การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ หรือที่มีชื่อเรียกในบางประเทศว่า “ฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ” (Spring of Nations) “ช่วงฤดูใบไม้ผลิของประชาชาติ” (Springtime of the Peoples) และ “ปีแห่งการปฏิวัติ” (Year of the Revolution) เป็นเหตุการณ์การปฏิวัติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ในดินแดนต่าง ๆ ของยุโรประหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙ การปฏิวัติเริ่มจากเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ (French Revolution of 1848)* ทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระบอบสาธารณรัฐและจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ (Second French Republic)* ความสำเร็จของการปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาอันรวดเร็วได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมและลัทธิชาตินิยมก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจปกครองของรัฐบาลอนุรักษนิยมหรือรัฐบาลต่างชาติ จนกลายเป็นการปฏิวัติใหญ่ที่เกิดขึ้นไปทั่วยุโรป ทำให้พวกอำนาจเก่าส่วนใหญ่ต้องสูญเสียบทบาทผู้นำลงไปชั่วขณะหนึ่ง แต่ท้ายที่สุด ก็สามารถกลับมาจัดตั้งรัฐบาลอนุรักษนิยมหรือยึดอำนาจคืนได้อีกครั้ง และการปฏิวัติโดยทั่วไปก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ
การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เป็นผลจากอุดมการณ์เสรีนิยมและชาตินิยมที่บ่มเพาะมาตั้งแต่การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars)* และสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars)* โดยประชาชนต้องการมีส่วนร่วมในการปกครองหรือต้องการให้ชาติของตนเข้มแข็ง หรือรวมดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่ให้เป็นปึกแผ่นและกำจัดอิทธิพลของต่างชาติออกไปแต่อุดมการณ์ดังกล่าวได้ถูกรัฐบาลอนุรักษนิยมปฏิเสธกอปรกับระหว่าง ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๔๗ ประชาชนต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจและการว่างงานของคนจำนวนมากที่เกิดจากภาวะทุพภิกขภัยที่ปรากฏทั่วไปในยุโรปจึงทำให้การเผชิญหน้าระหว่างประชาชนกับรัฐบาลมีความเข้มข้นมากขึ้นและเกิดการต่อต้านรัฐบาลในฝรั่งเศสชนชั้นกลางทั่วไปและชนชั้นล่างได้ผนึกกำลังกันล้มล้างรัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ ฟิลิป (Louis Philippe ค.ศ. ๑๘๓๐-๑๘๔๘)* ในเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ หรือ “การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์” (February Revolution) ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๘ กุมภาพันธ์ และประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ นับเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญและทำให้การปฏิวัติขยายตัวไปยังประเทศต่าง ๆ จนกลายเป็นการปฏิวัติเกือบทั่วทุกดินแดนในยุโรป ที่สำคัญได้แก่การปฏิวัติในดินแดนเยอรมันจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)* และอิตาลีส่วนประเทศสำคัญที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สเปน จักรวรรดิรัสเซีย รวมทั้งคองเกรสแห่งโปแลนด์ (Congress of Poland) และจักรวรรดิออตโตมัน
อย่างไรก็ดี แม้การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ จะได้รับการจารึกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ หรือ “ฤดูใบไม้ผลิแห่งประชาชาติ” ที่ดอกไม้แห่งการปฏิวัติเบ่งบาน แต่นักประวัติศาสตร์บางคนก็ให้เหตุการณ์การปฏิวัติในราชอาณาจักรซิซิลีทั้งสอง (Kingdom of the Two Sicilies) ที่อยู่ในอำนาจปกครองของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๔๘ เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เพราะการปฏิวัติครั้งนี้แม้จะไม่มีผลโดยตรงกับประเทศอื่น ๆ แต่ก็สามารถล้มล้างอำนาจของราชวงศ์บูร์บงและทำให้ซิซิลีเป็นรัฐเอกราชเป็นเวลาถึง ๑๖ เดือนก่อนที่ราชวงศ์บูร์บงจะหวนกลับมามีอำนาจอีกในช่วงระยะเวลาดังกล่าวซิซิลีประสบความสำเร็จในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีความก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างมากฉบับหนึ่ง
โดยทั่วไป การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เกิดขึ้นในเมืองหลวงและนครหรือเมืองใหญ่ของประเทศต่าง ๆ โดยมีลักษณะร่วมกันคือ พวกชนชั้นกลาง ปัญญาชน และนักศึกษามักร่วมมือกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพตามอุดมการณ์เสรีนิยมและทำให้ชาติเข้มแข็งขึ้นตามอุดมการณ์ชาตินิยม นอกจากนี้ พวกเขายังรวมพลังกับคนงานในเขตเมืองซึ่งต่างได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของพวกเขาให้ดีขึ้นอย่างไรก็ดี ในเวลาต่อมาชนชั้นกลาง ปัญญาชน นักศึกษาและคนงานต่างมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ต่างกันและทำให้แนวร่วมระหว่างพวกเขาสิ้นสุดลงในเวลาอันรวดเร็วโดยเฉพาะในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนในชนบทพวกชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่มักมีปฏิกิริยาตอบสนองการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย ทั้งนี้ เพราะพวกเขามีความสนใจและความต้องการที่แตกต่างไป โดยเน้นปัญหาที่ดินและการเป็นเจ้าของที่ดิน
ในกรณีฝรั่งเศส การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลสั่นสะเทือนไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรปจากกรุงปารีสไปยังบรรดาเมืองหลวงและเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วทั้งดินแดนเยอรมันและอิตาลี จากกรุงเบอร์ลินในปรัสเซียไปสู่กรุงเวียนนา กรุงปราก และกรุงบูดา-เปสต์ในจักรวรรดิออสเตรีย พวกชนชั้นกลางและคนงานต่างร่วมมือกันเรียกร้องการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีผลให้พระเจ้าหลุยส์ ฟิลิปต้องสละราชสมบัติ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งการปกครองในระบอบสาธารณรัฐขึ้น ต่อมา ได้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเอาใจพวกคนงานและป้องกันพวกคนงานก่อความวุ่นวายได้มีการจัดตั้งโรงงานแห่งชาติ (National Workshop) ขึ้นเพื่อคํ้าประกัน “สิทธิในการมีงานทำ” (le droit au travail) ของพลเมืองทุกคนเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงาน อย่างไรก็ดี เมื่อโรงงานแห่งชาติไม่สามารถจัดหางานให้คนงานทุกคนที่อพยพจากชนบทเข้ามายังกรุงปารีสและกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางก็สั่งยุบโรงงานแห่งชาติ ก่อให้เกิดการจลาจลในหมู่คนงาน และ “รัฐบาลชนชั้นกลาง” ก็ได้ใช้กองกำลังรักษาการณ์แห่งชาติ (National Guard) ทำการปราบปรามอย่างทารุณ ความร่วมมือระหว่างชนชั้นกลางกับคนงานจึงยุติลง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เป็น “มรดก” จากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ก็คือการให้สิทธิแก่พลเมืองชายทุกคนที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปออกเสียงเลือกตั้งได้ ซึ่งฝรั่งเศสนับเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ให้สิทธินี้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันสิทธิดังกล่าวก็ทำให้ชาวไร่ชาวนาและเจ้าของที่ดินซึ่งส่วนใหญ่มีแนวคิดอนุรักษนิยมและไม่เคยมีเป้าหมายทางการเมืองร่วมกับพวกก่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ในกรุงปารีสกลับใช้เสียงของพวกตนสนับสนุนเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียน (Louis Napoleon)* พระภาติยะในจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoloen I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ฟื้นฟูอำนาจของราชวงศ์โบนาปาร์ต (Bonaparte)* ทำให้เจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกและคนเดียวของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ต่อมาพระองค์ก็สามารถจัดให้มีการลงประชามติและจัดตั้งจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ ๒ (Second Empire of France)* ได้สำเร็จในปลาย ค.ศ. ๑๘๕๒ เป็นการเปลี่ยนผลสำเร็จของการปฏิวัติที่เกิดจากอุดมการณ์เสรีนิยมใน ค.ศ. ๑๘๔๘ ให้เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนในการสร้างชาติตามอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งต่อมาเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนหรือจักรพรรดินโปเลียนที่ ๓ (Napoleon III ค.ศ. ๑๘๕๒-๑๘๗๐)* จะทรงใช้เป็นนโยบายสำคัญในการปกครองประเทศและการต่างประเทศด้วย
ส่วนในดินแดนเยอรมันความสำเร็จของการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ในฝรั่งเศสได้กระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติเดือนมีนาคม (March Revolution) ขึ้นในรัฐเยอรมันทางใต้และตะวันตก ซึ่งรวมทั้งในกรุงเบอร์ลิน นครหลวงของราชอาณาจักรปรัสเซีย เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพจากเจ้าผู้ครองรัฐ รวมทั้งการรวมชาติเยอรมัน (Unification of Germany)* เสรีภาพในการเสนอข่าวสาร และความเป็นอิสระของสภา โดยมีปัญญาชนและนักศึกษาเป็นแกนนำและมีชนชั้นแรงงานสนับสนุน นำไปสู่การจัดตั้งสภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต (Frankfurt National Assembly)* ขึ้นแทนสภาสหพันธ์ (Federal Diet) และยุบสมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)* ซึ่งประกอบด้วยรัฐและเสรีนครจำนวน ๓๙ แห่ง โดยรัฐต่าง ๆ รวมทั้งปรัสเซียและออสเตรียส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมด้วย
อย่างไรก็ดี ในเวลาไม่ช้าสมาชิกสภาแห่งชาติก็เกิดความแตกแยกกันระหว่างพวกเสรีนิยมสายกลางที่ต้องการให้มีการสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและให้สิทธิเลือกตั้งโดยจำกัดกับพวกอนุรักษนิยมและพวกหัวรุนแรงเกี่ยวกับรูปแบบของการปกครองและขอบเขตของจักรวรรดิ พวกอนุรักษนิยมต้องการให้รวมออสเตรียซึ่งปกครองชนกลุ่มน้อยจำนวนมากเข้ากับดินแดนเยอรมันเรียกว่าเยอรมนีใหญ่ (Grossdeutsch - Great Germany) ส่วนพวกหัวรุนแรงต้องการแยกออสเตรียออกจากดินแดนเยอรมันซึ่งเรียกว่า เยอรมนีเล็ก (Kleindeutsch - Small Germany) แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงทำให้สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียด กอปรกับปัญหาการว่างงานของคนงานและช่างฝีมือที่ไม่สามารถแข่งขันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วทั้งยังต้องเสียภาษีเครื่องอุปโภคและบริโภคอีกด้วย ก่อให้เกิดการจลาจลของกลุ่มคนดังกล่าวและการบุกเข้าทำลายเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เกิดความวุ่นวายทางสังคมขึ้น จึงทำให้ความร่วมมือระหว่างชนชั้นกลางกับพวกคนงานสิ้นสุดลงด้วย
ขณะเดียวกัน ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๔๙ สภาแห่งชาติซึ่งมีมติเลือกเยอรมนีเล็กในการจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันก็ถูกพระเจ้าเฟรเดอริก วิลเลียมที่ ๔ (Frederick William IV ค.ศ. ๑๘๔๐-๑๘๖๑)* ซึ่งในขณะนั้นทรงสามารถควบคุมเหตุการณ์การปฏิวัติในปรัสเซียได้แล้วปฏิเสธที่จะรับพระอิสริยยศจักรพรรดิและพระประมุขแห่งจักรวรรดิเยอรมันที่จะจัดตั้งขึ้น ทั้งยังทรงเหยียดหยามที่จะรับ “มงกุฎที่ใช้ฝุ่นธุลีอบ” (crown baked of dirt) จากสภาฯ โดยทรงตั้งเงื่อนไขว่ามงกุฎที่พระองค์จะรับนั้นต้องมาจากการทูลเกล้าฯ ถวายจากบรรดาเจ้าผู้ครองนครรัฐต่าง ๆ เท่านั้นการปฏิเสธดังกล่าวจึงเป็นการทำลายความหวังของพวกชาตินิยมที่จะรวมดินแดนเยอรมันให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีผลให้สภาแห่งชาติแฟรงเฟิร์ตต้องสิ้นสุดลงในเวลาต่อมา นับเป็นการปราชัยของฝ่ายปฏิวัติในดินแดนเยอรมันด้วย
ในจักรวรรดิออสเตรีย การเคลื่อนไหวปฏิวัติได้เริ่มขึ้นในฮังการีซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใต้การปกครองของออสเตรียโดยในวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๔๘ ขณะที่ข่าวการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ ได้แพร่กระจายไปยังดินแดนต่าง ๆ ลายอช คอชุท (Lajos Kosuth)* นักชาตินิยมฮังการีและนักเขียนที่มีชื่อเสียงในการต่อต้านอำนาจปกครองของออสเตรียได้ใช้ที่ประชุมของรัฐสภาที่เขาเป็นผู้แทนจากมณฑลเปสต์เป็นเวทีอภิปรายให้ฮังการีกำจัด “มือที่ตายแล้ว” (dead hand) ของกรุงเวียนนาออกจากการควบคุมฮังการีในเวลาไม่ช้างานของเขาก็ได้รับการแปลจากภาษาแมกยาร์เป็นภาษาเยอรมันและถูกส่งไปเผยแพร่ทั่วภาคตะวันตกของจักรวรรดิออสเตรีย ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการปฏิรูปที่ดิน การปกครองและระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการยกเลิกการเซนเซอร์หนังสือและสิ่งตีพิมพ์ ในที่สุดก็สามารถปลุกระดมให้นักศึกษาและปัญญาชนในกรุงเวียนนาซึ่งถูกลิดรอนสิทธิมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานก่อการจลาจลขึ้นในวันที่ ๑๓ มีนาคม เพื่อเรียกร้องเสรีภาพและการปฏิรูปต่าง ๆ เหตุการณ์ได้บานปลายจนกลายเป็นความรุนแรงที่ทำให้เจ้าชายเคลเมนส์ ฟอน เมทเทอร์นิช (Klemens Fürst von Metternich)* อัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ครองอำนาจติดต่อกันเป็นเวลา ๓๗ ปี ผู้ได้ชื่อว่าเป็น “พวกปฏิกิริยา” (reactionary) ซึ่งมีอุดมการณ์ต่อต้านลัทธิเสรีนิยม ชาตินิยมหรือการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมในรูปแบบต่าง ๆ ต้องลาออกจากตำแหน่ง นับเป็นการสิ้นสุดของ “ยุคเมทเทอร์นิช” (Age of Metternich) ที่นโยบายอนุรักษนิยมของออสเตรียมีอิทธิพลในวงการทูต อย่างไรก็ดี การลาออกจากตำแหน่งของเมทเทอร์นิชดังกล่าวก็ไม่สามารถหยุดยั้งการจลาจลและการปฏิวัติในจักรวรรดิออสเตรียได้ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติในแนวชาตินิยมของชนชาติในดินแดนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรีย ที่สำคัญได้แก่ พวกแมกยาร์ในฮังการีและพวกอิตาลีในมิลาน ทัสกานี และวินีเชีย
เมื่อข่าวการปฏิวัติในกรุงเวียนนาแพร่ไปยังฮังการีรัฐสภาฮังการีก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน รวมทั้งการจัดตั้งรัฐสภาแห่งชาติขึ้น และให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาและสิทธิเสมอภาคทางกฎหมายแก่ชาวฮังการีทุกชนชั้นส่วนสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งจะพิจารณาจากอาชีพ รายได้ และความมั่นคงทางสังคม ในด้านความสัมพันธ์กับออสเตรียนั้น ฮังการียังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิต่อไป อย่างไรก็ดี ฮังการีประสบความสำเร็จอย่างราบรื่นแต่ในระยะแรก ๆ เท่านั้น การดำเนินนโยบายปกครองตนเองจากอำนาจของออสเตรียทำให้ชนกลุ่มน้อยในฮังการี โดยเฉพาะชาวโครแอต (Croat) ในโครเอเชีย (Croatia) พยายามเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเองและเป็นอิสระจากฮังการีด้วย แต่ฮังการีก็ล่งกองทัพเข้าปราบปรามออสเตรียจึงเห็นเป็นโอกาสที่จะเข้าแทรกแซง โดยแต่งตั้งให้บารอนยอซีป ยอลาชซี (Josip Jolacci) ผู้เกลียดชังชาวแมกยาร์อย่างเข้ากระดูกดำเป็นข้าหลวงโครเอเชีย ในไม่ช้ายอลาชซีก็ใช้กระแสชาตินิยมในโครเอเชียและความต้องการของชาวโครแอดที่จะแก้แค้นฮังการีให้เป็นประโยชน์ในการทำสงครามกับฮังการีโดยยกกองทัพโครเอเชีย ข้ามพรมแดนฮังการีเพื่อปราบปราม “กบฏในฮังการี” การปฏิวัติฮังการีจึงกลายเป็น “สงครามประกาศอิสรภาพ” เพื่อให้หลุดพ้นจากอำนาจของออสเตรีย รัฐบาลใหม่ ของฮังการีซึ่งมีคอชุทเป็นผู้นำสามารถต้านกองกำลังของจักรวรรดิได้เป็นเวลาเกือบ ๑ ปี แต่ต่อมากองทัพฮังการี ก็พ่ายแพ้แก่กองทัพรัสเซียที่มีจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คนสนธิกำลังกับกองทัพออสเตรียอีก ๑๗๕,๐๐๐ คน การปฏิวัติในฮังการีจึงสิ้นสุดลง คอชุทสามารถหลบหนีข้ามพรมแดนไปยังตุรกีได้ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๔๙
ส่วนการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ในคาบสมุทรอิตาลีนั้นเป็นผลมาจากการต่อต้านออสเตรียที่ยังครอบครองดินแดนบางส่วนในอิตาลีและความต้องการจะรวมชาติอิตาลีหรือรีซอร์จีเมนโต (Resorgimento)* ที่มีมานานนับสิบ ๆ ปีแล้ว เมื่อเกิดการปฏิวัติในกรุงเวียนนา ขบวนการชาตินิยมอิตาลีในรัฐต่าง ๆ เห็นเป็นโอกาสก่อกบฏเพื่อทำลายระบอบเก่า และประสบความสำเร็จในการกำจัดอำนาจของออสเตรียออกจากวินีเซีย มีการจัดตั้งสาธารณรัฐวินีเชีย (Venetian Republic) ขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้ราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ซึ่งเพิ่งได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญให้เข้าร่วมกับขบวนการชาตินิยมและทำสงครามกับออสเตรีย แต่ประสบความพ่ายแพ้อย่างราบคาบใน ค.ศ. ๑๘๔๙ ต่อมา สันตะปาปาไพอัสที่ ๙ (Pius IX ค.ศ. ๑๘๔๖-๑๘๗๘)* ซึ่งทรงสูญเสียกรุงโรมให้แก่พวกอิตาลีชาตินิยมและได้รับจัดตั้งเป็นสาธารณรัฐโรมันได้ทรงเรียกร้องให้ออสเตรีย สเปน รวมทั้งฝรั่งเศสซึ่งในขณะนั้นเจ้าชายหลุยส์ นโปเลียนเพิ่งก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๒ ที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ เข้าปราบปรามพวกปฏิวัติ ในที่สุด กองทัพออสเตรียและเนเปิลส์ก็ได้ร่วมมือกับฝรั่งเศสปะทะกับกองทัพของ จูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* นักชาตินิยมผู้นำของฝ่ายปฏิวัติจนแตกพ่าย ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๔๙ กองทัพฝรั่งเศสก็สามารถเคลื่อนทัพเข้ายึดกรุงโรมและฟื้นฟูอำนาจของสันตะปาปา นับเป็นการสิ้นสุดของสาธารณรัฐโรมันที่มีอายุเพียง ๕ เดือน พร้อม ๆ กับการล้มเหลวของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ในอิตาลี
จะเห็นได้ว่าดินแดนสำคัญ ๆ ต่างประสบกับการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ยกเว้นอังกฤษซึ่งได้ผ่านกระบวนการปฏิรูปทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม มีการออกกฎหมายคนยากจน คนชรา หญิงม่าย และเด็ก รวมทั้งผ่านร่างพระราชบัญญัติปฏิรูประบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาครั้งใหญ่ (Great Reform Bill ค.ศ. ๑๘๓๒)* ที่มีการปรับปรุงเขตเลือกตั้งใหม่และให้สิทธิชนชั้นกลางในการออกเสียงเลือกตั้ง ทำให้ระบอบการปกครองของประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นซึ่งช่วยบรรเทาการต่อต้านรัฐบาลให้เบาบางลง ส่วนรัสเซีย สภาพเศรษฐกิจและสังคมยังล้าหลังทั้งประชาชนส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกับการปกครองในระบอบเก่าและขาดแรงกระตุ้นที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ตามอุดมการณ์เสรีนิยม ขณะเดียวกัน ซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๕)* ประมุขของรัสเซียทรงดำเนินนโยบายเข้มงวดในการปกครอง ทรงจัดตั้งกองตำรวจลับเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของประชาชนทั้งใช้วีธีการปราบปรามอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาล ส่วนในด้านการต่างประเทศก็ทรงทำหน้าที่เสมือน “ตำรวจของยุโรป” (Gendarme of Europe) เมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ในฮังการี ได้ให้การช่วยเหลือออสเตรียโดยการส่งกองทัพรัสเซียไปช่วยปราบปราม นอกจากนี้ ยังทรงปิดกั้นความรู้ต่าง ๆ รวมทั้งลดจำนวนของนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยและประกาศให้วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นวิชาต้องห้าม มีการจับกุมกลุ่มปัญญาชนที่ต่อต้านรัฐบาลจึงทำให้กระแสต่อต้านซาร์และรัฐบาลของกลุ่มปัญญาชนซึ่งเป็นหัวหอกของการก่อการปฏิวัติในรัสเซียสงบนิ่งไป ชั่วระยะเวลาหนึ่ง
แม้การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ในดินแดนต่าง ๆ จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เรื่องราวการปฏิวัติก็กลายเป็นตำนานและเรื่องเล่าขานถึงการต่อสู้ของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเหล่านั้นสำหรับนักประชาธิปไตย การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ คือการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งสำคัญซึ่งในระยะยาวก็เป็นการคํ้าประกันอุดมการณ์เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ (liberty, equality, fraternity) ซึ่งเป็นหลักการของการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ ให้สืบทอดต่อไป ส่วนพวกชาตินิยมคือฤดูใบไม้ผลิแห่งความหวัง (Springtime of Hope) ที่ปลุกจิตสำนึกของชนชาติต่าง ๆ ให้ปฏิเสธการถูกกลืนสัญชาติในพหุสังคม และสร้างความหวังให้แก่พวกเขาในการกอบกู้ศักดิ์ศรีและการจัดตั้งประเทศเป็นอิสระในอนาคต ขณะเดียวกัน การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ก็ทำให้กลุ่มปัญญาชนฝ่ายซ้ายที่เชื่อมั่นในลัทธิมากซ์ (Marxism) และแนวทางการปฏิวัติตามคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ที่ได้เขียนไว้ในแถลงการณ์คอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto)* และพิมพ์เผยแพร่ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๔๘ หรือเพียง ๓ วันก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๘๔๘ เห็นว่าชนชั้นกลางได้ทรยศต่อชนชั้นแรงงานที่เป็นพันธมิตรในการร่วมกันก่อการปฏิวัติ เพราะชนชั้นกลางคำนึงถึงผลประโยชน์และข้อเรียกร้องในการปฏิรูปทางการเมืองของตนเองจนไม่ใส่ใจต่อความต้องการของชนชั้นแรงงาน ปัญญาชนลัทธิมากซ์จึงเห็นเป็นโอกาสโน้มน้าวชนชั้นแรงงานให้หันมายอมรับอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งส่งผลให้แนวความคิดสังคมนิยมมีอิทธิพลมากขึ้นในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
อย่างไรก็ดี การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ก็นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมตะวันตก การปกครองระบบรัฐสภาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัตินอกจากจะมีอำนาจในทางนิติบัญญัติแล้วยังมีอำนาจควบคุมฝ่ายบริหารในการบริหารกิจการของรัฐอีกด้วย ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ส่วนการให้สิทธิพลเมืองชายทุกคนที่มีอายุ ๒๑ ปีขึ้นไปในการออกเสียงเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสรวมทั้งการมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในหลาย ๆ ประเทศกลายเป็นแม่แบบในการพัฒนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย นอกจากนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของชาวไร่ชาวนาได้มีการยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน (serfdom) และเศรษฐกิจแบบแมเนอร์ (manorialism) ในออสเตรียและปรัสเซีย การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ ยังให้ข้อคิดและบทเรียนแก่ขบวนการชาตินิยมของทั้งเยอรมันและอิตาลีในการเคลื่อนไหวเพื่อรวมชาติให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรมด้วย ทั้งยังทำให้ออสเตรียต้องหันมาดำเนินนโยบายประนีประนอมกับฮังการีมากขึ้น จนในที่สุดได้ร่วมกันลงนามในความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี (Ausgleich ค.ศ. ๑๘๖๗)* โดยการสร้างระบอบราชาธิปไตยคู่ (Dual Monarchy)* ยกฐานะฮังการีเป็นราชอาณาจักรอิสระที่มีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ฮังการีต่อสู้ในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘.