องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซีเป็นองค์การความร่วมมือระหว่างรัฐบาลของประเทศยุโรปตะวันตก ๑๘ ประเทศ จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๔๘ เพื่อทำหน้าที่บริหารการใช้เงินในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* หรือโครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรป (European Recovery Program - ERP) ที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ใน ค.ศ. ๑๙๖๑ องค์การนี้เปลี่ยนชื่อเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี (Organization for Economic Cooperation and Development - OECD)* พร้อมทั้งปรับโครงสร้างและระบบการบริหารงานใหม่ รวมทั้งรับสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลก โออีซีดีจึงไม่ได้เป็นองค์การเฉพาะภูมิภาคยุโรปอีกต่อไป
การจัดตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปเป็นผลสืบเนื่องมาจากการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาในโครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งจอร์จ ซี. มาร์แชลล์ (George C. Marshall) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอเป็นครั้งแรกในสุนทรพจน์ที่เขาแสดงในพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ ในครั้งนั้นมาร์แชลล์ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาได้ตัดสินใจช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศต่าง ๆ ในยุโรปเพื่อการฟื้นฟูบูรณะประเทศโดยเร็ว โดยจะให้ความช่วยเหลือในวงเงินจำนวนมากและไม่จำกัดจำนวนประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นจะต้องใช้เงินร่วมกันในลักษณะที่เป็นโครงการในระดับภูมิภาคหรือเป็นหน่วยเศรษฐกิจเดียวกันที่ประเทศผู้รับต้องแบ่งปันทรัพยากรเพื่อการพัฒนาร่วมกัน โดยเหตุที่มาร์แชลล์เป็นต้นคิดของโครงการให้ความช่วยเหลือนี้แก่ยุโรปโครงการดังกล่าวจึงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อแผนมาร์-แชลล์ ข้อเสนอของสหรัฐอเมริกาได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็วจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี ในวันที่ ๑๓ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๗ เออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้เดินทางไปพบชอร์ช บีโดลต์ (Georges Bidault) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสที่กรุงปารีสเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ บีโดลตมีความเห็นว่าควรเชิญผู้แทนสหภาพโซเวียตเข้าร่วมประชุมด้วย ต่อมาในวันที่ ๒๗ มิถุนายน เบวินและบีโดลต์จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมกันกับเวียเชสลัฟโมโลตอฟ (Vyacheslav Molotov)* รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพโซเวียตที่กรุงปารีสอีกครั้งหนึ่ง โมโลตอฟไม่ต้องการให้สหภาพโซเวียตรับความช่วยเหลือดังกล่าวเพราะเห็นว่าแผนมาร์แชลล์เป็นการสร้างจักรวรรดินิยมดอลลาร์ (dollar imperialism) ของสหรัฐอเมริกา ทั้งการรับความช่วยเหลือจะเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศผู้รับด้วย การประชุมระหว่าง ๓ มหาอำนาจจึงยุติลงในวันที่ ๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ โดยไม่มีข้อสรุปเพราะการประท้วงของสหภาพโซเวียต
อย่างไรก็ดี ในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ เบวินและบีโดลต์ก็ได้จัดให้มีการประชุมระหว่างผู้แทนของประเทศที่สนใจจะรับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาภายใต้แผนมาร์แชลล์ขึ้นที่กรุงปารีส และได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือซีอีอีซี (Committee for European Economic Cooperation - CEEC)* ขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาลประเทศสมาชิกซีอีอีซีรวม ๑๖ ประเทศซึ่งเป็นประเทศยุโรปตะวันตกทั้งสิ้นรวมทั้งเขตยึดครองอีก ๓ เขต ได้แก่ออสเตรีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร กรีซ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ตุรกี ผู้แทนเขตยึดครองเยอรมนีตะวันตก ๒ เขต และเขตตรีเอสเตเสรี (Free Territory of Trieste) ซึ่งปกครองโดยอังกฤษ-อเมริกันอีก ๑ เขต โดยไม่มีผู้แทนสหภาพโซเวียตร่วมด้วยสหภาพโซเวียตยังได้กีดกันโปแลนด์และเชโกสโลวะเกียซึ่งแสดงความสนใจที่จะขอรับความช่วยเหลือดังกล่าวไม่ให้เข้าร่วมประชุมเช่นกัน รวมทั้งกีดกันประเทศเป็นกลางอย่างฟินแลนด์ไม่ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ และยังห้ามประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ในยุโรปตะวันออกรับความช่วยเหลือในแผนมาร์แชลล์ด้วย ต่อมา ใน ค.ศ.๑๙๔๙ สหภาพโซเวียต ก็ได้จัดตั้งคณะมนตรีเพื่อความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือโคเมคอน (Council for Mutual Economic Assistance - COMECON)* ขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์เป็นการตอบโต้แผนมาร์แชลล์
ที่ประชุมซีอีอีซีใช้เวลาถึง ๒ เดือนในการเจรจายกร่างข้อเสนอซึ่งเป็นแผนรับความช่วยเหลือเพื่อการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างรอบด้านในลักษณะใกล้เคียงกับแผนที่สหรัฐอเมริกาต้องการหลังการทบทวนและปรับปรุงอีกครั้งที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประธานาธิบดีแฮรี เอส ทรูแมน (Harry S Truman) ก็ได้เสนอแผนที่มีชื่อเป็นทางการว่า "โครงการบูรณะฟื้นฟูยุโรป" ต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ และในวันที่ ๓ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ รัฐสภาก็ได้ผ่านร่างแผนฉบับนี้เป็นกฎหมายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Cooperation Act - ECA) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับยุโรป กฎหมายดังกล่าวระบุจะให้เงินช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ที่เสนอขอในวงเงิน ๑๓,๐๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการพัฒนาในระยะเวลา ๔ ปี พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ ๒ ประการ คือ การจัดตั้งเขตเสรีทางการค้าในยุโรป และจัดตั้งองค์การถาวรเพื่อบริหารการใช้เงินตามแผนมาร์แชลล์ ในวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๙๔๘ ผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมแผนมาร์แชลล์ทั้ง ๑๖ ประเทศจึงได้ลงนามในความตกลงร่วมกันเพื่อจัดตั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซีขึ้นเป็นการถาวร ณ กรุงปารีส แทนคณะกรรมาธิการเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปโดยมีโรแบร์ มาร์โชแลง (Robert Marjolin) ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์และสถิติชาวฝรั่งเศสเป็นเลขาธิการขณะเดียวกันรัฐสภาสหรัฐอเมริกาก็ได้อนุมัติให้จัดตั้งหน่วยงานบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจหรืออีซีเอ (Economic Cooperation Administration - ECA) ขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เช่นเดียวกันเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับโออีอีซีและกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมี พอล จี. ฮอฟฟ์แมน (Paul G. Hoffman) เป็นประธาน และดับเบิลยู. เอเวอเรลล์ แฮร์ริแมน (W. Averell Harriman) เป็นผู้แทนพิเศษประจำกรุงปารีส
เมื่อเริ่มดำเนินงานใน ค.ศ. ๑๙๔๘ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปมีภาคีสมาชิกผู้ก่อตั้ง ๑๖ ประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งแรกในวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๗ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๙ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือเยอรมนีตะวันตกได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอีก ๑ ประเทศ ส่วนตรีเอสเตต่อมาได้รวมเข้ากับอิตาลี ประเทศตะวันตกที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับความช่วยเหลือในแผนมาร์แชลล์คือสเปน เพราะขณะนั้นมีการปกครองในระบอบเผด็จการในขณะที่ยูโกสลาเวียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออกซึ่งดำเนินนโยบายอิสระจากสหภาพโซเวียตเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้เข้าร่วมโครงการแต่ไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกโออีอีซีมีสายการบริหารงานเช่นเดียวกับองค์การระหว่างประเทศทั่วไป คือมีสำนักงานเลขาธิการ(Secretariat) คณะมนตรี (OEEC Council of Ministers) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคีสมาชิกประเทศละ ๑ คน มีระบบการออกเสียงแบบเอกฉันท์ (unanimity) และยังมีองค์กรอื่นรวมทั้งคณะกรรมาธิการตลอดจนคณะกรรมการเฉพาะเรื่องอีกจำนวนหนึ่ง (เช่นเรื่องอาหาร การเกษตร ถ่านหิน ไฟฟ้า น้ำมัน เหล็กและเหล็กกล้า อุตสาหกรรมต่าง ๆ การขนส่งและการเดินเรือ ตลอดจนการค้าระหว่างประเทศ) วัตถุประสงค์หลักของโออีอีซีก็คือ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคีสมาชิกและส่งเสริมแผนพัฒนาและบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจของแต่ละชาติสมาชิกให้บรรลุเป้าหมาย พัฒนาการค้าภายในภูมิภาคโดยการลดหย่อนภาษีศุลกากรและเครื่องกีดขวางอื่น ๆ ของการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสหภาพศุลกากรหรือเขตการค้าเสรีในยุโรป ศึกษาเรื่องการชำระเงินในระบบพหุภาคีและการใช้แรงงานในสภาพที่ดีขึ้น
สำหรับผู้บริหารนั้นนับว่าโออีอีซีเป็นที่ชุมนุมของบรรดาผู้แทนประเทศต่าง ๆ ที่ล้วนเป็นนักบริหารที่ โดดเด่นในด้านการต่างประเทศหรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทั้งสิ้น เช่น มาร์โชแลงซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการจัดตั้งสำนักงานวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของฝรั่งเศส ปอล-อองรี สปาก (Paul- Henri Spaak)* นายกรัฐมนตรีเบลเยียมซึ่งได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีคนแรกของโออีอี ซีพอล ฟาน ซีลันด์ (Paul van Zeeland) และเดิร์ค สติคเคอร์ (Dirk Stikker) แห่งเนเธอร์แลนด์ ตลอดจนรอเบิร์ต แอนโทนี อีเดน (Robert Anthony Eden)* และริชาร์ด ฮีทโคต อะมอรี (Richard Heathcoat Amory) แห่งอังกฤษ บุคคลเหล่านี้ได้ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันและมีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยรวม ทั้งยังได้ใช้โออีอีซีเป็นเวทีของการหารือร่วมกันสำหรับการบูรณาการยุโรปในเวลาต่อมา
ในการดำเนินงานนั้นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปมีบทบาทนำในการจัดสรรเงินให้แก่ประเทศต่าง ๆ เพื่อใช้จ่ายตามแผน ในขณะที่หน่วยบริหารความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเป็นผู้จัดหาและส่งสินค้าให้แก่ประเทศผู้รับความช่วยเหลือซึ่งจะต้องจ่ายเงินคืนให้แก่สหรัฐอเมริกาในสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ ส่วนเงินที่เหลือประเทศผู้รับสามารถนำไปใช้ลงทุนในโครงการต่าง ๆ ต่อไปได้ ในทางทฤษฎีแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะต้องการให้โออีอีซีเป็นองค์การของชาวยุโรปโดยเฉพาะ แต่ในทางปฏิบัติผู้แทนสหรัฐอเมริกามักเข้าร่วมประชุมในระดับสูงด้วยทุกครั้งจึงทำให้การทำงานของโออีอีซีมักมีปัญหาทางการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะชาวยุโรปมักระแวงสงสัยใน อิทธิพลและท่าทีของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปแต่เพียงผู้เดียว เนื่องจากเป็นที่ รู้กันโดยทั่วไปว่าสหรัฐอเมริกาใช้แผนมาร์แชลล์เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น (Cold War)* นอกจากนี้ ภาคีสมาชิกชาวยุโรปส่วนใหญ่ยังคงหวงแหนอธิปไตยของชาติตนอย่างมาก ทั้งยังไม่เห็นผลประโยชน์ของการเปิดตลาดเสรีทางการค้าในวงกว้างตามที่สหรัฐอเมริกาต้องการ โดยเฉพาะอังกฤษไม่ต้องการผูกพันตนเองกับพันธกิจใด ๆ ในภาคพื้นทวีปในขณะที่ฝรั่งเศสก็มีโครงการบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจของตน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ค่อนข้างจำกัดในเรื่องการเปิดตลาดเสรี นอกจากนี้ เมื่อโออีอีซีเริ่มดำเนินงานใน ค.ศ. ๑๙๔๘ ปัญหาเศรษฐกิจและสถานภาพของเยอรมนีก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่มีผู้ใดทราบอนาคตที่แน่นอนและต่อมาก็ยังมีปัญหาการติดอาวุธให้แก่เยอรมนีตะวันตกและความขัดแย้งในเรื่องการรวมเยอรมนี ฉะนั้นนอกเหนือจากการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของโครงการบูรณะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ และควบคุมการใช้เงินตามแผนมาร์แชลล์ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญอันดับแรก รวมทั้งการประชุมหารือกันอย่างสม่ำเสมอแล้ว การทำงานของโออีอีซีจึงยังคงอยู่ในขอบเขตจำกัด และสหรัฐอเมริกาก็ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองมากพอที่จะเอาชนะการรวมพลังของอังกฤษ ฝรั่งเศส และชาติสมาชิกอื่น ๆ ของยุโรป ในอันที่จะทำให้โออีอีซีเป็นเครื่องมือสำหรับการสร้างองค์การเหนือรัฐทางเศรษฐกิจตามที่สหรัฐอเมริกาตั้งเป้าหมายไว้ได้
นอกจากนี้ กระบวนการตัดสินใจของคณะมนตรีของโออีอีซีซึ่งเป็นองค์กรสำคัญที่สุดที่ทำหน้าที่ ควบคุมนโยบายและการบริหารงานขององค์การก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานของโออีอีซีอยู่ในขอบเขตจำกัดเพราะแม้ว่าการตัดสินใจของคณะมนตรีจะมีผลบังคับต่อสมาชิกทุกชาติ แต่ชาติสมาชิกก็มีสิทธิยับยั้งการออกเสียงในคณะมนตรีเช่นกันจึงเป็นสาเหตุให้การทำงานในหลาย ๆ เรื่องไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร อีกทั้งโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ที่แตกต่างกันรวมทั้งเงื่อนไขของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือแกตต์ (General Agreement on Tariffs and Trade - GATT)* ซึ่งเพิ่งก่อตั้งใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ก็เป็นอุปสรรคอีกส่วนหนึ่งด้วย อย่างไรก็ดี โออีอีซีก็ยังประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในบางเรื่องที่สำคัญเช่น การยกเลิกพิกัดอัตราภาษีศุลกากรบางประเภทและการขจัดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิกรวมทั้งได้จัดตั้ง "สหภาพการชำระเงินยุโรป" (European Payment Union - EPU) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๕๐ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นที่สุด สหภาพดังกล่าวทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการชำระและส่งผ่านเงินให้แก่ชาติสมาชิก ทำให้การดำเนินงานของแผนมาร์แชลล์สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งยังช่วยให้การค้าของยุโรปตะวันตกขยายตัวขึ้นด้วย
ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๕๒ โออีอีซีเริ่มลดบทบาทลงเนื่องจากแผนมาร์แชลล์ได้ยุติลงตามกำหนดเวลาและสหรัฐอเมริกาก็ได้หันไปมุ่งให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต (North Atlantic Treaty Organization - NATO)* แทนที่โออีอีซีทั้งยังมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในแวดวงสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในเรื่องที่สหรัฐอเมริกาจะใช้นาโตเป็นศูนย์กลางการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงแก่ยุโรปแทนโออีอีซีซึ่งทำหน้าที่ เฉพาะด้านเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานภาพของโออีอีซีเพราะอังกฤษและบรรดาผู้นำชาวยุโรปที่เป็นนักนิยมแอตแลนติก (Atlanticist) พากันสนับสนุนนโยบายของสหรัฐอเมริกามากกว่าการคงอยู่ของโออีอีซี แต่ในที่สุดก็มีการประนีประนอมกันได้โดยสหรัฐอเมริกาและผู้แทนฝ่ายยุโรปตกลงให้โออีอีซียังคงทำหน้าที่ทางด้านเศรษฐกิจของยุโรปต่อไป รวมทั้งดูแลปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของนาโตด้วยโดยประสานงานกับองค์กรเพื่อความมั่นคงร่วมกัน (Mutual Security Agency - MSA) ที่สหรัฐอเมริกาจัดตั้งขึ้นมาแทนที่อีซีเอ อย่างไรก็ดี โออีอีซีก็ยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันตกในระยะเดียวกันได้แก่การจัดตั้งประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้ายุโรปหรืออีซีเอสซี (European Coal and Steel Community - ECSC)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๒ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรปหรืออีอีซี (European Econamic Community - EEC)* และประชาคมพลังงานปรมาณูยุโรปหรือยูราตอม (European Atomic Energy Community - Euratom)* ใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งทำให้บทบาทและอิทธิพลของโออีอีซีลดลงอย่างต่อเนื่องแม้ว่าโออีอีซีจะได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการเจรจาและการดำเนินกิจกรรมขององค์การเหล่านี้ก็ตาม แต่โออีอีซีก็ ไม่ได้เป็นองค์การระหว่างประเทศที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือที่สำคัญของยุโรปตะวันตกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกต่อไป ความสำเร็จของการจัดตั้งประชาคมยุโรปหรืออีซี (European Communities EC)* ยังชี้ให้เห็นว่าโออีอีซีไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้นำในการบูรณการยุโรปได้ ทั้งยังทำให้บรรดานักนิยมยุโรป (Europeanist)ที่เคยเป็นกำลังสำคัญของโออีอีซีหันไปมุ่งเน้นทำงานและให้ความสนใจแก่ประชาคมยุโรปแทน นอกจากนี้ สหภาพการชำระเงินยุโรปซึ่งเป็นผลงานสำคัญที่สุดของโออีอีซียังได้ยุติลงในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๘ ทำให้โออีอีซีเกือบจะไม่มีงานสำคัญใด ๆ เหลืออยู่ใน ค.ศ. ๑๙๕๙ สเปนได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกด้วย ทำให้โออีอีซีมีสมาชิกรวม ๑๘ ประเทศ
อย่างไรก็ดี องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปหรือโออีอีซีก็ได้ดำเนินงานต่อมาจนถึงเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๖๑ จึงได้ยุติบทบาทลงและเปลี่ยนชื่อเป็นองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดีซึ่งประกอบด้วยสมาชิกของโออีอีซีเดิมทั้งหมดรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาต่อมาก็ได้รับสมาชิกจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้นจนถึง ๓๐ ประเทศในปัจจุบันและได้ขยายขอบเขตการดำเนินงานให้ครอบคลุมทางด้านการค้า การส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวางทำให้โฉมหน้าของโออีซีดีเปลี่ยนไปจากโออีอีซีอย่างสิ้นเชิง
แม้ว่าองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจยุโรปจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็ได้ ทำหน้าที่เป็นองค์การหลักของยุโรปตะวันตกมาเป็นเวลาถึง ๑๒ ปีทั้งยังมีบทบาทเป็นอย่างมากต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้าของยุโรปในช่วงที่ยุโรปอยู่ในภาวะวิกฤติที่สุด และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การที่โออีอีซีได้เป็นศูนย์กลางความร่วมมือของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งได้ทำหน้าที่ปูพื้นและกรุยทางให้กับความสำเร็จในการจัดตั้งประชาคมยุโรปในเวลาต่อม