การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ เป็นการยึดอำนาจทางการเมืองของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ในรัสเซียซึ่งมีวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* และเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* เป็นผู้นำ รัฐบาลเฉพาะกาลซึ่งปกครองประเทศภายหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ถูกโค่นอำนาจ และอะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* นายกรัฐมนตรีรัฐบาลเฉพาะกาลสามารถหลบหนีออกนอกประเทศได้ และพยายามรวบรวมกำลังทั้งภายในและนอกประเทศที่เรียกกันว่ากองกำลังฝ่ายรัสเซียขาวเพื่อโค่นล้มรัฐบาลโซเวียตที่จัดตั้งขึ้นแต่ก็ประสบกับความล้มเหลว การปฏิวัติเดือนตุลาคมมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมาว่า "การปฏิวัติสังคมนิยมเดือนตุลาคมอันยิ่งใหญ่" (Great October Socialist Revolution) ผลสำคัญของการปฏิวัติครั้งนี้คือรัสเซียสามารถถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ได้สำเร็จด้วยการทำสนธิสัญญาเบรส-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litvosk)* กับเยอรมนีในต้น ค.ศ. ๑๙๑๘ และเปลี่ยนการปกครองประเทศเป็นระบอบสังคมนิยม พรรคบอลเชวิคซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (บอลเชวิค) [The Russian Communist Party (Bolshevik)] กลายเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดพยายามสร้างสังคมใหม่ที่ ปราศจากชนชั้นตามอุดมการณ์ของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมใหม่ของมวลชนผู้ใช้แรงงาน
การปฏิวัติเดือนตุลาคมเป็นผลสืบเนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาลเฉพาะกาลในการปราบปรามกบฏคอร์นีลอฟ หรือเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ในช่วงการเกิดกบฏพรรคบอลเชวิคและสภาโซเวียตมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมมวลชนและทหารให้จับอาวุธต่อต้านกองกำลังของนายพลลาฟร์ คอร์นีลอฟ (Lavr Kornilov)* ที่เคลื่อนกำลังบุกเข้ายึดครองกรุงเปโตรกราด ตลอดจนจัดตั้งแนวรบปิดกั้นเส้นทางคมนาคมและการติดต่อสื่อสารต่าง ๆ ที่พวกกบฎจะใช้ นักปลุกระดมบอลเชวิคจำนวนหนึ่งยังเกลี้ยกล่อมให้กองกำลังต่าง ๆ ของคอร์นีลอฟวางอาวุธ และเข้าร่วมสนับสนุนประชาชนจนท้ายที่สุดฝ่ายกบฏยอมจำนนโดยปราศจากการสูญเสียเลือดเนื้อ หลังเหตุการณ์เรื่องคอร์นีลอฟ พรรคบอลเชวิคจึงมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นในสภาโซเวียตตามเมืองต่าง ๆ และเริ่มเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลเฉพาะกาล และเรียกร้องการคืนอำนาจรัฐทั้งหมดให้แก่สภาโซเวียต แม้รัฐบาลเฉพาะกาลจะปรับคณะรัฐมนตรีและยังคงรักษาอำนาจทางการเมืองไว้ได้แต่ปัญหาหนี้สินจากการดำเนินนโยบายสงคราม ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงและสภาพการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงทุกขณะ ก็ทำให้การต่อต้านรัฐบาลเริ่มเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วประเทศ
ในช่วงที่กระแสการต่อต้านรัฐบาลเฉพาะกาลกำลังก่อตัวขึ้นและขยายตัวในวงกว้าง สภาโซเวียตก็เริ่มเคลื่อนไหวเตรียมยึดอำนาจ ตรอตสกีซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดดำเนินนโยบายให้สภาโซเวียตเป็นองค์การนำในการเข้าควบคุมสภาโซเวียตท้องถิ่นทั่วประเทศให้กลายเป็นองค์การพรรคและเรียกร้องให้โอนอำนาจของรัฐบาลแก่สภาโซเวียต ในขณะเดียวกันเลนินซึ่งลี้ภัยที่ฟินแลนด์ก็ส่งสารถึงคณะกรรมาธิการกลางบอลเชวิคในหัวข้อ "The BolsheviksMust Take Power" และ "The Crisis Has Ripened" เรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล แต่คณะกรรมาธิการกลางพรรคไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเลนิน และขอให้เลนินเดินทางกลับมากรุงเปโตรกราดเพื่อหาข้อสรุปเรื่องการยึดอำนาจ
รัฐบาลเฉพาะกาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองด้วยการจัดประชุมประชาธิปไตย (Democratic Conference) ขึ้นที่กรุงเปโตรกราดในกลางเดือนกันยายนเพื่อผนึกกำลังกลุ่มเสรีนิยมให้สนับสนุนรัฐบาลผลสำคัญของการประชุมครั้งนี้คือการที่จะต้องเตรียมจัดตั้งรัฐสภา (Pre-Parliament) ไว้ก่อนเพื่อจะได้เตรียมการเลือกตั้งได้ซึ่งกำหนดเป็นวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนและการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ศูนย์กลางบอลเชวิคมีมติให้คว่ำบาตรรัฐสภาที่เตรียมไว้และให้สมาชิกที่สนับสนุนรัฐสภาถอนตัวออกด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลมีเป้าหมายจะใช้รัฐสภาเป็นเครื่องมือขัดขวางการปฏิบัติโดยโน้มน้าวให้ฝ่ายต่าง ๆ สนับสนุนระบอบรัฐสภาของชนชั้นนายทุน บอลเชวิคยังเคลื่อนไหวด้วยการให้เปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (Second All-Russian Congress of Soviets) ขึ้นแม้พรรคสังคมนิยมอื่น ๆ รวมทั้งสภาโซเวียต ท้องถิ่นและหน่วยทหารของสภาโซเวียตจะไม่เห็นด้วยกับการเปิดประชุมใหญ่ดังกล่าวเพราะเห็นว่าเงื่อนไขเวลายังไม่เหมาะสมและจะเป็นการทอนอำนาจของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่สภาโซเวียตเปโตรกราดและโซเวียตมอสโกซึ่งบอลเชวิคกุมเสียงส่วนใหญ่ไว้ได้ก็สามารถกดดันให้มีการจัดประชุมสภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ขึ้นได้สำเร็จโดยกำหนดเปิดประชุมในวันที่ ๒๐ ตุลาคม และกำหนดวัตถุประสงค์ไว้คือการจะร่างข้อกฎหมาย เพื่อเสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเท่านั้นอย่าง ไรก็ตาม ในเวลาต่อมาก็มีมติให้เลื่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ออกไปอีก ๕ วันเป็นวันที่ ๒๕ ตุลาคมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนสภาโซเวียตจากหัวเมืองมีเวลาเตรียมตัวและเดินทางมากรุงเปรโตรกราดได้ทันเวลา
ในต้นเดือนตุลาคม รัสเซียถอนกำลังออกจากเมืองเรเวล (Revel) ซึ่งเป็นหน้าด่านอันแข็งแกร่งสุดท้ายที่กั้นขวางระหว่างกรุงเปโตรกราดกับกองกำลังของเยอรมนี การถอนกำลังดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกขึ้นทั่วไป เพราะหากเยอรมนีรุกคืบหน้า กรุงเปโตรกราดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมรภูมิ เคเรนสกีจึงตัดสินใจจะย้ายรัฐบาลไปที่นครมอสโก ตรอตสกีโจมตีรัฐบาลเฉพาะกาลอย่างรุนแรงที่จะสละนครแห่งการปฏิวัติให้แก่เยอรมนี เขาปลุกระดมและโน้มน้าวกองกำลังทหารในเปโตรกราดให้ต่อสู้ป้องกันกรุงเปโตรกราด และให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหาร (Military Revolutionary Committee) ขึ้นเพื่อประสานงานกับกองกำลังทหารหน่วยต่าง ๆ ในการป้องกันกรุงเปโตรกราดจากการโจมตีทั้งของเยอรมนีและฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติ ขณะเดียวกันเขาให้ติดอาวุธแก่กองทหารเรดการ์ดของสภาโซเวียตด้วย กองทหารดังกล่าวในช่วงกบฏคอร์นีลอฟได้รับอาวุธและกระสุนจากรัฐบาล แต่ภายหลังการกบฏสิ้นสุดลงไม่ได้ส่งกระสุนและอาวุธส่วนใหญ่คืนแก่รัฐบาล การจัดตั้งคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารเพื่อให้ประสานงานและควบคุมกองกำลังหน่วยต่าง ๆ ในกรุงเปโตรกราดจึงเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายบอลเชวิคตระเตรียมกำลังลุกขึ้นสู้ได้สะดวกขึ้น
ระหว่างวันที่ ๓-๑๐ ตุลาคมซึ่งไม่ทราบวันที่ชัดเจนนั้น เลนินได้แอบกลับจากฟินแลนด์มาถึงกรุงเปโตรกราดอย่างลับ ๆ และพักซ่อนในย่านคนงานเขตวีบอร์ก เขายืนกรานให้มีการลุกฮือด้วยกำลังอาวุธเพื่อยึดอำนาจรัฐก่อนวันเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียครั้งที่ ๒ และกำหนดให้คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารเข้ายึดจุดยุทธศาสตร์สำคัญในกรุงเปโตรกราดและประกาศโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล ในวันที่ ๑๐ ตุลาคม แกนกลางพรรคบอลเชวิครวม ๑๒ คน เปิดประชุมลับครั้งสำคัญเพื่อตัดสินเรื่องการยึดอำนาจโดยมีเลนินเข้าร่วมประชุมด้วย เลนินต้องการให้ยึดอำนาจในนามของพรรคบอลเชวิคทันที แต่ตรอตสกีคัดค้านและเสนอให้ยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตเพราะสภาโซเวียตเป็นศูนย์รวมทางการเมืองที่ กรรมกรผูกพันและเรียนรู้เรื่องการปฏิวัติรวมทั้งรู้จักพรรคบอลเชวิคผ่านสภาโซเวียต การยึดอำนาจที่ไม่ได้ทำในนามสภาโซเวียตจะสร้างความสับสน นอกจากนี้บอลเชวิคยังชูคำขวัญ"คืนอำนาจรัฐทั้งหมดแก่สภาโซเวียต" เพราะว่าการยึดอำนาจในนามของสภาโซเวียตจะทำให้การปฏิวัติมีความ ชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
ที่ประชุมยังมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องกำหนดวันที่จะยึดอำนาจด้วย เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev)* และกรีกอรี ชีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* คัดค้านเรื่องการยึดอำนาจอย่างมากเพราะเห็นว่าช่วงเวลายังไม่เหมาะสมและบอลเชวิคยังไม่เข็มแข็งและมี ความพร้อมพอ อย่างไรก็ตาม การประชุมในท้ายที่สุดก็มีมติให้ยึดอำนาจรัฐด้วยคะแนน ๑๐ : ๒ ส่วนวันยึดอำนาจยังไม่กำหนดแน่ชัด โดยอาจยึดอำนาจหนึ่งวันก่อนการเปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตสมัยที่ ๒ ซึ่งเป็นวันที่ ๒๕ ตุลาคมหรืออาจดำเนินการก่อน ที่ประชุมเห็นชอบให้ถ่ายทอดมติเรื่องการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธแก่องค์การพรรคในมอสโก และในท้องถิ่นทุกระดับทั่วประเทศเพื่อให้ตระเตรียมการและเพื่อประสานงานการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นให้เป็นเอกภาพ นอกจากนี้มีการจัดตั้งฝ่ายการเมือง (political bureau) ขึ้นด้วยซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๗ คนที่รวมทั้งเลนินตรอตสกีและโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาชี้แนะแก่องค์การพรรคว่าด้วยปัญหาการต่อสู้และยึดอำนาจ แต่ฝ่ายการเมืองดังกล่าวก็ไม่เคยประชุมกัน
ในวันที่ ๑๖ ตุลาคม คณะกรรมการกลางพรรคบอลเชวิคจัดประชุมร่วมกับผู้แทนสภาโซเวียตเปรโตรกราด และผู้แทนคณะกรรมการกลางพรรคแห่งเปโตรกราดรวมทั้งผู้แทนหน่วยทหาร และโรงงานต่าง ๆ ที่ประชุมมีมติยืนยันให้ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธด้วยคะแนน ๒๐ : ๒ ซิโนเวียฟและคาเมเนฟคัดค้านอีกครั้งหนึ่งด้วยเหตุผลที่ว่ารัฐบาลเฉพาะกาลยังคงมีอำนาจเข้มแข็ง และเสนอให้ยึดอำนาจด้วยแนวทางสันติตามวิถีของระบอบรัฐสภา หากล้มเหลวจึงก่อการปฏิวัติ แต่ตรอตสกีและเลนินกลับเห็นว่าเงื่อนไขของการปฏิบัติตามแผนของพรรคบอลเชวิคสุกงอมและกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ เหมาะสมที่จะยึดอำนาจ หากไม่ลงมือปฏิบัติการทันที มวลชนซึ่งสนับสนุนการปฏิวัติจะถอนตัวหรือวางเฉย และเปิดโอกาสให้ฝ่ายต่อต้านการปฏิวัติโจมตีฝ่ายปฏิวัติจนพ่ายแพ้ ทั้งรัฐบาลอาจแยกทำสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนี รัสเซียก็จะยังคงเป็นประเทศกึ่งจักรวรรดินิยมและกึ่งอาณานิคมทุนนิยมต่อไป ตรอตสกียังเสนอให้ฝ่ายเรดการ์ดทำหน้าที่ปกป้องสภาโซเวียตด้วย
คาเมเนฟต่อต้านแผนการยึดอำนาจด้วยการลาออกจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางพรรคและในวันรุ่งขึ้นทั้งเขาและซีโนเวียฟทำจดหมายเปิดผนึกเปิดเผยแผนการยึดอำนาจเผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ของแมกซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักเขียนเรืองนามเลนินไม่พอใจอย่างมากและเรียกร้องให้ขับคนทั้งสองออกจากพรรค แต่คณะกรรมการกลางพรรคไม่ยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของเลนิน อย่างไรก็ตาม การแพร่งพรายเรื่องการเตรียมยึดอำนาจก็ทำให้เกิดความตื่นตัวกันทั่วไปในขบวนการปฏิวัติ และทุกคนมักถามกันเองว่าจะสนับสนุนหรือต่อต้านการยึดอำนาจที่จะมีขึ้น
ข่าวที่ว่าบอลเชวิคจะยึดอำนาจทำให้รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มวางมาตรการป้องกันขึ้นในวันที่ ๑๙ ตุลาคม เคเรนสกีมีคำสั่งให้ถอนกำลังจากแนวหน้ามาป้องกันกรุงเปโตรกราด และเริ่มควบคุมตรวจตราตามท้องถนนอย่างเข้มงวดตลอดจนจัดตั้งศูนย์บัญชาการหน่วยจู่โจมขึ้นตามเขตชุมชน เคเรนสกีเข้าใจว่าเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และเชื่อมั่นว่าการยึดอำนาจของบอลเชวิคจะเปิดโอกาสให้เขากวาดล้างฝ่ายบอลเชวิคจนสิ้นซาก ฝ่ายตรงข้ามบอลเชวิคก็มีความคิดเช่นเดียวกับเคเรนสกีและเห็นว่าหากพวกบอลเชวิคถูกกวาดล้างลง บอลเชวิคก็จะหมดบทบาทและอิทธิพลในสภาร่างรัฐธรรมนูญ หลังวันที่ ๒๐ ตุลาคมเป็นต้นมาบรรยากาศความตึงเครียดครอบคลุมกรุงเปโตรกราดและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ หัวข้อหลักของการสนทนาคือเรื่องการลุกฮือที่กำลังจะก่อตัวขึ้น หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ ก็พยายามคาดการณ์ว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด ในขณะที่สภาโซเวียตเปโตรกราดออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวเรื่องการยึดอำนาจ และกองทหารคอสแซค (Cossaks)* ก็ประกาศจะใช้กำลังปราบปรามฝ่ายกบฏ
ตรอตสกีเตรียมการที่จะรับมือกับการโจมตีของฝ่ายต่อต้านปฏิวัติที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะด้วยการสั่งให้จ่ายปืนไรเฟิล ๕,๐๐๐ กระบอกแก่กองกำลังเรดการ์ดบอลเชวิค การติดอาวุธแก่ฝ่ายเรดการ์ดดังกล่าวสร้างความหวาดวิตกในหมู่ชนชั้นปกครองอย่างมาก ตรอตสกียังเรียกร้องให้กองทหารเปโตรกราดประสานงานและรับคำสั่งจากคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารแห่งเปโตรกราด ตลอดจนจัดประชุมทั่วไปขึ้นโดยโน้มน้าวและชี้นำเหล่าทหารให้มีมติเห็นชอบที่จะสนับสนุนสภาโซเวียตและโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล ในช่วงเวลาเดียวกันสภาโซเวียตก็เปิดประชุมทั่วเปโตรกราดเพื่อปลุกระดมมวลชนให้สนับสนุนการดำเนินงานของสภาโซเวียตเพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพ ที่ดิน และขนมปังรวมทั้งชัยชนะที่สมบูรณ์ของการปฏิวัติ ตรอตสกีเป็นผู้นำที่โดดเด่นในการปลุกระดมและจัดตั้งทางความคิดแก่มวลชน
ในวันที่ ๒๔ ตุลาคม รัฐบาลเฉพาะกาลเริ่มปฏิบัติการโจมตีด้วยการตรวจค้นและเข้ายึดโรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ Rabochy Put และ Soldatskaya Pravda ของบอลเชวิคเพื่อขัดขวางไม่ให้เผยแพร่ข่าวสาร และสั่งให้ยกสะพานที่ ทอดข้ามแม่น้ำเนวาขึ้นเพื่อตัดการคมนาคมระหว่างเขตที่อยู่อาศัยของกรรมกรกับใจกลางเมือง รวมทั้งมีประกาศให้จับกุมแกนนำบอลเชวิคคนสำคัญโดยเฉพาะตรอตสกี แต่ปฏิบัติการของรัฐบาลประสบความล้มเหลวเพราะในช่วงบ่ายกองกำลังเรดการ์ดบอลเชวิคก็สามารถยึดโรงพิมพ์กลับคืนมาได้ และในเวลาไม่ถึงชั่วโมงหนังสือพิมพ์ Rabochy Put ของบอลเชวิคก็พิมพ์เผยแพร่ได้อีกครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันมีการชักสะพานที่ข้ามแม่น้ำเนวาลงและกองกำลังที่บุกตรวจค้นย่านเขตคนงานเพื่อจับกุมเลนินก็ถูกต่อต้าน ทหารและกลาสีเรือที่รวมกำลังที่สถาบันสมอลนืย (Smolny Institute) ซึ่งเดิมเป็นวิทยาลัยสตรีชั้นสูงแต่ใช้เป็นที่ทำการสภาโซเวียตก็เคลื่อนกำลังเข้ายึดครองจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่าง ๆ ในกรุงเปโตรกราด ในช่วงเย็นก็สามารถยึดที่ทำการโทรเลขกลางไปรษณีย์และโทรศัพท์ได้ตามลำดับ ในตอนค่ำของวันที่ ๒๔ ตุลาคม เลนินเขียนจดหมายถึงคณะกรรมการกลางพรรคเรียกร้องให้เร่งปฏิบัติการยึดอำนาจอย่างฉับไวและเด็ดขาด ในคืนนั้นกรรมกรกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าจากเขตวีบอร์กพากันมาที่คณะกรรมการประจำเขตเพื่อรับอาวุธและคำสั่ง ตลอดคืนวันที่ ๒๔ ตุลาคม กองกำลังทหารปฏิวัติและกองกำลังเรดการ์ดเคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานที่สำคัญ ๆ และเข้าปิดล้อมพระราชวังฤดูหนาวซึ่งเป็นที่ทำการของรัฐบาลเฉพาะกาล เวลาประมาณ ๓.๓๐ น. เรือลาดตระเวนออโรรา (Aurora) ซึ่งกลาสีส่วนใหญ่สนับสนุนบอลเชวิคก็แล่นไปเทียบท่าตรงข้ามพระราชวังฤดูหนาว
ในเช้าวันที่ ๒๕ ตุลาคม กองกำลังฝ่ายปฏิวัติก็ยึดครองกรุงเปโตรกราดไว้ได้เกือบหมดยกเว้นจตุรัสกลางเพียงสองแห่งเท่านั้น รัฐบาลเฉพาะกาลไม่ได้ดำเนินการใด ๆ อย่างเด็ดขาดเพราะประเมินสถานการณ์ของฝ่ายปฏิวัติไว้ต่ำ ทั้งคาดหวังว่ากองกำลังจากแนวหน้าจะเคลื่อนกำลังมาทันที แต่กองกำลังจากแนวหน้าไม่สามารถมาถึงกรุงเปโตรกราดได้เพราะเส้นทางรถไฟถูกตัดขาด นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นในตนเองของเคเรนสกีที่คิดว่าเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ยังทำให้เขาไม่ใช้กำลังทหารที่จงรักภักดีต่อรัฐบาลปราบปรามฝ่ายปฏิวัติทันทีเพราะเคเรนสกีคาดหวังว่าจะมี การเปิดการเจรจาเพื่อความตกลงทางการเมืองซึ่งจะทำให้เขามีบทบาทโดดเด่นขึ้น ฝ่ายปฏิวัติจึงมีเวลาปฏิบัติการโดยมีการต่อต้านไม่มากนัก กรุงเปโตรกราดจึงตกอยู่ในมือของฝ่ายปฏิวัติอย่างง่ายดาย เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารก็ออกแถลงการณ์ถึงพลเมืองรัสเซีย (To the Citizens of Russia) เผยแพร่ในหน้าหนังสือพิมพ์ซึ่งความตอนหนึ่งว่ารัฐบาลเฉพาะกาลได้ถูกโค่นลง และอำนาจรัฐได้ตกเป็นขององค์กรสภาโซเวียตของผู้แทนกรรมกรและทหารแห่งเปโตรกราด และคณะกรรมาธิการปฏิวัติทหารแล้ว สิ่งที่ประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาล้วนได้รับการประกันที่แน่นอนแล้ว ในช่วงเวลาที่แถลงการณ์ดังกล่าวถูกส่งไปเผยแพร่ไปทั่วประเทศนั้น เคเรนสกีสามารถหลบหนีออกจากกรุงเปโตรกราดไปยังนครมอสโกได้อย่างหวุดหวิดโดยปลอมตัวเป็นทหารเซอร์เบียและต่อมาก็ลี้ภัยออกนอกประเทศ
เวลา ๑๔.๒๓ น. สภาโซเวียตเปโตรกราดจัดประชุมฉุกเฉินขึ้นและให้การต้อนรับเลนินและแกนนำบอลเชวิคที่มาถึงอย่างเอิกเกริก เลนินกล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมซึ่งมีความตอนหนึ่งว่าการปฏิวัติของกรรมกรและชาวนาซึ่งบอลเชวิคได้กล่าวเสมอถึงความจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นได้นั้นประสบผลสำเร็จแล้ว จากนั้นเลนินได้กล่าวถึงยุคใหม่ของประวัติศาสตร์รัสเซียที่รัฐบาลโซเวียตมีภารกิจและพันธกิจที่ ต้องดำเนินการอย่างจริงจังนั่นคือการจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่และแก้ไข ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ ในช่วง ๒๑.๐๐ น. ปืนของเรือลาดตระเวนออโรรากับป้อมเปโตรปาฟลอฟสกายาก็เริ่มยิงเป็นสัญญาณให้บุกเข้ายึดพระราชวังฤดูหนาว ในตอนดึกของคืนวันที่ ๒๕ ตุลาคมที่ ประชุมใหญ่ผู้แทนโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ ได้เปิดประชุมใหญ่ขึ้นที่สมอนนืยเมื่อเวลา ๒๒.๔๕ น. ประมาณ ๐๓.๑๐ น. ที่ประชุมได้รับแจ้งว่าพระราชวังฤดูหนาวซึ่งคณะรัฐบาลเฉพาะกาลหลบซ่อนตัวโดยมีนักเรียนนายทหารและกองทัพทหารหญิงคอยคุ้มกันก็ถูกยึด บรรดารัฐมนตรีต่างถูกจับ ทั้งนักเรียนนายทหารกับกองทหารที่คอยคุ้มกันถูกปลดอาวุธ การปฏิวัติเดือนตุลาคมประสบชัยชนะอย่างงดงาม และเปิดโอกาสให้เลนินได้วางแนวทางของอนาคตให้แก่รัสเซียและสร้างสังคมใหม่ที่เขาใฝ่ฝันตามอุดมการณ์ลัทธิมากซ์ คือระบบเผด็จการของชนชั้นกรรมาชี