อะเล็กซานเดอร์ นีโคลาเยวิช โปเตรซอฟเป็นนักปฏิวัติรัสเซียเชื้อสายยิวและผู้นำด้านทฤษฎีการเมืองคนสำคัญของพรรคเมนเชวิค (Menshevik)* เขาเป็นทั้งผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการในกองบรรณาธิการ Iskra ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศที่จัดทำขึ้นนอกประเทศและลักลอบนำเข้ามาเผยแพร่ในรัสเซียในต้นทศวรรษ ๑๙๐๐ ในการประชุมใหญ่ของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* ค.ศ. ๑๙๐๓ ที่กรุงลอนดอนโปเตรซอฟสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติของ ยูลี มาร์ตอฟ (Yuly Martov)* และสังกัดพรรคเมนเชวิคซึ่งต่อต้านวลาดีมีร์ เลนิน (Viadimir Lenin)* ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolshevik)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๐ โปเตรซอฟเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Vozrozhdeniye ของพรรคเมนเชวิค ซึ่งรณรงค์การร่วมมือทางการเมืองกับพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ รวมทั้งพรรคการเมืองแนวทางเสรีนิยมของชนชั้นนายทุนด้วยหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ โปเตรซอฟเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดอำนาจของพรรคบอลเชวิค และเรียกร้องให้เมนเชวิคร่วมมือกับพรรคคาเดตส์ (Kadets) หรือพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Democratic Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมที่ใหญ่ที่สุดมีปาเวล มิลยูคอฟ (Pavel Milyukov)* เป็นผู้นำเพื่อขอความช่วยเหลือจากประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรต่อต้านรัฐบาลโซเวียต
โปเตรซอฟเกิดในครอบครัวนักธุรกิจชาวยิวในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๖๙ เขาได้รับอิทธิพลแนวความคิดสังคมนิยมจากอะเล็กซานเดอร์ อีวาโนวิช เฮอร์เซน (Alexander Ivanovich Herzen)* ผู้นำขบวนการนารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populism)* พวกนารอดนิคเชื่อมั่นว่ารัสเซียสามารถก้าวกระโดดเป็นระบอบสังคมนิยมได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนการปฏิวัติตามแนวความคิดลัทธิมากซ์ (Marxism)* และชาวนาคือพลังสำคัญของการปฏิวัติในทศวรรษ ๑๘๗๐โปเตรซอฟเข้าร่วมเคลื่อนไหวปลุกระดมชาวนาในแถบลุ่มนํ้าวอลกา (Volga) แต่การที่ชาวนาส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อซาร์ทั้งไม่เข้าใจและยอมรับแนวความคิดสังคมนิยมที่โปเตรชอฟและสหายพยายามชี้แนะ การเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองจึงล้มเหลว โปเตรซอฟถูกจับและถูกตัดสินจำคุกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ หลังพ้นโทษ เขาเข้าร่วมกลุ่มเชียร์นีเปเรดเยล (Cherny Peredyel) หรือกลุ่มแบ่งแยกดำ (Black Partition) ที่มีเกออร์กี วาเลนตีโนวิช เปลฮานอฟ (Georgi Valentinovich Plekhanov)* เป็นผู้นำ กลุ่มดังกล่าวต่อต้านแนวทางก่อการร้ายและการใช้วิธีการรุนแรงในการเคลื่อนไหวปฏิวัติและสนับสนุนแนวทางสันติด้วยการปลุกระดมเผยแพร่ความคิดสังคมนิยมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหมู่กรรมกรและชาวนา อย่างไรก็ตาม เมื่อซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* ทรงถูกปลงพระชนมในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๘๑ โดยฝีมือของกลุ่มผู้ปฏิบัติงานใต้ดินที่เป็นสมาชิกกลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) หรือนารอดนายาวอลยา (Naradnaya Volya) ซึ่งมีโซเฟีย ลวอฟนา เปรอฟสกายา (Sophia Lvovna Perovskaya)* เป็นผู้นำ รัฐบาลจึงปราบปรามกวาดล้างขบวนการปฏิวัติอย่างเด็ดขาด โปเตรซอฟ ก็ถูกจับกุมอีกครั้งและถูกตัดสินโทษให้เนรเทศไปไซบีเรียแต่ต่อมาเขาหลบหนีได้และกลับมาเคลื่อนไหวที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg)
ในช่วงที่อยู่ไซบีเรีย โปเตรซอฟมีโอกาสพบและสนิทสนมกับวลาดีมีร์ เลนินและนาเดจดา ครุปสกายา (Nadezhda Krupskaya)* ปัญญาชนคู่สามีภรรยาที่เชื่อมั่นในแนวทางการปฏิวัติของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักทฤษฏีสังคมนิยมชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงโปเตรซอฟจึงหันมาศึกษาลัทธิมากซ์และเข้าร่วมในสันนิบาตการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยชนชั้นแรงงาน (League of the Struggle for the Liberation of the Working Class) ของเลนิน ต่อมาในต้น ค.ศ. ๑๙๐๐ เมื่อเลนินพ้นโทษและเดินทางมาพักอยู่ที่เมืองปสคอฟ (Pskov) ซึ่งไม่ห่างจากกรุงเซนต์ปิเตอร์สเบิร์กมากนัก เลนินได้ติดต่อกับมาร์ตอฟ โปเตรซอฟ และปาเวล โบรีโซวิช อัคเซลรอด (Pavel Borisovich Akselrod)* เพื่อร่วมวางโครงการการจัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศซึ่งมีวัตถุประสงค์จะปลูกฝังลัทธิมากซ์ให้แก่นักปฏิวัติและชี้นำแนวทางการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในกลางเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ โปเตรชอฟกับเลนินเดินทางไปนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหารือกับเกออร์กี เปลฮานอฟ แกนนำองค์การลัทธิมากซ์นอกประเทศเพื่อเตรียมการจัดทำหนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศรวมทั้งติดต่อกับแกนนำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party-SPD)* เพื่อขอความสนับสนุนเรื่องเงินทุนและการดำเนินการต่าง ๆ
ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๐๐ Iskra หนังสือพิมพ์การเมืองระดับประเทศแนวทางลัทธิมากซ์ฉบับปฐมฤกษ์ ก็ได้รับการจัดพิมพ์เผยแพร่ กองบรรณาธิการประกอบด้วยแกนนำขบวนการปฏิวัติรัสเซีย ๖ คน คือ เปลฮานอฟ อัคเซลรอด เวรา ซาซูลิช (Vera Zasulich)* โปเตรซอฟ เลนิน และมาร์ตอฟ หนังสือพิมพ์ Iskra ที่ถูกลักลอบเข้ามาเผยแพร่ในรัสเซียระหว่างปลาย ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๐๒ มีส่วนทำให้องค์การปฏิวัติที่กระจัดกระจายและมีแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่หลากหลายเริ่มหันมายอมรับความคิดลัทธิมากซ์และมีเอกภาพในการเคลื่อนไหวต่อสู้มากขึ้น ทั้งทำให้แนวความคิดนารอดนิคหมดอิทธิพลลงตามลำดับการรณรงค์สร้างพรรคปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพของกลุ่ม Iskra ทั้งภายในและนอกประเทศจึงนำไปสู่การจัดประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์และกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งพรรคปฏิวัติขึ้น
ในการประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ของผู้แทนองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์และกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ ที่กรุงบรัสเซลส์และกรุงลอนดอนในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๓ ตามลำดับ ที่ประชุมสามารถจัดตั้งพรรคขึ้นได้สำเร็จคือพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย ในระหว่างการประชุมโปเตรซอฟ สนับสนุนมาร์ตอฟ คัดค้านความคิดของเลนินในประเด็นว่าด้วยคุณสมบัติของผู้จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคและขอบเขตอำนาจของพรรคปฏิวัติในการดำเนินนโยบาย นอกจากนี้เขายังต่อต้านเลนินในการปรับลดจำนวนกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Iskra จาก ๖ คนเหลือเพียง ๓ คน ความขัดแย้งทางความคิดดังกล่าวมีผลให้ที่ประชุมแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มที่สนับสนุนเลนินซึ่งเป็นเสียงข้างมากจึงได้ชื่อว่าบอลเชวิคและกลุ่มที่สนับสนุนมาร์ตอฟซึ่งมีเสียงข้างน้อยได้ชื่อว่าเมนเชวิค พรรคแรงงานสังคมประชาธิบไตยรัสเซียที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ จึงแบ่งเป็น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการในที่สุด
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๗-๑๙๑๐ โปเตรซอฟเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Vozrozhdeniye และ Nasha Zarya ของพรรคเมนเชวิคและมีบทบาทสำคัญในการเสนอทฤษฎีทางการเมืองว่าด้วยแนวทางการสร้างสังคมนิยมและการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐ เขาและอัคเซลรอดแกนนำคนสำคัญของเมนเชวิคยังรณรงค์ให้มีการจัดประชุมใหญ่ของชนชั้นแรงงาน (Worker Congress) เพื่อก่อตั้งสหภาพแรงงานและสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งแบบลับและเปิดเผย รวมทั้งร่วมมือกับพรรคการเมืองเสรีนิยมอื่น ๆ ในสภาดูมา (Duma)* กลุ่มบอลเชวิคจึงกล่าวหาโปเตรซอฟว่าเป็น “ผู้ทำลายพรรค” (Liquidator) ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๒ เมื่อเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๖ ขึ้นที่กรุงปราก (Prague) เพื่อหาทางยุติปัญหาความขัดแย้งระหว่างบอลเชวิคกับเมนเชวิคซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน แต่ประสบความล้มเหลวบอลเชวิคจึงประกาศขับเมนเชวิคออกจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียและอ้างตนเป็นผู้แทนที่ชอบธรรมของพรรคโดยใช้ชื่อว่า พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตย (บอลเชวิค) มาร์ตอฟและแกนนำพรรคเมนเชวิคซึ่งรวมทั้งโปเตรซอฟปฏิเสธที่จะยอมรับว่าบอลเชวิคเป็นพรรคของผู้แทนรัสเซียทั้งหมด และให้เรียกชื่อกลุ่มของตนว่า พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (เมนเชวิค) โปเตรซอฟยังสนับสนุนข้อเรียกร้องของเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* นักปฏิวัติเชื้อสายยิวที่เป็นผู้นำของกลุ่มการเมืองอิสระชื่อ เมจรายอนกา (Mezhrayonka) ในการจัดการประชุมขึ้นใหม่ที่กรุงเวียนนาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๒ เพื่อพิจารณาปัญหาความเป็นเอกภาพของพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การประชุมที่มีขึ้นก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก เพราะมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนน้อยและมีความเห็นขัดแย้งกันด้านแนวนโยบาย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ กลุ่มสังคมนิยมส่วนใหญ่ในประเทศยุโรปเคลื่อนไหวสนับสนุนรัฐบาลประเทศตนในการทำสงครามและมีเพียงพรรคบอลเชวิคและผู้แทนพรรคสังคมนิยมอีกจำนวนไม่มากนักต่อต้านสงครามโปเตรซอฟและเมนเชวิคต่อต้านสงครามที่เกิดขึ้นและสนับสนุนให้จัดการประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมขึ้นเพื่อผนึกกำลังของนักสังคมนิยมสายกลางในการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามซึ่งมีส่วนนำไปสู่การจัดประชุมระหว่างประเทศของนักสังคมนิยมครั้งแรก (First Socialist International Conference) ที่หมู่บ้านซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) ไม่ห่างจากกรุงเบิร์น (Bern) ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ และที่เมืองคีนทาล (Kienthal) สวิตเซอร์แลนด์ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ตามลำดับ แม้โปเตรชอฟจะเห็นด้วยกับหลักการของที่ประชุมในการโจมตีพรรคสังคมนิยมต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงครามและเรียกร้องการยุติสงครามที่จะไม่มีทั้งการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงคราม แต่เขาก็ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดของที่ประชุมในการจะผลักดันการก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* เพื่อสืบทอดแนวนโยบายขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ที่แตกสลาย ใน ค.ศ. ๑๙๑๔
หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) รัสเซียปกครองแบบทวิอำนาจระหว่างรัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งมีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* เป็นผู้นำกับสภาโซเวียต (Soviet) ซึ่งเป็นสภาปกครองตนเองของกรรมกรโปเตรชอฟซึ่งเป็นคนหนึ่งในคณะกรรมาธิการจัดตั้งของ เมนเชวิค (Menshevik Organizational Committee) ได้รับเลือกเป็นผู้แทนคนหนึ่งในสภาโซเวียตเปโตรกราดของผู้แทนกรรมกรและทหาร (Petrograd Soviet of Worker’s and Soldier’s Deputies) เขาสนับสนุนการร่วมมือกับพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมอื่น ๆ ในการปฏิรูปการเมืองในช่วงที่ฝ่ายสังคมนิยมยังคงอ่อนแอและขาดฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งจากประชาชน
เมื่อเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิคตัดสินใจยึดอำนาจทางการเมืองซึ่งนำไปสู่การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ โปเตรซอฟวิพากษ์โจมตีการยึดอำนาจของบอลเชวิคอย่างรุนแรง และสนับสนุนแนวคิดของเปลฮานอฟที่ว่าการยึดอำนาจก่อนเวลาอันเหมาะสม และไม่สอดคล้องกับ “กฎของประวัติศาสตร์” (law of history) ของคาร์ล มากฃ์จะนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองและ การสถาปนาอำนาจรัฐเผด็จการ เขาเรียกร้องให้เมนเชวิค ผนึกกำลังกับพรรคคาเดตส์ที่มีมิลยูคอฟเป็นผู้นำเพื่อโค่น อำนาจบอลเชวิค เขายังรณรงค์สนับสนุนแนวความคิดของประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่โหมการโฆษณาชวนเชื่อว่ารัสเซีย กำลังเผชิญกับศัตรูสำคัญ ๒ ฝ่าย คือ บอลเชวิคกับเยอรมนี
ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (Socialist Revolutionary Party)* ปีกขวาพยายามลอบสังหารเลนิน แต่ประสบความล้มเหลว รัฐบาลโซเวียตจึงเห็นเป็นโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม สมาชิกพรรคเมนเชวิคส่วนหนึ่งซึ่งรวมทั้งมาร์ตอฟผู้นำพรรคจึงลี้ภัยออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศ แต่โปเตรชอฟปฏิเสธที่จะลี้ภัยและยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านบอลเชวิคในประเทศ ทั้งมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการต่อสู้ของทหารและกะลาสีเรือครอนชตัดท์ในกบฏครอนชตัดท์ (Krondstadt Revolt)* เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๑ ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปทางการเมืองและให้ยกเลิกนโยบายระบบคอมมิวนิสต์ยามสงคราม (War Communism)* รัฐบาลโซเวียตกล่าวหาว่ากบฏครอนชตัดท์เป็นการคบคิดของฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติที่มุ่งโค่นล้มอำนาจรัฐโซเวียตและระดมกำลังเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดเป็นเวลาร่วม ๑ สัปดาห์จนได้ชัยชนะ การปราบปรามกวาดล้างที่เกิดขึ้นทำให้โปเตรซอฟตัดสินใจลี้ภัยไปกรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๒๒
หลังสงครามกลางเมืองรัสเซียสิ้นสุดลง รัฐบาลโซเวียตประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy)* เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ นโยบายดังกล่าวทำให้ชุมชนชาวรัสเซียลี้ภัยนอกประเทศซึ่งเคยต่อต้านรัฐบาลโซเวียตหันมาสนับสนุนและเริ่มเดินทางกลับ เพื่อร่วมสร้างและพัฒนาประเทศให้แข็งแกร่ง โปเตรซอฟสงวนท่าทีจะสนับสนุนรัฐบาลและลดการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลลง แต่หลังการก้าวสู่อำนาจของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ในปลายทศวรรษ ๑๙๒๐ โปเตรซอฟหันมาสนับสนุนตรอตสกีซึ่งถูกเนรเทศออกนอกรัสเซียในการเรียกร้องการปฏิรูป ภายในพรรค แต่ประสบความล้มเหลว ต่อมา เขาถึงแก่กรรม ที่กรุงปารีสเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะ อายุ ๖๕ ปี.