้งเอแบร์ถูกประหารด้วยเครื่องกิโยตีน และในวันที่ ๕ เมษายนกลุ่มของชอร์ช ชาก ด็องตง (Georges Jacques Danton)* และกามีล เดมูแล็ง (Camille Desmoulins) ซึ่งเคยเป็นพันธมิตรของเขาก็ถูกกำจัดในลักษณะเดียวกัน การทำลายล้างขยายวงกว้างออกไปนอกกลุ่มนักการเมืองไปสู่กลุ่มนักธุรกิจนายทุนตลอดจนประชาชนทั่วไปที่สนับสนุนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพวกชาโกแบ็ง การทำลายล้างอย่างโหดเหี้ยมมาถึงจุดสูงสุดเมื่อสภากงวองซียงแห่งชาติออกกฎหมายเดือนมิถุนายน (Law of Prairial) เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๔ กำหนดให้ “ศัตรูของประชาชน” จะต้องถูกนำตัวขึ้นศาลปฏิวัติแห่งกรุงปารีสและถูกพิพากษาตามความพอใจของคณะลูกขุน ผลปรากฏว่าภายในเวลาเพียงเดือนเศษ (๑๒ มิถุนายน - ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔) ศาลได้พิพากษาให้ประหารชีวิตคนจำนวน ๑,๓๐๐ คนในข้อหาเป็นศัตรูของประชาชน

 ความน่าสะพรึงกลัวไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการกระทำที่ใช้กระบวนการของกฎหมายเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงการลอบสังหารด้วยวิธีการต่าง ๆ การข่มขู่คุกคาม การข่มขืนและการประทุษร้ายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่ในข่ายเป็นศัตรู กรรมาธิการบางคนไม่เห็นด้วยกับความโหดร้ายทารุณที่เกินเลยไปและโดยเฉพาะในระยะหลังก็ไม่พอใจในความเป็นเผด็จการและทรราชของโรแบสปีแยร์ด้วย มีกรรมาธิการเพียง ๒ คนที่ยังคงซื่อสัตย์และเชื่อมั่นในตัวโรแบสปีแยร์ คือ ชอร์ช กูตง (Georges Couthon) และลุย อองตวน เลอง เดอ แซง-จูส (Louis Antoine Léon de Saint-Just) กรรมาธิการส่วนใหญ่เพียงแต่รอโอกาสและแนวร่วมที่จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแม้กระนั้นเหตุการณ์ก็ยังไม่บานปลายที่จะทำให้ความนิยมในตัวโรแบสปีแยร์เสื่อมถอยลงจนน่าวิตก ในทางตรงข้ามในสภากงวองซียงแห่งชาติ โรแบสปีแยร์กลับได้รับเลือกเป็นประธานสภาเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๔ ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น และในวันที่ ๘ มิถุนายนเขาก็เป็นประธานในงานเฉลิมฉลอง “มหกรรมแห่งองค์สูงสุด” (Festival of the Supreme Being) ที่ชองเดอมาร์ (Champ de Mars) ทุ่งกว้างชานกรุงปารีสอย่างยิ่งใหญ่เพื่อแสดงบทบาทและอิทธิพลทางความคิดด้านศาสนาและจิตใจของเขานอกเหนือจากต้านการเมือง

 เรื่องของจิตใจและความเชื่อทางศาสนาหรือจริยธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และในฝรั่งเศสขณะที่สิทธิและเสรีภาพกำลังเบ่งบาน ประชาชนส่วนใหญ่จึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล สำหรับโรแบสปีแยร์เชาประกาศอย่างชัดแจ้งว่า เขาเป็นพวก “เทวนิยม” (Deism) เช่นเดียวกับนักคิดนักเขียนหลายคนที่ได้รับอิทธิพลของปราชญ์สมัยภูมิธรรมเป็นต้นว่า ทอมัส เพน (Thomas Paine)* โดยเขาเชื่อว่า “เทวะ” หรือพระเป็นเจ้าซึ่งเป็นประธานของจักรวาลต้องไม่ใช่พระเป็นเจ้าที่มีความลึกลับ มีฤทธิ์เหนือธรรมชาติ ในยุคของเหตุผล (Age of Reason) ขณะนั้นมนุษย์จะต้องนำวิทยาศาสตร์และธรรมชาติมาแทนที่สิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติและมองพระเป็นเจ้าในมิติใหม่ โรแบสปีแยร์ไม่ปฏิเสธความมีอยู่ขององค์สูงสุด (Supreme Being) โดยยอมรับว่ามีอยู่จริง ทรงความเป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่งเป็นปฐมเหตุ (First Cause) หรือที่มาของทุกสิ่ง แต่การดำรงอยู่ขององค์สูงสุดเป็นไปตามกฎธรรมชาติ (natural law) ที่อธิบายได้ด้วยเหตุผลและหลักวิทยาศาสตร์ ความเชื่อในลักษณะนี่ได้ก่อให้เกิดลัทธิเหตุผลและองค์สูงสุด (Cult of Reason and Supreme Being) ซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มที่ได้รับการศึกษาตามแนวทางสมัยใหม่ของยุคนั้นโรแบสปีแยร์ต้องการเห็นสาธารณรัฐแห่งคุณธรรมมีศาสนาหลักเป็นลัทธินี้ เขาจึงเชิญชวนประชาชนในโอกาสต่าง ๆ ให้เชื่อตามเขา แม้กระทั่งได้ผลักดันให้สภากงวองซียงแห่งชาติผ่านกฤษฎีกาสถาปนาลัทธิดังกล่าวเป็นอีกศาสนาหนึ่งของชาติเมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ และได้จัดงานเฉลิมฉลองเป็นมหกรรมการเชิดชูองค์สูงสุดผู้เป็นใหญ่เหนือสรรพสิ่งในอีก ๑ เดือนต่อมา เหตุการณ์ครั้งนี้ แม้จะแสดงให้เห็นความนิยมสูงสุดในตัวเขา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การล่มสลายของเขาด้วย

 การสถาปนาและการเฉลิมฉลองลัทธิเหตุผลและองค์สูงสุดอย่างเป็นทางการโดยผู้นำรัฐกระทบกระเทือนจิตใจของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งยังคงยึดมั่นในคริสต์ศาสนาประกอบกับสถานการณ์หลากหลายรูปแบบที่น่าสะพรึงกลัวทำให้ประชาชนเริ่มเสียขวัญและหวาดวิตกต่อภยันตรายที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกขณะ สมาชิกบางคนในคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของปวงชนเริ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมที่จะกอบกู้ชื่อเสียงของคณะกรรมาธิการที่จะไม่ให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและมีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงทุกขณะ เขาเหล่านั้นเห็นว่าจะต้องมีแพะรับบาปที่ตกเป็นเป้าของการถูกวิพากษ์วิจารณ์และรับผิดชอบต่อสถานการณ์ทั้งหมดซึ่งก็ไม่มีใครเหมาะสมเท่าโรแบสปีแยร์ นับแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๗๙๔ เป็นต้นมา จึงเริ่มมีขบวนการกล่าวโทษและโจมตีโรแบสปีแยร์และผู้ใกล้ชิด มาร์ กีโยม อาแลกซี อัลแบร์ วาดีเย (Marc Guillaume Alexis Albert Vadier) สมาชิกคณะกรรมาธิการเป็นผู้นำในการโจมตีจุดอ่อนที่สุดของโรแบสปีแยร์คือเรื่องศาสนาและความเชื่อแปลก ๆ ที่จะนำภัยร้ายแรงมาสู่ปัญญาชน นอกจากนั้นเขายังกล่าวโทษโรแบสปีแยร์ว่ามีพฤติกรรมเป็นเผด็จการเป็นทรราช เป็นผู้สมรู้ร่วมคิด และเป็นพวกนอกกฎหมายจากการใช้อำนาจและอิทธิพลของเขาในที่ต่าง ๆ

 ตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวร้ายโรแบสปีแยร์ไม่ได้โต้ตอบ จึงทำให้หลายคนเชื่อว่าเขาป่วย แต่ในการประชุมสภากงวองซียงเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม เขาปรากฏตัวในที่ประชุมและขออภิปรายเพื่อปกป้องตนเองโดยใช้เวลาถึง ๒ ชั่วโมงแก้ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับเขาในด้านต่าง ๆ ทั้งยังประกาศให้มีการยุติกิจกรรมทุกชนิดที่นำไปสู่ความน่าสะพรึงกลัว รวมทั้งให้มีการปฏิรูปคณะกรรมาธิการเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและคณะกรรมาธิการเพื่อความมั่นคงทั่วไป ตลอดการอภิปราย โรแบสปีแยร์ใช้ความสามารถในการพูดทำให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์และเป็นผู้ที่จะช่วยให้สาธารณรัฐรอดพ้นจากความพยายามของคนบางกลุ่มรวมทั้งสมาชิกสภาบางคนที่ต้องการล้มล้างสาธารณรัฐอยู่ขณะนั้น การอภิปรายของเขาก่อให้เกิดความโกลาหลขึ้นในสภาเพราะมีผู้พยายามให้ยุติการพูดเป็นระยะ ๆ จนในที่สุดประธานสภาต้องสั่งปิดประชุม แต่โรแบสปีแยร์ก็ยังคงจัดให้มีการพูดต่อที่สโมสรชาโกแบ็งในตอนคํ่า ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

 ในวันต่อมา เมื่อสภากงวองซียงเปิดประชุม แซงจูสเปิดอภิปรายปกป้องโรแบสปีแยร์ แต่เขาก็ถูกขัดจังหวะหลายครั้งและในที่สุดต้องยุติการพูด โรแบสปีแยร์พยายามพูดแต่ถูกโห่ด้วยเสียงอันดังจนไม่สามารถอภิปรายได้ มีสมาชิกสภาคนหนึ่งเสนอให้จับโรแบสปีแยร์และพวก ในที่สุดสภาได้มีคำสั่งให้จับกุมโรแบสปีแยร์ โอกุสแต็งน้องชายของเขาและพรรคพวก แต่ก็มีทหารจำนวนหนึ่งจากคอมมูนแห่งปารีสบุกเข้ามาในสภาและเรียกร้องให้สภาปล่อยตัวทุกคน เมื่อไม่เป็นผลจึงใช้กำลังนำโรแบสปีแยร์และพวกไปเก็บตัวไว้ที่ศาลาว่าการเมือง (Hôtel de Ville) ในคืนวันนั้นสภากงวองซียงจึงประกาศว่าโรแบสปีแยร์และพวกเป็นพวกนอกกฎหมายซึ่งจะเปิดทางให้ทั้งหมดถูกพิจารณาโทษได้ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ในเวลา ๓ นาฬิกาของเช้าวันรุ่งขึ้น ปอล นีโกลา เดอ บาร์รา (Paul Nicolas de Barras) ได้นำกองกำลังแห่งชาติ (National Guard) บุกเข้าไปจับโรแบสปีแยร์และพวกซึ่งบางคนพยายามหนีและบางคนก็พยายามฆ่าตัวตาย ข่าวกระแสหนึ่งระบุว่าโรแบสปีแยร์พยายามทำอย่างหลังนี้ แต่กระสุนพลาดไปถูกคางทำให้เขาบาดเจ็บขณะที่อีกกระแสหนึ่งระบุว่าเขาถูกยิงแต่กระสุนพลาดเป้า

 ตอนสายของวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ โรแบสปีแยร์และพวกถูกศาลปฏิวัติพิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยเครื่องกิโยตีนในข้อหาเป็นเผด็จการ เป็นทรราช และเป็นภัยต่อสาธารณรัฐ รวมอายุได้ ๓๖ ปีโดยมีช่วงเวลาของการเป็นนักการเมืองและนักปฏิวัติเพียง ๕ ปี และไม่มีประวัติการมีครอบครัว.



คำตั้ง
Robespierre, Maximilien François Marie Isidore de
คำเทียบ
นายมักซีมีเลียง ฟรองซัว มารี อีซีดอร์ เดอ โรแบสปีแยร์
คำสำคัญ
- กฎหมายเดือนมิถุนายน
- กลุ่มชีรงแด็ง
- กลุ่มสามสิบเสียง
- การทลายคุกบาสตีย์
- กูตง, ชอร์ช
- เขตเลือกตั้งอาร์ตัว
- คอมมูนแห่งปารีส
- คำปฏิญาณสนามเทนนิส
- แซง-จูส, ลุย อองตวน เลอง เดอ
- ด็องตง, ชอร์ช ชาก
- เดมูแล็ง, กามีล
- บาร์รา, ปอล นีโกลา เดอ
- พวกกษัตริย์นิยม
- เพน, ทอมัส
- ฟรองซัว, มักซีมีเลียง บาร์เตเลอมี
- มงแตสกีเยอ
- ระบอบเก่า
- รูโซ, ชอง-ชาก
- ลาฟาแยต, มาร์กี เดอ
- วาดีเย, มาร์ กีโยม อาแลกซี อัลแบร์
- วีลเนิฟว์, เชโรม เปตียง เดอ
- ศาลปฏิวัติ
- ศาลศาสนา
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สภาฐานันดร
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สมัยภูมิธรรม
- สมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว
- เอแบร์, ชาก เรอเน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1758-1794
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๐๑-๒๓๓๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-