โซเฟีย ลวอฟนา เปรอฟสกายาเป็นนักปฏิวัติหญิงรัสเซียและแกนนำกลุ่มผู้ปฏิบัติงานใต้ดินของกลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) หรือนำรอดนายา วอลยา
โซเฟีย เปรอฟสกายาเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๓ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเธอมีพี่ชาย ๑ คนและน้องสาว ๒ คนเลฟ เปรอฟสกี (Lev Perovsky) บิดาเป็นนายพลและต่อมาเป็นข้าหลวงแห่งไครเมีย ปสคอฟ (Pskov) และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ตามลำดับ มารดามาจากครอบครัวชนชั้นสูงและมีความคิดอิสระ เธอมักสนับสนุนลูก ๆ ให้มีชีวิตอิสระตามความปรารถนาของแต่ละคนและจะคอยช่วยเหลือให้กำลังใจเสมอเปรอฟสกายาจึงใกล้ชิดกับมารดามากกว่าบิดาใน ค.ศ. ๑๘๖๕ ขณะอายุ ๑๒ ปี มารดาพาเธอไปเยี่ยมลุงซึ่งป่วยหนักที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ในขณะนั้นนครเจนีวาเป็นที่รวมศูนย์ของนักเขียนและปัญญาชนรัสเซียหัวรุนแรงที่ลี้ภัยซึ่งบางคนเป็นเพื่อนของมารดา เปรอฟสกายาจึงมีโอกาสรับรู้การเคลื่อนไหวของปัญญาชนลี้ภัยเหล่านี้ เมื่อกลับมารัสเซียใน ค.ศ. ๑๘๖๖ ครอบครัวของเธอก็เผชิญกับวิกฤติเพราะในปีนั้นนักศึกษาหัวรุนแรงลอบปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กแต่ล้มเหลวการลอบปลงพระชนม์ครั้งนี้ส่งผลให้เลฟ เปรอฟสกีถูกปลดออกจากตำแหน่งข้าหลวงและต้องยัายออกจากจวนที่พักอย่างไรก็ตาม เลฟพยายามรักษาเกียรติและฐานะด้วยการเช่าคฤหาสน์หรูและยังคงใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยจนท้ายที่สุดก็ตกอยู่ในสภาวะหนี้สินในช่วงตกอับของชีวิตเขาส่งภริยาและบุตรสาวไปพักอยู่ที่ไครเมีย ณ คิบูริน (Kiburine) คฤหาสน์ชนบทของบิดา
ในช่วงพักพิงที่คิบูรินพี่ชายของเปรอฟสกายาซึ่งถูกพักการเรียนในมหาวิทยาลัยเนื่องจากมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาเดินทางมาอยู่กับมารดาและน้องสาวเขานำหนังสือการเมืองและหนังสือต้องห้ามติดตัวมาด้วยและแนะนำให้เปรอฟสกายาอ่านนวนิยายการเมืองของ นีโคไล กัฟรีโลวิช เชียร์นีเซฟสกี (Nikolai Gavrilovich Chernyshevsky)* รวมทั้งงานเขียนของอะเล็กซานเดอร์ เฮอร์เซน (Alexander Herzen)* การได้อ่านหนังสือการเมืองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่ชายรวมทั้งสัมผัสชีวิตของผู้คนในชนบทนับเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อในชีวิตของเปรอฟสกายา เธอต้องการเรียนรู้มากขึ้นและปรารถนาจะเดินตามรอยพี่ชายในการต่อสู้เพื่อความถูกต้องในสังคมต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๙ บิดามาจัดการเรื่องหนี้สินด้วยการขายคฤหาสน์และที่ดินในชนบทและพาครอบครัวกลับไปอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
เมื่อกลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก บิดาสนับสนุนเปรอฟสกายาให้เข้าเรียนที่สถาบันอะลาร์ชินสกี (Alar-chinsky Institute) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาสำหรับผู้หญิงที่เพิ่งเปิดสอนเป็นสถาบันแรกในกรุง เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๘๖๙ เป็นการเรียนภาคค่ำซึ่งสอนโดยศาสตราจารย์ที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นและเรียนระหว่าง ๑๘.๐๐-๒๑.๐๐ น. วิชาเรียนประกอบด้วย ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ เรขาคณิต ภาษารัสเซีย และการศึกษา เปรอฟสกายามุมานะในการเรียนและขณะเดียวกันก็เข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาที่รวมตัวกันอย่างหลวม ๆ เพื่ออ่านหนังสือต้องห้าม ถกเถียงและพูดคุยปัญหาการเมืองและแนวความคิดสังคมนิยม ตลอดจนการเขียนบทความการเมืองและอื่นๆ ใน ค.ศ. ๑๘๗๐ บิดายอมให้เธอไปพักอยู่กับเพื่อนสนิทซึ่งเป็นบุตรของนักธุรกิจที่มั่งคั่ง เปรอฟสกายาจึงถูกชักจูงให้เข้าร่วมกลุ่มไชคอฟสกี (Chaikovsky circle) ที่มีนีโคไล ไชคอฟสกี (Nikolai Chaikovsky) เป็นผู้นำ
กลุ่มไชคอฟสกีเป็นการรวมตัวของปัญญาชนที่ ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มั่งคั่ง พวกเขาสนใจแนวความคิดสังคมนิยมและต้องการติดอาวุธทางความคิดปฏิวัติแก่ชาวนำกลุ่มไชคอฟสกีเห็นว่าความรู้คู่กับการปฏิวัติ พวกเขาจึงรวบรวมงานเขียนแนวความคิดสังคมนิยมทั้งในและนอกประเทศรวมทั้งหนังสือประวัติศาสตร์และการเมืองเพื่อศึกษาและนำไปถ่ายทอด กลุ่มดังกล่าวเน้นการจัดตั้งกรรมกรที่มาจากชนบทเพื่อสร้างสายใยระหว่างเมืองกับชนบทระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๘๗๓ กลุ่มไชคอฟสกีมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความคิดปฏิวัติแก่ปัญญาชนและปลุกระดมมวลชนเปรอฟสกายาได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกกลุ่มที่เอาการเอางานและเธอมีความสามารถในการโน้มน้าวมวลชนซึ่งทำให้มีสมาชิกจำนวนมาก ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ เปรอฟสกายาถูกจับขังเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ด้วยข้อกล่าวหามีส่วนร่วมจัดทำจุลสารการเมืองปลุกระดมกรรมกร แต่ตำรวจขาดหลักฐานที่ชัดเจนเธอจึงได้รับการปล่อยตัวประสบการณ์ที่ถูกคุมขังทำให้เปรอฟสกายาเข้มแข็งมากขึ้นและมุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหวปฏิวัติต่อไป ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๒-๑๘๗๓ เธอไปเคลื่อนไหวในชนบทที่เมืองซามารา (Samara) ด้วยการสอนหนังสือและใช้ชีวิตร่วมกับชาวนา
เมื่อกลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้น ค.ศ. ๑๘๗๓ เธอเช่าที่พักในย่านที่อยู่ของกรรมกรและใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของกลุ่มไชคอฟสกีในการพบปะและจัดทำเอกสารการเมืองเพื่อปลุกระดมกรรมกร ต่อมา เมื่อเกิดทุพภิกขภัยและความอดอยากในบริเวณลุ่มแม่นํ้าดอน (Don) และวอลกา (Volga) ระหว่างกลาง ค.ศ. ๑๘๗๓-๑๘๗๔ เปรอฟสกายาและเหล่าสหายต่างเดินทางลงสู่ชนบทเพื่อช่วยเหลือประชาชนและเผยแพร่ความคิดสังคมนิยม การเดินทางไปชนบทของเหล่าปัญญาชนทั่วประเทศในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๔ ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกชื่อว่า “ฤดูร้อนที่บ้าคลั่ง” (mad summer days) ตำรวจได้ติดตามการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดและเมื่อสืบทราบว่ามีการนำเอกสารและหนังสือการเมืองไปเผยแพร่และมีการปลุกระดมชาวนาให้ก่อการปฏิวัติ ตำรวจจึงกวาดล้างและจับกุมปัญญาชนกว่า ๑,๕๐๐ คนรวมทั้งเปรอฟสกายาด้วย
อย่างไรก็ตาม บิดาของเปรอฟสกายาซึ่งทราบข่าวการจับกุมได้ติดต่อหัวหน้าตำรวจแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นของเขาให้ช่วยเหลือ เปรอฟสกายาจึงได้ประกันตัวในวงเงิน๕,๐๐๐ รูเบิลและระหว่างรอการ พิจารณาคดีเธอกลับไปสอนหนังสือในชนบทที่เมืองซิมบิสค์ (Simbirsk) และศึกษาเพิ่มเติมจนได้รับประกาศนียบัตรเป็นครูและผู้ช่วยแพทย์ใน ค.ศ. ๑๘๗๗ ในกลาง ค.ศ. ๑๘๗๗ เธอถูกเรียกตัวกลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อเป็นพยานในการพิจารณาคดีการเมืองที่โด่งดังซึ่งเรียกว่า “คดีไปหาประชาชนของนักโทษ ๑๙๓ คน” (Go to the People Trial of the 193) หรือคดีกลุ่ม ๑๙๓ (Trial of the 193) เป็นการพิจารณาคดีเหล่าปัญญาชนที่ไปเคลื่อนไหวในชนบทเมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๔ และถูกคุมขังเพื่อพิจารณาคดีรวม ๑๙๘ คนแต่ ๕ คนเสียชีวิตก่อนในคุก จึงเหลือเพียง ๑๙๓ คนที่จะถูกพิจารณาคดี เปรอฟสกายาได้เช่าห้องเล็ก ๆ ในใจกลางเมืองและห้องพักของเธอก็กลายเป็นที่นัดพบของฝ่ายปฏิวัติ เมื่อมีการจัดตั้งองค์การปฏิวัติที่มีชื่อว่า “กลุ่มที่ดินและเสรีภาพ” (Land and Liberty) ขึ้นเปรอฟสกายาเข้าเป็นสมาชิกด้วยและในเวลาอันสั้นเธอก็เป็นแกนนำคนสำคัญที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานเคลื่อนไหวในหมู่ปัญญาชนกรรมกร และชาวนา
ในการพิจารณาคดีกลุ่ม ๑๙๓ ระหว่างเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๗ ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๗๘ เปรอฟสกายา ใช้วิธีการนิ่งเงียบไม่ยอมตอบคำซักถามของศาลและท้ายที่สุดถูกตัดสินให้เนรเทศไปไซบีเรีย แต่เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากการวิ่งเต้นประกันตัวของบิดาในช่วงที่ถูกคุมขังก่อนได้รับการประกันตัวเปรอฟสกายาปลุกระดมนักโทษการเมืองให้ก่อการจลาจลซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ แม้การก่อจลาจลจะล้มเหลวแต่เธอก็มีบทบาทโดดเด่นในขบวนการปฏิวัติในฐานะนักเคลื่อนไหวจัดตั้งที่สามารถและเป็นนักปฏิวัติผู้ยอมพลีชีพเพื่อความถูกต้อง ต่อมา ขณะถูกควบคุมตัวไปไซบีเรีย เปรอฟสกายาสามารถหลบหนีได้และเดินทางกลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เธอได้รับหนังสือเดินทางปลอมจากองค์การปฏิวัติและมีชื่อจัดตั้งใหม่เปรอฟสกายาได้กลายเป็นคนนอกกฎหมายและก้าวไปสู่ “อาณาจักรแห่งความมืด” ของการมีชีวิตใต้ดินจากนั้นเธอเดินทางไปเคลื่อนไหวที่เมืองคาร์คอฟ (Kharkov)
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๘๗๙ กลุ่มที่ดินและเสรีภาพจัดประชุมใหญ่ที่เมืองโวโรเนจ (Voronezh) เพื่อพิจารณาแนวนโยบายการปฏิบัติงานเนื่องจากระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๘๗๙ กลุ่มที่ดินและเสรีภาพได้ใช้วิธีการก่อการร้ายและความรุนแรงซึ่งทำให้รัฐบาลดำเนินการปราบปรามและสมาชิกบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติดังกล่าวในการประชุมครั้งนี้สมาชิกแตกแยกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มเจตจำนงประชาชนซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่สนับสนุนการก่อการร้ายและวิธีการรุนแรง และกลุ่มแบล็กพาร์ทิชัน (Black Partition) หรือเชียร์นีเปเรดเยล (Cherny Peredyel) ซึ่งสนับสนุนแนวทางการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีด้วยการปลุกระดมแนวความคิดสังคมนิยมในหมู่กรรมกรและชาวนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนกว่ามวลชนจะสุกงอมทางความคิดและพร้อมที่จะก่อการปฏิวัติ กลุ่มดังกล่าวมีเกออร์กี เปลฮานอฟ (Georgi Plekhanov)* เป็นผู้นำ ระหว่างการประชุมเปรอฟสกายามีโอกาสพบและรู้จักกับอันเดรย์ เจลยาบอฟ (Andrei Zhelyabov) นักเคลื่อนไหวรูปงามจากจังหวัดโปดอลสค์ (Podolsk) ซึ่งสนับสนุนวิธีการรุนแรง คนทั้งสองสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วและในเวลาอันสั้นก็เป็นที่รับรู้กันว่าเปรอฟสกายาคือคนรักของเจลยาบอฟ
หลังการประชุมใหญ่ที่โวโรเนจ ทั้งเปรอฟสกายาและเจลยาบอฟกลับมาเคลื่อนไหวในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและร่วมกันจัดทำจุลสารใต้ดินWorkers’Gazette เพื่อเผยแพร่ในหมู่นักศึกษา กรรมกร และเหล่านักโทษการเมือง เปรอฟสกายายังลงไปชนบทเป็นครั้งคราวเพื่อประสานงานกับองค์การท้องถิ่นในปลาย ค.ศ. ๑๘๗๙ ทั้งเปรอฟสกายาและเจลยาบอฟได้เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารกลางของกลุ่มเจตจำนงประชาชนซึ่งมีทั้งหมด ๑๖ คนเป็นชาย ๑๐ คนหญิง ๖ คนทั้งสองรับผิดชอบงานฝ่ายก่อการร้าย และประสบความสำเร็จอย่างมากในการวางแผนสังหารหัวหน้าตำรวจและบุคคลสำคัญ ๆ ในวงงานรัฐบาลหลายคนระหว่าง ค.ศ. ๑๘๗๙-๑๘๘๐ จนทำให้การปฏิบัติการรุนแรงของกลุ่มเป็นที่หวาดผวากันทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๗๙ และในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๘๘๐ เปรอฟสกายาร่วมกับเวราฟิกเนียร์คบคิดแผนปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ แต่ประสบความล้มเหลว
ในต้น ค.ศ. ๑๘๘๑ เปรอฟสกายาและสหายคู่ใจร่วมกันเตรียมแผนปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ โดยกำหนดวันสังหารในวันที่ ๑ มีนาคม ซึ่งในวันนั้นซาร์จะเสด็จในพระราชพิธีสวนสนามและระหว่างเส้นทางเสด็จกลับพระราชวังฤดูหนาวกลุ่มก่อการจะลงมือปฏิบัติการด้วยการจุดชนวนระเบิดที่ซ่อนไว้บนเส้นทางเสด็จและหากล้มเหลวก็จะใช้แผนสำรองด้วยการโยนระเบิดใส่รถพระที่นั่ง แต่ก่อนวันสังหารที่กำหนด ๒-๓ วันเจลยาบอฟถูกจับกุมเพราะสายสืบตำรวจจำเขาได้ เปรอฟสกายาจึงรับหน้าที่เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ และเธอยกเลิกแผนแรกเพราะไม่แน่ใจว่าจะบรรลุผลสำเร็จ ในการใช้แผนสำรองมือสังหารได้ฝึกซ้อมการโยนระเบิดจนเชี่ยวชาญและเปรอฟสกายาก็สำรวจเส้นทางเสด็จอย่างถี่ถ้วนพร้อมกับกำหนดจุดที่จะโยนระเบิด ในวันอาทิตย์ที่ ๑ มีนาคม เปรอฟสกายาซึ่งดูต้นทางไดให้สัญญาณด้วยการทิ้งผ้าเช็ดหน้าแก่สหายให้โยนระเบิด ระเบิดลูกแรกถูกสารถีได้รับบาดเจ็บและคนร้ายหลบหนีไปได้แต่ถูกจับตัวในเวลาต่อมา ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๒ เสด็จลงจากรถม้าพระที่นั่งเพื่อดูอาการสารถี ในวินาทีนั้นระเบิดลูกที่ ๒ ก็ถูกโยนใส่พระองค์ แรงระเบิดทำให้พระองค์บาดเจ็บสาหัสและพระเพลาข้างหนึ่งขาด อีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็เสด็จสวรรคต ส่วนมือระเบิดเสียชีวิต เปรอฟสกายาและสหายอีก ๒ คนหลบหนีได้
รัฐบาลตามล่ามือสังหารทุกตารางนิ้วของกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก ในช่วงที่มีการกวาดล้าง เปรอฟสกายาไม่ได้หลบหนีเพราะเธอยังคิดหาวิธีที่จะช่วยเหลือเจลยาบอฟ เธอทำจดหมายเปิดผนึกในนามของกลุ่มเจตจำนงประชาชนถึงซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III)* เรียกร้องให้ยุติการปราบปรามกวาดล้างเหล่านักปฏิวัติและการจับกุมประชาชนที่บริสุทธิ์ ทั้งให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศ และให้เสรีภาพแก่ประชาชนทั้งยังเตือนพระองค์ว่าหากทรงปกครองด้วยระบบอัตตาธิปไตยต่อไปพระองค์จะเผชิญกับการปฏิวัติและความตายเช่นพระราชบิดา ต่อมาในวันที่ ๑๐ มีนาคม ตำรวจก็จับกุมเปรอฟสกายาและสหายอีก ๓ คนได้เนื่องจากรีซาคอฟ (Rysakov) มือระเบิดคนแรกที่ถูกจับกุมให้การสารภาพและชี้เบาะแสที่นำไปสู่การจับกุมคนอื่นๆ การพิจารณาคดีนักโทษที่ลอบวางแผนปลงพระชนม์ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “คดีนักโทษ ๖ คน” (Trial of the six) หรือ “เปียร์โวมาร์ตอฟซี” (Pervomartovtsi) ซึ่งหมายถึงผู้ลงมือในวันที่ ๑ มีนาคม ใช้เวลาพิจารณา ๔ วันระหว่างวันที่ ๒๖-๒๙ มีนาคม และไม่อนุญาตให้สาธารณชนเข้าร่วมฟังทั้งคุมเข้มเรื่องการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนักโทษทั้ง๖ คนเป็นชาย ๔ คนหญิง ๒ คนซึ่งรวมทั้งเปรอฟสกายาและเจลยาบอฟด้วย ถูกศาลสภาสูงแห่งจักรวรรดิ (Court of the Imperial) ซึ่งประกอบด้วยคณะผู้พิพากษารวม ๘ คนตัดสินว่ามีความผิดและได้รับโทษประหารด้วยการแขวนคอ เปรอฟสกายาซึ่งเกิดในครอบครัวชนชั้นสูง ศาลไม่มีอำนาจตัดสินโทษ อำนาจพิพากษาเป็นของซาร์ เธอจึงเป็นผู้หญิงคนแรกในรัสเซียที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในคดีการเมืองและถูกแขวนคอ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๘๘๑ ขณะอายุได้ ๒๘ ปี ส่วนเกสยา เกลฟ์มัน (Gesya Gelfman) นักโทษหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังตั้งครรภ์ได้รับการผ่อนปรนให้เลื่อนวันประหารไปจนกว่าเธอจะให้กำเนิดบุตร แต่ภายหลังได้นิรโทษกรรมและถูกเนรเทศไปไซบีเรีย
การแขวนคอเปรอฟสกายาได้สร้างความสะเทือนขวัญโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ หลังจากเธอเสียชีวิต อีวานเชียร์เกเยวิช ตูร์เกเนฟ (Ivan Sergeevich Turgenev) นักประพันธ์เรืองนามของรัสเซียซึ่งดื่มดํ่ากับเรื่องราวของเปรอฟสกายาได้เขียนกวีนิพนธ์ชื่อ “Porog” ( ค.ศ. ๑๘๘๓) อุทิศแก่เปรอฟสกายาโดยเนื้อหาว่าด้วยวันประหารชีวิตเธอและข้อโต้แย้งของมวลชนที่เห็นว่า เธอเป็นอาชญากร แต่บ้างเห็นว่าเธอคือนักบุญ อย่างไรก็ดี กวีนิพนธ์ชิ้นนื้ไม่เคยถูกนำมารวมในงานคัดสรรรวมกวีนิพนธ์ชุดใด ๆ ของตูร์เกเนฟแต่ถูกเผยแพร่ในวารสารใต้ดินของกลุ่มเจตจำนงประชาชนและภายหลังมีการนำมาพิมพ์รวมในหนังสือชีวประวัติของเปรอฟสกายาที่ทางการโซเวียตจัดพิมพ์ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๒๑
หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ รัฐบาลโซเวียตซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* เป็นผู้นำได้ผลักดันการสร้างงานศิลปะและวัฒนธรรมใหม่ของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่าศิลปะสัจนิยมแนวสังคมนิยม (Socialist Realism)* งานสำคัญประการหนึ่งคือการสร้างรูปโลหะสัมฤทธิ์และอนุสาวรีย์บุคคลสำคัญในขบวนการปฏิวัติและการเผยแพร่ประวัติและบทบาทของเหล่านักปฏิวัติรัสเซียให้ประชาชนได้เรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีอะนาโตลี ลูนาชาร์สกี (Anatoly Lunacharsky)* เป็นรัฐมนตรีได้จัดทำหนังสือประวัติชีวิตของเปรอฟสกายาและเจลยาบอฟเผยแพร่และตั้งชื่อถนน ๒ สายที่ติดต่อกันและอยู่ใกล้กับคลองคาเตรินสกี (Katerinski) ในกรุงเปโตรกราด (Petrograd) ว่าถนนเปรอฟสกายาและถนนเจลยาบอฟ นอกจากนี้ในพิพิธภัณฑ์แห่งการปฏิวัติทั่วทุกแห่งในสหภาพโซเวียตก็มีภาพถ่ายของเปรอฟสกายาเคียงคู่กับภาพถ่ายของเจลยาบอฟซึ่งเลนินผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* กล่าวยกย่องและเปรียบเทียบเจลยาบอฟว่าเป็นนักสู้ที่เก่งกล้าเหมือนกับมักซีมีเลียง โรแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre)* นักคิดหัวรุนแรงชาวฝรั่งเศสในช่วงสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๑ และจูเซปเป การีบัลดี (Giuseppe Garibaldi)* นักชาตินิยมชาวอิตาลีที่ต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อการรวมชาติอิตาลี ในพิพิธภัณฑ์ปฏิวัติแห่งเลนินกราดมีภาพถ่ายของเปรอฟสกายาประดับไว้กลางผืนธงแดงและมีข้อความอธิบายว่า “ผู้ให้ความตายแก่ทรราช”.