Paul (1754-1801)

ซาร์ปอล (พ.ศ. ๒๒๙๗-๒๓๔๓)

 ซาร์ปอลทรงเป็นซาร์องค์ที่ ๑๓ แห่งราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ในจำนวนทั้งสิ้น ๑๘ พระองค์ทรงปกครองรัสเซียในช่วงที่เกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolutionary Wars ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๐๒)* และเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ ที่ซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช (Catherine II the Great ค.ศ. ๑๗๖๒-๑๗๙๖)* พระราชมารดาทรงวางไว้ เนื่องจากทรงเกลียดชังพระราชมารดา และต้องการลบล้างพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ที่ทรงกระทำไว้ในขณะปกครองรัสเซีย ทรงมีความชื่นชมอย่างดื่มดํ่าในกิจกรรมด้านการทหารของทั้งปรัสเซียและฝรั่งเศสซึ่งต่างก็เป็นศัตรูของรัสเซีย จึงทำให้บรรดาทหารรัสเซียไม่พอใจและนำไปสู่การลอบปลงพระชนม์ในที่สุด

 ซาร์ปอลประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน ค.ศ. ๑๗๕๔ (ปฏิทินใหม่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๗๕๔) เป็นพระราชโอรสองค์เดียวในซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ (Peter III ค.ศ. ๑๗๖๑-๑๗๖๒) และซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราชเมื่อครั้งยังทรงพระยศแกรนด์ดุ๊กและแกรนค์ดัชเชสประสูติภายหลังที่พระราชบิดาซึ่งเป็นพระราชภาคิไนย (หลานน้า) ในซารีนาเอลิซาเบท (Elizabeth ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๖๒) และเป็นมกุฎราชกุมารของราชบัลลังก์รัสเซียและพระราชมารดาอภิเษกสมรสได้เป็นระยะเวลา ๙ ปี แต่ชาติกำเนิดของพระองค์ยังเป็นที่เคลือบแคลงใจและโต้แย้งกันอยู่แม้กระทั่งในปัจจุบันทั้งนี้ เพราะซารีนาแคเทอรีนมหาราชพระราชมารดาทรงมีบันทึกในเวลาต่อมาเป็นนัยว่าการอภิเษกสมรสของพระองค์กับซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ซึ่งทรงมีพระนิสัยเป็นเด็กพฤติกรรมประหลาดและโปรดการเล่นตุ๊กตาทหารเป็นชีวิตจิตใจ ไม่มีอะไรที่เป็นไปในทางพฤตินัยมากกว่าการประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสร่วมกันนักประวัติศาสตร์บางคนให้ทัศนะว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการตั้งพระทัยของซารีนาที่จะทำให้ซาร์ปอลหมดสิทธิอันชอบธรรมในการสืบราชสมบัติ แต่หากว่าซาร์ปอลทรงเป็นโอรสของ “ชายชู้” จริง พระบิดาของพระองค์น่าจะเป็นเจ้าชายเซียร์เกย์ ซัลตีคอฟ (Sergei Saltykov) ที่ซารีนาทรงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดในเวลานั้น

 หลังประสูติ แกรนด์ดุ๊กปอลทรงถูกแยกตัวจากพระมารดาไปอยู่ในพระอภิบาลของซารีนาเอลิซาเบท และมิได้ถูกนำพระองค์มาให้พระมารดาทอดพระเนตรนับแต่มีพระประสูติการและต้องพักผ่อนเพื่อฟื้นฟูพระสุขภาพเป็นเวลา ๔๐ วันหลังจากนั้นแกรนค์ดัชเชสแคเทอรินก็มิได้ทรงมีโอกาสเลี้ยงดูพระโอรสด้วยพระองค์เองอีก หรือแม้แต่พบปะกันฉันแม่ลูก เพราะซารีนาเอลิซาเบททรงมีพระราชประสงค์ที่จะอภิบาลแกรนต์ดุ๊กปอลด้วยพระองค์เอง และให้อยู่ใกล้ชิดกับพระองค์ตลอดเวลา ความสัมพันธ์ที่ต้องห่างเหินกันดังกล่าวจึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พระองค์กับพระมารดา ไม่สามารถเข้าพระทัยกันได้และกลายเป็นเสมือนศัตรูกันเมื่อเวลาผ่านไป

 ภายหลังซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ถูกอะเล็กเซย์ ออร์ลอฟ (Alexie Orlov) และกรีกอรี ออร์ลอฟ (Grigory Orlov) สองพี่น้องแห่งตระกูลออร์ลอฟ (กรีกอรี ออร์ลอฟเป็นชู้รัก คนหนึ่งของซารีนาแคเทอรีน) และกลุ่มนายทหารองครักษ์ อีกจำนวนหนึ่งบุกเข้าจับกุมและควบคุมตัวไปยังพระตำหนักชนบทที่เมืองร็อปชา (Ropsha) โดยซารีนาแคเทอรีนทรงรับรู้และให้ความเห็นชอบ ในวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๗๙๖ ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ก็ถูกปลงพระชนม์อย่างทารุณ นับเป็นการ สิ้นสุดรัชกาลและสมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ (The 2ᶰᵈ Time of Trouble) หรือยุคปฏิวัติวังหลวง (Era of Palace Revolutions) ในประวัติศาสตร์รัสเซีย ที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลา ๓๗ ปีนับตั้งแต่สิ้นรัชกาลซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช (Peter I the Great ค.ศ. ๑๖๘๒-๑๗๒๕) ด้วยขณะเดียวกันการสวรรคตของซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ซึ่งซารีนาแคเทอรีนมีส่วนรับรู้ด้วยก็ยิ่งทำให้ความบาดหมางระหว่างแกรนด์ดุ๊กปอลักบพระราชมารดาขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้นจนสุดเยียวยาได้ นอกจากนี้ การที่ซารีนาแคเทอรีนทรงได้รับอัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติก็เป็นการละเมิดต่อสิทธิของแกรนด์ดุ๊กปอลพระราชโอรสที่ทรงมีสิทธิชอบธรรมในราชบัลลังก์มากกว่า

 ในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนมหาราช แกรนด์ดุ๊กปอลไม่ทรงมีโอกาสที่จะช่วยงานราชการของพระราชมารดาหรือมีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองเลย เพราะสำหรับซารีนาแกรนด์ดุ๊กปอลคือบุคคลที่ขาดวิจารณญาณและไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะบริหารราชการแผ่นดินดังนั้นเพื่อเป็นการตอบโต้พระราชมารดา แกรนด์ดุ๊กปอลจึงใช้พระตำหนักที่กัตชีนา (Gatchina) ซึ่งอยู่ชานกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) เป็นแหล่งชุมนุมอย่างไม่เป็นทางการของผู้ต่อต้านซารีนา อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของกองทัพส่วนพระองค์ในฐานะพระยุพราช ซึ่งทหารจะแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหารปรัสเซียและอยู่ในระเบียบวินัยที่เคร่งครัด อันสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของพระองค์ที่มีต่อปรัสเซียซึ่งไม่แตกต่างจากซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ พระราชบิดาซึ่งเป็นโรคคลั่งปรัสเซีย (Prussophilia) และชื่นชมในพระเจ้าเฟรเดอริกที่ ๒ มหาราช (Frederick II the Great ค.ศ. ๑๗๔๐-๑๗๘๖) ที่สร้างความอัปยศให้แก่กองทัพรัสเซีย จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ ถูกเหล่าทหารร่วมกันปลงพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๗๖๒

 แกรนด์ดุ๊กปอลทรงอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเจ้าหญิงริลเฮลมีนาแห่งเฮสส์-ดาร์มชตัดท์ [Wilhelmina of Hesse-Darmstadt ต่อมาเปลี่ยนพระนามเป็นนาตาลยา อะเล็กเซเยฟนา (Natalya Alexeyevna)] ซึ่งสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๗๗๖ ขณะมีพระประสูติการ ในปีเดียวกันนั้นทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโซฟีอา โดโรเทอาแห่งเวือร์ท-เทมแบร์ก [Sophia Dorothea of Wurttemberg ต่อมา เปลี่ยนพระนามเป็นมาเรีย เฟโอโดรอฟนา (Maria Feodorovna)] ทรงมีพระโอรสและพระธิดารวมกัน ๑๐ พระองค์ (๘ พระองค์แรกประสูติในรัชสมัยซารีนาเอลิซาเบท) พระราชโอรส๒ พระองค์แรกคือ แกรนดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ [Alexander ประสูติ ค.ศ. ๑๗๗๗ ต่อมา เสด็จขึ้นครองราชย์ไนพระนามซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ (Alexander I ค.ศ. ๑๘๐๑-๑๘๒๕)*] และแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนติน (Constantine ประสูติ ค.ศ. ๑๗๗๙) ถูกซารีนาแคเทอรีนมหาราชนำไปอยู่ในพระอุปการะตั้งแต่เป็นทารก โดยทรงถือว่าทั้ง ๒ พระองค์เป็น“สมบัติของรัฐ” ซึ่งสร้างความไม่พอพระทัยแก่แกรนด์ดุ๊กปอลและทำให้พระองค์ทรงต่อต้านพระราชมารดามากยิ่งขึ้น

 การประสูติของพระโอรสและพระธิดาทั้ง๑๐ พระองค์ ดังกล่าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งของแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์และแกรนด์ดุ๊กคอนสแตนตินทำให้ฐานะรัชทายาทของแกรนด์ดุ๊กปอลขาดความมั่นคงยิ่งขึ้นเพราะในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนมหาราช พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๒๒ (Decree of 1722) ของซาร์ปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช ที่ให้อำนาจซาร์ (หรือซารีนา) ในการแต่งตั้งรัชทายาทยังมีผลในทางปฏิบัติยิ่งไปกว่านั้นซารีนาแคเทอรีนมหาราชก็มักแสดงให้ปรากฏบ่อยครั้งว่าพระองค์อาจจะไม่เลือกแกรนด์ดุ๊กปอลพระราชโอรสเป็นรัชทายาทและอาจข้ามสิทธิของพระราชโอรสไปยังแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ พระราชนัดดา นอกจากนี้ เมื่อซารีนาแคเทอรีนมหาราชทรงมีแผนการจะเข้ายึดดินแดนของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)* หรือตุรกีซึ่งอ่อนแอลงจนได้รับสมญานาม “คนป่วยแห่งยุโรป” (The Sick Man of Europe) และจัดตั้งจักรวรรดิกรีกขึ้นมาใหม่ตามนโยบายที่เรียกว่า “โครงการกรีก” (Greek Project) โดยตั้งพระทัยให้แกรนด์ดุ๊กคอนสแตนตินซึ่งเป็นชื่อพระราชทานแก่พระโอรสองค์ที่ ๒ ของแกรนด์ดุ๊กปอลได้ปกครองกรุงคอนสแตนติโนเปิล (มีนัยว่าจะเป็นประมุขร่วมสมัยกับแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์) ก็ยิ่งทำให้มองเห็นถึงบทบาทในอนาคตของพระราชนัดดาได้อย่างชัดเจนมากกว่าของแกรนด์ดุ๊กปอลพระราชโอรส

 ในบั้นปลายพระชนม์ชีพ ซารีนาแคเทอรีนมหาราชทรงมีพระสุขภาพเสื่อมโทรมและประชวรพระโรคไขข้ออักเสบทรงตั้งพระทัยที่จะตัดสิทธิการสืบราชบัลลังก์ของแกรนด์ดุ๊กปอลเพราะเกรงว่าพระราชโอรสจะลบล้างและทำลายผลงานตลอดจนนโยบายต่าง ๆ ของพระองค์ และจะทรงออกพระราชโองการอย่างเป็นทางการในวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๗ แต่ในวันที่ ๕ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๗๙๖ ซารีนาแคเทอรีนมหาราชก็ทรงประชวรเส้นพระโลหิตในสมองแตก ในคํ่าวันนั้นขณะที่ซารีนาทรงอยู่ในภาวะหมดพระสติขั้นรุนแรง (coma) และใกล้สวรรคต แกรนด์ดุ๊กปอลก็ทรงไปคันหาเอกสารส่วนพระองค์ของซารีนา ณ พระราชวังฤดูหนาวแม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนแต่นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปต่างเชื่อกันว่าแกรนด์ดุ๊กปอลน่าจะทำลายพระราชโองการแต่งตั้งองค์รัชทายาท (ข้ามสิทธิของแกรนด์ดุ๊กปอลไปยังแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์) ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญของซารีนาแคเทอรีนมหาราชในการกำหนดซาร์องค์ต่อไป

 หลังจากซาร์ปอลเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วพระราชภารกิจแรกเกี่ยวกับการต่างประเทศที่ทรงกระทำคือการออกพระราชโองการให้ถอนรัสเซียออกจากการร่วมมือกับประเทศสหพันธมิตรในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งขณะนั้นกองทัพรัสเซียซึ่งมีนายพลอะเล็กซานเดอร์ ซูโวรอฟ (Alexander Suvorov) เป็นแม่ทัพกำลังจะนำกองกำลังประมาณ ๖๐,๐๐๐ คนไปสมทบกับกองทัพออสเตรียในตอนเหนือของอิตาลีเพื่อสกัดกั้นการขยายอำนาจของฝรั่งเศสเข้าไปในอิตาลี ทำให้แผนการพิชิตกองทัพฝรั่งเศสของฝ่ายสหพันธมิตรล้มเหลวอีกทั้งพระองค์ยังทรงออกพระราชโองการให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้นจำนวน๑๐,๐๐๐ คนด้วย ส่วน“การตอบโต้” ซารีนาแคเทอรีนมหาราชพระราชมารดาซึ่งได้สวรรคตไปแล้วและเพื่อเป็นการระบายความเกลียดชังก็ให้นำพระศพของซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ พระราชบิดาที่พระราชมารดาทรงเกลียดชัง (ขณะเดียวกันพระราชบิดาก็เกลียดชังพระราชมารดาเช่นกัน) มาบรรจุไว้เคียงข้างพระศพพระราชมารดา ณ ฮอลออฟพิลลาร์ (Hall of Pillars) ในพระราชวังฤดูหนาวและให้จารึกคำอนุสรณ์ว่า “แยกกันเมื่อมีพระชนม์ชีพรวมกันเมื่อพระชนม์วาย” (Divided in life, united in death) ซึ่งทรงเห็นเป็นเรื่องขบขันก็สะท้อนให้เห็นพระนิสัยที่ขาดพระวิจารณญาณ ขันติธรรม และความเมตตาธรรมที่บุตรควรมีต่อบุพการีที่ล่วงลับไปแล้วนอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพยายามจะล้มล้างมาตรการและผลงานต่าง ๆ ของพระราชมารดา เช่นการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่มีพฤติกรรมเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและซารีนา การลดบทบาทของหน่วยทหารที่จงรักภักดีต่อซารีนาและหยามเกียรติโดยให้ชื่อเล่นว่า “หน่วยทหาร (ชาย) กระโปรงแคเทอริน” (Catherine′s Skirts) ตลอดจนการยกเลิกแผนการส่งทหารไปร่วมรบในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสและการทำสงครามกับพวกเปอร์เซียทางตะวันออก หรือแม้แต่การยกวังตาอูรีเด (Tauride Palace) ที่สวยงามในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กให้แก่หน่วยทหารม้าเพื่อใช้เป็นที่ตั้งของหน่วยงานและคอกม้าหลวงการกระทำดังกล่าวก็เพียงเพื่อเป็นการเย้ยหยันซารีนาแคเทอรีนมหาราชที่ทรงสร้างและพระราชทานนามวังดังกล่าวเพื่อเป็นเกียรติแด่เจ้าชายกรีกอรี อะเล็กซานโดรวิช โปเตมกิน (Grigory Alexandrovich Potemkin) ชู้รักคนสำคัญซึ่งได้รับสถาปนาเป็นเจ้าชายแห่งตาอูรีเดหลังจากเขาสามารถนำกองทัพรัสเซียรบชนะกองทัพตุรกีและทำให้รัสเซียสามารถผนวกคาบสมุทรไครเมีย

 อย่างไรก็ดี รัชสมัยชาร์ปอลก็เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ด้วย ซึ่งมีทั้งการปฏิรูปที่เป็นรสนิยมส่วนพระองค์เองและการปฏิรูปที่เกิดจากความปรารถนาของซาร์ปอลในการต่อต้านซารีนาแคเทอรีนมหาราช พระราชมารดา ได้มีการจัดทำสมุดคู่มือสำหรับทหารขึ้นมาใหม่ โดยเลียนแบบของกองทัพปรัสเซีย นายทหารถูกบังคับให้มีระเบียบวินัยมากขึ้นและต้องเข้าประจำการหรือเข้าเวรตลอดทั้งคืนในลานของกรมทหารด้วย แทนการ “ใส่ชุดราตรีสโมสรไปชมมหรสพหรืองานเฉลิมฉลองต่าง ๆ ดังที่เกิดขึ้นในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนมหาราช” ส่วนเครื่องแบบทหารก็เปลี่ยนเป็นแบบปรัสเซียมีการปรับปรุงการบริหารภายในของทหาร โดยแบ่งทหารออกเป็น ๑๑ ภาคและ ๗ กรมตรวจการปรับมาตรฐานการครองชีพและเงินเดือนของพลทหารให้สูงขึ้นเคร่งครัดต่อการเลื่อนยศและตำแหน่ง โดยผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสายบังคับบัญชาจะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถแทนที่จะเป็นบุคคลที่มาจากตระกูลขุนนาง ในระยะแรกของการปฏิรูปกองทัพนั้นได้มีนายทหารจำนวนมากที่ไม่คุ้นเคยกับกฎวินัยอันเข้มงวดขอลาออก ตัวอย่างเช่นกรมทหารม้ารักษาพระองค์ซึ่งมีนายทหารประจำการจำนวน๑๓๒ คนประมาณร้อยละ ๖๐-๗๐ ได้ขอลาออกหลังจากซาร์ปอลเสด็จขึ้นครองราชสมบัติได้เพียง ๓ สัปดาห์เท่านั้นซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ก็เกิดขึ้นกับหน่วยทหารอื่นๆ ด้วย ขณะเดียวกันการลาออกของนายทหารจำนวนมากดังกล่าวก็เป็นการเปิดโอกาสให้ทหารที่มียศตํ่ากว่าสามารถก้าวหน้าในหน้าที่ราชการได้เร็วขึ้นดังจะเห็นว่าทหารบางคนที่มียศจ่าแต่มีความสามารถก็ได้รับการสนับสนุนให้เลื่อนยศเป็นพลตรีภายในเวลาแค่ ๗ ปีเท่านั้นอย่างไรก็ตาม การปฏิรูปกองทัพก็ทำให้รัสเซียมีกองกำลังที่แข็งแกร่งขึ้นมีการเสริมสร้างกองทัพเรือให้มีประสิทธิภาพโดยซาร์ทรงให้สร้างเรือรบเพิ่มขึ้นหลังจากกิจการทหารเรือ ได้ซบเซาลงไปเป็นเวลานานก่อนหน้านี้ส่วนทหารบกก็มีการนำอาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่มาใช้ รวมทั้งการฝึกทหารด้วยวิธีการใหม่ตามยุทธวิธีที่ทันสมัยในขณะนั้นด้วย นอกจากนี้ ก็มีการจัดตั้งกระทรวงราชพัสดุ (Ministry of Appange ค.ศ. ๑๗๙๗) เพื่อดูแลทรัพย์สินที่ดินของพระราชวงศ์และกระทรวงพาณิชย์ (Ministry of Commerce ค.ศ. ๑๘๐๐) เพื่อควบคุมดูแลและส่งเสริมการค้าซึ่งนับว่าเป็นแม่แบบต่อการพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินของรัสเซียในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ด้วย

 ในระยะ ๔ ปีของรัชสมัยซาร์ปอล สภานิติบัญญัติรัสเซียได้ออกพระราชบัญญัติรวมทั้งสิ้น๒,๑๗๙ ฉบับ โดยเฉลี่ยประมาณ ๔๒ ฉบับต่อเดือนซึ่งมากกว่าในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนมหาราชที่เฉลี่ยประมาณ ๑๒ ฉบับต่อเดือนซึ่งรวมทั้งคำสั่งต่าง ๆ ในการควบคุมการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนรัสเซีย เช่นให้ทุกบ้านปิดไฟเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกา และประชาชนทุกคนในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กต้องเข้านอนภายในเวลา ๒๒.๐๐ นาฬิกาด้วย นอกจากนี้ ทุกคนจะต้องรับประทานอาหารมื้อเที่ยงในเวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา ห้ามเจ้าหน้าที่รัฐนั่งรถม้าปิดประทุนจะนั่งได้แต่รถม้าเปิดประทุนหรือเดินทางโดยการขี่ม้าเท่านั้นถ้าหากเผอิญมีขบวนเสด็จของชาร์ผ่านมา ผู้ชายทุกคนจะต้องลงจากรถม้าเพื่อแสดงความเคารพ หากใครไม่ปฏิบัติตามนี่จะถูกจับกุม ส่วนข้าราชสำนักที่แต่งกายไม่ถูกต้องแม้แต่มีช้องผมไม่เรียบร้อยก็อาจถูกขับให้ไปอยู่ในบ้านชนบทหรือถูกเนรเทศไปไซบีเรีย

 อย่างไรก็ดีในบรรดากฎหมายและคำสั่งต่าง ๆ ดังกล่าวพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗ (Decree of 1797) ว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์โดยให้สิทธิเฉพาะแก่พระราชวงศ์ฝ่ายชายที่เป็นพระราชโอรสองค์โต (primogeniture) ตามอย่างกฎหมายซาสิก (Salic Law) ที่นิยมใช้กันในประเทศยุโรปหลายประเทศ นับเป็นกฎหมายที่สำคัญที่สุด อีกทั้งยังเป็นการยกเลิกพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๒๒ ที่ซาร์ปีเตอร์มหาราชทรงกำหนดให้ซาร์มีพระราชอำนาจและสิทธิ์ขาดที่จะเลือกผู้หนึ่งผู้ใดในการสืบสันตติวงศ์ได้ และพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่นี่ยังให้ตัดสิทธิของพระราชธิดาและเชื้อสายของพระราชธิดาทั้งหมด ซึ่งเคยก่อให้เกิดความวุ่นวายในราชสำนักรัสเซียจนเกิดสมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒ ( ค.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๒) หรือการปฏิวัติวังหลวงที่พระราชวงศ์ต่างพยายามช่วงชิงอำนาจกันและเปิดโอกาสให้ขุนนางคนโปรดและชู้รักของประมุขเข้ามามีบทบาททางด้านการเมืองในรัสเซีย พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗ จึงนับเป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญที่สุดของซาร์ปอลเพราะทำให้รัสเซียมีระบบการสืบสันตติวงศ์ที่มั่นคง และทำให้ประเทศปลอดจากภาวะการช่วงชิงบัลลังก์ที่บั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลจนถึงสมัยที่ราชวงศ์โรมานอฟต้องสิ้นอำนาจเพราะการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ (October Revolution of 1917)*

 ส่วนในด้านนโยบายต่างประเทศซึ่งถือว่ามีความสำคัญเพราะเป็นช่วงสมัยที่เกิดสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นในต้นรัชกาล ซาร์ปอลทรงพยายามหลีกเลี่ยงสงครามกับฝรั่งเศสส่วนหนึ่งมาจากพระราชประสงค์ที่ต้องการล้มล้างคำสั่งต่าง ๆ ของซารีนาแคเทอรีนมหาราช พระราชมารดาและอีกประการหนึ่งเนื่องจากรัสเซียไม่อยู่ในภาวะพร้อมที่จะทำสงครามเพราะขาดแคลนงบประมาณทางด้านการทหารและทหารก็ขาดระเบียบวินัย อาวุธยุทโธปกรณ์ และการฝึกฝนที่เข้มงวด ส่วนตัวพระองค์เองแม้จะทรงสั่งล้มเลิกการส่งกองทัพรัสเซียไปรบในสงครามการปฏิวัติฝรั่งเศสแตกทรงต่อต้านการปฏิวัติฝรั่งเศสและอุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙ (French Revolution of 1789)* ทรงออกคำสั่งเซนเซอร์หนังสือต่าง ๆ ที่นำเสนอแนวคิดเสรีนิยมหรืออุดมการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสห้ามการแต่งกายเลียนแบบชาวปารีสที่เป็นพวกสาธารณรัฐนิยมที่ใส่หมวกทรงกลม รองเท้าหุ้มข้อสูง (top boot) และโดยเฉพาะการแต่งกายเลียนแบบพวกซองกูลอต (sans-cu-lottes) ที่นิยมหมวกสีแดง กางเกงขายาวและแขนเสื้อปล่อยชาย ผู้ที่ขัดคำสั่งจะถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กจะมีเจ้าหน้าที่จับตามองผู้ที่สวมใส่หมวกทรงกลมแล้วใช้ไม้เขี่ยให้หมวกหลุดจากคีรษะอย่างหยาบคายด้วย ทั้งยังห้ามชาวรัสเซียไม่ให้ใช้คำว่า “พลเมือง” (citizen) และ “สังคม” (society) อย่างเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นคำปลุกระดมของพวกปฏิวัติฝรั่งเศส

 อย่างไรก็ดี ในที่สุดใน ค.ศ. ๑๗๙๘ รัสเซียก็ตัดสินใจเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศสโดยร่วมมือเป็นพันธมิตรกับกองทัพตุรกีในระยะเวลาสั้นๆ ต่อด้านการขยายตัวของฝรั่งเศสในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งจะเป็นภัยต่อการค้าของรัสเซียที่กำลังขยายตัวในทะเลดำ กองเรือร่วมของรัสเซียและตุรกีซึ่งมีนายพลเรือเฟโอดอร์ อูชาคอฟ (Feodor Ushakov) เป็นแม่ทัพสามารถขับไล่ฝรั่งเศสจากการยึดครองหมู่เกาะไอโอเนียน (Ionian Islands) ได้ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๙๙ รัสเซียก็เข้าร่วมกับกองทัพของสหพันธมิตรที่ประกอบด้วยอังกฤษ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์ต่อสู้กับฝรั่งเศสที่เข้ารุกรานดินแดนอิตาลีตอนเหนือ ทั้งนี้โดยกองทัพรัสเซียมีนายพลอะเล็กซานเดอร์ ซูโวรอฟเป็นแม่ทัพ กองทัพรัสเซียประสบความสำเร็จอย่างงดงามและสามารถยึดดินแดนอิตาลีตอนเหนือคืนจากการยึดครองของฝรั่งเศสได้ แต่ขณะเดียวกันความสำเร็จของนายพลซูโวรอฟก็สร้างความอิจฉาให้แก่ออสเตรียเป็นอันมากและทำให้กองทัพออสเตรียยุติการสนับสนุนนายพลซูโวรอฟจนต้องถอนกองกำลังรัสเซียออกจากอิตาลี ส่วนซาร์ปอลทรงผิดหวังกับออสเตรียที่พยายามจะขยายอำนาจของออสเตรียเข้าไปครอบครองดินแดนอิตาลีตอนเหนือแทนที่จะฟื้นฟูอำนาจของผู้ปกครองเดิม ดังนั้นหลังจากนายพลซูโวรอฟได้นำทัพรัสเซียกลับถึงดินแดนปิตุภูมิความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ในการต่อต้านฝรั่งเศสจึงสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว

 ในปลาย ค.ศ. ๑๗๙๙ เมื่อนายพลนโปเลียน โบนาปาร์ต [(Napoleon Bonaparte)* ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I ค.ศ. ๑๘๐๔-๑๘๑๕)*] ก่อรัฐประหารเดือนบรูแมร์ (Coup d’Etat Brumaire)* ล้มอำนาจการปกครองคณะกรรมการอำนวยการ (Directory ค.ศ. ๑๗๙๕-๑๗๙๙)* และจัดตั้งการปกครองเป็นระบบกงสุล (Consulate System ค.ศ. ๑๗๙๙-๑๘๐๔)* โดยดำรงตำแหน่งกงสุลที่ ๑ (First Consul) ปกครองฝรั่งเศสความคิดในการต่อต้านฝรั่งเศสของชาร์ปอลก็เริ่มเปลี่ยนไปด้วย สำหรับซาร์ปอล นโปเลียนมีใช่ทายาทของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่รัสเซียจะต้องต่อต้านอีกต่อไปในทางตรงกันข้าม นโปเลียนคือจอมทัพนักรบที่เก่งกล้าสามารถและเป็น“วีรบุรุษ” ของพระองค์เหมือนกับที่พระเจ้าเฟรเดอริกมหาราชทรงเป็นวีรบุรุษของซาร์ปีเตอร์ที่ ๓ พระราชบิดาความชื่นชมเป็นการส่วนพระองค์ดังกล่าวทำให้ทรงเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศของรัสเซียที่มีต่อฝรั่งเศสอย่างสิ้นเชิงโดยหันไปฟื้นสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสและต่อต้านอังกฤษแทนอย่างไรก็ตาม การต่อต้านอังกฤษอาจเป็นการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการทูต เพราะอังกฤษเองก็เริ่มหวาดวิตกที่เห็นกองทัพรัสเซียยกเข้าไปยังยุโรปตะวันตกและกองทัพเรือของรัสเซียก็เริ่มขยายตัวจนอาจเป็นภัยต่ออังกฤษในทะเลบอลติกและทะเลดำได้ อีกทั้งยังรุกลํ้าเข้าไปในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่อังกฤษถือว่าเป็นเส้นชีวิตของการค้าแต่พวกขุนนางรัสเซียโดยทั่วไปก็ยังต้องการให้รัสเซียดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับอังกฤษต่อไป ส่วนชาร์ปอลกลับทรงมีนโยบายสนับสนุนฝรั่งเศสโดยส่งกองทหารคอสแซค (Cossack)* หน่วยต่าง ๆ ให้ไปรวมกันที่ทำงทิศตะวันตกเฉียงใต้ของไซบีเรียเพื่อเคลื่อนทัพบุกอินเดียซึ่งเป็นอาณานิคมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของอังกฤษ ปฏิบัติการดังกล่าวนับว่าเป็นภยันตรายต่อรัสเซียอย่างยิ่งและหวังที่จะเอาชนะได้ยาก ส่วนกองกำลังรัสเซียก็ไม่อยู่ในภาวะพร้อมที่จะทำสงครามกับอังกฤษ อีกทั้งจะเป็นการยุทธ์ที่ไม่ก่อประโยชน์ใด ๆ ให้แก่รัสเซียอีกด้วย

 ดังนั้นพระนิสัยที่มุทะลุและพระทัยที่โลเล กอปรกับความหลงใหลในความสำคัญของตัวเองอย่างสูง (egomania) จนเคยตรัสว่า “ไม่มีบุคคลใดในรัสเซียที่มีความสำคัญ เว้นแต่บุคคลนั้นกำลังพูดอยู่กับข้าพเจ้าและความสำคัญของบุคคลนั้นก็บังเกิดขึ้นชั่วขณะที่เขากำลังพูดอยู่เท่านั้น” จึงทำให้ซาร์ปอลไม่เป็นที่ชื้นชอบของบุคคลใกล้ชิด และโดยเฉพาะชนชั้นขุนนางที่กำลังถูกข่มเหงและลิดรอนอภิสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ได้รับในรัชสมัยซารีนาแคเทอรีนมหาราช ในคืนระหว่าง วันที่ ๑๑-๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๘๐๑ นายทหารราชองครักษ์และข้าราชสำนักที่เป็นคนสนิทใกล้ชิดของซาร์ปอลจำนวนหนึ่ง ที่มีอาการมึนเมา ได้บุกเข้าห้องบรรทมเพื่อปลงพระชนม์โดยมีเคานต์ปีเตอร์ ปาเลน (Peter Pahlen) ผู้บัญชาการทหารแห่งกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเป็นผู้วางแผนซาร์ปอลเสด็จสวรรคตอย่างอเนจอนาถด้วยคมดาบขณะมีพระชนมายุ ๔๖ พรรษา

 ราชสำนักรัสเซียได้ออกแถลงการณ์ว่าซาร์ปอลเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการประชวรพระวาโย (apoplexy) และแกรนด์ดุ๊กอะเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสองค์โตก็ได้รับอัญเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นซาร์องค์ใหม่ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗ แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงล่วงรู้ในแผนลอบปลงพระชนม์พระราชบิดา แต่พระองค์ก็ทรงอยู่ในภาวะรู้สึกผิดและหวาดกลัวเป็นเวลาหลายปีว่าจะประสบกับชะตากรรมเช่นเดียวกับพระราชบิดา ซึ่งมีผลต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในด้านการปกครองในช่วงต้นของรัชกาลที่มีลักษณะอะลุ้มอล่วยระหว่างซาร์กับทหารและกับประชาชนตลอดจนการดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่เป็นศัตรูกับฝรั่งเศสและนำรัสเซียเข้าสู่สงครามกับฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว.



คำตั้ง
Paul
คำเทียบ
ซาร์ปอล
คำสำคัญ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๗๘๙
- คณะกรรมการอำนวยการ
- คอสแซค
- โครงการกรีก
- ซูโวรอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- โบนาปาร์ต, นโปเลียน
- ปาเลน, เคานต์ปีเตอร์
- โปเตมกิน, เจ้าชายกรีกอรี อะเล็กซานโดรวิช
- พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๒๒
- พระราชกฤษฎีกา ค.ศ. ๑๗๙๗
- มาเรีย เฟโอโดรอฟนา
- ยุคปฏิวัติวังหลวง
- ระบบกงสุล
- รัฐประหารเดือนบรูแมร์
- สงครามการปฏิวัติฝรั่งเศส
- สมัยแห่งความยุ่งยาก
- สมัยแห่งความยุ่งยากครั้งที่ ๒
- อูชาคอฟ, เฟโอดอร์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1754-1801
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๒๙๗-๒๓๔๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-