Ostpolitik

นโยบายมุ่งตะวันออก

​​​     ​​นโยบายมุ่งตะวันออกเป็นนโยบายต่างประเทศของวิลลี บรันดท์ (Willy Brandt)* นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันตก เพื่อปรับความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (Democratic Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันออกและประเทศยุโรปตะวันออก เป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเมืองและการทูตจากนโยบายมุ่งตะวันตกและ หลักการฮัลชไตน์ (Hallstein Doctrine)* ในสมัยของ คอนราด อาเดเนาร์ (Konrad Adenaur)* นายกรัฐมนตรีคนแรกของเยอรมนีตะวันตกมาเป็นนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกให้มากขึ้นโดยใช้หลักการเปลี่ยนแปลงด้วยการหันหน้าเข้าหากัน เพื่อแก้ไขปัญหาเยอรมนีและการผ่อนคลายความตึงเครียดในสงครามเย็น (Cold War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๙-๑๙๘๙ นโยบายมุ่งตะวันออกก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับประเทศในยุโรปตะวันออกที่เป็นสมาชิกกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Treaty Organization - WTO)* โดยมุ่งเน้นที่เยอรมนีตะวันออก และมีส่วนช่วยให้เกิดการรวมเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เมื่อสงครามเย็นยุติลงนโยบายมุ่งตะวันออกก็หมดความ หมายไปโดยปริยาย
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* สิ้นสุดลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เป็นที่ยอมรับกันโดย ไม่มีข้อแม้ว่ายุโรปกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามเย็นและ ต้องถูกกางกั้นด้วยม่านเหล็ก (iron curtain) ที่แบ่งแยกยุโรปตะวันตกออกจากยุโรปตะวันออก เป็นการเปลี่ยน แปลงศูนย์อำนาจที่ มีมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมที่ยิ่งใหญ่ (Great Triangle) คือศูนย์ยุโรปตะวันตก ซึ่งมีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นแกนนำ ศูนย์ยุโรปกลาง ซึ่งมีเยอรมนีเป็นแกนนำ และศูนย์ยุโรปตะวันออก ซึ่งมีรัสเซียหรือสหภาพโซเวียตเป็นแกนนำ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีศูนย์อำนาจเหลือเพียง ๒ ศูนย์ที่มีประเทศอภิมหาอำนาจเป็นผู้นำ คือศูนย์ยุโรปตะวันตก ซึ่งผู้นำเป็นประเทศนอกเขตยุโรป คือสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำกลุ่มประเทศองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* และศูนย์ยุโรปตะวันออกซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำกลุ่มองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ สำหรับเยอรมนีในฐานะเป็นประเทศแพ้สงครามต้องถูกแบ่งแยกเป็นเยอรมนีตะวันตกรวมอยู่กับกลุ่มนาโต และเยอรมนีตะวันออกรวมอยู่กับกลุ่มประเทศองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ กรุงเบอร์ลินนครหลวงของเยอรมนีเดิมก็ถูกแบ่งแยกเป็นเบอร์ลินตะวันตกและเบอร์ลินตะวันออก โดยเบอร์ลินตะวันตกแบ่งเป็น ๓ เขตยึดครองภายใต้การกำกับดูแลของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ขณะที่เบอร์ลินตะวันออกอยู่ในความดูแลของสหภาพโซเวียต
     การแบ่งแยกเยอรมนี การแบ่งแยกนครเบอร์ลินและการแบ่งแยกยุโรปได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในการเมืองระหว่างประเทศของยุโรปในยุคสงครามเย็น การเผชิญหน้าและการคุมเชิงระหว่างศูนย์อำนาจสร้างความตึงเครียดให้แก่ยุโรป ประกอบกับเมื่อการแข่งขันทางการเมือง การทหาร และการสั่งสมกำลังอาวุธนิวเคลียร์และขีปนาวุธที่มีความเข้มข้นรุนแรงก็ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ กลุ่มอำนาจเปราะบางและเป็นอันตรายร้ายแรงต่อเสถียรภาพของยุโรป แม้จะไม่มีประเทศใดประสงค์ให้เกิดสงครามอีกครั้ง แต่สันติภาพที่มีอยู่ก็เป็นสันติภาพที่ร้อนระอุเป็นอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตต่างก็ตระหนักในความเสี่ยงของการเผชิญหน้าที่อาจทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ที่ทำลายล้าง ทุกอย่างลงอย่างสิ้นเชิง จึงพยายามหลีกเลี่ยงนโยบายที่แข็งกร้าวจนเกินไปและหันมาใช้นโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียด (détente)* เป็นระยะ ๆ ดังจะเห็นได้จากท่าทีของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) แห่งสหรัฐอเมริกาที่มีต่อวิกฤตการณ์เบอร์ลิน (Berlin Crisis) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๑-๑๙๖๓ หรือการประกาศนโยบายของประธานาธิบดีริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน (Richard M. Nixon) เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๖๙ ว่ายุคแห่งการเผชิญหน้าในสงครามเย็นกำลังจะเปลี่ยนเป็น "ยุคแห่งการเจรจา" ขณะที่นีกีตา เซียร์เกเยวิช ครุชชอฟ (Nikita Sergeyevich Khrushchev)* ผู้นำสหภาพโซเวียตก่อนหน้านั้นก็เคยประกาศหลักการการอยู่ร่วมกันโดยสันติ (Peaceful Co-existence) เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องทำสงครามกัน ส่วนเยอรมนีตะวันตกก็ได้มีท่าทีผ่อนปรนด้วยการปรับความสัมพันธ์กับประเทศในยุโรปตะวันออกมากขึ้นในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ โดยพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับเยอรมนีตะวันออกและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกในระดับต่าง ๆ แต่ความพยายามดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลที่เป็นรูปธรรมเนื่องจากท่าทีและนโยบายส่วนใหญ่ยังคง ตั้งใจให้เกิดความคลุมเครืออยู่มาก
     ปัญหานครเบอร์ลินและการแบ่งเยอรมนีเป็น ๒ รัฐทำให้ผู้นำศูนย์อำนาจทั้งสองต้องปรับนโยบายต่าง ประเทศและกำหนดท่าทีต่อกันใหม่ กล่าวคือ นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade ค.ศ. ๑๙๔๘-๑๙๔๙)* เป็นต้นมา เบอร์ลินถูกแบ่งแยกให้ตกอยู่ใต้การปกครองของประเทศที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองการปกครองต่างกันเป็น ๒ ระบบและ ๒ วิถีชีวิต และนำไปสู่การเกิดปัญหาอพยพโยกย้ายข้ามถิ่นที่อยู่จากเบอร์ลินตะวันออกสู่เบอร์ลินตะวันตก ทั้งบ่อยครั้งก็มีการอพยพจากเบอร์ลินตะวันตกสู่เยอรมนีตะวันตกซึ่งอยู่ไกลออกไปด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ สหภาพโซเวียตยื่นคำขาดให้สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสถอนตัวจากเบอร์ลินตะวันตกภายใน ๖ เดือน เพื่อให้ เบอร์ลินเป็น "เสรีนคร" (free city) ที่เป็นเขตปลอดทหาร สหภาพโซเวียตแสดงท่าทีให้ประเทศตะวันตกเห็นว่าพร้อมที่จะทำสนธิสัญญากับเยอรมนีตะวันออกเพื่อรับรองสถานภาพของประเทศทั้งยังจะยกเลิกสิทธิการยึดครองเบอร์ลินตะวันออก และการควบคุมเส้นทางคมนาคมติดต่อในและนอกเขตเบอร์ลินตะวันออกให้อยู่ในการควบคุมของเยอรมนีตะวันออกด้วย
     การยื่นคำขาดของสหภาพโซเวียตได้สร้างวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศขึ้น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศสจึงจัดประชุมเพื่อพิจารณาปัญหาเบอร์ลินระหว่างวันที่ ๑๑ พฤษภาคม - ๒๐ มิถุนายน และ ๑๓ กรกฎาคม - ๒๐สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๕๙ ในระยะแรกสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแสดงท่าทีที่ต้องการจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าถึงขั้นแตกหักกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับปัญหาเบอร์ลินซึ่งทำให้วิลลี บรันดท์ นายก เทศมนตรีของเบอร์ลินตะวันตกในขณะนั้นผิดหวังอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา ประเทศมหาอำนาตะวันตกก็มีมติยืนยันสิทธิของตนในการเดินทางเข้า-ออก นครเบอร์ลินตะวันตกและปฏิเสธที่จะรับรองสถานภาพของเยอรมนีตะวันออก สหภาพโซเวียตซึ่งในเวลานั้นกำลังมีปัญหาขัดแย้งกับสาธารณรัฐประชาชนจีนกลับแสดงท่าทีโอนอ่อนโดยแถลงว่าจะยอมเลื่อนเวลาการทำสนธิสัญญากับเยอรมนีตะวันออกไปอีกระยะหนึ่ง
     ในกลาง ค.ศ. ๑๙๖๑ มีการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศมหาอำนาจที่กรุงเวียนนาว่าด้วยการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ ครุชชอฟจึงถือโอกาสหยิบยกปัญหาเบอร์ลินที่เคยเรียกร้องใน ค.ศ. ๑๙๕๘ และยื่นคำขาดให้ประธานาธิบดีเคนเนดีผู้นำสหรัฐอเมริกาพิจารณา


อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ดี โดยไม่รอคำตอบภายในกรอบเวลา ๖ เดือนที่กำหนด ในเช้าวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ ชาวเบอร์ลินตะวันตกก็ต้องตกใจและสะเทือนใจเมื่อตื่นขึ้นมาเห็นรั้วลวดหนามกั้นเขตแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตกกับเบอร์ลินตะวันออก ทั้งยังได้เห็นรั้วปิดกั้นโดยรอบเบอร์ลินทั้งเมือง เมื่อเวลาผ่านไปรั้วลวดหนามได้ถูกแทนที่ด้วยกำแพงคอนกรีตพร้อมทั้งมีการฝังระเบิดไว้เป็นระยะ ๆ ตามแนวกำแพงและมีสุนัขเฝ้าเวรยามด้วย สัญลักษณ์แห่งการแบ่งแยกเบอร์ลินโดยเด็ดขาดเช่นนี้น่าที่จะได้รับการตอบโต้อย่างชัดเจนและโดยทันทีจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกที่ควบคุมดูแลเขตปกครองของตนในเบอร์ลินตะวันตก แต่ก็ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ในวันที่ ๑๓ สิงหาคมประธานาธิบดีเคนเนดีไปพักผ่อนแล่นเรือใบขณะที่ดีน รัสก์ (Dean Rusk) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปดูเบสบอล ในส่วนของอังกฤษและฝรั่งเศสทุกอย่างก็ดูสงบเงียบ จนอีก ๔๘ ชั่วโมงต่อมาจึงมีหนังสือประท้วงสหภาพโซเวียตจากพันธมิตรตะวันตก ๓ ประเทศ แต่คำประท้วงก็ไม่หนักแน่นและไม่ส่งผลใด ๆ มีก็แต่ชาวเยอรมันตะวันตกที่ ผิดหวังและเสียใจ ต่อการเกิดขึ้นของกำแพงเบอร์ลิน (Berlin Wall)* และท่าทีที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นของมิตรประเทศ  ทำให้เยอรมนีตะวันตกรู้สึกโดดเดี่ยว ในสภาพการณ์เช่นนี้บรันดท์ได้กล่าวในเวลาต่อมาว่าเป็นจุดเริ่มต้นของแนวความคิดนโยบายมุ่งตะวันออกของเขา
     วิกฤตการณ์กำแพงเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๙๖๑ ทำให้บรันดท์และเอกอน บาร์ (Egon Bahr) ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์และผู้ดูแลงานด้านสารนิเทศซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าคณะที่ปรึกษาฝ่ายนโยบายต่างประเทศของบรันดท์ เชื่อว่าปัญหาเบอร์ลินและปัญหาเยอรมันจะสามารถแก้ไขได้ก็โดยชาวเยอรมันเท่านั้น เยอรมนีตะวันตกจึงควรเป็นแกนนำในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์กับทั้งเยอรมนีตะวันออกและกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งทั้งนี้จะต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตด้วย ในการประชุมใหญ่ของสถาบันโปรเตสแตนต์ที่เมืองทุทซิง (Tutsing) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ ทั้งบรันดท์และบาร์ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับทิศทางใหม่ของนโยบายต่าง ประเทศเยอรมันโดยให้เริ่มจากข้อสมมติฐานที่ว่าจุดเริ่มต้นของความหายนะของยุโรปมาจากการเข้ายึดครองอำนาจของพรรคนาซีในเยอรมนีนับจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ก้าวสู่อำนาจทางการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๓๓ เป็นต้นมา และตามด้วยการสร้างปัญหามากมายให้แก่ยุโรปซึ่งเป็นสิ่งที่ ทุกคนต้องยอมรับว่าเกิดขึ้นจริงและเป็นเช่นนั้นจริง ในความพยายามแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นและอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วย "นโยบายก้าวเดินทีละขั้นเล็กๆ" (policy of small steps) เมื่อลุดวิก แอร์ฮาร์ด (Ludwig Erhard)* นายก รัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกเริ่มปรับปรุงความสัมพันธ์กับประเทศยุโรปตะวันออก บรันดท์ในฐานะนายกเทศมนตรีเบอร์ลินตะวันตกได้นำแนวความคิดการมุ่งตะวันออกมาปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ในเดือน ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๖๓ เขาประสบความสำเร็จในการทำความตกลงที่เรียกว่า Permit Agreement กับเยอรมนีตะวันออก โดยเยอรมนีตะวันออกยอมอนุญาตให้ชาวเยอรมันในเบอร์ลินตะวันตกเดินทางผ่านเข้าออกเบอร์ลินตะวันออกได้สะดวกขึ้น และหลังจากนั้นก็ยอมให้สิทธิ พิเศษแก่ประชาชนในเยอรมนีตะวันตกไม่ว่าเชื้อชาติใดสามารถเดินทางผ่านเขตแดนของเยอรมนีตะวันออกเข้าสู่เบอร์ลินได้ด้วย จึงนับเป็นการเริ่มต้นก้าวเล็กๆที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน
     ใน ค.ศ. ๑๙๖๕ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* ได้เสนอชื่อบรันดท์แข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรีบรันดท์ใช้นโยบายมุ่งตะวันออกเป็นนโยบายหลักในการรณรงค์หาเสียง แม้เขาจะไม่ได้รับเลือกตั้งแต่ พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่เขาสังกัดก็ได้เข้าร่วมในรัฐบาลผสม เขาจึงดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบคู่กับการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่าง ค.ศ. ๑๙๖๖-๑๙๖๙ ซึ่งเปิดโอกาสให้เขาได้วางรากฐานของนโยบายมุ่งตะวันออกอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นตอน เมื่อบรันดท์ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีใน ค.ศ. ๑๙๖๙ เขาจึงพร้อมที่จะนำนโยบายมุ่งตะวันออกมาปฏิบัติได้ในเวลาอันรวดเร็วบรันดท์เป็นผู้นำเยอรมนีตะวันตกคนแรกที่ยอมรับ (แม้จะไม่เต็มใจนัก) ผลจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั่นคือ การสูญเสียดินแดน การแบ่งแยกประเทศและโดยเฉพาะความรับผิดชอบทางศีลธรรมต่อการกระทำที่ทำให้ผู้อื่นเกิดความเสียหายและการสูญเสียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เขาขอให้ชาวเยอรมันยอมรับความเป็นจริงและความจำเป็นที่เยอรมนีตะวันตกจะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แต่ขณะเดียวกันเยอรมนีตะวันตกก็มีความ จำเป็นต้องเป็นอิสระและเชื่อมั่นในตนเองพอที่จะหันไปมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศในยุโรปตะวันออกด้วยการยอมรับการแบ่งเขตแดนและระบอบการปกครองที่เป็นอยู่โดยปราศจากอคติสำหรับเยอรมนีตะวันออกและเบอร์ลินนั้น บรันดท์ได้เรียกร้องให้ประชาชนยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ว่าการแบ่งแยกเป็นเรื่องจริงชาวเยอรมันควรต้องยอมรับสถานะของเยอรมนีว่ามี "สองรัฐในหนึ่งประเทศ" (two states in one nation) การยอมรับในเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำนโยบายมุ่งตะวันออกไปปฏิบัติให้เกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๗๐-๑๙๗๑ บรันดท์ประสบความสำเร็จในการทำสนธิสัญญาหลายฉบับ มีการลงนามในสนธิสัญญามอสโก (Treaty of Moscow) ระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๗๐ โดยทั้ง ๒ ประเทศตกลงที่จะเป็นไมตรีต่อกันและประณามการใช้กำลังในการแก้ปัญหารวมทั้งยอมรับบทบาทของชาติมหาอำนาจในเยอรมนีเยอรมนีตะวันตกก็จะไม่เรียกร้องดินแดนที่เคยเสียไปกลับคืนทั้งยังยอมรับการแบ่งเขตแดนระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับโปแลนด์และกับเยอรมนีตะวันออกตามที่เป็นอยู่ขณะนั้น แต่เยอรมนีตะวันตกก็ขอไม่ให้ความตกลงใด ๆ มากีดกั้นการรวมเยอรมันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต สนธิสัญญามอสโกชี้ให้เห็นถึงการมีบทบาทสำคัญของสหภาพโซเวียตในการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกด้วย เพราะต่อมาในเดือนธันวาคมเยอรมนีตะวันตกก็สามารถทำให้โปแลนด์ลงนามในสนธิสัญญาวอร์ซอ (Treaty of Warsaw) ค.ศ. ๑๙๗๐ ซึ่งมีสาระสำคัญคล้ายคลึงกับสนธิสัญญามอสโกแต่เพิ่มความตกลงในส่วนของโปแลนด์ที่อนุญาตให้คนเชื้อสายเยอรมันที่อาศัยอยู่ในโปแลนด์สามารถอพยพไปอยู่ในเยอรมนีตะวันตกได้ ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๗๑ เยอรมนีตะวันตกก็ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมสี่มหาอำนาจที่ปกครองเบอร์ลิน และทำให้มีการลงนามในความตกลงสี่มหาอำนาจ (Four-Power Agreement) เกี่ยวกับสถานภาพของเบอร์ลิน สหภาพโซเวียตได้ให้หลักประกันว่าการเดินทางเข้าออกเบอร์ลินตะวันตกจะไม่เกิดปัญหาอีกต่อไป และความสัมพันธ์ระหว่างเบอร์ลินตะวันตกกับเยอรมนีตะวันตกก็ดำรงอยู่ตามความเป็นจริง แต่เบอร์ลินตะวันตกจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก และไม่อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนีตะวันตก ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๑ รัฐบาลเบอร์ลินตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกได้ร่วมลงนาม ในความตกลงว่าด้วยการสัญจรระหว่างรัฐ (Transit Agreement) ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุมสี่มหาอำนาจเพื่อกำหนดมาตรการการสัญจรไปมาระหว่างประชาชนในเยอรมนีตะวันตกกับเบอร์ลินตะวันตกและระหว่างเบอร์ลิน ๒ เขต รวมทั้งระหว่างเบอร์ลินตะวันตกกับเยอรมนีตะวันออก และระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกด้วย จึงนับเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาเบอร์ลินได้ในระดับหนึ่ง
     ความสำเร็จในการปรับปรุงสัมพันธภาพระหว่างตะวันตกกับตะวันออกอย่างโดดเด่นในช่วงเวลาอันสั้นทำให้บรันดท์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพใน ค.ศ. ๑๙๗๑ และในการเลือกตั้ง ค.ศ. ๑๙๗๒ บรันดท์ก็ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย เขาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่งโดยประชาชนให้การสนับสนุนและแสดงความมั่นใจในนโยบายมุ่งตะวันออกของเขาอย่างชัดเจน ทำให้เขามีกำลังใจที่จะดำเนินการตามนโยบายนี้ต่อไป ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๒ มีการลงนามในสนธิสัญญาพื้นฐาน (Basic Treaty) ระหว่างเยอรมนีตะวันตกกับตะวันออกเป็นครั้งแรก โดยทั้ง ๒ ฝ่ายตกลงที่จะสร้าง ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาค เอกราช และความเป็นอธิปไตย รวมทั้งตกลงที่จะแลกเปลี่ยนผู้แทนถาวรซึ่งจะประจำการอยู่ ณ กรุงบอนน์ (Bonn) ในกรณีของเยอรมนีตะวันออกและกรุงเบอร์ลินตะวันออกในกรณีของเยอรมนีตะวันตก ทั้ง ๒ ฝ่ายยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างรัฐทั้งสองตามที่เป็นอยู่จริง แม้จะถูกคัดค้านจากหลายฝ่ายที่เกรงว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการรวมประเทศเยอรมนีในอนาคต แต่ท้ายที่สุดสภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีตะวันตกก็ได้ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาฉบับดังกล่าว มีผลให้ทั้งเยอรมนีตะวันตกและตะวันออกได้เป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations)* ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๓
     ในบรรดาประเทศยุโรปตะวันออก บรันดท์ ประสบความลำบากใจกับเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia)* มากที่สุด ทั้งนี้เพราะปัญหาการแบ่งดินแดนตามความตกลงมิวนิก (Munich Agreement ค.ศ. ๑๙๓๘)* ที่ประเทศทั้งสองจำเป็นต้องนำมาศึกษาทบทวนเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสถานการณ์หลังสงครามจน สามารถบรรลุความเข้าใจร่วมกันได้ว่าความตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป ยกเว้นประเด็นปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับดินแดนที่ถูกยึดครอง ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๕ ซึ่งจะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งสองประเทศจึงร่วมลงนามในสนธิสัญญาปราก (Treaty of Prague) ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๓ สาระสำคัญของสนธิสัญญาดังกล่าวเหมือนกับสนธิสัญญาวอร์ซอ หลังจากนั้นไม่นาน เยอรมนีตะวันตกก็สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮังการีและบัลแกเรียด้วย
     นโยบายมุ่งตะวันออกไม่ได้หมายเฉพาะเรื่องการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งสหภาพโซเวียตกับกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกเท่านั้น หากยังรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดีนิกสันด้วยนิกสันและคณะที่ปรึกษาซึ่งยอมรับความสำคัญของนโยบายมุ่งตะวันออกเห็นว่า บรันดท์มีความแตกต่างจากอาเดเนาร์ในนโยบายมุ่งตะวันตก (Westpolitik) ในประการสำคัญคือ เขาไม่มีความผูกพันแนบแน่นกับประเทศพันธมิตรนาโต แต่ประเทศมหาอำนาจก็ไม่อาจเพิกเฉยต่อเยอรมนีตะวันตกภายใต้การนำของบรันดท์ได้ เพราะประเทศนี้จะมีบทบาทสำคัญรองจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในการทำให้สถานภาพเดิมในยุโรปเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหากเยอรมนีตะวันตกตัดสินใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อการรวมเยอรมนี รัฐบาล นิกสันจึงสนับสนุนการเจรจาโดยตรงกับสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับปัญหาเยอรมันและปัญหาความมั่นคงของยุโรปทั้งยังสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญานาโตสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศยุโรปตะวันออกเช่นเดียวกับที่เยอรมนีตะวันตกได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การที่นโยบายมุ่งตะวันออกได้รับการสนับสนุนจากอภิมหาอำนาจทำให้บรันดท์มีกำลังใจที่จะขับเคลื่อนนโยบายของเขาให้ก้าวหน้าตามขั้นตอนที่วางไว้ต่อไปแต่การประกาศลาออกจากตำแหน่งของบรันดท์อย่าง กะทันหันในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๗๔ ที่สืบเนื่องจากการที่กุนเทอร์ กีโยม (Guenter Guillaume) ผู้ช่วยส่วนตัวคนหนึ่งของเขาเป็นสายลับให้กับเยอรมนีตะวันออกก็มีผลต่อแนวนโยบายต่างประเทศของเยอรมนี ตะวันตก
     แม้การเปลี่ยนผู้นำจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายมุ่งตะวันออกในประเด็นการติดตามผลของ นโยบายหลังการนำไปปฏิบัติ แต่ผู้นำของเยอรมนีตะวันตกที่สืบต่อมาก็พยายามสานต่อนโยบายเท่าที่ จะทำได้ระหว่างทศวรรษ ๑๙๗๐-๑๙๘๐ ได้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่ความไม่สงบสุขในหลายพื้นที่ของยุโรปตะวันออกรวมทั้งในเบอร์ลินตะวันออกด้วย สหภาพโซเวียตต้องส่งกำลังทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ซึ่งบางครั้งก็เกิดเป็นความรุนแรงและการกดขี่ข่มเหงประชาชนอย่างไรก็ตาม ด้วยอานิสงส์ของนโยบายมุ่งตะวันออกสนธิสัญญาที่เยอรมนีทำไว้กับประเทศในยุโรปตะวันออกเกี่ยวกับสิทธิการอพยพของคนเชื้อสายเยอรมันไปเยอรมนีตะวันตกจึงเปิดทางให้เกิดการอพยพครั้งใหญ่ จำนวนผู้อพยพเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจในแต่ละปีใน ค.ศ. ๑๙๘๖ มี ๔๐,๐๐๐ คน ค.ศ. ๑๙๘๗ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๐,๐๐๐ คน ค.ศ. ๑๙๘๘ เป็น ๒๐๐,๐๐๐ คน และหลังจากมีนโยบายใหม่ในโปแลนด์และสหภาพโซเวียตเกี่ยวกับการอพยพที่สืบเนื่องจากการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙ (Revolution of 1989)* ทำให้มีผู้อพยพใน ค.ศ. ๑๙๘๙ เพิ่มเป็น ๓๗๗,๐๐๐ คน และใน ค.ศ. ๑๙๙๐ เป็น ๔๐๐,๐๐๐ คน การทะลักเข้าเมืองของผู้อพยพจำนวนกว่า ๑ ล้านคนภายในระยะเวลา ๕ ปี สร้างความหวั่นวิตกให้กับชาวเยอรมันตะวันตกเป็นอย่างยิ่ง แม้รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการออกวีซ่า (visa) เข้าเมือง แต่ก็เทียบไม่ได้กับภาระของรัฐที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในด้านการจัดหางานและสวัสดิการต่าง ๆ
     นักประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งยังเห็นว่านโยบายมุ่งตะวันออกหมายรวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม วิทยาการสมัยใหม่ การท่องเที่ยวและกีฬา และการพัฒนาด้านต่าง ๆ รวมทั้งการปฏิรูปการเมืองและสังคม ซึ่งทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างกันด้วย อาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่เยอรมนีตะวันตกได้หยิบยื่นให้แก่เพื่อนบ้านและประเทศในยุโรปตะวันออกเป็นเวลาต่อเนื่องถึง ๒ ทศวรรษได้มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแนวความคิดและวิถีชีวิตของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เกิดกระบวนการ "ทำยุโรปให้เป็นยุโรป" (Europeanization of Europe) โดยเสมอหน้ากัน ในปลายทศวรรษ ๑๙๘๐ ต่อต้นทศวรรษ ๑๙๙๐ ยุโรปตะวันออกจึงอยู่ในสภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อการสร้างชาติตามแนวทางใหม่ด้วยตัวเอง ทั้งเกิดการรวมชาติเยอรมนี การล่มสลายของกลุ่มประเทศองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอและการล่มสลายของสหภาพโซเวียต.



คำตั้ง
Ostpolitik
คำเทียบ
นโยบายมุ่งตะวันออก
คำสำคัญ
- สนธิสัญญาพื้นฐาน
- ความตกลงสี่มหาอำนาจ
- ความตกลงว่าด้วยการสัญจรระหว่างรัฐ
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- แอร์ฮาร์ด, ลุดวิก
- บาร์, เอกอน
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- รัสก์, ดีน
- กำแพงเบอร์ลิน
- ทุทซิง, เมือง
- หลักการการอยู่ร่วมกันโดยสันติ
- องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- วิกฤตการณ์เบอร์ลิน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- นิกสัน, ริชาร์ด เอ็ม.
- เคนเนดี, จอห์น เอฟ.
- ครุชชอฟ, นีกีตา เซียร์เกเยวิช
- นโยบายการผ่อนคลายความตึงเครียด
- การปิดกั้นเบอร์ลิน
- หลักการฮัลชไตน์
- อาเดเนาร์, คอนราด
- สงครามเย็น
- องค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ
- เชโกสโลวะเกีย
- บรันดท์, วิลลี
- นโยบายมุ่งตะวันออก
- ความตกลงมิวนิก
- กีโยม, กุนเทอร์
- สนธิสัญญาวอร์ซอ
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๘๙
- สนธิสัญญามอสโก
- นโยบายมุ่งตะวันตก
- สนธิสัญญาปราก
- สหประชาชาติ
- กระบวนการทำยุโรปให้เป็นยุโรป
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 7.O 753-832.pdf