เรอเน เปลอวอง เป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงของฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ (Fourth French Republic)* เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ ครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๐-๑๙๕๑ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ๒ ครั้ง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๕๔ ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เปลอวองให้ความร่วมมือกับนายพลชาร์ล เดอ โกส (Charles de Gaulle)* หัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นฝรั่งเศสอย่างใกล้ชิด และมีบทบาทโดดเด่นในขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการหลายกระทรวง หลังสงครามยุติเขาเป็นผู้ก่อตั้งพรรคสหภาพสังคมนิยมและประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้านนาซี (Democratic and Socialist Union of the Resistance-UDSR) ซึ่งเป็นพรรคที่มีบทบาทสำคัญพรรคหนึ่งในวงการเมืองฝรั่งเศสในช่วงสงครามยุติลงใหม่ ๆ นอกจากนี้ เปลอวองยังเป็นนักนิยมยุโรป (Europeanist) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป เพราะเขาเป็นผู้เสนอแผนเปลอวอง (Pleven Plan) เพื่อจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปหรือประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปหรืออีดีซี (European Defence Community-EDC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๐ แม้ว่าการจัดตั้งประชาคมดังกล่าวจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่ข้อเสนอของเขาก็ก่อให้เกิดผลกระทบทางการเมืองและกระบวนการบูรณาการยุโรป (European integration) ในช่วงต้นทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นอย่างมาก
เปลอวองเกิดเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๑๙๐๑ ที่เมืองแรน (Rennes) ในแคว้นเบรอตาญ (Bretagne) หรือบริตตานี (Brittany) บิดาเป็นนายทหารและมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนทหารพิเศษแห่งแซงซีร์ (Special Military School of st. Cyr) เขาเข้าศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยปารีส หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว เขาสอบคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการพลเรือนในหน่วยงานทางด้านการคลังแต่สอบไม่ผ่าน เปลอวองจึงตัดสินใจไปประกอบอาชีพทางด้านธุรกิจในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษซึ่งทำให้เขามีโอกาสรู้จักกับนักการเมืองและนักธุรกิจชาวอเมริกันและชาวยุโรปที่มีชื่อเสียงหลายคน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๕-๑๙๒๙ เปลอวองเข้าทำงานในธนาคารแบลร์ (Blair and Company) ที่มีชอง มอนเน (Jean Monnet)* เป็นกรรมการบริหารโดยได้เป็นผู้ช่วยของมอนเน ใน ค.ศ. ๑๙๒๙ เขาย้ายไปทำงานที่บริษัทเอทีแอนด์ที (Automatic Telephone Company-AT&T) ซึ่งเป็นบริษัทโทรศัพท์ขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกาที่มีสาขาในยุโรปด้วย และภายในเวลาไม่นานนัก เปลอวองก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการของบริษัทประจำภูมิภาคยุโรป เขาทำงานอยู่ที่บริษัทนี้สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๓๙
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ เปลอวองอยู่ในสหรัฐอเมริกาและได้มีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับมอนเนอีกครั้งโดยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานอังกฤษ-ฝรั่งเศสหรือเอเอฟซีโอซี (Anglo-French Coordinating Committee-AFCOC) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา เขาทำหน้าที่ในหน่วยงานดูแลการก่อสร้างเครื่องบินของฝ่ายพันธมิตรและการจัดชื้อเครื่องบินรบให้แก่ฝรั่งเศสซึ่งอยู่ภายใต้การอำนวยการของมอนเน ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๐ หลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้แก่กองทัพนาซีในเดือนมิถุนายนแล้วเปลอวองก็เข้าร่วมในขบวนการต่อต้านนาซี โดยเข้าทำงานในกองกำลังฝรั่งเศสเสรี (Free French Forces) ที่มี เดอ โกลเป็นผู้นำ เพื่อทำหน้าที่ต่อต้านรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* ของนายพลอองรี-ฟิลิป เปแตง (Henri-Philippe Pétain)* และให้การสนับสนุนแก่กองทัพฝ่ายพันธมิตร เขาจึงได้เข้าสู่วงการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่ครั้งนั้น ทั้ง ๆ ที่ใน ค.ศ. ๑๙๓๙ เปลอวองเคยพูดไว้หลายครั้งว่าเขาไม่เคยสนใจการเมืองเลย ในช่วงต้นสงครามเปลอวองถูกส่งไปทำงานใต้ดินในอาณานิคมของฝรั่งเศสและเบลเยียมในทวีปแอฟริกาเป็นส่วนใหญ่ได้แก่ ชาด (Chad) คาเมรูน (Cameroon) กาบง (Cabon) และคองโก (Congo)
ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๔๑ เปลอวองเดินทางกลับกรุงลอนดอนเพื่อพบกับเดอ โกล และระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๑-๑๙๔๔ เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการซึ่งมีฐานะเทียบเท่ารัฐมนตรีในคณะกรรมาธิการแห่งชาติฝรั่งเศส (French National Committee) หรือรัฐบาลพลัดถิ่นของฝรั่งเศสซึ่งมีฐานบัญชาการครั้งแรกอยู่ที่กรุงลอนดอนและต่อมาย้ายไปอยู่ที่กรุงแอลเจียร์ (Algiers) เมืองหลวงของแอลจีเรีย (Algeria) โดยได้เป็นกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจการคลังอาณานิคม และการต่างประเทศตามลำดับ ในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๔ ขณะเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศเปลอวองยังได้เป็นประธานการประชุมระหว่างประเทศที่เมืองบราซซาวีลล์ (Brazzaville) คองโก ซึ่งเป็นการประชุมของมหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรเพื่อกำหนดนโยบายต่าง ๆ หลังสงครามรวมทั้งนโยบายที่มีต่ออนาคตของอาณานิคมด้วย ในครั้งนั้นเปลอวองได้เสนอนโยบายของฝรั่งเศสที่มีต่ออาณานิคมที่ค่อนข้างเสรี จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาเริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒
หลังการยกพลขึ้นบกที่ชายฝั่งนอร์มองดี (Normandy) ในวันดี-เดย์ (D-Day)* เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เดอ โกลก็เดินทางกลับประเทศและจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาล (Provisional Government) ขึ้น เขาได้แต่งตั้งเปลอวองเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังในรัฐบาลชุดแรก ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกหลังสงครามยุติลง เปลอวองก็ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตโกต-ดือ-นอร์ (Côte-du-Nord) และยังได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติ (National Economy) ด้วย อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างเดอ โกล กับเปลอวองก็ไม่ราบรื่น ในขณะเดียวกันเปลอวองก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกับปีแยร์ มองแดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendès-France)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปัญหาเกี่ยวกับนโยบายด้านการคลังด้วย ฉะนั้นใน ค.ศ. ๑๙๔๖ หลังเดอ โกลลาออกจากตำแหน่งผู้นำประเทศแล้ว เขาจึงแยกตัวออกจากกลุ่มโกลลิสต์ (Gaullist) และหันมาจัดตั้งพรรคสหภาพสังคมนิยมและประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้านนาซีขึ้น โดยที่เขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคด้วยเปลอวองดำรงตำแหน่งนี้จน ค.ศ. ๑๙๕๓ พรรคสหภาพสังคมนิยมและประชาธิปไตยจัดเป็นพรรคการเมืองที่มีนโยบายสายกลางระหว่างพรรคสังคมนิยมหัวรุนแรง (Radical Socialist) และพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศส (SFIO) พรรคนี้จึงสนับสนุนการโอนอุตสาหกรรมเป็นของรัฐและการที่รัฐเข้าไปควบคุมธุรกิจเอกชนในขอบเขตจำกัด
ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๔ เปลอวองได้เข้าร่วมรัฐบาลหลายครั้ง โดยได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่วันที่ ๒๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๙ ถึงวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ถึงวันที่ ๑๐ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ เป็นรองนายกรัฐมนตรีในช่วงสั้น ๆ ระหว่างวันที่ ๑๑ มีนาคม ถึง ๑๑ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ และได้เป็น นายกรัฐมนตรีอีกครั้งตั้งแต่วันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ ถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๕๒ หลังจากนั้นก็ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลชุดต่าง ๆ ติดต่อกันตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๔ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนสุดท้ายของสาธารณรัฐที่ ๔ ในรัฐบาล ปีแยร์ แฟลงแลง (Pierre Pflimlin) ระหว่างวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ถึง ๑ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๘
งานสำคัญของเปลอวองในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๔๐ ระหว่างเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งแรก คือ การสนับสนุนการประกาศแผนชูมอง (Schuman Plan)* ของรัฐบาลฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ต่อมาเมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ ๒ เปลอวองยังมีบทบาทสำคัญที่ช่วยผลักดันให้สนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) เพื่อจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and steel Community-ECSC)* ที่ลงนามไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๘ เมษายน ค.ศ. ๑๙๕๑ ผ่าน การให้สัตยาบันในรัฐสภา ในช่วงนั้นเปลอวองต้องเผชิญกับปัญหาการคัดค้านและต่อต้านอย่างรุนแรงจากนักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวารวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในฝรั่งเศสที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งประชาคมดังกล่าว โดยเฉพาะสมาคมผู้ผลิตเหล็กกล้า (Steel Association) กลัวว่าจะต้องแข่งขันกับอีฃีเอสซีและสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ที่เคยมีจึงคัดค้านการให้สัตยาบันอย่างแข็งขันอย่างไรก็ดี เขาก็สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนร่างสนธิสัญญาฉบับนี้ได้โดยให้สัญญาแก่ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาว่าจะเพิ่มเงินกู้ยืมให้แก่เกษตรกรเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาการเกษตร และจะลดภาษีให้แก่ผู้มีรายได้ตํ่า ฉะนั้น หลังการอภิปรายอย่างเผ็ดร้อนในรัฐสภาเป็นเวลา ๓ วัน และ ๒ คืน ในวันที่ ๑๓ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ สนธิสัญญาอีซีเอสซีก็ได้รับการให้สัตยาบันด้วยคะแนนเสียง ๓๗๗ ต่อ ๒๓๓ เสียง
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดในสมัยที่เปลอวองเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แก่ การเสนอแผนจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปหรือประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรป ซึ่งรู้จักกันในชื่อ “แผนเปลอวอง” ที่เขาเสนอต่อรัฐสภาฝรั่งเศสเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ แผนเปลอวองนี้ เป็นแผนที่ยกร่างโดยมอนเน มีวัตถุประสงค์ที่จะจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปเพื่อแก้ปัญหาการติดอาวุธให้แก่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกของสหรัฐอเมริกาหลังการเกิดสงครามเกาหลี ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๐โดยจะมีสมาชิกประกอบด้วยฝรั่งเศส เยอรมนีตะวันตก อิตาลี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก แม้ว่าแผนเปลอวองจะผ่านการยอมรับในรัฐสภาฝรั่งเศสด้วยคะแนนเสียง ๓๔๓ ต่อ ๒๒๐ เสียงก็ตาม แต่เนื่องจากแผนดังกล่าวมีลักษณะเป็นการบูรณาการทางการเมืองและการป้องกันยุโรปซึ่งจะมีผลกระทบต่อปัญหาอธิปไตยของชาติสมาชิกและปัญหาทางการเมืองอื่น ๆ รวมทั้งการที่เปลอวองได้ตั้งเงื่อนไขไว้แต่แรกว่าการเจรจาจัดตั้งกองทัพร่วมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการลงนามในสนธิสัญญาอีซีเอสซีแล้วเท่านั้น เพราะเขาเกรงว่าจะทำให้แผนจัดตั้งอีซีเอสซีที่เพิ่งเปิดการเจรจาไม่นานประสบความล้มเหลว ข้อเสนอของเปลอวองจึงถูกอภิปรายและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางตั้งแต่แรกทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ
สำหรับภายนอกประเทศ แม้ว่าในเบื้องต้นประเทศทั้งหกจะยอมรับในหลักการแต่แผนเปลอวองก็ถูกมองด้วยความระแวงสงสัยไม่เหมือนกับการประกาศแผนชูมองโดยเฉพาะคอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenauer)* แห่งเยอรมนีตะวันตกรวมทั้งนักการเมืองเยอรมันในพรรคต่าง ๆ ต่างไม่พอใจต่อสถานภาพของกองทัพเยอรมันที่จะต้องตกอยูใต้อำนาจของกองทัพร่วมยุโรปและยังมีความไม่เท่าเทียมกับกองทัพของชาติสมาชิกอื่น ๆ เพราะไม่สามารถปฏิบัติภารกิจในการป้องกันประเทศของตนที่อยู่นอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบของอีดีซีได้ จึงโจมตีว่าแผนเปลอวองเป็นแผนที่เลือกปฏิบัติต่อเยอรมนีตะวันตกอย่างมาก ในขณะที่กลุ่มประเทศเบเนลักซ์ (Benelux)* ต้องการให้อังกฤษเข้ามาร่วมในแผนจัดตั้งกองทัพร่วมยุโรปด้วย แต่อังกฤษก็ไม่เข้าร่วม เพราะไม่เห็นด้วยกับลักษณะที่เป็นองค์การเหนือรัฐของประชาคมที่จะจัดตั้งขึ้นทำให้ประเทศเหล่านี้ผิดหวังอย่างยิ่งโดยเฉพาะเบลเยียม ส่วนอิตาลีเองก็ยังไม่แนใจนักว่าต้องการจะเข้าร่วมในองค์การนี้อย่างแท้จริงหรือไม่ แม้ว่าจะได้ตอบรับการเข้าร่วมเจรจาเพื่อจัดตั้งประชาคมไปแล้วก็ตาม ในขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ไม่เห็นด้วยกับการมีกองทัพร่วมยุโรปที่จะแยกออกไปจากองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization-NATO)* ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙ จึงแสดงท่าทีไม่สนับสนุนองค์การนี้
ส่วนภายในประเทศพวกโกสลิสต์ พวกคอมมิวนิสต์รวมทั้งกองทัพและพวกชาตินิยมก็ต่อต้านอย่างรุนแรงโดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์ต่อต้านแผนนี้มากเพราะเห็นว่าเป็นแผนที่พยายามผูกพันฝรั่งเศสเข้ากับทุนนิยมสหรัฐอเมริกาที่มีอุดมการณ์ตรงข้ามกับฝ่ายตน ในขณะที่พวกโกลลิสต์ พวกชาตินิยม และกองทัพก็กลัวว่าฝรั่งเศสอาจต้องตกอยู่ใต้อิทธิพลของเยอรมนีตะวันตกซึ่งกำลังมีอำนาจ มากขึ้นทุกทีทำให้เปลอวองและโรแบร์ ชูมอง (Robert Schuman)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นต้องทำงานหนักเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยพยายามหาทางประนีประนอมกับพวกโกลลิสต์และพวกชาตินิยมในประเทศ ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามดำเนินการทางด้านการทูตอย่างแข็งขันเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่สุดสำหรับความสำเร็จของอีดีซี เปลอวองได้รับความร่วมมือและช่วยเหลืออย่างมากจากมอนเนซึ่งมีความสนิทสนมกับผู้บริหารทั้งในรัฐบาลและองค์การนาโตรวมทั้งนักการเมืองที่มีอำนาจในสหรัฐอเมริกาหลายคนพร้อมกันนั้นเขาก็ยังได้แก้ไขปรับปรุงแผนจัดตั้งอีดีซีเพื่อให้มืความชัดเจนและตอบสนองต่อความต้องการของสหรัฐอเมริกาและเป็นที่ยอมรับของประเทศที่จะเข้าเป็นภาคีสมาชิกมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องสถานภาพของกองทัพเยอรมัน จนในที่สุด สหรัฐอเมริกาก็ให้การสนับสนุนและชาติสมาชิกทั้งหกของอีดีซีก็สามารถเปิดการเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาจัดตั้งอีดีซีหรือสนธิสัญญาปารีส (Treaty of Paris) ได้ภายในปลาย ค.ศ. ๑๙๕๑ สนธิสัญญาดังกล่าวได้รับการลงนามในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๕๒
อย่างไรก็ดี สนธิสัญญาปารีสฉบับ ค.ศ. ๑๙๕๒ ก็ยังมีปัญหาการให้สัตยาบันจากฝรั่งเศสและอิตาลีที่ยืดเยื้อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๕๔ หลังเปลอวองพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกองทัพและพวกชาตินิยมฝรั่งเศสมากกว่าในช่วงแรกเพราะฝรั่งเศสเพิ่งพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในสงครามอินโดจีนเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๔ ทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาการแยกตัวของอาณานิคมในแอฟริกาเหนืออีกทั้งภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ดังเช่นในช่วงสงครามเกาหลีก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว ในที่สุด ในท่ามกลางปัญหาต่าง ๆ ที่รุมเร้ารัฐสภาฝรั่งเศสในสมัยรัฐบาลมองแดส-ฟรองซ์ ก็ไม่ผ่านการให้สัตยาบันแก่ร่างสนธิสัญญาฉบับนี้เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๔ ด้วยคะแนนเสียง ๓๑๙ ต่อ ๒๖๔ ประชาคมเพื่อการป้องกันยุโรปจึงไม่เกิดขึ้น ทั้งยังทำให้ร่างสนธิสัญญาจัดตั้งประชาคมการเมืองยุโรปหรืออีพีซี (European Political Community-EPC) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๘ ของสนธิสัญญาอีดีซีถูกยกเลิกไปด้วย นับเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญของเปลอวองและนักนิยมยุโรปที่อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งประชาคมนี้ อย่างไรก็ดี ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้วิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในของฝรั่งเศสยุติลงทั้งยังเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับบรรดานักนิยมยุโรปว่าการเริ่มต้นบูรณาการยุโรปโดยใช้วิธีทางการเมืองนำหน้าจะประสบความสำเร็จได้ยาก
นอกจากนี้ ในระยะเดียวกันเปลอวองยังมีนโยบายปกป้องอาณานิคมฝรั่งเศสในอินโดจีนอย่างแข็งขัน ในช่วงที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเขาจึงยืนกรานให้ฝรั่งเศสยังคงดำเนินการรบต่อไปจนกว่าจะได้ชัยชนะในสงครามอินโดจีนครั้งแรกที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๔๖ และใน ค.ศ. ๑๙๕๓ เปลอวองยังลาออกจากหัวหน้าพรรคสหภาพสังคมนิยมและประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้านนาซีเพื่อประท้วงการที่พรรคของเขาให้การสนับสนุนการเจรจาสันติภาพในเวียดนาม ด้วยเหตุนั้นเนื่องจากเขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๒-๑๙๕๔ เปลอวองจึงต้องรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของกองทัพฝรั่งเศสในการรบที่เดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๕๔ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสสูญเสียทรัพยากรจำนวนมหาศาลและชีวิตนายพลชั้นดีที่เก่งกล้าในการรบไปหลายคน ทั้งยังต้องสูญเสียอำนาจที่เคยมีอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนำความอัปยศอย่างใหญ่หลวงมาสู่กองทัพฝรั่งเศส เปลอวองถูกโจมตีอย่างหนักในความผิดพลาดครั้งนี้เขาจึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในวันที่ ๑๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๕๔ หลังจากนั้น เขาก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในรัฐบาลอีกเลยแม้ว่าใน ค.ศ. ๑๙๕๗ ประธานาธิบดีเรอเน โกตี (René Coty) จะเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่เขาก็ตาม อย่างไรก็ดี ในกลาง ค.ศ. ๑๙๕๘ ในช่วงที่ฝรั่งเศสกำลังประสบปัญหาทางการเมืองอย่างรุนแรง เปลอวองก็ยอมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วยความหวังว่าจะเข้ามา ช่วยแก้สถานการถมีได้แต่ก็ไม่สำเร็จ เขาจึงเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนสุดท้ายของสาธารณรัฐที่ ๔ ที่ดำรงตำแหน่งเพียง ๑๕ วัน
ในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๕ (Fifth French Republic)* เปลอวองไม่ได้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในสมัยประธานาธิบดีเดอ โกล เนื่องจากเขามีแนวความคิดและวิสัยทัศน์ทางการเมืองแตกต่างจากเดอ โกล และพวกโกลลิสต์ส่วนใหญ่ แต่เขาก็ยังคงได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรและดำเนินงานทางการเมืองในรัฐสภาต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ เปลอวองลาออกจากพรรคสหภาพสังคมนิยมและประชาธิปไตยของกลุ่มต่อต้านนาซีเพื่อมาจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อสหภาพเพื่อประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Union for a Modern Democracy-UMD) ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ และในวันที่ ๑๔ เมษายน ค.ศ. ๑๙๖๖ ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาก่อน เปลอวองได้แสดงสุนทรพจน์ครั้งสำคัญในรัฐสภาแห่งชาติวิจารณ์การตัดสินใจของเดอ โกล ที่ให้ฝรั่งเศสถอนกองทัพออกจากกองทัพร่วมขององค์การนาโต และให้นาโตถอนฐานทัพและสำนักงานทุกแห่งที่ตั้งอยูในฝรั่งเศสออกไปโดยยํ้าว่านโยบายดังกล่าวจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยของประเทศและของยุโรปโดยรวม อย่างไรก็ดี ใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เปลอวองก็ให้การสนับสนุนชอร์ช ปงปีลู (Georges Pompidou)* ในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างแข็งขัน และเมื่อปงปีดูได้ชัยชนะแล้วเขาก็สนับสนุนงานทางการเมืองของปงปีดูตลอดมา ฉะนั้น หลังหมดวาระการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เขาจึงได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาล ชาก ชาบอง-แดลมา (Jacques Chaban-Delmas) และรัฐบาลปีแยร์ แมสเมร์ (Pierre Messmer) จนถึงต้น ค.ศ. ๑๙๗๓ และในปีเดียวกันเปลอวองก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขต โกต-ดือ-นอร์อีกครั้ง แต่คราวนี้ เขาพ่ายแพ้แก่ชาร์ล โชส เซอแลง (Charles Josselin) หลังจากนั้น เขาจึงไมใต้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกเลย
อย่างไรก็ดี เปลอวองก็ยังคงทำงานในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองให้แก่แคว้นเบรอตาญบ้านเกิดของเขาต่อไปในทศวรรษ ๑๙๗๐ เขาได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภาเมืองโกต-ดือ-นอร์และได้รับเลือกเป็นประธานของสำนักงานพัฒนาภูมิภาคเบรอตาญหลายครั้งระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๓-๑๙๗๖ รวมทั้งได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคของเบรอตาญด้วย ทั้งยังใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งเขียนหนังสือและเขียนบทความทางการเมืองส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Le Petit Bleu ในโกต-ดือ-นอร์ ซึ่งเขาเคยเป็นหัวหน้าบรรณาธิการฝ่ายการเมืองและเป็นนักเขียนประจำมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้งานเขียนที่มีชื่อเสียงของเปลอวองที่ได้รับการตีพิมพ์แล้ว คือ L’ avenir de la Bretagne ( ค.ศ. ๑๙๖๑) และบทความชื่อ “Les Bretons” ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือ Annuaire des dix mille Bretons (ค.ศ. ๑๙๗๑)
เปลอวองสมรสกับแอนน์ บอมพาร์ด (Anne Bompard) ชาวอเมริกันใน ค.ศ. ๑๙๓๔ ขณะอยู่ในสหรัฐอเมริกาทั้งสองมีบุตรสาวด้วยกัน ๒ คน คือ ฟรองซวส (Françoise) และนิโกล (Nicole) แอนน์เสียชีวิตใน ค.ศ. ๑๙๖๖ เปลอวองเป็นผู้ที่มีความสามารถซึ่งได้ประกอบคุณความดีไว้นานัปการทั้งเป็นที่ยกย่องโดยทั่วไป เขาจึงได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญเชิดชูเกียรติจากรัฐบาลฝรั่งเศสและจากประเทศต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก อิตาลี โมร็อกโก และลาว เรอเน เปลอวอง ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านพักในกรุงปารีสด้วยอาการหัวใจวายเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๙๓ ขณะอายุ ๙๒ ปี.