Realpolitik (-)

การเมืองที่เป็นจริง (-)

“การเมืองที่เป็นจริง” เป็นแนวคิดและการดำเนินนโยบายที่เกิดจากการมองเหตุการณ์ทางการเมืองได้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เป็นจริงมากที่สุด แนวคิดนี่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิวัตถุนิยม (materialism) และสัจนิยม (realism) ซึ่งปรากฏชัดเจนในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบ ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่งคั่งทางวัตถุที่เป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้ยุโรปละทิ้งความสำคัญของอุดมการณ์และความใฝ่ฝันที่เคยมีมาในอันที่จะต่อสู้และนำสังคมไปสู่จุดหมายปลายทางที่เป็นสังคมในอุดมคติ การเมืองที่เป็นจริงจึงเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจและความสำเร็จของผู้นำประเทศหรือของรัฐในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ นำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยและประสบความสำเร็จไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็ตาม ผู้นำคนสำคัญที่นำแนวคิดการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้และประสบความสำเร็จอย่างมาก ได้แก่ เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี (Benito Amilcare Andrea Mussolini)* เซอร์วินสตัน เลนเนิร์ด สเปนเซอร์ เชอร์ชิลล์ (Winston Leonard Spencer Churchill)* จอมพล ชาร์ล อองเดร มารี โชแซฟ เดอโกล (Charles André Marie Joseph de Gaulle)* โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* และวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)*

 ยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ มีสีสันและเต็มไปด้วยพลังของการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลของการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) และการปฏิวัติทางความคิด (Intellectual Revolution) ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นและตามมาด้วยการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution)* ในช่วงที่ ๒ ที่เกิดขึ้นในปลายศตวรรษจึงปรากฏให้เห็นชัดว่ายุโรปมีพลังอำนาจทั้งทางด้านวัตถุและทางด้านความคิดซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ลัทธิวัตถุนิยมเน้นคุณค่าความสำคัญ และความยิ่งใหญ่ทางวัตถุที่มนุษย์จะต้องต่อสู้ให้ได้มาและรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางวัตถุ (material might) สำหรับรัฐอาจจะหมายถึงอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร ตลอดจนอาณาเขตแว่นแคว้น ซึ่งควรมีเพิ่มพูนขึ้นหรือแข็งแกร่งขึ้น และในการต่อสู้ให้ถึงจุดหมายปลายทางจะต้องเป็นปลายทางที่เอื้อมถึงได้ ไม่ใช่ปลายทางในความฝันหรือในอุดมคติที่จับต้องไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ พลังความคิดที่ขับเคลื่อนยุโรปในช่วงนั้นจึงเป็นพลังตามแนวคิดแบบสัจนิยมมากกว่าอุดมคตินิยม (idealism) ซึ่งเน้นความสำคัญของสภาพการณ์ที่เป็นจริงขณะนั้นเป็นตัวตั้ง และเมื่อนำสัจนิยมมาประยุกต์ใช้ในทางการเมืองก็ทำให้การเมืองเป็นเรื่องของการแสวงหาอำนาจและการใช้อำนาจเพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางทั้งในระยะสั้นและระยะยาวหรือ ณ ปัจจุบัน ส่วนการจะใช้อำนาจอย่างไรด้วยวิธีการใดก็สามารถกระทำได้ตราบเท่าที่สำเร็จมรรคผล แนวคิดเช่นนี้เมื่อถูกนำไปใช้อย่างสุดโต่งก็ทำให้การเมืองเป็นเรื่องอันตรายเพราะจะมีการแยกการเมืองออกจากจริยธรรมได้ง่ายขึ้นและทำให้นักการเมืองที่เก่งกาจมักถูกมองว่าเป็นคนน่าเกรงกลัวหรือแม้กระทั่งเป็นบุคคลอันตรายที่สุด

 เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค อัครมหาเสนาบดีแห่งราชอาณาจักรปรัสเซียเป็นผู้นำการเมืองที่เป็นจริงมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นคนแรก เขาได้กำหนดกรอบแนวนโยบายแห่งรัฐที่จะทำให้ปรัสเซียเป็นผู้นำในดินแดนเยอรมันและทำให้ดินแดนเยอรมันเป็นศูนย์กลางของยุโรปอย่างแท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ประเทศชายขอบอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือรัสเซียเป็นผู้นำอีกต่อไป บิสมาร์คประสบความสำเร็จในชั้นแรกด้วยการปรับปรุงและฟื้นฟูประเทศให้เข้มแข็งทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารโดยอาศัยกลไกของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่จนปรัสเซียกลายเป็นผู้นำของรัฐเยอรมนีได้ภายในระยะเวลาอันสั้นการที่เขาได้เห็นความล้มเหลวของการประชุมสภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต (National Frankfurt Assembly ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๘๔๙)* ในการรวมชาติเยอรมัน เพราะปัญญาชนใช้สภาเป็นเวทีโต้แย้งแสดงโวหารและความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่บางครั้งไกลตัวและคลุมเครือเกินไปทั้งไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน บิสมาร์คซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๖๒ จึงกำหนดนโยบาย “เลือดและเหล็ก” (blood and iron) ที่มีกรอบแนวคิดชัดเจนอธิบายได้และสามารถนำมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ นโยบายนี้เน้นความสำคัญของการทำสงครามและการใช้กำลังทางทหารในการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ของรัฐชาติ อีกทั้งยังต้องอาศัยการวางแผนงานที่รัดกุมเป็นขั้นตอน และอาศัยพลังความเข้มแข็ง ความอดทน และความเสียสละทั้งเลือดเนื้อและชีวิตของคนทั้งชาติ นโยบายเลือดและเหล็กจึงเป็นการเมืองที่เป็นจริงที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักการเมืองที่ชาญฉลาดและลึกซึ้งของบิสมาร์ค

 ในการนำนโยบายมาปฏิบัติ บิสมาร์คได้นำราชอาณาจักรปรัสเซียเข้าสู่สงคราม ๓ ครั้ง คือ สงครามกับเดนมาร์กใน ค.ศ. ๑๘๖๔ เพื่อผนวกราชรัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์ (Schleswig-Holstein) สงครามเจ็ดสัปดาห์ (Seven Weeks’ War ค.ศ. ๑๘๖๖)* เพื่อรวมรัฐเยอรมันตอนเหนือและกีดกันออสเตรียไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองในยุโรปตอนกลาง และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑)* ซึ่งบิสมาร์ควางแผนใช้สงครามนี้กระตุ้นกระแสชาตินิยมเพื่อการรวมชาติเยอรมันจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อปรัสเซียเป็นฝ่ายมีชัย เขาก็สามารถประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* พร้อมกับสถาปนาพระเจ้าวิลเลียมที่ ๑ (William I ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๘๘)* แห่งปรัสเซียเป็นไกเซอร์วิลเลียมที่ ๑ แห่งจักรวรรดิเยอรมัน ณ ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย (Versailles) ของฝรั่งเศส ซึ่งเท่ากับเป็นการหยามเกียรติรัฐบาลและประชาชนชาวฝรั่งเศสทั้งชาติด้วย

 การเมืองที่เป็นจริงหลังการรวมเยอรมนีเห็นได้ชัดเจนจากนโยบายการสร้างชาติให้เข้มแข็งทางด้านวัตถุจักรวรรดิเยอรมันมีความเป็นเอกภาพและเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรม การค้า และการลงทุน ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๙๐ บิสมาร์คคุมบังเหียนการบริหารจักรวรรดิเขาได้ทำให้จักรวรรดิเป็นปึกแผ่นมั่นคง แม้จะมีปัญหาภายในอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง หรือระหว่างกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์แตกต่างกัน แต่บิสมาร์คก็พยายามแก้ปัญหาด้วยนโยบายปรองดองในบางครั้งเพื่อให้ปัญหาอุปสรรคผ่านพ้นไปได้ ที่สำคัญที่สุดบิสมาร์คประสบความสำเร็จในการใช้มติมหาชนสนับสนุนการบริหารงานของเขาเขาจึงเป็นนักการเมืองรุ่นแรกที่เห็นความสำคัญของการใช้พลังมวลชนอย่างแท้จริง

 หลังการรวมชาติเยอรมัน บิสมาร์คเน้นนโยบายการสร้างสันติภาพและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับนานาประเทศเพื่อให้จักรวรรดิเยอรมันเป็นที่ยอมรับชองชาติต่าง ๆ และมีเวลาในการเสริมสร้างศักยภาพในฐานะประเทศผู้นำของยุโรป บิสมาร์คจึงดำเนินการทุกวิถีทางให้ยุโรปปลอดจากภาวะสงคราม เขาคิดค้น “ระบบรัฐ” (state system) หรือระบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐยุโรปขึ้น ระบบดังกล่าวคำนึงถึงอำนาจ การได้มาและการรักษาไว้ซึ่งอำนาจรัฐให้อยู่ในภาวะที่สมดุล ซึ่งในกรณีนี่หมายถึง อำนาจของจักรวรรดิเยอรมันที่จะต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการผลประโยชน์ที่ซื่อตรงให้กับประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เขาพยายามโดดเดี่ยวฝรั่งเศสและกีดกันอังกฤษ และหากจะมีการจัดระบบรัฐที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอำนาจขึ้นก็จะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเขา การดำเนินนโยบายทางการทูตของเขาจึงมีความสลับซับซ้อนมาก ใน ค.ศ. ๑๘๗๓ เขาจัดตั้งสันนิบาตสามจักรพรรดิ (Dreikaiserbund)* ซึ่งประกอบด้วยเยอรมนี รัสเซีย และออสเตรีย-ฮังการี ใน ค.ศ. ๑๘๗๘ เขาจัดให้มีการประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน (Congress of Berlin)* เพื่อแก้ไขปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๗๙ เยอรมนีทำสนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี (Dual Alliance)* กับออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งใน ค.ศ. ๑๘๘๒ ก็ได้ขยายรวมเอาอิตาลี เข้ามาไว้ในสนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี (Triple Alliance)* ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ บิสมาร์คยังได้ทำสนธิสัญญาประกันพันธไมตรี (Reinsurance Treaty)* กับรัสเซีย ระบบพันธมิตรอันซับซ้อนที่บิสมาร์คสร้างขึ้นเพื่อโดดเดี่ยวฝรั่งเศสและหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับอังกฤษเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าคนทั่วไปจะเข้าใจ แต่ก็เกิดผลดีต่อเยอรมนีเพราะทำให้ยุโรปมีสันติภาพซึ่งแม้ว่าจะเป็นสันติภาพที่ได้มาด้วยการตรึงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลาก็ตาม นับว่าบิสมาร์คประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในการนำเอาการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้ในเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ

 เมื่อยุโรปก้าวเข้าสู่ยุคของสงครามในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ และความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ขยายวงกว้างออกไปทั่วทั้งโลกและมีผลกระทบต่อคนจำนวนมหาศาลการเมืองที่เป็นจริงจึงมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นผู้นำยุโรปยุคใหม่ที่ประสบความสำเร็จและมีผลงานโดดเด่นจึงมักเป็นผู้นำที่เอาการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้ในหลาย ๆ ด้าน ในบรรดาผู้นำยุโรปที่นำการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้ได้อย่างบังเกิดผลเหนือความคาดหมายที่สุดคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* และผู้นำจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich ค.ศ. ๑๙๓๓-๑๙๔๕)* เขาเป็นอัจฉริยะทางการเมือง เป็นนักฉวยโอกาสและนักวางแผนที่สามารถ ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาได้จัดให้ประชาชนชาวเยอรมันแสดงประชามติไว้วางใจให้เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศที่เรียกว่าฟือเรอร์ (Führer)* ซึ่งทำให้เขาสามารถใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศตามที่เขาปรารถนาได้ ฮิตเลอร์ทำให้เยอรมนีกลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ (totalitarian state) โดยใช้กลไกการบริหารทุกรูปแบบในการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงให้แก่รัฐไม่ว่าจะเป็นกองทัพ กองกำลังติดอาวุธตำรวจลับหรือหน่วยปฏิบัติการด้านความมั่นคงต่าง ๆ และเหนืออื่นใดฮิตเลอร์เห็นความสำคัญของมวลชน เขาไม่เคยละเลยที่จะใช้โอกาสสื่อสารกับประชาชนโดยตรงเพื่อให้ประชาชนรับรู้ในสิ่งที่รัฐเห็นว่าประชาชนควรรู้ และหากต้องการโน้มน้าวประชาชนให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อรัฐเขาก็จะใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งถือเป็นอาวุธสำคัญในการขับเคลื่อนมวลชน ฮิตเลอร์ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลอัจฉริยะในการสื่อสารกับสาธารณชนและขับเคลื่อนมวลชนขณะเดียวกันเขาก็เป็นนักฉวยโอกาสที่ชาญฉลาดในการเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสถานการณ์ต่าง ๆ

 การเมืองที่เป็นจริงถูกฮิตเลอร์นำมาใช้ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายการรวมเยอรมันซึ่งเขาเห็นว่าควรครอบคลุมดินแดนทุกส่วนของยุโรปที่มีชาวเยอรมันอาศัยอยู่รวมทั้งออสเตรียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาด้วย ฮิตเลอร์ใช้วิธีการทางการทูต จิตวิทยา และการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๖ เพื่อให้เยอรมนีได้ดินแดนที่สูญเสียไปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๘)* เป็นต้นว่าแคว้นซาร์ (Saar) และแคว้นไรน์ (Rhineland) รวมทั้งให้เยอรมนีสามารถติดอาวุธได้อีกครั้งหนึ่ง หลัง ค.ศ. ๑๙๓๖ ฮิตเลอร์ดำเนินนโยบายเชิงรุกมากขึ้นด้วยการเข้ายึดครองออสเตรีย เชโกสโลวะเกีย และโปแลนด์และเกือบตลอดระยะเวลาการทำสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* ฮิตเลอร์ก็อยู่ในฐานะได้เปรียบด้วยปฏิบัติการเชิงรุกและยุทธวิธีแบบสงครามสายฟ้าแลบ แม้ฮิตเลอร์จะประสบความสำเร็จในการรวมเยอรมันเป็นจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ แต่เขาก็ได้สร้างความหวาดวิตกให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วทั้งยุโรป กอปรกับขบวนการต่อต้านชาวยิว (Anti-Semitism)* ที่นำไปสู่การทำลายล้างเผ่าพันธุ์ยิว (Holocaust)* ซึ่งส่งผลให้เยอรมนีกลายเป็นประเทศที่น่าหวาดกลัวจึงทำให้เกิดการรวมกลุ่มประเทศพันธมิตรในการต่อต้านอำนาจของฮิตเลอร์และพรรคนาซีและทำให้จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ ล่มสลายลงในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๕

 นักการเมืองร่วมสมัยที่มีบทบาทควบคู่กับฮิตเลอร์ คือ เบนีโต อามิลกาเร อันเดรอา มุสโสลีนี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและผู้นำ (II Duce) ของราชอาณาจักรอิตาลีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๔๓ และของสาธารณรัฐสังคมอิตาลี (Italian Social Republic) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๕ เขาเป็นผู้ให้กำเนิดลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* และทำให้อิตาลีตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการอย่างเข้มงวดของลัทธินี้ การร่วมมือกับฮิตเลอร์ทำให้มุสโสลีนีสามารถแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลของลัทธิฟาสซิสต์ในระหว่างสงครามโลกออกไปได้อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ดี แม้มุสโสลีนีจะสามารถนำประเทศไปสู่ความเป็นปึกแผ่นมั่นคง แต่สถานะของอิตาลีในสายตาโลกก็ยังเทียบกับเยอรมนีไม่ได้ จึงทำให้มุสโสลีนีต้องทำงานหนักในการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อให้อิตาลี ประสบความสำเร็จในการสร้างชาติให้แข็งแกร่งและมีพลังอำนาจในการต่อรองกับนานาประเทศได้ดียิ่งขึ้น

 มุสโสลีนีก้าวขึ้นสู่อำนาจด้วยวิถีทางที่ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่เขาต่อต้านประชาธิปไตยและนิยมเผด็จการ ด้วยความสามารถเฉพาะตัวในการแสดงออกต่อสาธารณชน เขาจึงประสบความสำเร็จทุกครั้งในการลื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ตามที่ต้องการ เขาสามารถดำเนินนโยบายตามแนวทางฟาสซิสต์ได้โดยไม่มีใครขัดขวาง อิตาลีกลายเป็นรัฐตำรวจที่ไม่มีอำนาจใดตรวจสอบได้มุสโสลีนีเห็นความสำคัญของประชาชนส่วนใหญ่ในการเป็นฐานรองรับการคงอยู่ของรัฐและของพรรคฟาสซิสต์ เขาจึงมีนโยบายเศรษฐกิจที่เอาใจประชาชนระดับล่างแต่ก็ไม่ละเลยชนชั้นนายทุนและผู้นำที่มีบทบาทในการสร้างความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจให้กับชาติ มุสโสลีนีเป็นผู้นำที่รู้และเข้าถึงการเมืองที่เป็นจริงมากที่สุดคนหนึ่ง โดยเฉพาะการเมืองที่ต้องอาศัยจิตสำนึกชองประชาชนในทุกภาคส่วนที่จะต้องยอมรับว่าอำนาจเท่านั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและความยิ่งใหญ่ของประเทศได้และการจะสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของอำนาจได้ก็ต้องอาศัยการโฆษณาชวนเชื่อเป็นหัวใจสำคัญ

 ในด้านการต่างประเทศ แม้มุสโสลีนีจะเคยต่อต้านลัทธิจักรวรรดินิยม (imperialism)* และสงครามแต่เขาก็ยอมรับสภาพที่เป็นจริงขณะนั้นว่าประเทศทั้งหลายในยุโรปล้วนต้องการขยายบทบาทและอิทธิพลของตนให้กว้างขวางที่สุด โดยอาจมีบางประเทศที่สนใจบริเวณโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งรวมถึงแอฟริกาด้วย การเมืองที่เป็นจริงทำให้มุสโสลีนีเห็นความสำคัญของลัทธิชาตินิยมรุนแรงที่จะทำให้อิตาลีพร้อมจะรุกรานหรือทำสงครามขยายอำนาจและอิทธิพลของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งชาวโรมันเคยเรียกว่า “ทะเลของเรา” (Our Sea) เขาเห็นว่าไม่ควรยอมให้ชาติอื่นเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในบริเวณนั้น จาก ค.ศ. ๑๙๒๓ อิตาลีได้เริ่มทำสงครามยึดเกาะคอร์ฟู (Corfu) และเกาะเลรอส (Leros) ของกรีซ พร้อมทั้งสถาปนาอำนาจอย่างหลวม ๆ ในลิเบียและแอฟริกาตอนเหนือ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๕-๑๙๓๗ ก็ก่อสงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย (Italo-Ethiopian War)* ซึ่งแม้อิตาลีจะประสบชัยชนะแตกได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และถูกประณามอย่างหนัก เพราะมีการใช้อาวุธเคมีและระเบิดทำลายล้างทำให้เกิดการสังหารหมู่ชนพื้นเมืองเป็นจำนวนมาก นโยบายการยึดครองดินแดนโดยรอบ “ทะเลของเรา” และบางส่วนของแอฟริกาจึงเป็นความสำเร็จของอิตาลีในยุคใหม่ซึ่งมุสโสลีนีก็ไม่ละเลยโอกาสที่จะเลือกเวลาและสถานที่ตอกยํ้าความภาคภูมิใจและความใฝ่ฝันที่จะรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ของชนชาติอิตาลีด้วย เขาได้กล่าวสุนทรพจน์ที่จัตุรัสเวเนเชียท่ามกลางประชาชนกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คนในคืนวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่อให้ประชาชนยอมรับว่าอำนาจทางทหารและการทำสงครามเท่านั้นที่จะทำให้อิตาลีมีจักรวรรดิได้อีกครั้งหนึ่ง นับว่ามุสโสลีนีได้นำแนวคิดเกี่ยวกับการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์เช่นนี้ได้อย่างเหมาะสม

 สงครามโลกครั้งที่ ๒ และการล่มสลายของยุโรปหลังสงครามก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ” เพราะบุคคลที่ได้กลายเป็นผู้นำยามวิกฤตที่สำคัญของยุโรปหลายคนมีส่วนกอบกู้และช่วยชาติให้รอดพ้นจากการยึดครองของอำนาจเผด็จการนำซีเยอรมัน ทั้งยังมีส่วนในการกำหนดอนาคตของยุโรปและกำหนดชะตาชีวิตของชาติของตน เขาเหล่านั้นล้วนเป็นนักการเมืองการปกครองนักการทูต และแม้แต่นักการทหารที่มีความสามารถเป็นที่ประจักษ์ และประการสำคัญเห็นผลประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ที่จะพึงเก็บเกี่ยวได้สูงสุดจากการประเมินสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้องและเป็นจริงที่สุด ตัวอย่างเช่น เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นักการเมืองอังกฤษซึ่งสนใจติดตามความผันแปรทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างไม่หยุดยั้งเมื่อฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เขาพยายามเตือนรัฐบาลอังกฤษทุกชุดให้เห็นอันตรายจากการคุกคามของเยอรมนี พร้อมกับเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษรีบสะสม กำลังอาวุธและเตรียมพร้อมเพื่อการทำสงครามแต่ไม่มีใครเชื่อเขาจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่ออังกฤษอยู่ในภาวะจำยอมต้องประกาศสงครามกับเยอรมนี เชอร์ชีลล์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีสงคราม (War Cabinet) ของเขาวางแผนและดำเนินการในสถานการณ์คับขันและยากลำบาก โดยเฉพาะใน ค.ศ. ๑๙๔๐ เมื่อประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้อำนาจของเยอรมนี เชอร์ชิลล์แสดงความสามารถในการเตรียมอังกฤษให้เข้าสู่สงครามและต่อสู้กับกองทัพนาซีโดยลำพัง เขาปลุกเร้าชาวอังกฤษให้อุทิศตนแก่ประเทศชาติด้วย “เลือด งาน นํ้าตา และหยาดเหงื่อ” เพื่อให้ได้ชัยชนะซึ่งเขาก็นำชัยชนะมาให้แก่อังกฤษในยุทธการที่เกาะอังกฤษ (Battle of Britain ค.ศ. ๑๙๔๐)* ยุทธการครั้งนี้ทำให้อังกฤษอยู่รอดและแสดงให้เห็นถึงอัจฉริยะของการเป็นนักการทหาร นักประสานประโยชน์ และผู้นำในภาวะวิกฤตของเชอร์ชิลล์ได้เป็นอย่างดี

 จาก ค.ศ. ๑๙๔๑ ถึงการสิ้นสุดสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๕ อังกฤษไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไปเพราะมีการจัดตั้ง “พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่” (Grand Alliance) ซึ่งมีสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ ผู้นำของประเทศแกนนำทั้งสามอันประกอบด้วยประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. โรสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกา โจเซฟ สตาลิน นายกรัฐมนตรีโซเวียตและเชอร์ชิลล์ต้องประชุมพบปะกันบ่อยครั้งเพื่อแก้ไขปัญหาสงครามในแนวรบต่าง ๆ ตลอดจนพิจารณาอนาคตของยุโรปหลังสงคราม การประชุมแต่ละครั้งไม่ว่าที่มอสโก (Moscow) ไคโร (Cairo) และเตหะราน (Tehran) ใน ค.ศ. ๑๙๔๓ หรือ ที่ยัลตา (Yalta) และพอทสดัม (Potsdam) ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เชอร์ชิลล์ได้แสดงความมีชั้นเชิงในทางการทูตอย่างสูง ขณะเดียวกันก็ยึดมั่นในหลักการและผลประโยชน์ของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์ของยุโรปอย่างเด็ดเดี่ยวและไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ บ่อยครั้งเขาจึงมีเรื่องขัดใจกับสตาลิน เพราะเขามีความเข้าใจปัญหาผลประโยชน์ของประเทศในยุโรปรวมทั้งของโซเวียตอย่างลึกซึ้งและทะลุปรุโปร่ง บนโต๊ะเจรจาเขาจึงพยายามสกัดกั้นและยับยั้งความพยายามของสหภาพโซเวียตที่ต้องการมีอำนาจในยุโรปตะวันออกและดินแดนด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งอยู่ในเขตผลประโยชน์ของอังกฤษเช่นกัน แม้เขาจะไม่ประสบความสำเร็จทั้งหมดแต่เขาก็สามารถรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษในยุโรปกลาง (ปัญหาเยอรมัน) และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไว้ได้ เชอร์ชิลล์ จึงเป็นตัวอย่างของนักการเมืองที่เป็นจริงที่โดดเด่นของยุโรปและได้รับการยกย่องเป็นรัฐบุรุษ

 นอกจากเชอร์ชิลล์แล้ว ผู้นำยุโรปอีกคนหนึ่งในช่วงวิกฤตคือ จอมพล ชาร์ล เดอ โกล ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เขามีบทบาทสำคัญไม่เพียงในฐานะเป็นจอมพลแห่งกองทัพฝรั่งเศสที่ไม่ยอมแพ้แก่อำนาจการยึดครองของกองทัพนาซีเท่านั้น แต่ยังเป็นหัวหน้าขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* ที่จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในกรุงลอนดอนเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๐ เดอ โกลมีโอกาสแสดงความสามารถของผู้นำในการปลุกเร้าจิตสำนึกของชาวฝรั่งเศสให้มีความรักชาติและพร้อมจะต่อสู้ร่วมกันเพื่อปลดปล่อยประเทศและการจะไปสู่จุดหมายปลายทางได้จะต้องอาศัยการต่อสู้ทุกรูปแบบ ทั้งบนดินและใต้ดิน ทั้งวิธีการทางทหารการเจรจาทางการทูตและปฏิบัติการจิตวิทยาที่ต้องเข้าถึงมวลชน เขาจึงกลายเป็นผู้นำฝรั่งเศสที่ปฏิบัติการอยู่นอกประเทศแต่ได้รับการยอมรับจากชาวฝรั่งเศสและจากประชาคมโลก ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลพลัดถิ่นของจอมพล เดอ โกลมีบทบาทร่วมกับประเทศสัมพันธมิตรในการรบในแอฟริกาตอนเหนือ (North African Campaigns)* ค.ศ. ๑๙๔๒-๑๙๔๓ และสงครามปลดปล่อยยุโรปจากอิตาลีจนถึงการปลดปล่อยฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๔๓-๑๙๔๔

 หลังสงคราม เดอ โกลกลายเป็นนักการเมืองเต็มตัวเขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของรัฐบาลผสมชั่วคราวใน ค.ศ. ๑๙๔๖ เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ ในปลายปีเดียวกัน และต่อมาเป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๘-๑๙๖๙ ตลอดระยะเวลาดังกล่าว เขาผลักดันให้มีการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่เน้นอำนาจและความเป็นอิสระของประธานาธิบดีเหนือรัฐสภา โดยแสดงอย่างเปิดเผยว่าไม่ไว้ใจฝ่ายนิติบัญญัติในการออกกฎหมายสำคัญของประเทศ เขาจึงขอให้มีการแสดงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญทุกฉบับ การที่เขาเป็นนักการเมืองที่มองสถานการณ์ตามที่เป็นจริง เขาจึงตระหนักดีว่ายุโรปได้ก้าวเข้าสู่ยุคของมวลชนอย่างเต็มรูปแบบ อำนาจทางการเมืองจะมีได้และคงอยู่ก็ต้องอาศัยพลังของมวลชนแม้เดอ โกลจะเป็นนักการทหารและนักการเมืองที่ค่อนข้างหัวเก่าและยึดมั่นในอำนาจนิยม แต่เขาก็มีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง เขาเชื่อในคุณค่าใหม่ของรัฐบาลที่มีประชาชนเป็นฐานหลัก รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ ผ่านการรับรองด้วยประชามติถึงร้อยละ ๘๕ และเป็นรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจบริหารให้แก่ประธานาธิบดีซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนจึงนับเป็นความสำเร็จของงานการเมืองของเดอ โกล ทำให้ฝรั่งเศสภายใต้การนำของเขาสามารถฟื้นฟูบูรณะประเทศให้เจริญรุ่งเรืองภายในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังเป็นพลังสำคัญในระยะแรกที่จะผลักดันให้ยุโรปเป็นพลังที่ ๓ ในการคานอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกากับโซเวียต

 โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถและเป็นอัจฉริยะในการวางแผนที่มองการเมืองที่เป็นจริงได้อย่างแทงทะลุ เขาเห็นว่าสภาวการณ์ที่เป็นจริงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นความจริงที่โหดร้ายสหภาพโซเวียตซึ่งถูกประเทศทุนนิยมโอบล้อมอาจถูกทำลายลงได้ เขาจึงเสนอนโยบาย “สังคมนิยมในประเทศเดียว” (socialism in one country) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนสหภาพโซเวียตจากประเทศกึ่งอุตสาหกรรมที่ล้าหลังให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าและเป็นระบบสังคมนิยมที่เข้มแข็งภายในเวลาอันรวดเร็ว สตาลินประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี ฉบับที่ ๑ (First Five-Year Plan ค.ศ. ๑๙๒๘-๑๙๓๒)* และนโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม (collectivization) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จนสหภาพโซเวียตเจริญรุดหน้าและแข็งแกร่งอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง ๑ ทศวรรษเศษ อย่างไรก็ตามสตาลินก็ปกครองประเทศอย่างกดขี่และโหดร้ายทั้งเข่นฆ่า ทำลายชีวิตพลเมืองผู้บริสุทธิ์จำนวนกว่า ๒๐ ล้านคน เพื่อทำให้ระบบการปกครองและลัทธิสตาลิน (Stalinism)* เข้มแข็งและมีอำนาจเด็ดขาด ทั้งทำให้ผู้นำอยู่เหนือพรรคคอมมิวนิสต์และมีสถานภาพเป็นเสมือนพระเป็นเจ้า การใช้วิธีการทุกอย่างเพื่อให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายมีส่วนทำให้สตาลินเป็นที่โต้แย้งว่าเขาเป็นทรราชหรือวีรบุรุษ

 สตาลินใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้สหภาพโซเวียตกลายเป็นแกนนำของฝ่ายพันธมิตรที่มีส่วนในการวางแผนเอาชนะสงครามและกำหนดอนาคตของยุโรปหลังสงคราม ด้วยชั้นเชิงทางการทูตและการฉวยโอกาสในจังหวะที่เหมาะสมทำให้สหภาพโซเวียตสามารถสร้างจักรวรรดิในยุโรปตะวันออกได้สำเร็จและเปลี่ยนสถานภาพของประเทศเป็นอภิมหาอำนาจได้ในที่สุดทั้งทำให้ม่านเหล็ก (Iron Curtain)* ที่ตกลงมากั้นแบ่งยุโรปตะวันออกจากยุโรปตะวันตก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า สงครามเย็น (Cold War)* สตาลินจึงประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากการเมืองที่เป็นจริงอย่างเต็มที่และสหภาพโซเวียตในช่วงปลายสมัยของเขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็น “ยักษ์ใหญ่ของโลกคอมมิวนิสต์”

 วิลลี บรันดท์ นายกรัฐมนตรี (ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๔) และรัฐบุรุษของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันตก เป็นผู้นำอีกคนหนึ่งที่นำแนวคิดการเมืองที่เป็นจริงมาประยุกต์ใช้ ในการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันว่า นโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* นโยบายนี้มีจุดมุ่งหมายจะให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่เป็นสมาชิกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization-WTO)* โดยมุ่งเน้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (Democratic Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันออก บรันดท์ เป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงเพราะเคยเป็นทั้งสมาชิกวุฒิสภา (Bundesrat) และประธานวุฒิสภา (ค.ศ. ๑๙๕๗-๑๙๖๘) เป็นหัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน (German Social Democratic Party-SPD)* และเป็นนายกเทศมนตรีของนครเบอร์ลินมาก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บรันดท์จึงเข้าใจปัญหาการเมืองทั้งภายในเยอรมนีและยุโรปอย่างถ่องแท้ โดยเฉพาะสภาพความตึงเครียดระหว่างสงครามเย็นและสภาพที่ชาวเยอรมันต้องเผชิญกับการสูญเสียและประเทศที่ถูกแบ่งแยกอันเนื่องมาจากความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อเขาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เขาจึงได้ขอร้องให้ชาวเยอรมันยอมรับความเป็นจริงอันเกิดจากการเป็นผู้แพ้สงคราม นั่นคือยอมรับการสูญเสียดินแดนและการแบ่งแยกประเทศโดยยอมรับสถานะของเยอรมนีว่ามี “สองรัฐในหนึ่งประเทศ” (Two states in one nation) ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ชาวเยอรมันสามารถก้าวข้ามฝันร้ายไปสู่ชีวิตที่สดใสขึ้น

 การยอมรับในเรื่องต่าง ๆ ข้างต้นทำให้บรันดท์ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๗๓ บรันดท์สามารถทำสนธิสัญญาหลายฉบับกับทั้งสหภาพโซเวียตและประเทศยุโรปตะวันออกรวมทั้งเยอรมนีตะวันออกด้วยบรันดท์ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงส้มพันธภาพระหว่างตะวันตกกับตะวันออกอย่างโดดเด่นในช่วงเวลาอันสั้นเขาจึงได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๗๒ ก็ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายทั้งยังได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง เพียงแต่ในครั้งนี้ แม้นโยบายมุ่งตะวันออกของเขาจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและประชาคมโลกอย่างมาก แต่ก็มีเหตุปัจจัยทางการเมืองอย่างอื่นที่ทำให้เขาต้องประกาศลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔

 การเมืองที่เป็นจริงมีบทบาทเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในยุคสงครามเย็นและหลังสงครามเย็นผู้นำยุโรปในยุคใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ทัน มิฉะนั้นก็อาจทำให้ประเทศชาติเสียผลประโยชน์ได้การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ การที่ประเทศในยุโรปเห็นความจำเป็นต้องลดบทบาทและอำนาจบางส่วนของชาติตนให้แก่องค์การเหนือรัฐ (supranational organization) ที่สำคัญ ได้แก่ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ซึ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ เพื่อต่อต้านการรุกรานของสหภาพโซเวียตและประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ หรือการรวมกลุ่มประเทศยุโรปเป็นสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๓ เพื่อให้ยุโรปเป็นแกนอำนาจใหม่ในโลกการแข่งขันระดับอภิมหาอำนาจด้วยความร่วมมือกันสร้างเอกภาพในการดำเนินนโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การป้องกันประเทศ และการต่างประเทศการรวมกลุ่มดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อการแสวงหาอำนาจแต่เพื่อการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ของชาติไวัให้ได้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนั้น ในด้านการต่างประเทศ ยุโรปก็ต้องเรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของรัฐ นั่นคือการที่ยุโรปไม่ได้เป็นแกนกลางของอำนาจอีกต่อไป ระบบรัฐในการจัดระเบียบใหม่ของโลกเปิดทางให้มีขั้วอำนาจมากกว่าหนึ่งหรือสอง โดยมีอยู่หลายขั้วอำนาจและยุโรปเมื่อรวมกันก็เป็นเพียงขั้วหนึ่งเท่านั้น ผู้นำยุโรปที่จะประสบความสำเร็จในการนำพาประเทศให้อยู่รอดปลอดภัยจึงจำต้องมองข้ามพรมแดนแห่งรัฐหรือภูมิภาคของตนไปสู่โลกที่ไร้พรมแดนและโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลาการปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงจึงเป็นสี่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การเมืองที่เป็นจริงจึงจะยังคงมีบทบาทและความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ยุคใหม่ไปอีกนาน.



คำตั้ง
Realpolitik
คำเทียบ
การเมืองที่เป็นจริง
คำสำคัญ
- การทำลายล้างเผ่าพันธุ์
- การปฏิวัติอุตสาหกรรม
- การประชุมใหญ่แห่งเบอร์ลิน
- การเมืองที่เป็นจริง
- การรบในแอฟริกาตอนเหนือ
- การรวมชาติเยอรมัน
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- เชโกสโลวะเกีย
- เชอร์ชิลล์, เซอร์วินสตัน
- เชอร์ชิลล์, วินสตัน
- นโยบายการรวมอำนาจการผลิตแบบนารวม
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- นโยบายเลือดและเหล็ก
- บิสมาร์ค, ออทโท ฟอน
- ปัญหาตะวันออก
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ๕ ปี
- พรรคนาซี
- พรรคฟาสซิสต์
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่
- ฟือเรอร์
- ม่านเหล็ก
- ยุทธการที่เกาะอังกฤษ
- เยอรมนีตะวันตก
- เยอรมนีตะวันออก
- รัฐชเลสวิก-โฮลชไตน์
- รางวัลโนเบล
- ลัทธิจักรวรรดินิยม
- ลัทธิชาตินิยม
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิวัตถุนิยม
- ลัทธิสตาลิน
- สงครามเจ็ดสัปดาห์
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามเย็น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สงครามอิตาลี-เอธิโอเปีย
- สนธิสัญญาประกันพันธไมตรี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีไตรภาคี
- สนธิสัญญาพันธไมตรีทวิภาคี
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- สภาแห่งชาติแฟรงก์เฟิร์ต
- สหภาพยุโรป
- สันนิบาตสามจักรพรรดิ
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา รุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-