การปฏิวัติสีส้มเป็นการชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติวิธีของประชาชนยูเครนทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการโกงการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๒๐๐๔ เป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องระหว่างวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ ถึงวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ที่จตุรัสไมดัน (Maidan) หรือจตุรัสอิสรภาพ (Independence Square) ในกลางกรุงเคียฟ (Kiev) ซึ่งประชาชนมาชุมนุมรวมพลังกันและยืนหยัดต่อสู้จนประสบชัยชนะ เหล่าผู้ร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองต่างใช้สีส้มซึ่งวิคตอร์ ยูเชนโค (Viktor Yushenko)* ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใช้เป็นสีสัญลักษณ์ในการเลือกตั้งแข่งกับวิคตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) จึงเป็นที่มาของชื่อ "การปฏิวัติสีส้ม" การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้ยังได้รับการหนุนช่วยจากกลุ่มเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีเลโอนิดคุชมา (Leonid Cuchma)* ที่สนับสนุนยานูโควิช และนำไปสู่การเคลื่อนไหวแบบอารยะขัดขืน (civil disobedience) ทั่วประเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การนั่งประท้วง การเดินขบวนอย่างสงบพร้อมกับจุดเทียนและร้องเพลงชาติ การประสานการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงพลังและความเป็นเอกภาพระหว่างกรุงเคียฟกับจังหวัดต่าง ๆ
การปฏิวัติสีส้มเป็นผลสืบเนื่องจากผลการเลือกตั้งสกปรกในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ระหว่างวิคตอร์ ยูเชนโคกับวิคตอร์ ยานูโควิชในเดือน พฤศจิกายน ค.ศ. ๒๐๐๔ ซึ่งนับเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งที่ ๔ นับตั้งแต่ยูเครนประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหภาพโซเวียตเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๑ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ประธานาธิบดีเลโอนิดคุชมาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ๒ สมัยและกำลังจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในปลาย ค.ศ. ๒๐๐๔ ประกาศสนับสนุนยานูโควิช นายกรัฐมนตรีวัย ๕๔ ปี ที่สมัครลงแข่งขันกับยูเชนโควัย ๕๐ ปีซึ่งเป็นผู้นำพรรคนาชายูเครยินา (Nasha Ukrayina - Our Ukraine) ยานูโควิชมีนโยบายสนับสนุนและร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) และปกป้องผลประโยชน์และการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ของประธานาธิบดีคุชมาและพวกพ้องรวมทั้งกลุ่มนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีเส้นสายในรัฐบาล นโยบายผูกมิตรกับรัสเซียยังทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศที่ต้องการให้ยูเครนรวมเข้ากับรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin)* แห่งสหพันธรัฐรัสเซียก็ประกาศสนับสนุนยานูโควิชอย่างเปิดเผย ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ปูตินมาเยือนยูเครนถึง ๒ ครั้งและได้ออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์สนับสนุนยาคูโนวิช ทั้งส่งกลุ่มที่ปรึกษาทางการเมืองและสื่อมวลชนที่เชี่ยวชาญมาช่วยวางแผนหาเสียงและการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ตลอดจนให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากในการหาเสียง
ส่วนยูเชนโคเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการธนาคารแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๙๙-๒๐๐๑ แต่เขาถูกประธานาธิบดีคุชมาปลดกลางอากาศเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายของยูเชนโคในการปฏิรูปเศรษฐกิจ
เป็นตลาดเสรีและการพยายามควบคุมและปราบปรามการทุจริตในแวดวงรัฐบาล การปลดยูเชนโคทำให้ประธานาธิบดีคุชมาถูกต่อต้านมากแต่เขาก็ยังคงสามารถควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองไว้ได้ และใช้อำนาจเผด็จการปกครองประเทศเข้มงวดมากขึ้นยูเชนโคจึงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้เป็นผู้นำโค่นอำนาจของประธานาธิบดีคุชมาซึ่งทำให้เขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้าของกลุ่มการเมืองผสมที่มีชื่อว่าพรรคนาชายูเครยินาในที่สุด ยูเชนโคมีนโยบายสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศตะวันตกและปราบปรามกวาดล้างการทุจริตตลอดจนการสร้างระบบการบริหารปกครองที่สุจริตและเป็นประชาธิปไตย ประชาชนในทางภาคตะวันตกซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมก็สนับสนุนยูเชนโค
อย่างไรก็ตาม ในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ฝ่ายรัฐบาลซึ่งควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์ได้โจมตีให้ร้ายยูเชนโคอย่างต่อเนื่องและไม่เปิดโอกาสให้เขาได้แก้ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ทั้งยังขัดขวางการหาเสียงของยูเชนโคทุกวิถีทางเป็นต้นว่าจะปิดกั้นถนนเพื่อไม่ให้เขาเดินทางไปถึงจุดหมายได้ตามเวลาที่กำหนด หรือเครื่องบินเช่าที่เขาโดยสารมักเสียเวลาและมีตำรวจนอกเครื่องแบบคอยติดตามสร้างปัญหาและอื่น ๆ ต่อมา ในวันที่ ๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๔ ยูเชนโคซึ่งอยู่ในระหว่าง การหาเสียงล้มป่วยหนักจนต้องหยุดการหาเสียงเป็นเวลาเกือบเดือน เขาถูกนำตัวไปรักษาในต่างประเทศเป็นการลับ ๆ อย่างฉุกเฉินและต่อมาแพทย์ชาวออสเตรียยืนยันว่าเขาถูกวางยาพิษด้วยทีซีดีดีไดออกซิน (TCDD dioxin) แม้ยูเชนโคจะรอดชีวิตแต่เขาก็เสียโฉมและมีใบหน้าที่บวมฉุเต็มไปด้วยแผลตะปุ่มตะป่ำทั้งสีผิวก็เปลี่ยนและร่างกายอ่อนแอ ฝ่ายที่สนับสนุนยูเชนโคเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลเพราะก่อนการล้มเจ็บมีพยานยืนยันว่ายูเชนโคได้ร่วมรับประทานอาหารค่ำกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายรัฐบาลซึ่งรวมทั้งหัวหน้าฝ่ายรักษาความมั่นคงยูเครน (Security Service of Ukraine - SBU) ด้วย มีการโจมตีรัฐบาลว่าเล่นผิดกติกาและใช้วิธีการสกปรกแต่รัฐบาลซึ่งควบคุมสื่อทุกประเภทออกข่าวว่ายูเชนโคได้รับพิษจากการรับประทานอาหารที่มีปลาดิบ หรือไม่ก็ไปลอกหน้าเพื่อเสริมเสน่ห์และแพ้ครีมหรือยาบำรุงที่ ใช้เป็นต้นนอกจากนี้เหล่าหัวคะแนนของเขาก็ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่บิดเบือนต่าง ๆ นักศึกษาที่สนับสนุนยูเชนโคและพักในหอพักมหาวิทยาลัยก็ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยว่าหากเขตเลือกตั้งที่ครอบครัวของพวกเขาเลือกยูเชนโค พวกเขาจะถูกไล่ออกจาก หอพักในช่วงกลางฤดูหนาวนี้ทันที
ในวันเลือกตั้งที่มีขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๔ เขตเลือกตั้งที่มีผู้สนับสนุนยูเชนโคจำนวนมากปรากฏว่าผู้มีสิทธิออกเสียงไม่มีชื่อในบัญชีรายชื่อและปากกาที่ใช้ทำเครื่องหมายในใบลงคะแนนเสียงก็ไม่มีหมึกซึ่งทำให้ใบลงคะแนนกลายเป็นบัตรเสีย หรือไม่ก็เปิดช่องให้ใช้ใบลงคะแนนปลอม อย่างไรก็ตามผลการเลือกตั้งปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงถึงร้อยละ ๕๐ ยูเชนโคได้คะแนนเสียงสนับสนุนร้อยละ ๓๙.๘๗ และยานูโควิชได้ร้อยละ ๓๙.๓๒ส่วนผู้สมัครคนอื่น ๆ อีก ๓ คนได้คะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ ๖ จึงต้องมีการแข่งขันกันเป็นรอบที่ ๒ ในวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ในช่วงการเตรียมการเลือกตั้ง ทั่วทั้งประเทศคาดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องมีการโกงกันอย่างมโหฬารและเป็นการเลือกตั้งสกปรกครั้งใหญ่นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชใน ค.ศ. ๑๙๙๑ ในการเลือกตั้งรอบที่ ๒ โอเลคซานเดอร์ โมรอซ (Oleksandr Moroz) จากพรรคสังคมนิยมยูเครนที่ลงสมัครในรอบแรกโดยได้รับคะแนนเสียงร้อยละ ๕.๘๒ ซึ่งเป็นอันดับ ๓ รองจากยูเชนโคและยานูโควิชประกาศเทฐานเสียงสนับสนุนเขาให้แก่ยูเชนโค ส่วนยูเลีย ตีโมเชนโค (Yulia Tymoshenko) ผู้นำกลุ่มฝ่ายค้านซึ่งมีฐานเสียงมวลชนที่หนาแน่นก็ประกาศจะไม่ลงสมัครแข่งขันในรอบที่ ๒ เธอทำความตกลงกับยูเชนโคว่าหากเขามีชัยชนะ เธอจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดใหม่ ยูเชนโคยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งทำให้ตีโมเชนโคหันมาสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่
ในช่วงก่อนการปิดหีบบัตรลงคะแนน ทั่วทั้งประเทศก็แพร่สะพัดด้วยข่าวว่ามีการทุจริตตามเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ประมาณว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่นกว่า ๘๕,๐๐๐ คนร่วมมือกันทำบัญชีรายชื่อปลอมผู้มีสิทธิออกเสียงเพิ่มกว่า ๒.๘ ล้านคน และหลายเขตเลือกตั้ง บัตรในหีบลงคะแนนมีมากกว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการรับส่งผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่สนับสนุนยานูโควิชจากเขตหนึ่งไปลงคะแนนเสียงในเขตอื่น ๆ ด้วย ทั้งมีการคุกคามข่มขู่ผู้สนับสนุนยูเชนโคไม่ให้มาลงคะแนนเสียงและอื่น ๆ ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งชาวต่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนขององค์การเพื่อความร่วมมือและความมั่นคงในยุโรป (Organization for Security and Co-operation in Europe - OSCE)* รายงานว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในเขตสำคัญ ๆ ที่สนับสนุนยานูโควิชมีความ "ไม่น่าไว้วางใจอย่างมากและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง" เพราะมีการลงคะแนนกันหลายรอบและจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงในวันเลือกตั้งก็เพิ่มมากขึ้นรวดเร็วอย่างมีเงื่อนงำ
ในการเลือกตั้งรอบที่ ๒ ซึ่งมีผู้มาลงคะแนนเสียงร้อยละ ๗๕ ผลปรากฏว่ายูเชนโคได้คะแนนร้อยละ ๔๖.๕ และยานูโควิชได้ร้อยละ ๔๙.๕ ทั้งประธานาธิบดีคุชมาและยานูโควิชจัดแถลงข่าวประกาศชัยชนะทันทีแต่ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งชาวต่างประเทศและศูนย์ติดตามข่าวเลือกตั้งจากทั่วโลกให้ความเห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต่ำกว่ามาตรฐานของระบอบประชาธิปไตยและยูเชนโคมีคะแนนนำเหนือยาคูโนวิช ต่อมา เมื่อคณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้ง (Central Electoral Commission) ประกาศอย่างเป็นทางการทางสถานีโทรทัศน์ในเช้าของวันที่ ๒๒ ว่า นายกรัฐมนตรีวิคตอร์ยานูโควิช คือผู้มีชัยชนะ นาตาลยา ดมีทรัค (Natalya Dmitruk) ผู้แปลข่าวเป็นภาษามือกลับส่งสารถึงผู้ชมไม่ให้เชื่อในคำแถลงของคณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้งซึ่งโกหกประชาชนและกล่าวว่าผู้ชนะคือวิคตอร์ ยูเชนโคการส่งสารของนาตาลยาและความไม่พอใจของประชาชนที่ก่อตัวขึ้นหลังข่าวที่แพร่กระจายไม่เป็นทางการก่อนประกาศผลเลือกตั้งว่ายานูโควิชมีคะแนนทิ้งห่างยูเชนโคร้อยละ ๓ ได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวชุมนุมต่อต้านผลการเลือกตั้งสกปรก ประชาชนที่สนับสนุนยูเชนโคได้ไปชุมนุมรวมตัวกันที่ จตุรัสไมดันใจกลางกรุงเคียฟท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นและมีหิมะตกหนักเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยอมรับว่ายูเชนโคคือผู้ชนะการแข่งขัน โดยไม่ได้นัดหมายฝ่ายสนับสนุนยูเชนโคต่างแต่งกายด้วยสีส้มหรือผูกผ้าพันคอ ติดโบ ถือแผ่นป้าย ลูกโป่งและอื่น ๆ ที่เป็นสีส้มซึ่งเป็นสีของพรรคนาชายูเครยินาและสีเขตเลือกตั้งที่สนับสนุนยูเชนโค ในเวลาอันสั้นสีส้มก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนเพื่อปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนและใช้เรียกการชุมนุมต่อต้านอย่างสันติและต่อเนื่องของประชาชนระหว่างวันที่ ๒๒ พฤศจิกายนถึงวันที่ ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๕ ว่าเป็นการปฏิวัติสีส้ม ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนยานูโควิชก็ใช้สีฟ้าซึ่งเป็นสีพรรคของยานูโควิชเป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวด้วยแต่ก็ประสบความสำเร็จไม่มากนัก
ในวันเดียวกันที่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนก่อตัวขึ้น ยูเชนโคก็ประกาศไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งและบุกเข้าไปในรัฐสภาขณะที่รัฐสภากำลังจะเปิดประชุมโดยกล่าวปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดี เขาเรียกร้องประชาชนทั่วประเทศให้เคลื่อนไหวนัดหยุดงานทั่วไปและขอให้กองทัพและตำรวจสนับสนุนประชาชน ตลอดจนให้ข้าราชการท้องถิ่นเปลี่ยนข้างมาสนับสนุนเขาและคณะรัฐบาลที่จะจัดตั้งขึ้น กลยุทธของยูเชนโคในการประกาศตนเป็นประธานาธิบดีและเคลื่อนไหวต่อสู้อย่างเปิดเผยทำให้ประธานาธิบดีคุชมาซึ่งกำลังจะหมดวาระและยานูโควิชซึ่งเป็นผู้ชนะอย่างเป็นทางการเรียกร้องให้ใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุม แต่หน่วยรักษาความมั่นคงปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามและประกาศจะเข้าปกป้องผู้ชุมนุมในกรณีที่กองทัพใช้กำลังปราบปราม นโยบายของหน่วยรักษาความมั่นคงทำให้ประธานาธิบดีคุชมาไม่กล้าเข้าแทรกแซง และทำให้การเคลื่อนไหวสนับสนุนยูเชนโคขยายตัวไปทั่วประเทศทั้งมีพลังเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ ในช่วงเวลาเดียวกันกลุ่มนักศึกษาก็เคลื่อนไหวรวมตัวกันใกล้อาคารกระทรวงศึกษาธิการและจัดแสดงคอนเสิร์ตไม่ไกลจากจตุรัสไมดันเพื่อเรียกร้องประชาชน ทั่วประเทศให้สนับสนุนการต่อสู้แบบอารยขัดขืนและไม่ให้ผู้ชุมนุมออกจากจตุรัสไมดันจนกว่าจะมีชัยชนะ
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่สนับสนุนยานูโควิชโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศซึ่งเป็นฐานเสียงที่แข็งแกร่งของยานูโควิชก็รวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อต้านยูเชนโคและข่มขู่จะแยกตัวออกจากยูเครนเข้ารวมกับสหพันธรัฐรัสเซียในกรณีที่ยานูโควิชไม่ได้เป็นประธานาธิบดี ผู้สนับสนุนยานูโควิชจำนวนไม่น้อยเดินทางมายังกรุงเคียฟเพื่อรวมพลังตอบโต้กลุ่มที่สนับสนุนยูเชนโค การเผชิญหน้าและความรุนแรงที่กำลังก่อตัวขึ้นทำให้ประธานาธิบดีคุชมาถูกบีบให้เจรจากับยูเชนโคเพื่อแก้ไขสถานการณ์ทางสังคมและการเมือง การเจรจาล้มเหลวเพราะประธานาธิบดีคุชมายอมรับการประกาศ รับรองผลการเลือกตั้งของคณะกรรมาธิการกลางเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายนว่ายานู-โควิชคือผู้ชนะการแข่งขัน และปฏิเสธที่จะพิจารณาหลักฐานและข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตในการเลือกตั้งยูเชนโคจึงเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาในกรุงเคียฟเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างต่อเนื่องด้วยการจับกลุ่มชุมนุมการนัดหยุดงานทั่วไป การนั่งประท้วงและอื่น ๆ ฝ่ายสนับสนุนยูเชนโคยังจัดตั้งคณะกรรมาธิการกอบกู้ชาติ (Committee of National Salvation) ขึ้นเพื่อชี้นำการเคลื่อนไหวต่อต้านทั่วประเทศ ในวันต่อมา ศาลสูงสุดมีคำสั่งห้ามยานูโควิชเข้าทำพิธีกล่าวปฏิญาณตนเป็นประธานาธิบดีจนกว่าศาลจะพิจารณาตัดสินเรื่องการทุจริตเลือกตั้ง คำสั่งศาลทำให้ประชาชนกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คนหลั่งไหลไปชุมนุมแสดงความยินดีกันที่จตุรัสไมดันท่ามกลางอากาศที่ยังคงหนาวเย็น
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในยูเครนมาถึงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน เมื่อรัฐสภาเปิดประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณาผลการเลือกตั้ง ในวันนั้นประชาชนกว่า ๗๐๐,๐๐๐ คน รวมตัวกันที่จตุรัสไมดันและอาคารรัฐสภาเพื่อเฝ้าคอยผลการประชุม แม้การลงมติจะไม่เป็นเอกฉันท์แต่เสียงส่วนใหญ่ตัดสินให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การตัดสินของรัฐสภานับเป็นการเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยครั้งใหม่ในยูเครน อีก ๔ วันต่อมา รัฐสภาก็มีมติประณามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในการเคลื่อนไหวที่จะแยกตัวออกเข้ารวมกับรัสเซียและลงมติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีคุชมาและคณะรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญการลงมติไม่ไว้วางใจดังกล่าวหมายถึงรัฐบาลต้องพ้นตำแหน่ง แต่ทั้งประธานาธิบดีคุชมาและนายกรัฐมนตรียานูโควิชปฏิเสธที่จะลาออก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ ๓ ธันวาคม ศาลสูงแห่งยูเครนได้แก้ปัญหาทางตันทางการเมืองด้วยการตัดสินให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ในคืนวันนั้น ประชาชนต่างเฉลิมฉลองชัยชนะที่จตุรัสไมดันด้วยการจุดดอกไม้ไฟและร้องเพลงชาติกัน ในวันที่ ๘ ธันวาคม รัฐสภาก็ผ่านกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบและกฎเกณฑ์การเลือกตั้งครั้งใหม่และยังมีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของประธานาธิบดีลงซึ่งจะทำให้ยูเครนในเวลาต่อมามีรูปแบบการปกครองเป็นสาธารณรัฐกึ่งรัฐสภาและประธานาธิบดี (parliamentary - presidential republic)
ในวันที่ ๒๖ ธันวาคม ประชาชนยูเครนพากันไปเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นรอบที่ ๓ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจจากทุกมุมโลก ประมาณว่าผู้สังเกตการณ์จากประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ รัสเซีย และเอเชียกว่า ๑๓,๐๐๐ คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ครั้งนี้ซึ่งรวมทั้งเลค วาเวซา (Lech Walesa)* อดีตผู้นำขบวนการโซลิดาริตี (Solidarity)* แห่งโปแลนด์สื่อต่าง ๆ ได้รายงานข่าวการเลือกตั้งอย่างละเอียดและเปิดเผยยกเว้นภาคตะวันออกซึ่งเป็นฐานเสียงของยานูโควิชที่เสนอข่าวโน้มเอียงสนับสนุนยานูโควิชผลการเลือกตั้งซึ่งคณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้งประกาศอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคมเป็นไปตามความคาดหมายของทุกฝ่าย จากจำนวนผู้มาลง คะแนนเสียงเลือกตั้ง ๒๘ ล้านคน ยูเชนโคได้คะแนนเสียงร้อยละ ๕๒ ส่วนยานูโควิชได้เพียงร้อยละ ๔๔.๒ ยูเชนโคชนะ ๑๗ เขตเลือกตั้งในภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนยานูโควิชชนะ ๑๐ เขตเลือกตั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศ ฝ่ายยานูโควิชปฏิเสธที่จะยอมรับผลการเลือกตั้งและเรียกร้องให้ศาลสูงและคณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้งไต่สวนขั้นตอนการเลือกตั้งซึ่งพวกเขาอ้างว่าไม่โปร่งใสและไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ทั้งศาลสูงและคณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้งปฏิเสธที่จะพิจารณาข้อร้องเรียน ต่อมาในวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๒๐๐๕ คณะกรรมาธิการกลางการเลือกตั้งก็ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการว่ายูเชนโคเป็นผู้ชนะ ในวันที่ ๒๓ มกราคมยูเชนโคปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีที่รัฐสภา และตามด้วยการทำพิธีเข้ารับตำแหน่งต่อมหาชนที่จตุรัสไมดันท่ามกลางผู้สนับสนุนเขา พิธีการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีดังกล่าวจึงนับเป็นการสิ้นสุดของการปฏิวัติสีส้มอย่างสันติ
การปฏิวัติสีส้มในยูเครนนับเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่สะท้อนชัยชนะของ "อำนาจประชาชน" ครั้งล่าสุดซึ่งสืบทอดแนวทางและอุดมการณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนในโปแลนด์ ฮังการี เชโกสโลวะเกีย เซอร์เบีย และจอร์เจียในช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐ ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนยูเครนรับเอาแนวทางการต่อสู้ของประชาชนในเซอร์เบียในการโค่นอำนาจประธานาธิบดีสลอบอดันมีโลเซวิช (Slobodan Milosevich)* และการปฏิวัติดอกกุหลาบ (Rose Revolution)* ในจอร์เจียมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเงื่อนไขทางสังคมและการเมืองชัยชนะของการต่อสู้เป็นผลจากการกระตุ้นปลุกระดมประชาชนที่เป็นรากหญ้าให้ตื่นตัวและมีจิตสำนึก รวมทั้งการประสานงานกับกลุ่มพันธมิตรต่าง ๆ ตลอดจนการเข้าร่วมต่อสู้ของขบวนการนักศึกษานอกจากนี้ ผู้นำนักเคลื่อนไหวต่อสู้ที่มีประสบการณ์ในด้านการจัดตั้งขบวนการและแนวทางการต่อสู้แบบสันติทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จอร์เจีย เซอร์เบีย เบลารุส และประเทศตะวันตกได้ชี้แนะและให้คำปรึกษาในการเคลื่อนไหว การปฏิวัติสีส้มจึงยืนหยัดยาวนานถึง ๑๗ วัน และมีพลังเข้มแข็งจนมีชัยชนะในที่สุด การต่อสู้อย่างสันติได้เป็นแนวทางให้ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (Commonwealth of Independent States CIS)* นำไปประยุกต์ใช้ต่อมา.