ฟรีดริช วิลเฮล์ม ไรน์โฮลด์ พีค เป็นนักการเมืองคอมมิวนิสต์ชาวเยอรมันและเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมนีตะวันออกระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๙-๑๙๖๐ พีคเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (Social Democratic Party of Germany-SPD)* ใน ค.ศ. ๑๘๙๕ และมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของพรรคในกลุ่มกรรมกรและสหภาพแรงงาน ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ พีคได้รับเลือกเป็นเลขาธิการของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน ในการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๑๒ เขามีบทบาทสำคัญที่ทำให้พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้เสียงข้างมากในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) โดยได้รับเลือกถึง ๑๑๐ ที่นั่ง เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ พีคต่อต้านนโยบายสนับสนุนสงครามของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน และเป็นผู้นำคนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันปีกซ้ายที่คัดค้านสงคราม เขาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสังคมนิยมยุโรปสายกลางในการสร้างสันติภาพและต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศที่ทำสงคราม พีคจึงถูกจับคุมขังแต่ในช่วงปลายสงครามเขาได้รับอิสรภาพ พีคเดินทางไปอยู่ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) เนเธอร์แลนด์ระยะหนึ่งหลังสงครามสิ้นสุดลงเขาเดินทางกลับเยอรมนีและเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันใน ค.ศ. ๑๙๑๘
พีคเกิดในครอบครัวยากจนเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๗๖ ที่เมืองกูเบิน (Guben) จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ซึ่งปัจจุบันคือเมืองกูบิน (Gubin) ในโปแลนด์ บิดาเป็นคนขับรถม้า ส่วนมารดาทำงานในโรงงานระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากปัญหาสุขภาพจึงเลิกทำงานแม้ครอบครัวจะยากจนและพีคต้องทำงานช่วยครอบครัวแต่เขาก็มีโอกาสเข้าเรียนระดับต้นที่โรงเรียนในเมืองกูเบินในเยาว์วัยพีคต้องการมีอาชีพเป็นช่างไม้เพราะสนใจเครื่องประกอบรถม้าและเครื่องตกแต่งบ้าน หลังสำเร็จการศึกษาระดับต้น เขาเป็นลูกมือช่างไม้ในเมืองและมีโอกาสพบและรู้จักผู้คนหลากหลายอาชีพและฐานะ พีคจึงเริ่มสนใจสภาพสังคมรอบตัวและเข้าร่วมในกิจกรรมทางการเมืองของสมาคมกรรมกรเยอรมันทั่วไป (General German Worker’s Association) ซึ่งมีแฟร์ดีนานด์ ลัสซาลล์ (Ferdinand Lassalle)* นักสังคมนิยมเป็นผู้นำ ใน ค.ศ. ๑๘๙๔ พีคในวัย ๑๘ ปีซึ่งมีอาชีพเป็นช่างไม้เต็มตัวได้เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์ช่างไม้ (Wood Workers’ Federation)
สหพันธ์ช่างไม้สนับสนุนนโยบายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่เน้นแนวทางการต่อสู้เพื่อเสรีภาพด้านเศรษฐกิจและการเมืองในกรอบของกฎหมายรวมทั้งการร่วมมือกับนายทุนซึ่งรัฐสนับสนุน พีคจึงเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันใน ค.ศ. ๑๘๙๕ เขาเป็นสมาชิกที่กระตือรือร้น เอาการเอางาน และอุทิศตนเต็มที่ในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ภายในเวลาอันรวดเร็วพีคก็ได้เป็นหัวหน้าสาขาพรรคส่วนท้องถิ่นและใน ค.ศ. ๑๙๐๖ ก็ได้เป็นเลขาธิการพรรค พีคร่วมมือกับพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* ในสภาไรค์ชตากคัดค้านร่างงบประมาณของรัฐบาลในการปราบกบฏในแอฟริกา ตะวันตก การต่อต้านดังกล่าวทำให้แบร์นฮาร์ด ฟอน บือโลว์ (Bernhard von Bülow)* อัครมหาเสนาบดีสั่งยุบสภาอย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๐๗ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันได้รับเลือกเข้าสู่สภาอีก และต่อมาในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๑๒ ก็ได้ที่นั่งในสภาถึง ๑๑๐ ที่นั่ง จนกลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในสภาไรค์ชตาก ชัยชนะดังกล่าวเป็นผลจากการที่พีคปรับนโยบายพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันให้มีลักษณะยืดหยุ่นมากขึ้นโดยเน้นการปฏิรูปสังคมอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระบอบรัฐสภาตามแนวความคิดของเอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* ผู้นำกลุ่มแก้ไขลัทธิมากซ์ (Revisionist) ของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน แนวนโยบายดังกล่าวจึงมีส่วนโน้มน้าวขบวนการสหภาพแรงงานต่าง ๆ ที่นิยมแนวทางสายกลางหันมาสนับสนุนพรรคมากขึ้น
ในกลาง ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนีย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ และเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันมีมติสนับสนุนนโยบายสงครามของรัฐบาลเพื่อปกป้องปิตุภูมิจากการรุกรานของต่างชาติ ในระยะแรกพีคเห็นด้วยกับการทำสงคราม แต่เมื่อสงครามยืดเยื้อและกลุ่มสังคมนิยมยุโรปสายกลางเคลื่อนไหวคัดค้านสงคราม พีคจึงเปลี่ยนทัศนคติหันมาเคลื่อนไหวต่อต้านสงคราม เขาสนับสนุนคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* ผู้นำกลุ่มปีกซ้าย ของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันต่อต้านนโยบายสงครามของพรรคและรัฐบาลและเรียกร้องให้ยุติสงครามโดยปราศจากการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงครามทั้งให้มีการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชนพีคจึงถูกขับออกจากพรรคและถูกคุมขังที่คุกทหาร อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสงคราม เขาได้รับการปล่อยตัวและเดินทางไปพำนักที่กรุงอัมสเตอร์ดัม แต่เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ในเยอรมนีระหว่างวันที่ ๖-๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๓๐)* ขึ้น กลุ่มสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ซึ่งต่อต้านสาธารณรัฐจึงรวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ พีคจึงเดินทางกลับกรุงเบอร์ลินและได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น
ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๐ พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันพยายามโค่นอำนาจรัฐบาลไวมาร์ แต่ประสบความล้มเหลว รัฐบาลสนับสนุนให้กองกำลังอิสระ (Free Corps)* ดำเนินการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ พรรคคอมมิวนิสต์ จึงปรับนโยบายจากการก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐทันทีเป็นการชะลอเวลาการยึดอำนาจทางการเมืองและเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยวิถีทางรัฐสภา พีคสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวดังกล่าวทั้งเห็นด้วยกับแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ในการร่วมมือกับสหภาพโซเวียตและเข้าเป็นสมาชิกองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือ องค์การโคมินเทิร์น (Comintern)* แม้พรรคคอมมิวนิสต์จะปรับแนวนโยบายการเคลื่อนไหวที่เป็นประชาธิปไตยแต่พรรคคอมมิวนิสต์ก็ยังไม่เป็นที่นิยมของประชาชนเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกุสตาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๓-๑๙๒๙ สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้สำเร็จ ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคง
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๙ เกิดวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* ในยุโรปและทั่วโลก ตลาดหุ้นล้มทำให้เยอรมนีซึ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาเผชิญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีไฮน์ริช บรือนิง (Heinrich Brüning)* ล้มเหลวที่จะแก้ปัญหาการขาดดุลเศรษฐกิจได้จนต้องลาออก ประธานาธิบดีเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* จึงยุบสภาและประกาศการเลือกตั้งขึ้นใหม่ พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ซึ่งมีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและล้มเลิกสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาเป็นเสียงข้างมากซึ่งทำให้อดอล์ฟ อิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีในเวลาต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ใน ค.ศ. ๑๙๓๓ ฮิตเลอร์ ได้ใช้สถานการณ์เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* กล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้วางเพลิงและเรียกร้องให้ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กลงนามในกฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* ให้อำนาจแก่รัฐบาล ฮิตเลอร์จึงดำเนินการกำจัดพวกคอมมิวนิสต์และกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม การปราบปรามที่เกิดขึ้นทำให้พีคหนีออกจากเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๓๓ และเดินทางไปพำนักที่ฝรั่งเศสระยะหนึ่งก่อนจะไปอยู่ที่กรุงมอสโกเป็นการถาวร ใน ค.ศ. ๑๙๓๕
พีคทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ ขององค์การพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียตามที่ได้รับมอบหมายและใน ค.ศ. ๑๙๓๘ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตสนับสนุนพีคให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการขององค์การโคมินเทิร์น เขาสนับสนุนนโยบายของสตาลินในการกำจัดพรรคคอมมิวนิสต์ยุโรปที่มีนโยบายเป็นอิสระจากโคมีนเทิร์นด้วยการประกาศยุบพรรคคอมมิวนิสต์โปแลนด์ โดยกล่าวหาว่ามีอุดมการณ์เบี่ยงเบนจากลัทธิมากซ์-เลนินและถูกแทรกแซงจากฝ่ายขวา ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เมื่อเยอรมนีละเมิดข้อตกลงกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างเยอรมัน-โซเวียต (German-Soviet Nonaggression Pact ค.ศ. ๑๙๓๙)* ด้วยการบุกโจมตีสหภาพโซเวียตโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้าตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซา (Operation Barbarossa)* เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๑ สหภาพโซเวียตจึงหันไปร่วมมือกับฝ่ายประเทศพันธมิตรตะวันตกเพื่อต่อต้านเยอรมนี
ความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในยุทธการที่เมืองสตาลินกราด (Battle of Stalingrad)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๒ ทำให้สหภาพโซเวียตสนับสนุนพวกเชลยสงครามชาวเยอรมันที่ต่อต้านนาซี และนักคอมมิวนิสต์เยอรมันในสหภาพโซเวียตจัดตั้งองค์การต่อต้านนาซีขึ้นโดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยเยอรมนี (National Committee for a Free Germany-NKFD) พีคมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยเยอรมนีขึ้นที่กรุงมอสโกเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ คณะกรรมาธิการฯ ๓๘ คนส่วนใหญ่เป็นนายทหารเยอรมันที่เป็นเชลยสงครามรวม ๒๘ คน และคอมมิวนิสต์ลี้ภัยชาวเยอรมัน ๑๐ คนซึ่งรวมทั้งพีคด้วย หน้าที่หลักของคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยเยอรมนีคือการโฆษณาปลุกระดมให้เหล่าทหารในกองทัพนาซีในแนวรบของกองทัพแดง (Red Army)* ยอมแพ้ และการวางโครงงานบริหารปกครองเยอรมนีภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ต่อมาหลังเยอรมนียอมจำนนใน ค.ศ. ๑๙๔๕ แกนนำส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยเยอรมนีก็เดินทางกลับเยอรมนีและมีบทบาทสำคัญในการบริหารปกครองสาธารณรัฐ ประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งสถาปนาขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๙
พีคเดินทางกลับเยอรมนีในกลาง ค.ศ. ๑๙๔๕ และมีส่วนร่วมก่อตั้งพรรคเอกภาพสังคมนิยม (Socialist Unity Party-SED) ซึ่งเป็นการรวมตัวของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันกับกลุ่มสังคมประชาธิปไตยปีกซ้ายและพรรคแนวร่วมอื่น ๆ เข้าด้วยกันในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๖ อย่างไรก็ตาม พรรคเอกภาพสังคมนิยมซึ่งยึดแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์โซเรียตเป็นต้นแบบก็ไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในเขตยึดครองเยอรมันของฝ่ายพันธมิตรตะวันตกต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ปิดล้อมเบอร์ลิน (Berlin Blockade)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙ ซึ่งนำไปสู่การสถาปนาสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันตกกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันใน ค.ศ. ๑๙๔๙ พีคได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน และอยูในตำแหน่งจนถึง ค.ศ. ๑๙๖๐ การที่เขาสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองได้ยาวนานเป็นเพราะพีคบริหารปกครองประเทศโดยยึดสหภาพโซเวียตเป็นแม่แบบและดำเนินนโยบายสนับสนุนสหภาพโซเรียตอย่างเต็มที่ทั้งรับคำสั่งและนโยบายจากสตาลินมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัด สตาลินจึงไว้วางใจเขามากและสนับสนุนให้อยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศ ผลงานสำคัญของพีคคือการปรับปรุงความสัมพันธ์กับโปแลนด์โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมันและโปแลนด์ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาเซกอร์เชเลตซ์ (Treaty of Zgorzelec) เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๐ รับรองแนวพรมแดนโอเดอร์-ไนส์เซอ (Oder-Neisse Line)* เป็นพรมแดนถาวรระหว่างประเทศทั้งสอง พีคยังสนับสนุนสหภาพโซเวียตให้ส่งกองกำลังองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization-WTO)* เข้าปราบปรามการลุกฮือของชาวยังการี ค.ศ. ๑๙๕๖ (Hungarian Uprising 1956)* และเห็นด้วยกับแนวความคิดของนีกีตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตในการจะหาทางสกัดกั้นการหลบหนีของประชาชนจากเยอรมนีตะวันออกไป ยังเยอรมนีตะวันตก
ฟรีดริช พีคถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๖๐ ที่กรุงเบอร์ลิน ขณะอายุ ๘๔ ปี หลัง ค.ศ. ๑๙๖๐ เยอรมนีตะวันออกยุบเลิกตำแหน่งประธานาธิบดีโดยเปลี่ยนเป็นประธานสภาแห่งรัฐ (Chairman of the Council of State) แทน และวัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)* เลขาธิการพรรคดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นคนแรก.