โปแลนด์เป็นประเทศที่ชาติมหาอำนาจเข้ามายึดครองแบ่งแยก และทำลายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ชาวโปลก็ยืนหยัดและอดทนเพื่อคอยโอกาสที่จะปลดแอกที่กดขี่พวกตน จนมีคำกล่าวว่าโปแลนด์จะไม่ถูกทอดทิ้งในขณะที่ชาวโปลยังมีชีวิตอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่ก่อกำเนิดขึ้น ๒ ครั้ง คือ โปแลนด์เก่า ก่อน ค.ศ. ๑๗๙๕ และโปแลนด์ใหม่หลัง ค.ศ. ๑๙๑๘ ทั้งกรุงวอร์ซอ (Warsaw) เองก็ถูกทำลายพินาศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* และสร้างขึ้นใหม่หลังสงครามซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของชีวิตเก่าและใหม่ของประเทศด้วย โปแลนด์มีชื่อเสียงด้านการผลิตเหล็กกล้าและการทำเหมืองถ่านหิน รวมทั้งมีแรงงานราคาถูก และนับเป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในกลุ่มประเทศยุโรป ๑๐ ประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหภาพยุโรปใน ค.ศ. ๒๐๐๔
โปแลนด์ตั้งอยู่ตอนกลางของทวีปยุโรป มีเนื้อที่ ๓๑๒,๖๘๕ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทิศเหนือจดทะเลบอลติก และติดต่อกับประเทศรัสเซียและประเทศลิทัวเนียทิศตะวันออกติดต่อกับประเทศเบลารุสแลผประเทศยูเครนทิศใต้ติดต่อกับประเทศสโลวาเกียและสาธารณรัฐเช็กและทิศตะวันตกติดต่อกับประเทศเยอรมนี มีกรุงวอร์ซอเป็นเมืองหลวง โปแลนด์ใช้ภาษาโปลเป็นภาษาราชการ มีจำนวนประชากรประมาณ ๓๘,๓๔๖,๓๐๐ คน (ค.ศ. ๒๐๑๔) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก
ดินแดนโปแลนด์เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าสลาฟเชื้อสายต่าง ๆ และบรรพบุรุษของพวกโปล คือ พวกสลาฟ โปลานี (Slav Polanie) ชื่อโปลานีซึ่งหมายถึง “ผู้อาศัยจากที่ราบ” (Dwellers from the plain) ในเวลาต่อมาจึงเป็นที่มาของชื่อประเทศ “โปแลนด์” พวกโปลานีตั้งถิ่นฐานบริเวณที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ระหว่างแม่นํ้าโอเดอร์ (Oder) กับวิสตูลา (Vistula) และระหว่าง ค.ศ. ๘๐๐-๙๖๐ ได้ขยายตัวและรวมพวกสลาฟเผ่าเล็ก ๆ เข้ากับตนและได้สร้างปราสาทและป้อมปราการตลอดจนศูนย์กลางการค้าตามบริเวณปากแม่นํ้าโอเดอร์และวิสตูลาตามลำดับ หลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ซากป้อมปราการในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ขุดพบสอดคล้องกับตำนานพื้นบ้านที่เล่าขานกันมาว่าชาวนาตระกูลเปียสต์ (Piast) ได้ก่อตั้งราชวงศ์ขึ้นปกครองและสร้างเมืองคราศูฟ (Krakoẃ) เป็นศูนย์กลางของอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ประวิติศาสตร์โปแลนด์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรระบุว่า ดุ๊กเมียชคอที่ ๑ (Mieszko I ประมาณ ค.ศ. ๙๖๓-๙๙๒)
หลังจากพระเจ้าบอเลสลาฟสวรรคต โปแลนด์ ก็ตกอยู่ในช่วงสมัยของความไร้เสถียรภาพที่ต้องเผชิญกับปัญหาการแย่งชิงอำนาจ รวมทั้งความแตกแยกทางการเมืองและสังคมภายในเพราะขาดผู้นำที่สามารถ ซึ่งเปิดทางให้พวกนักบวชและขุนนางก้าวขึ้นมามีอำนาจปกครองเป็นเวลากว่า ๒๐๐ ปี ขณะเดียวกัน ดินแดนเยอรมัน โบฮีเมีย อาณาจักรเคียฟ และมองโกลก็ผลัดเปลี่ยนกันเข้ารุกรานตามลำดับ ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เจ้าชายล็อกเยเลก (Lokielek) ซึ่งเป็นนักรบที่เก่งกล้าและสันทัดด้านการเมืองได้รับการสนับสนุนจากฮังการีและคริสตจักรคาทอลิก จนสามารถรวมโปแลนด์ที่แตกแยกให้เป็นปึกแผ่นและเข้มแข็งขึ้นได้อีกครั้ง ทรงสถาปนาพระองค์เป็นพระเจ้าวลาดิสลาฟ ที่ ๑ (Wladyslaw I ค.ศ. ๑๓๒๐-๑๓๓๓) กษัตริย์แห่งโปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๓๒๐ และจัดตั้งคราคูฟเป็นเมืองหลวง พระเจ้าคาซิเมียร์ที่ ๓ มหาราช (Casimir III the Great ค.ศ. ๑๓๓๓-๑๓๗๐) พระราชโอรสยังขยายดินแดนเข้าไปถึงรูทีเมีย (Ruthenia) หรือยูเครน (Ukraine) รวมทั้งผนวกบรันเดนบูร์ก (Brandenburg) ในดินแดนเยอรมันได้ ขณะเดียวกันก็ทันมาปฏิรูปการเมืองและสังคมด้วยการปฏิรูปการศาลและจัดทำประมวลกฎหมาย ตลอดจนส่งเสริมการค้าและการสร้างเมืองใหม่ ๆ ขึ้นในราชอาณาจักร ใน ค.ศ. ๑๓๖๔ พระเจ้าคาซิเมียร์ทรงเชื้อเชิญประมุขและผู้นำของอาณาจักรและราชอาณาจักรต่าง ๆ มาประขุมที่คราคูฟเพื่อหารือการทำสงครามต่อต้านพวกเติร์ก การประชุมครั้งนี้จึงเสริมสร้าง พระเกียรติยศแก่พระเจ้าคาซิเมียร์และเป็นการเน้นถึงอำนาจที่เข้มแข็งของโปแลนด์ หลังการประชุมเหล่าราชันดังกล่าวพระเจ้าคาซิเมียร์โปรดให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยคราคูฟขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมในยุโรปกลางและนับเป็นมหาวิทยาลัยในยุโรปตอนกลางที่เก่าแก่อันดับ ๒ รองจากมหาวิทยาลัยชาลส์ (Charles จัดตั้ง ค.ศ. ๑๓๔๘) ในเชโก สโลวาเกีย (Czechoslovakia) นอกจากนี้ พระองค์ยังออกบทกฎหมายแห่งวิสลิซา (Statute of Wislica ค.ศ. ๑๓๔๖) คุ้มครองพวกยิวจากการคุกคามสังหารของพวกคริสเตียนและอนุญาตให้พวกยิวลี้ภัยเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โปแลนด์จึงเป็นเสมือนอาณาจักรนานาชาติ (cosmopolitan kingdom) เพราะมีชนหลากเชื้อชาติเข้ามาอยู่อาศัยและกลมกลืนกันได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพวกโปล เยอรมัน รูทีเนียน เฟลมมิง (Fleming) วัลเลเคียน (Wallachian) ยิว อาร์เมเนียน (Armenian) และคาไรต์ (Karaite) รวมทั้งพวกตาร์ตาร์ (Tartar) ด้วย
พระเจ้าคาซิเมียร์ทรงเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เปียสต์ ก่อนสวรรคตพระองค์ซึ่งไม่มีรัชทายาทได้มอบราชบัลลังก์แก่พระนัดดาคือ หลุยส์แห่งฮังการี (Louis of Hungary) ใน ค.ศ. ๑๓๘๐ พระเจ้าหลุยส์ทรงทำข้อตกลงกับเจ้าชายโยไกดา (Jogaida) แห่งลิทัวเนียเพื่ออภิเษกสมรสกับยาดวีกา (Jadwiga) พระราชธิดาซึ่งขึ้นครองบัลลังก์โปแลนด์ โดยโยไกดาต้องเปลี่ยนศาสนาจากนิกายรัสเซียออร์ทอดอกซ์มาเป็นนิกายโรมันคาทอลิกและให้พลเมืองลิทัวเนียเปลี่ยนศาสนาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมลิทัวเนียกับโปแลนด์เข้าด้วยกันทางการเมืองและศาสนา และทำให้ลิทัวเนียได้ชื่อว่าเป็นชนป่าเถื่อนสุดท้ายในทวีปยุโรปที่หันมายอมรับคริสต์ศาสนา ใน ค.ศ. ๑๓๘๖ โยไกดาทรงทำพิธีรับศีลจุ่มและขึ้นครองบัลลังก์โปแลนด์โดยเฉลิมพระนามว่า วลาดิสลาฟ ยักเยลโล (Wladyslaw Jagiello) และเป็นการเริ่มยุคสมัยแห่งราชวงศ์ยักเยลโลที่ปกครองโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๓๘๖-๑๕๗๒ ทั้งโปแลนด์และลิทัวเนียต่างมีศัตรูร่วมกันคือพวกเยอรมันทิวทอนิก (Teutonic Order) พระเจ้าวลาดิสลาฟและวีเทาทัส (Vytautas) แกรนด์ดุ๊กลิทัวเนียจึงผนึกกำลังกันทำสงครามกับพวกมองโกลและเยอรมันทิวทอนิกตามลำดับ จนมีชัยชนะอย่างเด็ดขาดในยุทธการที่ซัลกิริส (Zalgiris) หรือทันเนนแบร์ก (Tannenberg) ใน ค.ศ. ๑๔๑๐ หลังการยุทธ์ครั้งนี้โปแลนด์กับลิทัวเนียมีความผูกพันกันแน่นแฟ้นมากขึ้นและใน ค.ศ. ๑๔๑๓ ทั้ง ๒ ดินแดนร่วมลงนามในสนธิสัญญาแห่งสหภาพ (Treaty of Union) โปแลนด์กลายเป็นมหาอำนาจที่เข้มแข็งในยุโรปตะวันออกและในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ เขตแดนของราชอาณาจักรก็ขยายตัวตั้งแต่ทะเลบอลติก (Baltic) จนถึงชายส่งทะเลดำ
ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีซาร์อีวานที่ ๔ (Ivan IV ค.ศ. ๑๕๓๓-๑๕๘๔) หรือซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด (Ivan the Terrible) เป็นประมุข ได้เริ่มขยายอำนาจและได้ดินแดนเข้าไปในยุโรปตะวันออกและบริเวณรอบคาบสมุทรไครเมีย การขยายอำนาจดังกล่าวจึงคุกคามความมั่นคงของโปแลนด์และลิทัวเนีย ใน ค.ศ. ๑๕๖๙ ในรัชสมัยของพระเจ้าซิกิสมุนด์ที่ ๒ ออกัสตัส (Sigismund II Augustus ค.ศ. ๑๕๔๘-๑๕๗๒) โปแลนด์และลิทัวเนียทำข้อตกลงทางการเมืองในสนธิสัญญาสหภาพแห่งลูบลิน (Treaty Union of Lublin) จัดตั้งการปกครองแบบสหพันธรัฐที่เรียกว่า เครือจักรภพของสองชาติ (Commonwealth of the Two Nations) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า เครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) โดยถือว่าราชอาณาจักรโปแลนด์และแกรนต์ดัชชีลิทัวเนียเป็นชาติและรัฐเดียวกัน โดยมีวอร์ซอเป็นเมืองหลวง เบลารุส (Belarus) ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของลิทัวเนียพยายามขัดขวาง
ความเข้มแข็งของระบบเครือจักรภพทำให้ในเวลาต่อมาโปแลนด์ซึ่งเผชิญกับปัญหาการสืบราชบัลลังก์เนื่องจากไม่มีระบบสืบสันตติวงศ์ที่แน่นอน ทั้งกลุ่มขุนนางซึ่งมีอำนาจในการเลือกกษัตริย์ขึ้นปกครองประเทศต่างแย่งชิงอำนาจกันเอง ทำให้โปแลนด์พยายามสร้างสายสัมพันธ์กับอาณาจักรเพื่อนบ้านในรูปของเครือจักรภพด้วย กล่าวคือ กับฮังการี (ค.ศ. ๑๔๓๔-๑๔๔๔, ๑๔๗๖-๑๔๘๖) สวีเดน (ค.ศ. ๑๔๘๗-๑๖๐๐) และแซกโซนี (ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๖๔) แต่เครือจักรภพดังกล่าวก็ดำรงอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ มีเพียงเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนียเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการสร้าง
ในรัชสมัยของพระเจ้าซิกิสมุนด์ที่ ๓ วาซา (Sigismund III Vasa ค.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๓๒) โปแลนด์ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในรัสเซียที่เป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์การอ้างสิทธิของดมีตรีตัวปลอม (False Dmitry) ในราชบัลลังก์รัสเซีย การมีผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์มากมายดังกล่าวได้นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองและการจลาจลภายในที่เป็นจุดเริ่มต้นสมัยแห่งความยุ่งยาก (Time of Trouble) ในประวัติศาสตร์รัสเซีย จนท้ายที่สุดตระกูลโรมานอฟ (Romanov) วางแผนให้พวกทหารก่อรัฐประหารและขับซาร์วาซีลี ชุยสกี (Vasily Shuisky) ออกจากบัลลังก์มีการส่งคณะทูตไปเจรจาทูลเชิญเจ้าชายวสาดิสลาฟ (Wladyslaw) พระราชโอรสของพระเจ้าซิกิสมุนด์ที่ ๓ ขึ้นครองบัลลังก์รัสเซีย โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์ต้องเปลี่ยนมานับถือนิกายกรีกออร์ทอดอกซ์และกองทัพโปแลนด์ต้องถอนกำลังออกจากเมืองสโมเลนสค์ (Smolensk) แต่ประสบความล้มเหลว เพราะพระเจ้าซิกิสมุนด์ที่ ๓ ทรงต้องการพิขิตรัสเซียอย่างไม่มีเงื่อนไขและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นซาร์เอง คณะทูตจึงถูกจับกุมและจำคุกในโปแลนด์นานถึง ๙ ปี รัสเซียจึงเข้าสู่ภาวะการขาดผู้นำหรือช่วงว่างระหว่างรัชกาล (interregnum) ระหว่าง ค.ศ. ๑๖๑๐-๑๖๑๓ สวีเดนกับโปแลนด์จึงเห็นเป็นโอกาสเข้ารุกราน อย่างไรก็ตามทั้งสวีเดนและโปแลนด์ก็ยอมยุติสงครามในเวลาต่อมา โปแลนด์ได้ลงนามในสนธิสัญญาดูลีโม (Treaty of Deulimo) กับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๖๑๗ ประกันการพักรบเป็นเวลา ๑๔ ปี และยอมปล่อยคณะทูตที่ถูกจองจำในโปแลนด์โดยได้อำนาจปกครองสโมเลนสค์ ส่วนรัสเซียแก้ปัญหาการขาดผู้นำโดยสภาแผ่นดินเลือกไมเคิล โรมานอฟ (Michael Romanov) เป็นซาร์
เมื่อพระเจ้าซิกิสมุนด์ที่ ๓ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๓๒ รัสเซียเห็นเป็นโอกาสก่อสงครามกับโปแลนด์เพื่อแย่งชิงสโมเลนสค์กลับคืน แม้จะล้อมเมืองไว้ได้แต่ก็ล้มเหลวที่จะเข้ายึดครอง พระเจ้าวลาดิสลาฟที่ ๔ (Wladyslaw IV ค.ศ. ๑๖๓๒-๑๖๔๘) กษัตริย์พระองค์ใหม่ของโปแลนด์ทรงร่วมมือกับตาร์ตาร์โจมตีรัสเซีย ขณะที่สงครามกำลังอยู่ในขั้นแตกหัก อัครบิดรฟีลาเรต (Patriarch Filaret) ซึ่งเป็นซาร์องค์ที่ ๒ ปกครองร่วมกับซาร์ไมเคิลพระราชโอรสก็สวรรคตทำให้รัสเซียต้องยอมยุติสงครามกับโปแลนด์โปแลนด์ได้สโมเลนสค์และดินแดนต่าง ๆ ที่ยึดครองรวมทั้งค่าปฏิกรรมสงครามอีก ๒๐,๐๐๐ รูเบิล แต่ต้องยอมเลิกการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์รัสเซียและให้การรับรองซาร์ไมเคิลเป็นประมุขของรัสเซีย ต่อมาใน ค.ศ. ๑๖๕๕ โปแลนด์ก่อสงครามกับสวีเดน ในระหว่างสงครามสวีเดนปิดล้อมปราการโบสถ์ที่เมืองยาสนากูรา (Jasna Gόra) ๔๐ วัน แต่ไม่สามารถยึดครองได้และต้องล่าถอยในที่สุด กล่าวกันว่าในช่วงปิดล้อมมีการบูชาภาพมาดอนนา (Madonna) ซึ่งเชื่อกันว่าเซนต์ลุก (Saint Luke) เป็นผู้วาดให้ช่วยคุ้มครอง โบสถ์ดังกล่าวในปัจจุบันจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโปแลนด์ และในแต่ละปีจะมีผู้เดินทางมาจาริกแสวงบุญกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ในรัชสมัยพระเจ้าจอห์นที่ ๓ ซอเบียสกี (John III Sobieski ค.ศ. ๑๖๗๔-๑๖๙๖) ซึ่งเป็นกษัตริย์นักรบที่เก่งกล้าคนสุดท้ายของโปแลนด์ ทรงทำสงครามขับไล่พวกเติร์กออกจากกรุงเวียนนาได้ใน ค.ศ. ด๖๘๓ ซึ่งทำให้ยุโรปรอดพ้นจากการยึดครองของเติร์กและมีส่วนทำให้ออสเตรียและรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรกลายเป็นมหาอำนาจในเวลาต่อมา หลังพระเจ้าจอห์นที่ ๓ ซอเบียสกีสวรรคตใน ค.ศ. ๑๖๙๖ ราชอาณาจักรโปแลนด์ก็แตกแยกทางการเมืองภายในและขาดผู้นำที่เข้มแข็ง
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ โปแลนด์ต้องเผชิญกับศึกสงครามอย่างต่อเนื่องจนอ่อนแอและสูญเสียอำนาจในที่สุด ใน ค.ศ. ๑๗๐๖ พระเจ้าชาลส์ที่ ๑๒ (Charles XII ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๒๑) แห่งสวีเดนสามารถบีบบังคับให้พระเจ้าออกัสตัสที่ ๒ (Augustus II ค.ศ. ๑๖๙๗-๑๗๐๔, ค.ศ. ๑๗๑๐-๑๗๓๓) แห่งโปแลนด์สละราชย์แต่เมื่อสวีเดนพ่ายแพ้ต่อรัสเซียในยุทธการที่ปอลตาวา (Battle of Poltava) ใน ค.ศ. ๑๗๐๙ ซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช (Peter I the Great ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๔) ก็ทรงช่วยให้พระเจ้าออกัสตัสที่ ๒ ได้กลับครองบัลลังก์อีกครั้งแต่พวกขุนนางต่อต้านเพราะต้องการเลือกกษัตริย์องค์ใหม่กองทหารรัสเซีย ๑๘,๐๐๐ คนจึงเข้าล้อมรัฐสภาซึ่งทำให้ฝ่ายสนับสนุนพระเจ้าออกัสตัสมีชัยชนะและนับเป็นจุดเริ่มต้นที่โปแลนด์ตกอยู่ใต้การคุ้มครองของรัสเซีย รัสเซียบังคับให้โปแลนด์ลดกำลังทหารประจำการและควบคุมการดำเนินนโยบายต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อสวีเดนร่วมกับจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* ทำสงครามกับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๗๑๑ รัสเซียพ่ายแพ้และต้องยอมให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่เข้าแทรกแซงการเมืองในโปแลนด์อีก
หลังพระเจ้าออกัสตัสที่ ๒ สวรรคต สตานิสลาฟเลชชินสกี (Stanislaw Leszczyński) พระสัสสุระ (พ่อตา) ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๕ (Louis XV ค.ศ. ๑๗๑๔-๑๗๗๔) ได้รับเลือกให้กลับมาครองบัลลังก์โปแลนด์อีกครั้งหนึ่งด้วยการสนับสนุนของฝรั่งเศส [ทรงได้รับเลือกเป็นกษัตริย์โปแลนด์ครั้งแรกระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๔-๑๗๑๐ โดยพระเจ้าชาลส์ที่ ๑๒ ให้การสนับสนุน] ออสเตรียกับรัสเซียขัดขวางเพราะไม่ต้องการให้ฝรั่งเศสเข้าไปสร้างเขตอิทธิพลในโปแลนด์และนำไปสู่สงครามการสืบราชบัลลังก์โปแลนด์ (War of Polish Succession ค.ศ. ๑๗๓๓-๑๗๓๖) สงครามสิ้นสุดลงด้วยการถอนตัวของฝรั่งเศส รัสเซียกับออสเตรียจึงสถาปนาออกัสตัส อิเล็กเตอร์แห่งแซกโซนี (Augustus, Elector of Saxony) ขึ้นครองบัลลังก์โปแลนด์ เฉลิมพระนามพระเจ้าออกัสตัสที ๓ (Augustus III ค.ศ. ๑๗๓๖-๑๗๖๓) รัสเซียจึงกลับไปมีบทบาทและอิทธิพลในการเมืองโปแลนด์อีกครั้งหนึ่ง ใน ค.ศ. ๑๗๓๒ รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรียยังทำข้อตกลงลับร่วมกันในการจะรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในโปแลนด์ ข้อตกลงลับนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พันธมิตรของสามอินทรีดำ” (Alliance of the Three Black Eagles) เนื่องจากทั้ง ๓ มหาอำนาจใช้นกอินทรีดำเป็นตราราชวงศ์
ใน ค.ศ. ๑๗๖๓ เมื่อพระเจ้าออกัสตัสที่ ๓ สวรรคต และต้องมีการเลือกตั้งกษัตริย์พระองค์ใหม่ รัสเซียจึงเข้าแทรกแซงโดยซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* ทรงสนับสนุนเจ้าชายสตานิสลาฟ ออกัสตัส ปอเนียตอฟสกี (Stanislaw Augustus Poniatowski) ชาวโปแลนด์ซึ่งเป็นชู้รักและคนโปรดคนหนึ่งของพระนางขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อให้รัสเซียสามารถควบคุมโปแลนด์ได้โดยผ่านเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำโปแลนด์ แต่พระเจ้าสตานิสลาฟซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของโปแลนด์ทรงพยายามหลีกเลี่ยงการักใยอำนาจของรัสเซียและดำเนินการปฏิรูปภายในประเทศด้านต่าง ๆ นโยบายปฏิรูปดังกล่าวได้นำไปสู่ความแตกแยกระหว่างพระเจ้าสตานิสลาฟกับซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ และทำให้พระนางทรงดำเนินนโยบายทำลายโปแลนด์โดยเชิญให้ปรัสเซียและออสเตรียเข้าร่วมการแบ่งแยกโปแลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๗๒-๑๗๙๕
การแบ่งโปแลนด์ (Polish Partitions) เกิดขึ้น ๓ ครั้ง คือ ใน ค.ศ. ๑๗๗๒ ค.ศ. ๑๗๙๓ และ ค.ศ. ๑๗๙๕ การแบ่งโปแลนด์ครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างที่รัสเซียกำลังทำสงครามกับตุรกีและมีชัยชนะใน ค.ศ. ๑๗๗๐ จนสามารถขยายอำนาจเข้าไปในคาบสมุทรไครเมียและยึดมอลเดเวีย (Moldavia) และวัลเลเคีย (Wallachia) ได้ รัสเซียซึ่งไม่ต้องการให้ออสเตรียกับปรัสเซียขัดขวางการขยายดินแดนเข้าไปในจักรวรรดิออตโตมันจึงทำข้อตกลงกับออสเตรียและปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๗๗๒ เพื่อแบ่งโปแลนด์ระหว่างกัน ข้อตกลงดังกล่าวทำให้โปแลนด์ต้องสูญเสียดินแดน ๑ ใน ๓ หรือ ๗๓๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร รวมประชากร ๔,๕๐๐,๐๐๐ คน ให้แก่ ๓ มหาอำนาจ ปรัสเซียได้ดินแดนน้อยที่สุดแต่เป็นเขตเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ออสเตรียได้พื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ในขณะที่รัสเซียได้ดินแดนส่วนใหญ่แต่ไร้ความสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมือง ในช่วงการดำเนินการแบ่งโปแลนด์ ขุนนางโปแลนด์พยายามเคลื่อนไหวต่อต้านระหว่าง ค.ศ. ๑๗๖๘-๑๗๗๒ โดยรวมตัวกันเรียกว่า “สมาพันธ์แห่งบาร์” (Confederation of Bar) แต่รัสเซียส่งกองทัพเข้าปราบปรามและจับกุมผู้ต่อต้านกว่า ๕,๐๐๐ คนส่งไปไซบีเรีย อย่างไรก็ตาม มีผู้หนีรอดการกวาดล้างได้แม้จำนวนไม่มากนัก และคาซีเมียร์ ปูลาสกี (Casimir Pulaski) เป็นคนหนึ่งที่หนีได้ เขาเดินทางไปอเมริกาเหนือและในเวลาต่อมามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของโปแลนด์นอกประเทศ
ผลสำคัญของการแบ่งโปแลนด์ครั้งแรก คือ พระเจ้าปอเนียตอฟสกีทรงหันมาปฏิรูปประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้นโดยนำแนวความคิดของนักปรัชญาเมธีของยุคภูมิธรรม (Enlightenment) ในยุโรปตะวันตกมาประยุกต์ใช้ พระองค์ทรงดำเนินนโยบายปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตยในด้านต่าง ๆ มีการจัดตั้งกระทรวงศึกษาธิการขึ้นเป็นแห่งแรกในทวีปยุโรปเพื่อปฏิรูปการศึกษาและจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปฏิรูประบบภาษีอากรและกองทัพ ตลอดจนส่งเสริมการอุตสาหกรรม แต่การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๙๑ รัฐธรรมนูญยังคงกำหนดให้กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศแต่ให้เป็นการสืบสันตติวงศ์แทนการเลือกตั้งยกเลิกสิทธิการยับยั้งเป็นรายบุคคลที่สมาชิกสภาเพียง ๑ คน ก็สามารถลงคะแนนเสียงคัดด้านร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ให้ตกไปได้ และให้ใช้เสียงข้างมากแทน มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ และให้อำนาจทางการเมืองการปกครองแก่ชนชั้นกลางเท่าเทียมชนชั้นขุนนาง ตลอดจนคํ้าประกันเสรีภาพส่วนบุคคลของพลเมืองทุกคน สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสประกาศสดุดียกย่องความเป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากแต่ฝ่ายที่สนับสนุนรัสเซียและขุนนางหัวอนุรักษ์ต่อต้านอย่างมากโดยรวมตัวกันเป็นสมาพันธรัฐแห่งทาร์โกรีตชา (Confederation of Targowica) ก่อกบฏขึ้น อีกทั้งส่งผู้แทนไปร้องทุกข์แก่ซารีนาแคเทอรีนเพื่อให้ทรงช่วยฟื้นฟูสถานะเดิมแก่โปแลนด์ รัสเซียจึงเห็นเป็นโอกาสยกกองทัพข้ามพรมแดนบุกโปแลนด์ และนำไปสู่การแบ่งแยกโปแลนด์ ครั้งที่ ๒ ใน ค.ศ. ๑๗๙๓ ปรัสเซียได้เข้าร่วมโจมตีด้วย
ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๒ รัสเซียได้รับดินแดนมากกว่าครึ่งหนึ่งของโปแลนด์ตะวันออกและประชากรกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ คน รวมทั้งได้บางส่วนที่เคยเป็นแกรนด์ดัชชี ลิทัวเนียและบางส่วนของแคว้นยูเครนด้านตะวันตกส่วนปรัสเซียได้ดินแดนที่เรียกต่อมาว่าปรัสเซียตอนใต้ รวมทั้งเมืองกดานสก์ (Gdansk)* หรือดานซิก (Danzig)* ในปัจจุบัน การแบ่งโปแลนด์ครั้งนี้นับเป็นการทำลายชาติโปแลนด์อย่างแท้จริง เพราะรัสเซียได้สิทธิในการควบคุมกองทัพในโปแลนด์และการดำเนินนโยบายต่างประเทศโปแลนด์ถูกบังคับให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๗๙๑ รวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ หมด การยืดครองโปแลนด์ครั้งนี้ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียอย่างกว้างขวาง ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๗๙๔ ทาเดลูช คอชชูชคอ (Tadeusz Kościuszko) ชาวโปลผู้รักชาติเป็นผู้นำก่อกบฏขึ้นโดยรวบรวมกำลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาได้กว่า ๑๕๐,๐๐๐ คน ต่อสู้กับรัสเซียและสามารถเข้ายึดกรุงวอร์ซอได้ เขาออกแถลงการณ์ยกเลิกทาสติดที่ดินและขณะเดียวกันก็ติดต่อ ขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส แต่ฝรั่งเศสซึ่งอยู่ในสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว (Reign of Terror)* กำลังประสบปัญหาภายในจึงไม่สามารถช่วยโปแลนด์ได้ ในยุทธการที่เมืองมาเชยอรีตซา (Maciejowice) กองทัพโปลพ่ายแพ้กองทัพรัสเซียซึ่งออสเตรียและปรัสเซียสนับสนุนอย่างยับเยินและในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๔ รัสเซียก็ยึดวอร์ซอกลับคืนและสังหารชาวโปลเป็นจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ซึ่งรวมทั้งผู้หญิงและเด็ก
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๗๙๔ รัสเซีย ปรัสเซียและออสเตรียได้ร่วมกันทำสัญญาแบ่งโปแลนด์เป็นครั้งที่ ๓ โดยต้องการลบโปแลนด์ออกจากแผนที่ของยุโรปชั่วนิรันดร์ และทำลายทุกสิ่งที่จะทำให้ประชาชนหวนนึกถึงการดำรงอยู่ของราชอาณาจักรโปแลนด์ พระเจ้าสตานิสลาฟทรงถูกบีบให้สละราชย์และถูกนำตัวไปกักบริเวณที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งพระองค์สิ้นพระชนม์ที่นั่นใน ค.ศ. ๑๗๙๘ ชาวโปลที่ถูกจับจำนวนมากถูกส่งไปไซบีเรีย แต่หลายพันคนสามารถหนีไปอิตาลีได้ และใน ค.ศ. ๑๗๙๗ ได้รวมตัวกันตั้งเป็นกองทหารโปลโดยมีนายพลเฮนริก ดอมบรอฟสกี (Henryk Dabrowski) เป็นผู้นำสนับสนุนฝรั่งเศสในการต่อต้านออสเตรีย ในการแบ่งโปแลนด์ครั้งนี้รัสเซียได้ดินแดนส่วนที่เหลือทั้งหมดของลิทัวเนียและยูเครนพร้อมกับประชากรอีก ๑,๒๐๐,๐๐๐ คน รวมทั้งได้ปกครองดัชชีคูร์ลันด์ (Duchy of Courland) หลังการแบ่งครั้งนี้ รัสเซียได้รับดินแดนประมาณ ๒ใน ๓ ของโปแลนด์ซึ่งทำให้มีอำนาจและอิทธิพลในยุโรปตะวันออกมากขึ้น ส่วนดินแดนที่เหลือเป็นของปรัสเซียและออสเตรียรวมกัน แม้การแบ่งโปแลนด์ทั้ง ๓ ครั้ง ดังกล่าวจะถูกนานาประเทศประณามแตกไม่มีมหาอำนาจอื่นใดเข้าช่วยเหลือ เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเมืองที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติของชาวอเมริกัน (American Revolution ค.ศ. ๑๗๗๔-๑๗๘๓) การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* และสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* โปแลนด์จึงต้องสิ้นชาติไปนานถึง ๑๒๔ บีจนถึง ค.ศ. ๑๙๑๘ อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกรักชาติและเกลียดชังรัสเซียก็ฝังลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวโปแลนด์และกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจชาวโปลให้อดทนและยืนหยัดเพื่อรอคอยที่จะเป็น ไทอีกครั้ง
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* แห่งจักรวรรดิฝรั่งเศสขยายอำนาจเข้าปกครองภาคพื้นทวีปยุโรป ชาวโปลได้รวมตัวกันจัดตั้งเบึนกองทหารสนับสนุนฝรั่งเศสต่อสู้กับออสเตรียในลอมบาร์ดี (Lombardy) และต่อมาในคาบสมุทรไอบีเรีย เมื่อปรัสเซียพ่ายแพ้ฝรั่งเศสอย่างยับเยินในยุทธการที่เมืองเยนา (Battle of Jena)* ค.ศ. ๑๘๐๖ กองทหารโปสได้ร่วมกับกองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดกรุงเบอร์ลินและนำทัพเข้ายึดเมืองพอซนาน (Poznan) ในปีรุ่งขึ้นจักรพรรดินโปเลียนทำความตกลงกับซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)* ในสนธิสัญญาทิลซิท (Treaty of Tilsit ค.ศ. ๑๘๐๗)* และรวมดินแดนที่ปรัสเซียได้ยึดครองในการแบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๒ จัดตั้งเป็นแกรนด์ดัชชีแห่งวอร์ซอ (Grand Duchy of Warsaw) เพื่อคานอำนาจออสเตรีย ปรัสเซีย และรัสเซีย ทั้งสถาปนาวอร์ซอเป็นเมืองหลวง ใน ค.ศ. ๑๘๑๒ ทหารโปลกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คนเข้าร่วมกองทัพฝรั่งเศสในการบุกรัสเซียและชาวโปลในรัสเซียก็เห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชแต่ประสบความล้มเหลวเพราะปัญหาการขาดเสบียงอาหารและอากาศที่หนาวจัดทำให้ฝรั่งเศสซึ่งยึดกรุงมอสโกได้ต้องถอยทัพกลับ หลังความพ่ายแพ้ของฝรั่งเศสในสงครามนโปเลียน (Napoleonic Wars ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)* ประเทศมหาอำนาจได้จัดการประชุมใหญ่แห่งเวียนนา (Congress of Vienna ค.ศ. ๑๘๑๔-๑๘๑๕)* เพื่อแบ่งเขตแดนของยุโรปใหม่และสร้างดุลอำนาจเพื่อรักษาสันติภาพดินแดนส่วนใหญ่ของดัชชีแห่งวอร์ซอตกเป็นของรัสเซียโดยเรียกชื่อใหม่ว่า คองเกรสแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์ (Congress Kingdom of Poland) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าคองเกรสโปแลนด์ (Congress Poland) แกรนด์ดัชชี แห่งพอซนาน (Grand Duchy of Poznan) ซึ่งเคยรวมอยู่กับดัชชีแห่งวอร์ซอถูกแยกออกและเป็นของปรัสเซีย นครคราคูฟ มีสถานภาพเป็นเสรีนคร (Free City) เพื่อเป็นเมืองหลวงสัญลักษณ์ของการแบ่งโปแลนด์ (แดใน ค.ศ. ๑๘๔๖ ออสเตรียผนวกเป็นของตน) ส่วนออสเตรียยังคงได้ครอบครองกาลิเซีย (Galicia)* ดังเดิม
ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ซึ่งทรงเป็นกษัตริย์แห่งโปแลนด์ด้วย ทรงดำเนินนโยบายผูกใจชาวโปลด้วยการพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่โปแลนด์ใน ค.ศ. ๑๘๑๘ โดยมีรัฐสภาบริหารปกครองภายในอย่างอิสระ รวมทั้งมีกองทัพประจำการ ทั้งทรงสนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวอร์ซอขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๑๗ ด้วย แต่หลัง ค.ศ. ๑๘๑๙ เป็นต้นมา ก็ทรงยกเลิกนโยบายเสรีนิยมทั้งในจักรวรรดิรัสเซียและโปแลนด์โดยปกครองประเทศอย่างเข้มงวด เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๑ (Nicholas I ค.ศ. ๑๘๒๕-๑๘๕๖)* เสด็จขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงดำเนินการควบคุมทางสังคมอย่างเข้มงวดและต่อต้านการปฏิรูปต่าง ๆ นโยบายดังกล่าวมีส่วนทำให้ปัญญาชนและทหารหนุ่มชาวโปลที่ได้อิทธิพลจากการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม (July Revolution)* ค.ศ. ๑๘๓๐ ในฝรั่งเศส และการก่อกบฏของชาวเบลเยียมต่อเนเธอร์แลนด์เคลื่อนไหวแยกตัวเป็นเอกราช รัสเซียจึงส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามและใช้เวลาเกือบ ๙ เดือนจนมีชัยชนะเด็ดขาดความพ่ายแพ้ของกบฏโปลเป็นเพราะเกิดความแตกแยกในกลุ่มผู้นำการปฏิวัติซึ่งมีทั้งฝ่ายที่ต้องการประนีประนอมกับรัสเซียกับฝ่ายที่ต่อต้าน และชาวนาซึ่งเป็นฐานกำลังสนับสนุนสำคัญถอนตัวจากการต่อสู้เพราะเห็นว่าฝ่ายปฏิวัติทั้ง ๒ กลุ่มต่างเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ตน ฝ่ายกบฏยังคาดหวังว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะเข้าแทรกแซง แต่ทั้ง ๒ มหาอำนาจกลับดำเนินนโยบายเป็นกลาง รัสเซียจึงปราบปรามการกบฏได้อย่างราบคาบในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๘๓๑ และส่งนักโทษชาวโปลกว่า ๒๕,๐๐๐ คนไปไซบีเรีย ซาร์นิโคลัสที่ ๑ โปรดให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ ค.ศ. ๑๘๑๘ และเพิกถอนสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ที่ชาวโปลเคยได้รับทั้งให้ตรากฎหมายองค์ประกอบสถานภาพ ค.ศ. ๑๘๓๒ (Organic Status of 1832) กำหนดให้โปแลนด์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียซึ่งแบ่งแยกไม่ได้ นอกจากนี้รัสเซียยังใช้กฎอัยการศึกในการปกครองโปแลนด์และสั่งปิดมหาวิทยาลัยวอร์ซอและมหาวิทยาลัยวิลนา (Vilna) ซึ่งนักศึกษาเคยเข้าร่วมต่อต้าน ทั้งให้ยึดทรัพย์สินของฝ่ายกบฏประมาณว่ามีชาวโปลกว่า ๔,๐๐๐ คนหนีไปประเทศยุโรปตะวันตกและส่วนใหญ่เลือกไปตั้งรกรากอยู่ที่กรุงปารีส
ใน ค.ศ. ๑๘๔๖ กลุ่มชาวโปลชาตินิยมในฝรั่งเศสผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองในคราคูฟเพื่อแยกตัวออกจากออสเตรีย ชาวนาจำนวนไม่น้อยจึงเห็นเป็นโอกาสก่อกบฏต่อขุนนางและเจ้าที่ดินเพื่อปลดแอกตนเองด้วย และนับเป็นการลุกฮือของชาวนาครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ยุโรป กองทัพออสเตรียสามารถปราบปรามการกบฏซึ่งขยายตัวไปถึงกาลิเซียได้อย่างราบคาบ ความล้มเหลวของการก่อกบฏครั้งนี้มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของชาวโปลในเวลาต่อมาด้วย เพราะเมื่อเกิดการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ (Revolutions of 1848)* ทั่วยุโรปชาวโปลพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มีพลัง ที่เข้มแข็งพอ ออสเตรียและปรัสเซียซึ่งเคยผ่อนปรนความเข้มงวดทางการเมืองและสังคมในดินแดนโปแลนด์ ที่รวมอยู่กับตนก็หันมาควบคุมทางการเมืองเข้มงวดมากขึ้นอย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวต่อสู้ของชาวโปลในระหว่างการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๘๔๘ได้ทำให้ปัญหาโปแลนด์เริ่มเป็นที่รับรู้และยอมรับกันระหว่างประเทศ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่ลี้ภัยในกรุงปารีสได้จัดทำหนังสือพิมพ์แนวสังคมนิยมสายกลางขึ้นเพื่อรณรงค์สนับสนุนการต่อสู้ของชาวโปแลนด์ซึ่งก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย ใน ค.ศ. ๑๘๔๙ คาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* และฟรีดริช เองเงิลส์ (Friedrich Engels)* สองนักสังคมนิยมที่เรืองนามของยุโรปประกาศว่าการต่อสู้ปลดปล่อยโปแลนด์นับเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญที่สุดของขบวนการกรรมกรยุโรป
ปัญหาตะวันออก (Eastern Question)* และ ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในสงครามไครเมีย (Crimean Wars ค.ศ. ๑๘๔๓-๑๘๔๖)* ทำให้ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ (Alexander II ค.ศ. ๑๘๔๔-๑๘๘๑)* ทรงหันมาผ่อนปรนความเข้มงวดในการปกครองโปแลนด์และดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองและสังคมทั้งในจักรวรรดิรัสเซียและโปแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ ซาร์ทรงออกพระราชกฤษฎีกาการปลดปล่อยทาสติดที่ดิน (Edict of Emancipation)* ทั่วจักรวรรดิรัสเซียแต่ไม่รวมถึงในดินแดนโปแลนด์ ปัญญาชนหัวก้าวหน้าซึ่งได้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* และอุดมการณ์สังคมนิยมของมากซ์จึงเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชและเรียกร้องการปลดปล่อยทาสติดที่ดินทั้งคาดหวังว่าฝรั่งเศสและออสเตรียจะให้การสนับสนุน แต่ก็ต้องผิดหวัง การเคลื่อนไหวดังกล่าวได้นำไปสู่การลุกฮือในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๖๓ และการต่อสู้ในรูปแบบสงครามกองโจรซึ่งกินเวลาถึง ๑๕ เดือน ปรัสเซียร่วมมือกับรัสเซียปราบปรามอย่างเด็ดขาดจนมีชัยชนะในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๖๔ และในเดือนมีนาคมปีเดียวกันซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ ก็ประกาศขยายการปลดปล่อยทาสติดที่ดินในดินแดนโปแลนด์ที่รัสเซียปกครองด้วยซึ่งมีส่วนทำให้ชาวนาพอใจ ฝ่ายกบฏจำนวนมากถูกส่งไปไซบีเรีย รัสเซียหันมาใช้นโยบายเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบรัสเซีย (Russification) ในการปกครองโปแลนด์ ห้ามการใช้ภาษาโปลและสั่งปิดมหาวิทยาลัยวอร์ซอและโรงเรียนต่าง ๆ จำนวนมาก และต่อมาก็เปลี่ยนเป็นระบบการศึกษาแบบรัสเซีย ตลอดจนห้ามการประกอบพิธีทางศาสนาของฝ่ายคาทอลิก มีการยกเลิกสถานภาพของคองเกรสแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์โดยถือเป็นจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียซึ่งเรียกชื่อว่า “ดินแดนแห่งวิสตูลา” (Land of the Vistula) หรือเรียกกันทั่วไปว่า “จังหวัดวิสตูลา” (Vistula Province) ส่วนในปรัสเซีย เจ้าชายออทโท ฟอน บิสมาร์ค (Otto von Bismarck)* อัครมหาเสนาบดีปรัสเซียก็ดำเนินนโยบายคล้ายคลึงกันโดยการเปลี่ยนทุกอย่างให้เป็นแบบเยอรมัน (Germanization) และใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ก็ออกกฎหมายเกี่ยวกับอาณานิคม (Colonization Law) เพื่อหลอมรวมชาวนาเยอรมันเข้ากับชาวโปลพื้นเมือง แต่ในจักรวรรดิออสเตรีย จักรพรรดิฟรานซิส โจเซฟ (Francis Joseph ค.ศ. ๑๘๔๘-๑๙๑๖)* ซึ่งทรงทำความตกลงประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี (Ausgleich)* ใน ค.ศ. ๑๘๖๗ โดยให้สิทธิการปกครองตนเองในระดับหนึ่งแก่ฮังการี ก็ผ่อนคลายการปกครองที่เข้มงวดแก่ชนชาติอื่น ๆ ในจักรวรรดิด้วย โปแลนด์จึงได้สิทธิการปกครองตนเองในระดับหนึ่ง กาลิเซียตะวันตกซึ่งมีชาวโปแลนด์อาศัยอยู่จำนวนมากและเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยคราคูฟ มหาวิทยาลัยลวูฟ (University of Lwόw) และราชบัณฑิตยสภาก็กลายเป็นศูนย์กลางความเจริญทางวัฒนธรรมของโปแลนด์
เมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)* ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเมืองและสังคมในรัสเซียและนำไปสู่การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในเดือนตุลาคมที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ชาวโปลจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสังคมอีกครั้ง พรรคสังคมนิยมโปแลนด์ (Polish Socialist Party) ซึ่งจัดตั้งขึ้นระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๒-๑๘๙๓ โดยมียูเซฟ ปิลซุดสกี (Jόzef Pilsudski)* เป็นผู้นำได้เคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียและนโยบายเปลี่ยนทุกอย่างเป็นแบบรัสเซีย แต่การใช้แนวทางรุนแรงทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และต่อมาปิลซุดสกีลี้ภัยไปเคลื่อนไหวที่กาลิเชีย สมาชิกปีกขวาหันไปสนับสนุนพรรคชาติประชาธิปไตย (Party of National Democracy) ซึ่งดำเนินนโยบายสายกลางและต่อมามีบทบาทในสภาดูมา (Duma)* ของรัสเซีย ส่วนสมาชิกปีกช้ายหันไปสนับสนุนพรรคสังคมประชาธิปไตยแห่งราชอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนีย (Social Democratic of Kingdom of Poland and Lithuania) ซึ่งมีเฟลิกซ์ ดเซียร์จินสกี (Felix Dzerzhinsky)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เป็นผู้นำ โดยมีนโยบายเรียกร้องเอกราชแก่โปแลนด์และลิทัวเนีย อย่างไรก็ตาม เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II ค.ศ. ๑๘๙๔-๑๙๑๗)* ทรงสามารถควบคุมวิกฤตการณ์ทางสังคมและการเมืองภายในจักรวรรดิได้ รัสเซียก็หันมาปกครองโปแลนด์อย่างเข้มงวดและกดขี่อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ชาวโปลถูกเกณฑ์เป็นทหารในกองทัพของรัสเซีย ออสเตรีย และเยอรมนี ทำให้ชาวโปลต้องทำสงครามกันเองในแนวรบด้านตะวันออก เยอรมนีและออสเตรียซึ่งต้องการกำลังสนับสนุนจากกองทัพโปลได้ประกาศจัดตั้งราชอาณาจักรแห่งโปแลนด์ขึ้นเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๖ โดยมีพื้นที่ ๑ ใน ๖ ของดินแดนโปแลนด์ที่ถูกแบ่งใน ค.ศ. ๑๗๗๒ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ในรัสเซีย ค.ศ. ๑๙๑๗ สภาโซเวียตแห่งเปโตรกราดและรัฐบาลเฉพาะกาลที่มีเจ้าชายเกรกอรี ลวอฟ (Gregory Lvov)* เป็นผู้นำก็ประกาศสนับสนุนสิทธิของชาวโปลที่จะแยกตัวเป็นเอกราช ต่อมาเมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในกรุงเปโตรกราดรัฐบาลโซเวียตได้ออกคำประกาศว่าด้วย “สิทธิการเลือกกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชาติต่าง ๆ” (right for self-determination of all nations) ในจักรวรรดิรัสเซียซึ่งมีนัยถึงการยอมรับความเป็นเอกราชของโปแลนด์ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาก็ประกาศหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อเป็นแนวทางในการยุติสงคราม และ ๑ ใน ๑๔ ข้อกำหนดให้โปแลนด์เป็นประเทศเอกราชและให้มีทางออกทะเล ต่อมา เมื่อรัสเซียถอนตัวออกจากสงครามด้วยการยอมลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับประเทศมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัสเซียต้องสละสิทธิ์การปกครองในโปแลนด์ ฟินแลนด์ และสามรัฐบอลติก (Baltic states)* ชาวโปลจึงเตรียมจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลของสาธารณรัฐโปแลนด์ขึ้นโดยมียูเซฟ ปิลซุดสกี นักสังคมนิยมและผู้นำขบวนการชาตินิยมโปแลนด์เป็นผู้นำ และมีการประกาศเอกราชเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘
ในการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ โปแลนด์ ได้รับการจัดตั้งเป็นประเทศเอกราชตามข้อตกลงในสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* โดยได้ดินแดนส่วนใหญ่ของพอซนานและปรัสเซียตะวันตกรวมทั้งพื้นที่แคบ ๆ ที่เรียกว่า ฉนวนโปแลนด์ (Polish Corridor) ตามลำนํ้าวิสตูลาไปสู่ทะเลบอลติกทั้งมีทางออกสู่ทะเลโดยผ่านเมืองดานซิกซึ่งกำหนดให้เป็น “เสรีนคร” ใต้อาณัติขององค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)*
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๒-๑๙๓๙ โปแลนด์ซึ่งปกครองในระบอบสาธารณรัฐมีเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่มั่นคงและประสบกับปัญหาเศรษฐกิจที่สิบเนื่องจากความหายนะของสงครามโลก เงินเฟ้อ ปัญหาการว่างงานสูง และการจลาจลทางสังคมบ่อยครั้ง รัฐบาลผสมที่ปกครองประเทศอยู่ในอำนาจช่วงเวลาสั้น ๆ และมีการปรับเปลี่ยนคณะรัฐบาลบ่อยครั้ง ความวุ่นวายทางสังคมและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจยังทำให้พรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ซึ่งถือเป็นพรรคที่ไม่ถูกกฎหมายตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๒๓ มีอิทธิพลทางการเมืองมากขึ้นตามลำดับ วิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมดังกล่าวทำให้ ปิลซุดสกีซึ่งถอนตัวจากการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๒ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพให้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง ในกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๖ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๖-๑๙๓๕ เขาใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจการปกครองในรูปเผด็จการสภา โดยมีวัตถุประสงค์สร้างระบบการเมืองที่สะอาดและปราบปรามการทุจริตฉ้อฉล ตลอดจนแก้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็ประสบผลสำเร็จไม่มากนัก ปิลชุดสกีแต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนเขาให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาลและใช้มาตรการเด็ดขาดกำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งให้อำนาจผู้นำประเทศในการออกกฎหมายได้โดยไม่ผ่านรัฐสภา ในนโยบายต่างประเทศเขาพยายามสกัดกั้นการขยายอำนาจของทั้งสหภาพโซเวียตและเยอรมนีต่อความมั่นคงของโปแลนด์ด้วยการทำสนธิสัญญาพันธมิตรกับฝรั่งเศสและโรมาเนียใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และ ๑๙๓๔ ก็ทำกติกาสัญญาไม่รุกรานกันกับสหภาพโซเวียตและเยอรมนีตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ในกลาง ค.ศ. ๑๙๓๙ เมื่อเยอรมนีซึ่งเตรียมก่อสงครามได้ลงนามในกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างนาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Nonaggression Pact)* หรือที่เรียกกันว่ากติกาสัญญาริบเบนทรอพ-โมโลตอฟ (Ribbentrop-Molotov Pact)* ซึ่งมีข้อตกลงลับในการแบ่งโปแลนด์โดยสหภาพโซเวียตได้ครอบครองดินแดนส่วนใหญ่ของโปแลนด์ตะวันออกและเยอรมนีจะได้ดินแดนส่วนที่เหลือทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวนับเป็นการ “แบ่งโปแลนด์ครั้งที่ ๔” (Fourth Partition of Poland) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งนี้ เพราะอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำเยอรมนีเรียกร้องสิทธิการครอบครองฉนวนโปแลนด์ เมืองกดานสก์และพอเมอเรเนีย (Pomerania) จากโปแลนด์ด้วยแต่ล้มเหลว เยอรมนีจึงบุกโปแลนด์ในวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ โดยไม่ประกาศสงคราม อีก ๒ วันต่อมา อังกฤษและฝรั่งเศสซึ่งคํ้าประกันความมั่นคงของโปแลนด์ก็ประกาศสงครามต่อเยอรมนี เยอรมนีใช้แผนปฏิบัติการสงครามสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg-Lightning War)* เป็นครั้งแรกและสามารถยึดครองโปแลนด์ได้ภายในเวลาเพียง ๓ สัปดาห์ ต่อมา สหภาพโซเวียตก็บุกโปแลนด์ทางภาคตะวันออกในวันที่ ๑๗ กันยายน ซึ่งแทบจะไม่มีการต่อต้านเลย และในวันที่ ๒๘ กันยายน ฮิตเลอร์และโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตได้ตกลงแบ่งโปแลนด์โดยใช้แนวแม่นํ้านาเรฟ (Narew) แม่นํ้าบัก (Bug) และแม่นํ้าซาน (San) เป็นเส้นพรมแดน ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เมื่อเยอรมนีบุกโจมตีสหภาพโซเวียต เยอรมนีก็ได้ครอบครองโปแลนด์ทั้งหมด ในช่วงที่เยอรมนียึดครองโปแลนด์นั้น มีการจัดตั้งขบวนการใต้ดินต่อต้านนาซีขึ้นในประเทศโดยเรียกชื่อว่ากองทัพบ้านเกิด (Amnia Krajowa - Home Army) ซึ่งเป็นขบวนการใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปและมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานกว่า ๔๐๐,๐๐๐ คน ขณะเดียวกัน ชาวยิวก็จัดตั้งขบวนการต่อต้านนาซีของตนเองขึ้น ขบวนการใต้ดินทั้ง ๒ กลุ่มได้สร้างความเสียหายอย่างมากแก่กองทัพเยอรมัน และคอยแจ้งข่าวข้อมูลการเคลื่อนไหวของกองกำลังเยอรมนีแก่ฝ่ายพันธมิตรตะวันตก นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นขึ้นที่กรุงปารีสโดยมีนายพลวลาดิสลาฟ ซีคอร์สกี (Wladyslaw Sikorski) เป็นผู้นำ แต่หลังการยอมจำนนของฝรั่งเศสในยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งส่งผลให้ฝรั่งเศสยอมร่วมมือกับเยอรมนีรัฐบาลโปแลนด์พลัดถิ่นได้ย้ายไปอยู่ที่กรุงลอนดอน
ฮิตเลอร์เคยประกาศว่าเขาต้องการกำจัดเชื้อชาติโปลออกจากยุโรปซึ่งเขาเกือบดำเนินการได้สำเร็จ ชาวโปลกว่า ๑.๕ ล้านคนถูกสังหารและเสียชีวิตในสงคราม และหน่วยเอสเอส (SS-Schutzstaffel)* ก็ตามล่าและกวาดล้างปัญญาชนชาวโปลเพื่อทำลายชนชั้นผู้นำทางความคิดและวัฒนธรรม เมืองใหญ่ที่สำคัญของประเทศ เช่น กรุงวอร์ซอพังพินาศร้อยละ ๘๔ วรอตซวาฟ (Wroclaw) ร้อยละ ๘๐ กดานสก์และกดิเนีย (Gdynia) ร้อยละ ๕๐ ประชากร ๑ ใน ๓ สูญเสียไร่นาและที่อยู่อาศัย ชาวโปลเชื้อสายยิวกว่า ๑ ล้านคนถูกสังหาร และกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คน ถูกกวาดต้อนไปอยู่เขตกักบริเวณชาวยิว (Ghetto) ในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๓ ชาวยิวเชื้อสายโปลในเขตกักบริเวณวอร์ซอ (Warsaw Ghetto) ซึ่งมีเนื้อที่น้อยกว่า ๒.๖ ตารางกิโลเมตร ก่อการจลาจลต่อต้านนาซีอย่างกล้าหาญเป็นเวลาเกือบ ๑ เดือน และเหลือรอดชีวิตเพียง ๒๐๐ คนเท่านั้น นอกจากนี้เยอรมนียังสร้างค่ายกักกัน (Concentration Camp)* จำนวนมากในโปแลนด์ และค่ายกักกันโหดที่เลื่องชื่อคือค่ายกักกันออชเฟียนชีม (Oświęcim) หรือเอาช์วิทซ์ (Auschwitz) บิร์เคเนา (Birkenau) และเทรบลิงคา (Treblinka) ซึ่งมีห้องรมแก๊สใหญ่สามารถสังหารชาวยิวเฉลี่ยวันละ ๒๕,๐๐๐ คน ที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ยังเป็นศูนย์ทดลองทางการแพทย์ที่นายแพทย์โยเซฟ เมงเงิล (Josef Mengele) ใช้ชาวยิวเป็นสัตว์ทดลองทางการแพทย์ด้านต่าง ๆ ซึ่งทำให้ชาวยิวนับล้านคนถูกทรมานอย่างเหี้ยมโหดและเสียชีวิตอย่างน่าอเนจอนาถ ประมาณว่าในระหว่างสงครามโลก ชาวโปล ๖ ล้านคนถูกสังหาร และ ๒.๕ ล้านคน ถูกส่งไปเป็นแรงงานในเยอรมนี ทั้งชาวยิวกว่า ๓ ล้านคน ถูกสังหารในค่ายกักกัน
เมื่อเยอรมนีเริ่มเป็นฝ่ายปราชัย สหภาพโซเวียตซึ่งมีทหารชาวโปลราว ๔๐๐,๐๐๐ คนในกองทัพได้เข้าปลดปล่อยยุโรปตะวันออก และทหารโปลกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน ในกองทัพพันธมิตรก็มีบทบาทสำคัญในการปลดปล่อยยุโรปตะวันตก อย่างไรก็ตาม ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๓ สหภาพโซเวียตได้ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ เมื่อเยอรมนีได้ประกาศว่ามีการคันพบหลุมสงศพชาวโปลที่ป่าคะทิน (Katyn) กว่า ๔,๐๐๐ คนซึ่งสหภาพโซเวียตเป็นฝ่ายสังหาร สหภาพโซเวียตพยายามปฏิเสธเรื่องการสังหารหมู่ที่คะทิน (Katyn Massacre)* และไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ในอังกฤษที่ต้องการให้คณะกรรมาธิการสภากาชาดสากลเข้าไปสืบหาข้อเท็จจริง ต่อมา ในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ กองทัพแดง (Red Army)* ของโซเวียตได้เคลื่อนกำลังถึงฝั่งขวาของแม่นํ้าวิสตูลาเพื่อเข้าปลดปล่อยกรุงวอร์ซอหน่วยใต้ดินต่อต้านนาชีและชาวเมืองวอร์ซอซึ่งคาดหวังการบุกเข้าโจมตีของโซเวียตจึงลุกฮือขึ้นสู้ต่อต้านเยอรมนีเพื่อหนุนช่วยการปลดปล่อยที่จะเกิดขึ้นในเหตุการณ์ที่เรียกกันต่อมาว่าการลุกฮือที่วอร์ซอ (Warsaw Uprising)* รวม ๖๓ วัน แต่กองทัพแดงไม่ยอมรุกคืบหน้าและสหภาพโซเวียตก็ไม่ยินยอมให้ฝ่ายพันธมิตรใช้สนามบินเพื่อบินทิ้งระเบิดฝ่ายนาซี เยอรมนีจึงล้างแค้นด้วยการเผาทำลายกรุงวอร์ซอเป็นเถ้าถ่านและกวาดต้อนชาวเมืองที่รอดชีวิตไปค่ายกักกันเพื่อสังหาร รวมทั้งกวาดล้างหน่วยใต้ดินจนสิ้นซากซึ่งเป็ดทางให้สหภาพโซเวียตเช้ายึดครองและควบคุมโปแลนด์ได้อย่างสะดวกในเวลาต่อมา ในการประชุมที่เตหะราน (Teheran Conference ๒๒-๒๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๓)* และการประชุมที่ยัลตา (Yalta Conference ๔-๑๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๔๕)* อังกฤษและสหรัฐอเมริกายอมให้สหภาพโซเวียตได้ดินแดนโปแลนด์ที่เคยยึดครอง ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ และภายหลังสงครามสิ้นสุดลงก็ให้โปแลนด์อยู่ในเขตอิทธิพลของโซเวียต ความตกลงดังกล่าวสร้างความโกรธแค้นแก่ชาวโปลอย่างมากเพราะเป็นการทรยศของฝ่ายพันธมิตรต่อโปแลนด์ ใน ค.ศ. ๑๙๔๔ สหภาพโซเวียตและพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการโปลแห่งการปลดปล่อยชาติ (Polish Committee of National Liberation) ขึ้นที่เมืองลูบลินและในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๕ ก็ยกสถานภาพขึ้นเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลของโปแลนด์ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของโซเวียต
หลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลเฉพาะกาลของโปแลนด์และรัฐบาลพลัดถิ่นโปแลนด์ที่กรุงลอนดอนได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ขึ้นปกครองประเทศ แต่ก็มีผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่นเช้าร่วมในคณะรัฐบาลเพียง ๒ คนเท่านั้น ใน ค.ศ. ๑๙๔๖ มีการลงประชามติยกเลิกรัฐสภาและการยอมรับเส้นพรมแดนใหม่ทางตะวันตกตามแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* ประเด็นการยกเลิกรัฐสภาเป็นการทดสอบความนิยมของประชาชนต่อระบบคอมมิวนิสต์ซึ่งผลการลงประชามติปรากฏว่าประชาชนยังคงสนับสนุนให้มีรัฐสภาอยู่ในการเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๔๗ มีการคุกคามและทำร้ายผู้สนับสนุนกลุ่มการเมืองที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ซึ่งส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์สามารถคุมเสียงข้างมากได้ในสภา รวม ๓๘๒ ที่นั่งจาก ๔๔๔ ที่นั่ง บอเลสลาฟ เบียรูต (Boleslaw Bierut) ซึ่งสตาลินสนับสนุนได้เป็นประธานาธิบดี เขาดำเนินการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างรวดเร็วด้วยการปฏิรูปที่ดินและจัดระบบเศรษฐกิจใหม่ซึ่งทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างกรุงวอร์ซอขึ้นใหม่ตามแบบแปลนเดิมโดยนานาประเทศให้ความช่วยเหลือต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๘ พรรคคอมมิวนิสต์ได้บีบบังคับให้พรรคสังคมนิยมโปแลนด์ (Polish Socialist Party) รวมเข้าเป็นพรรคเดียวกันโดยเรียกชื่อใหม่ว่าพรรคเอกภาพแรงงานโปแลนด์ (Polish United Workers Party) ซึ่งกลายเป็นพรรคการเมืองที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศ หลังการรวมพรรคมีการใช้มาตรการรุนแรงกวาดล้างและจับกุมกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรวมทั้งควบคุมศาสนจักร ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญโดยยึดรัฐธรรมนูญของสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบแต่ก็ยอมรับการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินบางประการและเรียกชื่อประเทศใหม่ว่าสาธารณรัฐประชาชนโปแลนด์ (Polish People’s Republic) อย่างไรก็ตาม วลาดิสลาฟ โกมุสกา (Wladyslaw Gomulka)* เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ชาตินิยมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการสร้างระบอบสังคมนิยมโดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบ เขายังคัดด้านนโยบายของสหภาพโซเวียตที่ใช้องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการต่อสู้กับประเทศโลกเสรี นอกจากนี้ โกมุลกายังไม่ยอมให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ของสตาลินขึ้นในประเทศด้วย โกมุลกาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งและถูกจำขังโดยไม่มีการไต่สวน
ใน ค.ศ. ๑๙๕๖ เมื่อนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตดำเนินนโยบายการล้มล้างอิทธิพลสตาลิน (De-Stalinization)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๖-๑๙๖๒ โดยผ่อนคลายการควบคุมทางการเมืองและสังคมทั้งในสหภาพโซเวียตและรัฐบริวารโซเวียต (Soviet Bloc) รวมทั้งยอมรับแนวทางอันหลากหลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกในการสร้างประเทศบนเส้นทางสังคมนิยม ปัญญาชนและคนงานโปแลนด์ได้ใช้เงื่อนไขทางการเมืองดังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปทางการเมืองและเพิ่มค่าแรงงาน ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๖ คนงานกว่า ๑๕,๐๐๐ คนได้ประท้วงรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ที่นิยมโซเวียตทีเมืองพอซนานและเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตประกาศยืนยันความเป็นอธิปไตยและความเป็นอิสระของโปแลนด์ รัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรง และมีผู้เสียชีวิต ๕๓ คน และบาดเจ็บกว่า ๑,๐๐๐ คน แต่เพื่อยุติปัญหายืดเยื้อทางการเมืองรัฐบาลได้ปล่อยตัวโกมุลกาซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนให้ช่วยประสานความแตกแยกทางการเมืองที่เกิดขึ้น โกมุลกาจึงกลับมีบทบาททางการเมืองอีกครั้งและเป็นผู้นำประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๖-๑๙๗๐ เขาให้ความมั่นใจแก่ครุชชอฟว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้และขอให้สหภาพโซเวียตถอนกำลังทหารที่เตรียมบุกปราบปรามการจลาจลในโปแลนด์ออกจากบริเวณพรมแดนซึ่งก็ประสบความสำเร็จ โกมุลกาได้ปรับความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตใหม่โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั้งเป็นประเทศสมาชิกที่แข็งขันในองค์การโคเมคอน (Comecon)*
ในปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ เชโกสโลวะเกียได้เคลื่อนไหวปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยมีอะเล็กซานเดอร์ ดูบเชก (Alexander Dubček)* เป็นผู้นำปัญญาชนและคนงานโปแลนด์ก็เห็นเป็นโอกาสก่อการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพ และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปรวมทั้งสนับสนุนอิสราเอลที่มีชัยชนะในสงครามอาหรับอิสราเอล ค.ศ. ๑๙๖๗ มีการชุมนุมใหญ่ที่กรุงวอร์ซอและคราคูฟ รัฐบาลปราบปรามและกวาดล้างอย่างรุนแรง ทั้งผลักดันให้ชาวยิวอพยพออกนอกประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ส่งกองทหารเช้าร่วมกับกองกำลังร่วมขององค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization-WTO)* บุกปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเชโกสโลวะเกีย รวมทั้งสนับสนุนหลักการเบรจเนฟ (Brezhnev Doctrine)* ในการเสริมสร้างเอกภาพและความมั่นคงของกลุ่มประเทศในจักรภพสังคมนิยม อย่างไรก็ตาม นโยบายการปราบปรามประชาชนและสนับสนุนสหภาพโซเวียตทำให้กระแสการต่อต้านโกมุลกาเริ่มก่อตัวขึ้นเขาจึงพยายามรักษาอำนาจและสร้างความนิยมด้วยการปรับนโยบายต่างประเทศกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันหรือเยอรมนีตะวันตกเพื่อแก้ไขข้อพิพาทของทั้ง ๒ ประเทศ เกี่ยวกับแนวพรมแดนด้านตะวันตก ประธานาธิบดีลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard)* ของเยอรมนีตะวันตกซึ่งดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออก (Ostpolitik)* จึงยอมเจรจายุติข้อพิพาทเรื่องพรมแดนและนำไปสู่การลงนามในสนธิสัญญาของ ๒ ประเทศในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ นอกจากนี้ โกมุลกายังเสนอโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายโครงการ แต่ปัญหาเรื้อรังทางการเงินและการคลังรวมทั้งระบบเศรษฐกิจที่เสื่อมทรุดจนยากที่จะแก้ไขก็ทำให้โครงการปฏิรูปประสบความล้มเหลว ในช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาส ค.ศ. ๑๙๗๐ รัฐบาลก็ประกาศขึ้นราคาสินค้าและอาหารกว่า ๔๐ รายการและกำหนดมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ปัญญาชนและคนงานตามเมืองสำคัญ เช่น กดานสก์ กดิเนีย ชเชตชีน (Szczecin) จึงก่อการประท้วงนัดหยุดงาน รัฐบาลปราบปรามอย่างรุนแรงและนองเลือด โกมูลกาจึงถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศและเอดเวิร์ด กีเรค (Edward Gierek) ได้เข้าดำรงตำแหน่งสืบแทน เขาควบคุมสถานการณ์ด้วยการประกาศนโยบาย ปฏิรูปด้านต่าง ๆ และควบคุมราคาสินค้าและอาหารตลอดจนเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยกู้ยืมเงินลงทุนจากต่างประเทศและให้สินค้าจากประเทศตะวันตกเข้ามาจำหน่ายในประเทศได้ นโยบายดังกล่าวในระยะยาวได้นำโปแลนด์ไปสู่ภาวะล้มละลายและมีหนี้สินต่างประเทศ จำนวนมาก ในกลางทศวรรษ ๑๙๗๐ การเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนอาหาร ราคาสินค้าที่สูงเงินเฟ้อ และอื่น ๆ ก็ก่อตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งและอย่างต่อเนื่องแต่รัฐบาลก็พยายามปราบปราม
การปราบปรามของรัฐบาลทำให้ เลค วาเลซา (Lech Walesa)* ช่างไฟฟ้าอู่ต่อเรือเลนินซึ่งเป็นผู้นำคนงานคิดหาแนวทางการเคลื่อนไหวที่จะไม่ให้เกิดการนองเลือดแบบเผชิญหน้ากันอีก เขาจึงก่อตั้งสหภาพแรงงานอิสระหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า โซลิดาริตี (Solidarity) ขึ้นเพื่อเคลื่อนไหวอย่างสันติและใช้วิธีการเจรจา ทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจตลอดจนให้เสรีภาพแก่คนงานในการชุมนุมประท้วง การเคลื่อนไหวของโซลิดาริตีซึ่งเป็นการท้าทายอำนาจของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกระดับชั้นทั่วประเทศและได้รับการหนุนช่วยจากขบวนการสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งกลุ่มกฎบัตร ๗๗ (Charter 77)* ในเชโกสโลวะเกียที่มีวาซลาฟ ฮาเวล (Vaclav Havel)* เป็นผู้นำ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเศรษฐกิจและออกกฎหมายปฏิรูปสหภาพแรงงานแต่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๐ รัฐบาลก็ปรับราคาสินค้าและอาหารให้สูงขึ้นอีกครั้งซึ่งนำไปสู่การประท้วงของกรรมกรตามเมืองต่าง ๆ โดยมีโซลิดาริตีสนับสนุน สหภาพโซเวียตได้แสดงท่าทีให้เห็นว่าหากรัฐบาลโปแลนด์ควบคุมสถานการณ์ไว้ไมใด้ก็จะส่งกองทัพองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเช้าแทรกแซง ระหว่างฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๘๐ ถึงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๘๑ โซลิดาริตีมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในหมู่ประชาชนและเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวต่อต้าน นอกจากนี้ คาร์ดินัลคาโรล วอยติลา (Karol Wojtyla) แห่งคราคูฟซึ่งใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ได้รับเลือกเป็นสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ ๒ (John Paul II)* ก็เสด็จมาเยือนโปแลนด์บ้านเกิดใน ค.ศ. ๑๙๗๙ และ ค.ศ. ๑๙๘๐ และทรงตรัสถึงแนวทางต่อสู้ของขบวนการโซลิดาริตีในแง่ดี โซลิดาริตีจึงมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นจนท้ายที่สุด นายพลวอยเชช ยารูเซลสกี (Wojciech Jaruzelski) ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ โปแลนด์ต้องเปิดการเจรจากับโซลิดาริตี แต่ไม่ประสบความสำเร็จที่จะบรรลุข้อตกลงการเจรจาตามข้อเรียกร้องของโซลิดาริตี
ต่อมา ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๑ ยารูเซลสกี ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศและสั่งให้กองทัพเข้าปราบปรามโซลิดาริตีและจับกุมแกนนำและสมาชิก กว่า ๑๐,๐๐๐ คน ตลอดจนประกาศยุบโซลิดาริตี ประเทศตะวันตกต่อต้านการปราบปรามครั้งนี้และควํ่าบาตรทางเศรษฐกิจแก่โปแลนด์ด้วยการไม่ให้กู้ยืมเงินและจำกัดปริมาณการค้าขายกับโปแลนด์ และสหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธที่จะให้โปแลนด์ใช้ท่าเรือและสนามบินที่โปแลนด์เคยใช้เป็นเส้นทางติดต่อกับนานาประเทศ ส่วนประชาชนชาวโปลภายหลังจากหายอาการตื่นตกใจจากการปราบปรามอย่างฉับพลันของรัฐบาล การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนอย่างสันติวิธีเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั่วประเทศ ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๘๓ สันตะปาปาจอห์น ปอลที่ ๒ เสด็จเยือนโปแลนด์และทรงเรียกร้องการฟื้นสัมพันธไมตรีระหว่างรัฐบาลกับเลค วาเลซา และให้โซลิดาริตีกลับมีบทบาทในการดำเนินงานอีกครั้ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึกในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๘๓ และทยอยปล่อยตัวสมาชิกโซลิดาริตี แต่ยังคงห้ามการก่อตั้งโซลิดาริตีขึ้นอีก นอกจากนี้ รัฐบาลประกาศสัญญาจะปฏิรูปเศรษฐกิจและผ่อนคลายความเข้มงวดทางสังคม แต่ก็เป็นเพียงการเสแสร้งเพื่อหลอกลวงประชาชน ใน ค.ศ. ๑๙๘๘ การเคลื่อนไหวนัดหยุดงานก่อตัวขึ้นอีกครั้งและโซลิดาริตีได้รับการก่อตั้งขึ้นอีกครั้งโดยรัฐบาลไม่อาจขัดขวางได้ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๘๙ รัฐบาลซึ่งควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไม่ได้จำยอมเจรจากับผู้แทนกลุ่มโซลิดาริตีเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจและปฏิรูปการเมืองโซลิดาริตีจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นองค์การที่ถูกกฎหมายและมีการยกเลิกการควบคุมสื่อมวลชน ทั้งกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมิถุนายนโดยมีเงื่อนไขว่าร้อยละ ๖๕ ของที่นั่งรัฐสภาต้องเป็นของผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ รัฐบาลยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกการปกครองแบบพรรคเดียว ฟื้นฟูบทบาทของศาสนจักร และปฏิรูปสังคมการเมือง
ผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในช่วงเวลากว่า ๔๐ ปี ปรากฏว่าผู้สมัครจากโซลิดาริตีได้เสียงในสภาสูง ๒๐๐ คน จากจำนวนที่นั่ง ๒๖๑ คน และได้ที่นั่งทั้งหมดในสภาล่างรวม ๑๖๑ ที่นั่ง โซลิดาริตีจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยยารูเซลสกีผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เป็นประธานาธิบดีและทาเดลูช มาโซเวียซกี (Tadeusz Mazoweicki) ผู้แทนของโซลิดาริตีเป็นนายกรัฐมนตรี โปแลนด์จึงเป็นประเทศแรกในกลุ่มรัฐบริวารโซเวียตที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างราบรื่น โดยมีรัฐบาลซึ่งคอมมิวนิสต์เป็นเสียงส่วนน้อยและมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ทั้งคณะรัฐมนตรี ๒๔ คนมีสมาชิกพรรคร่วมอยู่เพียง ๔ คนเท่านั้น มีการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็นสาธารณรัฐโปแลนด์ รัฐบาลชุดใหม่จึงเริ่มดำเนินการสลายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งยุบลงในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๘๐ และปฏิรูปเศรษฐกิจโปแลนด์จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolutions of 1989)* ในยุโรปตะวันออกและนำไปสู่การล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศยุโรปตะวันออกทั้งหมดระหว่าง ค.ศ. ๑๙๘๙-๑๙๙๐ ต่อมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๐ วาเลซาผู้นำโซลิดาริตีก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของประเทศตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
ในต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ โปแลนด์ประสบความสำเร็จไม่น้อยในการพัฒนาการเมืองตามแนวทางประชาธิปไตยและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มุ่งล้มล้างระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางให้เป็นระบบตลาดเสรี แม้นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่รู้จักกันว่า “shock therapy” ด้วยการปล่อยราคาสินค้าลอยตัวและยกเลิกเงินสนับสนุนของรัฐด้านอุตสาหกรรม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนการควบคุมเข้มงวดนโยบายการเงินและการคลัง และอื่น ๆ จะทำให้เกิดภาวะปั่นป่วนทางเศรษฐกิจและสังคมช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่ในเวลาอันสั้นระบบเศรษฐกิจก็เริ่มปรับตัวและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เงินเพ้อและการว่างงานลดลงและค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น ความสำเร็จทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือด้วยการลดหนี้สินต่างประเทศลงและผ่อนปรนด้านภาษีศุลกากรรวมทั้งเข้ามาลงทุน นอกจากนี้ โปแลนด์ยังเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรปกลาง (Central European Free Trade Agreement-CEFTA) กับฮังการี เซ็ก และสโลวัก ใน ค.ศ. ๑๙๙๒ และเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization-WTO)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๕ รวมทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development-OECD)* ใน ค.ศ. ๑๙๙๖ เศรษฐกิจโปแลนดโนกลางทศวรรษ ๑๙๙๐ เป็นต้นมาจึงเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ใน ค.ศ. ๑๙๙๑ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างเสรีเป็นครั้งแรก มีพรรคการเมืองกว่า ๑๐๐ พรรค ส่งผู้สมัครเข้าแข่งขัน และผลปรากฏว่าไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมาก โปแลนด์จึงมีรัฐบาลผสมปกครองประเทศมาโดยตลอด และหลัง ค.ศ. ๑๙๙๓ พรรคการเมืองสำคัญในรัฐสภาแห่งชาติคือ พรรคพันธมิตรประชาธิปไตยซ้าย (Democratic Left Alliance-SLD) และพรรคชาวนาโปล (Polish Peasant Party-PSL) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๑-๑๙๙๕ รัฐบาลซึ่งมีเลค วาเลซาเป็นผู้นำ มีเสถียรภาพไม่มั่นคงนักเพราะวาเลซาไม่สันทัดด้านการบริหารปกครองและมักขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีทั้งมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีหลายครั้ง ในปลายเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ อะเล็กซานเดอร์ ควอสเนฟสกี (Aleksander Kwaśniewski) ผู้นำพรรคพันธมิตรประชาธิปไตยซ้ายซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่จึงมีชัยชนะเหนือวาเลซาในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วยคะแนนร้อยละ ๕๑.๗ ต่อร้อยละ ๔๘.๓ เขาดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาการว่างงาน รวมทั้งดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยการสนับสนุนสหรัฐอเมริกาให้มีบทบาทสำคัญทางการทหารและเศรษฐกิจในยุโรปและพัฒนาความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และมนุษยสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๙๗ มีการลงประชามติ ทั่วประเทศเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยทอนอำนาจของประธานาธิบดีลงเล็กน้อย และให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันระหว่างประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐสภาตลอดจนคํ้าประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็น รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ ๑๐ และประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ในปีเดียวกัน รัฐสภาก็ออกกฎหมายให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงเปิดเผยว่าเคยมีหรือไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งรวมทั้งหน่วยข่าวกรองและหน่วยต่อต้านข่าวกรองระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๙๐ ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๐ ควอสเนฟสกีก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ ๒ นโยบายสำคัญที่เขาสานต่อและผลักดันคือการให้โปแลนด์ได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* และสหภาพยุโรป (European Union)* ซึ่งก็ประสบความสำเร็จโดยโปแลนด์ได้เป็นสมาชิกองค์การนาโตอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ และสมาชิกสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ อย่างไรก็ตามเกษตรกรชาวโปลจำนวนไม่น้อยต่อต้านการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป และแกนนำคนสำคัญของการเคลื่อนไหวต่อต้านคือ อันดร์เซย์ เลพเพอร์ (Andrzej Lepper) ผู้นำพรรคป้องกันตนเอง (Self Defense Party) เลพเพอร์ เห็นว่าการเข้าเป็นสมาชิกจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านสินค้าเกษตรของโปแลนด์ลดลงเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรจากสมาชิกสหภาพยุโรป ทั้งจะทำให้ต่างชาติโดยเฉพาะเยอรมนีเข้ามาซื้อขายที่ดินเพื่อการเกษตรซึ่งจะทำให้เกษตรกรยากจนเดือดร้อน การต่อต้านของเลพเพอร์ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากเกษตรกรและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองซึ่งมีส่วนทำให้ในเวลาต่อมาสหภาพยุโรปต้องยอมให้มีการเลื่อนช่วงเวลาการซื้อขายที่ดินในโปแลนด์เป็นเวลาถึง ๑๒ ปีจนถึง ค.ศ. ๒๐๑๖
เมื่อเกิดสงครามอิรักใน ค.ศ. ๒๐๐๓ โปแลนด์สนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามและหลังสงครามสิ้นสุดลงก็ร่วมส่งกองทหารไปประจำการที่อิรักด้วย โปแลนด์ยังร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิดในนโยบายการทูตเรื่องต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน การร่วมมือระหว่างภูมิภาคในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก และการปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ขณะเดียวกันโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือด้านความมั่นคงและความร่วมมือแห่งยุโรป (Organization for Security and Cooperation in Europe-OSCE)* ก็ร่วมมือกับนานาประเทศในการต่อต้านขบวนการก่อการร้ายด้วยโปแลนด์ยังสนับสนุนการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธยุโรป (European Armed Forces) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความร่วมมือกัน โดยร่วมมือกับฝรั่งเศสและเยอรมนีรวมทั้งการซ้อมรบและร่วมมือทางทหารกับฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย ลิทัวเนีย และยูเครนด้วย
ใน ค.ศ. ๒๐๑๐ โปแลนด์เผชิญกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อประธานาธิบดีเลค คัชชินสกี (Lech Kaczyński) และภริยา ตลอดจนบุคคลสำคัญในแวดวงข้าราชการระดับสูงรวมทั้งนายทหารระดับสูงประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ค.ศ. ๒๐๑๐ ใกล้เมืองสโมเลนสค์ รัสเซีย และมีผู้เสียชีวิตรวม ๙๖ คน เครื่องบินลำดังกล่าวนำคณะบุคคลสำคัญของโปแลนด์เดินทางไปร่วมงานพิธีรำลึกถึงชาวโปลที่เสียชีวิตจากการสังหารหมู่ที่ป่าคะทินซึ่งครบรอบ ๗๐ ปี โศกนาฏกรรมครั้งนี้นำมาซึ่งความเศร้าโศกของประชาชนทั้งประเทศ โบรนิสลาฟ โคโมรอฟสกี (Bronislaw Komorowski) ประธานรัฐสภาจึงรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี ต่อมาในเดือนกรกฎาคม เขาก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของประเทศ โคโมรอฟสกีสานต่อนโยบายของประธานาธิบดีคัชชินสกีด้วยการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและร่วมมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศยุโรป ใน ค.ศ. ๒๐๑๒ โปแลนด์เข้าเป็นสมาชิกองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency-ESA) ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในการสำรวจอวกาศ และในปีเดียวกัน โปแลนด์และยูเครนต่างร่วมมือกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลยูโร ๒๐๑๒ (Euro 2012) ด้วย ในปีต่อมา โปแลนด์ก็เข้าเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการช่วยเหลือเพื่อพัฒนา (Development Assistance Committee-DAC) ซึ่งมีสมาชิกรวม ๒๙ ประเทศ.