Revolutions of 1989 (-)

การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒)

การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ เป็นการปฏิวัติล้มล้างอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปตะวันออกและนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่เป็นรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) การปฏิวัติเริ่มต้นที่โปแลนด์โดยสหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตี (Solidarity) ได้เคลื่อนไหวท้าทายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยการเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม และนับเป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาชนในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกครั้งแรกที่ไม่ถูกปราบปรามกวาดล้าง การปฏิวัติได้ขยายตัวไปในฮังการี เยอรมนีตะวันออก เชโกสโลวะเกีย และบัลแกเรีย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นไปโดยราบรื่นและปราศจากการนองเลือดโรมาเนียเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่การโค่นอำนาจรัฐบาลคอมมิวนิสต์มีความรุนแรงและนองเลือดทั้งผู้นำประเทศถูกประหาร การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งเรียกว่าการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ (Collapse of Communism) ในยุโรปตะวันออกไม่เพียงทำให้สงครามเย็น (Cold War)* สิ้นสุดลงเท่านั้นแต่ยังนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และทำให้ยุโรปที่แตกแยกเป็น ๒ ส่วนนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* รวมเข้าด้วยกัน การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ จึงเป็นการเริ่มต้นโฉมหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์ยุโรป

 การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกลายเป็นการปฏิวัตินั้นเป็นผลสืบเนื่องจากนโยบายการปฏิรูปของประธานาธิบดีมีฮาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตที่สืบทอดอำนาจต่อจากคอนสตันติน เชียร์เนนโค (Konstantin Chernenko)* เมื่อกอร์บาชอฟเข้ารับตำแหน่งผู้นำของสหภาพโซเวียตในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๕ เขาประกาศที่จะดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยทุก ๆ ด้านตามแนวความคิดกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา (Glasnost-Perestroika)* ที่เขาเคยเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบในโอกาสต่าง ๆ มาแล้ว กลาสนอสต์ หมายถึง การเปิดกว้าง (openness) ความจริงใจ (frankness) และการวิจารณ์ตนเอง (self-criticism) ส่วนเปเรสตรอยกา หมายถึง การปรับเปลี่ยน (restructuring) นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาหรือนโยบายเปิด-ปรับจึงหมายถึง การเปิดและปรับทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจในระดับกว้างและลึก การผ่อนคลายความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการและกลไกการปกครองประเทศ และมีสิทธิเสรีภาพกว้างขวางมากขึ้นนโยบายดังกล่าวได้นำไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่ทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกในเวลาต่อมา

 นโยบายเปิด-ปรับเริ่มดำเนินการอย่างจริงจังหลังการเกิดอุบัติเหตุเชียร์โนบีล (Chernobyl Accident)* ค.ศ. ๑๙๘๖ ซึ่งสืบเนื่องจากโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองเชียร์โนบีลทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ (Kiev) ระเบิดขึ้น รัฐบาลโซเวียตซึ่งพยายามปิดข่าวในชั้นต้นยอมรับเรื่องการปิดบังข่าวสารและประกาศยกเลิกการควบคุมข่าวสารและให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีทั้งให้ตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลด้วย ผู้นำโซเวียตยังเรียกร้องให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งเป็นรัฐบริวารของโซเวียตนำแนวนโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกาไปประยุกต์ใช้ด้วย แต่ผู้นำคอมมิวนิสต์หัวเก่า เช่น เอริค โฮเนคเคอร์ (Eric Honecker)* แห่งเยอรมนีตะวันออก โทดอร์ จิฟคอฟ (Todor Zhivkov)* ผู้นำบัลแกเรีย กุสตาฟ ฮูซาก (Gustav Husak)* ผู้นำเชโกสโลวะเกีย และนีคอไล เชาเชสกู (Nicolai Ceausescu)* ผู้นำโรมาเนียต่างเพิกเฉยต่อการเรียกร้องของกอร์บาชอฟเพราะเชื่อมั่นว่านโยบายการปฏิรูปของเขาจะล้มเหลวภายในช่วงเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตาม ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์และฮังการีได้ใช้เงื่อนไขของนโยบายเปิด-ปรับปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศและเปิดโอกาสให้ขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนมีบทบาทมากขึ้นทางสังคม

 แม้กอร์บาชอฟจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปทางการเมืองและสังคม แต่การปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบสังคมนิยมมาเป็นระบบตลาดด้วยการลดการควบคุมจากส่วนกลางลงทั้งในด้านการผลิต การจำหน่าย และการกำหนดราคา ตลอดจนการส่งเสริมให้ธุรกิจเอกชนมีบทบาทมากขึ้นกลับล้มเหลวเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและกลไกการดำเนินงานไม่เอื้ออำนวยและไม่พร้อมสำหรับระบบเศรษฐกิจเสรีโดยเฉพาะการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ ประเทศตะวันตกซึ่งสหภาพโซเวียตหวังจะขอความช่วยเหลือทางการเงินก็ไม่เชื่อมั่นในแนวนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของกอร์บาชอฟ ความล้มเหลวของการปฏิรูปเศรษฐกิจมีส่วนทำให้กอร์บาชอฟหันมาเน้นด้านนโยบายต่างประเทศให้มีลักษณะยืดหยุ่นและผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการผ่อนคลายความตึงเครียดและเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๗ มีการประชุมสุดยอดระหว่างกอร์บาชอฟกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน (Ronald Reagan) แห่งสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และ ผลสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้คือทั้ง ๒ ประเทศ อภิมหาอำนาจลงนามร่วมกันในความตกลงลดกำลังอาวุธนิวเคลียร์พิสัยใกล้และพิสัยกลางในทวีปยุโรปลงทั้งหมดในปีต่อมา สหภาพโซเวียตยังปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ดีขึ้นด้วยการตกลงแก้ไขปัญหาพรมแดนที่ยืดเยื้อมานานโดยยอมรับแนวแม่นํ้าอุสซูรี (Ussuri) ตอนกลางเป็นพรมแดนระหว่างทั้ง ๒ ประเทศ ในเดือนเมษายนก็ประกาศจะถอนกำลังทหารโซเวียตออกจากอัฟกานิสถานซึ่งยึดครองนานถึง ๘ ปีโดยจะถอนกำลังให้หมดสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๘๙ ทั้งจะร่วมเจรจาหารือกับสหรัฐอเมริกาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในแองโกลาและนิการากัวรวมทั้งในนามิเบีย (Namibia) ด้วย ต่อมาในเดือนพฤษภาคม กอร์บาชอฟเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกและนับเป็นผู้นำโซเวียตคนแรกหลังจากครุชชอฟที่เดินทางไปจีน

 การดำเนินนโยบายต่างประเทศใหม่ดังกล่าวของสหภาพโซเวียตไม่เพียงทำให้สาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ ที่ร่วมในสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะสามรัฐบอลติก (Baltic States)* ประกอบด้วยเอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนียเริ่มเคลื่อนไหวแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตเท่านั้น แต่ยังทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายปฏิรูปในประเทศยุโรปตะวันออกเห็นเป็นโอกาสเรียกร้องการปฏิรูปต่าง ๆ ภายในประเทศมากขึ้นด้วย ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ กอร์บาชอฟได้เสนอแนวความคิดเรื่อง “บ้านของชาวยุโรปร่วมกัน” (The Common European Home) โดยเน้นการสร้างความร่วมมือกันของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปแทนการเผชิญหน้ากันด้วยกำลังอาวุธหรือการใช้กำลังกองทัพคุกคาม ในปลายปีเดียวกันนั้น กอร์บาชอฟได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* และประกาศว่าสหภาพโซเวียตจะไม่ใช้ “กำลังและการคุกคามด้วยกำลัง” เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ สหภาพโซเวียตจะลดจำนวนกองกำลังที่ประจำการอยู่ในประเทศยุโรปตะวันออกลงและจะไม่ใช้กำลังทหารเช้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศยุโรปตะวันออกดังเช่นที่เคยดำเนินการใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ค.ศ. ๑๙๕๖ และ ค.ศ. ๑๙๖๘ อีกต่อไป คำประกาศของกอร์บาชอฟและแนวนโยบายต่างประเทศใหม่ของสหภาพโซเวียตมีนัยว่า หลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* ที่เป็นพื้นฐานนโยบายการควบคุมประเทศยุโรปตะวันออกและการรักษาความมั่นคงของระบอบสังคมนิยมโดยรวมที่ใช้มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ ถึงกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ ได้ถูกยกเลิก และนับเป็นการเริ่มต้นของการสิ้นสุดของสงครามเย็น กลุ่มคอมมิวนิสต์ฝ่ายปฏิรูปจึงเร่งผลักดันขบวนการปฏิรูปต่าง ๆ ภายในประเทศมากขึ้นจนนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ในที่สุด

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ซึ่งนำไปสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ฤดูใบไม้ร่วงแห่งประชาชาติ” (Autumn of Nations) เริ่มต้นที่โปแลนด์และตามด้วยฮังการี และภายในเวลาอันรวดเร็วก็ขยายตัวไปยังประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ในโปแลนด์ สหภาพแรงงานเสรีหรือโซลิดาริตีซึ่งมี เลค วาเลซา (Lech Walesa)* ช่างไฟฟ้าเป็นผู้นำมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไปเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนและการปรับปรุงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนงาน โซลิดาริตีได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกระดับชั้นและคาร์ดินัลคาโรล วอยติลา (Karol Wojtyla) ซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ได้รับเลือกเป็นสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ (John Paul II)* ก็สนับสนุนทางอ้อมด้วย แม้นายพลวอยเซซ จารูเซลสกี (Wojciech Jaruzelski) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์จะใช้กำลังปราบปรามโซลิดาริตีหลายครั้งทั้งประกาศยุบโซลิดาริตีแต่ก็ไม่สามารถทำลายศรัทธาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อโซลิดาริตีได้ ในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ โปแลนด์ยกเลิกกฎอัยการศึก โซลิดาริตีจึงพื้นคืนจากการเคลื่อนไหวใต้ดินเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวของประชาชนอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. ๑๙๘๘ รัฐบาลคอมมิวนิสต์โปแลนด์ซึ่งเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการชุมนุมนัดหยุดงานของโซลิดาริตีได้ตระหนักว่าไม่สามารถใช้กำลังบังคับให้คนงานกลับเข้าทำงานได้และสหภาพโซเวียตก็ปฏิเสธที่จะช่วยเหลือด้วยการเข้าแทรกแซง รัฐบาลจึงหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจด้วยการเจรจาตกลงกับโซลิดาริตีซึ่งนำไปสู่การเจรจาโต๊ะกลมร่วมกันระหว่างวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงที่จะประนีประนอมกันในการปฏิรูปเศรษฐกิจ และให้โซลิดาริตีเป็นองค์กรที่ถูกกฎหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนโดยเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองอื่น ๆ ลงสมัครเลือกตั้งได้

 รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ยังยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกการปกครองแบบพรรคเดียวและฟื้นฟูบทบาทของคริสตจักรรวมทั้งให้สิทธิเสรีภาพทางการเมือง ในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้น ทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงกันว่าจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร (Sejm) ๒ ใน ๓ เป็นของผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคที่มีอุดมการณ์เดียวกันส่วนที่เหลือเป็นที่นั่งของผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่นั่งในสภาสูง ๑๐๐ ที่เปิดกว้างให้เลือกกันได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเลือกชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งได้อย่างอิสระซึ่งมีนัยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถปฏิเสธชื่อผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ในที่นั่งที่สงวนไว้ให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้ ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๔ และ ๑๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ผลปรากฏว่า ผู้สมัครจากโซลิดาริตีชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมทันโดยได้ที่นั่งในสภาล่าง ๑๖๐ ที่นั่งจาก ๑๖๑ ที่นั่ง และสภาสูง ๙๒ ที่นั่งจาก ๑๐๐ ที่นั่ง ผู้สมัครคนสำคัญหลายคนจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองกว่า ๔๐ ปีได้เสียงสนับสนุนไม่เพียงพอที่จะได้รับเลือกเข้าสู่สภา โซลิดาริตีจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นปกครองประเทศและเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามและกวาดล้างโซลิดาริตีดังเช่นเหตุการณ์ใน ค.ศ. ๑๙๘๑ วาเลซาได้โน้มน้าวให้โซลิดาริตียอมให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีมหาดไทยทั้งให้จารูเซลสกียังคงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีโดยทาเดอุช มาโซวิซกี (Tadeusz Mazowiecki) ผู้แทนโซลิดาริตีเป็นนายกรัฐมนตรี โปแลนด์จึงเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกที่มีรัฐบาลซึ่งคอมมิวนิสต์เป็นเสียงส่วนน้อยและมีนายกรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

 หลังการจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลใหม่เริ่มดำเนินการสลายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์และปฏิรูประบบเศรษฐกิจแบบใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไปในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ สหภาพโซเวียตก็ประกาศว่าจะไม่เข้าแทรกแซงในยุโรปตะวันออกเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่ประชาชนไม่ยอมรับและจะเปิดโอกาสให้ประเทศยุโรปตะวันออกแต่ละประเทศดำเนินนโยบายอิสระตาม “วิถีของตนเอง” คำประกาศดังกล่าวจึงเป็นที่มาของหลักการซิเนตรา (Sinatra Doctrine) ซึ่งมีแนวคิดเหมือนเนื้อเพลง “My Way” ของแฟรงค์ ซิเนตรา (Frank Sinatra) นักร้องชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง ต่อมาในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๐ พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ได้ยุบลงและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) และเลค วาเลซา ผู้นำพรรคโซลิดาริตีได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศซึ่งเปลี่ยนชื่อจากสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (Poland People’s Republic) เป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์จึงสิ้นสุดลง

 ในฮังการี ยานอช คาดาร์ (János Kádár)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีซึ่งเริ่มปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจมาตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๗๐ จนระบอบการปกครองของฮังการีได้ชื่อว่าเป็น “คอมมิวนิสต์กูลาช” (Goulash Communism) หรือคอมมิวนิสต์แบบฮังการีที่มีนโยบายเปิดกว้างและเสรีมากกว่าประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ก็ใช้เงื่อนไขของนโยบายเปิด-ปรับปฏิรูปประเทศมากขึ้นในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ แต่การปฏิรูปของคาดาร์ยังไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปในพรรคและปัญญาชนหนุ่มสาวที่มีแนวความคิดเสรีนิยม ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ คาดาร์จึงถูกบีบให้ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคไปเป็นประธานพรรคซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไร้อำนาจ คาโรลี โกรช (Karoly Grosz) ผู้นำคนใหม่ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปอย่างกว้างขวางในทุกระดับได้ดำรงตำแหน่งสืบแทนคาดาร์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๘๘ เขาผลักดันการปฏิรูปมากขึ้น เป็นต้นว่า ให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอิสระขึ้นและยกเลิกการควบคุมบริเวณพรมแดน ต่อมาในเดือนมิถุนายนมีการแต่งตั้งคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปอีก ๓ คนให้เป็นผู้นำร่วมกับโกรชโดยบริหารปกครองแบบระบบผู้นำรวม คณะผู้นำรวมได้ดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองครั้งใหญ่โดยสนับสนุนให้รัฐสภามีมติกำหนดกรอบการปฏิรูปเป็นระยะ ๆ ที่เรียกว่า “ชุดประชาธิปไตย” (democratic package) ซึ่งให้เสรีภาพแก่สื่อสิ่งพิมพ์และการชุมนุมของประชาชนและองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการออกกฎหมายเลือกตั้งใหม่ซึ่งรับรองสิทธิทางการเมืองของพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พรรคคอมมิวนิสต์ตลอดจนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเดือนเดียวกัน กลุ่มปัญญาชนและนักศึกษาได้รวมตัวจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้น ๓ พรรค คือ Hungarian Democratic Forum, Alliance of Free Democrats และ Alliance of Young Democrats ในเวลาต่อมาทั้ง ๓ พรรคมีบทบาทสำคัญทางการเมืองและเป็นที่นิยมของประชาชนในกลางเดือนมิถุนายนพรรคคอมมิวนิสต์มีมติให้กู้เกียรติทางสังคมคืนแก่ อิมเร นอจ (Imre Nagy)* อดีตผู้นำประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นศัตรูของประชาชน และยกย่องเขาเป็นวีรบุรุษแห่งชาติตลอดจนให้จัดพิธีศพเขาขึ้นใหม่โดยให้เป็นงานรัฐพิธีที่กรุงบูดาเปสต์ (Budapest) ในวันที่ ๑๖ มิถุนายนซึ่งมีประชาชนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนมาร่วมงาน ในเดือนกรกฎาคม มีการเลือกตั้งซ่อมสมาชิกรัฐสภาและเป็นครั้งแรกที่มีผู้สมัครจากพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นลงสมัครแข่งขันกับพรรคคอมมิวนิสต์ ผลปรากฏว่าพรรคคอมมิวนิสต์พ่ายแพ้ซึ่งนำไปสู่ข้อตกลงทางการเมืองระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่จะเปลี่ยนระบบการเมืองเป็นระบบพหุพรรคเพื่อเตรียมการในการเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๙๐

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ พรรคคอมมิวนิสต์ฮังการีจัดประชุมใหญ่พรรคเป็นครั้งสุดท้าย และมีมติให้ยุบพรรคโดยเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมฮังการี (Hungarian Socialist Party) ทั้งให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นระบอบรัฐสภา รัฐสภาฮังการีจึงมีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น ระหว่างวันที่ ๑๖-๒๐ ตุลาคมซึ่งถือว่าเป็นการประชุมสำคัญทางประวัติศาสตร์รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายใหม่ ๆ หลายฉบับและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รับรองระบบพหุพรรค การคํ้าประกันสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง การแบ่งแยกอำนาจการปกครองเป็น ๓ ฝ่าย คือ ตุลาการ นิติบัญญัติ และบริหารตลอดจนการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐประชาชนฮังการี (Hungary People’s Republic) เป็นสาธารณรัฐฮังการี (Republic of Hungary) ฮังการีจึงเริ่มต้นรูปแบบการปกครองในแนวทางประชาธิปไตยนับแต่นั้นมา

 ต่อมา ในการเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นประชาธิปไตยครั้งแรกของประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ มีพรรคการเมืองกว่า ๒๐ พรรคลงสมัครเลือกตั้งแข่งกับพรรคสังคมนิยมฮังการี พรรคสังคมนิยมฮังการีได้ที่นั่งเพียง ๓๓ ที่นั่งจาก ๓๘๖ ที่นั่ง ความพ่ายแพ้ดังกล่าวจึงเป็นการสิ้นสุดของอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อและนับเป็นการพ่ายแพ้ของความพยายามก่อการปฏิวัติจากเบื้องบน ในปีต่อมา กองทหารโซเวียตที่ประจำการตามพรมแดนก็เริ่มถอนกำลังออกและกองทหารโซเวียตหน่วยสุดท้ายได้ถอนกำลังออกจากดินแดนฮังการี เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๑

 เมื่อฮังการียกเลิกการควบคุมเข้มงวดทางด้านพรมแดนและรื้อถอนสิ่งกีดขวางรวมทั้งทำลายกับระเบิดบริเวณพรมแดนในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๘๙ ชาวเยอรมันตะวันออกประมาณ ๕,๐๐๐ คน ที่เดินทางมาพักผ่อนที่ฮังการีก็เห็นเป็นโอกาสหลบหนีไปเยอรมนีตะวันตกโดยใช้เส้นพรมแดนฮังการี-ออสเตรียและในปลายเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๘๙ จำนวนผู้หลบหนีก็เพิ่มขึ้นเกือบ ๓๐,๐๐๐ คน รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกจึงสั่งห้ามการเดินทางไปฮังการีซึ่งทำให้เชโกสโลวะเกียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ชาวเยอรมันตะวันออกจะใช้เป็นเส้นทางหลบหนีไปยังเยอรมนีตะวันตกขณะเดียวกันชาวเยอรมันตะวันออกกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ก็ไปรวมตัวกันที่สถานทูตเยอรมนีตะวันตกในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ เพื่อขอลี้ภัยโดยเฉพาะที่กรุงปราก (Prague) ซึ่งระหว่างเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายนชาวเยอรมันตะวันออกนับหมื่นคนตั้งค่ายพักในสวนสาธารณะและบริเวณพื้นที่ใกล้สถานทูตเพื่อรอขอหนังสือเดินทางไปเยอรมนีตะวันตกเพราะตามกฎหมายของเยอรมนีตะวันตก ทันทีที่ชาวเยอรมันตะวันออกเหยียบดินแดนเยอรมนีตะวันตกก็จะได้สิทธิเป็นพลเมืองเยอรมนีตะวันตกและรัฐบาลจะจัดหาที่พักและงานอาชีพให้

 ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๘๙ ชาวเยอรมันตะวันออกที่ต่อต้านรัฐบาลได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรทางการเมืองขึ้นโดยเรียกชื่อว่า นิวโฟรัม (New Forum) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยคนหนุ่มสาว ผู้นำทางศาสนา เกย์ นักดนตรีแนวพังก์ร็อก นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ ซึ่งเรียกตนเองว่า “คนนอก” (outsiders) มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนิวโฟรัมสามารถโน้มน้าวประชาชนให้ร่วมชุมนุมเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องการปฏิรูปตามเมืองใหญ่ ๆ และในเวลาอันรวดเร็วการเดินขบวนของประชาชนก็ขยายตัวกว้างมากขึ้น ต่อมา เมื่อรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกสั่งปิดพรมแดนด้านเชโกสโลวะเกียในต้นเดือนตุลาคม ชาวเยอรมันตะวันออกที่รวมตัวกันหน้าสถานทูตในกรุงปรากต่างโกรธแค้นและเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล กระแสคลื่นความไม่พอใจ ของประชาชนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปตามเมืองต่าง ๆ ในเยอรมนีตะวันออกโดยเฉพาะที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) ในวันที่ ๓ ตุลาคม เอริค โฮเนคเคอร์ ผู้นำพรรคเอกภาพสังคมนิยม (Socialist Unity Party-SED) ออกคำสั่งให้กองทัพสามารถ “ยิงและฆ่า” (shoot and kill) ผู้ที่ต่อต้านได้และให้กองกำลังตำรวจสตาซี (Stasi) หรือตำรวจลับและหน่วยกำลังของพรรคเตรียมการกวาดล้างใหญ่จนเกิดข่าวลือว่ารัฐบาลจะปฏิบัติการกวาดล้างด้วยกำลังรถลังตามแบบเหตุการณ์การปราบปรามของรัฐบาลจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน (Tiananmen) ในต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ การเดินขบวนต่อต้านจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดโฮเนคเคอร์ ยอมโอนอ่อนและเจรจาตกลงกับชาวเยอรมันตะวันออกที่ลี้ภัยในสถานทูตให้เดินทางไปเยอรมนีตะวันตกไดโดยรัฐบาลจะจัดขบวนตู้รถไฟปิดเดินทางผ่านเยอรมนีตะวันออกซึ่งผู้อพยพทั้งหมดจะถูกเนรเทศอย่างเป็นทางการ

 เมื่อเยอรมนีตะวันออกเฉลิมฉลองวาระครบรอบ ๔๐ ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) ในเดือนตุลาคมประธานาธิบดีกอร์บาชอฟซึ่งมาร่วมงานฉลองระหว่างวันที่ ๖-๗ ตุลาคม ได้เตือนโฮเนคเคอร์ถึงพลังของประชาชนที่กำลังเข้มแข็งขึ้นทุกขณะและขอให้เขายอมรับเรื่องการปฏิรูปทั้งแจ้งว่ากองทหารโซเวียตที่ประจำการในเยอรมนีตะวันออกจะไม่ปฏิบัติการช่วยเหลือใด ๆ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในช่วงการเยือนเยอรมนีตะวันออก ปัญญาชนและนักศึกษาจะติดตามขบวนชองกอร์บาชอฟและเรียกร้องให้เขาช่วยผลักดันการปฏิรูป ในคืนวันที่ ๗ ตุลาคม กลุ่มปัญญาชนจำนวนหนึ่งที่รวมตัวกันที่เมืองชวันเทอ (Schwante) นอกกรุงเบอร์ลินได้จัดตั้งพรรคการเมืองอิสระขึ้นเป็นพรรคแรกในเยอรมนีตะวันออกโดยให้ชื่อว่าพรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) อย่างไรก็ตาม โฮเนคเคอร์ปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปและยืนกรานที่จะใช้กำลังเข้าปราบปราม การเดินขบวนต่อต้านรัฐบาลจึงก่อตัวขึ้นและที่เมืองไลพ์ซิกในวันที่ ๙ ตุลาคม ประชาชนกว่า ๘๐,๐๐๐ คน ซึ่งจุดเทียนไขในมือเดินชบวนอย่างสงบไปรวมตัวกันสวดมนต์ที่โบสถ์ การเดินขบวนดังกล่าวเป็นที่จับจ้องกันทั่วโลก ในวันเดียวกันรัฐบาลก็เตรียมการกวาดล้างอย่างรุนแรง แต่ด้วยแรงกดดันจากนานาประเทศในยุโรปรัฐบาลเยอรมนีตะวันออกยกเลิกการปราบปรามและยอมให้การเดินขบวนดำเนินต่อไป ประชาชนเดินขบวนไปตามท้องถนนพร้อมกับตะโกนว่า “เราคือคน” (We are the people) แต่อีก ๑ เดือนต่อมา เสียงตะโกนก็เปลี่ยนเป็น “เราคือคนชาติเดียวกัน” (We are one people) ซึ่งมีนัยว่าพวกเขาต้องการให้รวมเยอรมนีที่ถูกแบ่งแยกให้เป็นประเทศเดียว

 การต่อต้านของประชาชนที่มีขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้พรรคเอกภาพสังคมนิยมบีบบังคับให้โฮเนคเคอร์ลาออกในวันที่ ๑๘ ตุลาคม และแต่งตั้งเอกอน เครนซ์ (Egon Krenz)* ผู้นำพรรคปฏิรูปให้ดำรงตำแหน่งแทน เครนต์พยายามแก้ไขสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมด้วยการประกาศจะใช้แนวทางเปเรสตรอยกามาดำเนินการปฏิรูปหลายด้านตามข้อเรียกร้องของประชาชน และให้นิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่หนีข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมายทั้งเปิดพรมแดนด้านเชโกสโลวะเกียอีกครั้งหนึ่ง แต่นโยบายดังกล่าวไม่ทำให้กระแสการต่อต้านรัฐบาลลดลง ในต้นเดือนพฤศจิกายนรัฐบาลเช็กก็อนุญาตให้ชาวเยอรมันตะวันออกเดินทางผ่านไปยังเยอรมนีตะวันตกได้อย่างอิสระซึ่งทำให้จำนวนชาวเยอรมันตะวันออกหลั่งไหลเข้าสู่เยอรมนีตะวันตกผ่านเชโกสโลวะเกียไม่ขาดสาย รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกซึ่งถูกสถานการณ์กดดันจึงประกาศยอมให้ประชาชนเดินทางไปเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันตกได้อย่างอิสระโดยผ่านจุดตรวจพรมแดนที่มีอยู่ทั้งจะให้มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยตลอดจนการยกเลิกการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ ในวันที่ ๙ พฤศจิกายน กุนเทอร์ ชาบอฟสกี (Gunter Schabowski) ผู้แทนโปลิตบูโรแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่ารัฐบาลพร้อมจะเปิดพรมแดนให้ประชาชนเดินทางไปเยอรมนีตะวันตกและเบอร์ลินตะวันตก เมื่อนักข่าวประเทศตะวันตกถามเขาว่าการเปิดพรมแดนจะเริ่มขึ้นเมื่อใด ชาบอฟสกีตอบโดยไม่ไตร่ตรองว่าการเปิดพรมแดนจะมีผลโดยทันที คำตอบดังกล่าวทำให้ชาวเบอร์ลินตะวันออกซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าพวกเขาต้องยื่นขอหนังสือเดินทางพิเศษจากรัฐบาลก่อนและต้องใช้เวลารออย่างน้อย ๑ วันจึงจะสามารถเดินทางได้ต่างหลั่งไหลไปรวมตัวกันที่จุดข้ามพรมแดนเป็นจำนวนกว่า ๑๐,๐๐๐ คน ตำรวจประจำพรมแดนพยายามสกัดกั้นและทำให้ผู้คนที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โกรธเคืองจนในที่สุดตำรวจต้องยอมเปิดประตูพรมแดนให้ประชาชนเดินทางได้ รัฐบาลจึงประกาศเปิดเส้นพรมแดนกับเยอรมนีตะวันตกและเปิดจุดผ่านแดนบริเวณกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* รวม ๕ แห่ง

 ทันทีที่รัฐบาลอนุญาตให้ประชาชนเดินทางได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องประทับตราหนังสือเดินทาง ชาวเยอรมันในกรุงเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออกก็เฉลิมฉลองและเต้นรำบนกำแพงเบอร์ลินตลอดทั้งคืน วันที่ ๙ พฤศจิกายน จึงนับได้ว่าเป็นวันที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง ต่อมาในวันที่ ๓ ธันวาคม รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ประกาศสละอำนาจยุบหน่วยตำรวจลับและกำหนดการเลือกตั้งเสรีทั่วไปครั้งแรก ในรอบ ๔๐ ปีขึ้นในวันที่ ๑๘ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ ในวันที่ ๑๒ ธันวาคม มีการเปิดเส้นผ่านแดนบริเวณประตูบรันเดนบูร์ก (Brandenburg Gate) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ขวางกั้นกรุงเบอร์ลินการเปิดเส้นผ่านแดนดังกล่าวจึงนำไปสู่การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออก การทำลายกำแพงเบอร์ลิน และการรวมเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกเข้าเป็นประเทศเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งการรวมประเทศสำเร็จสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๙๐

 การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในเยอรมนีตะวันออกนับได้ว่าเป็นสัญญาณของวิกฤตการณ์ที่ส่งผลต่อระบอบสังคมนิยมโซเวียตทั้งหมดเพราะตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๕๐ เยอรมนีตะวันออกถูกสหภาพโซเวียตใช้เป็นตัวอย่างในฐานะเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ที่เข้มแข็งทางอุตสาหกรรมและทันสมัยที่สุดในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตซึ่งโดยความจริงก็ยังคงล้าหลังกว่าเยอรมนีตะวันตกในด้านการผลิตและนวัตกรรมรวมทั้งสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน การที่สหภาพโซเวียตยอมให้เยอรมนีตะวันออกหลุดจากการควบคุมในขณะที่มีกองทหารโซเวียตกว่า ๖๐๐,๐๐๐ คนประจำการในดินแดนเยอรมนีตะวันออกจึงสะท้อนว่าระบอบคอมมิวนิสต์และอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งเป็นทางเลือกของระบอบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคได้พังพินาศลงและยังทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของสหภาพโซเวียตในฐานะประเทศอภิมหาอำนาจทั้งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้วยเพราะความขัดแย้งระหว่างยุโรปตะวันตกกับยุโรปตะวันออกที่มีกำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ได้ยุติลง

 การลี้ภัยของชาวเยอรมันตะวันออกโดยใช้เส้นทางผ่านเชโกสโลวะเกียและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในฮังการีและโปแลนด์มีส่วนกระตุ้นให้ชาวเช็กเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์และเรียกร้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ซึ่งเป็นขบวนการปัญญาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๗-๑๙๘๙ เพื่อล้มล้างอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ กลุ่มกฎบัตร ๗๗ ซึ่งรณรงค์ให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมอย่างต่อเนื่องได้รวมตัวกับกลุ่มต่อต้านต่าง ๆ เป็นขบวนการประชาธิปไตย ที่เรียกชื่อว่า ซีวิกโฟรัม (Civic Forum) โดยมีวาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* นักเขียนบทละครแนวเสียดสีเป็นผู้นำ ต่อมา ในวันศุกร์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันนักศึกษาสากล (International Students Day) และเป็นวาระครบรอบ ๕๐ ปีที่นักศึกษาเช็กถูกรัฐบาลนาซีสังหารในช่วงการยึดครองระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นักศึกษาได้จัดชุมนุมเดินขบวนอย่างสงบเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ ครั้งนั้น สหภาพสังคมนิยมแห่งเยาวชน (Socialist Union of Youth) ซึ่งเป็นองค์การเยาวชนสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ที่สมาชิกส่วนใหญ่ต้องการการปฏิรูปทางการเมืองจึงเห็นเป็นโอกาสเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วย รัฐบาลใช้กำลังตำรวจปราบปรามผู้ชุมนุมซึ่งทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต่าง ๆ โกรธแค้นและเช้าร่วมต่อต้านรัฐบาลด้วย ในวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน นักศึกษาและประชาชนกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน ชุมนุมอย่างสงบและเรียกร้องให้ปลดผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีส่วนรับผิดชอบในการปราบปรามผู้ชุมนุม และให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองซีวิกโฟรัมประกาศว่าจะจัดชุมนุมเดินขบวนครั้งใหญ่ทั่วประเทศเป็นเวลา ๒ ชั่วโมงในวันจันทร์ที่ ๒๗ พฤศจิกายน

 การต่อต้านที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทำให้รัฐบาลซึ่งควบคุมสถานการณ์ไม่ได้เริ่มหวาดวิตกและขอเปิดการเจรจากับฮาเวลผู้นำขบวนการซีวิกโฟรัม ฮาเวลเรียกร้องการปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยและให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิก “สถานภาพปกครอง” (ruling position) ของพรรคคอมมิวนิสต์รวมทั้งให้ปล่อยนักโทษการเมืองและมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่น ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชค (Alexander Dubček)* อดีตผู้นำประเทศที่จุดชนวนการปฏิรูปในเหตุการณ์ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก (Prague Spring)* ค.ศ. ๑๙๖๘ ซึ่งเก็บตัวเงียบมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๘ ก็ปรากฏตัวในที่สาธารณะและร่วมสนับสนุนฮาเวล การเคลื่อนไหวต่อต้านจึงมีพลังมากขึ้นและจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมในกรุงปรากกว่า ๓๕๐,๐๐๐ คนเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก ด้วยแรงกดดันจากประชาชนผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และโปลิตบูโรจึงประกาศลาออก คาเรล อูร์บาเนค (Karel Urbánek) คอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปได้เป็นผู้นำพรรคคนใหม่และเขาสัญญาที่จะดำเนินการปฏิรูปตามข้อเรียกร้องของประชาชน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ซีวิกโฟรัมเป็นแกนนำในการจัดชุมนุมประท้วงทั่วไประหว่างเวลา ๑๒.๐๐-๑๔.๐๐ นาฬิกาซึ่งประชาชนร้อยละ ๗๕ เข้าร่วมการประท้วงครั้งนี้ อีก ๒ วันต่อมามีการยกเลิกมาตราในรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นองค์กรหลักในการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ปราศจากการนองเลือดครั้งนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า การปฏิวัติกำมะหยี่ (Velvet Revolution)*

 ในต้นเดือนตุลาคม รัฐบาลสั่งรื้อถอนลวดหนามและสิ่งกีดขวางต่าง ๆ จากพรมแดนด้านออสเตรียและเยอรมนีตะวันตก ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ประธานาธิบดีฮูซาก ก็ลาออกจากตำแหน่งและมีการจัดตั้งคณะรัฐบาลชั่วคราวที่ไม่มีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เข้าร่วมขึ้นบริหารประเทศและเตรียมการเลือกตั้ง ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ฮาเวลได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่และดูบเชกได้เป็นประธานรัฐสภา การปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ของเชโกสโลวะเกียจึงสิ้นสุดลง ในปีต่อมามีการเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐสังคมนิยมเชโกสโลวะเกียเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐเช็กและสโลวัก (Czech and Slovak Federal Republic) เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐

 ในบัลแกเรีย การเคลื่อนไหวต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อตัวขึ้นที่กรุงโซเฟีย (Sofia) ในต้นฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๘๙ และขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ สาเหตุสำคัญของการต่อต้านสืบเนื่องจากการดำเนินนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นบัลแกเรีย (Bulgarianization) ของพรรคคอมมิวนิสต์ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๔-๑๙๘๙ ซึ่งทำให้ชาวบัลแกเรียเชื้อสายเติร์กกว่า ๓๐๐,๐๐๐ คนถูกเนรเทศไปตุรกี การใช้นโยบายดังกล่าวมีสาเหตุจากในกลางทศวรรษ ๑๙๘๐ มีชาวเติร์กจำนวนมากอพยพเข้ามาเป็นแรงงานภายในประเทศ พรรคคอมมิวนิสต์จึงหวาดระแวงว่าแรงงานอพยพดังกล่าวจะมีส่วนทำให้พลเมืองเชื้อสายเติร์กซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยถูกโน้มน้าวให้ยอมรับอำนาจและอิทธิพลของตุรกี รัฐบาลจึงบังคับให้พลเมืองเชื้อสายเติร์กเปลี่ยนบัตรประจำตัวและชื่อภาษาอาหรับเป็นภาษาบัลแกเรียและห้ามประกอบกิจกรรมทางศาสนา มาตรการดังกล่าวทำให้พลเมืองเชื้อสายเติร์กก่อการประท้วงโดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International)* รัฐบาลตอบโต้ด้วยการจับกุมคุมขังและเนรเทศทั้งห้ามการชุมนุมรวมตัวในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคด้านแนวนโยบายระหว่างกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวปฏิรูปที่สนับสนุนนโยบายเปิด-ปรับของสหภาพโซเวียตกับกลุ่มหัวอนุรักษ์ที่ต่อต้านซึ่งนำไปสู่การขับผู้นำคนสำคัญของกลุ่มปฏิรูปออกจากพรรคก็สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นทั่วไป ขณะเดียวกันภาวะเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยและการวิพากษ์โจมตีพรรคคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงและต่อเนื่องก็ทำให้การชุมนุมต่อต้านของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคมมีพลังและเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกขณะจนพรรคคอมมิวนิสต์ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

 ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ มีการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและกลุ่มผู้ชุมนุมได้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง เมื่อข่าวการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินเป็นที่รับทราบกันทั่วไป กระแสการต่อต้านรัฐบาลและการเรียกร้องการปฏิรูปก็ขยายตัวกว้างมากขึ้นจนพรรคคอมมิวนิสต์ยอมปลดโทดอร์ จิฟคอฟผู้นำพรรคที่ปกครองประเทศนานถึง ๓๕ ปีออกจากตำแหน่งและขับออกจากพรรคเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เขาถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทุจริตและฉ้อฉลระหว่างอยู่ในอำนาจรวมทั้งข้อหาการใช้อำนาจในทางมิชอบด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชังทางเชื้อชาติ เปตาร์ มลาดินอฟ (Petar Mladenov) ผู้นำพรรคสายกลางได้สืบทอดอำนาจต่อจากจิฟคอฟ เขาประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศตามแนวทางประชาธิปไตยโดยยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและกำหนดการเลือกตั้งเสรีทั่วไปครั้งแรกขึ้นในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๙๐ ขณะเดียวกัน พรรคคอมมิวนิสต์ก็ปรับโครงสร้างองค์กรพรรคและเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคสังคมนิยมบัลแกเรีย (Bulgarian Socialist Party) ทั้งสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๑ ที่ยึดรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวนับเป็นการเริ่มต้นของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแทนระบอบคอมมิวนิสต์

 ในช่วงเวลาที่การสิ้นสุดอำนาจเผด็จการของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกอื่น ๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยปราศจากการนองเลือด แต่ในโรมาเนียการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกลับมีความรุนแรงและโชกเลือดเนื่องจากประธานาธิบดีนีคอไล เชาเชสกูซึ่งปกครองประเทศอย่างเข้มงวดตลอดระยะเวลา ๒๔ ปี นับตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๖๕ เป็นต้นมา เป็นที่เกลียดชังของประชาชนอย่างมาก เขาฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาลและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงทั้งไม่ใส่ใจต่อการปฏิรูปทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศเพื่อนบ้านและสหภาพโซเวียตเพราะไม่มีขบวนการต่อต้านใดเข้มแข็งพอที่จะต่อสู้เขาได้อีกทั้งฐานอำนาจทางทหารและตำรวจของเขาเชสกูก็แข็งแกร่งมาก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๘๙ เชาเชสกูในวัย ๗๑ ปียังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีก ๕ ปีซึ่งนับเป็นวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่ ๖ เขาประกาศยืนยันที่จะไม่มีการปฏิรูปทางการเมืองแต่อย่างใดและจะปราบปรามการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลอย่างเด็ดขาด

 อย่างไรก็ตาม ในกลางเดือนธันวาคม เกิดเหตุการณ์เล็ก ๆ ที่เป็นชนวนทำให้ความอดทนของประชาชนสิ้นสุดลงจนถึงจุดแตกหัก รัฐบาลได้สั่งย้ายบาทหลวงลาซโล เตอเกส (László Tõkés) เชื้อสายฮังการีออกจากเมืองทีมิชวารา (Timişoara) เตอเกชเคยเทศน์ต่อต้านระบบปกครองที่กดขี่ของเชาเชสกู และคัดค้านนโยบายการทำลายล้างหมู่บ้านฮังการีเกือบ ๘,๐๐๐ แห่งในแคว้นทรานซิลเวเนีย (Transylvania) ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ เพื่อสร้างชุมชนอุตสาหกรรมเกษตรใหม่ขึ้นแทน การสั่งย้ายบาทหลวงเตอเกสทำให้ชาวโรมาเนียและชาวฮังการีนับหมื่นคนชุมนุมเดินขบวนประท้วงในวันที่ ๑ ธันวาคม รัฐบาลสั่งปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างเด็ดขาด ในช่วงนั้นเชาเชสกูเดินทางไปเยือนอิหร่านต่อมาในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ตำรวจเข้าจับกุมบาทหลวงเตอเกสที่บ้านพัก ประชาชนและนักศึกษาได้ชุมนุมประท้วง ทหาร ตำรวจ และซิกูริเตต (Securitate) หรือหน่วยรักษาความปลอดภัยได้ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม เหตุการณ์จึงบานปลายเป็นการก่อจลาจลรวม ๕ วัน

 เมื่อเชาเชสกูกลับจากอิหร่านในเย็นวันที่ ๒๐ ธันวาคม เขาพบว่าสถานการณ์เลวร้ายลงและการชุมนุมได้ก่อตัวขึ้นที่กรุงบูคาเรสต์และตามเมืองต่าง ๆ เชาเชสกูจึงออกโทรทัศน์ประณามโจมตีผู้ชุมนุมอย่างรุนแรงและในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ก็จัดการชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อสนับสนุนรัฐบาลขึ้นในกรุงบูคาเรสต์ทั้งสั่งทหารและซิกูริเตตให้สลายการชุมนุมของประชาชน ปฏิบัติการของรัฐบาลและการเผยแพร่ข่าวการปราบปรามจากสถานีวิทยุกระจายเสียงของประเทศตะวันตกกลับทำให้ประชาชนรวมกำลังกันลุกฮือต่อต้านรัฐบาลมากขึ้น และภายในเวลาอันรวดเร็ว การต่อต้านก็ขยายตัวไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทหารและซิกูริเตตซึ่งในตอนแรกปฏิบัติตามคำสั่งของเชาเชสกูในการยิงประชาชนแต่ในเช้าวันที่ ๒๒ ธันวาคม ทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพก็หันมาเข้าร่วมกับประชาชนต่อต้านเชาเชสกูและซิกูริเตต และกองกำลังรถลังซึ่งมีมวลชนติดตามเบื้องหลังบุกอาคารที่ทำการของรัฐบาล แต่เชาเชสกูและภรรยาสามารถหลบหนีออกจากกรุงบูคาเรสต์โดยเฮลิคอปเตอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นเขาและภรรยาถูกจับกุมที่เมืองติร์โกวีชเต (Trigovişte) ซึ่งห่างจากกรุงบูคาเรสต์ประมาณ ๗๕ กิโลเมตร คนทั้งสองถูกควบคุมตัว ๓ วันและในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ศาลทหารซึ่งจัดตั้งขึ้นอย่างรวดเร็วได้ใช้เวลาเพียง ๑ ชั่วโมง ครึ่งตัดสินประหารชีวิตเชาเชสกูและภรรยาด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบทั้งทุจริตคดโกงประเทศชาติและประชาชนและให้ยิงเป้าคนทั้งสองทันที

 ในวันที่เชาเชสกูหลบหนีออกจากกรุงบูคาเรสต์มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมชั่วคราวขึ้นซึ่งได้ประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนียเป็นโรมาเนียทั้งกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๙๐ แต่ต่อมาไต้เลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๐

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ หรือที่เรียกกันว่าการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกยังส่งผลกระทบต่อแอลเบเนียและยูโกสลาเวียซึ่งดำเนินนโยบายเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียตด้วย ในแอลเบเนีย รามิซ อาเลีย (Ramiz Alia) ผู้นำคนใหม่ซึ่งสืบทอดอำนาจจากเอนเวอร์ โฮซา (Enver Hoxha)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๖ ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังก่อตัวขึ้นทั้งในสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออก เขาจึงประกาศที่จะดำเนินนโยบายปฏิรูปสังคมและผ่อนคลายความเข้มงวดทางการปกครองอย่างค่อยเป็นค่อยไป และขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์ไว้อย่างมั่นคง เมื่อข่าวการปฏิวัติในประเทศยุโรปตะวันออกต่าง ๆ มาถึงแอลเบเนีย นักศึกษาและประชาชนได้ชุมนุมรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปมากขึ้นและเร็วขึ้น จนนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ครั้งแรกที่เมืองชโกดรา (Shkodra) ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ ในเวลาอันรวดเร็วการชุมนุมก็ขยายตัวไปทั่วประเทศ พรรคแรงงานแอลเบเนีย (Labour Party of Albania-PLA) พยายามควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมด้วยการประกาศจะปฏิรูปสถาบันการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในขอบเขตที่เหมาะสมรวมทั้งจะนำระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีมาใช้ นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้พรรคแรงงานแอลเบเนียยังคงรักษาอำนาจไว้ได้ และในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๐ ก็ยอมให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและกำหนดการเลือกตั้งเสรีทั่วไปครั้งแรกขึ้นในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๑

 การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกยังทำให้ปัญหาเรื่องเชื้อชาติกลายเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย (Socialist Federal Republic of Yugoslavia) จนนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ประธานาธิบดีสลอบอดาน มีโลเซวิช (Slobodan Milošević)* แห่งสาธารณรัฐเซอร์เบียซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขของสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียเรียกร้องไม่ให้รัฐต่าง ๆ แยกตัวออก และประกาศนโยบายการสร้างชาติเซอร์เบียใหญ่ (Greater Serbia) ด้วยการรวมชาวเซิร์บในดินแดนต่าง ๆ เข้าเป็นประเทศเดียวกัน เมื่อรัฐบาลเซอร์เบียดำเนินการยุบสถานภาพจังหวัดอิสระที่ปกครองตนเอง (autonomous province) ของคอซอวอ (Kosovo)* โดยผนวกเข้ากับเซอร์เบียในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๙ นโยบายดังกล่าวก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในสาธารณรัฐต่าง ๆ ที่ร่วมในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวียซึ่งประกอบด้วยเซอร์เบีย โครเอเชีย มอนเตเนโกร มาซิโดเนีย สโลวีเนีย และบอสเนีย-เฮอร์เซโกวินาและนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช สโลวีเนียและโครเอเชียสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้สำเร็จใน ค.ศ. ๑๙๙๑ และตามด้วยสาธารณรัฐอื่น ๆ ในเวลาต่อมา สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยม ยูโกสลาเวียจึงล่มสลายลง

 การล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของประวัติศาสตร์ยุโรปังเช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ (Russian Revolution of 1917)* จักรวรรดิโซเวียตในยุโรปตะวันออกได้ล่มสลายลงและการแบ่งแยกยุโรปที่มีกำแพงเบอร์ลินเป็นสัญลักษณ์ก็สิ้นสุดลงด้วย ในการปฏิวัติที่เกิดขึ้นประชาชนใช้แนวทางการเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจรัฐอย่างสันติ เช่นเดียวกับแนวอหิงสาของมหาตมาคานธี (Mahatma Gandhi) เฮนรี เดวิด ทอร์โร (Henry David Thoreau) และมาร์ติน ลูเทอร์ คิง (Martin Luther King) ซึ่งทำให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมหลังการปฏิวัติจะมีเสถียรภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นผลสืบเนื่องที่สำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้คือ ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ ประธานาธิบดีกอร์บาชอฟแห่งสหภาพโซเวียตและประธานาธิบดีจอร์จ บุช (George Bush) แห่งสหรัฐอเมริกาได้เปิดการเจรจาสุดยอดร่วมกันเป็นครั้งแรกที่มอลตา (Malta) ระหว่างวันที่ ๑-๒ ธันวาคมบนเรือรบของทั้ง ๒ ฝ่ายในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนท่ามกลางพายุซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดหมายมาก่อน การประชุมครั้งนี้ซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า “การประชุมเมาเรือ” (seasick summit) นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือและการสร้างมิตรภาพอันดีระหว่าง ๒ ประเทศอภิมหาอำนาจหลังจากที่เคยต่อต้านและเป็นศัตรูกันมานานกว่า ๔๐ ปี ผู้นำทั้ง ๒ ประเทศ ร่วมลงนามประกาศการยุติภาวะสงครามเย็นในยุโรปและแม้จะไม่บรรลุข้อตกลงใด ๆ อีก แต่การประชุมครั้งนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของสงครามเย็นและนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างประเทศยุโรปตะวันตกกับประเทศยุโรปตะวันออกที่จะรวมกันเป็นยุโรปเดียวในเวลาต่อมา สื่อมวลชนได้กล่าวว่าทั้ง ๒ ประเทศอภิมหาอำนาจได้ร่วมมือกันฝังสงครามเย็นไว้ที่ก้นทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและนับเป็นการเริ่มต้นของสันติภาพอันมั่นคง ในปลาย ค.ศ. ๑๙๘๙ กอร์บาชอฟก็ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร Times ของสหรัฐอเมริกาให้เป็น“บุรุษแห่งทศวรรษ” (Man of the Decade) ด้วย

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ ยังมีผลกระทบต่อสหภาพโซเวียตด้วย กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวของสาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ เพื่อแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียตและทำให้บอริส เยลต์ซิน (Boris Yeltsin)* คู่ปรับทางการเมืองของกอร์บาชอฟเห็นเป็นโอกาสเรียกร้องใทัมีการปฏิรูปอย่างรวดเร็วขึ้นโดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจ กอร์บาชอฟเริ่มควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมภายในประเทศไม่ได้ และต่อมากองทัพและกลุ่มคอมมิวนิสต์อนุรักษนิยมได้ก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจแต่ล้มเหลวหลังรัฐประหารเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ สาธารณรัฐโซเวียตต่าง ๆ ก็ทยอยประกาศแยกตัวเป็นเอกราชยกเว้นคาซัคสถาน (Kazakhstan) และสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ขณะเดียวกัน เยลต์ซินก็มีบทบาทและอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นจนมีฐานะเป็นเสมือนผู้นำประเทศแทนกอร์บาชอฟ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๙๑ เยลต์ซินแอบเจรจาตกลงกับผู้นำของยูเครนและเบลารุส (Belarus) ร่วมกันลงนามจัดตั้งเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States-CIS)* ขึ้นที่กรุงมินสก์ (Minsk) เมืองหลวงของเบลารุสเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ การจัดตั้งเครือรัฐเอกราชจึงนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตและกอร์บาชอฟก็ต้องประกาศลาออกจากการเป็นผู้นำประเทศเมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ซึ่งทำให้สงครามเย็นสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ

 การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ สะท้อนถึงความล้มเหลวของระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจโลกที่ทันสมัยและก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั้งไม่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในปริมาณมาก ๆ แบบระบบเศรษฐกิจทุนนิยมข้ามชาติและกระบวนการแบ่งงานผลิตในระดับนานาชาติได้ การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ จึงถือเป็นจุดจบของยุคสมัยหนึ่งของประวัติศาสตร์โลกที่เริ่มจากการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซียซึ่งนำปีศาจแห่งการปฏิวัติและลัทธิคอมมิวนิสต์หลอนหลอกโลก นักประวัติศาสตร์ลัทธิมากซ์ที่เคยเชื่อว่าการปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นเสมือนประตูสู่อนาคตของประวัติศาสตร์โลกจึงเป็นฝ่ายผิดพลาดเพราะความสำเร็จที่ยืนยาวของการปฏิวัติเดือนตุลาคมคือการทำให้โลกที่พัฒนาแล้วปลอดภัยอีกครั้งหนึ่งสำหรับระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยม หลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกไม่นานนัก ศาสตราจารย์ ฟรานซิส ฟุกุยะมะ (Francis Fukuyama) ที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้เขียนบทความตีพิมพ์ในนิตยสารกิจการระหว่างประเทศรายเดือน The National Interest เรื่อง “The End of History” ซึ่งต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๙๒ ฟุกุยะมะขยายความคิดของบทความเป็นหนังสือชื่อ The End of History and the Last Man ในบทความที่พิมพ์ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ ฟุกุยะมะเสนอความคิดว่า การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ คือจุดจบของประวัติศาสตร์และเป็นจุดจบของอุดมการณ์เพราะแนวความคิดของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ว่าด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ได้พ่ายแพ้ต่ออุดมการณ์ทุนนิยม เสรีนิยม และประชาธิปไตยเสรีนิยม ทั้งการปกครองแบบประชาธิปไตยเสรีนิยมจะเป็นรูปแบบการปกครองเดียวที่รัฐและประเทศต่าง ๆ ยึดถือ แนวความคิดของฟุกุยะมะจึงมีนัยว่าการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์ในกลุ่มประเทศองค์การกติกาสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact)* ใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เป็นการสิ้นสุดของระบบโลกในยุคสงครามเย็น (Cold War System) และเป็นการเริ่มต้นของโครงสร้างของระบบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นเรียกว่าระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น (Post Cold War System) ซึ่งลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือการขยายตัวของโลกาภิวัตน์ (globalization) ทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม รวมทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต.



คำตั้ง
Revolutions of 1989
คำเทียบ
การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
คำสำคัญ
- กลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- กลุ่มกฎบัตร ๗๗
- กอร์บาชอฟ, มีฮาอิล
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- การปฏิวัติกำมะหยี่
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- การปฏิวัติรัสเซีย
- การปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗
- การประชุมเมาเรือ
- การผ่อนคลายความตึงเครียด
- กำแพงเบอร์ลิน
- โกรช, คาโรลี
- คอมมิวนิสต์กูลาช
- คาดาร์, ยานอช
- เครนซ์, เอกอน
- เครือรัฐเอกราช
- โครเอเชีย
- จารูเซลสกี, วอยเซซ
- จิฟคอฟ, โทดอร์
- ชาบอฟสกี, กุนเทอร์
- เชโกสโลวะเกีย
- เชียร์เนนโค, คอนสตันติน
- ซิกูริเตต
- ซีวิกโฟรัม
- ทอร์โร, เฮนรี เดวิด
- นโยบายกลาสนอสต์
- นโยบายกลาสนอสต์-เปเรสตรอยกา
- นโยบายการสร้างชาติเซอร์เบียใหญ่
- นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นบัลแกเรีย
- นโยบายเปิด-ปรับ
- นอจ, อิมเร
- นามิเบีย
- นิวโฟรัม
- บัลแกเรีย
- เบลารุส
- เปเรสตรอยกา
- พรรคคอมมิวนิสต์โรมาเนีย
- พรรคแรงงาน
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมบัลแกเรีย
- พรรคสังคมนิยมฮังการี
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคเอกภาพสังคมนิยม
- มลาดินอฟ, เปตาร์
- มากซ์, คาร์ล
- มีโลเซวิช, สลอบอดาน
- ยูโกสลาเวีย
- ยูโกสลาเวีย, สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยม
- ยูเครน
- เยลต์ซิน, บอริส
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- ระบบโลกในยุคสงครามเย็น
- ระบบโลกยุคหลังสงครามเย็น
- รัฐบริวารโซเวียต
- รัฐบอลติก
- โรมาเนีย
- ฤดูใบไม้ผลิแห่งกรุงปราก
- ฤดูใบไม้ร่วงแห่งประชาชาติ
- ลัทธิมากซ์
- ลิทัวเนีย
- วอยติลา, คาร์ดินัลคาโรล
- วาเลซา, เลค
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาซี
- สหประชาชาติ
- สหภาพสังคมนิยมแห่งเยาวชน
- หลักการซิเนตรา
- หลักการเบรจเนฟ
- องค์การนิรโทษกรรมสากล
- อุบัติเหตุเชียร์โนบีล
- อูร์บาเนค, คาเรล
- เอสโตเนีย
- ฮูซาก, กุสตาฟ
- โฮซา, เอนเวอร์
- โฮเนคเคอร์, เอริค
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๕๓๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-