ชอร์ช ชอง เรมง ปงปีดูเป็นนักการเมืองและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศส เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ (Fifth French Republic) ต่อจากประธานาธิบดีชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๗๔ เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันหลายสมัยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๖๘ เขายังมีบทบาทโดดเด่นในประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Community-EC)* และมีส่วนผลักดันให้กระบวนการบูรณาการยุโรป ซึ่งประสบภาวะชะงักงันในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ดำเนินต่อไปได้ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาของประเทศด้วย
ปงปีดูเกิดในครอบครัวนักการศึกษาเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๑ ที่เมืองมงต์บูดิฟ (Montboudif) เขตกองตาล (Cantal) ในภาคกลางของฝรั่งเศส บิดาและมารดามีอาชีพเป็นครู ปงปีดูศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่เมืองอาลบี (Albi) หลังได้รับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาแล้ว เขาก็เข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เมืองตูลูส (Toulouse) และที่โรงเรียนลุย-เลอ-กรองด์ (Lycée Louis-le-Grand) ในกรุงปารีสเพื่อเตรียมตัวสอบคัดเลือกเข้าในระดับอุดมศึกษา ใน ค.ศ. ๑๙๓๑ ปงปีดูสอบผ่านและเข้าศึกษาต่อทางด้านอักษรศาสตร์ในระดับปริญญาตรีที่ Ecole Normale Supérieure ในกรุงปารีสซึ่งทำให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้สังคมและวัฒนธรรมของชาวปารีส รวมทั้งได้รู้จักกับเพื่อนที่หลายคนในเวลาต่อมาเป็นเพื่อนสนิทของเขา เช่น เลโอโปลด์ เซดาร์ ซังออร์ (Leopold Sédar Senghor) รัฐบุรุษและกวีผู้มีชื่อเสียงชาวเชเนกัลตลอดจนได้มีโอกาสสัมผัสกับการเมืองเป็นครั้งแรกในแวดวงของนักศึกษาที่ทำงานให้สันนิบาตเพื่อการดำเนินงานริพับลิกันและสังคมนิยมของมหาวิทยาลัย (Ligue d’ action universitaire républicaine et socialiste)
ปงปีดูสำเร็จการศึกษาโดยได้รับปริญญาตรีในสาขาวรรณคดีใน ค.ศ. ๑๙๓๔ และได้เข้าศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาสาขารัฐศาสตร์ที่ Ecole Libre des Sciences Politiques ในกรุงปารีส หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาถูกเกณฑ์ทหารและถูกส่งไปประจำในกองทัพสำรองที่เมืองแกลร์มงต์-แฟร์รอง (Clermont-Ferrand) จนครบวาระการปฏิบัติงาน จึงได้ออกมาประกอบอาชีพเป็นครูที่โรงเรียนแซงชาร์ล (Lycée Saint Charles) ในเมืองมาร์แซย์ (Marseilles) เป็นเวลา ๓ ปี ต่อมาย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนอองรีกาเตรอะ (Lycée Henri IV) ในกรุงปารีส จนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ปงปีดูจึงถูกเรียกเข้าประจำการในกองทัพและถูกส่งไปประจำอยู่ในกองทัพที่ ๑๔๑ แห่งเขตอัลไพน์ (Alpine) ในแคว้นลอร์แรน (Lorraine) ระหว่างสงครามเขาได้รับยศเป็นร้อยโท และได้ออกรบในสมรภูมิจนได้รับเหรียญกล้าหาญ “Croix de Guerre”
ใน ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังพันหน้าที่จากกองทัพแล้วปงปีดูกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนอองรีกาเตรอะตามเดิม เขาสอนวิชาทางด้านมนุษยศาสตร์ในชั้นปีที่ ๑ ซึ่งเป็นหลักสูตรเตรียมตัวนักเรียนสำหรับสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาต่อใน Ecole Normale Supérieure และ Ecole Normale de la France d’ Outre-Mer จนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เขาลาออกไปทำงานในสำนักงานส่วนตัวของนายพลเดอ โกล ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลเฉพาะกาล โดยการแนะนำของเรอเน บรุยเย (René Brouillet) เพื่อนในสมัยเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา การเปลี่ยนงานครั้งนี้นับเป็นจุดหักเหที่สำคัญในชีวิต เพราะทำให้เขาได้รู้จักและทำงานใกล้ชิดกับเดอ โกลเป็นครั้งแรก โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องที่เกี่ยวกับปัญหาด้านกิจการภายในและการศึกษาต่อมา เมื่อเดอ โกลลาออกอย่างกะทันหันในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ปงปีดูก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยชองอองรี แองกรองด์ (Henri Ingrand) ผู้อำนวยการสำนักงานท่องเที่ยว และในปีเดียวกันเขาก็ได้เข้าทำงานในสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคร่วมแห่งประชาชน ชาวฝรั่งเศส (Rassemblement du Peuple Français) ซึ่งเป็นพรรคของพวกโกลลิสต์ (Gaullist) ที่ตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๗ แต่ปงปีดูก็มีโอกาสเข้าไปร่วมงานทางการเมืองกับพรรคนี้อย่างใกล้ชิด และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการศึกษาแห่งชาติ (Comité national d’ études) ซึ่งมีกาสตง ปาลิวสกี (Gaston Palewski) เป็นประธาน ทั้งยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นเลขาธิการของมูลนิธิอาน เดอ โกล (Anne de Gaulle Foundation) ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเด็กปัญญาอ่อน ตามชื่ออานลูกสาวของเดอ โกสซึ่งปัญญาอ่อน ในช่วงนี้ปงปีดูอยู่ในกลุ่มผู้ใกล้ชิดนายพลเดอ โกลที่มีจำนวนจำกัดเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งทำให้ต่อมาเขาได้เป็นหัวหน้าสำนักงานส่วนตัวของเดอโกลระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๕๓
ใน ค.ศ. ๑๙๕๓ ปงปีดูเปลี่ยนงานอีกครั้งโดยเข้าทำงานในธนาคารรอทไชลด์ (Rothchild Bank) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส แม้เขาจะไม่มีภูมิหลังทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินในระดับสูงมาก่อน แต่ปงปีดูก็ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงอย่างรวดเร็วโดยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการใหญ่ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งจน ค.ศ. ๑๙๕๘ การทำงานกับธนาคารแห่งนี้ทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะตลอดจนมีประสบการณ์ทำงานในด้านเศรษฐกิจการเมืองในระดับประเทศในวงกว้าง อย่างไรก็ดีแม้ว่าเขาจะมีภารกิจที่เป็นงานประจำมากมาย แต่ปงปีดูก็ยังพยายามหาเวลาว่างทำงานที่เขาชอบคือการเขียนบทวิจารณ์ วรรณคดีคลาสสิกของราซีน (Racine) เตน (Taine) และมาลโร (Malraux) ได้ถึง ๓ เรื่อง
ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เมื่อเดอ โกลกลับคืนสู่อำนาจทางการเมืองในเดือนมิถุนายน ปงปีดูก็กลับคืนสู่ชีวิตทางการเมืองเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วงปลายสมัยสาธารณรัฐที่ ๔ ขณะที่ฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาวิกฤตการณ์ในแอลจีเรีย (Algeria) ปงปีดูได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘ เขาจึงมีโอกาสร่วมงานอย่างใกล้ขีดกับเดอ โกล ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานส่วนตัวของเดอ โกล และมีบทบาทสำคัญในสมัยสาธารณรัฐที่ ๕ งานสำคัญในช่วงแรกคือ ได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินของประเทศหลายฉบับ ในช่วงนี้เขายังมีผลงานเขียนเรื่อง Anthologie de la poésie française ด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อเดอ โกลได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๕๙ แล้ว ปงปีดูก็หันกลับไปทำงานให้กับธนาคารรอทไชลด์อีกครั้งจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๒ แต่เขาก็ยังติดต่อกับ เดอ โกลอยู่ตลอดเวลา และใน ค.ศ. ๑๙๖๑ เขายังได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีเดอ โกล ให้เดินทางไปร่วมในคณะผู้แทนที่ทางราชการส่งไปดำเนินการเจรจาลับกับขบวนการปลดปล่อยแหล่งชาติแอลจีเรีย (Algerian F.L.N.) ซึ่งนำมาสู่การหยุดยิงระหว่างกองทัพฝรั่งเศสและขบวนการปลดปล่อยแห่งชาติแอลจีเรียในเวลาต่อมา การไปแอลจีเรียครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญมากเพราะได้ช่วยแผ้วถางทางให้ปงปีดูได้ดำรงตำแหน่งสูงในวงการเมืองของประเทศในเวลาต่อมา
หลังจากที่ความตกลงเอวียอง (Evian Agreements)* ได้รับการให้สัตยาบันโดยการลงประชามติในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๖๒ แล้ว ประธานาธิบดีเดอ โกลแต่งตั้งปงปีดูเป็นนายกรัฐมนตรีแทนมีเชล เดอเบร (Michel Debré) ซึ่งมีความขัดแย้งกับเขา ปงปีดูเข้ารับตำแหน่งในวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๒ แม้ว่าเขาจะมีประสบการณ์ในการทำงานด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่สาธารณชนมากนัก เพราะเขายังไม่มีผลงานทางด้านการเมืองในระดับประเทศที่โดดเด่นมาก่อน ประกอบกับในช่วง ค.ศ. ๑๙๖๒ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปฏิรูปวิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ การตัดสินใจนำวิธีการเลือกตั้งทั่วไปมาใช้ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและนำการแสดงประชามติมาใช้เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วผ่านการยอมรับจากประชาชนทั่วทั้งประเทศทำให้รัฐบาลปงปีดูลูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ เดอ โกลจึงตัดสินใจยุบสภาในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ปงปีดูก็ยังคงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อมา และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๒-๑๙๖๘ แม้จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีอีกหลายครั้งแต่ปงปีดูก็ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมารวมเวลาทั้งหมด ๖ ปี ๓ เดือน นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนและแม้แต่ในสมัยหลังเขาพ้นตำแหน่งไปแล้วปงปีดูจึงเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของสาธารณรัฐที่ ๕ ที่ได้ดำรงตำแหน่งนานที่สุด
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๒-ด๙๖๘ เดอ โกลมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเป็นอิสระจากอภิมหาอำนาจและการสร้างความยิ่งใหญให้แก่ฝรั่งเศสในวงการเมืองระหว่างประเทศ ปงปีคูจึงรับผิดชอบการดำเนินกิจการภายในเป็นส่วนใหญ่ งานสำคัญของปงปีดูในช่วงนี้คือการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศซึ่งทำให้ฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นช่วงสมัยที่เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรืองสมัยหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ภายในครั้งใหญ่ที่รุนแรงอันเป็นผลมาจากการจลาจลของนิสิตนักศึกษาและแรงงานในกรุงปารีสซึ่งรู้จักกันในชื่อ ฤดูใบไม้ผลิในกรุงปารีส (Paris Spring)* หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม (May Events) ปงปีดูก็มีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาโดยสันติด้วยความสามารถและอดทนยิ่ง เพื่อให้การจลาจลสงบลงและไม่ขยายตัวออกไปในต่างจังหวัด เขาพยายามยุติการจลาจลโดยเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาล ผู้แทนนักศึกษา ผู้แทนแรงงานและสหภาพแรงงาน ในการประชุมเกรอแนลล์ (Grenelle Conference) ที่กระทรวงกิจการสังคม (Ministry of Social Affairs) ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเกรอแนลล์ (rue de Grenelle) ในกรุงปารีสระหว่างวันที่ ๒๕-๒๖ พฤษภาคม จนสามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ แม้ว่าความตกลงเกรอแนลล์ (Grenelle Agreement) จะไม่ได้รับการลงนาม แต่ก็ถือได้ว่าปงปีดูประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นอกจากนั้น เขายังได้เสนอแนะประธานาธิบดีเดอ โกสให้ยุบสภาเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมือง ฉะนั้น เมื่อกลับจากเมืองบาเดิน-บาเดิน (Baden-Baden) เยอรมนี ในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ เดอ โกลจึงประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๓ และ ๓๐ มิถุนายน ปีเดียวกัน
แม้ว่าพวกโกลลิสต์จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งดังกล่าว และการจลาจลก็ยุติลงแล้ว แต่ก็เกิดความขัดแย้งระหว่างเดอ โกลกับปงปีดู ปงปีดูไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุใด เดอ โกลจึงไม่บอกให้เขารู้ว่าจะออกเดินทางไปบาเดิน-บาเดิน ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ในขณะที่เดอ โกลเองก็ไม่พอใจการแสดงบทบาทในการยุติการจลาจลของปงปีดูนัก ความสัมพันธ์ อันดีระหว่างบุคคลทั้งสองที่มีมาแต่ต้นก็เริ่มร้าวฉานจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา นอกจากนี้ เดอ โกล ยังแสดงท่าทีว่าจะหาคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนปงปีดูด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๘ เดอ โกลจึงได้แต่งตั้ง โมรีซ กูฟร์ เดอ มูร์วิลล์ (Maurice Couvre de Murville) เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากปงปีดู แม้ว่าปงปีดูจะมีส่วนเป็นอย่างมากในการรณรงค์หาเสียงจนนำชัยชนะมาสู่พวกโกลลิสต์ก็ตาม
เมื่อพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองแล้ว ปงปีดูได้จัดตั้งสำนักงานส่วนตัวที่บูเลอวาร์ เดอ ลา ตูร์-โมบูร์ก (Boulevard de la Tour-Maubourg) เพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป และเนื่องจากความสำเร็จในการจัดการยุติปัญหาการจลาจลเดือนพฤษภาคมและการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีทำให้ปงปีดูได้รับความนิยมและเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนมากขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๖๙ เขาจึงประกาศว่าจะสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หลังการประกาศลาออกของประธานาธิบดีเดอ โกลในวันที่ ๒๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๙ ปงปีดูจึงลงสนามแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดี และในวันที่ ๑๕ มิถุนายน เขาก็ได้รับชัยชนะโดยได้รับคะแนนเสียงกว่าร้อยละ ๕๘ ของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งในรอบที่ ๒ ปงปีดูเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ ๒ ของสาธารณรัฐที่ ๕ ในวันที่ ๒๐ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๙ และดำรงตำแหน่งอยู่จนถึงเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔
ในฐานะประธานาธิบดีของฝรั่งเศสและเป็นนักการเมืองในกลุ่มโกลลิสต์มาก่อน การดำเนินนโยบายต่างประเทศส่วนใหญ่ของปงปีดูจึงเป็นไปในแนวโกลลิสต์ คือ การดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระและมุ่งสร้างความยิ่งใหญ่ในวงการเมืองระหว่างประเทศให้แก่ฝรั่งเศส แต่ขณะเดียวกันปงปีดูก็ดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีความเป็นตัวเองสูง โดยเฉพาะนโยบายที่มีต่อสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประชาคมยุโรปมีความแตกต่างไปจากนโยบายของเดอ โกล เป็นอย่างมาก สำหรับนโยบายที่มีต่อสหรัฐอเมริกา เขาเปลี่ยนมาให้การสนับสนุนและเป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผยและจริงใจในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน (Richard M. Nixon) ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ทำให้ความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างฝรั่งเศสกับสหรัฐอเมริกาในสมัยเดอ โกสผ่อนคลายลงเป็นอย่างมาก ทั้งยังให้ความร่วมมือกับประชาคมแอตแลนติก (Atlantic Community) โดยเข้าร่วมในกิจกรรมทางด้านการเมืองขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* มากขึ้นแม้ว่าฝรั่งเศสจะยังไม่เข้าร่วมในกิจกรรมทางทหารก็ตาม ทำให้ความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับนาโตที่เกิดขึ้นในสมัย เดอ โกล ลดลงเช่นเดียวกัน พร้อมกันนี้ปงปีดูยังได้กระชับความสัมพันธ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจกับสหภาพโซเวียตให้มั่นคงยิ่งขึ้นด้วย ทำให้ฝรั่งเศสสามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นให้ผ่านพันไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ปงปีดูยังประสบความสำเร็จในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับกลุ่มประเทศอาหรับในตะวันออกกลางด้วย
บทบาทที่โดดเด่นของปงปีดูในด้านการเมืองระหว่างประเทศคือ การสนับสนุนกระบวนการบูรณาการของประชาคมยุโรป ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของเดอ โกล แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะเคยเห็นด้วยกับหลักการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล (intergovenmentalism) ของเดอ โกล และการใช้การประนีประนอมแห่งลักเซมเบิร์ก (Luxembourg Compromise)* ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์ที่นั่งว่าง (Empty Chair Crisis) ในสมัยเดอ โกลก็ตาม แต่เมื่อเป็นประธานาธิบดีแล้ว ปงปีดูเห็นว่าฝรั่งเศสซึ่งเป็นสมาชิกหลักที่ริเริ่มก่อตั้งประชาคมยุโรปขึ้นควรผลักดันกระบวนการบูรณาการที่ชะงักงันมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๘ ให้ดำเนินต่อไปเพราะนอกจากจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศแล้ว การสนับสนุนกระบวนการบูรณาการยังจะทำให้ฝรั่งเศสสามารถรักษาตำแหน่งผู้นำของยุโรปไว้ได้ เพราะประชาคมยุโรปมีกลไกที่ฝรั่งเศสจะสามารถใช้เป็นเวทีเพื่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศอยู่แล้ว และยังจะทำหน้าที่เป็นเวทีกลางที่ดีสำหรับยุโรปด้วย หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๖๘ ปงปีดูยังตระหนักว่าฝรั่งเศสจำเป็นต้องพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นและควรใช้ประโยชน์จากประชาคมยุโรปทางต้านอุตสาหกรรมมากกว่าการมุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ทางด้านการเกษตรจากนโยบายร่วมด้านการเกษตร (Common Agricultural Policy-CAP) ของประชาคมยุโรปซึ่งเป็นนโยบายหลักของเดอ โกลแต่ เพียงอย่างเดียว แตกไม่ได้หมายความว่าปงปีดูจะละทิ้งนโยบายด้านการเกษตรเสียทีเดียวหากแต่เขาต้องการใช้ประโยชน์จากนโยบายร่วมด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมของประชาคมควบคู่กันไป
ปงปีดูสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปของอังกฤษ เพื่อให้อังกฤษเข้ามาคานอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกทีและเห็นว่าการที่เดอ โกล คัดค้านการเข้าประชาคมยุโรปของอังกฤษถึง ๒ ครั้งในทศวรรษ ๑๙๖๐ ทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองภายในประชาคมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะก่อให้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากแก่ประเทศสมาชิกเล็ก ๆ อย่างเช่น กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ที่มีต่อการใช้อำนาจโดยพลการของประเทศใหญ่อย่างเช่นฝรั่งเศส ฝรั่งเศสจึงควรเปลี่ยนท่าทีเพื่อเอาใจประเทศเล็ก ๆ เหล่านั้นและลดความตึงเครียดดังกล่าวลง โดยการสนับสนุนการเข้าประชาคมยุโรปของอังกฤษ เขาจึงหันมาให้ความสนใจกระบวนการบูรณาการประชาคมยุโรปเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ ผู้นำพรรคการเมืองสำคัญ ๆ ในรัฐสภาฝรั่งเศสในช่วงนั้น เช่น วาเลรี ชิสการ์ เดสแตง (Valéry Giscard d’ Estaing)* แห่งพรรคอินดิเพนเดนต์ริพับลิกัน (Independent Republican Party) และชาก ดูอาเมล (Jacques Duhamel) แห่งพรรคคริสเตียนเดโมแครต (Christian Democrat Party) รวมทั้งนักการเมืองและรัฐมนตรีคนสำคัญ ๆ ของฝรั่งเศสที่เคยเป็นสมาชิกของคณะกรรมการการดำเนินงานเพื่อสหรัฐแห่งยุโรป (Action Committee for the United States of Europe) ของ ชอง มอนเน (Jean Monnet)* ต่างก็สนับสนุนการรวมยุโรปและการฟื้นฟูบทบาทของฝรั่งเศสในประชาคมยุโรปปงปีดูจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะสร้างผลงานและคะแนนนิยมทางการเมือง เขาจึงชูนโยบายการฟื้นฟูบทบาทของฝรั่งเศสในประชาคมยุโรปในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย และหลังเข้ารับตำแหน่งไม่นานเขาก็เริ่มดำเนินการติดต่อกับวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* นายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งในช่วงเดียวกันให้ร่วมมือกันจัดการประชุมสุดยอดของประชาคมยุโรปขึ้นที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๙ ซึ่งบรันดท์ก็ตอบรับข้อเสนอดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะในขณะนั้นบรันดท์ซึ่งต้องการแก้ความระแวงสงสัยของพันธมิตรตะวันตกที่อาจไม่เข้าใจนโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* ที่เขาใช้อยู่กับสหภาพโซเวียตและประเทศคอมมิวนิสต์ ในยุโรปตะวันออกเห็นเป็นโอกาสดีที่จะกระชับความสัมพันธ์ กับพันธมิตรตะวันตกโดยการใช้นโยบายมุ่งตะวันตก (Westpolitik) และในเวลาเดียวกันก็หันมามุ่งบูรณาการ ประชาคมยุโรปให้ก้าวหน้าต่อไป มหาอำนาจทั้งสองจึงได้เชิญชวนชาติสมาชิกประชาคมยุโรปอีก ๔ ประเทศ คือ อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์กให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดยุโรปที่กรุงเฮก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งกระบวนการบูรณาการประชาคมยุโรปในรอบใหม่
ปงปีดูยังได้ร่วมมือกับบรันดท์เสนอระเบียบวาระการประชุมให้มุ่งอยู่ที่การพิจารณาปัญหาหลักของประชาคม ที่จำเป็นต้องดำเนินการในทศวรรษใหม่อย่างเร่งด่วนรวม ๓ เรื่อง คือ ๑) การแสวงหาวิธีการให้ประชาคมมีแหล่งรายได้ของตนเอง (Own Resources) แทนการพึ่งพาเงินช่วยเหลือจากชาติสมาชิกแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งปงปีดูเรียกว่าเป็นการทำให้สมบูรณ์ (Completion) ๒) การบูรณาการในเชิงลึก (Deepening) โดยมุ่งเน้นการจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจการเงินหรืออีเอ็มยู (European Monetary Union-EMU) ขึ้นภายในประชาคมยุโรปซึ่งบรันดท์ให้การสนับสนุน เป็นอย่างมาก และ ๓) การบูรณาการในเชิงกว้าง (Widening) ด้วยการรับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นโดยเร็วเพื่อให้ประชาคมมีพลังแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในเรื่องนี้ปงปีดูหมายถึงการรับอังกฤษเข้าโดยเฉพาะ ผู้นำทั้งสองจึงได้รวมแนวคิดทั้งสามนี้ไว้ในหัวข้อเดียวกันว่า “Completion, Deepening and Widening” ข้อเสนอดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกประเทศ การประชุมที่กรุงเฮกจึงมุ่งไปในทิศทางนี้และผลการประชุมก็ครอบคลุมประเด็นทั้งสามซึ่งปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุม
หลังการประชุมสุดยอดที่กรุงเฮก ปงปีดูได้นำฝรั่งเศสเข้าสู่กระบวนการบูรณาการประชาคมยุโรปอย่างแข็งขันเขาสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกประชาคมยุโรปครั้งที่ ๓ ของอังกฤษใน ค.ศ. ๑๙๗๐ เป็นอย่างดี และมีบทบาทสำคัญในการเจรจารับสมาชิกระหว่างประชาคมยุโรปกับอังกฤษ ไอร์แลนด์ และเดนมาร์กที่สมัครเข้ามาใหม่พร้อมกันความสำเร็จของการเข้าประชาคมยุโรปโดยเฉพาะของอังกฤษขึ้นอยู่กับความช่วยเหลือของฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก เพราะฝรั่งเศสทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาในลักษณะทวิภาคีกับอังกฤษหลายครั้ง รวมทั้งติดต่อประสานงานทางด้านการทูตระหว่างรัฐบาลทั้งสองผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษในกรุงปารีสด้วย แม้ว่าฝรั่งเศสจะต้องการให้อังกฤษเข้าประชาคมเป็นอย่างมาก แต่ปงปีดูและคณะผู้แทนของเขาก็ยังปกป้องผลประโยชน์ของประเทศอย่างแข็งขันโดยเฉพาะผลประโยชน์ทางด้านการคลังและผลกระทบทางด้านการเกษตรที่อาจเกิดจากการใช้นโยบายร่วมด้านการเกษตรหลังอังกฤษเข้ามาเป็นสมาชิก นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังดำเนินการประชุมในลักษณะพหุภาคีอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ดี การประสานงานระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนีตะวันตก ในการประชุมระดับสูงครั้งต่าง ๆ ก็ทำให้ปัญหาต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี การเจรจาจึงยุติลงได้ด้วยการทำสนธิสัญญาเข้าร่วมประชาคม (Accession Treaty) กับประเทศผู้สมัครทั้งสามใน ค.ศ. ๑๙๗๒ ส่งผลให้ประชาคมยุโรปมีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก ๓ ประเทศรวมเป็น ๙ ประเทศในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๗๓ เมื่อสนธิสัญญามีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ดี ปงปีดูก็ไม่ได้สนับสนุนกระบวนการบูรณาการใด ๆ ที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ เขาจึงไม่สนับสนุนแผนจัดตั้งอีเอ็มยูตามที่เสนอในแผนแวร์เน (Werner Plan)* ฉบับ ค.ศ. ๑๙๗๐ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นผู้เสนอการจัดตั้งสหภาพดังกล่าวในการประชุมที่กรุงเฮก เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับขั้นตอนการเปลี่ยนไปสู่การเป็นสหภาพโดยเฉพาะขั้นตอนที่ ๒ และ ๓ ซึ่งจะมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปทางสถาบันของประชาคมยุโรปให้เป็นองค์การเหนือรัฐมากขึ้น ทั้งยังจะมีการเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐสภายุโรป (European Parliament) โดยการแบ่งปันอำนาจกับคณะมนตรีแห่งประชาคมยุโรป (Council of Ministers) ซึ่งเป็นสถาบันที่รัฐบาลชาติสมาชิกสามารถใช้อำนาจของตนได้ค่อนข้างมาก ปงปีดูซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองโกลลิสต์ใหม่ (Neo-Gaullist) จึงคัดค้านอย่างรุนแรง บทบาทของฝรั่งเศสในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๘๐ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผนแวร์เนถูกเก็บขึ้นหิ้ง อย่างไรก็ดี เขาก็ยังสนับสนุนการทำงานของประชาคมยุโรปในเรื่องต่าง ๆ ต่อมา และหลังการเกิดสงครามอิสราเอล-อาหรับในเดือนตุลาคม ค.ศ. ด๙๗๓ ปงปีดูยิ่งเน้นบทบาทของฝรั่งเศสในประชาคมยุโรปมากขึ้น เนื่องจากเขาเชื่อว่าการผนึกกำลังของสมาชิกทั้ง ๙ ประเทศในอีซีจะเป็นวิธีการสร้างความสมดุลใหม่กับพันธมิตรแอตแลนติก และสร้างความร่วมมือของพันธมิตรตะวันตกเพื่อต่อต้านความร่วมมือระหว่างสหภาพโซเวียตกับเยอรมนีตะวันตกตามนโยบาย มุ่งตะวันออกได้เป็นอย่างดี
ในด้านนโยบายภายในประเทศ ปงปีดูทำให้ตำแหน่งประธานาธิบดีมีบทบาทโดดเด่นในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ เขามุ่งเน้นที่การปรับปรุงโครงสร้างของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้ทนสมัย เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกในขณะที่ยังสามารถรักษาความสมดุลของการผลิตสินค้าชนิดต่าง ๆ ไว้ได้ นอกจากนี้ เขายังปรับปรุงนโยบายทางด้านสังคมด้วยการเพิ่มเงินค่าจ้างให้แก่แรงงานและการให้สวัสดิการทางสังคมแก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การสร้างความเจริญให้แก่กรุงปารีสและการให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมช่วงสมัยที่ปงปีดูเป็นประธานาธิบดีจึงเป็นช่วงที่มีการปรับปรุงกรุงปารีสครั้งใหญ่เพื่อให้เป็นมหานครที่มีความโอ่อ่าทันสมัยและเป็นศูนย์กลางทางศิลปวัฒนธรรมของยุโรป เช่น มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ ชื่อ “ศูนย์โบบูร์ก” (Baubourg Centre) ซึ่งหลังจากเขาถึงแก่อสัญกรรมแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติ ชอร์ช ปงปีดู (Georges Pompidou National Art and Cultural Centre) หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “ศูนย์ชอร์ช ปงปีดู” (Georges Pompidou Centre) รวมทั้งมีการปรับปรุงสถานที่ต่าง ๆ และสถานีรถไฟใต้ดินให้ทันสมัย การสร้างหอมงปาร์นาส (Montparnasse Tower) ตลอดจนการก่อสร้างทางด่วนบนฝั่งขวาของแม่น้ำแซน (Seine) เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ความพยายามแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของปงปีดูตั้งแต่ปลาย ค.ศ. ๑๙๗๓ ก็ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากฝรั่งเศสได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์นํ้ามันที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ. ๑๙๗๓ ซึ่งทำให้สินค้ามีราคาแพง เกิดภาวะเงินเฟ้อ จำนวนคนว่างงานมีอัตราสูงขึ้น พร้อมทั้งเกิดความตึงเครียดของคนในสังคมในขณะเดียวกันก็มีปัญหาอื่น ๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งการต่อต้านจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา ทำให้เขามีปัญหาต่าง ๆ เข้ามารุมเร้าอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับปงปีดูเองก็เริ่มมีปัญหาทางด้านสุขภาพตั้งแต่ต้น ค.ศ. ๑๙๗๔ อย่างไรก็ดี เขาก็ยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไว้ได้
ในด้านชีวิตส่วนตัว ปงปีดูสมรสกับโกลด ปงปีดู (Claude Pompidou) ซึ่งมีอายุอ่อนกว่าเขา ๑ ปี และมีอายุยืนกว่าเขาถึง ๓๐ ปี ทั้งสองมีบุตรบุญธรรม ๑ คน คือ อาแล็ง ปงปีดู (Alain Pompidou) ซึ่งต่อมาได้เป็นประธานของสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office) ของสหภาพยุโรปหรืออียู (European Union-EU)*
ชอร์ซ ชอง เรมง ปงปีดูถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ด้วยโรคลูคีเมีย (Leukemia) ที่บ้านพักในกรุงปารีสเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ค.ศ. ๑๙๗๔ ขณะอายุ ๖๓ ปี.