Nuremberg Laws (1935)

กฎหมายนูเรมเบิร์ก (๒๔๗๘)

​     กฎหมายนูเรมเบิร์กเป็นกฎหมายที่ได้ชื่อมาจากการประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party-NSDAP; Nazi Party)* ซึ่งจัดประชุมขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์ก ระหว่างวันที่ ๙-๑๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๕ ในการประชุมประจำปีดังกล่าว อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคนาซีได้จัดการประชุมของสภาไรค์ชตาก (Reichstag) เข้าไว้ด้วยในวันที่ ๑๕ กันยายน ในวันนั้นฮิตเลอร์ประกาศใช้กฎหมายนูเรมเบิร์กรวม ๒ ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งแยกชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากสังคมเยอรมัน และเพื่อสร้างชุมชนเชื้อสายอารยันบริสุทธิ์ขึ้น กฎหมายนูเรมเบิร์กทั้ง ๒ ฉบับนับเป็นความพยายามครั้งแรกของพรรคนาซีในการให้นิยามและขอบเขตของความเป็นยิวซึ่งนำไปสู่การกำหนดนโยบายการกวาดล้างชาวยิวในเวลาต่อมา
     การประกาศใช้กฎหมายนูเรมเบิร์กเป็นผลสืบเนื่องจากการออกกฎหมายการทำหมัน (Sterilisation Law) เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ สี่เดือนหลังจากที่พรรคนาซีได้อำนาจ อาร์เทอร์ กืทท์ (Arthur Gütt) ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์และเป็นผู้นำคนหนึ่งของรัฐบาลพรรคนาซีในกระทรวงมหาดไทยได้ผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับดังกล่าวโดยมีวัตถุประสงค์จะสร้างประชาชาติที่แข็งแรงปราศจากโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ เนื้อหาของกฎหมายว่าด้วยการทำหมันบุคคลทั้งชายและหญิงที่ป่วยเนื่องจากพันธุกรรมด้วยโรคประสาท หูหนวก ตาบอด จิตหลอน ร่างกายไม่สมประกอบลมชัก ระบบประสาทผิดปรกติ และอื่นๆ กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๔ นอกจากนี้ มีการจัดตั้งสถาบันที่ เรียกว่า ศาลสุขภาพด้านพันธุกรรม (Erbgesundheitsgerichte - Hereditary Health Courts) ขึ้นซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาและแพทย์ทางด้านจิตเวช ๒ คน ทำหน้าที่พิจารณาตัดสินบุคคลที่จะต้องถูกทำหมัน และมีพลเมืองเยอรมันประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ คนถูกทำหมัน กฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของการวางนโยบายคัดเลือกสายพันธุ์ประชากรของพรรคนาซีเพื่อกำจัด "มลภาวะทาง เชื้อชาติ" (racial pollution) ขบวนการต่อต้านชาวยิว (Antisemitism)* จึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวสนับสนุนกฎหมายการทำหมันเพื่อสร้างชุมชนที่บริสุทธิ์ปลอดเชื้อทางโรคพันธุกรรม และรณรงค์ให้รัฐวางมาตรการปฏิบัติด้านต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อให้ความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติเข้มแข็งยิ่งขึ้น
     ในช่วงเวลาที่กฎหมายการทำหมันเริ่มมีผลบังคับใช้ มีการเคลื่อนไหวในวงราชการเพื่อแยกแยะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ไม่ใช่เชื้อชาติอารยัน (non-Aryan) ออกจากกลุ่มเชื้อสายอารยัน และมีการจัดทำแบบสอบถามอย่างละเอียดเกี่ยวกับภูมิหลังทางเชื้อชาติให้ข้าราชการทุกคนตอบ ขณะเดียวกันมีการรวมตัวเป็นกลุ่มต่อต้านชาวยิวเพื่อคุกคามข่มขู่ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวและการรณรงค์สร้างความบริสุทธิ์ของเผ่าพันธุ์อารยันโดยการพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายกำหนดสถานะความเป็นพลเมืองด้วยเชื้อชาติอารยันนอกจากนี้ มีการปลุกเร้าความเกลียดชังทางเชื้อชาติด้วยการสร้างทัศนคติและภาพลักษณ์ว่าชาวยิวคือบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมและเป็นผู้ทำลายอารยธรรม ระหว่างเดือนเมษายนถึงตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ มีการออกกฎหมายห้ามชาวเยอรมันเชื้อสายยิวประกอบอาชีพแพทย์ ครู ทนายความ นักหนังสือพิมพ์ นักดนตรีและนักแสดง ขณะเดียวกันก็มีกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนและสถาบันการศึกษาระดับสูงรับนักศึกษายิวหรือที่มีเชื้อสายยิวได้เพียงร้อยละ ๑.๕ ของจำนวนนักเรียน นักศึกษาทั้งหมด รัฐบาลพรรคนาซียังประกาศถอนสัญชาติเยอรมันของพลเมืองเชื้อสายยิวที่แปลงสัญชาติในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ด้วย ต่อมาในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๓๕ มีกฎหมายห้ามชาวยิวและพลเมืองเชื้อสายยิวเป็นทหาร
     การเคลื่อนไหวต่อต้านชาวยิวได้กลายเป็นนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นทางการขึ้นเมื่อพรรคนาซีจัดประชุมพิเศษของสภาไรค์ชตากและการประชุมประจำปีของพรรคขึ้นที่เมืองนูเรมเบิร์กในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๕ ในการประชุมครั้งนี้ ฮิตเลอร์ต้องกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยนโยบายต่างประเทศที่เกี่ยวกับองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* และพรรคฟาสซิสต์อิตาลีให้แก่คณะผู้แทนทางการทูตที่ เข้าร่วมในงานชุมนุมพรรค แต่เนื่องจากมีการปรับกำหนดการ ฮิตเลอร์จึงต้องเปลี่ยนหัวข้อการปราศรัยใหม่และเขาเลือกที่จะกล่าวถึง "ปัญหาชาวยิว" (Jewish question) แทนตามคำแนะนำของสมาชิกหัวรุนแรงที่ต่อต้านยิว ก่อนการปราศรัยในคืนวันที่ ๑๔ กันยายน ฮิตเลอร์สั่งให้ร่างเนื้อหากฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวกับชาวเยอรมันขึ้นเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องยิวหลายคนถูกเรียกตัวด่วนมายังเมืองนูเรมเบิร์กเพื่อร่วมกันร่างกฎหมายซึ่งเขียนเสร็จราวเที่ยงคืนรวมทั้งหมด ๔ ฉบับ ฮิตเลอร์เลือกฉบับร่างของฮันส์ กอล์บเค (Hans Golbke) เพียงฉบับเดียวกอล์บเคเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่สัดทัดเรื่องกฎหมายแต่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนาซี เขาสนใจการเมืองและเกลียดชังชาวยิว ในเวลาต่อมาเขารอดชีวิตจากการกวาดล้างนาซีและในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (Federal Republic of Germany) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๕๓-๑๙๖๓
     ในราว ๘.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น ฮิตเลอร์กล่าวสุนทรพจน์สั้น ๆ เสนอแนวความคิดที่จะแยกชาวยิวออกจากพลเมืองเยอรมันในที่ประชุมและขอความเห็นชอบในการออกกฎหมายซึ่งเรียกกันในเวลาต่อมาว่า "กฎหมายนูเรมเบิร์ก" หรือกฎหมายนูเรมเบิร์กเกตโต (Nuremberg Ghetto) แฮร์มันน์ เกอริง (Hermann Göring)* ประธานสภาไรค์ชตากได้อ่านร่างเนื้อหากฎหมายนูเรมเบิร์กซึ่งมี ๒ ฉบับ ฉบับแรกเป็นร่างกฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมือง (Reichsbürgergesetz-The Reich Citizenship Law) และฉบับที่ ๒ เป็นร่างกฎหมายว่าด้วยการปกป้องสายเลือดและเกียรติภูมิเยอรมัน (Gesetz zum Schutz des deutschen Blutes and der deutschen Ehre - Law for the Protection of German Blood and German Honor)
     กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองฉบับแรกมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๕ กฎหมายฉบับนี้มี ๓ มาตราซึ่งมีเนื้อหาเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองที่สมบูรณ์ของชาวยิวซึ่งถูกกำหนดให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง พลเมืองเยอรมันและที่มีสายเลือดอารยันเท่านั้นคือประชาชนของจักรวรรดิไรค์ (Reich citizen) ที่มีสิทธิทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมาย และจะได้รับเอกสารจากทางราชการยืนยันสิทธิความเป็นพลเมืองผู้นำหรือฟือเรอร์ (Führer)* สามารถบัญญัติเพิ่มเติมกฎหมายได้ตลอดเวลาเมื่อมีเหตุผลอันสมควร อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้มีข้อบกพร่องเรื่องการกำหนดคุณสมบัติความเป็นยิวเพราะไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนในการแยกแยะชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากพลเมืองเยอรมันทั่วไป ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวซึ่งผสมผสานทางเชื้อชาติมาหลายชั่วคนสามารถปกปิดภูมิหลังทางเชื้อชาติของตนได้ ดังนั้น ต่อมาในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๓๕ มีการประกาศ กฎหมายลูกเพิ่มเติมอีก ๗ มาตราโดยมีเนื้อหาสำคัญคือชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่มีบิดามารดาเป็นยิวหรือมีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งเป็นยิวให้ถือว่าบุคคลดังกล่าว ซึ่งแม้จะเกิดในเยอรมนีก็ตามเป็นชาวยิวเต็มตัว พลเมืองเยอรมันที่แต่งงานกับชาวยิวโดยการจดทะเบียนสมรสหรือไม่ได้จดก็ตามจะถูกถอนสิทธิพลเมือง ห้ามชาว เยอรมันเชื้อสายยิวที่เคยเป็นทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* รับราชการและงดให้เงินบำนาญแก่ทหารเหล่านี้ที่เกษียณอายุราชการไป แล้วด้วย ห้ามพลเมืองยิวเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฟือเรอร์มีอำนาจสูงสุดในการถอนสิทธิความเป็นพลเมืองของใครก็ได้
     กฎหมายฉบับที่ ๒ ว่าด้วยการปกป้องสายเลือดและเกียรติภูมิเยอรมันซึ่งมีทั้งหมด ๗ มาตรามีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๖ เนื้อหาสำคัญของกฎหมายคือห้ามชาวยิวแต่งงานกับพลเมืองเยอรมันหรือพลเมืองเยอรมันเชื้อสายอื่น ๆ หากมีการจดทะเบียนสมรสกันทั้งในและนอกประเทศก็ให้ถือเป็นโมฆะ ห้ามชาวยิวมีเพศสัมพันธ์กับพลเมืองเยอรมันและพลเมืองเยอรมันเชื้อสายอื่น ๆ หากฝ่าฝืนจะถูกจำคุกและใช้แรงงานหนัก ห้ามชาวยิวว่าจ้างสตรีชาวเยอรมันที่ อายุต่ำกว่า ๔๕ ปีทำงานในบ้าน และห้ามชาวยิวใช้ธงชาติเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาขณะที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังดำเนินอยู่นั้นยังมีการกำหนดสถานภาพชาวเยอรมันเชื้อสายยิวที่เป็นลูกครึ่ง (Mischling - halfbreed) ให้ชัดเจนด้วย แกนนำพรรคนาซีคนสำคัญซึ่งประชุมกัน ณ คฤหาสน์ชานกรุงเบอร์ลินที่ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบโกรสเซอร์-วันน์เซ (Grosser-Wannsee) ในต้น ค.ศ. ๑๙๔๒ เพื่อกำหนด มาตรการการแก้ไขปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย (Final Solution)* ได้ให้นิยามลักษณะความเป็นลูกครึ่งของพลเมืองเชื้อสายยิวที่ต้องถูกกวาดล้าง โดยระบุว่าลูกครึ่งซึ่งแม้จะไม่ได้นับถือศาสนายูดาห์และไม่ได้แต่งงานกับชาวยิวแต่มี ปู่ ย่า ตา หรือยายจำนวน ๒ คนขึ้นไปเป็นยิวถือเป็นลูกครึ่งประเภทแรกที่ต้องถูกกำจัด ส่วนลูกครึ่งเชื้อสายยิวประเภทที่ ๒ ที่จะไม่ถูกกวาดล้างคือผู้ที่มีปู่ ย่า ตา หรือยายเป็นยิวเพียง ๑ คนเท่านั้น และประมาณว่าพลเมืองลูกครึ่งเชื้อสายยิวประเภทที่ ๒ มีจำนวน ๓๕๐,๐๐๐ คน
     ในช่วงเวลาที่มีการประกาศใช้กฎหมายนูเรมเบิร์กก่อนที่จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น รัฐบาลพรรคนาซีก็เริ่มดำเนินการขับไล่ชาวยิวหรือชาวเยอรมันเชื้อสายยิวออกจากชุมชน หมู่บ้าน และเมืองต่าง ๆ ที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยมาหลายชั่วคนเพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดชาวยิว (Jewish-free) การขับไล่ดังกล่าวมีส่วนทำให้ชาวยิวที่มีฐานะเริ่มอพยพไปตั้งถิ่นฐานในต่างประเทศอย่างไรก็ตาม กฎหมายนูเรมเบิร์กและมาตรการข่มเหงคุกคามชาวยิวในระยะแรก ๆ ก็ดำเนินการค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เยอรมนีเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน พรรคนาซีซึ่งต้องการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศจึงผ่อนคลายความเข้มงวดในการคุกคามชาวยิวลง
     กฎหมายนูเรมเบิร์กได้ชื่อว่าเป็นกฎหมายนำร่องในการกำหนดมาตรการกวาดล้างชาวยิวที่ถูกกฎหมาย และเป็นพื้นฐานของแนวความคิดของการข่มเหงชาวยิวในเหตุการณ์ที่เรียกว่าคืนกระจกแตก (Kristallnacht)* ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฆาตกรรมหมู่ชาวยิวและชาวเยอรมันเชื้อสายยิวทั่วประเทศเยอรมนีและออสเตรียใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ตลอดจนเป็นที่มาของการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้ายในการประชุมที่วันน์เซ (Wannsee Conference)* ใน ค.ศ. ๑๙๔



คำตั้ง
Nuremberg Laws
คำเทียบ
กฎหมายนูเรมเบิร์ก
คำสำคัญ
- การประชุมที่วันน์เซ
- ฟือเรอร์
- โกรสเซอร์-วันน์เซ, ทะเลสาบ
- กฎหมายการทำหมัน
- การแก้ปัญหาชาวยิวครั้งสุดท้าย
- กืทท์, อาร์เทอร์
- กฎหมายนูเรมเบิร์ก
- ศาลสุขภาพด้านพันธุกรรม
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- สภาไรค์ชตาก
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมือง
- กฎหมายนูเรมเบิร์กเกตโต
- กอล์บเค, ฮันส์
- เกอริง, แฮร์มันน์
- ขบวนการต่อต้านชาวยิว
- คืนกระจกแตก
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- องค์การสันนิบาตชาติ
- สาธารณรัฐไวมาร์
- กฎหมายว่าด้วยการปกป้องสายเลือดและเกียรติภูมิเยอรมัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1935
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๗๘
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 6.N 577-752.pdf