แนวร่วมประชาชน คือ กลุ่มพันธมิตรทางการเมืองในทศวรรษ ๑๙๓๐ เป็นการรวมตัวกันระหว่างกลุ่มพรรคฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนผู้ใช้แรงงานกับพรรคการเมืองสายกลางหรือพรรคเพื่อชนชั้นกลางที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ในการผนึกกำลังกันต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ซึ่งกำลังแผ่ขยายอิทธิพลในยุโรปจนน่าเกรงขาม การร่วมมือดังกล่าวประสบผลเฉพาะในสเปนและฝรั่งเศส โดยกลุ่มแนวร่วมประชาชนมีชัยในการเลือกตั้งจึงได้อำนาจจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ ส่วนนอกเขตยุโรป ได้แก่ ชิลี รัฐบาลแนวร่วมประชาชนดำรงอยู่ถึงปลายทศวรรษเท่านั้น การสิ้นสุดอย่างรวดเร็วของแนวร่วมประชาชนในยุโรปเป็นเพราะสหภาพโซเวียตเปลี่ยนนโยบายไปร่วมมือกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* และการมีองค์ประกอบหลากหลายไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ อีกทั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ก็มักจะแย่งชิงผู้สนับสนุนจากเขตเลือกตั้งเดียวกัน
ในต้นทศวรรษ ๑๙๓๐ สหภาพโซเวียตยังคงมีท่าทีประนีประนอมกับกลุ่มประเทศฟาสซิสต์โดยคงสัมพันธ์ทางการทูตอยู่ แต่ต่อมาเกิดหวั่นวิตกว่าตนอาจเป็นเป้าหมายหนึ่งของการถูกเยอรมนีโจมตี จึงต้องการหาประเทศตะวันตกเป็นพันธมิตร การเปลี่ยนนโยบายนี้ทำให้สหภาพโซเวียตสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และสนใจการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้นโดยการผนึกกำลังขององค์กรการเมืองฝ่ายต่าง ๆ ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ หนังสือพิมพ์ Pravda ของทางการโซเวียตเริ่มเสนอข่าวที่บ่งบอกว่าองค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* หรือองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลและการกำกับของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำโซเวียตสนับสนุนนโยบายให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมาชิกโคมินเทิร์นเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ต่อต้านระบอบฟาสซิสต์ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นโคมินเทิร์นกล่าวหาว่าพรรคสังคมนิยมในยุโรปเป็นพวกสังคม ฟาสซิสต์ (social fascist) ดังนั้น ในการประชุมสมัยที่ ๗ และเป็นสมัยสุดท้ายของโคมินเทิร์นใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ได้มีการประกาศนโยบายการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนอย่างเป็นทางการ โดยสนับสนุนให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปร่วมมือกับทั้งบรรดาพรรคฝ่ายซ้าย พรรคสายกลาง พรรคเสรีนิยมหรือแม้แต่พรรคอนุรักษนิยมที่ต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ จุดหมายของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์หรือกรรมาชีพเห็นควรให้ชะลอไปก่อนได้ และชักชวนให้พรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศต่าง ๆ ร่วมมือกับพรรคต่างอุดมการณ์อย่างดี ไม่ใช่ทำให้ตื่นเตลิดไม่ไว้ใจ อย่างไรก็ดี ขณะที่โคมินเทิร์นแสดงการเปลี่ยนท่าทีหรือนโยบาย สตาลินก็ดำเนินการในทางลับเพื่อเป็นพันธมิตรกับฮิตเลอร์ด้วย การส่งสัญญาณของโคมินเทิร์นทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปเคลื่อนไหวตามแนวนโยบายใหม่โดยร่วมมือกับพรรคการเมืองกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศตนจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้น การร่วมมือดังกล่าวประสบผลสำเร็จเฉพาะในสเปนและฝรั่งเศส ในที่อื่น ๆ อย่างเช่น ในอิตาลีนั้นพรรคสังคมนิยมปฏิเสธที่จะร่วมมือกับพรรคคอมมิวนิสต์
สำหรับสเปนในช่วงสมัยสาธารณรัฐที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๙) มีการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ซึ่งเป็นการร่วมมือของเหล่าพรรคสาธารณรัฐนิยมฝ่ายซ้ายโดยมีมานูเอล อาซาญา อี ดีอัซ (Manuel Azaña y Díaz) อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๓ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ในการสู้ศึกเลือกตั้งใน ค.ศ. ๑๙๓๖ แนวร่วมประชาชนของสเปนเกิดจากการตกลงลงนามในกติกาสัญญาระหว่างพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Spanish Socialist Workers’ Party—PSOE) พรรคคอมมิวนิสต์สเปน (Communist Party of Spain-PCE) พรรคแรงงานเพื่อการรวมตัวของมาร์กซิสต์ (Workers’ Party of Marxist Unification-POUM) และกลุ่มสาธารณรัฐนิยม ได้แก่ พรรคสาธารณรัฐฝ่ายซ้าย (Republican Left-IR) พรรคเพื่อสาธารณรัฐ (Republican Union Party-UR) กติกาสัญญานี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มภูมิภาคนิยมด้วยทั้งจากกาลิเซีย (Galicia) และกาตาโลเนีย (Catalonia) และจากองค์กรผู้ใช้แรงงาน ได้แก่ สหภาพทั่วไปแห่งผู้ใช้แรงงาน (Workers’ General Union-UGT) และสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ (Confederación Nacional del Trabajo-CNT)
หลังการจัดตั้ง แนวร่วมประชาชนได้ออกแถลงการณ์โจมตีการบริหารประเทศของรัฐบาลอนุรักษนิยม มีการเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ให้รับพนักงานที่ถูกโยกย้ายไล่ออก หรือถูกสั่งพักงานโดยไม่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องหรือเพราะเหตุผลทางการเมืองกลับเข้าทำงาน ให้ไต่สวนการปราบปรามหรือการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และให้ทบทวนแก้ไขกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจ นอกจากนี้แถลงการณ์ของแนวร่วมประชาชนยังเสนอนโยบายเศรษฐกิจแบบเอียงซ้ายซึ่งปฏิเสธการโอนที่ดินเป็นของรัฐ แต่ให้รัฐช่วยเหลือแรงงานภาคเกษตรแทน สนับสนุนมาตรการที่จะปกป้องอุตสาหกรรมของรัฐและธุรกิจขนาดเล็ก การขยายงานสาธารณูปโภค และการปฏิรูปภาษีแบบก้าวหน้า ทั้งยังสัญญาว่าจะคงนโยบายเศรษฐกิจบางประการของรัฐบาลก่อน ๆ เช่น การขึ้นค่าแรงให้แก่แรงงานภาคเกษตร การนำกฎหมายที่ประกันสิทธิของภูมิภาคที่เรียกร้องการปกครองตนเองและถูกรัฐบาลอนุรักษนิยมเพิกถอนไปกลับมาใช้ใหม่
ในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๖ กลุ่มพันธมิตรทางการเมืองในนามแนวร่วมประชาชนมีชัยชนะต่อกลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ (National Front) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองฝ่ายชวาอย่างฉิวเฉียดโดยได้ ๔,๖๕๔,๑๑๖ เสียง จึงได้ ๒๗๘ ที่นั่ง ในจำนวนนี้ ๙๙ คน มาจากพรรคสังคมนิยม ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามซึ่งเป็นพรรคแนวอนุรักษนิยมรวมกันได้ ๔,๕๐๓,๕๒๔ เสียง ทำให้ได้ ๑๒๔ ที่นั่ง หลังการจัดตั้งรัฐบาล อาซาญาผู้นำพรรคสาธารณรัฐนิยมขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและต่อมาเป็นประธานาธิบดีสมาชิกร่วมรัฐบาลมาจากองค์กรการเมืองต่าง ๆ ข้างต้น โดยเฉพาะจากพรรคสังคมนิยมและพรรคสาธารณรัฐนิยม แต่ ยกเว้นพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน เพราะการเป็นปฏิปักษ์ ของฟรันซิสโก ลาร์โก กาบาเยโร (Francisco Largo Caballero) ผู้นำพรรคแต่ต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเกิดสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* ขึ้น ผู้ได้รับเลือกตั้งของแนวร่วมประชาชนหลายคนมาจากอาชีพต่าง ๆ ที่มีฐานะมั่งคั่งรํ่ารวย ผู้สนับสนุนจำนวน ๒๕๐,๐๐๐ คน ในกรุงมาดริดพากันเดินขบวนเฉลิมฉลองชัยชนะ รัฐบาลประกาศทันทีว่าจะจ้างคนงานที่ถูกไล่ออกด้วยเหตุผลทางการเมืองและชดเชยค่าแรงให้แต่ละรายตามจำนวนวันไม่ตํ่ากว่า ๓๙ วันแต่ไม่เกิน ๖ เดือน
ไม่นานต่อมาเกิดความรุนแรงระหว่างฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านพรรคฝ่ายขวาและองค์กรคาทอลิกกับฝ่ายขวาซึ่งต่อต้านพรรคฝ่ายซ้ายตลอดช่วงเดือนมีนาคม โดยเฉพาะในเขตกรานาดา (Granada) ทางตอนใต้ กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาได้ก่อความรุนแรงจนนำไปสู่การนัดหยุดงานทั่วไปและ การลุกฮือของมวลชนฝ่ายซ้ายโดยมีพรรคฝ่ายซ้ายสนับสนุนในบางเหตุการณ์พวกคอมมิวนิสต์และพวกสังคมนิยมต่อสู้กับพวกสนับสนุนพรรคฟาลังเค (Falange)* หรือพรรคฟาสซิสต์สเปนซึ่งจบลงด้วยการมีผู้ถูกสังหารไปหลายรายจนถึงเดือนกรกฎาคม มีผู้ถูกสังหารจากความขัดแย้งทางการเมืองเป็นจำนวนถึง ๒๖๙ คน
เมื่อบ้านเมืองเกิดเหตุการณ์รุนแรงไม่จบสิ้น อาซาญายินยอมตามข้อเรียกร้องของพรรคฝ่ายซ้ายที่ให้ลงโทษนายพลโลเปซ โอโชอา (Lopez Ochoa) ซึ่งเคยบัญชาการกองทัพในเหตุการณ์แยกตัวเป็นอิสระของแคว้นอัสตูเรียส (Asturias) ทางเหนือใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ด้วยข้อหาดำเนินการต่อต้านขบวนการของผู้ใช้แรงงานในเขตนั้น รัฐบาลปฏิรูปกองทัพและแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารจากผู้ที่นิยมสหรัฐอเมริกาหรือเป็นพวกสายกลาง ส่วนคนที่อยู่ในข่ายว่านิยมฟาสซิสต์จะถูกส่งไปประจำในที่ห่างไกลหรือได้รับตำแหน่ง ไม่สำคัญ เช่น นายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* ถูกถอดออกจากตำแหน่งเสนาธิการและให้ไปประจำการที่หมู่เกาะคะแนรี (Canary) นายพลเอมีลีโอ โมลา (Emilio Mola) ถูกถอดจากตำแหน่งใหญ่ในโมร็อกโกซึ่งเป็นอาณานิคมของสเปนไปบัญชาการกองพันน้อยในเมืองปัมโปลนา (Pamplona) เมืองหลวงเก่าของอดีตราชอาณาจักรนาวาร์ (Navarre) ซึ่งไม่ค่อยได้รับการทำนุบำรุงจากส่วนกลาง
การที่พรรคแรงงานสังคมนิยมสเปนซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่ที่สุดในกลุ่มพันธมิตรทางการเมืองปฏิเสธที่จะร่วมรัฐบาล ได้ทำให้รัฐบาลแนวร่วมประชาชนซึ่งบริหารประเทศระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ ขาดเสถียรภาพลงเรื่อย ๆ ทั้งผู้นำจากพรรคสาธารณรัฐนิยมอ่อนแอ ในเดือนกรกฎาคม นายพลฟรังโกและนายพลสายอนุรักษนิยมและสายกษัตริย์นิยมจึงก่อรัฐประหารขึ้นซึ่งเป็นการเริ่มต้นสงครามกลางเมืองสเปน ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙ รัฐบาลแนวร่วมประชาชนจึงสั่งยุบกองทัพและนำอาวุธไปแจกจ่ายให้แก่กลุ่มติดอาวุธต่าง ๆ ที่บรรดาสหภาพแรงงานและพรรคแรงงานจัดตั้งขึ้น ในตอนแรกฝ่ายแนวร่วมประชาชนสามารถเอาชนะกำลังของนายพลฟรังโกที่กรุงมาดริด เมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) และเมืองบาเลนเซีย (Valencia) ได้ แต่ในที่สุดเกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคสังคมนิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ จนลาร์โก กาบาเยโร นายกรัฐมนตรีก็ไม่อาจอดทนต่อการที่พรรคคอมมิวนิสต์พยายามครอบงำรัฐบาลจึงลาออกใน ค.ศ. ๑๙๓๗ การที่ทั้ง ๒ กลุ่มมีทัศนะต่างกันด้านนโยบายและขอบเขตการปฏิรูปสังคมก็ทำให้การทำสงครามหรือการสู้รบของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมอ่อนกำลังลงและทำให้การคงอยู่ของแนวร่วมประชาชนสิ้นสุดลงในที่สุด ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ ฝ่ายนายพลฟรังโกเป็นฝ่ายมีชัยและได้ปกครองสเปนในฐานะผู้เผด็จการจนถึงแก่อนิจกรรมใน ค.ศ. ๑๙๗๕
ส่วนในฝรั่งเศสซึ่งเป็นช่วงสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๔๐) มีการจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อโคมินเทิร์นเห็นชอบให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุโรปร่วมมือกับพวกสังคมประชาธิปไตย (social democrats) โมริช โทเรซ (Maurice Thorez) เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส (French Communist Party-PCF) เป็นคนแรกที่ออกมาเรียกร้องผ่าน L ’Humanité สิ่งพิมพ์ของพรรคให้จัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และต่อมาก็ไต้กล่าวซํ้าอีกในสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) นอกจากโทเรซแล้วนักการเมืองคนอื่นที่เป็นตัวจักรสำคัญในการจัดตั้งแนวร่วมประชาชน ได้แก่ เลอง บลูม (Léon Blum)* เอดูอาร์ ดาลาดีเยร์ (Edouard Daladier)* เอดูอาร์ แอรีโอ (Edouard Herriot)* และดานีเอล เมเออร์ (Daniel Mayer) กล่าวได้ว่าแนวร่วมประชาชนได้แรงสนับสนุนจากอดีตนายกรัฐมนตรีทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ พรรคการเมืองสำคัญ ๓ พรรคที่ร่วมมือกัน ได้แก่ พรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส พรรคแรงงานสากลฝรั่งเศส (French Section of the Workers’ International-SFIO) และพรรคหัวรุนแรงและสังคมนิยม (Radical and Socialist Party) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ได้แก่ สันนิบาตสิทธิมนุษยชน [Human Rights League-LDH จัดตั้งขึ้น ในช่วงที่เกิดกรณีเดรย์ฟุส (Dreyfus Affair)*] ขบวนการต่อต้านสงครามและลัทธิฟาสซิสต์ (Movement Against War and Fascism) คณะกรรมาธิการปัญญาชนเฝ้าระวังต่อต้านฟาสซิสต์ (Committee of Antifascist Intellectuals Watchdogs) พรรคเอกภาพแห่งกรรมาชีพ (Party of Proletarian Unity-PUP) ฯลฯ แต่ยกเว้นพวกกษัตริย์นิยม (Royalist)
สาเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเห็นว่าการสร้างพันธมิตรทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นและเห็นด้วยกับโคมินเทิร์นนั้นมีอยู่ ๒-๓ ประการ ประการแรก สถานการณ์ของฝรั่งเศสในขณะนั้นไม่มีความสงบ เพราะต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบมาจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๑ เป็นต้นมา ประการที่ ๒ เกิดกรณีอื้อฉาวทางการเงินที่เรียกกันว่า กรณีอื้อฉาวสตาวิสกี (Stavisky Scandal ค.ศ. ๑๙๓๔) อันเนื่องมาจากแซร์ช อาแล็กซอง-เดรอ สตาวิสกี (Serge Alexandre Stavisky) ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายรัสเซียขายหุ้นกู้ปลอมในตลาดหุ้นฝรั่งเศส และเมื่อตำรวจจะเข้าจับกุมเขาในวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาก็กระทำอัตวินิบาตกรรมด้วยอาวุธปืนทันที (แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตภายหลังว่าเขาอาจถูกวิสามัญฆาตกรรมก็เป็นได้) เมื่อมีการไต่สวนถึงความล่าช้าในการสอบสวนคดีเขาที่ผัดผ่อนเรื่อยมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๗ ซึ่งทำให้สตาวิสกีได้รับการประกันตัวถึง ๑๙ ครั้ง ก็พบว่ามีนักการเมืองระดับรัฐมนตรีและสมาชิกสภาคอยปกป้องสตาวิสกีอยู่ ต่อมาไม่นานพนักงานอัยการคนหนึ่งก็ถูกฆาตกรรมจึงยิ่งทำให้คนสงสัยว่าต้องมีการปกปิดเรื่องบางอย่างเกี่ยวกับคดีสตาวิสกีอย่างแน่นอน กลุ่มการเมืองฝ่ายขวาโดยเฉพาะขบวนการปฏิกิริยาฝรั่งเศส (Action Française)* ถือโอกาสโจมตีว่าระบอบสาธารณรัฐในขณะนั้นนอกจากไม่มีประสิทธิภาพแล้วยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอีก มีการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุดที่กลายเป็นเหตุการณ์จลาจลและมีนัยเหมือนการพยายามก่อรัฐประหารของฝ่ายขวาที่จะล้มระบอบสาธารณรัฐคือในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๔ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต ๑๔ คน บาดเจ็บกว่า ๒๓๐ คน นายกรัฐมนตรีดาลาดีเยร์จากพรรคหัวรุนแรงซึ่งเป็นพรรคที่มีสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุดจึงประกาศลาออก เพื่อเปิดทางให้ผู้อื่นเข้าแก้ไขสถานการณ์อย่างไรก็ดี ค่าเงินฟรังก์ก็ยังคงลดลงเรื่อย ๆ แม้รัฐบาลจะพยายามลดค่าใช้จ่ายก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บรรดาพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเห็นพ้องกันว่าบรรยากาศในขณะนั้นอาจเอื้ออำนวยต่อการเริ่มต้นก่อความปั่นป่วนเพื่อยึดอำนาจของกลุ่มฟาสซิสต์เหมือนดังที่เกิดในอิตาลีและเยอรมนีมาก่อนหน้า เพราะสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๓๒ ไม่มีเสถียรภาพนัก รัฐบาลจึงซวดเซง่าย หลังอดอล์ฟ อิตเลอร์ ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองในเยอรมนีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ สันนิบาตฝ่ายขวาและพรรคหรือองค์กรฟาสซิสต์ ต่าง ๆ ในฝรั่งเศสก็ยิ่งเติบโตขึ้น เช่น การเกิดกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มสังคมนิยมใหม่ (Neo-Socialist) หรือการจัดตั้ง Mouvement Franciste ของมาร์เซล บูการ์ (Marcel Bucard) ซึ่งได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำฟาสซิสต์อิตาลี
ฝ่ายซ้ายในฝรั่งเศสจึงได้ร่วมมือกันจัดตั้งแนวร่วมประชาชนขึ้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการตกลงเป็นพันธมิตรทางการเมืองระหว่างพวกสังคมนิยม สังคมนิยมหัวรุนแรงและพวกคอมมิวนิสต์โดยมีสหพันธ์สหภาพแรงงานสนับสนุนทั้ง ๓ พรรคตกลงเป็นพันธมิตรกันในช่วงการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๖ และได้ครอง ๓๗๖ ที่นั่งจาก ๖๐๘ ที่นั่ง นับเป็นชัยชนะที่เกิดขึ้นหลังจากแนวร่วมประชาชนในสเปนได้รับเลือกตั้งเพียง ๓ เดือน เมื่อพรรคสังคมนิยมได้ที่นั่งมากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้ซึ่งนับเป็นครั้งแรกเพราะโดยปรกติแล้ว พรรคหัวรุนแรงหรือราดิกัลได้ที่นั่งมากที่สุดเสมอ เลอง บลูม หัวหน้าพรรคสังคมนิยมจึงเป็นนักสังคมนิยมคนแรกและเป็นผู้มีเชื้อสายยิวคนแรกที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เขาได้จัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วยสมาชิกพรรคสังคมนิยม ๒๐ คน พรรคหัวรุนแรง ๑๓ คน และพรรคสาธารณรัฐสังคมนิยม ๒ คน คณะรัฐมนตรีชุดนี้ยังมีรัฐมนตรีหญิง ๓ คน ได้แก่ ซูซาน ลากอร์ (Suzanne Lacore) จากพรรคแรงงาน อีแรน โชลีโอ-กูรี (Irène Joliot-Curie) และเซซิล บรุนชวิก (Cécile Brunschvicg) จากกลุ่มซ้ายอิสระ นับเป็นครั้งแรกที่มีสตรีเข้าร่วมรัฐบาลทั้งที่สตรีฝรั่งเศสยังไม่ได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจนกระทั่ง ค.ศ. ๑๙๔๔
หลังจากรับตำแหน่งไม่นาน บลูมก็เริ่มการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ทันที เพราะตระหนักว่าประชาชนที่ออกเสียงให้แนวร่วมประชาชนหวังจะเห็นการกระจายความมั่งคั่งตลอดเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๖ บลูมต้องเผชิญกับการนัดหยุดงานและการนั่งประท้วงหยุดงานของผู้ใช้แรงงานเป็นระยะ ๆ รวมทั้งการที่เจ้าของกิจการถูกผู้ใช้แรงงานข่มขู่ไม่ให้ใช้อาวุธหรือปิดโรงงาน บลูมจึงจัดให้ฝ่ายลูกจ้างมาตกลงกับนายจ้างโดยมีผู้แทนสหพันธ์สหภาพแรงงานเข้าร่วมประชุมด้วย ผลการเจรจานำไปสู่การทำความตกลงมาตีญง (Matignon Accords) ที่ให้ประโยชน์แก่ฝ่ายผู้ใช้แรงงานเป็นอันมาก กล่าวคือ ผู้ใช้แรงงานจะได้รับค่าจ้างรายวันเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ ๑๒ ได้รับสิทธิหยุดงานปีละ ๒ สัปดาห์ โดยได้รับค่าแรงด้วย ทั้งลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงเหลือเพียง ๔๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยไม่รวมการทำงานล่วงเวลาด้วย นายจ้างให้การรับรองสหภาพแรงงานและให้อำนาจ อนุญาโตตุลาการตัดสินข้อพิพาทแรงงานต่าง ๆ นอกจากนี้ บลูมยังดำเนินการปฏิรูปด้านอื่น ๆ อีก เช่น ให้ธนาคารแห่งฝรั่งเศสอยู่ใต้กำกับของรัฐมากขึ้น โอนกิจการรถไฟและการผลิตสรรพาวุธมาเป็นของรัฐ นอกจากนี้ มีการสั่งยุบกลุ่มการเมืองแนวฟาสซิสต์ เช่น คาเมลอตดูรัว (Camelots du Roi) กางเขนไฟ (Croix de Feu)
การปฏิรูปสังคมด้านต่าง ๆ ของบลูมจำต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ขณะที่ประเทศก็ต้องเสริมสร้างกำลังอาวุธให้พร้อมในการป้องกันตนเองเพราะมีเค้าลางของการเกิดสงคราม แม้พวกคอมมิวนิสต์ซึ่งสนับสนุนการจัดตั้งแนวร่วมประชาชน แต่ปฏิเสธไม่เข้าร่วมรัฐบาล ก็ไม่ร่วมมือกับรัฐบาลในการปฏิรูปเท่าใดนัก และมักโจมตีรัฐบาลในสภาและทางสื่อสิ่งพิมพ์ ต่อมา ชาวฝรั่งเศสก็แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายเป็นอริกับแนวร่วมประชาชน นักธุรกิจและผู้ประกอบการด้านเกษตรไม่เต็มใจเสียภาษีเงินได้ซึ่งถูกปรับให้สูงขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมสวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้ผู้ใช้แรงงาน และเห็นว่าการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานนั้นมีแนวทางเหมือนรัฐเผด็จการ คนกลุ่มนี้ยังเห็นว่ากลไกทางเศรษฐกิจชองประเทศไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ประหยัดแรงงานมากขึ้น ความตกลงมาตีญงจึงยิ่งทำให้รัฐต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพื่อผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก นอกจากนี้ บรรดาผู้มีฐานะของฝรั่งเศสก็ไม่ประสงค์ให้รัฐบาลไปกู้เงินจำนวนมากเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศทั้งที่สถานการณ์ระหว่างประเทศขณะนั้นไม่น่าไว้วางใจ ในที่สุด บลูมก็ลดค่าเงินฟรังก์ลงและประกาศเว้นวรรคการปฏิรูปซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ยกเป็นข้ออ้างในการโจมตีรัฐบาล ท่าทีที่แข็งกร้าวของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสครั้งนี้เกิดจากการไม่พอใจบลูมอย่างรุนแรงที่เขาดำเนินนโยบายไม่แทรกแซงในสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War)* ที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๖-๑๙๓๙ เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสต้องการให้รัฐบาลสนับสนุนแนวร่วมประชาชนในสเปนเพื่อกีดกันระบอบฟาสซิสต์ของกลุ่มนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก
บลูมบริหารประเทศโดยต้องเผชิญกับความเป็นปฏิปักษ์จากหลายฝ่ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งการต่อต้านจากฝ่ายขวาก็ทวีขึ้นและยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เศรษฐกิจตกตํ่าครั้งใหญ่อยู่ในที่สุด เมื่อวุฒิสภาปฏิเสธที่จะให้เขาใช้อำนาจฉุกเฉินในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังทรุดหนักของประเทศ บลูมจึงลาออกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๓๗ หลังบริหารประเทศมาได้เพียง ๑ ปี เพื่อเปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาแก้ไขปัญหาบ้าง กามีย์ โชตอง (Camille Chautemps) รับตำแหน่งช่วงสั้น ๆ ก่อนที่ดาลาดีเยร์ซึ่งเป็นฝ่ายหัวรุนแรงรับตำแหน่งแทนทำให้การปฏิรูปต่าง ๆ ของบลูมยุติลงดาลาดีเยร์ใช้มาตรการตัดทอนรายจ่ายลง โดยเฉพาะการยกเลิกการจำกัดชั่วโมงทำงาน ๔๐ ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนได้มากขึ้น บรรดาผู้ใช้แรงงานพากันผิดหวังกับความล้มเหลวของแนวร่วมประชาชนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๘ เกือบจะเกิดเหตุการณ์การนัดหยุดงานทั่วไปขึ้นหากรัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วยการให้อำนาจการสั่งการของการรถไฟมาอยู่ที่กองทัพก่อน
แนวร่วมประชาชนฝรั่งเศสมีแนวโน้มชัดเจนว่า ใกล้สลายตัวเมื่อเกิดการทำความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๘ ระหว่างฝ่ายฟาสซิสต์เยอรมนีและอิตาลีกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสที่ให้เชโกสโลวะเกียยกดินแดนซูเดเทนลันต์ (Sudetenland) ให้แก่เยอรมนี ความตกลงนี้ถูกประณามจากทั้งพรรคสังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศส ในที่สุด แนวร่วมประชาชนที่จัดตั้งขึ้นมาใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เพื่อต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์และพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบสาธารณรัฐก็ยุติลงอย่างสมบูรณ์เมื่อเกิดการทำกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* หรือกติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* หรือกติกาสัญญาฮิตเลอร์-สตาลิน (Hitler-Stalin Pact)* ขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ว่าด้วยการตกลงไม่รุกรานกันระหว่างฟาสซิสต์เยอรมนีกับสหภาพโซเวียตหากฝ่ายใดต้องเข้าสู่สงคราม เมื่อคอมมิวนิสต์โซเวียตเปลี่ยนนโยบายจากเดิมที่เคยต่อต้านฟาสซิสต์แล้วพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสก็หันไปยอมรับแนวนโยบายใหม่ที่สหภาพโซเวียตกำหนดอย่างว่าง่าย
ดังนั้น สถานการณ์ของประเทศฝรั่งเศสใน ค.ศ. ๑๙๓๙ นอกจากจะไม่ได้ติดอาวุธพร้อมสำหรับการเข้าสู่สงครามใหญ่แล้ว ประชาชนในประเทศเองก็ตกอยู่ในภาวะสับสน จิตใจระส่ำระสาย ไม่รู้ชัดเจนว่าตนจะต้องต่อสู้เพื่อใครและต่อสู้กับอะไร.